ปฏิทินนิเวศกับความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม

 |  การจัดการข้อมูลทางวัฒนธรรม
ผู้เข้าชม : 3790

ปฏิทินนิเวศกับความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม

           ปฏิทินนิเวศ (Ecological Calendar) เป็นกรอบนิเวศ-วัฒนธรรมที่เชื่อมโยงวัฎจักรของฤดูกาลเข้ากับชีพลักษณ์1 (phenology) ของสิ่งมีชีวิตในภูมิทัศน์ ปฏิทินนิเวศแบบดั้งเดิม (traditional ecological calendar) จึงเป็นปฏิทินวัฏจักรของสิ่งต่าง ๆ ภายในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่ชี้นำและอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมส่วนบุคคลหรือกิจกรรมร่วมในพื้นที่และเวลาต่าง ๆ2

           การทำเกษตรกรรมจำเป็นจะต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับดิน ลม ปริมาณฝน ภัยแล้ง อุณหภูมิที่เหมาะสมซึ่งรวมไปถึงการคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีความเหมาะสมกับองค์ประกอบต่าง ๆ ในแต่ละช่วงเวลาและสถานที่ปลูก3 ชุมชนเกษตรกรรมหลายแห่งทั่วโลกมีการใช้ปฏิทินนิเวศแบบดั้งเดิม (Traditional Ecological system) ตัวอย่างเช่น ชาวซุนดาในอินโดนีเซียนมีภูมิปัญญาเกี่ยวกับปฏิทินนิเวศและพิธีกรรม (pranata mangsa) สำหรับใช้กำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทำเกษตรกรรม ปฏิทินดังกล่าวเชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ ในรอบปีเข้ากับวัฒนธรรมการปลูกข้าว ปฏิทินดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการช่วยจัดการกับปัญหาศัตรูพืชในไร่ข้าว การบริหารจัดการน้ำ และการใช้ประโยชน์ต้นทุนทางสังคมของชาวบ้านผ่านกิจกรรมชุมชนต่าง ๆ4

           องค์ความรู้ของชุมชนท้องถิ่น (traditional knowledge) เป็นองค์ประกอบสำคัญของแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม(biocultural diversity) ความรู้ของผู้คนและความรู้ที่สั่งสมมาหลายชั่วอายุคนแล้วได้รับการอธิบายใหม่โดยคนรุ่นถัดไปหรือคนรุ่นใหม่ ชักนำผู้คนในสังคมในการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่รายล้อมรอบตัวมนุษย์นับไม่ถ้วน5 แนวคิดความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมมีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงธรรมชาติและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน แนวคิดนี้นิยมศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเนื่องจากองค์ความรู้ดังกล่าวเป็นหลักฐานพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับธรรมชาติ ทรัพยากรชีวภาพเป็นบ่อเกิดของความรู้ท้องถิ่น6 ภูมิปัญญาจึงเป็นความรู้ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในสถานที่และช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง7

           ในการอธิบายตัวอย่างปฏิทินนิเวศกับความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ผู้เขียนจะขอใช้ข้อมูลจากชุมชนพุเม้ยง์ ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ ที่ผู้เขียนเห็นว่าชุมชนพุเม้ยง์ยังมีวิถีชีวิตแบบพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและมีวัฒนธรรมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิตอยู่มาก

 

เด็กและเยาวชนกะเหรี่ยงช่วยกันเก็บหินมาทำฝายชะลอน้ำและทำเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำในห้วยภูเม้ยง์

ที่มา: https://web.codi.or.th/20220201-30783/

 

 

           จากตารางจะเห็นได้ว่า ชาวพุเม้ยง์มีการทำเกษตรกรรม 2 ระบบหลัก ๆ คือไร่หมุนเวียนแบบดั้งเดิมที่จะเริ่มปลูกพืชช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จากนั้นจึงปลูกข้าวช่วงเดือนกรกฎาคม กับการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่มีช่วงเวลาในการปลูกและเก็บเกี่ยวแตกต่างจากระบบไร่หมุนเวียน และชุมชนพุเม้ยง์เดิมเคยประสบปัญหาด้านที่ดินทำให้ชุมชนต้องวางแผนและบริหารจัดการการทำเกษตรทั้งสองระบบบนพื้นที่ดินเดียวกัน และนอกจากนี้ในระบบไร่หมุนเวียนยังจำเป็นต้องมีการพักฟื้นดินหรือปล่อยไร่ทิ้งให้ฟื้นสภาพตามธรรมชาติหรือที่เรียกว่าไร่ซากด้วย

