วิกิชุมชน: แพลตฟอร์มเพื่อการบริหารและจัดการข้อมูลชุมชน

 |  การจัดการข้อมูลทางวัฒนธรรม
ผู้เข้าชม : 4510

วิกิชุมชน: แพลตฟอร์มเพื่อการบริหารและจัดการข้อมูลชุมชน

           เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการจัดเก็บ-จัดการ-เผยแพร่ข้อมูลชุมชนได้ด้วยตนเอง ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) จึงได้เริ่มออกแบบและพัฒนา “วิกิชุนชน” (Wiki-Communities) ขึ้น เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับบริหารจัดการโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน รวมถึงเป็น “เครื่องมือ” สำหรับเก็บและจัดการข้อมูลชุมชนที่ได้มาจากการลงพื้นที่ภาคสนาม ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง (สัมภาษณ์) และเอกสาร นอกจากนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวยังถูกพัฒนาขึ้นให้แตกต่างไปจากฐานข้อมูลอื่น ๆ ของ ศมส. กล่าวคือ แพลตฟอร์มนี้เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งาน ได้มีสิทธิ์บริหารจัดการและเลือกข้อมูลที่จะเผยแพร่ได้ด้วยตนเอง โดย ศมส.ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงฝึกอบรมการใช้งานเครื่องมือ และบำรุงรักษาระบบ

           ทั้งนี้ วิกิชุมชนเป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาต่อยอดมาจากเว็บไซต์คลังข้อมูลชุมชน (https://communityarchive.sac.or.th/) ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่ ศมส. ได้ร่วมมือกับชุมชน เพื่อฝึกอบรมการเก็บและจัดการข้อมูลชุมชนที่ได้มา พร้อมกับนำข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบบโดยชุมชนเอง อย่างไรก็ดี ภายหลังการให้บริการเว็บไซต์มาได้ประมาณ 3 ปี ศมส. ได้จัดประชุมถอดบทเรียนการทำงาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นการใช้งานเว็บไซต์จากชุมชนและพบประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เช่น บางชุมชนไม่มีไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตใช้ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลเข้าระบบได้ การให้รายละเอียดข้อมูลที่มีความซับซ้อนมากเกินไป บางชุมชนไม่สะดวกในการจัดหาอุปกรณ์สำหรับการทำงานภาคสนาม ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ ศมส. จึงมีแผนที่จะปรับปรุงเว็บไซต์คลังข้อมูลชุมชนให้เป็น วิกิชุมชน โดยยังคงยึดแนวคิดการดำเนินงานเดิมไว้ คือ “การให้ผู้ใช้งานเป็นผู้จัดเก็บและจัดการข้อมูลด้วยตนเอง” แต่พยายามลดความซับซ้อนของระบบการทำงานลง และเพิ่มระบบการทำงานใหม่ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานมากขึ้น เช่น ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้ในรูปแบบแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์สมาร์ตโฟน หรือแท๊ปเล็ต ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้ทั้งในรูปแบบ Online และ Offline ผู้ใช้งานสามารถจัดเก็บและจัดการข้อมูลชุมชนได้ในรูปแบบเครื่องมือ 7 ชิ้น เพิ่มพื้นที่สำหรับจัดเก็บข้อมูลให้มากขึ้น ฯลฯ

           แพลตฟอร์มวิกิชุมชน มีระบบบการทำงานที่สำคัญ 2 ส่วนด้วยกัน ดังนี้

           1. เครื่องมือ 7 ชิ้น (7 Tools)

           “เครื่องมือ 7 ชิ้น” จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำหรับบริหารโครงการ และจัดการข้อมูลที่ได้จากการทำงานภาคสนาม ระบบดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างอุปกรณ์ 2 ชนิด คือ เครื่องคอมพิวเตอร์และแอปพลิเคชันเครื่องมือ 7 ชิ้น ที่ได้รับการติดตั้งบนโทรศัพท์สมาร์ตโฟน หรือแท๊บเล็ต โดยมีขั้นตอนการทำงานตามลำดับ ดังนี้

ภาพประกอบ 1 ตัวอย่างการสร้างโครงการและชุมชนในระบบเครื่องมือ 7 ชิ้น โดยที่ 1 บัญชีผู้ใช้งานสามารถสร้างโครงการได้หลายโครงการ และภายใต้โครงการสามารถสร้างชุมชนได้หลายชุมชนเช่นกัน

 

           นอกเหนือไปจากการระบบบริหารโครงการแล้ว เครื่องมือ 7 ชิ้น ยังถูกออกแบบให้สามารถใช้เป็น “เครื่องมือสำรวจและเก็บข้อมูลชุมชน” ในระหว่างการลงพื้นภาคสนามได้อีกด้วย ระบบดังกล่าวประยุกต์มาจากเครื่องมือ 7 ชิ้น ที่ใช้ในการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนของ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ (2545) แต่ได้มีการปรับปรุงให้มีความเป็นอัตโนมัติขึ้น1  เช่น ความสามารถในการบันทึกพิกัดสถานที่ในไฟล์ดิจิทัล ความสามารถในการติดตามเส้นทางที่เดินสำรวจ ความสามารถในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเครื่อมือแต่ละชิ้น ฯลฯ รวมถึงยังได้เพิ่มเครื่องมือ “ผังความคิดชุมชน” แทนที่ “ระบบสุขภาพชุมชน” ด้วย ระบบเครื่องมือ 7 ชิ้น ประกอบไปด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ดังนี้

