“มติ ครม. ชาวเล 53” เพียงห้วงหนึ่งของความหวัง หรือรูปธรรมเชิงนโยบายการเปลี่ยนแปลง

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 36890

“มติ ครม. ชาวเล 53” เพียงห้วงหนึ่งของความหวัง หรือรูปธรรมเชิงนโยบายการเปลี่ยนแปลง

บทนำ

           ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ผ่านมา ได้ปรากฏความสัมพันธ์กับการหยิบยกและใช้ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์มาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ ต่อรอง กับอำนาจรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตทั้งในด้านการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ตลอดจนการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรม ภูมิปัญญากลุ่มชาติพันธุ์ ดังปรากฏในช่วงปี พ.ศ. 2553 ได้มีการประกาศมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อการคุ้มครองและปกป้องวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเป็นครั้งแรก ปัจจุบันการขับเคลื่อนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้ผ่านระยะเวลามาแล้ว 13 ปี หรือมากกว่า 1 ทศวรรษ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการแก้ไขปัญหาและการส่งเสริมศักยภาพกลุ่ม/ชุมชนชาติพันธุ์ชาวเล ทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย ผ่านการทำกิจกรรมทั้งในลักษณะของการรณรงค์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับอัตลักษณ์ ตัวตน และวิถีวัฒนธรรม ขณะเดียวกันการสื่อสารสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ได้ปรากฏความสัมพันธ์กับประเด็นปัญหาในมิติต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนและท้าทายเพิ่มมากขึ้น เมื่อพิจารณาการขับเคลื่อนมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านระยะเวลาดำเนินงานและยังมีสถานะดำรงอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะทบทวนให้เห็นที่มาและความสำคัญของการประกาศมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล สถานการณ์ปัญหาและความท้าทาย ตลอดจนข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชวิตกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านการผลักดันกฎหมายและนโยบาย ซึ่งเป็นความหวังใหม่ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป


การปรากฏความสนใจต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล

           “ชาวเล” เป็นคำที่ปรากฏในประกาศมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล แสดงให้เห็นการระบุตัวตน กลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่น เมื่อพิจารณานิยามและความเป็นชาติพันธุ์ชาวเลพบว่า ชาวเลเป็นคำที่มีความหมายสัมพันธ์กับถิ่นที่อยู่อาศัยสอดคล้องตามสภาพภูมิศาสตร์พื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทยที่เป็นท้องทะเล มีเกาะแก่งและชายฝั่งในทะเลอันดามัน วิถีชีวิตของชาวเลจึงเป็นชุมชนประมงพื้นบ้าน ใช้เรือและเครื่องมือประมงพื้นบ้านตามภูมิปัญญาในการจับปลาและสัตว์น้ำ วิถีชีวิตดังกล่าวจึงเรียกอย่างหนึ่งว่าเป็น “ชาวทะเล” ทั้งนี้ด้วยสำนวนการใช้ภาษาของท้องถิ่นภาคใต้ที่มักจะย่นย่อคำให้สั้นกะทัดรัด จึงเหลือเพียงคำว่า “เล” หรือ “ชาวเล” ในการเรียกกลุ่มคนที่มีถิ่นที่อยู่และวิถีชีวิตผูกพันกับท้องทะเล (สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2563, หน้า13)1  ทั้งนี้คำว่าชาวเลนั้น ยังถูกอธิบายเพิ่มเติมว่าไม่ได้เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มคนทั่วไปที่อยู่ริมทะเล แต่ใช้เรียกกลุ่มชนพื้นเมืองที่มี วิถีชีวิตดั้งเดิมผูกพันกับท้องทะเล มีประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าตำนาน ประเพณี วัฒนธรรม ภาษาที่เป็นเอกลักษณ์และสืบทอดมาเป็นเวลาช้านาน