           ปัจจุบันชุมชนพุเม้ยง์มีพืชที่เข้ามาจากภายนอกเป็นจำนวนมากทั้งที่ชุมชนใช้ประโยชน์และไม่ใช้ประโยชน์ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของชุมชนพุเม้ยง์ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชน พืชสายพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิม (หมายถึงพันธุ์พืชในช่วงก่อนที่จะมีการทำไร่เชิงเดี่ยวและปัญหาที่ดิน) บางชนิดก็สูญพันธุ์หรือสูญหายไปจากชุมชนเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศภายในชุมชน การทำไร่เชิงเดี่ยวที่มีการใช้สารเคมี การปลูกพืชชนิดเดียว (monocrop) ทำให้พืชบางชนิดไม่สามารถปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศแบบใหม่ได้และสูญพันธุ์ไป แม้ว่าชาวบ้านจะมีความพยายามในการหาสายพันธุ์จากภายนอกมาทดแทนแต่ก็ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับนิเวศของชุมชนได้ ดังเช่นสมาชิกชุมชนรายหนึ่งกล่าวถึงการหายไปของพันธุ์พืชท้องถิ่นชื่อว่า ลองขุ้ย (ภาษากะเหรี่ยง)

“เมื่อก่อนพืชชนิดนี้มีอยู่ในไร่หมุนเวียน แต่พอมีไร่เชิงเดี่ยวเข้ามาก็ปลูกไม่โต ปลูกไปก็ตาย เคยมีการไปหาพันธุ์จากข้างนอกมาลองปลูกก็พบว่าปลูกขึ้นแต่ไม่ให้ผลผลิต”

           การสูญหายไปของลองขุ้ยเท่ากับเป็นการสูญหายขององค์ความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ดังกล่าว ตั้งแต่การปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยว วัฒนธรรมการใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เพราะเมื่อลองขุ้ยหายไปจากชุมชน สมาชิกชุมชนมองว่าไม่มีเหตุผลจำเป็นในการส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับพันธุ์พืชดังกล่าวไปยังคนรุ่นใหม่ในชุมชนเพราะถึงอย่างไรก็ไม่มีลองขุ้ยอยู่ในชุมชนอีกต่อไปแล้ว

           ในขณะที่พืชหลายชนิดหายไปจากชุมชน ชุมชนพุเม้ยง์ก็มีพันธุ์พืชจำนวนมากจากภายนอกเข้ามาด้วย ตัวอย่างเช่น มะเขือเทศเจ้าพระยา กาแฟ พริกไทย ไผ่สีสุก บวบเหลี่ยม การเปลี่ยนแปลงความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชที่ปลูกเพื่อรับประทานในครัวเรือนและพืชที่ปลูกเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของชุมชน การที่ชุมชนมีปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอกมากขึ้นจากเดิมในอดีตทำให้ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย สมาชิกชุมชนหลายครัวเรือนหันมาบริโภคอาหารเหมือนคนภายนอก วัฒนธรรมอาหารมีการปรับเปลี่ยนตามการเข้าถึงวัตถุดิบ โดยเฉพาะสินค้าที่มาจากตลาดและรถพุ่มพวงที่เป็นแหล่งอาหารจากภายนอก เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูป ตลอดจนโครงการต่าง ๆ ที่เข้ามาในช่วงที่ชุมชนมีความขัดแย้งกับหน่วยงานรัฐ เช่น พันธุ์กล้าไม้ต่าง ๆ สำหรับนำมาปลูก ทั้งไม้ผลและไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ เป็นต้น

