พุทธเถรวาทกับพระป่า: มานุษยวิทยากับการศึกษาชีวิตพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

 |  การจัดการข้อมูลทางวัฒนธรรม
ผู้เข้าชม : 4656

พุทธเถรวาทกับพระป่า: มานุษยวิทยากับการศึกษาชีวิตพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้รับการยกย่องว่าเป็น “พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า” และเป็นผู้บุกเบิกแนวทางวิปัสสนากรรมฐานและธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อแสวงหาธรรมตามแบบอย่างพระพุทธเจ้า และมีลูกศิษย์ทั้งพระสงฆ์และฆราวาสจำนวนมากสืบทอดแนวทางการปฏิบัติของท่านมาจนถึงปัจจุบัน   ชีวิตสมณะของพระอาจารย์มั่น จึงเป็นภาพสะท้อนพุทธเถรวาทในสังคมไทยในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา และเป็นประเด็นที่นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจเป็นอย่างมาก  อย่างไรก็ตาม นักมานุษยวิทยาเริ่มสนใจศึกษาพุทธศาสนาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20  โดยการเปรียบเทียบกับศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิกกับ โปรแตสแตนท์ (Stcherbatsky, 1923) แต่การเปรียบเทียบดังกล่าวก็ไม่สามารถอธิบายความซับซ้อนในพุทธศาสนาได้ (Spiro, 1982) นำไปสู่การศึกษาพุทธศาสนาในมิติของสังคมที่มีการปรับตัวเข้ากับท้องถิ่นและโลกสมัยใหม่ (Bechert, 1978) แต่นักมานุษยวิทยาตะวันตกก็ยังสนใจพุทธเถรวาทมากกว่าเพราะมีการแปลคำสอนเป็นภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลาย (Gellner, 1990) ในขณะที่ตำราคำสอนของพุทธมหายานจะเขียนด้วยภาษาท้องถิ่นที่หลากหลาย ทำให้ยากต่อการศึกษา รวมทั้งอุปสรรคจากปัญหาทางการเมืองในประเทศจีนและธิเบต ทำให้ไม่สามารถเก็บข้อมูลในพื้นที่ได้ นักมานุษยวิทยาจึงมุ่งศึกษาพุทธเถรวาทในประเทศไทยและเอเชียใต้ (Ortner, 1978; Tambiah, 1970, 1976)

การศึกษาของ Spiro (1982) ชี้ให้เห็นว่าคำสอนในพุทธเถรวาทมิได้มีรูปแบบเดียว หากแต่มีความหลากหลายในการปฏิบัติและการตีความของแต่ละท้องถิ่น ในขณะที่ James & Johnson (1988) วิจารณ์ว่านักวิชาการตะวันตกมักจะมองศาสนาอื่นเป็น “ลัทธิความเชื่อที่แปลกหระหลาด” ไม่ใช่ศาสนาที่แท้จริง และให้ความสำคัญกับการปฏิบัติของนักบวชมากกว่าการปฏิบัติทางความเชื่อของคนท้องถิ่น จากประเด็นนี้นำไปสู่แนวคิดเรื่อง “การผสานความเชื่อทางศาสนา” (Religious Syncretism) เพื่อบ่งชี้ว่าคนในท้องถิ่นนำความเชื่อทางศาสนาหลายๆ แบบมาปฏิบัติร่วมกันได้ (Bechert, 1978)  นักมานุษยวิทยาหลายคนจึงนำแนวคิดนี้มาอธิบายให้เห็นว่าพิธีกรรมในพุทธเถรวาทในท้องถิ่นต่างๆ ของไทยมีการผสานความเชื่อระหว่างพุทธ พราหมณ์ ผี เข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นลักษณะของ “พุทธแบบชาวบ้าน”  (ศรีศักร, 2550; สนิท 2539; Davis, 1984; Tambiah, 1984; Terwiel, 1974)  รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าพุทธศาสนาในสังคมไทยถูกควบคุมและจัดระเบียบโดยผู้ปกครอง และอำนาจทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง (Keyes, 1971, 1987, 1992; Tambiah, 1976, 1978, 1984) ข้อสังเกตเหล่านี้ทำให้เห็นว่าพุทธศาสนาไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าแบบไหน “แท้” (มีเหตุผล) และแบบไหน “เทียม” (งมงาย) (Gellner, 1990; Wdeyewardene, 1986)

