รู้จักชุมชนผ่าน "ข้อมูลชุมชนโดยรวม"

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 6188

รู้จักชุมชนผ่าน "ข้อมูลชุมชนโดยรวม"

สิทธิศักดิ์ รุ่งเจริญสุขศรี1

 

ภาพประกอบ 1 ภาพขณะลงพื้นที่ร่วมกับชุมชน

 

“ข้อมูลชุมชนโดยรวม” คืออะไร

           “ข้อมูลชุมชนโดยรวม” (Community Profile) ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่น่าสนใจ สำหรับนักวิจัยที่ต้องการนำไปใช้เป็น “เครื่องมือตั้งต้น” ในการศึกษาชุมชน เครื่องมือชิ้นนี้ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1950 และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายโดยหน่วยงานภาครัฐ และบรรดานักวิจัยที่สนใจในการศึกษาและพัฒนาชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประเมินความต้องการพื้นฐานของชุมชน หรือเพื่อวางแผนและให้คำปรึกษาในการพัฒนาชุมชน Tony Blackshaw (2010, p. 55) ได้ให้นิยามของข้อมูลชุมชนโดยรวมไว้ว่า “...เป็นวิธีวิจัยทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพของธรรมชาติ ความต้องการ และทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น หรือชุมชน ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชน เพื่อนำไปดำเนินการให้เกิดแผนปฏิบัติการที่ตั้งคำถามกับประเด็นที่ชุมชนต้องการจะเปิดเผย” นิยามดังกล่าวสอดคล้องกับที่ Murray Hawtin และ Janie Percy-Smith (2007, p. 5) ที่ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า “…คำอธิบายความต้องการของประชากรในชุมชนที่ได้รับการกำหนดนิยามอย่างครอบคลุม รวมถึงทรัพยากรต่าง ๆที่มีในชุมชน การจะทำให้สำเร็จได้จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชน...เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาแผนปฏิบัติการ หรือการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น” โดยสรุปแล้ว ข้อมูลชุมชนโดยรวมจึงเป็นเครื่องมือที่ให้ “ข้อมูลภาพกว้างของชุมชนที่คลอบคลุมมิติต่าง ๆ ซึ่งต้องการการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชนเพื่อให้ข้อมูล รวมถึงสะท้อนความต้องการและปัญหาต่าง ๆ ที่ชุมชนต้องการปรับปรุง มิใช่เพียงแค่การเก็บรวบรวบข้อมูลโดยนักวิจัยแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น”

           ทั้งนี้ เราสามารถแบ่งระดับการสร้างและใช้งานข้อมูลชุมชนโดยรวมได้เป็น 3 ระดับ คือ 1) การให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับทรัพยากร (resources) ภายในชุมชน โดยอธิบายจากสิ่งที่เห็น หรือสัมผัสได้จากการลงพื้นที่ภาคสนาม ทรัพยากรเหล่านี้มักเป็นสิ่งที่ชุมชนมีอยู่แล้ว เช่น ถนน ร้านค้า โรงเรียน แหล่งน้ำ ฯลฯ 2) การให้ข้อมูลความต้องการ (need) ของชุมชน เพราะเมื่อทราบแล้วว่าชุมชนมีทรัพยากรอะไรบ้างจากการลงพื้นที่ภาคสนาม ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อเนื่อง คือ “ชุมชนต้องการอะไรเพิ่มเติมจากทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ หรือมีปัญหาอะไรที่ต้องได้รับการแก้ไข 3) การสร้างแผนปฏิบัติการ (action plan) เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน เพราะเมื่อทราบความต้องการ/ปัญหาแล้ว เราจะมีแผนปฏิบัติการอะไรเพื่อพัฒนา/แก้ไขชุมชนให้ดีขึ้น

 

ภาพประกอบ 2 วงจรชีวิตข้อมูลชุมชนโดยรวม

 

           อย่างไรก็ดี เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า “การจะได้มาซึ่งข้อมูลโดยรวมของชุมชน ไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นและสิ้นสุดเฉพาะการลงพื้นที่ภาคสนามเท่านั้น” แต่ข้อมูลชุมชนโดยรวมสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนและหลังการลงพื้นที่ภาคสนาม เพราะข้อมูลชุมชนก็มีวงจรชีวิตของตนเองเช่นกัน เราสามารถแบ่งขั้นตอนการจัดทำข้อมูลชุมชนโดยรวมออกเป็น 6 ขั้นตอน ดังนี้

           1. สำรวจเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน – ขั้นตอนนี้ อาจยังไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูล แต่สามารถสำรวจข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับชุมชนผ่านทางเอกสาร เว็บไซต์ หรือใช้วิธีการสัมภาษณ์ออนไลน์ได้

           2. ลงพื้นที่เก็บข้อมูล – ขั้นตอนนี้ จะเป็นการลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลชุมชนตามหัวข้อที่กำหนด/คัดเลือกจากข้อมูลชุมชนโดยรวม

