ชื่อ พิพิธภัณฑ์บ้านเหมืองแร่

สถานที่ตั้ง ๓๕ หมู่ที่ ๒ ถนนวิชิตสงคราม ตำบลกระทู้ อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต ๘๓๑๒๐ โทร. ๐๗๖-๓๒๑-๒๔๖

บริหารจัดการโดย นายไชยยุทธ ปิ่นประดับ

เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์
ลุงไชยยุทธ ปิ่นประดับ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บ้านเหมืองแร่เล่าถึงเรื่องราว การเสด็จพระราชดำเนินประพาสภาคใต้ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2502 โดยอ้างอิงข้อมูลจากการบันทึกของกรมทรัพยากรธรณี ดังมีข้อความว่า พ.ศ. 2502 เป็นปีประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของกรมที่กรมได้รับแรงบันดาลใจ ให้พัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของประเทศให้ครบระบบ โครงการตั้งโรงถลุงแร่ดีบุกเชิงพาณิชย์ก็เป็นผลส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ด้วย เดือนมีนาคมปีนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสภาคใต้ นับเป็นการประกอบพระราชภารกิจตามโบราณราชประเพณี ที่มีสืบกันมาว่า หลังจากที่ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระมหากษัตริย์ต้องเสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคต่างๆ ของประเทศ

หมายกำหนดการครั้งนั้นมีว่า มีพระราชประสงค์จะเสด็จพระราชดำเนินชมการทำเหมืองแร่ดีบุก อันเป็นอาชีพหลักของภาคใต้ ทางกรมโลหกิจได้จัดแผนให้ได้เสด็จทอดพระเนตรการทำเหมืองแร่ดีบุกด้วยเรือขุดของบริษัทไซมีสทีน ที่ต.บางนอน อ.เมือง จ.ระนอง ในวันที่ 8 มีนาคม เพราะเป็นเรือขุดลำเดียวที่กำลังขุดอยู่ใกล้ทางหลวงที่ขบวนจะผ่าน

ในวันที่ 9 มีนาคม ได้ทอดพระเนตรการทำเหมืองสูบของเหมืองเจ้าฟ้าที่อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้เป็นการเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งเลียบฝั่งตะวันตกของประเทศ ตั้งแต่ระนองถึงภูเก็ต ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเห็นภูมิประเทศอันเป็นแหล่งกำเนิดแร่ดีบุก ทั้งภูเขาและลานแร่ ทรงองค์ทรงเข้าพระทัยได้ดีถึงความยากลำบากและวิริยะอุตสาหะของผู้ทำเหมืองแร่ ไม่ว่าบริษัทใหญ่ของเศรษฐี หรือชาวบ้านที่ร่อนแร่ในท้องห้วยหรือท้ายรางผู้หาเช้ากินค่ำ

ที่เหมืองเจ้าฟ้าของคุณหลวงอนุภาษภูเก็ตการ เจ้าของเหมืองได้จัดการปราบเนินดินด้านหนึ่งของหุบเขากะทู้ สร้างศาลาที่ประทับชั่วคราวบนเนินนั้น สำหรับเป็นที่ประทับทอดพระเนตรชมการฉีดดินในขุมเหมืองด้วยแรงน้ำ ทรงเห็นทรายและแร่ไหลไปตามร่องน้ำจนถูกสูบขึ้นไปบนรางล้างแร่ คุณหลวงอนุภาษฯ เจ้าของเหมืองเฝ้ากราบบังคมทูลกิจการโดยใกล้ชิดทำให้บรรดาราฎรที่รายล้อมอยู่ห่างๆ ชื่นชมโสมนัสในพระราชจริยวัตร ได้เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงซักถามอยู่ตลอดเวลา ทรงถามผู้ที่เข้าเฝ้าถึงปัญหาที่ว่าทำไมจึงทำแต่เหมืองแร่ดีบุกในภาคใต้เท่านั้น ในเมื่อภูเขาชนิดเดียวกันก็มีในภาคอื่น เช่น ภาคเหนือ ทำไมเราต้องส่งแร่ไปขายโรงถลุงที่ปีนัง ทำไมไม่ถลุงเป็นโลหะใช้เสียเองในประเทศ หรือทำแผ่นเหล็กชุบดีบุกใช้เป็นกระป๋องบรรจุอาหาร ที่ฝรั่งเขาทำมาขายเรา จะได้มีโรงงานเกิดขึ้นในประเทศ ราษฎรจะได้มีงานทำมากขึ้น แล้วถ่านหินน้ำมันเล่า จะได้มีโรงงานเกิดขึ้นในประเทศเราบ้างเชียวหรือ ฯลฯ พระราชปุจฉาเหล่านี้หมายถึงพระราชปณิธานที่จะได้เห็นประเทศไทยนั้นพัฒนาอุตสาหกรรมแร่ให้กว้างขวาง และเจริญเติบโตขึ้น

ต่อมาบริษัทสหรัฐฯ ได้เข้ามาตั้งบริษัทดำเนินการถลุงแร่ดีบุก โดยใช้ชื่อว่า Thailand Smelting and Refining Co., Ltd หรือ Thaisaco และตั้งโรงถลุงอยู่ที่ภูเก็ต ในพ.ศ.2506 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปชมกิจการเมื่อ พ.ศ.2511(ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์บ้านเหมืองแร่ จ.ภูเก็ต)