ในการศึกษาเกี่ยวกับพระป่า  Taylor (1992, 1993) ชี้ให้เห็นว่าพระป่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยปรากฎขึ้นภายใต้การปฏิรูปศาสนาและการปกครองในช่วงรัชกาลที่ 4 - 5 โดยศึกษาประวัติของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตในฐานะเป็นสัญลักษณ์ของการท้าทายอำนาจรัฐไทยสมัยใหม่และธรรมยุตนิกาย รวมทั้งเป็นภาพตัวแทนของพระอรหันต์ผู้เคร่งครัดในคำสอนของพระพุทธเจ้า   ในประเด็นนี้ Keyes (1981) ชี้ให้เห็นว่าการเล่าประวัติชีวิตของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และครูบาศรีวิชัย ได้นำเอาโครงเรื่องประวัติของพระพุทธเจ้ามาเป็นแนวในการเล่า เพื่ออธิบายว่าท่านคือพระอรหันต์ที่หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ส่วนการศึกษาของ Kalnala Tiyavanich (1997) ชี้ให้เห็นว่าพระป่าสายอาจารย์มั่น คือภาพสะท้อนของความหลากหลายของวิถีพุทธแบบชาวบ้านและความสมบูรณ์ของป่าไม้ในสังคมไทย แต่รัฐไทยสมัยใหม่นำเอากฎระเบียบสงฆ์จากส่วนกลางเข้าไปควบคุม ทำให้มิติสังคมและวัฒนธรรมของพุทธศาสนาในท้องถิ่นเลือนหายไป

ในช่วง 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา นักมานุษยวิทยาและนักวิชาการไทยและต่างชาติสนใจศึกษาพุทธศาสนาในประเด็นเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวปฏิรูป การปรับตัว และโลกทัศน์ทางศาสนาของกลุ่มลัทธิความเชื่อใหม่ๆและของชนชั้นกลางในเมืองภายใต้ระบอบเศรษฐกิจทุนนิยมและวัฒนธรรมบริโภค ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนผ่านของวิธีสอน วิธีปฏิบัติ และพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งการทบทวนว่าพุทธปฎิบัติที่อยู่นอกจารีตที่เคยถูกเบียดขับออกไปจากวาทกรรมของรัฐไทยกำลังปรากฎตัวขึ้นมาในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนที่ต่างกัน (อภิญญา, 2543; Essen, 2004; Kitiarsa, 2005; Laohavanich, 2012; Mackenzie, 2007; Parnwell & Seeger, 2008; Roenjun & Speece, 2013; Scott, 2006; Sivaraksa, 2009; Speece, 2013; Taylor, 2008)

 

บรรณานุกรม

สนิท สมัครการ. (2539).ความเชื่อและศาสนาในสังคมไทย วิเคราะห์เชิงสังคม-มานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

ศรีศักร วัลลิโภดม. (2550). ผีกับพุทธ : ศาสนาและความเชื่อในสังคมด่านซ้ายดุลยภาพทางจิตวิญญาณของชาวบ้านในลุ่มน้ำ หมัน. กรุงเทพฯ :มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.

อภิญญา เฟื่องฟูสกุล. (2543). ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย. วารสารพุทธศาสน์ศึกษา 5(1):  1-88.

Bechert, H. (ed.) (1978). Buddhism in Ceylon and Studies on Religious Syncretism in Buddhist Countries. Gottingen: Vandenhoeck & Ruprecht.

Davis, R. (1984). Muang Metaphysics: A Study of Northern Thai Myth and Ritual. Bangkok: Pandora.

Essen, J.  (2004).  Santi Asoke Buddhist reform movement: Building individuals, community, and (Thai) society. Journal of Buddhist Ethics, 11: 1-20.

Gellner, D.N. (1990). Introduction: What is the anthropology of Buddhism about? Journal of the  Anthropological Society of Oxford, 21/2: 95-112.

James, W. & Johnson, D. (eds.) (1988). Vernacular Christianity: Essays in the Social Anthropology of Religion (JASO Occasional Papers, no. 7), Oxford: JASO.