           3. ประเมินและตรวจสอบข้อมูล – ขั้นตอนนี้ จะเป็นการประเมินและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ภาคสนาม ซึ่งอาจจำเป็นต้องมีการกลับลงในไปพื้นที่ภาคสนาม เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง หรือเก็บข้อมูลข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติมได้

           4. จัดทำข้อมูลชุมชนโดยรวม – ขั้นตอนนี้ จะเป็นการให้รายละเอียดข้อมูลชุมชนโดยรวมตามหัวข้อที่กำหนด/คัดเลือกไว้แล้ว

           5. แบ่งปัน/ส่งคืนข้อมูลให้ชุมชน – ขั้นตอนนี้ จะเป็นการแบ่งปัน/ส่งคืนข้อมูลที่ได้รับการจัดการ หรือเรียบเรียงเรียบร้อยแล้วกลับคืนสู่ชุมชน โดยสามารถแบ่งปัน/ส่งคืนได้ทั้งในรูปแบบรายงานรวมเล่มฉบับสมบูรณ์ หรือส่งคืนในรูปแบบไฟล์ข้อมูลดิจิทัล

           6. อัพเดทข้อมูลชุมชน - ขั้นตอนสุดท้ายนี้ อาจเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก แต่หากมีการอัพเดทข้อมูลชุมชนโดยรวมทุก 5-10 ปีจะทำให้เราเห็นถึงสภาพความเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่เกิดขึ้นได้

 

ภาพประกอบ 3 ภาพขณะลงพื้นที่ร่วมกับชุมชน

 

ศมส. กับการบริหารจัดการข้อมูลชุมชน

           เพื่อให้การเก็บรวบรวม และบริหารจัดการข้อมูลชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) ในฐานะสถาบันวิชาการที่ทำงานร่วมกับชุมชนมายาวนานกว่า 30 ปี จึงมีแผนงานที่จะจัดทำ “ข้อมูลชุมชนโดยรวมฉบับ ศมส.” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงาน เครือข่ายนักวิจัย และชุมชนที่ทำงานร่วมกับ ศมส. สามารถนำไปใช้เป็น “เครื่องมือตั้งต้น” สำหรับการวางแผนเก็บข้อมูลชุมชนในมิติต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุม พร้อมทั้งคาดหวังให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลชุมชนทั่วประเทศเข้าไว้ด้วยกัน ภายใต้ระบบโครงสร้างข้อมูลชุมชนโดยรวมที่ ศมส. ออกแบบไว้ ผลลัพธ์ที่ได้จะช่วยให้ประเทศมีระบบข้อมูลพื้นฐานชุมชนที่ครอบคลุมในทุกมิติ สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา และปรับปรุงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนทั่วประเทศให้ดียิ่งขึ้น

 

ภาพประกอบ 4 ร่างต้นแบบโครงสร้างข้อมูลชุมชนโดยรวม

 

           ข้อมูลชุมชนโดยรวมที่ออกแบบโดย ศมส. ประกอบไปด้วย 21 แกนข้อมูลหลัก
(core element) และมีองค์ประกอบข้อมูลย่อย (sub-element) อีกมากกว่า 155 องค์ประกอบ เพื่อใช้สำหรับอธิบายข้อมูลชุมชนในมิติต่าง ๆ ที่ครอบคลุม ทั้งนี้ เราสามารถแบ่งแกนข้อมูลชุมชนโดยรวมตามหน้าที่การใช้งานได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

           1. แกนข้อมูลที่ให้รายละเอียดข้อมูลชุมชน (แกนที่ 1–16) เช่น

  • ชื่อชุมชน - เพื่อระบุ/อธิบายข้อมูลเกี่ยวกับชื่อชุมชน เช่น ชื่อทางการ ชื่อท้องถิ่น ที่มาของชื่อชุมชน
  • ประวัติความเป็นมาของชุมชน - เพื่อระบุ/อธิบายข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นของชุมชน เช่น การอพยพ การตั้งถิ่นฐาน เหตุการณ์สำคัญของชุมชน
  • วิถีชีวิตและชีวิตประจำวัน - เพื่อระบุ/อธิบายข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตและชีวิตประจำวันของผู้คนในชุมชน เช่น รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน การพักผ่อนและงานอดิเรก พฤติกรรมการกินอยู่ การทำงาน และการแต่งกาย
  • ปราชญ์ชาวบ้าน/บุคคลสำคัญของชุมชน - เพื่อระบุ/อธิบายข้อมูลเกี่ยวกับปราชญ์ชาวบ้าน/บุคคลสำคัญของชุมชน เช่น ชื่อ-นามสกุล อายุ ที่อยู่ ความชำนาญ
  • มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม - เพื่อระบุ/อธิบายข้อมูลเกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีในชุมชน เช่น ประเภท ชื่อทางการ ชื่อท้องถิ่น ประวัติความเป็นมาและการกระจายตัว สถานภาพปัจจุบัน การถ่ายทอดและการสืบทอด

