banner image

Subject Guide

หน้าแรก / Subject Guide / ชาติพันธุ์ / ไทใหญ่

ชาติพันธุ์ / ไทใหญ่

Export All

image author

รวบรวมโดย : จรรยา ยุทธพลนาวี

เผยแพร่ 01 ส.ค. 2563

ขอบเขตของเนื้อหา

          กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตัวเองว่า “ไต” นั้น อาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่เอเชีย นับตั้งแต่ตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ตลอดแนวตอนใต้ของประเทศจีน ประเทศลาว ประเทศไทย ทางตอนเหนือของประเทศพม่าไปจนถึงแคว้นอัสสัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ด้วยการกระจายตัวไปตั้งรกรากถิ่นฐานในพื้นที่แตกต่างกัน พวกเขาจึงมีชื่อเรียกมากมาย ตามประเทศและกลุ่มคนที่ตนอาศัยอยู่ร่วม คนไต แต่เดิมถูกเรียกหรือจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับ ชาน (ฉาน) สยาม เสียม หรืออาหม ส่วนคำว่า “ไทใหญ่” นั้นพบว่าเป็นคำที่คนไทยในประเทศไทยเท่านั้นที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้

         อัตลักษณ์ร่วม ที่โดดเด่นของชาวไทใหญ่คือ ความศรัทธาอย่างลึกซึ้งต่อพุทธศาสนา โดยเฉพาะในการทำบุญทำทาน จนถึงกับมีคำกล่าวว่า ”อย่ากินอย่างม่าน (พม่า) อย่าตาน (ทำทาน) อย่างไท”  เพราะคนไทใหญ่ให้ความสำคัญต่อการบำเพ็ญทานบารมี ใครทำทานให้กับวัดกับพุทธศาสนามาก ก็จะได้รับเกียรติได้รับการยกย่องจากสังคมของคนไทใหญ่ วิถีชีวิตของชาวไทใหญ่ตั้งแต่เกิดจนตายต่างผูกพันกับพระพุทธศาสนา
       คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในครั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับรายการทรัพยากรสารสนเทศที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ที่อาศัยในบริเวณภาคเหนือประเทศไทย  และในบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงสังคมวัฒนธรรม วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่

 


อ้างอิงจาก 
ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. "กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่"  เข้าถึงได้จาก https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/131

คำสำคัญ

แหล่งข้อมูล

คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศ กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ประกอบด้วยแหล่งข้อมูล ดังนี้ หนังสือภาษาไทยและหนังสือภาษาอังกฤษ (Book), งานวิจัยและวิทยานิพนธ์ (Research) ,บทความในหนังสือ (Book Chapter), บทความในวารสาร (Articles), สื่อโสตทัศน์ (Multimedia), ฐานข้อมูล (Database), เว็บไซต์ (Website)