           1. แผนที่เดินดิน - ถือเป็นเครื่องมือตั้งต้นเพื่อใช้สำรวจพื้นที่ทางกายภาพ และพื้นที่ทางสังคมของชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เห็นภาพรวมของชุมชน และใช้แสวงหาแหล่งข้อมูล/ผู้ให้ข้อมูลสำหรับการใช้งานเครื่องมือชิ้นต่อไป ในระบบเครื่องมือ 7 ชิ้น ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมโยงแผนที่ Google map เข้ากับสถานที่สำคัญของชุมชน และแนบไฟล์ดิจิทัลประกอบการอธิบาย (ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง (สัมภาษณ์) และเอกสาร) รวมถึงการเปิดใช้งานระบบติดตามเส้นทางที่เดินสำรวจได้ด้วย (ภาพประกอบ 2)

           2. ผังเครือญาติ - ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้แสดงให้เห็นโครงสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน ผ่านระบบความสัมพันธ์เครือญาติในลักษณะของแผนภาพ (diagram) ทั้งในทางสายเลือดและสายดอง ในระบบเครื่องมือ 7 ชิ้น ผู้ใช้งานสามารถอธิบายรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติม แนบไฟล์ภาพถ่ายบุคคล รวมถึงลากเส้นแสดงความสัมพันธ์ข้ามสายตระกูลได้ (ภาพประกอบ 4)

           3. โครงสร้างองค์กรชุมชน - ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในชุมชนที่รวมกันเป็นกลุ่ม หรือจัดตั้งขึ้นทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผ่านความสัมพันธ์ในรูปแบบที่หลากหลายในลักษณะของแผนภาพ เช่น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ทางสังคม ความสัมพันธ์ทางการเมือง ในระบบเครื่องมือ 7 ชิ้น ผู้ใช้งานสามารถอธิบายรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติม แนบไฟล์ภาพถ่ายบุคคล รวมถึงจับกลุ่มสร้างพื้นที่แสดงความสัมพันธ์ขององค์กรแต่ละกลุ่มได้

           4. ผังความคิดชุมชน - ใช้เพื่อระดมความคิดเบื้องต้นว่าภายในชุมชนมีทรัพยากร หรือประเด็นปัญหาอะไรที่กำลังประสบอยู่บ้าง เช่น ข้าวของเครื่องใช้ภายในชุมชน ภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาภายในชุมชน ทรัพยากรทางธรรมชาติภายในชุมชน ฯลฯ ในระบบเครื่องมือ 7 ชิ้น ผู้ใช้งานสามารถสร้างและแตกขยายความคิดไปได้เรื่อย ๆ ในรูปแบบผังความคิด (mind map) (ภาพประกอบ 5)

           5. ปฏิทินชุมชน - ใช้เพื่อสำรวจตารางกิจกรมที่เกิดขึ้นในชุมชนในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งรวบรวมเอาเหตุการณ์และปรากฎการณ์ในชีวิตประจำวันของชุมชนในรอบปี รอบเดือน หรือช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยอาจเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำกิน หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา ในระบบเครื่องมือ 7ชิ้น จะนำเสนอตารางปฏิทิน 12 เดือน ที่ผู้ใช้งานสามารถอธิบายรายละเอียด และแนบไฟล์ดิจิทัลประกอบการอธิบาย (ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง (สัมภาษณ์) และเอกสาร) ของกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนได้

           6. ประวัติศาสตร์ชุมชน - ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ หรือเหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นในชุมชนในลักษณะเส้นเวลา (Timeline) ในระบบเครื่องมือ 7 ชิ้น ผู้ใช้งานสามารถอธิบายประวัติศาสตร์ชุมชนได้ในรูปแบบเส้นทางเวลา หลายเส้นทางคู่ขนานกันไป และแนบไฟล์ดิจิทัลประกอบการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละเส้นทางเวลาได้

           7. ประวัติชีวิต - ใช้เพื่อถ่ายทอดประวัติชีวิตของบุคคลสำคัญในชุมชน เริ่มตั้งแต่เกิด-ปัจจุบันว่าเคยเกิดเหตุการณ์สำคัญอะไรบ้างในชีวิต และเหตุการณ์ดังกล่าวเกี่ยวพันอย่างไรกับประวัติชุมชน ในระบบเครื่องมือ 7 ชิ้น ผู้ใช้งานสามารถอธิบายประวัติชีวิตของบุคคลนั้น ๆ ได้ในรูปแบบเส้นทางเวลา และแนบไฟล์ดิจิทัลประกอบการอธิบาย (ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง (สัมภาษณ์) เอกสาร) ของเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในแต่ละเส้นทางเวลาได้

