“ไทภู” อัตลักษณ์ของชาวบ้านเซินเหนือสู่การเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 572

“ไทภู” อัตลักษณ์ของชาวบ้านเซินเหนือสู่การเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ท่องเที่ยววิถีใหม่ภายใต้วิถีเก่า
 

           บ้านเซินเหนือ ตำบลโนนคอม อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กในพื้นที่อาศัยราว 1,600ไร่ มีจำนวนประชากรราว 115 ครัวเรือน พื้นที่หมู่บ้านส่วนใหญ่ติดกับลำน้ำเซิน หรือลำน้ำเชิญ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำชี จึงเหมาะแก่การเลือกเป็นที่ลงหลักปักฐานของผู้คนจากหลวงพระบางที่โยกย้ายเข้ามาในพื้นที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2380 ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านเซินเหนือในปัจจุบัน

           ผู้คนชาวบ้านเซิน ผู้เรียกขานตนเองว่า “ไทภู” ที่มีสำนึกทางชาติพันธุ์ร่วมกันนั้นครอบคลุมกว้างขวางกว่าพื้นที่ทางกายภาพที่มีการแบ่งโดยมุมมองการบริหารราชการของหน่วยงานภาครัฐ ประโยคที่น่าสนใจจากการได้พูดคุยกับชาวบ้าน “บ้านอยู่ขอนแก่น นาอยู่ชัยภูมิ” เป็นการบอกเล่าเรื่องราวให้คนนอกพื้นที่อย่างผู้เขียนได้รับทราบว่า ชาวบ้านเซินมีปฏิสัมพันธ์กับทั้งบ้านเซินเหนือ เซินใต้ และบ้านโนนคอมที่อยู่ในพื้นที่อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น และอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่บ้านนาอ้อม ตำบลคอนสาร อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ฟังดูแล้วเหมือนห่างไกลกันเพราะอยู่คนละจังหวัด แต่ในความเป็นจริงแล้วห่างไกลเพียงแค่ลำน้ำเซินขวางกั้นอยู่ เมื่อมีสะพานบุญผลาสองพื้นที่จึงใกล้ชิดราวกับเป็นผืนดินเดียวกัน ดั่งบุญผลาในภาษาอีสานที่หมายถึงความเป็นมงคลที่ทำให้สองสิ่งได้พบเจอกัน ผนวกอัตลักษณ์ความเป็นไทภูร่วมกันก้าวข้ามเส้นเขตการปกครองแบบรัฐสมัยใหม่


ผ้าฝ้ายทอมือ อัตลักษณ์ไทภู (ผาม่าน)

           ผ้าฝ้ายทอมือของชาวบ้านเซินถือเป็นการต่อรองทางวัฒนธรรมที่เห็นได้จากการเมืองในเชิงอัตลักษณ์ที่พยายามสร้าง เพื่อการตอบสนองการท่องเที่ยวสมัยใหม่ เนื่องจากขอนแก่นขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองผ้าไหม การทอผ้าไหมจึงเป็นสิ่งที่โดดเด่นที่ทางหน่วยงานราชการพยายามจะเชิดชู จนนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดคือ “งานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาด จังหวัดขอนแก่น” เมื่อผ้าไหมถูกจัดให้อยู่ในที่ทางที่โดดเด่น กลับกลายเป็นว่าผ้าจากวัสดุอื่นๆ จึงต้องมีความพยายามจะนำเสนอตัวเองในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการทอผ้าฝ้ายของชาวไทยภูบ้านเซินเหนือ