เรียงลำดับข้อมูลจากใหม่ไปเก่า | เรียงลำดับข้อมูลจากเก่าไปใหม่


image

Author

ศิรดา เขมานิฏฐา

Imprint

กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2557

Collection

Audio Visual Materials SAC 000737

Annotation

ผู้บรรยายกล่าวว่า คนภายนอกมักเรียกว่าคนไทใหญ่ หรือเงี้ยว แต่คำว่าเงี้ยวเป็นคำเรียกเชิงดูถูก แต่คนพม่าจะเรียกว่า ชาน ซึ่งมาจากการออกเสียงคำว่า สยามในภาษาพม่า ชาวตะวันตกซึ่งเรียกตามคนพม่าว่า ฉาน หรือ shan แต่คนไทใหญ่จะเรียกตัวเองว่า ไต ซึ่งกลุ่มไทใหญ่ก็จะมีกลุ่มย่อยอีก เช่น ไตโหลง ไตลื้อ ไตเขิน ไตสิบสองยูนนาน ไตมาว ไตเหนอ ไตแดง เป็นต้น สาเหตุที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ไตหลายกลุ่ม เนื่องจากลักษณะของกลุ่มชาติพันธุ์ไตชอบที่จะอยู่กันอย่างอิสระ แบ่งการปกครองกันตามพื้นที่ แต่มีความรับรู้กันเองว่าเป็นสายเครือไต คนไทใหญ่ที่เชียงใหม่ (อำภอฝาง, อำเภอไชยปราการและอำเภอแม่อาย) มีสำนึกของกลุ่มชาติพันธุ์ไต แต่ก็คิดว่าตัวเองเองป็นคนไทยด้วย มีการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมกับคนไทใหญ่ที่อพยพเข้ามาด้วย ยังคงใช้เครื่องมือที่ธำรงความเป็นอัตลักษณ์ไตด้วยประเพณีและเทศกาล เช่น การ ใส่เสื้อผ้าแบบคนไต การเปิดเพลงไต การแสดงของไต
ผู้บรรยายเล็งเห็นประโยชน์ในการเปิดประชาคมอาเซียนว่าสามารถสร้างเครือไตให้เป็นที่รู้จัก เพราะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนไม่น้อย และมองว่าตนเองเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ข้ามชาติ พรมแดน โดยเสนอว่าไม่อยากให้มองอาเซียนแค่ 10 ชาติ แต่อยากให้มองคนไตเป็นพลเมืองหนึ่งในอาเซียน และอยากให้จัดทำพิพิธภัณฑ์เครือไตเพื่อให้เป็นศูนย์กลาง-ศูนย์รวมของคนไตและเครือไต ตลอดจนนำเสนอแนวโน้มของกลุ่มเครือไตที่อาจจะเกิดขึ้นในประชาคมอาเซียน คือ 1. เป็นกลุ่มคนไต เครือไตที่ชัดเจนมากขึ้น และ2. โดนกลืนรวมไปกับความเป็นพลเมืองของชาติ

 

อ่านต่อ...
image

Author

ทีวีไทย.

Imprint

กรุงเทพฯ : ทีวีไทย, 2554

Collection

Audio Visual Materials: CDF 000300

Annotation

สารคดีนี้กล่าวถึง การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเฮนไตในพื้นที่บ้านเมืองปอน เป็นชุมชนไทใหญ่ดั้งเดิม มีการตั้งถิ่นฐานมาเป็นเวลากว่า 200 ปี ตั้งอยู่ที่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งยังคงมีร่องรอยการตั้งชุมชนแบบดั้งเดิมอยู่ โดยก่อนที่จะตั้งชุมชน คนในชุมชนจะมีการทำพิธีเสี่ยงสายหาพื้นที่ในการตั้ง “ใจบ้าน” เพื่อสร้างเสาหลักเมือง ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่คนชุมชนให้ความเคารพเป็นอย่างมาก มีการก่อตั้ง “หอเจ้าบ้าน” หรือ “หอผีประจำหมู่บ้าน” เป็นพื้นที่ของวิญญาณบรรพชนที่คอยปกปักษ์รักษาคุ้มครองลูกหลานในหมู่บ้าน          คนไทใหญ่จะอยู่อาศัยเป็นชุมชน ส่วนของพื้นที่การเกษตรนั้นจะแยกออกมาจากพื้นที่อยู่อาศัย ทุกๆ บ้านจะมีบ่อน้ำและมีบ่อน้ำรวมภายในวัด และคนในชุมชนจะมาหาบน้ำจากบ่อไปใช้ รูปแบบของบ้านที่อยู่อาศัยมีทั้งแบบดั้งเดิม และแบบสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงตามสมัยนิยม บ้านแต่ละหลังจะมีการสร้างและแบ่งพื้นที่อย่างชัดเจน ชาวไทใหญ่จะมีพิธีปฏิบัติการบูชาบ้านบูชาเมือง การขอขมาลาโทษ และการบูชาเจ้าบ้าน ซึ่งทั้ง 3 พิธีนี้จะต้องทำเป็นประจำทุกปี
 

อ่านต่อ...
image

Author

ทีวีไทย.

