วิสัยทัศน์
เป็นองค์กรหลักด้านการจัดการข้อมูลความรู้ด้านมานุษยวิทยาเพื่อสร้างความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
พันธกิจ
สั่งสมความรู้ และใช้ประโยชน์ความรู้ทางมานุษยวิทยา
ศมส. มีเป้าหมายเป็นสถาบันวิชาการชั้นนำด้านมานุษยวิทยาในระดับประเทศที่มุ่งใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ทางมานุษยวิทยาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้สังคมบนฐานความเข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยมีพันธกิจที่สำคัญ 2 ประการ คือ
1) สั่งสมความรู้ เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นสถาบันวิชาการด้านมานุษยวิทยาระดับประเทศ ภารกิจที่สำคัญของ ศมส. คือ การ “สั่งสมความรู้” ทั้งในรูปแบบของการสร้างองค์ความรู้ทางมานุษยวิทยา ผ่านการพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพ และในรูปแบบการพัฒนาฐานข้อมูลด้านมานุษยวิทยา เพื่อเป็นฐานความรู้ที่ใช้ในการพัฒนาประเทศบนความเข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม
2) ใช้ประโยชน์ความรู้ทางมานุษยวิทยา พันธกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ ศมส. คือการนำองค์ความรู้ที่สั่งสมไว้มาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อสร้างคุณค่าให้กับองค์ความรู้ทางมานุษยวิทยา ในระดับต่างๆ ได้แก่
(1) การใช้ประโยชน์ในระดับวิชาการ ในรูปแบบของการนำองค์ความรู้ทางมานุษยวิทยาไปบูรณาการกับสาขาวิชาการอื่น ๆ ในการต่อยอดและสร้างนวัตกรรมทางวิชาการทั้งในเชิงทฤษฎีและระเบียบวิธีวิจัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยกระดับวงการมานุษยวิทยาไทย
(2) การใช้ประโยชน์ในระดับเศรษฐกิจ มุ่งส่งเสริมการใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานการเคารพ “สิทธิเจ้าของวัฒนธรรม”
(3) การใช้ประโยชน์ในระดับสาธารณะ มุ่งเผยแพร่ความรู้และส่งเสริมการสร้างความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อความมั่นคงทางสังคมที่อยู่ร่วมกันโดยปราศจากอคติทางวัฒนธรรม
(4) การใช้ประโยชน์ในระดับนโยบาย ในรูปแบบนำความรู้ไปพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม บนฐานของความเข้าใจความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม
ค่านิยมหลัก
Caring Creativity Quality
ศมส. ในฐานะองค์กรวิชาการด้านมานุษยวิทยาที่มีภารกิจในการส่งเสริมความเข้าใจและยอมรับ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมอันเป็นหัวใจของสาขาวิชามานุษยวิทยา ศมส. จึงได้กำหนดค่านิยมองค์กรไว้ 3 ประการ ได้แก่
Caring ในฐานะองค์กรวิชาการด้านมานุษยวิทยา ศมส. ยึดมั่นแนวทางการทำงานที่ใส่ใจดูแลผู้ปฏิบัติงานในองค์กร ภาคีเครือข่าย กลุ่มเป้าหมาย ที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของความเป็นมนุษย์ รวมทั้งสร้างค่านิยมในการใส่ใจดูแลระบบนิเวศทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
Creativity ศมส. ให้ความสำคัญกับความความคิดสร้างสรรค์ในฐานะที่เป็นกระบวนการสร้างผลลัพธ์ (outcome) โดยมุ่งส่งเสริมศักยภาพให้บุคลากรของ ศมส. มีความเชื่อมั่น และมีอิสรภาพทางความคิด เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการนำความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคนมาร่วมกันสร้างนวัตกรรมการทำงานที่เป็นประโยชน์กับสังคม
Quality ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ศมส. ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพของการดำเนินงาน จึงวางนโยบายคุณภาพและสร้างเกณฑ์มาตรฐานการทำงาน รวมทั้งวางกระบวนการบริหารจัดการคุณภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานให้สอดคล้องกับภารกิจและเกิดประโยชน์ต่อสังคม
อำนาจหน้าที่
ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๗ ให้ศูนย์มีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินการและสนับสนุน การรวบรวม การศึกษา การวิจัย การจัดการ การเผยแพร่และให้บริการข้อมูลด้านมานุษยวิทยาและศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(๒) สร้างความร่วมมือ สนับสนุนและขับเคลื่อนเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นและเครือข่ายทางวิชาการ ในการสร้างและจัดการความรู้ด้านมานุษยวิทยาและศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืนของชุมชนและประโยชน์ทางวิชาการ
(๓) ดำเนินการจัดและสนับสนุนการจัดการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรม เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติอย่างยั่งยืน
(๔) บริหารจัดการ เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลและสารสนเทศกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในการเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านมานุษยวิทยาและศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง
(๕) เป็นแหล่งค้นคว้าและแหล่งเรียนรู้ รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลและสารสนเทศด้านมานุษยวิทยาและศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง
(๖) ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดพิมพ์เอกสาร การจัดทำสื่อโสตทัศน์ การสัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการจัดนิทรรศการ”
ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๓
มาตรา ๘ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ ให้ศูนย์มีอำนาจกระทำกิจการดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่างๆ
(๒) ก่อตั้งสิทธิ หรือทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน
(๓) จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษาและการดำเนินงานของศูนย์
(๔) ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานในประเทศหรือต่างประเทศ ในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของศูนย์
(๕) เข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของศูนย์
(๖) กู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของศูนย์
(๗) เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบํารุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินกิจการ
(๘) กระทำการอื่นใดที่จําเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของศูนย์
การเข้าร่วมทุนตาม (๕) และการกู้ยืมเงินตาม (๖) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรี กำหนด