banner image

Subject Guide

หน้าแรก / Subject Guide / ชาติพันธุ์ / ไทใหญ่

ชาติพันธุ์ / ไทใหญ่

Export All

image author

รวบรวมโดย : จรรยา ยุทธพลนาวี

เผยแพร่ 01 ส.ค. 2563

ขอบเขตของเนื้อหา

          กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตัวเองว่า “ไต” นั้น อาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่เอเชีย นับตั้งแต่ตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ตลอดแนวตอนใต้ของประเทศจีน ประเทศลาว ประเทศไทย ทางตอนเหนือของประเทศพม่าไปจนถึงแคว้นอัสสัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ด้วยการกระจายตัวไปตั้งรกรากถิ่นฐานในพื้นที่แตกต่างกัน พวกเขาจึงมีชื่อเรียกมากมาย ตามประเทศและกลุ่มคนที่ตนอาศัยอยู่ร่วม คนไต แต่เดิมถูกเรียกหรือจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับ ชาน (ฉาน) สยาม เสียม หรืออาหม ส่วนคำว่า “ไทใหญ่” นั้นพบว่าเป็นคำที่คนไทยในประเทศไทยเท่านั้นที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้

         อัตลักษณ์ร่วม ที่โดดเด่นของชาวไทใหญ่คือ ความศรัทธาอย่างลึกซึ้งต่อพุทธศาสนา โดยเฉพาะในการทำบุญทำทาน จนถึงกับมีคำกล่าวว่า ”อย่ากินอย่างม่าน (พม่า) อย่าตาน (ทำทาน) อย่างไท”  เพราะคนไทใหญ่ให้ความสำคัญต่อการบำเพ็ญทานบารมี ใครทำทานให้กับวัดกับพุทธศาสนามาก ก็จะได้รับเกียรติได้รับการยกย่องจากสังคมของคนไทใหญ่ วิถีชีวิตของชาวไทใหญ่ตั้งแต่เกิดจนตายต่างผูกพันกับพระพุทธศาสนา
       คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในครั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับรายการทรัพยากรสารสนเทศที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ที่อาศัยในบริเวณภาคเหนือประเทศไทย  และในบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงสังคมวัฒนธรรม วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่

 


อ้างอิงจาก 
ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. "กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่"  เข้าถึงได้จาก https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/131

คำสำคัญ

แหล่งข้อมูล

คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศ กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ประกอบด้วยแหล่งข้อมูล ดังนี้ หนังสือภาษาไทยและหนังสือภาษาอังกฤษ (Book), งานวิจัยและวิทยานิพนธ์ (Research) ,บทความในหนังสือ (Book Chapter), บทความในวารสาร (Articles), สื่อโสตทัศน์ (Multimedia), ฐานข้อมูล (Database), เว็บไซต์ (Website)

เรียงลำดับข้อมูลจากใหม่ไปเก่า | เรียงลำดับข้อมูลจากเก่าไปใหม่


image

Author

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

Imprint

กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2553

Collection

Audio Visual Materials SAC 000342

Annotation

การแสดงจ๊าดไต เป็นการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์ไต จากอำเภอเวียงแพง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับประเทศพม่า เริ่มตั้งแต่การไหว้ครู เนื้อเรื่องกล่าวถึงการเกี้ยวพาราสีของชายหนุ่มหญิงสาวชาวไทใหญ่ โดยแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวไทใหญ่ เช่น งานออกพรรษา ซึ่งเป็นที่มาของการแสดงกิงกะหร่า ซึ่งเป็นการแสดงตามความเชื่อว่าเป็นการต้อนรับพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์  รวมถึงการแสดงให้เห็นถึงพิธีแต่งงานของชาวไทใหญ่และประเพณีส่างลองของชาวไทใหญ่ ที่แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวไทใหญ่
 

อ่านต่อ...
image

Author

ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Imprint

เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2553.

Collection

Audio Visual Materials: CDF 000329

Annotation

วีดีทัศน์ที่นำเสนอข้อมูลวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชนชาติไทใหญ่ จำนวน 42 ตอน แบ่งเป็น 5 หมวด ดังนี้
          หมวดที่ 1 ชีวิตประจำวัน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตทั่วไปของชาวไทใหญ่โดยนำธรรมชาติใกล้ตัวมาใช้ เช่น การซักผ้าด้วยมะคำดีควายแทนผงซักฟอก การไพใบตองตึงมามุงหลังคา การถนอมอาหารอย่างถั่วเน่า ซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวไทใหญ่ต้องมีไว้ทุกครัวเรือน
          หมวดที่ 2 พิธีกรรมและความเชื่อของชาวไทใหญ่เกี่ยวข้องกับวิญญาณ พระพุทธศาสนา การดูฤกษ์ยาม การใช้คาถารักษาโรค
          หมวดที่ 3 องค์ความรู้และภูมิปัญญาที่ได้เรียนรู้จากบรรพบุรุษ เช่น การใช้ยาสมุนไพรรักษาโรค หรือการสุ่มยา การตีมีดเพื่อใช้ในการทำเกษตรหรือในครัวเรือน การทำปานซอยหรือการแกะสลักลวดลายบนแผ่นไม้และสังกะสี
          หมวดที่ 4 การละเล่นและเครื่องดนตรี การละเล่นส่วนใหญ่ที่ฝึกความสามมัคคี ฝึกสติปัญญา กติกาง่ายๆ หรือหาและใช้วัสดุธรรมชาติใกล้ตัว อย่างการทำตึ่งตุงจากกระบอกไม้ไผ่ให้มีเสียงเหมือนกลอง
          หมวดที่ 5 หัตถกรรมและกับดักสัตว์ เป็นสิ่งที่เรียนรู้จากบรรพบุรุษ เพื่ออำนวยความสะดวก และประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น การทำไม้กวาดดอกหญ้า การทำเครื่องจักรสานหรือทำกับดักสัตว์เพื่อดักมาเป็นอาหาร



 

อ่านต่อ...
image

Author

อุษณีย์ ธงไชย.