Keyes, C. F. (1971). Buddhism and National Integration in Thailand. Journal of Asian Studies, 30(3): 551-567.

_________ (1981). “Death of Two Buddhist Saints in Thailand”. in M. William. (ed.) Charisma and Sacred Biography. (pp.149-180). Chico, CA.: Scholar Press.

_________ (1987). Thailand: Buddhist Kingdom as Modern Nation-State. Boulder, CO: Westview Press.

_________ (1992). Buddhist politics and their revolutionary origins in Thailand.  In M. A. Williams, C. Cox, &  M. S. Jaffee. (eds.), Innovation in Religious Traditions.  (pp. 319-350). Berlin: de Gruyter.

Kitiarsa, P. (2005). Beyond syncretism: Hybridization of popular religion in contemporary Thailand. Journal of  Southeast Asian Studies, 36(3): 461-487.

Laohavanich, Mano Mettanando. (2012). Esoteric Teaching of Wat Phra Dhammakaya. Journal of Buddhist  Ethics 19: 483- 513.

Mackenzie, Rory. (2007).  New Buddhist movements in Thailand: Towards an understanding of Wat Phra  Dhammakaya and Santi Asoke. New York: Routledge.

Ortner, S. B. (1978). Sherpas through their Rituals. Cambridge: Cambridge University Press.

Parnwell, M. & Seeger, M. (2008). The relocalization of Buddhism in Thailand.” Journal of Buddhist Ethic,s 15: 79-176.

Roenjun, J. & Speece, M (2013). Kuan Im Bodhisattva as urban reform Buddhism in Thailand. International Institute of Social and Economic Sciences, IISES Seventh International Academic  Conference. September 1-4, 2013, Prague, Czech Republic.

Scott, R. M. (2006). Nirvana for Sale? Buddhism, Wealth, and the Dhammakaya Temple  in  Contemporary Thailand. Albany: State University of New York Press.

Sivaraksa, S. (2009). Rediscovering Spiritual Value: Alternative to Consumerism from a Siamese Buddhist  Perspective. Bangkok: Sathirakoses-Nagapradipa Foundation.

Speece, M. (2013). Modern urban reform Buddhism in Thailand. Conference: IAPR 2013 Congress, International Association for the Psychology of Religion. 27-30 August 2013, Lausanne, Switzerland.

Spiro, M.E. (1982) [1970]. Buddhism and Society: A Great Tradition and its Burmese Vicissitudes.  Berkeley: University of California Press.

Stcherbatsky, T. (1977) [1923]. The Conception of Buddhist Nirvana. Delhi: Motilal Banarsidass.

Tambiah, S. J. (1970). Buddhism and the Spirit Cults in North-East Thailand. Cambridge: Cambridge University Press.

____________ (1976).  World Conqueror and World Renouncer, Cambridge: Cambridge University Press.

____________ (1978). 'The Buddhist Conception of Kingship and its Historical Manifestations: Reply to Spiro'. Journal of Asian Studies, XXXVII (4): 801-809.

____________ (1984). The Buddhist Saints of the Forest and the Cult of the Amulets: A Study in Charisma, Hagiography, Sectarianism, and Millennial Buddhism. Cambridge: Cambridge University Press.

Taylor, J.L. (1992). Cosmology, Forest Monks and Sangha Reconstruction in the Early Bangkok Period. Journal of Siam Society 80.2: 113-122.

__________ (1993). Forest Monks and the Nation-State: An Anthropological and Historical Study in Northeastern Thailand. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies.

__________ (2008). “Buddhist modernities, heresy and hybridization: Thailand’s Thammakaai.” in J. Tayor  (ed.). Buddhism and Postmodern Imaginings in Thailand: The Religiosity of Urban Space. (pp. 37-64). Farnham, UK: Ashgate Publishing,

Terwiel, B.J. (1975). Monks and Magic: An Analysis' of Religious Ceremonies in Central Thailand. London: Curzon Press.

Tiyavanich, K. (1997). Forest Recollections: Wandering Monks in Twentieth-Century Thailand. Honolulu: University of Hawaii Press.

Wdeyewardene, G. (1986). Place and Emotion in Northern Thai Ritual Behaviour. Bangkok: Pandora.

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share