banner image

Subject Guide

หน้าแรก / Subject Guide / ชาติพันธุ์ / ไทใหญ่

ชาติพันธุ์ / ไทใหญ่

Export All

image author

รวบรวมโดย : จรรยา ยุทธพลนาวี

เผยแพร่ 01 ส.ค. 2563

ขอบเขตของเนื้อหา

          กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตัวเองว่า “ไต” นั้น อาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่เอเชีย นับตั้งแต่ตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ตลอดแนวตอนใต้ของประเทศจีน ประเทศลาว ประเทศไทย ทางตอนเหนือของประเทศพม่าไปจนถึงแคว้นอัสสัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ด้วยการกระจายตัวไปตั้งรกรากถิ่นฐานในพื้นที่แตกต่างกัน พวกเขาจึงมีชื่อเรียกมากมาย ตามประเทศและกลุ่มคนที่ตนอาศัยอยู่ร่วม คนไต แต่เดิมถูกเรียกหรือจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับ ชาน (ฉาน) สยาม เสียม หรืออาหม ส่วนคำว่า “ไทใหญ่” นั้นพบว่าเป็นคำที่คนไทยในประเทศไทยเท่านั้นที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้

         อัตลักษณ์ร่วม ที่โดดเด่นของชาวไทใหญ่คือ ความศรัทธาอย่างลึกซึ้งต่อพุทธศาสนา โดยเฉพาะในการทำบุญทำทาน จนถึงกับมีคำกล่าวว่า ”อย่ากินอย่างม่าน (พม่า) อย่าตาน (ทำทาน) อย่างไท”  เพราะคนไทใหญ่ให้ความสำคัญต่อการบำเพ็ญทานบารมี ใครทำทานให้กับวัดกับพุทธศาสนามาก ก็จะได้รับเกียรติได้รับการยกย่องจากสังคมของคนไทใหญ่ วิถีชีวิตของชาวไทใหญ่ตั้งแต่เกิดจนตายต่างผูกพันกับพระพุทธศาสนา
       คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในครั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับรายการทรัพยากรสารสนเทศที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ที่อาศัยในบริเวณภาคเหนือประเทศไทย  และในบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงสังคมวัฒนธรรม วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่

 


อ้างอิงจาก 
ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. "กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่"  เข้าถึงได้จาก https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/131

คำสำคัญ

แหล่งข้อมูล

คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศ กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ประกอบด้วยแหล่งข้อมูล ดังนี้ หนังสือภาษาไทยและหนังสือภาษาอังกฤษ (Book), งานวิจัยและวิทยานิพนธ์ (Research) ,บทความในหนังสือ (Book Chapter), บทความในวารสาร (Articles), สื่อโสตทัศน์ (Multimedia), ฐานข้อมูล (Database), เว็บไซต์ (Website)

เรียงลำดับข้อมูลจากใหม่ไปเก่า | เรียงลำดับข้อมูลจากเก่าไปใหม่


image

Author

มนธิรา ราโท, บรรณาธิการ.

Imprint

กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554

Collection

Books: DS528.2.อ63 2554

Annotation

หนังสือรวบรวมบทความบางส่วนจากการนำเสนอในการประชุม International Conference, Performing Arts, and Exhibitional on "Shan Studies" ซึ่งจัดโดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2552 ประกอบไปด้วยบทความจากนักวิชาการไทยในประเด็นต่างๆ ด้านฉานศึกษา ทั้งเรื่องของภาษา พิธีกรรม การย้ายถิ่น ผ้าทอชาวไทใหญ่และภูมิสถาปัตย์ ซึ่งจะทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ และบางส่วนของประเทศไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสิ่งสำคัญที่แม้ว่าจะเกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม ชาวไทใหญ่ก็ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ของตนเองไว้อย่างเข้มแข็ง
 

อ่านต่อ...
image

Author

วีระพงศ์ มีสถาน.

Imprint

กรุงเทพฯ : เอกพิมพ์ไทย, 2544.

Collection

Books: DS570.ท94ว64

Annotation

หนังสือเล่มนี้ ได้เรียบเรียงขึ้น จากการค้นคว้าข้อมูลทางเอกสารและการเก็บข้อมูลภาคสนามจาก บ้านปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยใช้วิธีการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม รวมทั้งการสัมภาษณ์ และร่วมใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านของชาวไทยใหญ่ ข้อมูลได้ถูกเรียบเรียงทั้งในส่วนของประวัติความเป็นมา ประชากร  ที่อยู่อาศัยและลักษณะบ้านเรือน การแต่งกาย ลักษณะภาษาไทยใหญ่ โครงสร้างทางสังคม การประกอบอาชีพ ศาสนาและความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรม อาหารการกิน การสันทนาการ รวมไปถึงของใช้ในวัฒนธรรม ทั้งนี้ผู้เขียนได้ค้นคว้าและรวบรวมข้อมูล โดยจำแนกหมวดหมู่อย่างชัดเจน พร้อมทั้งมีภาพประกอบ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าเรื่อง ภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะชาวไทยใหญ่ในประเทศไทยต่อไป
 

อ่านต่อ...
image

Author

สมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ์.

Imprint

กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์, 2554.