Imprint

เชียงใหม่ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2553

Collection

Research and Thesis: NA6022.ห7อ75 2553

Annotation

งานวิจัยนี้มีเก็บข้อมูลจากวัดที่ตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอเมืองจังหวัดลำปางจำนวนทั้งหมด 15 วัด          เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลชุมชนและข้อมูลงานพุทธศิลป์ต่างๆ ภายในวัด โดยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23-25 มีชาวพม่าชาวไทใหญ่และชนกลุ่มน้อยจากพม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้นับถือพุทธศาสนา มีความเชื่อว่าการพบสิ่งที่ดีในโลกหน้าจะต้องมาจากการสะสมบุญในโลกปัจจุบันดังนั้นการทำบุญที่สำคัญ โดยเฉพาะการทำบุญกับพระศาสนา เช่น การสร้างวัด การถวายเครื่องอัฐบริขารและอาหารแด่พระสงฆ์ การรวบรวมปัจจัยหรือแม้แต่การอุทิศแรงกายเพื่อสร้างศาสนสถาน ทำให้ปรากฏศาสนสถานและงานพุทธศิลป์ของชนกลุ่มนี้อยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24-25 รูปแบบการสร้างได้รับอิทธิพล ทั้งทางด้านโครงสร้างสถาปัตยกรรม พระพุทธรูป งานพุทธศิลป์อื่นๆ จากรูปแบบศิลปะพม่า สกุลช่างมัณฑเลย์ ซึ่งในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่และไม่ได้มีการดัดแปลงเหมือนในจังหวัดอื่นๆ จึงกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดลำปาง มีเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาท่องเที่ยวและสามารถสร้างรายได้ให้กับจังหวัดเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
 

อ่านต่อ...
image

Author

นุชนภางค์ ชุมดีและสิริวรรณ สิรวณิชย์

Imprint

กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2553

Collection

Books Chapter TX355.ศ73 2553

Annotation

บทความนี้อภิปรายถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านการบริโภคและวัฒนธรรมอาหารไต หรือไทใหญ่ ในพื้นที่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวถึงการนำผงชูรสเข้ามาในพื้นที่นี้ด้วยขบวนวัวต่าง ม้าต่าง ซึ่งเป็นรูปแบบการค้าขายที่ชาวบ้านที่มีทุนนำสินค้าประเภทต่างๆ ทั้งกะปิ กุ้งเสียบ นม สบู่ ปลากระป๋อง รวมถึงผงชูรสเข้ามาขายให้แก่ชาวบ้าน ในวัฒนธรรมอาหารของชาวไทใหญ่ที่แต่เดิมมี ถั่วเน่า เป็นวัตถุดิบหลักในการปรุงรส แต่เมื่อมีผงชูรสเข้ามาช่วยให้เกิดรสชาติที่กลมกล่อมจึงทำให้ชาวไทใหญ่จำนวนไม่น้อยเกิดการติดผงชูรสถึงขนาดที่มีคำพูดติดปากที่ว่า “ไม่ใส่ไม่ได้เดี๋ยวไม่อร่อย”
จากผลการเก็บข้อมูลของผู้เขียน นำมาสู่ข้อสรุปที่สำคัญ 2 ประการ นั่นคือ ผงชูรสในการสร้างความหมายตอกย้ำสัญญะของความอร่อยและผงชูรสเป็นภาพตัวแทนของสินค้าสมัยใหม่ที่เป็น “สัญญะของความอร่อยแบบง่ายๆ”
 

อ่านต่อ...
image

Author

จอมพล ดาวสุโข.

Imprint

กรุงเทพฯ: โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553

Collection

Books Chapter: DS521.อ75 2553

Annotation

บทความนี้กล่าวถึง ชาวคะฉิ่นและชาวไทใหญ่ที่ได้อพยพมาตั้งรกราก ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยที่หมู่บ้านชาวคะฉิ่น ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่สามัคคี อำเภอเชียงดาว และหมู่บ้านชาวไทใหญ่ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านต้นผึ้ง อำเภอฝาง ซึ่งคน 2 กลุ่มนี้ได้ถูกกดขี่โดยรัฐบาลทหารพม่าและรัฐบาลทหารไทใหญ่ไล่ที่ทำกิน เนื่องจากเป็นพื้นที่สงคราม จึงได้ทิ้งแผ่นดินเกิด แล้วอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเพื่อความอยู่รอด โดยเริ่มต้นจากการเข้ามาทำงานในสวนส้ม ได้รับค่าตอบแทนและที่อยู่อาศัย โดยยังคงมีวิถีชีวิตที่คงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีของชนกลุ่มน้อย ทั้งนี้เหล่าลูกหลานของผู้อพยพต่างก็ได้รับการศึกษาแบบไทย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังติดปัญหาเรื่องของสัญชาติ และความเท่าเทียมของกลุ่มน้อย
 

อ่านต่อ...

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