รูปที่ 1 แผนที่แสดงการกระจายตัวของชุมชนชาวเล, 2552
 

           ดังนั้นในบริบทนี้ชาวเลจึงหมายถึงกลุ่ม ชาติพันธุ์หรือชนพื้นเมืองของไทย 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ชาวมอแกน ชาวมอแกลน และชาว อูรักลาโว้ย ซึ่งดั้งเดิมนั้นเป็นกลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายถิ่นฐานในท้องทะเลอยู่บ่อย ๆ หรือที่ชาวต่างชาติมักเรียก “ยิปซีทะเล” (Sea gypsies) โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มที่เร่ร่อนย้ายถิ่นฐานบ่อย ๆ ในประเทศแถบทวีปยุโรป ทั้งนี้ชาวเลของไทยมีรูปแบบของการโยกย้าย เปลี่ยนถิ่นที่อยู่ตามเกาะและชายฝั่งทะเลที่คุ้นเคย เพื่อเป็นที่จอดพักเรือ หลบคลื่นพายุ และตั้งถิ่นฐานชุมชน ดังปรากฏข้อมูลตามแผนที่แสดงการกระจายตัวของชุมชนชาวเล (โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552)2  ปัจจุบันชาวเลได้มีการตั้งถิ่นฐานถาวรบนพื้นที่ที่มีขอบเขตแน่นอนชัดเจนไม่มีการเคลื่อนย้ายไปมาเหมือนในอดีต โดยพบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอาศัยอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดได้แก่ จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ และจังหวัดสตูล มีประชากรรวมประมาณ 12,200 คน ในพื้นที่ 44 ชุมชน โดยชาวเลมอแกนจะอาศัยอยู่ในจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต ขณะที่ชาวเลมอแกลนจะอยู่ในจังหวัดพังงาและภูเก็ต และชาวเลอูรักลาโว้ยอยู่ในจังหวัดภูเก็ต (สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2565)


มองย้อน...มติคณะรัฐมนตรีฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล 2 มิถุนายน 2553

           ความสนใจต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลปรากฏขึ้นภายหลังเหตุการณ์สึนามิ ปี 2547 เนื่องจากมีการลงพื้นที่ของหน่วยงานราชการ องค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟูภายหลังเหตุการณ์สึนามิ ทำให้ชาวเลในพื้นที่ต่าง ๆ แถบทะเลอันดามัน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ และจังหวัดสตูล ได้รับความสนใจและถูกสร้างการรับรู้มากขึ้น ทั้งในด้านวิถีวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และการสื่อสารประเด็นปัญหาสิทธิในที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำมาหากินตามวิถีดั้งเดิม ที่เผชิญกับสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งกับนายทุนและบุคคลภายนอก เนื่องจากในช่วงของการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติได้เกิดการอ้างสิทธิในที่ดินจากนายทุน ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐก็ได้ดำเนินมาตรการเพื่อบริหารจัดการข้อมูลสถานะบุคคลให้มีความชัดเจน รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยอ้างเป้าหมายที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน ชาวเลส่วนใหญ่จึงเผชิญกับการถูกอ้างสิทธิครอบครองของเอกชนทับซ้อนกับผืนดินและแหล่งทำมาหากินดั้งเดิม ขณะเดียวกันกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลบางส่วนก็ตกเป็นกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เนื่องจากแต่เดิมการมีวิถีเคลื่อนย้าย และเปลี่ยนที่อยู่ไปมาในท้องทะเลไม่ได้ถูกสำรวจและรับรองจากรัฐใด ทำให้เมื่อมีการบังคับให้หยุดเคลื่อนย้ายและต้องตั้งถิ่นฐานถาวร สถานะของการเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติจึงปรากฏขึ้น กลุ่ม ชาติพันธุ์ชาวเลจึงประสบปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ถูกกีดกันการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติตามวิถีดั้งเดิม มีความเสี่ยงต่อการทำกิจกรรมผิดกฎหมายและการทำงานที่เสี่ยงอันตราย ขาดความมั่นใจและภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม (สำเนาเอกสารความเป็นมาของแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล, 2553)

