banner image

Subject Guide

หน้าแรก / Subject Guide / ชาติพันธุ์ / ไทใหญ่

ชาติพันธุ์ / ไทใหญ่

Export All

image author

รวบรวมโดย : จรรยา ยุทธพลนาวี

เผยแพร่ 01 ส.ค. 2563

ขอบเขตของเนื้อหา

          กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตัวเองว่า “ไต” นั้น อาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่เอเชีย นับตั้งแต่ตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ตลอดแนวตอนใต้ของประเทศจีน ประเทศลาว ประเทศไทย ทางตอนเหนือของประเทศพม่าไปจนถึงแคว้นอัสสัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ด้วยการกระจายตัวไปตั้งรกรากถิ่นฐานในพื้นที่แตกต่างกัน พวกเขาจึงมีชื่อเรียกมากมาย ตามประเทศและกลุ่มคนที่ตนอาศัยอยู่ร่วม คนไต แต่เดิมถูกเรียกหรือจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับ ชาน (ฉาน) สยาม เสียม หรืออาหม ส่วนคำว่า “ไทใหญ่” นั้นพบว่าเป็นคำที่คนไทยในประเทศไทยเท่านั้นที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้

         อัตลักษณ์ร่วม ที่โดดเด่นของชาวไทใหญ่คือ ความศรัทธาอย่างลึกซึ้งต่อพุทธศาสนา โดยเฉพาะในการทำบุญทำทาน จนถึงกับมีคำกล่าวว่า ”อย่ากินอย่างม่าน (พม่า) อย่าตาน (ทำทาน) อย่างไท”  เพราะคนไทใหญ่ให้ความสำคัญต่อการบำเพ็ญทานบารมี ใครทำทานให้กับวัดกับพุทธศาสนามาก ก็จะได้รับเกียรติได้รับการยกย่องจากสังคมของคนไทใหญ่ วิถีชีวิตของชาวไทใหญ่ตั้งแต่เกิดจนตายต่างผูกพันกับพระพุทธศาสนา
       คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในครั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับรายการทรัพยากรสารสนเทศที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ที่อาศัยในบริเวณภาคเหนือประเทศไทย  และในบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงสังคมวัฒนธรรม วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่

 


อ้างอิงจาก 
ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. "กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่"  เข้าถึงได้จาก https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/131

คำสำคัญ

แหล่งข้อมูล

คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศ กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ประกอบด้วยแหล่งข้อมูล ดังนี้ หนังสือภาษาไทยและหนังสือภาษาอังกฤษ (Book), งานวิจัยและวิทยานิพนธ์ (Research) ,บทความในหนังสือ (Book Chapter), บทความในวารสาร (Articles), สื่อโสตทัศน์ (Multimedia), ฐานข้อมูล (Database), เว็บไซต์ (Website)

เรียงลำดับข้อมูลจากใหม่ไปเก่า | เรียงลำดับข้อมูลจากเก่าไปใหม่


image

Author

อัญชลี สิงห์น้อย วงศ์วัฒนา.

Imprint

พิษณุโลก : ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2561.

