ภาพเก่าเมืองเชียงคำ ประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมของชุมชน

 |  การจัดการข้อมูลทางวัฒนธรรม
ผู้เข้าชม : 2596

ภาพเก่าเมืองเชียงคำ ประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมของชุมชน

 

ภาพเก่าเมืองเชียงคำ 

ประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมของชุมชน

 

 

 

ธันวดี สุขประเสริฐ

นักวิชาการ กลุ่มงานคลังข้อมูล

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

           หากถามว่าผู้เขียนรู้จักเมืองเชียงคำได้อย่างไร คงต้องย้อนไปเมื่อสิบปีที่แล้ว ที่ได้เข้ามาจัดการข้อมูลบันทึกสนามของไมเคิล มอร์แมน (Michael Moerman) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันที่เข้ามาศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย จากบันทึกและภาพถ่ายกว่า 3,000 ภาพ ทำให้ผู้เขียนได้รู้จักกับชุมชนไทลื้อในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา สนามที่มอร์แมนลงไปฝังตัวนานหลายปี 

           ผู้เขียนใช้เวลาราวสามปี เพื่อจัดการภาพถ่าย ทั้งการสแกนและการค้นหาคำอธิบายภาพ แม้มอร์แมนจะได้ให้ข้อมูลไว้แล้วจำนวนหนึ่ง แต่อีกกว่าพันภาพที่เหลืออยู่ในมือยังคงไม่มีข้อมูลที่จะนำไปสู่ข้อเท็จจริงว่า ในภาพนั้น ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ทำให้ผู้เขียนคิดว่า หรือเราควรจะลงไปที่ชุมชนเพื่อหาคำตอบด้วยตัวเอง? การย้อนรอยมอร์แมนจึงเกิดขึ้น ใน พ.ศ. 2550 และนั่นเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้สัมผัสเมืองเชียงคำ 

 

       

ภาพถ่ายจากบันทึกสนามของไมเคิล มอร์แมน แสดงให้เห็นภาพวิถีชีวิตและประเพณีของเมืองเชียงคำ ปี พ.ศ.2503 

 

           เชียงคำเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดพะเยา ในอดีตเป็นแอ่งอารยธรรมของชุมชนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับสายน้ำ เดิมทีเป็นเมืองหน้าด่านขนาดเล็ก แต่สภาพบ้านเมืองคับแคบ จึงได้ย้ายมาสร้างเมืองใหม่บริเวณบ้านเวียง ตำบลเวียง ในปัจจุบัน ประชากรกลุ่มหลักเป็นชาวไตยวนหรือคนเมืองล้านนาเดิม ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นยุคของการ “เก็บผักใส่ช้า เก็บข้าใส่เมือง” มีการกวาดต้อนคนจากที่ต่าง ๆ หลายระลอก เพื่อฟื้นฟูบ้านเมืองขึ้นมาอีกครั้งหลังกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า ราวปี พ.ศ. 2353-2368 สมัยเจ้าสุมนเทวราช ได้กวาดเรือนชาวลื้อจากเมืองล้า เมืองพง เมืองภูคา และเมืองเชียงแขง1  เข้ามาตั้งถิ่นฐานด้านเหนือของเมืองน่าน ทำให้เมืองเชียงคำมีกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อจากสิบสองปันนาเข้ามาอาศัยจำนวนมาก ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการปกครองโดยรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง เมืองเชียงคำจึงได้ถูกรวมอยู่กับมณฑลลาวเฉียง ต่อมาใน พ.ศ. 2449 ได้รับการประกาศให้เป็นแขวงเชียงคำ และเป็นอำเภอเชียงคำตั้งแต่ พ.ศ. 2451 ถึงปัจจุบัน

           ทั้งหลักฐานทางโบราณคดี ตำนานทางศาสนา หลักฐานทางประวัติศาสตร์ และเอกสารราชการจากส่วนกลาง ต่างก็ชี้ให้เห็นว่าเชียงคำเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญ เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีการเปลี่ยนผ่านด้านการเมืองการปกครอง และมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ จึงทำให้พื้นที่นี้เต็มไปด้วยอัตลักษณ์และเรื่องราวที่น่าสนใจ เชียงคำจึงดึงดูดนักท่องเที่ยว นักวิจัย ให้เข้ามาใช้เป็นสนามศึกษาสังคมและวัฒนธรรม ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยทำเลที่ตั้งและเหตุผลทางการเมืองการทหาร จึงเป็นพื้นที่ให้ชาวต่างชาติแวะเวียนเข้ามา บ้างใช้เป็นศูนย์บัญชาการ บ้างใช้เป็นทางผ่าน บ้างก็เข้ามาทำงานบริการประชาชนเพียงชั่วคราว ในขณะที่บางคนเมื่อผ่านเข้ามาแล้วก็เลือกที่จะลงหลักปักฐานใช้ชีวิตบั้นปลายที่เชียงคำเลยก็มี คนกลุ่มนี้เข้ามายังเชียงคำด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป และไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม การผ่านเข้ามาของพวกเขาต่างก็ทิ้งร่องรอยและความทรงจำไว้มากมาย 