           ภายใต้สถานการณ์ปัญหาดังกล่าว นักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาสังคมจึงได้ร่วมกันศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ปัญหา วิถีชีวิตวัฒนธรรม การดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล โดยได้ผลักดันให้มีการประกาศเป็นมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายสำคัญต่อการสร้างและพัฒนากลไกการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล แบ่งออกเป็นการดำเนินการมาตรการฟื้นฟูระยะสั้น ภายใน 6-12 เดือน ดำเนินการในด้าน 1. สร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย การจัดทำโฉนดชุมชนเพื่อเป็นเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาวเล 2. การให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมง หาทรัพยากรตามเกาะต่าง ๆ ได้รวมถึงการเสนอผ่อนปรนพิเศษในการประกอบอาชีพประมง 3. การช่วยเหลือด้านสาธารณสุขเพื่อฟื้นฟูสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพดำน้ำ ทำให้เกิดโรคน้ำหนีบและการมีปัญหาด้านสุขภาพ 4. การช่วยแก้ปัญหาสัญชาติในกลุ่มชาวเลที่ไม่มีบัตรประชาชน 5. การส่งเสริมด้านการศึกษาแก่เด็กและสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง 6. การแก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ 7. การส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวเลและสนับสนุนงบประมาณจัดกิจกรรมต่อเนื่อง 8. การส่งเสริมชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง 9. การจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมการทำงานของเครือข่ายชาวเล และมาตรการฟื้นฟูในระยะยาว ดำเนินการภายใน 1-3 ปี พิจารณากำหนดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษที่เอื้อต่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีลักษณะสังคมวัฒนธรรมเฉพาะ (มติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553)

           จะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของแนวนโยบายดังกล่าวนอกจากจะชี้ให้เห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล สิ่งสำคัญคือการสร้างการรับรู้ต่อตัวตนและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ที่เน้นย้ำให้เห็นว่ากำลังเผชิญสภาวะความเปราะบางต่อการดำรงอยู่ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในด้านความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ที่ทำกินในท้องทะเล การเข้าถึงบริการสาธารณสุข การไม่ได้รับรองสิทธิสถานะบุคคล การจัดการศึกษา ตลอดจนปัญหาอคติทาง ชาติพันธุ์ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา


กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลกับสถานการณ์ปัญหาเดิมท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนแปลง

           นับตั้งแต่การประกาศให้มีมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 การสร้างการรับรู้ต่อตัวตนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลได้มีพลวัตภายใต้ความสัมพันธ์กับการนำเสนอให้เห็นสถานการณ์ปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมาอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันก็ยังพบว่าสถานการณ์ปัญหาเหล่านั้นไม่ได้ลดน้อยลงทั้งในระดับของความรุนแรงและการขยายตัวของปัญหา โดยสามารถสรุปให้เห็นสถานการณ์ปัญหาสำคัญได้ดังนี้


สิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ...ปัญหาเรื้อรังจากรุ่นสู่รุ่น

           ปัจจุบันชุมชนชาติพันธุ์ชาวเลในหลายพื้นที่กำลังเผชิญกับการถูกคุกคามและริดรอนสิทธิจากนายทุนที่อ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองที่อยู่อาศัยและพื้นที่สาธารณะ เช่น กรณีชาวเลเกาะหลีเป๊ะที่ถูกนายทุนอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองพื้นที่หน้าหาด ที่อยู่อาศัย และพื้นที่จิตวิญญาณหรือสุสานดั้งเดิมของชาวเล โดยการสร้างรีสอร์ท โรงแรมที่พัก ทับที่ของชาวเล รวมถึงการปิดเส้นทางที่ชาวเลใช้สัญจรไปมา ขณะเดียวกันก็เผชิญกับการถูกข่มขู่ คุกคาม ด้วยการใช้อิทธิพลและการอ้างกฎหมาย ทำให้ชาวเลเกิดความหวาดกลัว เนื่องจากไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย3  หรือกรณีการเรียกร้องให้มีการปกป้องคุ้มครองพื้นที่หาดไม้ขาว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ในฐานะพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของชาวเลที่อาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ตมากกว่า 30 ชุมชน จะมาร่วมกันทำพิธีนอนหาดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นระยะเวลา 3-5 วัน หากแต่ปัจจุบันกำลังเผชิญกับการถูกรุกไล่จากนายทุนโดยอ้างการเช่าที่จากหน่วยงานรัฐ เพื่อใช้พื้นที่ก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท รองรับนักท่องเที่ยว ทำให้เครือข่ายชาวเลในพื้นที่ได้ออกมาเรียกร้องและยืนยันสิทธิในฐานะกลุ่ม ชาติพันธุ์ที่ใช้ประโยชน์และร่วมดูแลรักษาพื้นที่มาอย่างยาวนาน4  เป็นต้น