Imprint

กรุงเทพฯ : ทีวีไทย, 2553

Collection

Audio Visual Materials: VT 000789

Annotation

สารคดีเรื่องนี้กล่าวถึง การพักผ่อนในโฮมสเตย์บ้านแม่ละนา อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งในตอนเช้านักท่องเที่ยวจะได้ตักบาตร ชาวไทยใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด ซึ่งรูปแบบของการตักบาตรของชาวไทยใหญ่จะมีการผูกปิ่นโตมาถวายที่วัดเป็นประจำทุกวัน แต่หากในวันที่เป็นงานบุญหรือวันสำคัญชาวบ้านจะยืนเรียงรายรอตักบาตรกันอยู่หน้าวัด วัดของชาวไทยใหญ่จะตั้งอยู่กลางชุมชนเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน สถาปัตยกรรมของวัดมีความโดดเด่นคงเอกลักษณ์ที่สำคัญของชาวไทยใหญ่ มีพระพุทธรูปที่สวยงามเป็นที่เคารพและเลื่อมใสของคนในชุมชน โดยเฉพาะพระพุทธรูปปานปอง ซึ่งสร้างจากข้าวตอกดอกไม้ที่ชาวบ้านนำมาถวายรวมกัน ผสมกับยางไม้และปั้นขึ้นเป็นพระพุทธรูป จากนั้นนำเสนอการท่องเที่ยวภายในถ้ำปะการัง ระยะทางภายในถ้ำประมาณ 700 เมตร ภายในถ้ำมีสิ่งต่างๆ หินหลายประเภทที่สวยงามและน่าสนใจ ซึ่งผู้นำเที่ยวคือคนในชุมชนที่ได้รับการอบรมให้ร่วมกันอนุรักษ์และป้องกันไม่ให้ธรรมชาติภายในถ้ำถูกทำลาย การมาใช้ชีวิตในโฮมสเตย์บ้านแม่ละนา นักท่องเที่ยวจะได้รับชม “ลิเกไต” ศิลปะการแสดงพื้นบ้านเอกลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาวไทยใหญ่ ใช้ดนตรีพื้นบ้านหลายชิ้น รวมทั้งรูปแบบการแต่งกายที่ใช้ในการแสดงก็แสดงให้เห็นถึงอัตตลักษณ์ที่สำคัญของชาวไทยใหญ่ ซึ่งการท่องเที่ยวในชุมชนบ้านแม่ละนานี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือร่วมใจของชาวไทยในชุมชน 
 

อ่านต่อ...
image

Author

ทีวีไทย.

Imprint

กรุงเทพฯ : ทีวีไทย, 2553

Collection

Audio Visual Materials SAC 000342

Annotation

นำเสนอการจัดการท่องเที่ยวรูปแบบโฮมสเตย์ของชุมชนบ้านแม่ละนา อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้วิถีชุมชน โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมทำโฮมสเตย์ จำนวน 16 หลัง กิจกรรมในการท่องเที่ยวที่บ้านแม่ละนานอกจากจะนอนพักโฮมสเตย์แล้วยังมีการเยี่ยมชมนาข้าวอายุกว่าร้อยปี หากนักท่องเที่ยวมาในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็จะสามารถทดลองเกี่ยวกับร่วมกับชาวบ้านได้ กิจกรรมการทอผ้าลวดลายของชาวไทยใหญ่ที่สามารถซื้อกลับไปเป็นของฝาก กิจกรรมการบีบน้ำมันงาซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของหมู่บ้าน ผลิตจากงาขาวไร้สารเคมี การแสดงลิเกไทยใหญ่และงานประเพณีต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวสามารถร่วมชมได้ ตลอดจนนำเสนออาหารไทยใหญ่ที่เจ้าของที่พักจัดหาให้นักท่องเที่ยวได้รับประทาน นอกจากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในหมู่บ้านแม่ละนาแล้ว ในบริเวณโดยรอบประกอบด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ เช่น ถ้ำแม่ละนา ถ้ำลอด และถ้ำปะการังอีกด้วย
 

อ่านต่อ...
image

Author

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

Imprint

กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2553

Collection

Audio Visual Materials SAC 000342

Annotation

การแสดงจ๊าดไต เป็นการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์ไต จากอำเภอเวียงแพง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับประเทศพม่า เริ่มตั้งแต่การไหว้ครู เนื้อเรื่องกล่าวถึงการเกี้ยวพาราสีของชายหนุ่มหญิงสาวชาวไทใหญ่ โดยแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวไทใหญ่ เช่น งานออกพรรษา ซึ่งเป็นที่มาของการแสดงกิงกะหร่า ซึ่งเป็นการแสดงตามความเชื่อว่าเป็นการต้อนรับพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์  รวมถึงการแสดงให้เห็นถึงพิธีแต่งงานของชาวไทใหญ่และประเพณีส่างลองของชาวไทใหญ่ ที่แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวไทใหญ่
 

อ่านต่อ...

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