           การศึกษาเกี่ยวกับปฏิทินนิเวศเพื่อแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องจำกัดอยู่แค่ในชุมชนเกษตรกรรมเท่านั้น ตัวอย่างเช่นในตารางปฏิทินนิเวศของพุเม้ยที่แสดงให้เห็นว่าชุมชนก็ไม่ได้มีกิจกรรมหรือวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศและการทำเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว ชุมชนพุเม้ยง์ยังมีช่วงฤดูเก็บเห็ด หาของป่า จับปลา และสัตว์อื่น ๆ ด้วย การศึกษาในชุมชนที่ไม่ใช่ชุมชนเกษตรกรรม เช่น ในกรณีชุมชนที่ทำประมงเป็นหลักอาจศึกษาได้จากทรัพยากรสัตว์น้ำที่หาได้ในแต่ละช่วงเวลา แหล่งที่จับ การใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันตามสายพันธุ์ที่จับได้ เป็นต้น

 

รูปภาพที่ 1 ภาพความหลากหลายของสัตว์น้ำที่ชาวมอแกลนบ้านทับตะวันหาได้จากการทำประมงชายหาดบริเวณพื้นที่ชุมชน วันที่ 16 มิถุนายน 2565 สมาชิกชุมชนระบุว่าสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ในภาพมีแหล่งที่อยู่ต่างกัน ปลางู (ปลาไหลมอเรย์) อาศัยหลบอยู่แต่ในซอกหิน หมึกโวยวาย (หมึกสาย) จะอยู่บนพื้นทรายหินปะการัง ความแตกต่างของคุณลักษณะของสัตว์ยังเชื่อมโยงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะเครื่องมือที่ใช้จับและการจัดการกับทรัพยากรนั้นต่อไปอย่างการจับสัตว์บางชนิดที่สามารถทำอันตรายต่อมนุษย์ได้เช่นการกัดหรือโดนเงี่ยงตำ การปรุงอาหารที่รสชาติและเทคนิคการทำของปลาแต่ละชนิดต่างกัน การจำหน่ายที่พิจารณาโดยระบบเศรษฐกิจและความนิยมของสายพันธุ์นั้นในตลาด การแปรรูป และฤดูกาลของปลาแต่ละชนิดที่มีแตกต่างกันออกไปซึ่งส่งผลต่อปริมาณในแต่ละช่วง ดังเช่น หมึกโวยวายที่มีน้อยในช่วงเดือนมิถุนายนจึงจับได้แค่เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น

 

           กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์โดยเฉพาะในชุมชนที่มีการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับระบบฤดูกาลและคุณสมบัติของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (Non-human) เช่น ลม ฝน พายุ ช่วงเวลาในการออกผลของพืชกลุ่มที่ให้ผลผลิตตามฤดูกาล ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทำเกษตรกรรมของพืชบางชนิด หรือแม้แต่ภัยธรรมชาติที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรม เช่น ศัตรูพืชระบาดในแต่ละฤดูกาลที่แตกต่างกัน ฤดูฝนที่มักมีน้ำป่าไหลหลาก ภัยแล้งที่ช่วงฝนทิ้งห่าง เป็นต้น ประสบการณ์ของมนุษย์ที่สังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัวพัฒนาเป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นและกลายเป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนวิถีชีวิตที่กำหนดกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ในแต่ละช่วงเวลา องค์ความรู้ท้องถิ่นไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับทรัพยากรชีวภาพหรือระบบนิเวศแบบดั้งเดิมในพื้นที่เท่านั้นแต่ยังรวมถึงสิ่งที่เข้ามาใหม่และผู้คนในพื้นที่ได้สั่งสมประสบการณ์จากการมีปฏิสัมพันธ์กับทรัพยากรดังกล่าวและเกิดเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรนั้น ๆ

           การทำความเข้าใจปฏิทินนิเวศของแต่ละชุมชนจะช่วยให้เข้าใจทรัพยากรของชุมชนและแสดงให้เห็นว่าในแต่ละช่วงเวลาในรอบปี กิจกรรมของมนุษย์มีองค์ประกอบอื่นใดบ้างที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง การระบุรายละเอียดกิจกรรม ทรัพยากรในแต่ละช่วงเวลาและสถานที่จะช่วยให้เห็นถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ที่อาจเป็นได้ทั้งมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนในสังคมนั้น ๆ ได้ง่ายขึ้น


