banner image

Subject Guide

หน้าแรก / Subject Guide / ชาติพันธุ์ / ไทใหญ่

ชาติพันธุ์ / ไทใหญ่

Export All

image author

รวบรวมโดย : จรรยา ยุทธพลนาวี

เผยแพร่ 01 ส.ค. 2563

ขอบเขตของเนื้อหา

          กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตัวเองว่า “ไต” นั้น อาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่เอเชีย นับตั้งแต่ตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ตลอดแนวตอนใต้ของประเทศจีน ประเทศลาว ประเทศไทย ทางตอนเหนือของประเทศพม่าไปจนถึงแคว้นอัสสัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ด้วยการกระจายตัวไปตั้งรกรากถิ่นฐานในพื้นที่แตกต่างกัน พวกเขาจึงมีชื่อเรียกมากมาย ตามประเทศและกลุ่มคนที่ตนอาศัยอยู่ร่วม คนไต แต่เดิมถูกเรียกหรือจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับ ชาน (ฉาน) สยาม เสียม หรืออาหม ส่วนคำว่า “ไทใหญ่” นั้นพบว่าเป็นคำที่คนไทยในประเทศไทยเท่านั้นที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้

         อัตลักษณ์ร่วม ที่โดดเด่นของชาวไทใหญ่คือ ความศรัทธาอย่างลึกซึ้งต่อพุทธศาสนา โดยเฉพาะในการทำบุญทำทาน จนถึงกับมีคำกล่าวว่า ”อย่ากินอย่างม่าน (พม่า) อย่าตาน (ทำทาน) อย่างไท”  เพราะคนไทใหญ่ให้ความสำคัญต่อการบำเพ็ญทานบารมี ใครทำทานให้กับวัดกับพุทธศาสนามาก ก็จะได้รับเกียรติได้รับการยกย่องจากสังคมของคนไทใหญ่ วิถีชีวิตของชาวไทใหญ่ตั้งแต่เกิดจนตายต่างผูกพันกับพระพุทธศาสนา
       คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในครั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับรายการทรัพยากรสารสนเทศที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ที่อาศัยในบริเวณภาคเหนือประเทศไทย  และในบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงสังคมวัฒนธรรม วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่

 


อ้างอิงจาก 
ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. "กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่"  เข้าถึงได้จาก https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/131

คำสำคัญ

แหล่งข้อมูล

คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศ กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ประกอบด้วยแหล่งข้อมูล ดังนี้ หนังสือภาษาไทยและหนังสือภาษาอังกฤษ (Book), งานวิจัยและวิทยานิพนธ์ (Research) ,บทความในหนังสือ (Book Chapter), บทความในวารสาร (Articles), สื่อโสตทัศน์ (Multimedia), ฐานข้อมูล (Database), เว็บไซต์ (Website)

เรียงลำดับข้อมูลจากใหม่ไปเก่า | เรียงลำดับข้อมูลจากเก่าไปใหม่


image

Author

ทองแถม นาถจำนง

Imprint

ไม่ระบุ

Collection

ทางอีศาน. ปีที่ 7, ฉบับที่ 75 (ก.ค. 2561), หน้า 33-38

Annotation

บทความนี้กล่าวถึงตำนานและความเชื่อที่เกี่ยวกับ “แถน” ในวัฒนธรรมสายไทหลวงที่ผู้เขียนกล่าวว่าประกอบด้วยไทใหญ่, ไทมาว, ไทอาหม ฯลฯ โดยยกเอาเรื่องของแถนจากเอกสารประวัติศาสตร์และตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวมาอธิบายโดยสังเขป ในส่วนของเอกสารประวัติศาสตร์และตำนานของกลุ่มคนไทใหญ่ที่ถูกยกมากล่าวถึงมีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน คือ พงศาวดารไทใหญ่ ฉบับของ N.Elias พิมพ์ขึ้นที่กัลกัตตา ในพ.ศ. 2419 กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์แปลเป็นภาษาไทยและพงศาวดารเมืองมาว จากหนังสือคนไทยในพม่า ของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ว่า พงศาวดารของชาไทใหญ่ทั้งสองเรื่องนี้ เรียกประมุขสูงสุดของเมืองฟ้าหรือสวรรค์ ว่า “ขุนตูงคำ, ขุนตึงคำ” ซึ่งเทียบได้เท่ากับ “แถนหลวงฟ้าคื่น” หรือ “แถน” นั่นเอง

 

อ่านต่อ...
image

Author

ธรรศ ศรีรัตนบัลล์.

Imprint

ไม่ระบุ

Collection

วารสารธรรมศาสตร์. ปีที่ 35, ฉบับที่ 3 (ก.ย./ธ.ค. 2559),20-42 หน้า

Annotation

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการอธิบายความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ตำแหน่งทางศาสนานำหน้าชื่อของคนไทใหญ่ ภายใต้บริบททางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยศึกษาในช่วงทศวรรษ 2540-2560 เก็บข้อมูลในชุมชนไทใหญ่พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผลการศึกษาพบว่า ในยุคจารีตสังคมไทใหญ่ได้สร้างระบบตำแหน่งทางศาสนาขึ้นเพื่อใช้กำหนดสถานภาพและบทบาทของสมาชิกในสังคม ตำแหน่งทางศาสนาจะถูกใช้นำหน้าชื่อ สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1) ตำแหน่งทางศาสนาที่ได้รับจากการบวช 2) ตำแหน่งทางศาสนาที่ได้รับจากการถวายวัตถุทาน และ 3) ตำแหน่งทางศาสนาที่ได้รับจากการทำหน้าที่ทางศาสนา นอกจากนี้ก็พบว่าตำแหน่งทางศาสนาถูกใช้เป็นกลไกในการสร้างเครือข่ายทางสังคมของชาวไทใหญ่ แต่ก็ถูกลดความสำคัญลง เมื่อถูกแทนที่ด้วยการเกิดขึ้นของรัฐไทยและการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
 

อ่านต่อ...
image

Author

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล

Imprint

ไม่ระบุ

Collection

จดหมายข่าวไทยศึกษา ศูนย์สยามทรรศน์ศึกษา. ปีที่ 4, ฉบับที่ 2 (เม.ย./มิ.ย. 2558), หน้า 30-38 : ภาพประกอบ

Annotation

บทความนี้กล่าวถึงประเพณีปอยซ้อนน้ำของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใต้คง ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทหรือไทใหญ่กลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน ประเพณีปอยซ้อนน้ำ หรือประเพณีสงกรานต์ของชาวไทใต้คงนั้น ถือเป็นประเพณีใหญ่และสำคัญ ประเพณีนี้มีที่มาจากตำนานที่กล่าวถึงขุนสาง หรือขุนผี หรือขุนยักษ์ที่ถูกตัดคอศีรษะตกดินแล้วเกิดไฟลุกและเมื่อยกศีรษะขึ้นเกิดมีเลือดไหล คนจึงนำน้ำมารดให้สะอาด ประเพณีนี้จัดขึ้นในช่วงราววันที่ 11 – 13 เมษายน โดยวันแรกคนนิยมเก็บดอกหมอกก่อสร้อยหรือดอกบู้ไปวางไว้ที่โก๊งซ้อน ที่วัดประจำหมู่บ้าน ในวันที่สองจะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปมาที่โก๊งซ้อนเพื่อให้ชาวบ้านได้สรงน้ำ
 

อ่านต่อ...
image

Author

อรวรรณ วิไชย.

Imprint

ไม่ระบุ

Collection

วารสารวิจิตรศิลป์ ปีที่ 5, ฉบับที่ 2 (Jul./Dec. 2557), หน้า 185-223 : ภาพประกอบ

Annotation

บทความนี้ศึกษาเกี่ยวกับวาทกรรมของไต เน้นเรื่องของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ปรากฏในลัทธิพิธีและความเชื่อของชุมชนไต อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ผลการศึกษาพบว่าชุมชนไตมีความเชื่อในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผ่านตำนานที่มีเรื่องราวเชื่อมโยงกับพระองค์ ด้วยความเชื่อของชาวไตเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อเรื่องวีรบุรุษ ทำให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เข้าไปอยู่ในความเชื่อของสังคมไตในฐานะ "วีรบุรุษสิ่งศักดิ์สิทธิ์" ในกระบวนการสร้างลัทธิพิธีและความเชื่อ (วาทกรรม) โดยมีที่มาจากความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ของเรื่องเล่าตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับเจ้าคำก่ายน้อย เจ้าฟ้าไตที่ได้ร่วมรบด้วยกัน ซึ่งจากคำบอกเล่านั้นก็พัฒนาไปสู่หนังสือประวัติศาสตร์และเหรียญบูชาทำให้เกิดการนับถือของคนในชุมชน ผลของวาทกรรมสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่มีต่อชุมชนทำให้พื้นที่อำเภอเวียงแหง ทำให้พระนเรศวรมหาราชมีสถานะเป็นที่เคารพของชุมชนไตในอำเภอเวียงแหง
 

อ่านต่อ...
image

Author

บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล

Imprint

ไม่ระบุ

Collection

วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา. ปีที่ 31, ฉบับที่ 2 (ก.ค./ธ.ค. 2555), หน้า 109-135 : ภาพประกอบ

Annotation

บทความนี้กล่าวถึงวิถีอาหารของแรงงานไทใหญ่ที่เข้ามาประกอบอาชีพในจังหวัดเชียงใหม่ โดยกลุ่มผู้ให้ข้อมูลยังคงรักษาอัตลักษณ์การประกอบอาหารของช่วไทใหญ่ไว้ด้วยการทำอาหารไทใหญ่กินเอง มีการเลือกซื้อวัตถุดิบของอาหารไทใหญ่ในตลาดนัดและผู้ค้าเร่ชาวไทใหญ่ โดยโดยเฉพาะถั่วเน่าซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารหลายอย่างเช่น น้ำพริก อาหารประเภทอุ๊บ และแกง ผู้ศึกษาสรุปว่า การสร้างความแตกต่างระหว่างอาหารไทใหญ่ อาหารไทย และอาหารเมือง สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบหนึ่งของการเมืองเชิงวัฒนธรรมที่รสชาติอาหารเข้ามามีบทบาทสำคัญในบางบริบท บางสถานการณ์ และในหลายระดับ


 

อ่านต่อ...

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