           “ภาพถ่าย” จึงเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นร่องรอยของผู้มาเยือนได้ชัดเจนที่สุด พวกเขานำกล้องถ่ายรูปเข้ามาด้วยเพื่อบันทึกภาพการปฏิบัติภารกิจ เก็บข้อมูล และบันทึกสิ่งแปลกหูแปลกตาเพื่อเป็นความทรงจำ

           ใน พ.ศ. 2494 โดโรธี ยูลิก (Dorothy Uhlig) หรือที่ชาวบ้านรู้จักในนาม “หมอฝรั่ง” มิชชันนารีชาวอเมริกันเข้ามาทำงานเป็นอาสาสมัครในอำเภอเชียงคำ และเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงคำจนถึงบั้นปลายชีวิต ตลอดช่วงระยะเวลากว่า 62 ปี หมอโดโรธีได้ทำงานช่วยเหลือคนในพื้นที่เชียงคำมากมาย เช่น เปิดสถานพยาบาลรักษาชาวบ้านที่เรียกว่า “ห้องยาคริสเตียน” รักษาด้วยวิธีการที่ทันสมัยและใช้ยาจากต่างประเทศ บำบัดผู้ติดฝิ่น แก้ปัญหาโรคเอดส์ จัดหาที่ดินทำกิน ฝึกอาชีพ ดูแลคนในศูนย์อพยพซึ่งเป็นชาวเชียงคำและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงสนับสนุนด้านการศึกษาและให้ที่พักแก่เด็กเยาวชนที่มาเรียนหนังสือในเมืองเชียงคำ การเข้ามาของหมอโดโรธีไม่เพียงแต่นำความก้าวหน้าของสาธารณสุขสมัยใหม่เข้ามาด้วย แต่ยังมอบความทรงจำของเมืองเชียงคำผ่านภาพถ่ายที่บันทึกด้วยตนเอง ทั้งภาพการทำงานของห้องยาคริสเตียน สถานที่ต่าง ๆ ที่หมอเดินทางไปรักษาคนไข้ กลุ่มชาติพันธุ์บนดอยสูง และเหตุการณ์สำคัญของเมืองเชียงคำ 

 

     

      ห้องยาคริสเตียน การทำงานของหมอโดโรธี ยูลิก และเหตุการณ์ไฟไหม้ตลาดเชียงคำ ปี พ.ศ. 2511 

 

           พ.ศ. 2501-2504 ไมเคิล มอร์แมน ได้เลือกบ้านแพด อำเภอเชียงคำ เป็นพื้นที่ทำวิจัยภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ผู้เขียนมีโอกาสไปที่บ้านแพดเพื่อพูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ที่เคยได้พบมอร์แมนเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ไม่มีใครรู้ว่านักมานุษยวิทยาคืออะไร ทำงานอะไร ภาพในความทรงจำของชาวบ้านรู้จักแต่พ่อจารย์ไมเคิล ที่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเพราะสนใจใคร่รู้ว่าคนที่นี่เขาอยู่กินกันอย่างไร ทำอะไรกันบ้างในแต่ละวัน มอร์แมนเฝ้าสังเกตความเป็นไปของชุมชนอย่างใกล้ชิด และลงไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ จากคนแปลกหน้ากลายเป็นคนคุ้นเคยของชุมชนได้ไม่ยาก นับว่าเป็นความสำเร็จของมอร์แมนกับกระบวนการวิจัยที่เรียกว่า การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม (participant observation)2  ภาพถ่ายของมอร์แมนจึงเป็นการบอกเล่าเรื่องราวผ่านสายตาคนที่เฝ้ามองความเป็นไปในหมู่บ้าน กิจกรรมในชีวิตประจำวัน กิจกรรมทางสังคม และธรรมเนียมปฏิบัติ ฯลฯ ภาพถ่ายจึงไม่ได้เป็นเพียงบันทึกเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการวิจัยของเขาเท่านั้น แต่เปรียบเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ ณ ช่วงเวลาหนึ่งของเมืองเชียงคำ

 

         

การทำงานสนามของมอร์แมน เฝ้าสังเกตดูกิจกรรมและการดำเนินชีวิตของชาวไทลื้อบ้านแพด อ.เชียงคำ จ.พะเยา

 พ.ศ. 2501-2504

 

           เดือนตุลาคม พ.ศ. 2509 U.S. NAVY SEABEE ทีม 0909 ประกอบด้วยทหาร 13 นาย นำโดยเรือโท วอลเตอร์ ซี. เพียซ จูเนียร์ (Lieutenant Walter C. Pierce, Jr.) เดินทางจากกรุงเทพฯ สู่อำเภอเชียงคำเพื่อทำงานร่วมกับตำรวจตระเวนชายแดนไทย  ทหารกลุ่มนี้เข้ามาพร้อมอุปกรณ์และเครื่องจักรกลหนัก เข้ามาปฏิบัติงานในโครงการที่ให้ความช่วยเหลือพลเรือนทั้งในและรอบๆ เชียงคำ และ 50 หมู่บ้านที่อยู่ตลอดแนวชายแดนลาว-พม่า ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงถนนในอำเภอเชียงคำ เชื่อมต่อเส้นทางการเดินทางด้วยเกวียนระหว่างเชียงคำกับศูนย์พัฒนาห้วยเฟือง เชื่อมหมู่บ้านของคนบนพื้นที่สูงกับพื้นที่ราบ ปรับปรุงโรงเรียน ปฏิบัติงานแพทย์เคลื่อนที่ร่วมกับหน่วยแพทย์ตำรวจตระเวนชายแดนและทหารเสนารักษ์ (กรมแพทย์ทหารเรือ) ในเชียงคำและห้วยเฟือง ตลอดการปฏิบัติงานมีชาวบ้านและเด็กนักเรียนจำนวนมากให้ความร่วมมือและช่วยเหลือ 

           จากรายงานของเรือโท เพียซ เขียนไว้ว่า “เราพบว่าชาวเชียงคำและหลายๆ หมู่บ้าน ให้การต้อนรับกลุ่มคนที่เขาเรียกว่า ‘ฝรั่ง’ นาวิกโยธินสหรัฐฯ ด้วยความเต็มใจ ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกอบอุ่นเหมือนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันฟุตบอลและวอลเลย์บอลระหว่างชาวบ้านกับทหาร SEABEE งานเลี้ยงอาหารเย็นที่กองทัพบกเป็นเจ้าภาพ (14 มกราคม พ.ศ. 2510) การเป็นครูสอนหนังสือในชุมชน (16 มกราคม พ.ศ. 2510) งานคริสต์มาสสำหรับเด็กๆ และงานเลี้ยงฉลองนางงามเชียงคำ ซึ่งเรือโท วอลเตอร์ ซี. เพียซ จูเนียร์ ได้รับเกียรติให้สวมมงกุฎให้นางงามเชียงคำด้วย”3

   

     

กลุ่มทหาร U.S. NAVY SEABEE ปฏิบัติภารกิจในอำเภอเชียงคำ พ.ศ.2509-2510 

 

           วันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2510 ทหารทีม 0909 ได้ออกจากเชียงคำ จากนั้นในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันทหาร U.S. NAVY SEABEE ทีม 1109 ได้เข้ามาทำหน้าที่แทน ตลอดระยะเวลาที่เข้ามาปฏิบัติงานในเชียงคำ นอกจากรายงานการทำงานแล้ว พวกเขายังได้บันทึกภาพกิจกรรมและการทำงานไว้จำนวนหนึ่ง ต่อมาทหารที่บันทึกภาพไว้ได้กลับมาที่เชียงคำอีกครั้ง และได้มอบภาพที่เคยถ่ายไว้ให้แก่โรงเรียนบ้านหย่วน (เชียงคำนาคโรวาท) ภาพและรายงานฉบับนี้จึงได้ทำหน้าที่เป็นบันทึกความทรงจำอีกชุดหนึ่งของคนเชียงคำ 

