banner image

Subject Guide

หน้าแรก / Subject Guide / ชาติพันธุ์ / ไทใหญ่

ชาติพันธุ์ / ไทใหญ่

Export All

image author

รวบรวมโดย : จรรยา ยุทธพลนาวี

เผยแพร่ 01 ส.ค. 2563

ขอบเขตของเนื้อหา

          กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตัวเองว่า “ไต” นั้น อาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่เอเชีย นับตั้งแต่ตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ตลอดแนวตอนใต้ของประเทศจีน ประเทศลาว ประเทศไทย ทางตอนเหนือของประเทศพม่าไปจนถึงแคว้นอัสสัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ด้วยการกระจายตัวไปตั้งรกรากถิ่นฐานในพื้นที่แตกต่างกัน พวกเขาจึงมีชื่อเรียกมากมาย ตามประเทศและกลุ่มคนที่ตนอาศัยอยู่ร่วม คนไต แต่เดิมถูกเรียกหรือจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับ ชาน (ฉาน) สยาม เสียม หรืออาหม ส่วนคำว่า “ไทใหญ่” นั้นพบว่าเป็นคำที่คนไทยในประเทศไทยเท่านั้นที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้

         อัตลักษณ์ร่วม ที่โดดเด่นของชาวไทใหญ่คือ ความศรัทธาอย่างลึกซึ้งต่อพุทธศาสนา โดยเฉพาะในการทำบุญทำทาน จนถึงกับมีคำกล่าวว่า ”อย่ากินอย่างม่าน (พม่า) อย่าตาน (ทำทาน) อย่างไท”  เพราะคนไทใหญ่ให้ความสำคัญต่อการบำเพ็ญทานบารมี ใครทำทานให้กับวัดกับพุทธศาสนามาก ก็จะได้รับเกียรติได้รับการยกย่องจากสังคมของคนไทใหญ่ วิถีชีวิตของชาวไทใหญ่ตั้งแต่เกิดจนตายต่างผูกพันกับพระพุทธศาสนา
       คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในครั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับรายการทรัพยากรสารสนเทศที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ที่อาศัยในบริเวณภาคเหนือประเทศไทย  และในบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงสังคมวัฒนธรรม วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่

 


อ้างอิงจาก 
ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. "กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่"  เข้าถึงได้จาก https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/131

คำสำคัญ

แหล่งข้อมูล

คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศ กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ประกอบด้วยแหล่งข้อมูล ดังนี้ หนังสือภาษาไทยและหนังสือภาษาอังกฤษ (Book), งานวิจัยและวิทยานิพนธ์ (Research) ,บทความในหนังสือ (Book Chapter), บทความในวารสาร (Articles), สื่อโสตทัศน์ (Multimedia), ฐานข้อมูล (Database), เว็บไซต์ (Website)

เรียงลำดับข้อมูลจากใหม่ไปเก่า | เรียงลำดับข้อมูลจากเก่าไปใหม่


image

Author

ธรรศ ศรีรัตนบัลล์.

Imprint

ไม่ระบุ

Collection

วารสารธรรมศาสตร์. ปีที่ 35, ฉบับที่ 3 (ก.ย./ธ.ค. 2559),20-42 หน้า

Annotation

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการอธิบายความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ตำแหน่งทางศาสนานำหน้าชื่อของคนไทใหญ่ ภายใต้บริบททางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยศึกษาในช่วงทศวรรษ 2540-2560 เก็บข้อมูลในชุมชนไทใหญ่พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผลการศึกษาพบว่า ในยุคจารีตสังคมไทใหญ่ได้สร้างระบบตำแหน่งทางศาสนาขึ้นเพื่อใช้กำหนดสถานภาพและบทบาทของสมาชิกในสังคม ตำแหน่งทางศาสนาจะถูกใช้นำหน้าชื่อ สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1) ตำแหน่งทางศาสนาที่ได้รับจากการบวช 2) ตำแหน่งทางศาสนาที่ได้รับจากการถวายวัตถุทาน และ 3) ตำแหน่งทางศาสนาที่ได้รับจากการทำหน้าที่ทางศาสนา นอกจากนี้ก็พบว่าตำแหน่งทางศาสนาถูกใช้เป็นกลไกในการสร้างเครือข่ายทางสังคมของชาวไทใหญ่ แต่ก็ถูกลดความสำคัญลง เมื่อถูกแทนที่ด้วยการเกิดขึ้นของรัฐไทยและการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
 

อ่านต่อ...
image

Author

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล

Imprint

ไม่ระบุ

Collection

จดหมายข่าวไทยศึกษา ศูนย์สยามทรรศน์ศึกษา. ปีที่ 4, ฉบับที่ 2 (เม.ย./มิ.ย. 2558), หน้า 30-38 : ภาพประกอบ

Annotation

บทความนี้กล่าวถึงประเพณีปอยซ้อนน้ำของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใต้คง ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทหรือไทใหญ่กลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน ประเพณีปอยซ้อนน้ำ หรือประเพณีสงกรานต์ของชาวไทใต้คงนั้น ถือเป็นประเพณีใหญ่และสำคัญ ประเพณีนี้มีที่มาจากตำนานที่กล่าวถึงขุนสาง หรือขุนผี หรือขุนยักษ์ที่ถูกตัดคอศีรษะตกดินแล้วเกิดไฟลุกและเมื่อยกศีรษะขึ้นเกิดมีเลือดไหล คนจึงนำน้ำมารดให้สะอาด ประเพณีนี้จัดขึ้นในช่วงราววันที่ 11 – 13 เมษายน โดยวันแรกคนนิยมเก็บดอกหมอกก่อสร้อยหรือดอกบู้ไปวางไว้ที่โก๊งซ้อน ที่วัดประจำหมู่บ้าน ในวันที่สองจะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปมาที่โก๊งซ้อนเพื่อให้ชาวบ้านได้สรงน้ำ
 

อ่านต่อ...
image

Author

ศิราพร ณ ถลาง และ สุพิน ฤทธิ์เพ็ญ.