           2. แกนข้อมูลที่ให้รายละเอียดข้อมูลการบริหารจัดการข้อมูลชุมชน (แกนที่ 16–21) ได้แก่

  • ชุดทรัพยากรที่ใช้อ้างอิง - เพื่อระบุ/อธิบายข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรที่ใช้อ้างอิงสำหรับจัดทำข้อมูลชุมชนโดยรวม เช่น ประเภทของทรัพยากร ชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง ชื่อหนังสือ/ชื่อวารสาร
  • ชุดรายชื่อผู้ให้สัมภาษณ์ - เพื่อระบุ/อธิบายข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อผู้ให้สัมภาษณ์ที่ใช้อ้างอิงสำหรับจัดทำข้อมูลชุมชนโดยรวม เช่น ผู้ให้สัมภาษณ์ อายุผู้ให้สัมภาษณ์ วัน-เดือน-ปีที่สัมภาษณ์
  • ชุดวัสดุประกอบการอธิบาย - เพื่อระบุ/อธิบายข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ประกอบการอธิบายข้อมูลชุมชนโดยรวม เช่น ประเภทของวัสดุ ชื่อไฟล์ คำอธิบาย วันที่ผลิต ผู้สร้าง ผู้ถือสิทธิ์ เงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้งาน
  • ผู้สร้างสรรค์และผู้มีส่วนร่วม - เพื่อระบุ/อธิบายข้อมูลเกี่ยวกับผู้สร้างสรรค์และผู้มีส่วนร่วมในการจัดทำข้อมูลชุมชนโดยรวม เช่น ผู้สร้างสรรค์ ผู้มีส่วนร่วม คลังข้อมูลที่ดูแล เงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้งาน
  • วันที่ - เพื่อระบุ/อธิบายข้อมูลวันที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลชุมชนโดยรวม เช่น ช่วงเวลาในการลงพื้นที่เก็บข้อมูล วันที่สร้างชุดคำอธิบาย วันที่ปรับปรุงข้อมูล

           สาเหตุที่ต้องมีแกนข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการข้อมูลชุมชนเป็นเพราะ นักวิจัยส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลชุมชนตามประเด็นการศึกษา หรือหัวข้อที่กำหนดไว้ แต่มักจะมองข้ามข้อมูลที่เกี่ยวกับ “กระบวนการการทำงาน” (work process) ระหว่างเก็บข้อมูลชุมชน เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับวัน-เวลาที่บันทึกภาพถ่าย รายละเอียดเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ลงพื้นที่ภาคสนาม รายละเอียดเกี่ยวกับผู้มีส่วนร่วมคนอื่น ๆ ที่ช่วยในการเก็บข้อมูลชุมชน (ผู้ช่วยนักวิจัย ช่างถ่ายภาพ) หรือแม้แต่เงื่อนไขการใช้งานข้อมูลที่เป็นไปตามความต้องการชุมชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการตัดสินใจเลือกวิธีที่จะเผยแพร่ข้อมูลของพวกเขา ด้วยเหตุนี้ แกนข้อมูลที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการบริหารจัดการข้อมูลชุมชนโดยรวมจึงถูกออกแบบขึ้น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการ และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ภาคสนาม รวมถึงทำหน้าที่ในการแบ่งปัน และส่งคืนข้อมูลแก่ชุมชนที่นักวิจัยลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลมาด้วย

           ทั้งนี้ ร่างต้นแบบโครงสร้างข้อมูลชุมชนโดยรวมฉบับ ศมส. “ยังไม่สามารถนำไปใช้งานได้จริง” เพราะอยู่ในระหว่างกระบวนการสอบถามความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำไปปรับปรุงโครงสร้างและเนื้อหาของข้อมูลที่จะจัดเก็บให้สอดคล้อง และครอบคลุมกับกระบวนการเก็บข้อมูลชุมชนมากที่สุด ในอนาคต หากเครื่องมือชิ้นนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ศมส.จะทำการอัพเดทข้อมูลให้ผู้ที่สนใจรับทราบอีกครั้ง

 

บรรณานุกรม

Hawtin, M., & Percy-Smith, J. (2007). Community Profiling: A Practical Guide. McGraw-Hill Education.

T Bradshaw. (2010). Key concepts in community studies. London: Sage.

UNSECO. (1999). Manual on FUNCTIONAL LITERACY FOR INDIGENOUS PEOPLES. Bangkok: UNESCO PROAP.

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม. เข้าถึงได้จาก มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม: http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich

ศมส. (ม.ป.ป.). คลังข้อมุลชุมชน. เข้าถึงได้จาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน): https://communityarchive.sac.or.th/

ศมส. (ม.ป.ป.). ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. เข้าถึงได้จาก ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน): https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/?tokens=


เขียนโดย

สิทธิศักดิ์ รุ่งเจริญสุขศรี

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


1  นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

ป้ายกำกับ ข้อมูลชุมชนโดยรวม พลังชุมชน การบริหารจัดการข้อมูล โครงสร้างข้อมูลชุมชน สิทธิศักดิ์ รุ่งเจริญสุขศรี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share