ภาพประกอบ 5 ตัวอย่างการใช้งานเครื่องมือผังความคิดชุมชนเพื่อระดมความคิดเบื้องต้น

 

ภาพประกอบ 6 ตัวอย่างหน้าแสดงผลบนโทรศัพท์สมาร์ตโพน ผู้ใช้งานสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำหรับบันทึกภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียงสัมภาษณ์ เอกสาร และจดบันทึก/วาดรูปในระหว่างการลงพื้นที่ภาคสนามได้ โดยทรัพยากรเหล่านี้จะถูกจัดเก็บและใช้เป็นไฟล์แนบประกอบการอธิบายข้อมูลเพิ่มเติมในเครื่องมือ 7 ชิ้น

 

           2. Community Profile

           ในส่วนถัดมาจะเป็นระบบ “Community Profile” หรือ “ข้อมูลชุมชนโดยรวม” โดยเครื่องมือในส่วนนี้จะเป็นข้อมูลภาพกว้างที่คลอบคลุมมิติต่าง ๆ ของชุมชน โดยอาศัยข้อมูลที่ได้มาจากการลงพื้นที่ภาคสนาม และไฟล์ทรัพยากร (ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง และเอกสาร) ที่ได้จากการใช้เครื่องมือ 7 ชิ้นเก็บรวบรวมมาประกอบการอธิบายข้อมูลภาพรวมของชุมชน โดยมีขั้นตอนการทำงานตามลำดับ ดังนี้

           ทั้งนี้ Community Profile หรือข้อมูลชุมชนโดยรวมประกอบไปด้วยหัวข้อต่าง ๆ คือ 1) ประวัติความเป็นมา และเหตุการณ์สำคัญ 2) สถานที่สำคัญ 3) ประชากร 4) โครงสร้างทางสังคม 5) วิถีชีวิตและชีวิตประจำวัน 6) ปราชญ์ชาวบ้าน/บุคคลสำคัญ 7) มรดกภูมิปัญญทางวัฒนธรรม 8) สิ่งแวดล้อม 9) อาชีพ 10) ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม11) ภาษา 12) การศึกษา 13) สุขภาพ 14) การมีส่วนร่วมของชุมชน 15) สถานการณ์และปัญหา โดยระบบอนุญาติให้ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มหัวข้ออื่น ๆ ที่เหมาะสมกับข้อมูลชุมชนของตนเองด้วย (ภาพประกอบ 7)

 

ภาพประกอบ 7 ตัวอย่างหน้าแสดงผลการให้รายละเอียดข้อมูลชุมชนตาม Community Profile

           นอกเหนือไปจากการเป็นเครื่องมือสำหรับบริหารจัดการโครงการ และข้อมูลที่ได้มาจากการลงพื้นที่ภาคสนาม โดยมีชุมชนเจ้าของข้อมูล นักวิจัย นักศึกษา และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชนเป็นผู้ใช้งานหลักแล้ว ศมส.ยังคาดหวังให้วิกิชุมชนเป็น “แหล่งจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลชุมชนที่น่าเชื่อถือ” (Trustworthy Data Repository) ทั้งในเชิงคุณภาพของเนื้อหา และคุณภาพของไฟล์ดิจิทัลที่จัดเก็บ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชน และมีแผนที่จะพัฒนาชุมชน หรือเขียนโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชน สามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานสำหรับการสืบค้นข้อมูลชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ในอนาคต เช่นเดียวกันกับเว็บไซต์วิกิพีเดีย (Wikipedia) ที่เป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานสำหรับการสืบค้นทุกเรื่องบนโลกอินเทอร์เน็ต ขณะนี้ เว็บไซต์วิกิชุมชนกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา และจะเริ่มให้บริการได้ในประมาณต้นปี 2566 ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ศมส.

 

เอกสารอ้างอิง

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. (2545). วิถีชุมชน: คู่มือการเรียนรู้ที่ทำให้งานชุมชนง่ายได้ผลและสนุก. นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข.

ศมส. (ม.ป.ป.). คลังข้อมุลชุมชน. เข้าถึงได้จาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน): https://communityarchive.sac.or.th/

สิทธิศักดิ์ รุ่งเจริญสุขศรี. (25 พฤศจิกายน 2564). รู้จักชุมชนผ่าน "ข้อมูลชุมชนโดยรวม". เข้าถึงได้จาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน): https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/286


1  ผู้ที่สนใจสามารถดูตัวอย่างการฝึกอบรมใช้งานเครื่องมือ 7 ชิ้น เพื่อเก็บและจัดการช้อมูลชุมชนโดย ศมส. ได้จาก https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid05sf9SgtcSphZdwHgu3PFrL9PHtAKdEzz8QfbPD91efmNZwE8hpMuvVZVAUpaCkDkl&id=100016571800733


ผู้เขียน

สิทธิศักดิ์ รุ่งเจริญสุขศรี

นักวิชาการคลังข้อมูล ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ วิกิชุมชน แพลตฟอร์ม การบริหารจัดการข้อมูล จัดการข้อมูลชุมชน สิทธิศักดิ์ รุ่งเจริญสุขศรี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share