Imprint

กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558

Collection

Book: DS582.5.ท9 ศ64 2558

Annotation

การศึกษางานปอยของชาวไทใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยทุกปีชาวไทใหญ่ ในจังหวัดเชียงใหม่จะจัดงานปอย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทใหญ่ และยังเหมือนสายใยที่เชื่อมความเป็นชาวไทใหญ่จากรัฐฉานกับชาวไทใหญ่ที่ย้ายถิ่นฐานให้มาอยู่รวมกัน งานปอยจึงเปรียบเสมือนพื้นที่ให้แสดงความเป็นตัวตนของชาวไทใหญ่ ทั้งศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ แม้กระทั่งการแต่งกาย
 

อ่านต่อ...
image

Author

ศิรดา เขมานิฏฐา

Imprint

กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2557

Collection

Audio Visual Materials SAC 000737

Annotation

ผู้บรรยายกล่าวว่า คนภายนอกมักเรียกว่าคนไทใหญ่ หรือเงี้ยว แต่คำว่าเงี้ยวเป็นคำเรียกเชิงดูถูก แต่คนพม่าจะเรียกว่า ชาน ซึ่งมาจากการออกเสียงคำว่า สยามในภาษาพม่า ชาวตะวันตกซึ่งเรียกตามคนพม่าว่า ฉาน หรือ shan แต่คนไทใหญ่จะเรียกตัวเองว่า ไต ซึ่งกลุ่มไทใหญ่ก็จะมีกลุ่มย่อยอีก เช่น ไตโหลง ไตลื้อ ไตเขิน ไตสิบสองยูนนาน ไตมาว ไตเหนอ ไตแดง เป็นต้น สาเหตุที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ไตหลายกลุ่ม เนื่องจากลักษณะของกลุ่มชาติพันธุ์ไตชอบที่จะอยู่กันอย่างอิสระ แบ่งการปกครองกันตามพื้นที่ แต่มีความรับรู้กันเองว่าเป็นสายเครือไต คนไทใหญ่ที่เชียงใหม่ (อำภอฝาง, อำเภอไชยปราการและอำเภอแม่อาย) มีสำนึกของกลุ่มชาติพันธุ์ไต แต่ก็คิดว่าตัวเองเองป็นคนไทยด้วย มีการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมกับคนไทใหญ่ที่อพยพเข้ามาด้วย ยังคงใช้เครื่องมือที่ธำรงความเป็นอัตลักษณ์ไตด้วยประเพณีและเทศกาล เช่น การ ใส่เสื้อผ้าแบบคนไต การเปิดเพลงไต การแสดงของไต
ผู้บรรยายเล็งเห็นประโยชน์ในการเปิดประชาคมอาเซียนว่าสามารถสร้างเครือไตให้เป็นที่รู้จัก เพราะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนไม่น้อย และมองว่าตนเองเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ข้ามชาติ พรมแดน โดยเสนอว่าไม่อยากให้มองอาเซียนแค่ 10 ชาติ แต่อยากให้มองคนไตเป็นพลเมืองหนึ่งในอาเซียน และอยากให้จัดทำพิพิธภัณฑ์เครือไตเพื่อให้เป็นศูนย์กลาง-ศูนย์รวมของคนไตและเครือไต ตลอดจนนำเสนอแนวโน้มของกลุ่มเครือไตที่อาจจะเกิดขึ้นในประชาคมอาเซียน คือ 1. เป็นกลุ่มคนไต เครือไตที่ชัดเจนมากขึ้น และ2. โดนกลืนรวมไปกับความเป็นพลเมืองของชาติ

 

อ่านต่อ...
image

Author

อรวรรณ วิไชย.

Imprint

ไม่ระบุ

Collection

วารสารวิจิตรศิลป์ ปีที่ 5, ฉบับที่ 2 (Jul./Dec. 2557), หน้า 185-223 : ภาพประกอบ

Annotation

บทความนี้ศึกษาเกี่ยวกับวาทกรรมของไต เน้นเรื่องของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ปรากฏในลัทธิพิธีและความเชื่อของชุมชนไต อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ผลการศึกษาพบว่าชุมชนไตมีความเชื่อในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผ่านตำนานที่มีเรื่องราวเชื่อมโยงกับพระองค์ ด้วยความเชื่อของชาวไตเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อเรื่องวีรบุรุษ ทำให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เข้าไปอยู่ในความเชื่อของสังคมไตในฐานะ "วีรบุรุษสิ่งศักดิ์สิทธิ์" ในกระบวนการสร้างลัทธิพิธีและความเชื่อ (วาทกรรม) โดยมีที่มาจากความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ของเรื่องเล่าตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับเจ้าคำก่ายน้อย เจ้าฟ้าไตที่ได้ร่วมรบด้วยกัน ซึ่งจากคำบอกเล่านั้นก็พัฒนาไปสู่หนังสือประวัติศาสตร์และเหรียญบูชาทำให้เกิดการนับถือของคนในชุมชน ผลของวาทกรรมสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่มีต่อชุมชนทำให้พื้นที่อำเภอเวียงแหง ทำให้พระนเรศวรมหาราชมีสถานะเป็นที่เคารพของชุมชนไตในอำเภอเวียงแหง
 

อ่านต่อ...

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