           อัตลักษณ์ใหม่ “ไทภู” ของชาวบ้านเซินเหนืออำเภอภูผาม่าน ถูกประกอบสร้างและเรียกขานกันมาพร้อมกับมีการยกระดับกิ่งอำเภอภูผาม่านขึ้นมาเป็นอำเภอภูผาม่านใน พ.ศ. 2537 พร้อมกับการยึดถือเอาแรม 15 ค่ำ เดือน 4เป็น “เทศกาลตรุษไทภูผาม่าน” ถือเป็นการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ตามแบบโบราณ มีการสวดอาฎานาฏิยสูตรเพื่อป้องกันภัยร้ายไม่ให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สร้างอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และภาพจำของคนไทภูผาม่านในมิติใหม่คือการรื้อฟื้นและยกระดับผ้าทอให้เป็นที่รู้จักและเป็นสินค้าชุมชนในเวลาต่อมา

ผ้าฝ้ายทอมือแบบไทภู (ผาม่าน)


           นอกจากสำเนียงภาษาแล้ววัฒนธรรมหนึ่งที่โดดเด่นและมีการสืบทอดเรื่อยมาคือการแต่งกาย ความโดดเด่นหนึ่งที่ชาวบ้านเซินเห็นร่วมกันคือการนำฝ้ายทอมือที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนมาเป็นจุดขายเพื่อสร้างให้เป็นสินค้าชุมชนสมัยใหม่ ตอบรับโจทย์การท่องเที่ยวชุมชนที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในชุมชน

           ผ้าเป็นหัตถกรรมที่ถักทอเรื่องราวของชาวไทภูผาม่านในมิติการสืบทอดความรู้จากบรรพบุรุษเข้าหากิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนสมัยใหม่ ชาวบ้านเซินเหนือมีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตในแบบของตนเองผ่านวัฒนธรรมการทอผ้าฝ้ายมาตั้งแต่บรรพบุรุษ “สมัยก่อนผู้หญิงต้องทอผ้าได้ทุกคน ตอนเย็นก็จะมีการลงข่วง ก่อไฟเข็นฝ้ายเพื่อให้หนุ่มสาวมีเวลาพูดคุยกัน” คำบอกเล่าจากแม่สายตรี จอดพรม ที่ถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตในอดีตของชาวบ้านเซินเหนือผ่านวัฒนธรรมการทอผ้า ซึ่งในอดีตเป็นกิจกรรมของผู้หญิงที่ต้องเรียนรู้ อย่างน้อยที่สุดคือสามารถทำเพื่อสวมใส่ในชีวิตประจำวัน และสามารถทำเครื่องสมมา หรือเครื่องประกอบพิธีกรรมขอขมาแขกผู้ใหญ่ของฝ่ายชายในพิธีกรรมแต่งงานของตนเองได้

           ในช่วงเวลากลางคืนจะมีหนุ่มบ้านใกล้เรือนเคียงมาคอยเฝ้ามอง และรอเวลาที่จะพูดคุยกับหญิงสาวที่หมายปองที่บริเวณข่วง หรือลานกิจกรรม ในกรณีนี้คือข่วงเข็นฝ้าย ที่หญิงสาวบ้านใกล้กันจะรวมกลุ่มกันที่บ้านใดบ้านหนึ่ง เป็นกิจกรรมการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวในอดีต

           จะเห็นได้ว่าการทอผ้าฝ้ายอยู่ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้านเซินเหนือมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยเฉพาะวัฒนธรรมการแต่งงาน ที่การทอผ้าเป็นกิจกรรมทางสังคมที่ผูกติดอยู่กับหญิงสาว เป็นพื้นที่ให้มีการพบปะสังสรรค์ระหว่างหนุ่มสาวจนได้แต่งงานและสามารถทำเครื่องสมมาเองได้ แต่ในปัจจุบันวัฒนธรรมการทอผ้ามีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และถูกทำให้เป็นสินค้าและสร้างอัตลักษณ์ในชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว


ผ้าควบหางกระรอก อัตลักษณ์ผ้าทอไทภูบ้านเซินเหนือ

มะเกลือ คุณค่าวิถีเก่าบนลายผ้าแบบใหม่


           “เอกลักษณ์ ของภูผาม่านคือผ้าควบ ฝ้ายสองเส้นเข็นใส่กันเป็นหางกระรอก”

           คำบอกเล่าของปราณี เดชบำรุง ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านเซินเหนือ สะท้อนถึงความสำคัญของผ้าควบหางกระรอก ซึ่งเป็นผ้าที่ทอจากเส้นฝ้าย หรือไหมสองเส้นต่างสีกัน ควบเป็นเส้นเดียว ถือเป็นการสร้างสรรค์ผ้าของกลุ่มแม่บ้านทอผ้าบ้านเซินเหนือ ผ้าควบคือการนำเส้นด้ายสองเส้นเข็นประสานเข้าหากัน เป็นเทคนิคการเล่นลวดลาย สีสันของผ้าพื้นบ้านให้ดูมีมิติและน่าสนใจ

           แม่ปราณี เดชบำรุงเล่าว่า “สมัยก่อนผ้าฝ้ายไม่มีลาย แต่ยุคใหม่มาดัดแปลงใส่เสื้อ จึงเริ่มเกิดลายต่างๆ มากขึ้น” เดิมในอดีตการทอผ้าฝ้ายของชาวบ้านเซินเหนือไม่ได้ลงสีที่ผ้าเลย คือมีสีขาวที่ได้จากฝ้ายเป็นส่วนใหญ่ และผ้าฝ้ายเป็นที่นิยมใช้แค่ในครัวเรือนแต่พอมามีกลุ่มทอผ้าเริ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการค้าและการออกร้านมากยิ่งขึ้น กลายเป็นการสร้างอัตลักษณ์ใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและกลุ่มผู้สนใจงานด้านหัตถกรรมของพื้นบ้าน ทั้งกลุ่มจึงพยายามสรรหาอัตลักษณ์ของความเป็นชาวไทภูผาม่าน ที่เน้นเฉพาะผ้าฝ้ายเท่านั้น

           ผ้าทอไทภู ไม่ได้มีเพียงผ้าควบหางกระรอกเท่านั้น แต่ยังมีลายดอกแก้ว ลายกระทงไทภู หรือ ลายบายศรีเล็ก ซึ่งถือเป็นลายดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งบายศรีถือเป็นลายมงคลที่ชาวบ้านยึดถือกันมา นอกจากนี้การทำเทคนิคการทอที่เรียกว่า “ไหลมะเกลือ” คือการทอผ้าแบบควบสองเส้นจากสีที่ย้อมโดยมะเกลือ จะได้สีเทาๆ ดำๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของสีมะเกลือ

           การหมักสีโดยมะเกลือเป็นการอนุรักษ์การย้อมสีผ้าฝ้ายแบบโบราณ คือไม่ใช้สารเคมี แต่กรรมวิธีเปลี่ยนแปลงไปจากของดั้งเดิมเล็กน้อย กล่าวคือ เดิมทีในอดีตมีการย้อมมะเกลือโดยการหมักจากโคลน แต่ในปัจจุบันนำมาตำแล้วหมักใส่ไห ซึ่งหนึ่งปีจะสามารถทำได้เพียงหนึ่งครั้งตามลูกมะเกลือที่หาได้ตามโคก (พื้นที่เนิน หรือที่สูง) หรือตามท้องนาหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งอดีตการทอผ้านั้นจะนำมาทำเป็นหมอนและเครื่องสมมา แต่ปัจจุบันนี้เอามาดัดแปลงเป็นเสื้อผ้า และในเวลาต่อมาได้มีการผลักดันให้เป็นสินค้าชุมชน โดยมีการทำงานร่วมกับกลุ่มนักวิชาการ เช่น ทีมงานมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เข้ามาร่วมออกแบบเสื้อผ้าให้

           นอกจากนี้กลุ่มทอผ้าบ้านเซินยังมีการนำวัสดุจากธรรมชาติอื่นๆ มาสร้างสรรค์สีที่แตกต่าง เช่น สีชมพูได้จากยูคา สีม่วงอ่อนได้จากดอกอัญชัน สีแดงได้จากต้นสัก ถือเป็นความรู้จากการเข้าใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เป็นประโยชน์ ซึ่งความรู้นี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นและมีการรับรู้ได้ทั่วไป

           “เราทำไร่ข้าวโพดแล้วปลูกฝ้ายไปด้วย แต่ฝ้ายตามภูเขาจะดอกสวยบานสะพรั่งสีขาว มีเยอะกว่าในหมู่บ้าน”

           กลุ่มแม่บ้านทอผ้าฝ้ายต่างเล่าเป็นเสียงเดียวกันถึงการเก็บหาวัตถุดิบในการผลิตงานผ้าที่สร้างชื่อเสียงให้กับคนในหมู่บ้าน โดยมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่นไร่ข้าวโพด และภูเขาหินปูนที่อยู่เบื้องหลังหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอภูผาม่าน

           ภูผาม่าน สวยงามเมื่อแสงเย็นตกกระทบให้เหล่าค้างคาวบินว่อนอวดขบวนจนนักท่องเที่ยวต่างถิ่นเสาะแสวงหา จนทำให้ภูผาม่านกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งใหม่ในอีสานในช่วงทศวรรษ 2560 การเติบโตของสินค้าและบริการต่างๆ จึงปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็วในชุมชนบ้านเซินเหนือ และพื้นที่จุดขายแห่งใหม่ก็ถูกโปรโมตผ่านสื่อดิจิทัลสมัยใหม่ ที่ใครมาภูผาม่านต้องมาเช็กอิน ณ หนองสมอ


“ควายทาม” จากแหล่งอาหารสู่ความพยายามสร้างแหล่งท่องเที่ยวชุมชนหนองสมอ

“ที่นี่คือแหล่งอาหารที่เราทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ช่วงนี้ทำนา ถ้าไม่ได้ทำนาก็ลงมาทุกวัน”

ผู้นำพาไปพบต้นและตอสมอในบุ่งทาม
 

           ทองดี คล่องชอบ อายุ 67 ปี เกษตรกรผู้ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนบ้านเซิน พายเรือพาผู้เขียนสำรวจหนองสมอ พร้อมกับเล่าเรื่องราวของพื้นที่แห่งนี้ ที่เป็นดั่งชีวิตและจิตวิญญาณของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอภูผาม่าน และบริเวณรอบๆ “ในน้ำมีปลา เมื่อมีปลาก็มีชีวิต” สิ่งนี้คือชีวิตและจิตวิญญาณของชาวบ้านเซินที่ได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีในท้องถิ่นอย่างเข้าอกเข้าใจ

           ในอดีตสำหรับชาวบ้านพื้นที่หนองน้ำขนาดใหญ่กว่า 400 ไร่นี้เรียกกันติดปากว่า “ควายทาม” มีการทำเกษตร ประมง และเลี้ยงควายของชาวบ้าน ชื่อ “ควายทาม” ตามที่เรียกขานในหมู่ชาวบ้านจำต้องปรับมาเรียกว่า “หนองสมอ” กันให้ชินปากเพราะเห็นร่วมกันว่าชื่อเดิมนั้นไม่สามารถสร้างชื่อเสียงในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้

           ในมิติของความเชื่อ ชาวบ้านเชื่อว่าพื้นที่บริเวณนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาผู้คนและสถานที่อยู่คือ “ปู่ดำ” และบริเวณเหนือหนองขึ้นไปคือบริเวณหนองบัวมี “ปู่บัว” ผู้เขียนได้มีข้อคำถามที่สงสัยว่า “ปู่ดำ” ผู้นี้ท่านคือใคร คำตอบของคุณอทิพย์มณีญา แหล้ภูเขียว ผู้อยู่อาศัยและทำมาหากินในบริเวณนี้เล่าว่าน่าจะมาจากชื่อคนซึ่งเคยอยู่อาศัยในบริเวณนี้มาก่อน มีการไหว้บวงสรวงขอพรตามความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ไม่ได้มีงานพิธียิ่งใหญ่

           พ่อทองดี เล่าถึงที่มาของ “ควายทาม” ว่าในอดีตมีการเลี้ยงควายของชาวบ้านจำนวนมาก หลายหมู่บ้านในอำเภอภูผาม่าน ซึ่งช่วงเวลาตีสี่ ตีห้าเป็นช่วงที่ชาวบ้านจูงควายออกจากบ้านมาหากินในบริเวณนี้ ควายทามดังกล่าวมาจากลักษณะของพื้นที่ที่เป็นป่าบุ่งทาม ซึ่ง “บุ่งทาม” เป็นลักษณะพื้นที่ทางกายภาพที่พบทั่วไปในอีสาน คือเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมถึง มีระยะเวลาการกักขังของน้ำยาวนาน โดยเฉพาะในช่วงฤดูที่น้ำหลาก ทามจะมีการสะสมซากพืช ซากสัตว์ที่ตกตะกอนทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวอุดมสมบูรณ์

           พื้นที่หนองสมอ หรือ ควายทามแห่งนี้มีสองหนองหลักๆ คือหนองสมอใหญ่และหนองสมอเล็ก มีการแบ่งตามขนาดของหนองง่ายๆ แบบที่ชาวบ้านสามารถประเมินได้ด้วยสายตา น้ำที่หลั่งไหลเข้ามาสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับชาวบ้านในแหล่งนี้มาจากหลายทิศทางด้วยกัน ทั้งจากห้วยทราย จากภูเขาที่ทอดยาวจากการมองด้วยสายตาคือทางภูกระดึง อีกทางคือจากเขื่อนจุฬาภรณ์ และทางห้วยแก้ว ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นทางน้ำที่ได้มีการไหลมาบรรจบรวมตัวกัน ณ ที่แห่งนี้

           ไม่เพียงแค่น้ำที่ไหลผ่านเชื่อมโยงกัน ความสัมพันธ์ของผู้คนก็เชื่อมร้อย ติดต่อสื่อสารด้วยเช่นกัน จากคำบอกเล่าของคุณอทิพย์มณีญา แหล้ภูเขียว เกษตรกรที่อาศัยในบริเวณหนองสมอ หรือ ควายทามนี้ เล่าว่าในช่วงฤดูร้อนผู้คนทางเหนือจะมีการติดต่อโทรมาแจ้งเตือนภัยน้ำท่วม

           “เวลาหน้าน้ำเขาจะโทรมาบอกให้ระวังน้ำหลาก ให้เราเตรียมตัว”

           จากคำสัมภาษณ์ทำให้เห็นได้ว่า ชาวบ้านเซินเหนือ และผู้คนในบริเวณลำน้ำเซินนี้ได้มีการอยู่อาศัยร่วมกับน้ำมาโดยตลอด เมื่อเวลาน้ำท่วมก็จะท่วมเข้าหมู่บ้าน ก่อนจะลงมาถึงหนองสมอแห่งนี้ และพื้นที่ที่น้ำเข้าถึงก่อนคือบริเวณสามแยกวัดเฉลียงทอง หากมองด้วยสายตาคนที่ไม่เข้าใจวิถีชีวิตที่ต้องอยู่ร่วมกับน้ำหลากอย่างผู้เขียนเองคงมองเห็นแต่เพียงข้อเสียที่พบอยู่เบื้องหน้า แต่คนที่เข้าใจกับการใช้ชีวิตแบบนี้อย่างเช่นคนหาปลาก็มีวิธีคิดที่ต่างออกไป

           “ชอบน้ำลึกเพราะน้ำเยอะปลาก็ได้เยอะ น้ำลึก จะมีปลาใหญ่ มีปลาค้าว ปลานิล ปลานวลจันทร์”

           คำบอกกล่าวเล่าเรื่องของพ่อทองดี ยืนยันอีกหนึ่งเสียงในฐานะพรานปลาที่หาอยู่หากินกับน้ำก็จะชื่นชอบที่มีน้ำมาก เพราะการมีน้ำทำให้มีความหลากหลายของชนิดปลาในป่าบุ่งทามแห่งนี้ด้วย การที่มีปลาหลากหลายชนิด อุปกรณ์การหาปลาก็มีหลากหลายเช่นเดียวกัน อย่างพ่อทองดีก็มีการทำยอไว้บริเวณกลางหนองน้ำ และใช้เรือในการคมนาคมเป็นหลัก พร้อมกล่าวถึงการทำยอว่ามีมานานแล้ว เกิดจากการที่คนในชุมชนเห็นตัวอย่างการทำยอจากที่อื่น จึงได้มีการลองทำกันขึ้นมาเอง โดยที่ปู่ทองดีก็เป็นหนึ่งในคนที่รับจ้างประกอบยอให้ชาวบ้านด้วย โดยมีต้นทุนราวๆ 3,000 บาท สำหรับค่าตาข่าย ค่าไม้ อุปกรณ์อื่นๆ รวมถึงค่าแรงด้วย

           “เมื่อก่อนนี้รับผักมาขาย พักหลังเลยเปลี่ยนมายกยอ”

ยอหาปลา คนหากิน
 

หิวเมื่อไหร่ก็ยกเอง
 

           ในมุมของคุณอทิพย์มณีญาที่เพิ่งมาจับงานด้านการประมงไม่นานนัก กล่าวคือสามปีให้หลังมานี้เริ่มมีการใช้ยอในการดักจับปลา โดยเริ่มจากการเป็นยอขนาดเล็กก่อน แล้วจึงค่อยๆ ขยับมาเป็นยอขนาดที่ใหญ่ขึ้น การยกยอหากมีการติดตั้งให้เสร็จสมบูรณ์แล้ว แรงงานที่เป็นผู้ใหญ่สามารถทำเองได้ง่ายๆ โดยการกระดกตาข่ายให้พ้นผืนน้ำ จากนั้นใช้อุปกรณ์เพื่อช้อนปลาขึ้นมาจากยออีกที ปลาโดยมากที่ได้ลองจับร่วมกับชาวบ้าน เป็นปลาขนาดเล็กเพราะมีโอกาสไปสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมตามตำรามานุษยวิทยาที่ได้ร่ำเรียนมาในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งไม่ได้เป็นฤดูกาลที่น้ำหลาก แต่จากการพูดคุยได้ความว่า ปลาที่นี่มีความหลากหลายมากในฤดูน้ำหลาก อาทิ ปลาช่อน ปลาดุก ปลานวลจันทร์ ปลาสูด ปลาหลด

           “โลละสองร้อยเลยนะ ฤดูหาปลาช่วงหน้าฝน ปลาช่อนจับง่ายเวลาน้ำมาใหม่ๆ มันจะนอนนิ่งให้จับเลย”

           คำบอกเล่าถึงความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้านเซินเหนือที่หาได้จากแหล่งน้ำในชุมชน นอกจากจะอิ่มท้องเพียงพอสำหรับยังชีพแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ครัวเรือนอีกด้วย กล่าวกันว่าช่วงฤดูหาปลามีการชั่งปลาขายเป็นกิโลกรัม โดยจะมีการแยกชนิดของปลา ซึ่งโดยมากชาวบ้านทางภูผาม่านจะนำปลาที่จับได้ไปขายที่ตลาดคอนสาร ฝั่งจังหวัดชัยภูมิ เพราะเป็นหมู่บ้านใหญ่และไม่มีแหล่งหาปลา จึงทำให้ขายดี

           แต่อย่างไรก็ดีการใช้ยอในการดักจับปลาที่หนองสมอ หรือ ควายทามไม่สามารถทำได้ตลอดทั้งปี กล่าวคือสามารถทำได้เฉพาะในช่วงที่น้ำมาก เพราะถ้าน้ำแห้งไม่สามารถหาปลาด้วยยอได้ อีกปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่ชาวบ้านเผชิญคือการมีบุคคลที่ไม่เคารพในกติกาส่วนรวม คือการหาปลาด้วยวิธีทางลัด โดยการใช้อุปกรณ์สมัยใหม่คือการน็อคปลา เป็นวิธีที่ง่าย ผลกระทบคือมันได้ทำลายสภาพแวดล้อม ทำให้ปลาเน่าตายเป็นจำนวนมาก คือน็อคปลาด้วยการใช้ไฟฟ้าช็อตจากนั้นก็เก็บปลาลอยอยู่ผิวน้ำไปรับประทาน

           “ถ้าตรงไหนมีการช็อตปลา ปลาจะไม่อยู่ใกล้ เราก็พลอยจะไม่ได้ปลาไปด้วย” พ่อทองดีกล่าว

           หนองสมอ หรือ ควายทามจากเดิมเคยเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้านในพื้นที่ ภายหลังได้มีชื่อเสียงในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ โดยเฉพาะความมั่งคั่งของเหล่าปลานานาชนิด ทำให้เป็นที่รู้จักจนเซียนหาปลาจากต่างถิ่นได้ใช้วิธีการใหม่ๆ มาใช้ประโยชน์ร่วมกับชาวบ้าน จนมาในระยะหลังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกพัฒนาโดยหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น ทำให้เกิดการจัดการพื้นที่อย่างต่อเนื่อง


หนองสมอสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีใหม่ของภูผาม่าน

มุมนิยม


           “เดี๋ยวนี้เขาไม่เรียกควายทามกันแล้ว ให้เรียกหนองสมอจะได้เพราะๆ”

           คำบอกเล่าของกลุ่มชาวบ้านที่ตั้งซุ้มค้าขายบริเวณริมหนองสมอ หรือ ควายทาม (ที่เรียกกันในอดีต) ส่วนชื่อ “หนองสมอ” นั้นไม่ใช่สิ่งใหม่ที่มาพร้อมกับการท่องเที่ยวแบบราชการเสียทีเดียว

           “เมื่อก่อนมีต้นสมอใหญ่ ใหญ่กว่าเรือนี้อีก อยู่ตรงกลางหนอง ผมนี่ทันได้เห็น ไม่ใช่แค่ต้นสมอนะ

           เมื่อก่อนสภาพแถวนี้มีต้นไม้เยอะ ต้นถมนาที่มีลำต้นใหญ่เท่าลำเรือเลย”

           พ่อทองดี เล่าให้ฟังถึงที่มาของหนองสมอ พร้อมกับพายเรือพาผู้เขียนไปกลางหนองน้ำ เพื่อจะชี้จุดให้เห็นว่าบริเวณดังกล่าวนี้คือที่ๆ เคยมีต้นสมออยู่ เมื่อยามฤดูแล้งยังสามารถเห็นตอโผล่ขึ้นมาได้ แต่ในระยะหลังการขุดลอกหนองสมอทำให้หนองสมอมีความลึกมากยิ่งขึ้น ตอของต้นสมอจึงไม่โผล่ขึ้นมาให้ผู้คนได้พบเห็นอีก รวมถึงการจัดการพื้นที่โดยมีการนำพืชต่างๆ ที่ลอยอยู่เหนือน้ำออกไป เช่น ไมยราพ เพื่อให้เห็นเงาสะท้อนของภูผาม่าน ที่จะสามารถสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวได้เห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงาน นั่นภาพสะท้อนของภูเขาที่ตกกระทบเหนือน้ำ ถือเป็นกระแสการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่หน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่นพยายามจะสร้างภาพจำและอัตลักษณ์ใหม่ให้กับหนองสมอแห่งนี้ มากกว่าการเป็นแหล่งทำกินอย่างเดียวที่ชาวบ้านเคยได้ใช้ในอดีต

           ช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือวันเสาร์อาทิตย์จึงได้เห็นบรรยากาศของผู้คนต่างถิ่นที่แต่งตัวสวยๆ ตื่นเช้ามานั่งชงกาแฟริมหนองสมอ และภาพต่างๆ นี้ถูกนำเสนอแพร่หลายในสื่อออนไลน์ จึงทำให้คนนอกมีภาพจำถึงภูผาม่านกับหนองสมอในมิติของการท่องเที่ยวมากกว่าการทำการเกษตรของชาวบ้าน

           การขุดลอกหนองสมอครั้งใหญ่โดยเทศบาลยังสร้างภูมิทัศน์ใหม่ให้กับหนองสมอ นั่นคือความอุดมสมบูรณ์ที่เคยอยู่ใต้ดินทามกลับกลายมาเป็นความอุดมสมบูรณ์ใหม่ริมตลิ่ง ที่ชาวบ้านสามารถปลูกพืชผักสวนครัวโดยเฉพาะในหมู่กลุ่มคนที่ค้าขายบริเวณริมหนองสมอ และผู้ที่ประกอบอาชีพประมงยกยอ

           การมีพืชสีเขียวขจีบริเวณตลิ่งริมน้ำทำให้เกิดความสวยงามอีกแบบ คนในท้องถิ่นได้มีที่ทำกินเพิ่ม ส่วนทางหน่วยงานเทศบาลเห็นว่าทำให้พื้นที่มีความสวยงามมีชีวิตชีวา และนักท่องเที่ยวเองก็ชื่นชอบ เห็นว่าเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน แต่แท้ที่จริงแล้วกิจกรรมดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นมาภายหลังการตั้งใจที่จะทำให้หนองสมอเป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำภูผาม่านไม่กี่ปีมานี้

แผ้วถางที่ทางจากการขุดลอก


           สำหรับกรณีบ้านเซินเหนือ ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนไทภูที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นภายใต้การท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงวัฒนธรรมแบบใหม่ของอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ได้ทำให้เห็นว่าอัตลักษณ์ต่างๆ ที่ชาวบ้านและหน่วยงานราชการในท้องถิ่นพยายามสร้างขึ้น ถูกประกอบสร้างมาจากพื้นภูมิความเป็นชาติพันธุ์ชาวลาวหลวงพระบางที่อพยพมาอยู่ในพื้นที่ชายแดนระหว่างจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งกินอาณาบริเวณพื้นที่หลายหมู่บ้านในแถบใกล้เคียง ความเป็นวัฒนธรรมร่วมกันของผู้คนกลุ่มดังกล่าวข้ามเส้นพรมแดนการปกครองแบบรัฐราชการ จึงเห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน เครือญาติ ภาษา และวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน บ้านเซินเหนือจึงไม่ใช่กลุ่มคนที่อยู่โดดเดี่ยว และมีความเป็นหนึ่งเดียวทางวัฒนธรรมที่ไม่แปลกแยกไปจากผู้คนหมู่บ้านอื่นๆ มากนัก

           นอกจากนี้ยังเห็นได้ว่าอัตลักษณ์หนึ่งที่สำคัญคือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น ปรับเปลี่ยนพื้นที่ทางกายภาพ สร้างภาพจำแบบใหม่ อย่างกรณีหนองสมอ ที่ถูกฉายออกไปอย่างกว้างขวางในสื่อออนไลน์ จึงกลายเป็นภาพจำและภาพแทนของภูผาม่านในฐานะของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่นนี้


เรื่อง/ภาพ จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

สัมภาษณ์

ทองดี คล่องชอบ

ปราณี เดชบำรุง

อทิพย์มณีญา แหล้ภูเขียว


 

ป้ายกำกับ เซินเหนือ ขอนแก่น ไทภู ภูผาม่าน อัตลักษณ์ สารคดีชุมชน จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share