ภาคผนวก

ปฏิทินการทำไร่หมุนเวียนแบบดั้งเดิมของชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านพุเม้ยง์

ตารางที่ 1 ปฏิทินวิถีชีวิตวัฒนธรรมไร่หมุนเวียนของชุมชนพุเม้ยง์8

 

บรรณานุกรม

Agnoletti, M., & Rotherham, I. D. (2015). Landscape and biocultural diversity. Biodiversity and Conservation, 24(13), 3155-3165.

Franco, F. M., Knudsen, M., & Hassan, N. H. (2022). Case Studies in Biocultural Diversity from Southeast Asia: Traditional Ecological Calendars, Folk Medicine and Folk Names.

Iskandar, J., & Iskandar, B. S. (2022). The Sundanese traditional ecological calendar and socio-cultural changes: case study from Rancakalong of West Java, Indonesia. In Case Studies in Biocultural Diversity from Southeast Asia (pp. 79-103). Springer, Singapore.

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และอาทิตย์ เคนมี. (บรรณาธิการ). 2564. สืบทฤษฎี สาววิธีคิด: การเดินทางของมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

ธรรมนูญ เต็มไชย และคณะ. (2559). การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชีพลักษณ์และสภาพภูมิอากาศของพรรณไม้ในแปลงตัวอย่างถาวรป่าเต็งรังผสมสนสองใบในอุทยานแห่งชาติพุเตย จังหวัดสุพรรณบุรี

วรวิทย์ นพแก้ว และคณะ. (2563). แนวทางการจัดการเขตพื้นที่ทํากิน ที่อยู่อาศัย และการฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ตําบลทองหลาง อําเภอห้วยคตจังหวัดอุทัยธานี. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


1  ความสัมพันธ์ระหว่างภูมิอากาศและปรากฎการณ์ทางชีววิทยาที่เกี่ยวข้องกับเวลา Phenology ยังหมายถึงวิทยาศาสตร์ชีพลักษณ์ที่ศึกษาการตอบสนองของสิ่งมีชีวิตในข้อจำกัดทางสิ่งแวดล้อมหนึ่งในรอบฤดูกาลเพื่อศึกษาความแตกต่างของสิ่งมีชีวิตนั้นในฤดูต่าง ๆ

2  Franco, F. M., Knudsen, M., & Hassan, N. H. (2022). Case Studies in Biocultural Diversity from Southeast Asia: Traditional Ecological Calendars, Folk Medicine and Folk Names. P. 5

3  Iskandar, J., & Iskandar, B. S. (2022). The Sundanese traditional ecological calendar and socio-cultural changes: case study from Rancakalong of West Java, Indonesia. P. 80

4  Franco, F. M., Knudsen, M., & Hassan, N. H. (2022). Case Studies in Biocultural Diversity from Southeast Asia: Traditional Ecological Calendars, Folk Medicine and Folk Names. P. vi – vii.

5  Franco, F. M., Knudsen, M., & Hassan, N. H. (2022). Case Studies in Biocultural Diversity from Southeast Asia: Traditional Ecological Calendars, Folk Medicine and Folk Names. P. 2

6  ยศ สันตสมบัติ. มานุษยวิทยากับความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม (เสวนา), ใน โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และอาทิตย์ เคนมี. (บรรณาธิการ). สืบทฤษฎี สาววิธีคิด : การเดินทางของมานุษยวิทยา. หน้า 200

7  P. Bridgewater and ID. Rotherham. 2019. A critical perspective on the concept of biocultural diversity and its emerging role in nature and heritage conservation.

8  วรวิทย์ นพแก้ว และคณะ. (2563). แนวทางการจัดการเขตพื้นที่ทํากิน ที่อยู่อาศัย และการฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ตําบลทองหลาง อําเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี. หน้า 110-117.


ผู้เขียน

ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์

นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ ปฏิทินนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share