รูป 2 ภาพแสดงการเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวเลกับนายทุนบนเกาะหลีเป๊ะ

ที่มา : https://www.thaipost.net/district-news/279251/
 

รูป 3 ภาพแสดงการสื่อสารเรียกร้องให้มีการปกป้องคุ้มครองพื้นที่นอนหาดของชุมชนชาวเล จ.ภูเก็ต

ที่มา:https://www.facebook.com/photo/?fbid=585066437145935&set=pcb.585066583812587


           อย่างไรก็ตามปัญหาการขาดความมั่นคงในที่ดินทำกินและอยู่อาศัยของชาวเล ยังเกี่ยวข้องกับการถูกประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของรัฐ ทำให้ชาวเลในหลายพื้นที่กลายสถานะเป็นผู้บุกรุกไม่มีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ตามวิถีดั้งเดิมของตน เช่น ชาวเลมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ ที่มีประวัติศาสตร์การอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในท้องทะเลและป่าไม้ตามเกาะแก่ง และอ่าวต่าง ๆ ในบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์มาช้านาน แต่ปัจจุบันพื้นที่ทั้งหมดที่เคยอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ได้ถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมายอุทยาน ทำให้ชาวเลมอแกนต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมาตั้งบ้านเรือนที่ถาวรในพื้นที่อ่าวเดียวกัน ส่งผลให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด ถูกจำกัดสิทธิในการประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติตามวิถีภูมิปัญญา เช่น ไม่สามารถหาปลาตามเกาะแก่งต่าง ๆ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากป่าไม้บนเกาะได้เหมือนอดีตที่ผ่านมา เป็นต้น ดังนั้นความไม่มั่นคงเกี่ยวกับที่ดิน ที่อยู่อาศัย จึงถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่เคียงคู่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมาโดยตลอด แม้จะมีการประกาศมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2553 เป็นต้นมา แต่ก็ยังไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยและพื้นที่จิตวิญญาณของชาวเลให้หมดไปได้ ในห้วงเวลาของการครบรอบ 13 ปี การประกาศมติคณะรัฐมนตรี และการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลจึงยังคงมีความหวังกับก้าวต่อไปในทศวรรษใหม่ โดยเฉพาะการผลักดันให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ ต่อรอง เพื่อยืนยันสิทธิในการดำรงอยู่ตามวิถีวัฒนธรรมในผืนดินและถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของตนอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

           ปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่อาศัยอยู่ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนทางทะเลติดกับประเทศเพื่อนบ้านยังคงเผชิญกับสถานการณ์เป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ส่งผลต่อการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการและบริการของรัฐ ทำให้ขาดความมั่นคงในการดำรงชีวิต เช่น ชาวเลมอแกนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงาและชาวเลมอแกน จังหวัดระนอง ยังคงประสบปัญหาการเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เนื่องจากถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่มีการอพยพเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีหลักแหล่งที่แน่นอน รวมถึงขาดเอกสารหลักฐาน และพยานบุคคลในการยืนยันสิทธิของการเป็นพลเมืองของรัฐไทยที่เพียงพอ ทำให้ชาวเลหลายคนกลายเป็นบุคคลไร้สถานะ ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ แม้จะมีความพยายามในการสำรวจจำนวนประชากรชาวเลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการขึ้นทะเบียนเป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือ “บัตรเลขศูนย์” แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดแนวทางในการปกป้องคุ้มครอง และส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐอย่างทั่วถึงและเพียงพอ ทำให้ชาวเลประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐ ดังปรากฏในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส (COVID 19) ที่ผ่านมา ที่รัฐมีมาตรการสนับสนุนเงินช่วยเหลือแก่แรงงานนอกระบบหรือผู้มีรายได้น้อย หากแต่ชาวเลซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนทำให้ไม่มีสิทธิรับการช่วยเหลือเยียวยาจากมาตรการดังกล่าว หรือแม้แต่แนวนโยบายการจัดสวัสดิการจากรัฐบาลใหม่ที่มีการนำเสนอเกี่ยวกับเงิน Digital Wallet 10,000 บาท ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมปัจจุบันอยู่นั้น หากในอนาคตสามารถดำเนินการได้จริง กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลก็จะเป็นกลุ่มที่ตกหล่นและเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการเหล่านี้เหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนและไม่ได้รับรองสถานะบุคคลในฐานะพลเมืองไทย ขณะเดียวกันยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้การส่งเสริมสิทธิการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของรัฐกับไม่มีแนวทางที่ชัดเจนแน่นอน ดังนั้นปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติในกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลจึงถือเป็นประเด็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องมีการเร่งดำเนินการแก้ไข เพื่อให้มีสิทธิเข้าถึงสวัสดิการและบริการจากรัฐได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง

           ปัญหาสุขภาพและการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ด้วยสถานะของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลบางกลุ่มที่เป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติทำให้ไม่มีสิทธิได้รับบริการสุขภาพ และด้วยบริบทพื้นที่อยู่อาศัยที่ห่างไกล ทำให้การเข้ารับบริการสุขภาพต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางจากเกาะข้ามทะเลมายังโรงพยาบาลบนฝั่ง ซึ่งมีค่าโดยสารเรือค่อนข้างสูง ใช้เวลานาน ขณะเดียวกันการเดินทางมาโรงพยาบาลยังจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พักและอาหารสำหรับญาติผู้ดูแล จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ชาวเลหลีกเลี่ยงที่จะเข้ารับบริการสุขภาพ โดยเฉพาะการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่ต้องมีการติดตามอาการ เพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง การเข้ารับการรักษาพยาบาลของชาวเลส่วนใหญ่จึงมักเป็นกรณีเร่งด่วนฉุกเฉินหรือมีอาการเจ็บป่วย รุนแรง ซับซ้อน และยากต่อรักษา นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีข้อห่วงใยเกี่ยวกับสุขภาพของเด็กและเยาวชน เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น การดื่มน้ำอัดลมและขนมขบเคี้ยวของเด็กและเยาวชน รวมถึงกรณีของเด็กในวัยทารกที่ไม่มีนมผงที่เหมาะสมตามช่วงวัย เนื่องจากครอบครัวชาวเลส่วนใหญ่มีสถานะยากจน ไม่มีรายได้เพียงพอ จึงเป็นความเสี่ยงต่อการไม่ได้รับสารอาหารและส่งเสริมพัฒนาการสำหรับเด็กที่เพียงพอและเหมาะสม ดังนั้นการเผชิญสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพและการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความซับซ้อนของปัญหา แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีความพยายามส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิตามหลักประกันสุขภาพสุขภาพ แต่บริบทการดำรงชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นมีเงื่อนไขที่ซับซ้อน การออกแบบให้มีระบบบริการสุขภาพจึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบของการจัดบริการที่มีความหลากหลาย สอดคล้องกับบริบทการดำรงชีวิต วิถีวัฒนธรรม ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ทั้งในด้านสิทธิสถานะบุคคล ความยากลำบากในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นตลอดกระบวนการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล


เพียงห้วงหนึ่งของความหวัง...กับก้าวต่อไปของมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553

           การประกาศให้มีมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล เมื่อ 2มิถุนายน 2553 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลต่อวิถีการดำรงอยู่ของชาวเล เพราะการประกาศให้มีมติคณะรัฐมนตรีดังล่าวได้ถูกนำไปใช้เป็นกรอบในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในมิติของการส่งเสริม ฟื้นฟู และอนุรักษ์วิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ผ่านกลไกของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายชุมชนชาติพันธุ์ชาวเลในพื้นที่ 5 จังหวัด ขณะเดียวกันในมุมมองของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลยังถือเป็นความหวังที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นจากวังวนของปัญหาที่เกี่ยวพันกับชีวิต ดังปรากฏเสียงสะท้อนจากกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในหลายพื้นที่ที่สะท้อนออกมาให้เห็นว่า การมี มติ ครม. เป็นเหมือนการขีดเส้นใต้รับรองการมีอยู่ของชาวเล ภาพของชาวเลจึงปรากฏขึ้น แม้จะไม่โดดเด่น แต่ก็ไม่หายจากหน้าประวัติศาสตร์สังคม การจะดำเนินการใด ๆ กับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในลักษณะของการข่มขู่ คุกคาม เอารัดเอาเปรียบ จึงชะลอลงไป สร้างความอุ่นใจให้ชาวเลได้บ้าง แต่นั่นก็ไม่ใช่ความอบอุ่นใจที่ก่อให้เกิดความรู้สึกมั่นคงภายในได้ เพราะภายใต้โครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่ดำรงอยู่ ได้ขีดเส้นแบ่งสร้างคู่ตรงข้ามของการต่อสู้ ขับเคี่ยว เพื่อช่วงชิงผลประโยชน์สูงสุด กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลจึงเป็นคู่แข่งขันที่เสียเปรียบในสนามเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ที่บรรดานายทุนต่างพยายามช่วงชิงพื้นที่และตำแหน่ง เพื่อเป็นเจ้าของพื้นที่หรือผืนดินของชาวเล และยังเป็นคู่ตรงข้ามในสนามรัฐราชการที่ถูกรัฐสถาปนาสร้างกฎเกณฑ์ในการจัดการควบคุมกำกับพื้นที่ ที่พยายามเบียดขับให้ชาวเลกลายเป็นสถานะเป็นผู้บุกรุก หรือเป็นผู้มาทีหลัง ทั้งที่จริงแล้วชาวเลคือเจ้าของและผู้อาศัยดั้งเดิมในผืนดินของตน

รูป 4 ภาพงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 12

บ้านทับตะวัน ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา มีการประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์แห่งแรกของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล
 

           ดังนั้นการมีมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล 2 มิถุนายน 2553 จึงเป็นเครื่องมือที่ถูกรับรองอย่างชอบธรรมโดยรัฐ เป็นเครื่องมือเพียงชิ้นเดียวที่พอจะนำมาใช้เพื่อต่อสู้ ต่อรองในสนามของการแข่งขันที่เกิดขึ้น รับรองให้ตัวตนของชาวเลได้ปรากฏในตำแหน่งแห่งที่ที่ชัดเจน การขับเคลื่อนของมติครม. ชาวเล ที่จะเดินทางไปพร้อมวิถีชีวิตชาวเลในทศวรรษหน้า จึงเป็นความท้าทายของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและสังคมที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ไปพร้อมกัน เพื่อให้การแข่งขัน ช่วงชิงผลประโยชน์ในโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ดำเนินไปอย่างเคารพและเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อให้ความอบอุ่นใจที่จะเกิดขึ้นภายในของชาวเล เป็นความมั่นคงที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างยั่งยืน โดยจะไม่หายไปจากประวัติศาตร์และพื้นที่ทางสังคม


ทิศทางและแนวโน้มในอนาคตกับการขับเคลื่อนแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล

           ภายใต้สภาพบริบทปัญหาที่เป็นแรงเสียดทานที่ส่งผลต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในหลาย ๆ ด้านนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ที่มีต่อชาวเล ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ขาดความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรม การยึดเฉพาะหลักการและแนวปฏิบัติทางกฎหมายที่หลายกรณีเป็นปัญหาที่ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลต้องถูกกดทับ เบียดขับให้กลายเป็นอื่น และเผชิญปัญหาในหลาย ๆ ด้าน เช่น ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัย ปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ ปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการ เป็นต้น เหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ชาวเลเผชิญความยากลำบากในการดำเนินชีวิตและมักตกเป็นจำเลยหรืออยู่ในฐานะผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย โดยไม่มีช่องทางหรือวิธีการในการต่อรอง

           การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ตามประกาศมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 ในอนาคตจึงถูกคาดหวังให้มีการยกระดับเป็นกฎหมายสอดคล้องตามแนวทางการผลักดันให้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม โดยมีศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว ปัจจุบันได้ดำเนินการยกร่างฎหมายและจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างรอการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อร่วมกันพิจารณาก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการตามกระบวนการประกาศให้มีกฎหมายต่อไป


ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

           1. การผลักดันให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ถือเป็นกระบวนการดำเนินงานทางกฎหมายที่จะนำไปสู่การปกป้องคุ้มครองสิทธิการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ตามวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาดั้งเดิมของตน ตลอดจนการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างชอบธรรม ปัจจุบันได้มีความพยายามจากภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคการเมือง ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมร่วมจัดทำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์รวม 5 ฉบับ5  ซึ่งต่างมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อการปกป้องคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ แม้จะมีความแตกต่างกันในส่วนของเนื้อหา แต่ก็เป็นรายละเอียดที่จะต้องมาร่วมกันพิจารณาในชั้นกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรต่อในอนาคต เพื่อให้ได้กฎหมายที่มีความครอบคลุม ชัดเจนในเนื้อหา เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน

           2. การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการจัดการปัญหาภายใต้กรอบแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และการประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ โดยสามารถดำเนินการใน 3 ระยะ ดังต่อไปนี้

           - ระยะเร่งด่วน การแก้ไขปัญหาสัญชาติ เร่งพิสูจน์สัญชาติสำหรับคนที่ยังไม่ได้รับสัญชาติภายใต้กระบวนการศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารหลักฐานและพยานบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ และพัฒนาโครงสร้างการปกครองตามระบบราชการ เช่น การแจ้งจัดตั้งหมู่บ้านเพื่อให้มีผู้แทนของชุมชนในการติดต่อประสานกับหน่วยงานราชการและองค์กรภายนอก ตลอดจนได้รับการสรรงบประมาณ และการดูแล พัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ให้มีความมั่นคง

           - ระยะกลาง การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและปรัชญาของความเป็นชาติพันธุ์ที่ยึดโยงและผูกพันอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติและการบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ

           - ระยะยาว การพัฒนาพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เพื่อฟื้นฟูและปกป้อง คุ้มครองวิถีวัฒนธรรมชาวเลผ่านกระบวนการจัดทำข้อมูลชุมชนชาติพันธุ์ ตลอดจนสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดและออกแบบแผนบริหารจัดการพื้นที่ทั้งในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาคุณภาพชีวิตบนฐานเศรษฐกิจวัฒนธรรม

           3. การเร่งรัดแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยและพื้นที่จิตวิญญาณของชาวเล ดังปรากฏกรณีความขัดแย้งในที่อยู่อาศัยและพื้นที่สาธารณะชาวเลเกาะหลีเป๊ะ, กรณีการปกป้องหาดไม้ขาวของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวจังหวัดภูเก็ตโดยการศึกษา สำรวจ จัดทำข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน วิถีชีวิตวัฒนธรรม ขอบเขตการใช้พื้นที่ครอบคลุมพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินทางทะเลและบนบก พื้นที่จิตวิญญาณ พื้นที่อนุรักษ์ที่แสดงให้เห็นการใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ร่วมกันระหว่างชุมชนชาติพันธุ์ชาวเลกับหน่วยงานรัฐ โดยการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ต้องดำเนินการภายใต้แนวคิดและวิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยา เพื่อให้ได้ข้อมูลมายืนยันตัวตนและสิทธิดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ขณะเดียวกันในพื้นที่ที่มีความทับซ้อนของการอ้างสิทธิครอบครองจากเอกชนให้มีมาตราการเกี่ยวกับการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ ด้วยการยืนยันด้วยเอกสารหลักฐานและพยานบุคคล เช่น การใช้เอกสารที่ราชการออกให้ การอ่านภาพถ่ายทางอากาศ เป็นต้น เหล่านี้เป็นกลไกที่รัฐกำหนดให้มี ซึ่งสามารถนำใช้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัยและพื้นที่จิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลได้

           อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 104/2565 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะหรี่ยง ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล โดยยึดกรอบแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี 2มิถุนายน 2553 ในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน รวมถึงการมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 339/2565 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ซึ่งแสดงให้เห็นการเอาจริงเอาจังต่อการแก้ไขปัญหา ทั้งในลักษณะของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดและการศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูลทั้งด้านประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะให้สามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืน

           4. การแก้ไขปัญหาไร้รัฐ ไร้สัญชาติกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล โดยเฉพาะชาวเลมอแกนที่ยังมีประชากรบางส่วนประสบปัญหาไร้รัฐ ไร้สัญชาตินั้น ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับความสนใจและมีความพยายามในการจัดการปัญหามาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่หลังเหตุการณ์สึนามิเป็นต้นมา หากแต่ในหลายกรณีมักติดปัญหาการไม่สามารถอ้างหรือระบุพื้นที่กำเนิดดั้งเดิมของตน ตลอดจนความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประเทศไทยได้ ทำให้ไม่สามารถพิสูจน์การมีสิทธิในสัญชาติไทยได้ ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอจากนักวิชาการ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยที่นำเสนอให้เห็นว่า ชาวเลมอแกนแม้วิถีชีวิตดั้งเดิมจะมีการเคลื่อนย้าย อยู่อาศัยไม่เป็นหลักแหล่ง แต่ในเส้นทางการเดินทางเคลื่อนย้ายนั้นล้วนมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการเคลื่อนย้ายที่ชัดเจน เช่น การหนีโรคระบาด การหลบพายุ มรสุมในท้องทะเล ทำให้เข้าถึงแหล่งทรัพยากรที่หลากหลายทั้งแนวปะการัง ป่าชายเลน โขดหินต่าง ๆ เกิดเป็นการสั่งสมความรู้ ภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ดังนั้นการเคลื่อนย้ายของชาวเลจึงมีการยึดลักษณะภูมิประเทศสำคัญเป็นที่หมาย เช่น การจดจำเกาะในท้องทะเลหรือที่เรียก “เกาะแม่” ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความผูกพัน มีการใช้ชื่อเรียกตามภูมินามต่าง ๆ เพื่อง่ายในการจดจำ เช่น ชาวเลมอแกนจะจดจำเกาะสุรินทร์เป็นจุดเกาะเกี่ยวในท้องทะเล เพื่อให้การดำรงชีวิตในท้องทะเลมีที่หมายเป็นจุดเกาะเกี่ยวสำหรับหลบภัยและตั้งถิ่นฐาน ดังนั้นชาวเลจึงไม่ได้มีวิถีเร่ร่อนไร้จุดหมาย หากแต่มีจุดเกาะเกี่ยวที่สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการพิสูจน์สัญชาติตามกระบวนการทางกฎหมายได้ ถือเป็นประเด็นสำคัญต่อการศึกษาและนำข้อมูลมาใช้ประกอบกระบวนการพิสูจน์สัญชาติต่อไป


1  เอกสารงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล 10 ปี มติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลสู่กฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 18-19 มกราคม 2563 ณ หน้าราดราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต

2  ที่มา: โครงการนำร่องอันดามัน. (2552). แผนที่แสดงการกระจายตัวของชุมชนชาวเล 2552. สืบค้นจาก http://www.andaman.cusri.chula.ac.th/culture/การกระจายตัวของชุมชนชา/

3  ที่มา: The Active. (2566). ความขัดแย้งเกาะหลีเป๊ะปะทุ เอกชนสร้างรั้วปิดถนนทางลงหาดและประตูเข้า-ออก รร. สืบค้นจาก https://theactive.net/news/politics-20230217-2/

4  ที่มา: อภิศักดิ์ ทัศนี. (2566). ประเพณีนอนหาดชาวเล : ความเชื่อ ชายหาด เเละทางเเพร่ง. สืบค้นจาก https://beachforlife.org/2023/06/30/ประเพณีนอนหาดชาวเล-/

5  ฉบับที่ 1 ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล

ฉบับที่ 2 ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย

ฉบับที่ 3 ร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. … เสนอโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 4 ร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. ... เสนอโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม (P-Move)

ฉบับที่ 5 ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … เสนอโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


เรียบเรียงโดย
เจษฎา เนตะวงศ์
นักบริหารเครือข่ายและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ มติคณะรัฐมนตรี 2553 ชาวเล นโยบายรัฐ การเปลี่ยนแปลง เจษฎา เนตะวงศ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share