Collection

Research and Thesis: PL4191.N6 อ623 2561

Annotation

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตลักษณ์และภูมิปัญญาทางภาษาไทใหญ่ภาคเหนือตอนล่าง รวมทั้งศึกษาสถานการณ์ภาษาไทใหญ่และแนวทางการสร้างความร่วมมือกับชุมชนในการสืบสานภูมิปัญญาภาษา เพื่อหาแนวทางกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิปัญญาภาษาไทใหญ่อย่างยั่งยืน โดยศึกษาข้อมูลในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก รวบรวมข้อมูลด้วยการสำรวจและสอบถามจากการสัมภาษณ์เชิงลึก การซักข้อมูลภาษา การสังเกต การมีส่วนร่วม การศึกษาเอกสารและสื่อสังคมออนไลน์ จากการศึกษาพบว่า                   1) ลักษณะที่โดดเด่นของภาษาไทใหญ่คือระบบเสียงวรรณยุกต์ การสร้างคำใหม่ด้วยการประสมคำที่ซับซ้อนสามารถสื่อความหมายได้ชัดเจนรวมทั้งการใช้ภาษาสื่อสารที่ทำให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจความต้องการและความรู้สึกที่แท้จริงของผู้พูด และ 2) ศึกษาสถานการณ์ภาษาและวัฒนธรรมพบว่า ชาวไยใหญ่ในท้องถิ่นนี้ยังพูดภาษาของตนเอง และยังมีวิธีการธำรงภาษาของตนเองไว้ การกระตุ้นส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิปัญญาภาษาและวัฒนธรรมไทใหญ่อย่างยั่งยืน เน้นที่การรวมกลุ่มสร้างความเข้าใจ โดยมีฐานกิจกรรมชุมนุมประเพณีต่างๆ และสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งพิจารณาหาปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ในชุมชน
 

อ่านต่อ...
image

Author

อุษณีย์ ธงไชย.

Imprint

เชียงใหม่ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2553

Collection

Research and Thesis: NA6022.ห7อ75 2553

Annotation

งานวิจัยนี้มีเก็บข้อมูลจากวัดที่ตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอเมืองจังหวัดลำปางจำนวนทั้งหมด 15 วัด          เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลชุมชนและข้อมูลงานพุทธศิลป์ต่างๆ ภายในวัด โดยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23-25 มีชาวพม่าชาวไทใหญ่และชนกลุ่มน้อยจากพม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้นับถือพุทธศาสนา มีความเชื่อว่าการพบสิ่งที่ดีในโลกหน้าจะต้องมาจากการสะสมบุญในโลกปัจจุบันดังนั้นการทำบุญที่สำคัญ โดยเฉพาะการทำบุญกับพระศาสนา เช่น การสร้างวัด การถวายเครื่องอัฐบริขารและอาหารแด่พระสงฆ์ การรวบรวมปัจจัยหรือแม้แต่การอุทิศแรงกายเพื่อสร้างศาสนสถาน ทำให้ปรากฏศาสนสถานและงานพุทธศิลป์ของชนกลุ่มนี้อยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24-25 รูปแบบการสร้างได้รับอิทธิพล ทั้งทางด้านโครงสร้างสถาปัตยกรรม พระพุทธรูป งานพุทธศิลป์อื่นๆ จากรูปแบบศิลปะพม่า สกุลช่างมัณฑเลย์ ซึ่งในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่และไม่ได้มีการดัดแปลงเหมือนในจังหวัดอื่นๆ จึงกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดลำปาง มีเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาท่องเที่ยวและสามารถสร้างรายได้ให้กับจังหวัดเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
 

อ่านต่อ...
image

Author

ศุภสิทธิ์ วนชยางค์กูล

Imprint

ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549

Collection

Research and Thesis BQ568.ห7 ศ74 2549EB

Annotation

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ได้กล่าวว่า ปัญหาจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเป็นเหตุผลหลักที่สำคัญที่ทำให้พระภิกษุพม่าและพระภิกษุไทใหญ่เคลื่อนย้ายข้ามแดนเขามายังพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยพระภิกษุไทใหญ่จะมีการปรับตัวมากกว่าพระภิกษุพม่า ในการเข้ามาอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งการปรับตัวที่สามารถสังเกตได้ชัดเจน คือ การเปลี่ยนสีจีวรและการโกนคิ้วให้เหมือนกับพระภิกษุไทย ในขณะที่พระภิกษุพม่ามีการปรับตัวน้อยกว่าและยังคงดำรงอัตลักษณ์ของตนได้ชัดเจนมากกว่าพระภิกษุชาวไทใหญ่
 

อ่านต่อ...
image

Author

ขวัญชีวัน บัวแดง...[และคณะ].

Imprint

เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2549.

