วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893 เป็นวันสถาปนากรุงศรีอยุธยาจริงหรือ?

 |  การจัดการข้อมูลทางวัฒนธรรม
ผู้เข้าชม : 33606

วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893 เป็นวันสถาปนากรุงศรีอยุธยาจริงหรือ?

“พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ” ระบุวันเดือนปีแห่งการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ไว้ด้วยระบบปฏิทินจันทรคติว่า ตรงกับ “ศักราช 712 ขาลศก วันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือนห้า เวลารุ่งแล้ว 3 นาฬิกา 9 บาท แรกสถาปนากรุงพระนครศรีอยุธยา”

ที่ผ่านมา ได้มีการคำนวณปรับเทียบวันเดือนปีดังกล่าวกับระบบปฏิทินสุริยคติ จึงได้ว่า ตรงกับ “วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม จุลศักราช 712” จากนั้น จึงแปลงเลขจุลศักราชดังกล่าวเป็นเลขพุทธศักราช ด้วยการบวก 1181 เข้าไป จึงได้ว่า ตรงกับ “วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893”1 วันเดือนปีดังกล่าวจึงเป็นที่เผยแพร่กันโดยทั่วไป

อย่างไรก็ตาม วันสถาปนากรุงศรีอยุธยาดังกล่าวมี “จุดลักลั่นทางปฏิทิน” อยู่ 2 จุด คือ “เลขวันที่” กับ “เลขพุทธศักราช” เพราะที่ถูกต้องตรงตาม “ปฏิทินไทยสากล” ซึ่งขึ้นปีใหม่วันที่ 1 มกราคม ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ต้องตรงกับ “วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 1894”2 ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการคำนวณผิดหรือถูก  แต่เป็นเรื่องของความสับสนที่เกิดขึ้นในแวดวงวิชาการไทย ในการเลือกใช้ระบบปฏิทินที่ต่างกันอย่างลักลั่น มีทั้งการใช้วันที่ของ “ปฏิทินจูเลียน” โดยนำมาใส่ใน “ปฏิทินไทยสากล”3 โดยไม่ปรับแก้ความคลาดเคลื่อนของวันเสียก่อน หรือ ไม่ได้ปรับแก้ “พุทธศักราช” ที่ปรับเทียบมาจาก “จุลศักราช” ให้เป็น “พุทธศักราชไทยสากล”4  จึงนำมาสู่ข้อสงสัยที่ว่า ในการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทย เราจำเป็นต้นแก้ไขวันเดือนปีให้ถูกต้องตรงกับ “ปฏิทินไทยสากล” หรือไม่ ถ้าคิดว่า “ต้องแก้” แล้วทำไมความลักลั่นเช่นนี้ จึงยังดำรงอยู่มานานเกือบ 80 ปี?

เรามาดูความลักลั่นจุดแรกคือ “วันที่ 4” กับ “วันที่ 12” กันก่อน เหตุที่ทำให้ “วันที่” ต่างกันนั้น มาจากการใช้ระบบปฏิทินต่างกัน นั่นเพราะว่า การใช้ “วันที่ 4” มาจากระบบปฏิทินสุริยคติแบบจูเลียน และ “วันที่ 12” มาจากระบบปฏิทินสุริยคติแบบเกรกอเรียน แล้วระบบทั้ง 2 ต่างกันอย่างไร?

ปฏิทินจูเลียน เป็นปฏิทินของอาณาจักรโรมันที่ได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ในสมัยของจูเลียส ซีซาร์ (100 – 44 BC) จึงเรียก “ปฏิทินจูเลียน” (Julian Calendar) และใช้มาจนถึงวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1582 ในคริสตจักรโรมันคาทอลิก เพราะวันรุ่งขึ้น สมเด็จพระสังฆราชเกรกอรีที่ 13 ทรงประกาศให้ใช้ปฏิทินสุริยคติที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งทำให้จำนวนวันที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น จึงเรียกปฏิทินดังกล่าวว่า “ปฏิทินเกรกอเรียน” (Gregorian Calendar) โดย ณ วันที่ประกาศเปลี่ยนนั้น ปฏิทินจูเลียนมีความคลาดเคลื่อนกับปฏิทินเกรกอเรียนมาแล้ว 9 วัน5 ดังนั้น วันรุ่งขึ้นดังกล่าว เมื่อเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินเกรกอเรียนแล้ว จึงกลายเป็น “วันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1582”6 ทันที และการนับวันเวลาสากล ก็ใช้ปฏิทินเกรกอเรียนนี้ มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็คือ ค.ศ. 2020 อย่างไรก็ตาม บางประเทศอย่างสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เพิ่งยกเลิกปฏิทินจูเลียน เมื่อ ค.ศ. 1752 และเริ่มใช้ปฏิทินเกรกอเรียนปีแรกใน ค.ศ. 1753 ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ระบบ “ปฏิทินเกรกอเรียน” เริ่มใช้กับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของโลกตั้งแต่ ค.ศ. 1582 – ปัจจุบัน นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ก็มีคำถามว่า ถ้าต้องการทราบวันเดือนปีของปฏิทินเกรกอเรียน ที่ “ย้อนกลับไปก่อน ค.ศ. 1582” เพื่อเทียบกับวันเดือนปีของปฏิทินจูเลียน ที่ถูกใช้บันทึกวันเวลาทางประวัติศาสตร์ก่อนหน้า ค.ศ. 1582 นั้น กระทำได้หรือไม่? คำตอบคือ สามารถทำได้ และเรียกระบบปฏิทินที่สืบย้อนวันเวลาดังกล่าวว่า “ปฏิทินเกรกอเรียนแบบสืบย้อน” (Proleptic Gregorian Calendar)7 เหตุนี้จึงเป็นที่มาว่า ทำไม วันที่สถาปนากรุงศรีอยุธยาตามปฏิทินจูเลียน (วันที่ 4) กับตามปฏิทินเกรกอเรียนแบบสืบย้อน (วันที่ 12) จึง “คลาดเคลื่อนกัน 1 อาทิตย์” เลยทีเดียว

ประเด็นถัดมา วันสถาปนากรุงศรีอยุธยา อยู่ใน ค.ศ. ใด? เรารู้ว่าวันเถลิงศก (วันขึ้นปีใหม่) ของจุลศักราช 712 นั้น ตรงกับวันทางจันทรคติคือ “วันอาทิตย์ แรม 4 ค่ำ เดือนห้า” และตรงกับวันทางสุริยคติแบบปฏิทินจูเลียนคือ “วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1350”8 และตรงกับปฏิทินเกรกอเรียนแบบสืบย้อนคือ “วันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1350”9 ดังนั้น วันเดือนปีทางจันทรคติของการสถาปนากรุงศรีอยุธยาที่ระบุว่าตรงกับ “ศักราช 712 ขาลศก วันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือนห้า” จึงอยู่ปลายปีของจุลศักราช 712 ซึ่งก็คือช่วงเดือนมีนาคมของ “ค.ศ. 1351” นั่นเอง เนื่องจากมีปี “เหลื่อมกัน” ดังนี้ จุลศักราช 712 จึงอยู่คร่อมคริสตศักราชระหว่างช่วง มีนาคม ค.ศ. 1350 - มีนาคม ค.ศ. 1351 นั่นเอง นี่คือสาเหตุข้อที่สองของความลักลั่น และนำไปสู่สิ่งที่ควรตระหนักในการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทยในปัจจุบันว่า เราควรใช้พุทธศักราชใด ระหว่าง พ.ศ. 1893 ที่อิงการขึ้นปีใหม่กับจุลศักราชในช่วงเดือนเมษายน หรือ พ.ศ. 1894 ที่อิงตามปฏิทินไทยสากลที่เราใช้กันในระบบราชการปัจจุบัน

มาถึงจุดนี้ เราสามารถอธิบายที่มาของวันเดือนปี “วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893” ได้แล้วว่า มาจากการคำนวณวันเดือนปีทางจันทรคติ เทียบกับปฏิทินสุริยคติ “แบบจูเลียน” ดังนั้น วันที่จึงยังคงคลาดเคลื่อนอยู่ถึง 7 วัน เมื่อเทียบกับ “ปฏิทินไทยสากล” ประการที่สอง การบวกเลข 1181 กับจุลศักราชนั้น ไม่สามารถใช้กับ “ปฏิทินไทยสากล” ได้โดยทันที เพราะอาจเกิดความคลาดเคลื่อนของตัวเลขได้ถึง 1 ปี แล้วปฏิทินไทยสากลคืออะไร? เช่นกรณี พ.ศ. 1893 ที่ได้จากการคำนวณแบบง่ายว่า 712 + 1181 = (พ.ศ.) 1893 แต่จากที่สืบค้นข้างต้นพบว่า ปีสถาปนาตรงกับ ค.ศ. 1351 ดังนั้น จึงคำนวณแบบง่ายเช่นกันว่า 1351 + 543 = (พ.ศ.) 1894 ซึ่งนี่คือความลักลั่นของการเลือกใช้ปฏิทินมาอธิบายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ที่ไม่ควรมีความลักลั่นของเวลา

อีกประการหนึ่ง แม้ว่าเนื้อความในพระราชพงศาวดารฯ ระบุปีนักษัตรไว้ชัดเจนว่าเป็นปี “ขาล” แต่ ที่ถูกต้องตามหลักการเปลี่ยนปีนักษัตรแล้วต้องเป็นปี “เถาะ” ทั้งนี้เพราะปีนักษัตรจะเปลี่ยนใหม่เมื่อขึ้น “เดือนห้า”10 นั่นคือ วันสุดท้ายของปีขาลคือ “แรม 15 ค่ำ เดือนสี่” จากนั้นเมื่อขึ้นเดือนห้าคือ “ขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้า” จึงเป็นวันแรกของปีเถาะ ในกรณีวันสถาปนากรุงศรีอยุธยานั้น เรารู้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนวันเถลิงศก จ.ศ. 713 ถึง “24 วัน” กล่าวคือ ตามปฏิทินไทยสากล มีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 1894 (= ขึ้น 6 ค่ำ เดือนห้า จ.ศ. 712) จากนั้น อีก 24 วัน จึงถึงวันเถลิงศกในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 1894 (= ขึ้น 1 ค่ำ เดือนหก จ.ศ. 713) ซึ่งจะเห็นว่า เมื่อเข้าสู่เดือนห้าแล้ว ปีนักษัตรต้องเปลี่ยนจาก “ขาล” เป็น “เถาะ” แต่ผู้บันทึกพงศาวดารฉบับนี้ ถือเอาปีนักษัตรเปลี่ยนตามเลขจุลศักราช จึงยังคงใช้ “ขาล” อยู่แม้จะเข้าสู่เดือนห้าแล้ว และจะเป็นเปลี่ยนเป็น “เถาะ” พร้อมกับวันเถลิงศกจุลศักราชใหม่ อย่างไรก็ตาม วันเดือนปีและนักษัตรที่ถูกต้องก็มีบันทึกไว้เช่นกัน คือมีปรากฏใน “จดหมายเหตุโหร” ความว่า “ปีเถาะยังเป็นโทศก ณ วันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือนห้า”11

“ปฏิทินไทยสากล” คือปฏิทินเกรกอเรียน ซึ่งถือเอาวันที่ 1 มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยการแปลงเลขคริสต์ศักราช เป็นพุทธศักราชโดยการบวกเลข 543 “ปฏิทินไทยสากล” ประกาศใช้โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยให้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 เป็นวันเริ่มต้น และใช้มาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น วงวิชาการไทยด้านประวัติศาสตร์ ที่ดำเนินการกันก่อนหน้า พ.ศ. 2484 จึงเป็นที่เข้าใจกันในสมัยนั้นว่าการแปลงเลขจุลศักราช ด้วยการบวกเลข 1181 นั้น จะได้ พุทธศักราช ที่ขึ้นปีใหม่ “ช่วงเดือนเมษายน” เหตุนี้ จึงมิใช่การคำนวณที่ผิดพลาดแต่อย่างใด แต่ในเมื่อแวดวงการศึกษาในปัจจุบัน เราใช้ “ปฏิทินไทยสากล” เป็นมาตรฐานในการสื่อสารแล้ว เหตุใดจึงไม่แปลงวันเดือนปีที่คลาดเคลื่อนไปจากปฏิทินไทยสากล ให้ถูกต้อง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากในการคำนวณหา แต่อาจยากที่จะทำใจตามที่ท่องจำกันมา ทั้งๆ มีการใช้ปฏิทินไทยสากลมาเกือบ 80 ปี

ประการสุดท้าย เมื่อมีความลักลั่นของปีสถาปนา ดังนั้น จะมีความลักลั่นเรื่องอายุด้วยหรือไม่ ที่เราท่องกันมาว่า กรุงศรีอยุธยามีอายุ 417 ปี นั้น จะตรงตามระบบปฏิทินไทยสากลที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ ประเด็นนี้ คำนวณไม่ยาก ดังนี้

วันสถาปนากรุงศรีอยุธยา = วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 189412

วันเสียกรุงครั้งที่ 2 = วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 231013

ดังนั้น กรุงศรีอยุธยาจึงมีอายุ 416 ปี กับ 26 วัน เท่านั้น !

 


[1] เช่น กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2542. “พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ.” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, หน้า 211, เชิงอรรถที่ 5.

[2] ตรงใจ หุตางกูร, 2561. การปรับแก้เทียบศักราช และ การอธิบายความพระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐฯ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

[3] คือ ปฏิทินที่ประเทศไทยใช้กันอยู่ในระบบราชการไทยปัจจุบัน โดยอิงกับปฏิทินสากล หรือ “ปฏิทินเกรกอเรียน” โดยการปรับแก้ ค.ศ. เป็น พ.ศ. ด้วยการบวกเลข 543 จึงขึ้นปีใหม่วันที่ 1 มกราคม.

[4] ความลักลั่นของการเลือกใช้ “พุทธศักราช” อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่ได้คำนึงว่า “พุทธศักราช” ที่ปรากฏใช้ในประเทศไทย มีการนับวันขึ้นปีใหม่ต่างกันอย่างน้อย 3 แบบ คือ 1) แบบ “พุทธศักราชดั้งเดิม” ถือวันเดือนทางจันทรคติ และกำหนดให้วันขึ้นปีใหม่คือ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนหก (ราวเดือนพฤษภาคม); 2) แบบ “พุทธศักราชไทยประเพณี” ซึ่งมีใช้กัน 2 กรณีย่อยคือ อิงตามการปรับแก้จุลศักราช โดยบวกเลข 1181 วันขึ้นปีใหม่จึงเป็นวันเถลิงศกของจุลศักราช (ราวกลางเดือนเมษายน) อย่างไรก็ตาม ยุคถัดมา ถือวันขึ้นปีใหม่ตามวันเดือนทางสุริยคติคือ วันที่ 1 เมษายน; และ 3) แบบ “พุทธศักราชไทยสากล” ถือตามวันเดือนทางสุริยคติ คือ วันที่ 1 มกราคม.

[5] ช่วงปีที่ปฏิทินทั้งสองระบบนี้เที่ยงตรงต่อกันอยู่ระหว่าง วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 200 ถึง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 300.

[6] ตามปฏิทินจูเลียนคือ วันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1582.

[7] ดู https://en.wikipedia.org/wiki/Proleptic_Gregorian_calendar

[8] ทองเจือ อ่างแก้ว, 2516. เถลิงศก 5285 ปี. สระบุรี: ชวนะการพิมพ์, หน้า 136.

[9] คำนวณจาก https://www.fourmilab.ch/documents/calendar/

[10] การขึ้นปีนักษัตรใหม่ในสังคมไทยปัจจุบัน มักใช้กันโดยอนุโลมว่าเปลี่ยนพร้อมกันกับวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินไทยสากล.

[11] กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2542. “จดหมายเหตุโหร.” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, หน้า 12.

[12] ตรงใจ หุตางกูร, 2561. การปรับแก้เทียบศักราช และ การอธิบายความพระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐฯ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), หน้า 2.

[13] ตรงใจ หุตางกูร, 2561. “ภาคผนวก การชำระวันเดือนปีของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ระหว่าง พ.ศ. 2309 – 2314 ตามปฏิทินไทยสากล.” ใน ตรงใจ หุตางกูร (บรรณาธิการ). ธนบุรีในมิติประวัติศาสตร์ การเมือง การศาสนา การต่างประเทศ โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), หน้า 144.

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share