           ในยุคที่การถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มเป็นของราคาแพง ช่างภาพจำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการถ่ายแต่ละภาพ เลือกเก็บแต่สิ่งที่มีความหมาย สำคัญ และน่าจดจำ เพื่อเป็นสิ่งระลึกและเตือนความจำส่วนตัวของผู้ถ่าย ภาพถ่ายทั้ง 3 ชุดนี้ จึงเป็นภาพอดีตเพียงส่วนหนึ่งที่บันทึกผ่านสายตาของผู้มาเยือน ซึ่งในเวลาต่อมา ภาพถ่ายส่วนบุคคลเหล่านี้ได้ถูกนำไปประกอบกิจกรรมสาธารณะและงานประเพณีสำคัญต่างๆ ของเมืองเชียงคำ เช่น งานสืบสานตำนานไทลื้อ ฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมไทลื้อ เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้ระลึกถึงภาพวิถีชีวิตและประเพณีในอดีต เมื่อเวลาผ่านไป ความทรงจำส่วนบุคคลจึงเปลี่ยนหน้าที่ไปสู่การเป็น ความทรงจำร่วม (collective memory)4  ที่ยึดโยงคนในชุมชนเข้าหากัน อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นให้ชุมชนเริ่มเห็นความสำคัญของภาพถ่ายเก่าในฐานะที่เป็นสื่อบอกเล่าเรื่องราว ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ความเปลี่ยนแปลง และพัฒนาการของเมืองเชียงคำ

           การที่คนในชุมชนสนใจภาพถ่ายเก่าเพราะมันบอกเล่าเรื่องราวในอดีตได้หลายแง่มุม สื่อสารกับผู้คนได้ดี ผู้ชมเห็นแล้วมีอารมณ์ร่วมคิดหวนถึงอดีต และเชื่อมโยงกับประสบการณ์ส่วนตัวได้ง่าย ดังนั้น ชุมชนจึงเกิดแนวคิดที่อยากจะรวบรวมภาพถ่ายเก่าเมืองเชียงคำที่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ นำมาจัดการและจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบ เป็นคลังข้อมูลภาพเมืองเชียงคำ โดยที่ชาวเชียงคำมีส่วนร่วมในการรวบรวมภาพและช่วยกันเล่าเรื่อง ดำเนินการภายใต้ โครงการจัดเก็บข้อมูลชุมชนเมืองเชียงคำ

           ชานนท์ ปัญจะศรี ศิลปินอิสระผู้ที่สนใจและสะสมภาพเก่าของล้านนา รวมถึงเป็นหนึ่งในคณะทำงานของโครงการจัดเก็บข้อมูลชุมชนเมืองเชียงคำ ให้ข้อมูลว่า คณะทำงานเริ่มต้นจากการสำรวจและรวบรวมภาพถ่ายเก่าจากหลายแหล่ง อาทิ หนังสือจดหมายเหตุเมืองพะเยา ภาพของไมเคิล มอร์แมน สไลด์ของหมอโดโรธี ยูลิก  ภาพส่วนบุคคลของกลุ่มพ่อค้าจีนในเชียงคำ ทหารเกษียณอายุราชการ ไทใหญ่ ไทลื้อ ห้องภาพแสงเสน่ห์ ฯลฯ จากนั้นจึงลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยการสัมภาษณ์บุคคลที่เป็นเจ้าของภาพหรือทายาท ปราชญ์ชุมชน หากโชคดีไปกว่านั้นได้เจอบุคคลในภาพที่ยังมีชีวิตอยู่ เขาก็ไม่ลังเลที่จะติดต่อขอพบบุคคลในภาพเพื่อให้ถ่ายทอดความทรงจำให้ฟัง “ในช่วงเวลาที่สัมภาษณ์ชาวบ้าน ได้เห็นรอยยิ้ม ได้ยินเรื่องเล่าที่พรั่งพรูออกมาอย่างมีความสุข ถึงแม้บางภาพกับบางคนจะมีเรื่องเศร้าที่ติดค้างในใจ ทำให้ภาพเก่ากลับมามีชีวิต มีพลังสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างดี” ชานนท์กล่าว

 

 

หลวงพ่ออภิเดช ชยธมฺโม

 

         

คุณตาสวัสดิ์ วิต๊ะกุล และคุณตาบุญตัน วงศ์ใหญ่ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพถ่ายและเรื่องราวเมืองเชียงคำในอดีต 

 

           ท่ามกลางข้อมูลที่ไหลมาไม่ขาดสาย ทั้งข้อมูลที่เกี่ยวกับภาพโดยตรงและข้อมูลแวดล้อมที่นอกเหนือไปกว่าภาพถ่ายจะบันทึกได้หมด ชานนท์หยิบไอแพดขึ้นมาถ่ายทอดถ้อยคำออกมาเป็นภาพวาด จนท้ายที่สุด ทั้งภาพถ่ายเก่า ภาพวาด และเรื่องเล่า หลอมรวมออกมาเป็นภาพอดีตของเมืองเชียงคำที่ชัดเจนขึ้น และถูกนำเสนอสู่สาธารณะในรูปแบบนิทรรศการ เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนได้เข้ามาชม แลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์ และความทรงจำ เพื่อหวนระลึกถึงสิ่งที่เคยมีและสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ ก่อให้เกิดชุดข้อมูลหลากหลายมุมมองผสมผสานกัน รวมถึงจัดกิจกรรมเชิญชวนให้ชาวเชียงคำส่งภาพถ่ายเก่าเข้ามาประกวดพร้อมเรื่องเล่า เป็นการส่งเสริมบทบาทคนในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการบันทึกประวัติศาสตร์เมืองเชียงคำ

 

ภาพร่างจากคำบอกเล่า - ล้อวัวขนไม้หลักฝายเดินทางไปบ้านฝายกวาง เพื่อซ่อมแซมฝายก่อนฤดูทำนามาถึง 

   

     

คณะทำงานโครงการจัดเก็บข้อมูลชุมชนเมืองเชียงคำ และนิทรรศการภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเชียงคำ 

 

           ภาพเก่าเมืองเชียงคำทำให้เห็นการเดินทางของเมืองจากอดีตสู่ปัจจุบันที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย ทั้งคนพื้นเมืองดั้งเดิม คนที่อพยพเข้ามาอยู่ใหม่ คนต่างถิ่นที่มาเยือน ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญกับการพัฒนาและเติบโตของเมืองเชียงคำในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น โครงการจัดเก็บข้อมูลชุมชนเมืองเชียงคำยังทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ ได้รู้จักชุมชนของตัวเองมากขึ้น เกิดเครือข่ายความร่วมมือจากกลุ่มที่ทำกิจกรรมต่างๆ อีกทั้งภาพเก่ายังเป็นสื่อกลางให้ชาวเชียงคำได้เข้ามาทำงานร่วมกันในบทบาทที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นในฐานะเจ้าของภาพ คนเล่าเรื่อง คนเก็บรวบรวมข้อมูล คนจัดการข้อมูล ฯลฯ ซึ่งการมีส่วนร่วมถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำคลังข้อมูลชุมชน  ทั้งหมดนี้ต่างก็ทำงานสอดประสานกันจนเกิดเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ที่พร้อมจะเป็นแหล่งเรียนรู้และความทรงจำร่วมที่สำคัญของชุมชน

 


 

1  สรัสวดี อ๋องสกุล. (2553). ประวัติศาสตร์ล้านนา. (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, หน้า 324.

2  การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (participant observation) คือ การทำงานที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ต้องการศึกษา ใช้ชีวิตตามสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง เฝ้าสังเกตการณ์ บันทึกข้อมูลด้วยเครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ เช่น จดบันทึก ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ พูดคุยสนทนา

3  ข้อมูลและภาพถ่ายจากรายงานของเรือโท วอลเตอร์ ซี. เพียซ จูเนียร์ ระหว่างพฤศจิกายน พ.ศ. 2509 – พฤษภาคม พ.ศ. 2510 จัดทำเพื่อส่งให้กับนาวิกโยธินสหรัฐฯ

4  ความทรงจำร่วม (collective memory) คือ ความทรงจำ ความรู้ และข้อมูลที่กลุ่มทางสังคมมีร่วมกัน ความทรงจำร่วมสามารถสร้าง แบ่งปัน และส่งต่อโดยกลุ่มทางสังคมขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ได้ โดยกลุ่มทางสังคมนั้นอาจเป็นกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ร่วมกัน เชื้อชาติเดียวกัน อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน หรืออยู่ในชุมชนเดียวกัน ฯลฯ นอกจากนี้ ความทรงจำร่วมยังอาจหมายถึงความสนใจในประเด็นใดประเด็นหนึ่งร่วมกันก็ได้

 

แหล่งข้อมูล

สรัสวดี อ๋องสกุล. (2553). ประวัติศาสตร์ล้านนา. (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง.

คณะทำงานโครงการจัดเก็บข้อมูลชุมชนเมืองเชียงคำ. (2563). รายงานความก้าวหน้าโครงการจัดเก็บข้อมูลชุมชนเมืองเชียงคำ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา. พะเยา : มปท.

เฟสบุ๊กเพจเชียงคำรำลึก https://www.facebook.com/chiangkhamhistory

http://www.hugchiangkham.com

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share