Collection

Research and Thesis: HD8700.55.ข56 2549

Annotation

การวิจัยเรื่องนี้เน้นการศึกษาสถานการณ์การสื่อสารสุขภาพในกลุ่มแรงงานไทยในจังหวัดเชียงใหม่โดยเก็บข้อมูลทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ด้วยวิธีการสัมภาษณ์กลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้อง และสำรวจสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ของแรงงานไทใหญ่ การศึกษาพบว่าแรงงานไทใหญ่ที่อพยพเข้ามาจากประเทศพม่ามีอาชีพหลักคือทำงานก่อสร้าง ด้านปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ที่เกิดมักจะเกิดจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน  ซึ่งนำไปสู่การส่งเสริมสุขภาพและการรักษาพยาบาล แต่ก็เกิดปัญหาในการสื่อสารเนื่องจากความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรม ทั้งนี้ได้มีหน่วยงานและองค์กรด้านการสื่อสารสุขภาพของแรงงานข้ามชาติทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่เข้ามาดำเนินการประสานงานเมื่อเกิดปัญหา แต่อย่างไรก็ดี พบว่ามีข้อจำกัดในการเข้าถึงสื่อสุขภาพของแรงงานชาวไทใหญ่ เช่น การขาดเนื้อหาที่สอดคล้องกับปัญหาของแรงงาน และความสามารถของแรงงานในการเข้าถึงสื่อที่มีอยู่ ซึ่งนำมาสู่ข้อเสนอแนะในการพัฒนาสื่อสุขภาพให้มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ
 

อ่านต่อ...
image

Author

อรัญญา ศิริผล.

Imprint

Research and Thesis DS530.8.ฉ6อ46 2548

Collection

http://lib.sac.or.th/Catalog/BibItem.aspx?BibID=b00073671

Annotation

งานวิจัยฉบับนี้ศึกษาประสบการณ์ของคนไทใหญ่พลัดถิ่นในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า บริเวณบ้านต้นฮุง ตำบลม่อนปีน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยแบ่งเนื้อหาของงานวิจัยออกเป็น 3 ส่วน เพื่ออภิปรายมูลเหตุที่ทำให้ชาวไทใหญ่ในพื้นที่ชายแดนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นและการกลายเป็นสินค้า
ส่วนแรก ผู้วิจัยกล่าวถึงบริบทของประวัติศาสตร์ชายแดนไทย-พม่า โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ พ.ศ. 1818 – 2490 และ พ.ศ. 2490 - ปัจจุบัน เนื้อหาในส่วนนี้เป็นการอภิปรายความสำคัญเรื่องพรมแดนที่เกิดขึ้นพร้อมกับการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ ซึ่งส่งผลให้เกิดการจำกัดและลดทอนความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเป็นชาติพันธุ์
ส่วนที่สอง ผู้วิจัยกล่าวถึงกระบวนการกลายเป็นสินค้าของคนพลัดถิ่น ที่เกิดขึ้นจากการอพยพเข้ามาของแรงงานชาวไทใหญ่ซึ่งสอดรับกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจการเกษตร แรงงานชาวไทใหญ่จึงกลายเป็นสินค้าในการแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุนและรัฐ
ส่วนสุดท้าย ผู้วิจัยกล่าวถึงประสบการณ์ของคนไทใหญ่พลัดถิ่นกับการจัดวางตัวตนในบ้านใหม่ภายหลังจากที่ได้อพยพเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยกลุ่มคนไทใหญ่พลัดถิ่นนี้เชื่อมโยงตัวเองกับความรู้สึกสำนึกถึงบ้านเกิดผ่านพิธีกรรมทางศาสนา งานบุญหรืองานปอยที่ความหมายทางวัฒนธรรมและการให้คุณค่ายังคงสอดคล้องกับระบบแบบเดิม กิจกรรมทางวัฒนธรรมเหล่านี้ถูกใช้เป็นที่ทางในการจัดวางตัวตนและสร้างความคุ้นเคยในบ้านใหม่ (รัฐไทย)
 

อ่านต่อ...

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