Collection

DS582.5.ท9ส46 2544

Annotation

หนังสือเล่มนี้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ "ไทใหญ่" ซึ่งได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารพงศาวดารและวรรณกรรมภาษาไทท้องถิ่น หนังสือและเอกสารภาษาจีน โดยนำเสนอข้อมูลออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) ถิ่นที่อยู่ ประวัติและการพัฒนาการของไทใหญ่ในเอกสารจีนและไท 2) กำเนิด พัฒนาการ และการล่มสลายของอาณาจักรเมืองมาวหลวงและอาณาจักรไทใหญ่ และ 3) ไทยใหญ่ในจีนหลังการล่มสลายของอาณาจักรเมืองมาวหลวง ซึ่งรายละเอียดทั้ง 3 กล่าวถึงความเป็นมาและประวัติศาสตร์ของชนชาติไทใหญ่ ถิ่นกำเนิดและการย้ายถิ่น รวมไปถึง การเมือง สังคม และวัฒนธรรมบรรพบุรุษไทใหญ่ จนถึงยุคสมัยที่มีการขยายอำนาจของพม่าและจีน ซึ่งชาวไทใหญ่ในรัฐฉานก็ต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากการยึดครองของพม่า
 

อ่านต่อ...
image

Author

ทีวีไทย.

Imprint

กรุงเทพฯ : ทีวีไทย, 2553

Collection

Audio Visual Materials: VT 000789

Annotation

สารคดีเรื่องนี้กล่าวถึง การพักผ่อนในโฮมสเตย์บ้านแม่ละนา อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งในตอนเช้านักท่องเที่ยวจะได้ตักบาตร ชาวไทยใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด ซึ่งรูปแบบของการตักบาตรของชาวไทยใหญ่จะมีการผูกปิ่นโตมาถวายที่วัดเป็นประจำทุกวัน แต่หากในวันที่เป็นงานบุญหรือวันสำคัญชาวบ้านจะยืนเรียงรายรอตักบาตรกันอยู่หน้าวัด วัดของชาวไทยใหญ่จะตั้งอยู่กลางชุมชนเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน สถาปัตยกรรมของวัดมีความโดดเด่นคงเอกลักษณ์ที่สำคัญของชาวไทยใหญ่ มีพระพุทธรูปที่สวยงามเป็นที่เคารพและเลื่อมใสของคนในชุมชน โดยเฉพาะพระพุทธรูปปานปอง ซึ่งสร้างจากข้าวตอกดอกไม้ที่ชาวบ้านนำมาถวายรวมกัน ผสมกับยางไม้และปั้นขึ้นเป็นพระพุทธรูป จากนั้นนำเสนอการท่องเที่ยวภายในถ้ำปะการัง ระยะทางภายในถ้ำประมาณ 700 เมตร ภายในถ้ำมีสิ่งต่างๆ หินหลายประเภทที่สวยงามและน่าสนใจ ซึ่งผู้นำเที่ยวคือคนในชุมชนที่ได้รับการอบรมให้ร่วมกันอนุรักษ์และป้องกันไม่ให้ธรรมชาติภายในถ้ำถูกทำลาย การมาใช้ชีวิตในโฮมสเตย์บ้านแม่ละนา นักท่องเที่ยวจะได้รับชม “ลิเกไต” ศิลปะการแสดงพื้นบ้านเอกลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาวไทยใหญ่ ใช้ดนตรีพื้นบ้านหลายชิ้น รวมทั้งรูปแบบการแต่งกายที่ใช้ในการแสดงก็แสดงให้เห็นถึงอัตตลักษณ์ที่สำคัญของชาวไทยใหญ่ ซึ่งการท่องเที่ยวในชุมชนบ้านแม่ละนานี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือร่วมใจของชาวไทยในชุมชน 
 

อ่านต่อ...
image

Author

ทีวีไทย.

Imprint

กรุงเทพฯ : ทีวีไทย, 2553

Collection

Audio Visual Materials SAC 000342

Annotation

นำเสนอการจัดการท่องเที่ยวรูปแบบโฮมสเตย์ของชุมชนบ้านแม่ละนา อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้วิถีชุมชน โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมทำโฮมสเตย์ จำนวน 16 หลัง กิจกรรมในการท่องเที่ยวที่บ้านแม่ละนานอกจากจะนอนพักโฮมสเตย์แล้วยังมีการเยี่ยมชมนาข้าวอายุกว่าร้อยปี หากนักท่องเที่ยวมาในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็จะสามารถทดลองเกี่ยวกับร่วมกับชาวบ้านได้ กิจกรรมการทอผ้าลวดลายของชาวไทยใหญ่ที่สามารถซื้อกลับไปเป็นของฝาก กิจกรรมการบีบน้ำมันงาซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของหมู่บ้าน ผลิตจากงาขาวไร้สารเคมี การแสดงลิเกไทยใหญ่และงานประเพณีต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวสามารถร่วมชมได้ ตลอดจนนำเสนออาหารไทยใหญ่ที่เจ้าของที่พักจัดหาให้นักท่องเที่ยวได้รับประทาน นอกจากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในหมู่บ้านแม่ละนาแล้ว ในบริเวณโดยรอบประกอบด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ เช่น ถ้ำแม่ละนา ถ้ำลอด และถ้ำปะการังอีกด้วย
 

อ่านต่อ...

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