ความเป็นไทย/ความเป็นไท

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 3942

ความเป็นไทย/ความเป็นไท

 

ความเป็นไทย/ความเป็นไท

โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

วิภาวดี โก๊ะเค้า 

บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

หน้าปกหนังสือ ความเป็นไทย/ความเป็นไท โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

           

           หนังสือ “ความเป็นไทย/ความเป็นไท” เป็นหนังสือรวบรวมบทความจาก  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 2 เรื่อง ชาติและชาติพันธุ์: วิถีชีวิตและความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในโลกปัจจุบัน” ที่จัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 หนังสือเล่มนี้สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ประกอบด้วย 4 บทความ ได้แก่

           1. แปลงความทรงจำ “ไต” สร้างความเป็นไทย โดย นิติ ภวัครพันธุ์

           2. ตำนานและพิธีกรรมบูชาผีเมือง: การสร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์ของไทพวนและผู้ไทในประเทศไทย โดย ปฐม หงษ์สุวรรณ

           3. การแปลงผ่านอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม โดย     พิเชฐ สายพันธ์ และ

           4. การเมืองว่าด้วยเรื่องอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของไทยอาหม โดย ดำรงพล  อินทร์จันทร์

 

แปลงความทรงจำ “ไต” สร้างความเป็นไทย

           วัฒนธรรมไทยถูกสร้างขึ้นจากคนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชาติ ถูกเชื่อมโยงกันด้วย “ความทรงจำทางประวัติศาสตร์” ในบทความนี้ อาจารย์ นิติ ภวัครพันธุ์ ได้ศึกษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความทรงจำของกลุ่มชาติพันธุ์ไตในขุนยวม ที่กลายเป็นหัวเมืองการค้าสำคัญของเมืองแม่ฮ่องสอนในช่วงทศวรรษที่ 19

           ผู้เขียนกล่าวว่าคนไตในขุนยวม ถูกเรียกโดยคนอื่นว่า “ไทยใหญ่” เนื่องจากมีถิ่นฐานเดิมในรัฐฉาน ประเทศพม่า และการถูกเรียกว่า “เงี้ยว” จากคนในภาคเหนือของไทย ซึ่งมีความหมายในเชิงลบ1 แต่เดิมขุนยวมเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ แต่อยู่บนเส้นทางการค้าในภาคเหนือของไทย และรัฐฉานประเทศพม่า ขุนยวมจึงค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น โดยมีปัจจัยหลักจาก    “พ่อค้าวัว” เนื่องจากในช่วงนั้นมีการใช้วัวเพื่อการเดินทาง และบรรทุกสินค้า วัวจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่ำรวย การถือครองวัวมากยิ่งแสดงออกถึงฐานะทางสังคมว่าคนผู้นั้นมีความร่ำรวย จึงทำให้พื้นที่แห่งนี้มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมากกว่าพื้นที่อื่นๆ

           ในช่วงปี 2410 เกิดสงครามในเมืองแม่ฮ่องสอน ส่งผลให้เกิดการอพยพเคลื่อนย้ายเพื่อหนีภัยสงคราม ยกเว้นในเมืองขุนยวมเนื่องจากมีการแต่งตั้งเจ้าเมืองขึ้นมาปกครองทำให้มีกำลังทหารมากขึ้นเรื่อยๆ เหตุเพราะมีที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าที่เป็นศูนย์รวมของคนไตจากพม่าเป็นหลัก รัฐบาลสยามจึงเข้าแทรกแซงการบริหาร เป็นเหตุให้เกิดปมขัดแย้งขึ้นระหว่างขุนยวมและสยาม รัฐบาลส่วนกลางจึงใช้กฎหมายในการควบคุม เช่น การห้ามชายไตในขุนยวมไว้ผมยาว เนื่องจากการไว้ผมยาวเป็นสัญลักษณ์ของชายไตในรัฐฉาน การใช้เรื่องเล่าของ    “เจ้าราช” ที่ได้รับการแต่งตั้งให้มาดูแลขุนยวม ได้ล่วงเกินหญิงสาวจนทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงขึ้น โดยบิดาของหญิงสาวได้ฆ่าเจ้าราช นำมาสู่การพิจารณาบทลงโทษซึ่งมีความเชื่อมโยงถึงสถานะของเจ้านาย นอกจากนั้นกระบวนการสำคัญของ “นิทานพระอุปคุต” ยังถือการเชื่อมคนไตในภาคเหนือของประเทศไทย และคนไตรัฐฉาน จากประเทศพม่าเข้าไว้ด้วยกันช่วยลดทอนความแตกต่างของคนไตในขุนยวม เนื่องจากมีนิทานที่มีความคล้ายคลึงกัน

           ผู้เขียนให้ความเห็นว่าภายหลังจากสงครามสิ้นสุดลง รัฐบาลไทยให้ความสนใจชายแดนระหว่างภาคเหนือของไทยและพม่ามากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ และทำให้รัฐบาลไทยมีอำนาจเหนือการเมือง จากการใช้ความทรงจำร่วมกันเพื่อสื่อว่าคนไทยเป็นพี่น้องกัน2 มีต้นกำเนิดเดียวกัน จึงทำให้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเบาบางลง

 

ตำนานและพิธีกรรมบูชาผีเมือง: การสร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์ของไทพวนและผู้ไทในประเทศไทย

           เมื่อปัญหาความทุกข์ยากไม่มีทางออก การพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งที่เหนือธรรมชาติ จึงเป็นกุญแจนำมาสู่การบูชา “ผีผู้นำ ผีบรรพบุรุษ” ในบทความนี้ อาจารย์ปฐม หงส์สุวรรณ ศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ไทพวนบ้านหนองผือ อ.ท่าลี่ จ.เลย ที่มีถิ่นฐานอยู่แขวงเชียงขวาง ประเทศลาว และกลุ่มชาติพันธุ์ภูไทเรณูนครที่มีถิ่นฐานอยู่เดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม ทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์อพยพเข้ามาในประเทศไทย ทั้งจากภัยสงคราม ปัญหาทางการเมือง การถูกรุกรานจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น และโดยเฉพาะในช่วงรัตนโกสินทร์ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยและเวียงจันทร์ขึ้น เพื่อเป็นการลดทอนกำลังอำนาจของเวียงจันทร์ของ  เจ้าอนุวงศ์ ที่กล่าวได้ว่าเป็นช่วง “สงครามของพวกกบฏ”3 ไทยจึงออกนโยบายให้กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศลาวอพยพเข้ามายังประเทศไทย โดยส่วนใหญ่จะตั้งถิ่นฐานในดินแดนแถบอีสานของไทย ชาวไทพวนและผู้ไทยังคงมีสำนึกทางประวัติศาสตร์กับถิ่นฐานเดิมอย่างเข้มข้น โดยถือ  “พิธีกรรมการเซ่นผี” นั้นเพื่อให้มีชีวิตที่ปกติสุข ถือเป็นการต่อรองกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อลดทอนปัญหาความทุกข์ที่ได้รับ พิธีกรรมดังกล่าวยังเชื่อมโยงถึงการทำนายความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหาร การทำเกษตรกรรมในแต่ละปี โดยเป็นการเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชาวผู้ไทเรียกว่าพิธี “การเลี้ยงหลวง” ประกอบพิธีกรรมในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 และชาวไทพวนเรียกว่าพิธี “การเลี้ยงผีเจ้าบ้าน” จะประกอบพิธีกรรมในวันข้างขึ้นเดือน 6 และเดือน 8

           “การทรงเจ้า” ของชาวไทพวนและชาวผู้ไท ต้องได้รับคัดเลือกจากผี โดยจะมีผู้หญิงมาทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับสิ่งที่มองไม่เห็น “พึ่งพา” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้บันดาลผล ลดปัญหาความทุกข์ยากทั้งทางกายและจิตใจ

           จะเห็นได้ว่าทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์มีระบบความเชื่อเดียวกัน ตำนานและพิธีกรรมถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ผู้เขียนมองว่าความเป็นมาของบรรพบุรุษดั้งเดิม ช่วยให้มีความทรงจำร่วมกันกับในประเทศลาว หรือภาคอีสาน และการได้รับการบัลดาลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ต้องจัดพิธีกรรมบูชาผีเมืองในทุกๆ ปี4 หากไม่จัดพิธีบูชาผีจะนำมาซึ่งความทุกข์ยากแก่กลุ่มชาติพันธุ์ของตน

 

การแปลงผ่านอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม

           ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนาม ไม่สามารถแบ่งแยกกลุ่มชาติพันธุ์ได้เพียงการสังเกตุจากการแต่งกาย ภาษา หรือวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นเท่านั้น ในบทความนี้ อาจารย์พิเชฐ สายพันธ์ จึงมุ่งศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ไทในประเทศเวียดนาม ที่ชี้ให้เห็นการแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ การหยิบยืมอัตลักษณ์ และกระบวนการกลืนกลายที่ทำให้เกิดการลดอัตลักษณ์เดิมเพื่อสร้างอัตลักษณ์ใหม่ ให้มีความเป็น “ไทยเดียวกัน” โดยมีวัตถุประสงค์บางอย่างทั้งในทางตรงและทางอ้อม ดังจะเห็นได้จากการสวมซิ่นที่มีลวดลายแตกต่างกัน เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทแถงและไทเมืองในประเทศเวียดนาม ซึ่งสถานะทางสังคมของไทเมืองดีกว่าไทแถง ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไทแถงพยายามกลืนกลายตนเองผ่านการแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ และการที่ไทแถงสวมใส่ซิ่นที่มีลวดลายบ่งบอกถึงความเป็นไทเมืองเพื่อกลืนกลายตนเองเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทเมือง

           จากประเด็นดังกล่าวผู้เขียนเห็นว่า “กระบวนการของการเปลี่ยนผ่านอัตลักษณ์” จะต้องพิจารณาในระยะยาว โดยต้องพิจารณาจาก ความสัมพันธ์ทางการเมือง การสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน และพหุแห่งชาติพันธุ์นิยมเวียดนาม5 เนื่องจากกระบวนการแปลงผ่านอัตลักษณ์ยังคงดำเนินไปอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกขณะ ส่งผลให้ประวัติศาสตร์ทางสังคมของเวียดนามจึงไม่มีจุดสิ้นสุดเช่นกัน

 

การเมืองว่าด้วยเรื่องอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของไทยอาหม

           “การฟื้นฟูวัฒนธรรมของไทอาหมในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย” คือ กระบวนการนำเสนอความเป็นชาติพันธุ์ไทท่ามกลางวัฒนธรรมฮินดู อาจารย์ดำรงพล อินทร์จันทร์ ได้ไปศึกษาปรากฏการณ์ดังกล่าวโดยใช้วิธีการสังเกตและสัมภาษณ์ผู้นำองค์กร ทำให้เห็นถึงความสำเร็จของการสร้างสำนึกร่วมกันทางประวัติศาสตร์ของพี่น้องชาวไทอาหมและคนไทย ทำให้สามารถดึงอดีตและประวัติศาสตร์ของไทอาหมกลับมาได้อีกครั้ง จากการรื้อฟื้นภาษาพิธีกรรม และเอกสารโบราณของไทอาหมให้เผยแพร่ในสาธารณะ และให้เรื่อง “เจ้าหลวงเสือก่าฟ้า” ในฐานะนักปกครองที่บริหารบ้านเมืองแบบ “ร่วมแรงร่วมใจ” จัดวางอาหมให้มีความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ที่ช่วยลดทอนปัญหาความขัดแย้งระหว่างกันเอง

           พิพิธภัณฑ์ไทแห่งอัสสัมถือได้ว่าเป็นพื้นที่สร้างความทรงจำของชาวไทอาหมได้อย่างเข้มแข็ง ช่วยลดการสูญเสียอัตลักษณ์ดั้งเดิม รวมถึงการผลักดันให้พิธีกรรม “เมด้ำเมผี” โดยมีหมอซึ่งเป็นตัวแทนของชุมชนทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรม และจะถ่ายทอดวิชาความรู้ในการประกอบพิธีกรรมผ่านสายตระกูล และอีกหนึ่งกระบวนการสำคัญที่ทำให้ยังคงอัตลักษณ์ จากการฟื้นฟูภาษา วัฒนธรรมของชาวไทอาหมไว้ได้ คือการจัดงานประชุมประจำปีของสมาคม ออกพับลิกเมืองไท โดยมีผู้นำองค์กรทางภาษา และวรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เข้าร่วมด้วย

           จากทั้ง 4 บทความ จะสะท้อนให้เห็นว่าชาติและชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตและความหลากหลาย มีสิ่งที่ผูกโยงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ตำนาน ความเชื่อ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมคือ “กระบวนการสร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน” ที่ช่วยลดทอน “ความเป็นคนอื่น” โดยเชื่อมโยง “ความเป็นเรา” หรือความเป็นไทเข้าด้วยกัน หนังสือเล่มนี้จึงเป็นตัวแทนที่แสดงให้เห็นถึง “ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์”

 

หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยมานุษยวิทยาการเมือง มีพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-anthropology

 

วันและเวลาให้บริการ

ห้องสมุด ชั้น 7-8 วันจันทร์–ศุกร์ : 08.30–16.30 น. และวันเสาร์ : 09.00–16.00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ วันจันทร์–ศุกร์ : 08.00-18.00 น. และวันเสาร์ : 09.00–17.00 น.

 

 

ผู้เขียน

วิภาวดี โก๊ะเค้า

บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

 

1  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). "ความเป็นไทย/ความเป็นไท". กรุงเทพฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้งเฮ้าส์, 2547, หน้า 5-6.

2  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). "ความเป็นไทย/ความเป็นไท". กรุงเทพฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้งเฮ้าส์, 2547, หน้า 49.

3  ทำไมเจ้าอนุวงศ์ จึงต้องปราชัย* (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อ 21 Dec. 20, เข้าถึงผ่าน https://www.silpa-mag.com/history/article_10322.

4  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). "ความเป็นไทย/ความเป็นไท". กรุงเทพฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้งเฮ้าส์, 2547, หน้า 84.

5  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). "ความเป็นไทย/ความเป็นไท". กรุงเทพฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้งเฮ้าส์, 2547, หน้า 112.

ป้ายกำกับ ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share