ศิลปินถิ่นใต้ ใต้ร่มพระบารมี

อ.นครินทร์ ชาทอง ศิลปินแห่งชาติ ได้เล่าถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงมีต่อศิลปินพื้นบ้านภาคใต้ โดยเฉพาะหนังตะลุง และโนรา รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ เช่น หนังขับ บ้านดีหลวง มีความดีด้านบทกลอน และลีลาการแสดง กรมหลวงลพบุรีราเมศ ได้ประทานนามให้ว่าหนังขับ ขุนลอยฟ้าโพยมหน ส่วนหนังกั้น ก็ประทานนามให้ว่า ขุนสุนทรโรจน์ ภายหลังปี ๒๕๐๐ สมเด็จย่าได้เสด็จโดยเรือหลวงจันทบุรี หนังกั้น ทองหล่อได้เข้าไปแสดงถวายในเรือ ซึ่งได้รับความชื่นชมอย่างมากจากสมเด็จย่า ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เสด็จประพาสภาคใต้ และประทับที่ตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ทรงทราบว่าภาคใต้มีการแสดงหนังตะลุงหรือหนังเล็ก ทรงอยากทอดพระเนตรหนังตะลุงกล หนังนครินทร์และคณะจึงได้ไปสอนการเล่นหนังตะลุงกลให้กับข้าราชการที่ปัตตานี เพื่อซ้อมการแสดงเรื่อง ตะลุงสัมมนา เพื่อให้ทอดพระเนตร นอกจากนี้ อ.นครินทร์ ได้เล่าถึงการทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการหนังตะลุงเชิงอนุรักษ์จังหวัดสงขลาและจัดประกวดหนังตะลุงเชิงอนุรักษ์ เพื่ออนุรักษ์การแสดงหนังตะลุงแบบดั้งเดิมสงขลา และเพื่อดำเนินรอยตามพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในการประหยัดค่าใช้จ่ายในการแสดงหนังตะลุงแต่ละครั้ง และทุกปีในวันเฉลิมพระชนม์พรรษาชมรมหนังตะลุงจังหวัดสงขลา เล่นหนังตะลุงเพื่อถวายในหลวง โดยนายหนังต่างๆร่วมแสดงโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อศิลปินหนังตะลุงภาคใต้ ทำให้สมกับเป็นศิลปินของพระราชา

นายควน ทวนยก นายปี่(เป่าปี่) ได้เล่าถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระพระบรมวงศานุวงศ์มีต่อตนเองว่า ตอนนั้นในหลวงเสด็จมาประทับที่พระตำหนักทักษิณ ตนเองได้ไปเป่าปี่โนราหน้าพระที่นั่ง และมีโอกาสแสดงหน้าพระที่นั่งให้กับพระราชวงศ์หลายพระองค์ การแสดงครั้งที่ทำให้มีความสุขมากที่สุดคือตอนไปรำที่บ้านไม้เกียง (ชายทะเล) เล่นไปแป๊บเดียวฝนตกลงมาแต่ก็ไม่มีใครลุกหนี พระองค์ก็ยังประทับอยู่ ทำให้ซาบซึ้งมาก ความประทับใจครั้งที่ ๒ คือสมเด็จพระเทพรัตฯ เสด็จมาที่จังหวดพัทลุง นายควนได้ไปเป่าปี่โนราหน้าพระที่นั่ง และได้เป่าเพลงที่ตัวเองประยุกต์ขึ้น สมเด็จพระเทพรัตฯ ก็ทรงถามว่าเพลงแต่งขึ้นมาใหม่ใช่ไหม ทรงสนพระทัยและโปรดมาก ครั้งหนึ่งไปแสดงหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระราชินีนาถที่บนเขาตันหยง ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับทรงรับสั่งว่าให้กลับไปเป็นครูสอนคนเล่นต่อไป เป็นแรงบันดาลใจให้นายควนสอนคน ตอนนี้เปิดสอนโดยไม่คิดเงิน และรับเล่นหนังตะลุงในงานต่างๆโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
หนังผวน สำนวนทอง ได้กล่าวถึงข้อคิดที่ได้จากนายควน ว่า คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ คือ
๑. การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
๒. การตั้งมั่นทำในสิ่งที่ตนเองทำอยู่
๓. ต้องเป็นผู้ให้

ผู้ร่วมเวทีเสวนา

นายนครินทร์ ชาทอง

ครูหนังตะลุง
ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ.2550

นายควน ทวนยก

นักดนตรีไทยพื้นบ้าน
ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ.2553

นายวุฒิชัย เพชรสุวรรณ

สมาชิกของภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม