“เจ้าวัด” ศรัทธาเหนือกาลเวลากับการสร้างและสั่งสมทุน ของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลือง

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 3682

“เจ้าวัด” ศรัทธาเหนือกาลเวลากับการสร้างและสั่งสมทุน ของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลือง

เรื่องเล่าจากสนาม...

“นานแล้วที่เราไม่มีเจ้าวัด ปีนี้ถึงเวลาที่เหมาะสม เราจึงช่วยกันสร้างศาลาเจ้าวัด และเจดีย์ เพื่อทำให้เห็นว่าหมู่บ้านเราจะมีเจ้าวัดแล้ว”

(ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก, 9 มกราคม 2566)

           เป็นคำบอกเล่าของชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เล่าให้ผู้เขียนฟังเมื่อครั้งเดินทางไปร่วมเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านห้วยหินดำ บ้านกล้วยและบ้านป่าผาก

           ในค่ำคืนนั้นผู้เขียนได้เดินทางไปยังพื้นที่ที่เรียกว่า ศาลาเจ้าวัด บ้านป่าผาก เป็นเรือนไม้ยกใต้ถุนสูง มีผู้คนหญิงชาย ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงผู้อาวุโสในชุมชนมาอยู่ร่วมกันบนศาลาและบริเวณโดยรอบ ทุกคนต่างแต่งกายด้วยชุดสีขาว แสดงให้เห็นอัตลักษณ์เฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เพื่อร่วมพิธีแต่งตั้งเจ้าวัด การแต่งตั้งเจ้าวัดในครั้งนี้เป็นผลมาจากหมู่บ้านป่าผาก อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ว่างเว้นจากการมีเจ้าวัดมานานหลายปี จนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ชายคนหนึ่งในสายตระกูลของเจ้าวัดคนก่อนได้เกิดอาการเจ็บป่วยที่หาสาเหตุไม่ได้ แม้จะพาไปรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันก็รักษาไม่หาย ผู้อาวุโสและชาวบ้านในชุมชนจึงทำพิธีบอกกล่าวขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ อาการเจ็บป่วยก็ได้หายไป ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวจึงทำให้มีความเชื่อร่วมกันว่าน่าจะเป็นสัญญาณของการจะต้องเป็นเจ้าวัดของชายคนนี้แล้ว


รูป 1 ศาลาเจ้าวัดบ้านป่าผาก

           หลังจากนั้นชายผู้นี้จึงได้เริ่มฝึกปฏิบัติตน ศึกษาเรียนรู้วิถีปฏิบัติของการเป็นเจ้าวัด จนมีความพร้อมและชาวบ้านต่างเห็นร่วมกันว่ามีความเหมาะสมเพียงพอแล้ว จึงทำพิธีแต่งตั้งเจ้าวัดขึ้น และได้ร่วมกันสร้างศาลาเจ้าวัด “ตะรุ๊” และเจดีย์ “กลุง”1 ตั้งอยู่ด้านข้างทางทิศตะวันออกของศาลา ใช้สำหรับประกอบพิธีสักการะบูชาตามความเชื่อและวิถีปฏิบัติของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลือง เช่น ในทุกวันพระทุกคนจะมารวมกันที่เจดีย์ เพื่อวางดอกไม้และจุดเทียนบูชาโดยมีเจ้าวัดเป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมดังกล่าว เป็นต้น


เจ้าวัดคือใคร?

           “เจ้าวัด” เป็นคำเรียกภาษาไทยที่คนนอกใช้เรียก แต่สำหรับชาวกะเหรี่ยงแล้วจะเรียกว่า “โบว่งคู้” หรือ “บ่งคู้” ถือเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดของชุมชน ทำหน้าที่ควบคุมกฎ กติกา ดำรงจารีตวิถีวัฒนธรรมและพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ โดยทั่วไปจะเป็นผู้ชาย นุ่งขาวห่มขาว มีการสืบทอดกันผ่านสายตระกูล วิถีปฏิบัติของเจ้าวัดจะถือศีล 5 อย่างเคร่งครัด และมีระเบียบแบบแผนการปฏิบัติตนที่แตกต่างจากคนทั่วไป อย่างไรก็ตามการที่จะบอกว่าใครจะเป็นเจ้าวัดนั้น มักจะเกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับความเจ็บป่วยหรือเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาหาสาเหตุได้อย่างแน่ชัด เช่น การเจ็บปวดภายในร่างกายที่ไม่รู้สาเหตุ อาจเป็นการที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือขยับร่างกายได้ จนบางครั้งคนรอบข้างอาจคิดว่าต้องเสียชีวิต ทั้งนี้เมื่อพาไปตั้งจิตอธิษฐาน ขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกลับทุเลาเบาบางและหายเป็นปกติ ตามความเชื่อของคนกะเหรี่ยงจึงมองว่าเป็นสัญญาณของการจะได้เป็นเจ้าวัดองค์ต่อไป หากขัดขืนไม่ยอมรับก็มักจะต้องเสียชีวิต


รูป 2 เจ้าวัด ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลือง

           ตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลืองที่มีต่อเจ้าวัดนั้นยังเชื่อเกี่ยวกับการเป็นบุคคลที่มีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ ของชุมชน เป็นผู้คอยสอดส่องดูแล การปฏิบัติของคนในชุมชนไม่ให้ทำผิดกฎหรือประเพณี หรือการกระทำที่อาจละเมิดกับคำสอนของบรรพบุรุษ เมื่อมีเหตุไม่ดีหรือผิดปกติเกิดขึ้นในการดำรงชีวิตจะต้องไปทำพิธีขอขมากับเจ้าวัด โดยเจ้าวัดจะเป็นผู้ทำพิธีขอขมาให้แก่บุคคลนั้นจนหายเป็นปกติ (วรวิทย์ นพแก้ว, 2563) นอกจากนี้เจ้าวัดยังทำหน้าที่เป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมของชุมชน โดยปรากฏในลักษณะของพิธีกรรมที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ทั้งในมิติของการเคารพบูชา การขอขมาที่ล่วงเกินธรรมชาติ การขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นให้เอื้ออำนวย ปัดเป่าอุปสรรคภัยอันตรายที่จะส่งผลต่อชีวิต ตลอดจนพืชผลการเกษตรในพื้นที่ไร่ เช่น การประกอบพิธีกรรมบูชาพระแม่โพสพ (พิบือโหย่ว) การบูชาแม่พระธรณี การบูชาแม่คงคา การไหว้เตาไฟสำหรับทำอาหาร การปักสะเดิ่งในบริเวณบ้านและพื้นที่เกษตรกรรม การไหว้ต้นไทร (วราภรณ์ มนต์ไตรเวศย์ และนัฐวุฒิ สิงห์กุล, 2564) พิธีกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดตามปฏิทินประเพณีของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลืองสอดคล้องตามหลักความเชื่อและวิถีปฏิบัติที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ


“เจ้าวัด” ในฐานะทุนของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลือง

           “ทุน” มีความหมายที่แสดงให้เห็นลักษณะของการสั่งสม สืบทอด แปรเปลี่ยนและการงอกเงยจากสิ่งที่ได้ลงทุน อาจจะเป็นนามธรรม เช่น ความรู้ ภูมิปัญญา ความสัมพันธ์ทางสังคม หรือสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรม เช่น ทรัพย์สินเงินทอง ที่ดิน ซึ่งเป็นรูปสัญญะของสิ่งของบางอย่าง ปัจจุบันได้ปรากฏความสนใจต่อทุนวัฒนธรรม (cultural capital) อย่างแพร่หลายในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ โดยมักจะนำเสนอให้เห็นทั้งในลักษณะที่สัมพันธ์กับวัตถุสิ่งของ ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่มีความโดดเด่น มีลักษณะจำเพาะ หรือการอ้างถึงความรู้ภูมิปัญญาของบุคคล กลุ่มคน ชุมชนที่จะนำมาต่อยอดในลักษณะของการปรับเปลี่ยน ดัดแปลงไปสู่การสร้างและสะสมเป็นทุนเศรษฐกิจ (economic capital) (กัญญารัตน์ แก้วกมล และคณะ, 2564) กระบวนการพัฒนาที่ผ่านมาจึงมักเชื่อมโยงระหว่างทุนวัฒนธรรมกับทุนเศรษฐกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากระบวนทัศน์ในการพัฒนายังคงยึดเอาเศรษฐกิจเป็นศูนย์กลางและเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนา โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยน ต่อยอด ดัดแปลงไปสู่การเพิ่มระดับของทุนเศรษฐกิจที่มากขึ้น ทุนวัฒนธรรมในความหมายนี้จึงถูกคาดหวังให้เป็นสิ่งที่มี “มูลค่า” เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม ชุมชน แทนการให้ “คุณค่า” เหมือนยุคสมัยที่ผ่านมา


รูป 3 พื้นที่พิธีกรรม ศาลาเจ้าวัดกับเสดีย์สำหรับสักการะบูชา

           อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาการนับถือเจ้าวัดของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลืองกับทุนที่ปรากฏขึ้นนั้น จะพบว่าการประกอบพิธีกรรมดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการสร้างพื้นที่ทางสังคม (social space) ที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ระเบียบกฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติเพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมต่อการรับรองบุคคลที่จะเป็นเจ้าวัดหลังจากที่บุคคลนั้นได้ฝึกปฏิบัติตนผ่านระยะเวลาหนึ่ง จนทำให้ชาวบ้านในชุมชนรับรู้และยอมรับในตัวบุคคลนั้นว่ามีความพร้อมและเหมาะสมต่อการเป็นเจ้าวัด จึงจัดให้มีพิธีแต่งตั้งเจ้าวัดเกิดขึ้น เพื่อประกาศให้เกิดการรับรู้และสร้างการยอมรับจากสังคม ชุมชนว่ามีบุคคลที่จะเป็นเจ้าวัดแล้ว ถือเป็นการสร้างและสั่งสมทุนสัญลักษณ์ประเภทหนึ่งของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลือง อย่างไรก็ดี พิธีแต่งตั้งเจ้าวัดยังได้ก่อให้เกิดพื้นที่ของการจัดแสดงนำเสนอให้เห็นการประกอบสร้างพื้นที่ให้มีองค์ประกอบที่ครบถ้วนตามหลักความรู้ภูมิปัญญาและความเชื่อดั้งเดิม ที่สั่งสมอยู่ภายในตัวบุคคลให้เกิดการถ่ายทอดและแสดงออกผ่านการประกอบพิธีกรรม และการสร้างโครงสร้างทางวัตถุให้ปรากฏขึ้นในพื้นที่นั้น ดังนั้นการนับถือและการปรากฏขึ้นของเจ้าวัดบ้านป่าผากจึงแสดงให้เห็นพลังศรัทธาของชาวกะเหรี่ยงที่สัมพันธ์กับความรู้ ภูมิปัญญาและความเชื่อตามจารีต วิถีปฏิบัติ ซึ่งเป็นทุนวัฒนธรรม (cultural capital) ที่ได้ปรากฏและเปลี่ยนมาเป็นทุนสัญลักษณ์ (symbolic capital) ที่สามารถสัมผัสได้ สร้างการรับรู้และเรียนรู้ เกิดการถ่ายทอดผ่านพื้นที่พิธีกรรม ทำให้บุคคลและกลุ่มคนรู้สึกภาคภูมิใจ มีคุณค่า มีศักดิ์ศรีต่อการนับถือเจ้าวัด

           อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการนับถือเจ้าวัดหลายชุมชนในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีและอุทัยธานีไม่ได้มีการแต่งตั้งเจ้าวัดในชุมชนแล้ว เนื่องจากขาดคนสืบทอดทำให้เกิดการละทิ้งหลักความเชื่อและแนวปฏิบัติดั้งเดิม เป็นความเสี่ยงที่ชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลืองหลายคนกังวลว่าหลักความเชื่อและวิถีปฏิบัติเหล่านี้กำลังจะสูญหายไป พิธีแต่งตั้งเจ้าวัดบ้านป่าผากในครั้งนี้จึงแสดงให้เห็นขอบเขตความหมายและความสำคัญของการฟื้นฟูหลักจารีตที่เป็นตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลืองให้ฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง แสดงให้เห็นการดำรงและรักษาอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยงด้ายเหลืองทั้งในระดับจิตวิญญาณ ที่ทุกคนยังยึดมั่นในความเชื่อดั้งเดิมและเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดกันมา ระดับปฏิบัติการที่แสดงให้เห็นการร่วมกันประกอบพิธีกรรม การสร้างศาลาเจ้าวัดและเจดีย์ เพื่อสถาปนาพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ให้ปรากฏขึ้นในชุมชน ระดับสังคมที่ได้มีการสื่อสารบอกกล่าวชุมชนใกล้เคียง และชุมชนอื่น ๆ ที่มีการนับถือเจ้าวัดให้รับรู้เกี่ยวกับการมีและปรากฏขึ้นของเจ้าวัด แสดงให้เห็นกระบวนการสั่งสมทุนภายในของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลืองให้ดำรงอยู่ทั้งในลักษณะของทุนวัฒนธรรม (cultural capital) และทุนสัญลักษณ์ (symbolic capital)


“เจ้าวัด” กับความท้าทายต่อการดำรงอยู่ในบริบทปัจจุบัน

           การนับถือเจ้าวัดของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลืองถือเป็นทุนวัฒนธรรมและทุนสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นการมีความรู้ ภูมิปัญญา ที่สั่งสมสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีการถ่ายทอดและแสดงให้เห็นรูปธรรมผ่านการประกอบพิธีกรรม การสร้างองค์ประกอบภายในพิธีกรรม เช่น ศาลาเจ้าวัด เจดีย์สำหรับไหว้บูชา ซึ่งปรากฏขึ้นในพื้นที่และอาณาบริเวณที่ถูกกำหนดไว้แสดงให้เห็นความคิด ความเชื่อ และโลกทัศน์ของกลุ่มคนที่ยังศรัทธาต่อลัทธิความเชื่อดั้งเดิม เป็นความพยายามในการต่อสู้ ต่อรอง ระหว่างโลกก่อนทันสมัยกับโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขและความท้าทายที่พร้อมจะสลายและกลืนกลายความคิด ความเชื่อในระดับจิตวิญญาณ ดังปรากฏที่ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสฟังคำบอกเล่าถึงสถานการณ์ที่เป็นข้อจำกัดต่อการเข้าถึงขี้ผึ้งธรรมชาติของเจ้าวัดว่า

“ปัจจุบันเราไม่มั่นใจว่าจะยังเข้าไปเก็บหารังผึ้งในป่าเพื่อนำมาทำเทียนบูชาเจดีย์ได้ไหม เพราะป่ารอบชุมชนมีกฎหมายประกาศทับเต็มไปหมด ถ้าเป็นอย่างนี้การทำเทียนบูชาเจดีย์ก็จะยาก เพราะตามความเชื่อของเราจะไม่ใช้เทียนที่ซื้อจากตลาด”

(เจ้าวัดชุมชนกะเหรี่ยงแห่งหนึ่งในจังหวัดอุทัยธานี, 2563)

           วิถีของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลืองที่นับถือเจ้าวัดจะให้ความเคารพนอบน้อมต่อธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ดังปรากฏให้เห็นว่าการทำเทียนสำหรับบูชาเจดีย์จะใช้ขี้ผึ้งจากป่าธรรมชาติเพื่อสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ แต่ปัจจุบันผืนป่าธรรมชาติรอบชุมชนได้ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปเก็บหาขี้ผึ้งธรรมชาติมาใช้สำหรับทำเทียนบูชาเจดีย์ให้เป็นไปตามหลักความเชื่อและจารีตดั้งเดิมได้ วิธีคิดและการปฏิบัติเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าไม้จึงแสดงให้เห็นการแบ่งแยกคนออกจากป่าหรือมองธรรมชาติกับวัฒนธรรมนั้นเป็นคู่ตรงข้ามกัน เป็นเงื่อนไขที่ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลืองที่นับถือเจ้าวัดไม่สามารถปฏิบัติตนตามวิถีดั้งเดิมของตนได้ จึงชี้ให้เห็นข้อกังวลและความท้าทายต่อการดำรงวิถีปฏิบัติ ภูมิปัญญา เกี่ยวกับการประกอบพิธีไหว้เจดีย์ของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลือง ซึ่งถือเป็นทุนวัฒนธรรมและทุนสัญลักษณ์ว่ากำลังจะถูกทำให้สูญหาย


รูป 4 การทำเทียนจากขี้ผึ้งธรรมชาติของชาวกะเหรี่ยง

           การพิจารณาเพื่อทำความเข้าใจการคงอยู่และอยู่รอดของความคิดความเชื่อ วิถีปฏิบัติของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลืองในปัจจุบันที่แสดงให้เห็นการนับถือเจ้าวัด จึงนำเสนอให้เห็นมุมมองต่อการศึกษาและทำความเข้าใจทุนวัฒนธรรมและทุนสัญลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ปรากฏและดำรงอยู่ ตลอดจนการให้ความสำคัญต่อการแสวงหาแนวทางศึกษากลยุทธ์ในการปรับใช้ทุนที่มีขอบเขตและเป้าหมายมากกว่าการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในมิติทางจิตวิญญาณที่จะเป็นรากฐานต่อการสร้างสรรค์ความดีงามให้กับสังคม


เจ้าวัด กับ โอกาสของการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

           นับตั้งแต่ปี 2553 ที่ได้มีการประกาศมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ได้แสดงให้เห็นการยอมรับต่อตัวตัวตน อัตลักษณ์ และวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงว่ากำลังเผชิญกับการถูกคุกคาม มีความเปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อการสูญหาย จึงได้มีการประกาศแนวนโยบายและมาตรการในแก้ไขปัญหา และการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์ ฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง (คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกระเหรี่ยง, 2554) อย่างไรก็ดีภายใต้แนวนโยบายดังกล่าวได้ปรากฏแนวคิดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษหรือเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ในปัจจุบัน ถือเป็นแนวคิดและหลักปฏิบัติที่มีเป้าหมายที่จะนำไปสู่การคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตวัฒนธรรม การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตบนฐานเศรษฐกิจวัฒนธรรม โดยกำหนดให้มีขั้นตอน กระบวนการของการจัดทำข้อมูลประวัติศาสตร์ วิถีวัฒนธรรม ขอบเขตพื้นที่ทางกายภาพที่แสดงอาณาบริเวณพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่จิตวิญญาณ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชน ตลอดจนการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติบนฐานการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และการจัดทำธรรมนูญพื้นที่คุ้มครอง ซึ่งเป็นกฎกติกา ระเบียบที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ต้องให้การเคารพและถือปฏิบัติร่วมกัน (อภินันท์ ธรรมเสนา, 2566)

           ในด้านหนึ่งมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 จึงถือเป็นทุนสัญลักษณ์ที่ปรากฏและสัมพันธ์กับชาวกะเหรี่ยง เนื่องจากเป็นชุดของคุณค่าและความหมายที่กำหนดให้มีเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการกำหนดตำแหน่งแห่งที่และความเป็นไปได้ของตัวแสดงที่ปรากฏในสนามหรือพื้นที่ทางสังคม สำหรับชาวกะเหรี่ยงแล้วแนวนโยบายดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์ต่อการหยิบยก นำมาใช้เพื่อต่อสู้ ต่อรองกับอำนาจรัฐโดยใช้ปฏิบัติการทางวัฒนธรรมส่งเสริมให้อัตลักษณ์และตัวตนนั้นมีความโดดเด่น โดยเฉพาะในกรณีของการนับถือเจ้าวัด ซึ่งถือเป็นวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลืองว่าจะมีแนวทางในการส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูและอนุรักษ์วิถีชีวิตวัฒนธรรมทั้งในระดับจิตวิญญาณ ความคิด ความเชื่อ วิถีปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการสั่งสมทุนทางวัฒนธรรมอย่างเป็นกระบวนการ ไม่ใช่เพียงกิจกรรมชั่วครั้งชั่วคราว แต่หมายรวมถึงการสร้างบรรยากาศ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญา ความคิด ความเชื่อที่แฝงฝังอยู่ภายในให้ปรากฏสู่สังคมภายนอกอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

           คำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนับถือเจ้าวัดของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลืองบ้านป่าผาก จึงไม่ใช่เพียงการค้นหาคำอธิบายเกี่ยวกับขั้นตอนพิธีกรรมและวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับการนับถือเจ้าวัด แต่เป็นคำถามที่ว่าอะไรเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การนับถือเจ้าวัดในฐานะที่เป็นทั้งทุนวัฒนธรรมและทุนสัญลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลืองนั้นสามารถดำรงอยู่ในบริบทสังคมปัจจุบัน และชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลืองมีวิธีการหรือกลยุทธ์ในการปรับใช้ทุนที่ตนครอบครองนี้ได้อย่างไร เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดที่จะได้จากสนามของความเป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

           อย่างไรก็ดี ระหว่างที่ผู้เขียนกำลังเขียนต้นฉบับบทความนี้ (ต้นเดือนสิงหาคม 2566) ได้ทราบข่าวจากเครือข่ายกะเหรี่ยงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่าเจ้าวัดที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคประจำตัว เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 เป็นที่น่าอาลัยยิ่งกับการจากไปจากของเจ้าวัด ถือเป็นความท้าทายใหม่อีกครั้งของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลืองบ้านป่าผากว่าจะมีกระบวนการสืบทอดและการแต่งตั้งเจ้าวัดองค์ใหม่ขึ้นมาอีกครั้งเมื่อใด ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาติพันธุ์ โดยเฉพาะการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ว่าจะต้องทำงานเชิงรุกทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแก้ไขสถานการณ์ปัญหา ความเดือดร้อน การส่งเสริมศักยภาพความเข้มแข็งของกลุ่มหรือชุมชนชาติพันธุ์ ตลอดจนการสร้างการรับรู้และยอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคม

ด้วยจิตคารวะ


เอกสารอ้างอิง

กัญญารัตน์ แก้วกมลและคณะ. (2564). การใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน. วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม 11 (1): 75-91.

คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกระเหรี่ยง. (2554). แนวนโยบายและหลักปฏิบัติการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วราภรณ์ มนต์ไตรเวศย์ และนัฐวุฒิ สิงห์กุล. (2564). ทำความเข้าใจกะเหรี่ยงโปว์ด่านช้าง ผ่านการท่องเที่ยววัฒนธรรมและชาติพันธุ์. วารสารดำรงวิชาการ 20(2): 207-230.

วรวิทย์ นพแก้ว และคณะ. (2563). รายงานวิจัยแนวทางการจัดการเขตพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และการฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี.กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

อภินันท์ ธรรมเสนา. (2566). เอกสารประกอบการบรรยายแผนขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).


1  เจดีย์ หรือ ที่ชาวกะเหรี่ยงเรียก กลุง มีลักษณะคล้ายเจดีย์ทำด้วยวัสดุจากไม้ไผ่ มีพื้นที่เป็นสี่เหลี่ยม กว้างประมาณ 3x3 เมตร ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของศาลาเจ้าวัด มีองค์ประกอบ 3 ชั้น เปรียบเหมือนภาพแทนของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ใต้ฐานเจดีย์มีพระพุทธรูป เงิน ทอง และเส้นผมของชาวกะเหรี่ยง (วรวิทย์ นพแก้ว, 2563)


ผู้เขียน
เจษฎา เนตะวงศ์
นักบริหารเครือข่ายและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ เจ้าวัด กะเหรี่ยงด้ายเหลือง กลุ่มชาติพันธุ์ ศรัทธา ทุนวัฒนธรรม ทุนสัญลักษณ์ เจษฎา เนตะวงศ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา