รายงานสถานการณ์ชาติพันธุ์ ประจำปี 2565

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 4410

รายงานสถานการณ์ชาติพันธุ์ ประจำปี 2565

           ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ข่าวสาร บ้านเมืองที่ปรากฏเหตุการณ์สำคัญ ๆ ตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่มั่นคงและแน่นอนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในสังคมปัจจุบันอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเกี่ยวกับการสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทยพบว่า ปี 2565 ถือเป็นปีที่มีความความก้าวหน้าเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ในหลากหลายมิติทั้งในระดับนโยบายและการจัดทำกฎหมายที่แสดงให้เห็นความพยายามในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ทั้งด้านความคิดและแนวปฏิบัติที่แสดงให้เห็นการยอมรับและเรียนรู้ต่อการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กว้างขวางมากขึ้น ดังปรากฏการผลักดันให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง การขับเคลื่อนพื้นทีคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่แสดงให้เห็นการสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกันบนพื้นฐานการยอมรับและเคารพในวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ตลอดจนการนำเสนออัตลักษณ์ วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปรากฏในสังคมผ่านการนำเสนออัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งด้านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่เอกลักษณ์ การใช้ภาษา การเล่นดนตรี และอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย สะท้อนให้เห็นการมีทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถนำมาปรับใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศได้

           อย่างไรก็ตาม แม้จะปรากฏความก้าวหน้าที่แสดงให้การยอมรับความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันยังพบความท้าทายต่อการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทย โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งในด้านการออกแบบและวางแผนการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างชุมชนชาติพันธุ์ หน่วยงานราชการ และเอกชนในพื้นที่ ทำให้ปรากฏความขัดแย้งในหลายชุมชนชาติพันธุ์ ซึ่งแสดงให้เห็นการละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนการกีดกันการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการและบริการขั้นพื้นฐานของรัฐตามที่ควรจะเป็น

           ดังนั้นเพื่อนำเสนอให้เห็นสถานการณ์ชาติพันธุ์ประจำปี 2565 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จึงได้รวบรวบข้อมูล ข่าวสารที่ปรากฏในสื่อออนไลน์มาประมวล เพื่อเน้นย้ำให้เห็นสถานการณ์ที่โดดเด่นและแสดงความก้าวหน้าของการทำงานด้านชาติพันธุ์มานำเสนอ ขณะเดียวกันก็ได้รวบรวมข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์ที่เป็นข้อท้าทายและข้อจำกัดที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ เพื่อให้สังคมได้ร่วมทบทวนและเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามต่อทิศทางการดำเนินงานเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่ควรจะเกิดขึ้นร่วมกันต่อไปในอนาคต โดยสามารถนำเสนอให้เห็นรายละเอียดของแต่ละสถานการณ์ได้ดังนี้

           1. สถานการณ์เด่นด้านชาติพันธุ์ในประเทศไทยปี 2565

           1.1 ก้าวย่างของการผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์ ความหวังที่ยังรอคอยคำตอบ...

           ปี 2565 ที่ผ่านมาเป็นอีกหนึ่งปีที่สังคมไทยได้มีการเรียนรู้และร่วมกันผลักดันให้มีการประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2560 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 70 ระบุว่า “รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย”1  การปรากฏขึ้นของคำว่า “กลุ่มชาติพันธุ์” ในรัฐธรรมซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการผลักดันให้มีกฎหมายเฉพาะที่จะนำมาสู่การกำหนดแนวทางและกลไกในการปกป้องคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคมและการประกาศคำแถลงนโยบายของรัฐบาลในปี 2562 ที่กำหนดให้กฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นร่างกฎหมายสำคัญที่คณะรัฐมนตรีจะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ (คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี, 2562) หลังจากนั้นจึงได้เริ่มปรากฏการเคลื่อนไหวของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน พรรคการเมืองและภาคประชาสังคมที่ได้ร่วมกันผลักดันให้มีกฎหมายเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยในปี 2565 ได้ปรากฏร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
กับกลุ่มชาติพันธุ์ดังนี้

           1) ร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เสนอโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ

           2) ร่างพระราชบัญญัติ คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เสนอโดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move )

           3) ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนอโดยพรรคก้าวไกล

           4) ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร

           5) ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม

           อย่างไรก็ตามสถานการณ์เกี่ยวกับการผลักดันและขับเคลื่อนกฎหมายชาติพันธุ์ได้เริ่มปรากฏความสนใจตั้งแต่ต้นปี เมื่อขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 16,559 คน เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 จากนั้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาวินิจฉัยของประธานสภาผู้แทนราษฎรว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมีลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 134 (2) ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงได้ส่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้คำรับรองต่อไป2  ทั้งนี้สถานการณ์ชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันกฎหมายได้มีความเคลื่อนไหวอีกครั้งเมื่อ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ได้มีการจัดชุมนุมที่กรุงเทพฯ บริเวณหน้าสำนักงานสหประชาชาติหรือ UN ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2565 และได้ยื่นเสนอเชิงนโยบายจำนวน 15 ข้อ ต่อนายกรัฐมนตรี โดย 1 ในข้อเสนอนั้นระบุให้ “รัฐบาลต้องผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับที่ร่าง โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) และรัฐบาลต้องสนับสนุน “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครอง สิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ..... ฉบับเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 10,000 รายชื่อ เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนนโยบายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง”3  จากนั้นคณะรัฐมนตรีจึงได้มีการประชุมและเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว

 

รูปที่ 1 สถานการณ์ความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
และชนเผ่าพื้นเมือง หมายเหตุจาก. https://theactive.net/news/20220118-5/?fbclid=IwAR2sbmfMKTbFwnc8YlIIU0KdDRtN-p8uGAJW2b89sLRoJ9XdrxMnZrN8Oy0

           อย่างไรก็ดี การผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ในส่วนของภาคประชาชนยังปรากฏการเคลื่อนไหวของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ที่ได้ร่วมกันรณรงค์สร้างความเข้าใจกับพรรคการเมืองต่อการสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... โดยเน้นย้ำให้เห็นว่าการมีพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองจะเป็นกลไกสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม4  และในเดือนสิงหาคม 2565 สภาชนเผ่าพื้นเมืองและภาคีเครือข่ายได้มีการจัดเวทีเสวนาสาธารณะและรณรงค์เฉลิมฉลองงานวันชนเผ่าพื้นเมือง โดยได้มีการอ่านแถลงการณ์และยื่นข้อเสนอของชนเผ่าพื้นเมืองต่อการผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตและส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ในวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ณ อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ5  สำหรับร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองนั้นถือเป็นร่างกฎหมายที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับร่างกฎหมายฉบับอื่น ๆ เนื่องจากเป็นเพียงร่างกฎหมายฉบับเดียวที่ถูกเสนอเข้าสู่ชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาร่วมกับร่างกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีหรือการรับรองของนายกรัฐมนตรีในฐานะที่ถูกพิจารณาให้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน

           การเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและสภาชนเผ่าพื้นเมืองจึงแสดงให้เห็นการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนที่สนใจต่อการพัฒนาและผลักดันให้มีกลไกในเชิงกฎหมายและนโยบายที่จะนำไปสู่การปกป้องคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และเน้นย้ำให้เห็นว่าการมีกฎหมายชาติพันธุ์ฉบับภาคประชาชนไม่ได้เป็นการสร้างภาระใหม่และเป็นข้อจำกัดใด ๆ กับรัฐบาล หากแต่เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ

           ทั้งนี้การเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ในส่วนของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ทำหน้าที่จัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคมที่กำหนดให้แล้วเสร็จในปี 2565 สอดคล้องตามคำแถลงนโยบายของรัฐบาล โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการผลักดันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 และในเดือนพฤษภาคม 2565 ได้มีการเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ บนหน้าเว็บไซต์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)6 โดยพบว่าผู้ให้ความคิดเห็นส่วนใหญ่ทั้งประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและสถาบันวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านชาติพันธุ์ เห็นด้วยกับหลักการและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงและมีความคิดเห็นที่แตกต่างในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคำนิยาม “กลุ่มชาติพันธุ์” ในร่างกฎหมาย รวมถึงการพัฒนารูปแบบและกลไกการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ในการเสนอความคิดเห็นและเข้ามามีส่วนร่วมต่อการกำหนดแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต ตลอดจนประเด็นเรื่องพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่มีความท้าทายใหม่ของสังคมที่จะนำไปสู่การสร้างการยอมรับและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมและเคารพในสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ความคิดเห็นที่แตกต่างดังกล่าวได้ทำให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานราชการ องค์กรพัฒนาเอกชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละภาคส่วน โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ (ฉบับปรับปรุง)7  อีกครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันการดำเนินการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ระหว่างการสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นใหม่อีกครั้ง ก่อนจะส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

รูปที่ 2 เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ....
(ฉบับปรับปรุง) โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หมายเหตุจาก. https://sac.or.th/portal/th/news/detail/140
 

           การเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งในส่วนของภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐที่ปรากฏในปี 2565 จึงถือเป็นความก้าวหน้าที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อการรับรู้และเรียนรู้ร่วมกันของสังคมไทย โดยเฉพาะในด้านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่กว้างขวางต่อกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งในด้านการยอมรับต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่หลากหลายสิทธิในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จากหน่วยงานราชการ องค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายภาคประชาสังคม ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นว่าสังคมไทยควรที่จะมีการพัฒนาและผลักดันให้เกิดกฎหมายเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้ปรากฏเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามหากยึดเอาหมุดหมายตามกำหนดแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคมที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 และการพิจารณาเกี่ยวกับกรอบระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่สิ้นสุดลงในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ก้าวย่างของการผลักดันให้มีการประกาศใช้กฎหมายเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จึงยังเป็นความท้าทายที่สังคมจะต้องเฝ้าจับตามองการเคลื่อนไหวในจังหวะก้าวเดินที่จะนำไปสู่การพิจารณาร่วมกันในชั้นกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในอนาคตต่อไป

           1.2 “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” พื้นที่ของการยอมรับความหลากหลายของวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

           ในปี 2565 สังคมไทยได้มีการเรียนรู้และร่วมกันผลักดันแนวคิดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้ปรากฏเป็นรูปธรรมทั้งในรูปแบบของการสื่อสาร สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดและแนวปฏิบัติต่อการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ การพัฒนาและขยายผลต้นแบบพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ การพัฒนาองค์ความรู้และกลไกในการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนการการถอดบทเรียนในพื้นที่ที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอให้เห็นชุดข้อมูล บทเรียน และข้อเสนอแนะจากพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพเป็นเครื่องมือและกลไกที่จะนำไปสู่การคุ้มครองและวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาคุณภาพชีวิตบนฐานเศรษฐกิจวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างแท้จริง

           จากการติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวและดำเนินงานผลักดันแนวคิดดังกล่าวพบว่า ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้จัดให้มีโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพส่งเสริมการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ของเครือข่ายสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด 20 จังหวัด8 9 ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชาวเลอยู่อาศัย โดยจัดเวทีอบรมไปตามภูมิภาค 3 ภูมิภาค เพื่อให้เครือข่ายสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเน้นย้ำให้เห็นหลักการสำคัญของแนวคิดดังกล่าวที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ การส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากรธรรมชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตบนฐานเศรษฐกิจวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามในการขับเคลื่อนไปสู่การประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ชุมชนชาติพันธุ์จะต้องมีการจัดทำข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน วิถีชีวิตวัฒนธรรมและการจัดทำข้อมูลแผนที่เดินดินแสดงขอบเขตเชิงกายภาพของชุมชนครอบคลุมพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่จิตวิญญาณ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ใช้ประโยชน์ เพื่อนำเสนอให้เห็นว่าชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายหลังจัดอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวเครือข่ายสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั้ง 20 จังหวัด ได้มีการลงพื้นที่ศึกษาและสำรวจชุมชนชาติพันธุ์เป้าหมายในพื้นที่ของตน เพื่อจัดทำข้อมูลและแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้ปรากฏเป็นรูปธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้จัดให้มีเวทีนำเสนอผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี 2553 ของเครือข่ายสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด 20 จังหวัด โดยได้นำเสนอให้เห็นชุดข้อมูลและแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ของชุมชนชาติพันธุ์ต้นแบบ ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นว่าชุมชนชาติพันธุ์หลายแห่งได้ตระหนักและเห็นความสำคัญต่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์วิถีชีวิตวัฒนธรรม โดยมองว่าทุนทางวัฒนธรรมที่มีของชุมชนนั้นถือเป็นทุนสำคัญที่สามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดทั้งในด้านการประกอบอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและครอบครัว ตลอดจนการนำเสนอให้เห็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งในด้านศิลปะการแสดง การใช้ฟื้นฟูและสืบทอดการใช้ภาษากลุ่มชาติพันธุ์ภายในชุมชน การดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติตามภูมิปัญญาและวิถีวัฒนธรรม เป็นต้น10

 

รูปที่ 3 อบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภาคใต้ หมายเหตุจาก. https://www.facebook.com/sac.anthropology

           อย่างไรก็ดี การดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ได้ปรากฏรูปธรรมที่แสดงให้เห็นรูปธรรมความก้าวหน้าในการดำเนินงานทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย ดังปรากฏการแต่งตั้งให้มีคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บ้านขุนแม่เหว่ย (แม่ปอคี) อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการในจังหวัด ผู้แทนองค์กรพัฒนา ผู้สถาบันวิชาการ และชุมชนชาติพันธุ์ ได้ร่วมกันดำเนินงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการประชุมวางแผนดำเนินงาน การลงพื้นที่ศึกษา สำรวจข้อมูลและร่วมกันจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บ้านขุนแม่เหว่ย (แม่ปอคี)11  จนปรากฏเป็นรูปธรรมและมีแผนดำเนินงานที่จะผลักดันให้เกิดการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ในปี 2566 ต่อไป นอกจากนี้ยังพบความก้าวหน้าในระดับนโยบาย ที่ได้มีการคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 104/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวะเหรี่ยง ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 โดยได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการชุดดังกล่าวครั้งที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 โดยในที่ประชุมได้มีนำเสนอแนวคิดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นแนวทางและกลไกที่จะนำมาใช้ในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้ปรากฏเป็นรูปธรรมร่วมกัน

           อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ยังปรากฏการดำเนินงานของเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและชุมชนชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ที่ร่วมกันจัดงานเพื่อสื่อสารความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการฟื้นฟูวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ได้มีการจัดงานประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลบ้านทับตะวัน ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา12  ซึ่งถือเป็นชุมชนชาติพันธุ์ชาวเลมอแกลนแห่งแรกที่ได้มีการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ขณะเดียวก็ถือเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ลำดับที่ 14 ที่แสดงให้เห็นความโดดเด่นด้านอัตลักษณ์ และวิถีชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ชุมชนชาวเลบ้านทับตะวันนำเสนอให้เห็นคือการสร้างพื้นที่และกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม ท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นข้อจำกัดและข้อท้าทายอันเป็นผลจากการพัฒนาและการกำหนดนโยบายด้านการท่องเที่ยวและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนหรือกลุ่มชาติพันธุ์ในช่วงที่ผ่านมา

           นอกจากนี้ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 การขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ยังถือเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากหน่วยงาน องค์กรและเครือข่ายชุมชนชาติพันธุ์อีกหลายแห่ง ดังปรากฏการจัดงานครบรอบครบรอบ 2 ปีประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) ต.ทองหลาง อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี ซึ่งได้นำเสนอให้เห็นกลไกและแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จนทำให้เกิดการยอมรับในวิถีชีวิต วัฒนธรรมและการดำรงอยู่ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ซึ่งได้มีการนำเสนอให้เห็นบทเรียนจากการดำเนินงานที่เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการจัดการข้อมูลและแผนบริหารจัดการพื้นที่ของชุมชนให้มีความชัดเจน ตลอดจนการให้ความสำคัญกับหลักการ “จากความขัดแย้งสู่ความร่วมมืออย่างยั่งยืน”13

 

รูปที่ 4 ครบรอบ 2 ปี ประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) และชนเผ่าพื้นเมือง
หมายเหตุจาก. https://www.facebook.com/photo/?fbid=135143269375704&set=a.115579497998748

           อย่างไรก็ตามในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2565 ยังพบการจัดกิจกรรมการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ได้แก่ ชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอบ้านแม่คองซ้าย แม่ป่าเส้า ตำบลเมืองคลองอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่14  และชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอบ้านห้วยไร่-ห้วยงู-แม่ปูนน้อย ตำบลสันสลี อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย15  ซึ่งถือเป็นชุมชนชาติพันธุ์ที่ความโดดเด่นด้านอัตลักษณ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม การทำไร่หมุนเวียน ตลอดจนการแสดงให้เห็นศักยภาพของชุมชนในการดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบนฐานภูมิปัญญา วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยในการจัดกิจกรรมประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวนั้นได้มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายชุมชนชาติพันธุ์จากหลากหลายพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม ก่อให้เกิดการเรียนรู้และทำความเข้าใจความหลากหลายในวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาของชุมชนชาติพันธุ์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเป็นความร่วมมือเพื่อออกแบบและวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติบนฐานการเคารพภูมิปัญญา และวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่อไป

 

รูปที่ 5 เวทีเสวนาพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม ณ หมู่บ้านแม่คองซ้าย และแม่ป่าเส้า เชียงใหม่
หมายเหตุจาก. https://www.lannernews.com/21122565-01/?fbclid=IwAR1eih9-tn1feDF17lUTpkSAwjUuVKxx-k4lR-YUbbT4bTWGxuESSwhN4hs

 

           ดังนั้นหากประมวลตามข้อมูลและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย จึงนำเสนอให้เห็นความพยายามของการพัฒนาพื้นที่รูปธรรมและกลไกในระดับนโยบายที่แสดงให้เห็นการรับรู้และยอมรับความหลากหลายในวิถีชีวิต วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งนี้การดำเนินงานขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวนั้นยังจำเป็นต้องมีการศึกษา รวบรวมข้อมูล และพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวถือเป็นแนวคิดที่แสดงให้เห็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในทำงานเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนชาติพันธุ์ได้ใช้ศักยภาพของตนบนพื้นฐานวัฒนธรรม ภูมิปัญญามาปรับใช้ในการกำหนดและออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างพื้นที่การทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และชุมชนชาติพันธุ์ที่จะร่วมกันออกแบบและกำหนดกติกา ระเบียบ แบบแผนในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ร่วมกันอย่างสมดุลและยั่งยืน


           1.3 ความโดดเด่นทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ทุนทางวัฒนธรรมกับการพัฒนาประเทศ

           ปัจจุบันเรื่องราววิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากขึ้น โดยเฉพาะในวันที่ 9 สิงหาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น “วันชนเผ่าพื้นเมืองโลก” นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ในบริบทประเทศไทยภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนได้ให้ความสนใจประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์เพิ่มมากขึ้น ดังที่ปรากฎในงานวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชผ.) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมจัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2565 ในวันที่ 6 – 9 สิงหาคม 2565 ภายในงานมีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตและสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ การฉายภาพยนตร์สารคดีสำรับชาติพันธุ์และมันนิใต้ป่าภูผาเพชร รวมทั้งการแสดงดนตรีชาติพันธุ์ร่วมสมัยควบคู่กับการแสดงอาหารฟิวชั่นที่ใช้วัตถุดิบจากชุมชนชาติพันธุ์ ทุกกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นเป็นภาพสะท้อนของศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านทุนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2565 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สำนักข่าวไทยพีบีเอส ร่วมกันจัดกิจกรรม “สื่อศิลป์ ส่งเสียง ชีวิต สิทธิ ชนเผ่าพื้นเมือง” ณ ศาลาภิรมย์ภักดี สวนลุมพินี พื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานครเพื่อให้ผู้คนได้สัมผัสดนตรีและเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ วงคลีโพ เสียงสาละวิน การแสดงรำตง จากหมู่บ้านคลิตี้ล่าง จังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งการขับร้องเพลงร่วมสมัยจากชาวลีซู ดาราอาง ชาวเล และชาวปกาเกอะญอ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการผสมผสานดนตรีชาติพันธุ์กับวงนิมมาน สตรีท ออเคสตรา ที่ได้ประยุกต์ใช้ดนตรีล้านนา ดนตรีสากล ดนตรีไทย และดนตรีชาติพันธุ์ ที่สะท้อนให้เห็นเรื่องราววิถีชีวิตผ่านดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์

           การแสดงดนตรีชาติพันธุ์ จึงมีนัยยะที่กว้างกว่าการแสดงเพื่อความบันเทิง หากแต่เป็นพื้นที่ทางสังคมที่เปิดกว้างให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน นอกจากนี้ดนตรีชาติพันธุ์ยังเป็นเรื่องราวของจิตวิญญาณที่แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ได้สร้างสรรค์จากภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ผ่านการนำเสนอเรื่องราวการดำเนินชีวิต การบอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างคนและธรรมชาติ ดนตรีชาติพันธุ์ที่ถูกจัดขึ้นจึงเป็นทั้งวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อ พิธีกรรม และอัตลักษณ์ที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันและเชื่อมโยงกับผู้คนนอกกลุ่ม

           นอกจากการแสดงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นด้านดนตรีร่วมสมัยแล้ว ภายในงานยังมีการนำเสนอกิจกรรมชิมอาหาร 10 เมนูชาติพันธุ์จากเชฟกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ มอญ ญัฮกุร โซ่ทะวืง อูรักลาโว้ย มอแกลน ไทใหญ่ กะแย ปะโอ ลีซู ปกาเกอะญอ และอาหารชาติพันธุ์ฟิวชันจากเชฟมิชลินสตาร์ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนถึงความมั่นคงทางอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์16

 

รูปที่ 6 การแสดงดนตรีชาติพันธุ์ วันที่ 7 ส.ค. 2565 ณ ศาลาภิรมย์ สวนลุมพินี กรุงเทพฯ

หมายเหตุจาก. https://prachatai.com/journal/2022/08/99919

 

           ศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่เพียงแต่ปรากฏผ่านภาพข่าวในวันชนเผ่าพื้นเมืองโลกเท่านั้น หากแต่ผ่านวัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน ดังสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงปี 2565 กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มมีความพยายามพัฒนาศักยภาพของตนเองโดยการยกระดับวิถีวัฒนธรรมเพื่อต่อยอดการพัฒนาคุณภาพชีวิตควบคู่กับการธำรงรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมให้สาธารณชนได้เข้าใจวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์

           ดังเช่นกรณีของชาวกูยที่มีการสืบสานความผูกพัน วิถีคน วิถีช้าง ผ่านนิทรรศการภาพถ่าย17  ภายใต้โครงการนิทรรศการภาพถ่าย “อลังการ ช้าง กูย และคนรักช้าง” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้างและธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้ชาวกูยสามารถสืบทอดคชศาสตร์ชาวกูยซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาของชาติไทยไว้ได้ต่อไป ในงานได้มีการจัดทำ E-Book คชศาสตร์ชาวกูย การเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และการจัดนิทรรศการภาพถ่าย โดยมีหมอสะเดียงอาวุโส ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่มีศักดิ์สูงสุดของบรรดาหมอช้างได้บอกเล่าเรื่องราวพิธีกรรมไหว้ศาลปะกำ พิธีปะชิหมอช้าง
งานบวชนาคช้าง งานช้างประจำปีของจังหวัด และพิธีตัดงาช้าง

           ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ จังหวัดลำพูน18  ได้มีการต่อยอดวัฒนธรรมผ้าทอไทลื้อมาสร้างสรรค์เป็นตัวละครหุ่นร่วมสมัย ต้นแบบ “หุ่นมือผ้าทอไทลื้อ” โดยเยาวชนชาติพันธุ์ได้สร้างรูปแบบของตัวหุ่นจากเรื่องราวตำนาน เรื่องเล่า ประวัติศาสตร์การอพยพจากสิบสองปันนา หุ่นมือผ้าทอไทลื้อมีส่วนสำคัญในการสื่อสารทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เรียนรู้บริบทชุมชนชาติพันธุ์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นต้นแบบของการใช้รากฐานทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้มีความร่วมสมัย สามารถนำมาส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนทั้งในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์

 

รูปที่ 7 หุ่นมือผ้าทอไทลื้อ
หมายเหตุจาก. https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_6928754

 

           นอกจากการสื่อสารเรื่องราววิถีชีวิตผ่านดนตรี อาหาร ภาพถ่าย และผ้าทอแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ดังกรณีชุมชนชาวมอญหมู่บ้านมอญห้วยน้ำใส (บ้านผาปก) จังหวัดราชบุรี19  ที่ได้มีการพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพ ให้เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมในการดึงดูดการท่องเที่ยว พื้นที่ดังกล่าวมีจุดเด่นในเชิงประวัติศาสตร์ตำนานเล่าขานสืบทอดหลายชั่วอายุคนในฐานะของการเป็นสถานที่ทำสงครามระหว่างไทยกับเมียนมาในสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ หรือสมัยพระเจ้าตากสิน ดังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดี เช่น กริช ขอช้าง สังวาลช้าง หม้อไห ซากศพ โครงกระดูกนักรบ อนุสรณ์เจดีย์ ที่บ้านทุ่งเจดีย์ บ้านผาปกพื้นที่ชายแดนไทย - เมียนมา ชาวมอญได้นำเอาทุนทางธรรมชาติและทุนทางวัฒนธรรมของการเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ประกอบด้วย วัฒนธรรมกะเหรี่ยง วัฒนธรรมมอญ และวัฒนธรรมเมียนมา มาสร้างความน่าสนใจให้กับหมู่บ้านผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายสามารถเข้าถึงผู้คนได้ทุกกลุ่ม ทั้งการทำบุญใส่บาตรตามประเพณีแบบมอญ การแต่งกายและการแสดงฟ้อนรำในชุด “หงสาวดี” กิจกรรมสาธิตสินค้า ชวนดู ชวนทำ จำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ยาดมสมุนไพรบ้านมอญ ผ้ามัดย้อมบ้านมอญ แหนมไม้ไผ่ ขนมโดนัทมอญ ขนมต้มเสียบไม้ ไข่เค็มดีบุก ธูปหอมทรัพย์ขณา สไบมอญ ธงตะขาบ และกระถางฮากะ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการขึ้นเขากระโจม กิจกรรมการท่องเที่ยวป่าชุมชน การเล่นที่น้ำตกผาแดงและวัฒนธรรมกินข้าวห่อกะเหรี่ยง วัฒนธรรมการการแห่ฉัตรของชาวมอญ ซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถสร้างมูลค่าในการเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว

 

รูปที่ 8 หมู่บ้านมอญห้วยน้ำใส แหล่งท่องเที่ยวใหม่เชิงธรรมชาติ จ.ราชบุรี
หมายเหตุจาก. https://ratchaburi.prd.go.th/th/content/category/detail/id/33/iid/71813

 

           จากเรื่องราววิถีชีวิต ดนตรี อาหาร และงานหัตถกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ได้สะท้อนให้เห็นพลังทางวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และชุมชน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสังคมที่มีความเข้มแข็งควบคู่กับการเคารพในศักดิ์ศรีและวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์

 

           2. สถานการณ์ที่เป็นข้อท้าทายและข้อจำกัดของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ประจำปี 2565

           2.1 ความท้าทายของชุมชนชาติพันธุ์กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

           หลายทศวรรษที่ผ่านมา ชุมชนชาติพันธุ์ในประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายมิติ ทั้งการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตจากการทำเกษตรกรรมแบบยังชีพสู่การทำเกษตรเชิงพาณิชย์ การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนจากการขยายตัวของเมืองที่รวดเร็ว ทำให้สมาชิกชุมชนชาติพันธุ์ส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตสู่ความทันสมัย เกิดการอพยพย้ายถิ่นเข้าสู่เมืองเพื่อเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้กลุ่มชาติพันธุ์ยังเผชิญความท้าทายสำคัญเกี่ยวกับวิถีชีวิตดั้งเดิมที่มีการใช้ประโยชน์ควบคู่กับการอนุรักษ์ ซึ่งเป็นการจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติที่คำนึงถึงความสมดุลและยั่งยืน แต่ทว่า ในทางกฎหมายไม่ได้อนุญาตให้มีการกระทำดังกล่าว ทำให้ชุมชนชาติพันธุ์ส่วนใหญ่มักถูกสาธารณชนมองด้วยภาพลักษณ์เชิงลบว่าเป็นกลุ่มคนที่ตัดไม้ทำลายป่า ทำลายธรรมชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้คนกลุ่มนี้ถูกกีดกันออกจากระบบการจัดการทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บางชุมชนถูกพรากสิทธิทางวัฒนธรรมจากพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม สถานการณ์ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นความท้าทายในภาพกว้างที่กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่มักเผชิญ คือ ความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความท้าทายกรณีพิพาทเรื่องที่ดินกับพื้นที่ทับซ้อนเอกชน

           2.2.1 กลุ่มชาติพันธุ์: มุมมองความท้าทายระหว่าง “ผู้สร้าง” หรือ “ผู้รับ” ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

           นับตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เผชิญกับการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะจำนวนผืนป่าที่ลดลง จากข้อมูลการสำรวจพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศในปี 2561 – 2562 พบพื้นที่ป่าจำนวน 102,484,072.71 ไร่ หรือร้อยละ 31.68 ของประเทศ ซึ่งลดลงจากปี พ.ศ.2560 – 2561 จำนวน 4,229.48 ไร่20  จากแหล่งที่อยู่ในป่าที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้พืชและสัตว์ท้องถิ่นลดลงและสูญพันธุ์ อาจกล่าวได้ว่า การลดลงของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์เป็นผลจากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งการพัฒนาที่ดิน การพัฒนาอุตสาหกรรม และการขยายตัวของเมือง21  ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

           อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤติการณ์นี้กลับเป็น “กลุ่มชาติพันธุ์” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีวิถีดำรงชีพที่ผูกพันกับทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ซึ่งเชื่อมโยงกันเป็นระบบนิเวศความสัมพันธ์ของ “คนกับป่า” กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่มีวิถีการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมที่เน้นการพึ่งพิงธรรมชาติ มีระบบการผลิตแบบยังชีพ มีการปลดปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกอื่นในปริมาณที่น้อย มีการรักษาสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ทำให้มีการกักเก็บคาร์บอนในโลกตามธรรมชาติเพิ่มขึ้น จากความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและการพึ่งพาสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ พวกเขาจึงมักเป็นชนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมทั้งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐที่มีความรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น จนอาจนำไปสู่การสูญเสียองค์ความรู้พื้นบ้าน การสูญเสียของแหล่งรายได้และโอกาสทางเศรษฐกิจ การสูญเสียวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็นกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานออกจากชุมชนเพื่อแสวงหาโอกาสด้านเศรษฐกิจในพื้นที่อื่น กรณีศึกษาชุมชนชาติพันธุ์ที่จะกล่าวถึงนี้ จึงเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ทั้งโครงการสัมปทานเหมือง โครงการผันน้ำยวม รวมทั้งการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

           กรณีที่ 1 ชุมชนชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยมะกอก จังหวัดแม่ฮ่องสอน22  เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่ฟลูออไรต์ เดิมพื้นที่แห่งนี้ได้มีการให้สัมปทานเหมืองแร่เมื่อประมาณ 30 ที่แล้ว โดยไม่มีการทำประชาพิจารณ์ จนกระทั่งปี 2532 รัฐบาลได้มีนโยบายปิดป่า จึงมีการยกเลิกสัมปทาน จนกระทั่ง ปี 2562 ได้มีบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจเหมืองแร่ได้ยื่นขอสัมปทานเหมืองแร่ใหม่อีกครั้ง จนเป็นเหตุให้ชุมชนโดยรอบ ทั้งชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และท้ายน้ำ มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และสารปนเปื้อนในแม่น้ำแม่ลา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คนหลายชุมชนตลอดลำห้วยที่หล่อเลี้ยงผู้คนในการอุปโภคบริโภค และยังเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชุมชน นอกจากนี้แม่น้ำลายังไหลลงสู่แม่น้ำยวม รวมทั้งไหลไปรวมกับแม่น้ำแม่สะเรียง แม่ลาน้อยและสบเมย จะเห็นว่าผลกระทบอาจกระจายไปในวงกว้าง ทำให้ชุมชนมีการคัดค้านหลากหลายรูปแบบทั้งผ่านการยื่นหนังสือขอให้ยกเลิกโครงการต่อกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ช่วงเวลาต่อมากรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขอให้พิจารณาทบทวนโครงการนี้อย่างรอบคอบ

 

รูปที่ 9 การเคลื่อนไหวคัดค้านการทำ “เหมืองแร่ฟลูออไรต์” ของกลุ่มชาวบ้าน

หมายเหตุจาก. https://prachatai.com/journal/2022/11/101492

 

           กรณีที่ 2 ชุมชนชาวปกาเกอะญอบ้านท่าตาฝั่ง จังหวัดแม่ฮ่องสอน23  พื้นที่ชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการผันน้ำยวม อีกทั้งเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

           วิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คนในชุมชนมีการพึ่งพาผืนดิน ผืนป่า และแม่น้ำ ในด้านการเป็นแหล่งอาหาร การใช้น้ำเกษตร การเป็นเส้นทางการสัญจร และการทำนาขั้นบันได จึงกล่าวได้ว่าชุมชนมีความรู้ทางวัฒนธรรมในการจัดการน้ำโดยใช้องค์ความรู้เรื่องระบบเหมืองฝายในการผันน้ำลงสู่แปลงนาเพื่อให้สามารถรับน้ำอย่างทั่วถึง เป็นระบบการจัดการน้ำที่เน้นรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายป่าและระบบนิเวศ นอกจากนี้ชุมชนยังมีการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นความมั่นคงทางอาหาร ที่ทำให้ชาวปกาเกอะญอสามารถผ่านวิกฤติในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

           ปัจจุบัน ชุมชนเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพถูมิอากาศ ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ถือเป็นวิกฤติที่รุนแรงต่อความมั่นคงทางอาหารของคนในชุมชน เป็นความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นหลังจากผลผลิตในรอบปีไม่เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน ในขณะเดียวกัน ชุมขนยังได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำยวมซึ่งมีความจำเป็นในการใช้พื้นที่ป่าจำนวนมาก ทำให้ผู้คนในชุมชนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการมีสิ่งปิดกั้นลำน้ำ การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ ที่จะทำให้ระบบแม่น้ำขาดความสมดุล ความหลากหลายของพันธุ์สัตว์น้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนลดลง และบางชนิดอาจสูญพันธ์ โดยเฉพาะพันธุ์ปลาสังกะวาดสาละวิน ซึ่งเป็นปลาเฉพาะถิ่นที่พบได้เพียงลุ่มน้ำสาละวินเท่านั้น

 

           กรณีที่ 3 ชุมชนชาวโพล่ง บ้านกะเบอะดิน จังหวัดเชียงใหม่24  เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองถ่านหิน โครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูง และโครงการผันน้ำยวม

           ชุมชนกะเบอะดินเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีวิถีชีวิตในการใช้ประโยชน์ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้องค์ความรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อรักษาสมดุลระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผ่านการทำไร่หมุนเวียน การทำนาขั้นบันได การปลูกพริก ฟักทอง มะเขือเทศ และพืชพันธุ์ชนิดอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นความมั่นคงทางอาหารที่สืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น

           ปัจจุบัน ภายหลังจากความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลโดยตรงต่อผลผลิตมะเขือเทศ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่พึ่งพาน้ำฝน ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการได้ผลผลิตที่ลดน้อยลง นอกจากนี้ผู้คนในชุมชมยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการพัฒนาของรัฐ ที่จะทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ ความกังวลต่อการเกิดมลภาวะฝุ่นและเสียง รวมทั้งสารปนเปื้อนใน “แหล่งน้ำ” ซึ่งพื้นที่โดยรอบชุมชนมีพื้นที่ต้นน้ำสำคัญจาก 3 ลำห้วย คือ ห้วยผาขาว ห้วยมะขาม และห้วยแม่อ่างขาง ซึ่งเป็นหัวใจของหมู่บ้านกะเบอะดิน

           จากความท้าทายของชุมชนที่ต้องเผชิญกับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐที่ส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ผู้คนในชุมชนจึงพยายามในการปกป้องผืนป่า ด้วยพิธีกรรมการเลี้ยงผีป่าเขา รวมทั้งการบวชป่าในพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชน ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการปกป้องพื้นที่สำคัญของชุมชน

 

รูปที่ 10 การเคลื่อนไหวของชาวกะเบอะดินในคัดค้าน “เหมืองแร่อมก๋อย”

หมายเหตุจาก. https://prachatai.com/journal/2022/10/100779

 

           กรณีที่ 4 การประกาศพื้นที่อนุรักษ์: กรณีชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี และกรณีชุมชนบ้านเบ๊อะบละตู จังหวัดตาก

           ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี25  ผู้คนในชุมชนถูกอพยพออกจากถิ่นฐานดั้งเดิมเมื่อปี 2539 หลังจากการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน การอพยพในครั้งนั้นแม้ว่าจะมีการจัดที่ดินสำหรับการอยู่อาศัยและทำกิน แต่ทว่า สภาพดินน้ำขาดความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้ แม้ว่าหน่วยงานหลายภาคส่วนจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ชาวบางกลอยยังคงประสบกับวิกฤติความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่จึงหันมาดำรงชีพด้วยการเป็นแรงงานรับจ้าง ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผู้คนไม่สามารถทำงานรับจ้างนอกชุมชนได้ พวกเขาจึงต้องเผชิญกับสภาวะความยากลำบากในการดำรงชีพ จนทำให้ข้อเรียกร้องเพื่อการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมได้ถูกกล่าวถึงเพิ่มมากขึ้น ต่อมาในวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ยูเนสโกมีมติขึ้นทะเบียน “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ท่ามกลางข้อคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ26

           ปัจจุบัน ชาวบ้านบางกลอย จำนวน 29 ราย ถูกดำเนินคดีความผิดข้อหาบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีการจัดทำรายงานข้อเสนอแนะกรณีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี โดยมีข้อเสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งรัดการสำรวจการถือครองที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยให้เป็นปัจจุบัน โดยให้สำรวจความประสงค์ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยถูกอพยพโยกย้ายถิ่นฐานในการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินตามวิถีชีวิตดั้งเดิม และเร่งพิจารณากฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64 และมาตรา 65 และให้คณะรัฐมนตรีเร่งรัดพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ที่เสนอโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว นอกจากนี้ ให้อัยการสูงสุดและอัยการจังหวัดเพชบุรี พิจารณาใช้ดุลยพินิจในการสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องในคดีอาญาที่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยถูกดำเนินคดีอันสืบเนื่องจากเหตุการณ์จับกุมและควบคุมตัวเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 หากเห็นว่าเป็นการฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

 

รูปที่ 11 อนุชาลงพื้นที่แก้ปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย

หมายเหตุจาก. https://www.mtoday.co.th/89212

 

           ส่วนกรณีชุมชนบ้านเบ๊อะบละตู จังหวัดตาก ประกอบด้วย 6 ชุมชน ได้แก่ บ้านปางทอง บ้านซอแขระกา บ้านปอเคลอะเด บ้านแม่อมยะ บ้านแม่ปอคี และบ้านเคาะทีโค๊ะ27  ชุมชน ดังกล่าวได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐที่มุ่งหวังการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนนำมาสู่การเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงาทับซ้อนกับพื้นที่ดั้งเดิมที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยมายาวนาน ซึ่งเป็นการประกาศพื้นที่ทับพื้นที่ทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งโครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม นอกจากนี้ชุมชนดังกล่าวยังได้รับกระทบจากนโยบายการจัดการป่าของรัฐ โดยเฉพาะข้อห้ามไม่ให้มีการเผานอกฤดูกาลที่กำหนด การลดรอบไร่หมุนเวียน กฎเกณฑ์ดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ของบรรพบุรุษที่มีการเชื่อมโยงองค์ความรู้ในการทำเกษตรกรรมบนฐานวัฒนธรรมควบคู่กับการอนุรักษ์ผืนป่า การเผาป่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้แร่ธาตุลงสู่ดินและสามารถควบคุมวัชพืชเป็นการจัดการป่าโดยใช้กลไกที่ให้ธรรมชาติฟื้นตัวได้เอง

           ภายหลังจากการบังคับใช้กฎเกณฑ์ของหน่วยงานรัฐ ผู้คนในชุมชนบางส่วนได้ปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีพหันไปปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ที่ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียหน้าดินและความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง รวมทั้งการปนเปื้อนของสารเคมีในดินและอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถเกิดฝนกรดที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้น้ำ

           ผลกระทบที่เกิดขึ้นถือเป็นความท้าทายในการยืนหยัดเพื่อสิทธิทางวัฒนธรรมของการเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาป่า โดยใช้มิติทางจิตวิญญาณเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมกำกับ พฤติกรรมการใช้ทรัพยากรของผู้คนในชุมชน ไม่ให้สร้างผลกระทบต่อความหลากหลายของระบบนิเวศที่จะส่งผลต่อความมั่นคงของอาหาร จากการผนวกเอาความรู้เชิงวัฒนธรรมและความเชื่อต่อสิ่งเหนือธรรมชาติมาเป็นกฎเกณฑ์ในการกำกับพฤติกรรมของผู้คน คนกลุ่มนี้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างหวงแหนและรู้คุณค่า ผืนป่าจึงไม่ใช่พื้นที่ฉกฉวยผลประโยชน์ส่วนตน หากแต่เป็นพื้นที่เชื่อมโยงกับจิตวิญญาณ ที่ผู้คนสามารถใช้ร่วมกันโดยไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของจากปรัชญาในการอยู่กับป่าโดยไม่ได้มุ่งหวังครอบครองเพื่อเป็นสมบัติส่วนตน ผืนป่าที่เปรียบเสมือนบ้าน จึงยังคงมีความอุดมสมบูรณ์จนกระทั่งปัจจุบัน

           2.2.2 ชาวเล: ความท้าทายกรณีพิพาทที่ดินกับภาคเอกชน

           ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของกลุ่มชาติพันธุ์กับภาคเอกชนยังคงเป็นความท้าทายที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นดังปรากฏภาพข่าวกรณีพิพาทระหว่างชุมชนชาวอูรักลาโว้ยกับนายทุนเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ได้เกิดเหตุการณ์นายทุนเชื่อมเหล็กปิดกั้นเส้นทางสัญจรดั้งเดิมตั้งแต่ประมาณปี 2452 เป็นต้นมา เส้นทางนี้มีความสำคัญที่นักเรียนใช้สัญจรเข้าโรงเรียน ผู้คนใช้สัญจรไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะหลีเป๊ะ เป็นเส้นทางเข้าสุสานชุมชนชาวเล และเป็นเส้นทางเดินของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมเกาะหลีเป๊ะ จากการปิดเส้นทางสัญจรทำให้นักเรียน ชุมชน และนักท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบต้องปีนรั้วเพื่อสัญจรซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียของจังหวัดสตูล

           ความท้าทายด้านเอกสารสิทธิ์ในที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ28  เกิดขึ้นหลังจากประเทศมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ได้เกิดข้อพิพาทพื้นที่ชายแดนขึ้นในแต่ ปี 2452 จากเอกสารยืนยันว่าชาวอูรักลาโว้ยที่อยู่อาศัยตามเกาะแก่งเป็นคนไทย ทำให้ข้อพิพาทยุติลง จากนั้นในปี 2497 รัฐบาลได้บังคับใช้พระราชบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหากรรมสิทธิ์ในที่ดิน เจ้าของที่ดินต้องออกโฉนดเพื่อยืนยันการเป็นเจ้าของ ในขณะที่ระบบความเชื่อของชาวเลไม่ได้มีแนวความคิดที่ยึดติดและครอบครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หากแต่มีความเชื่อว่าทรัพยากรทุกประเภทไม่มีเจ้าของ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ประกอบกับเงื่อนไขด้านกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรทำให้ชาวเลรุ่นอาวุโสที่ไม่รู้หนังสือ และไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย จึงมักถูกหลอกลวงหรือข่มขู่จากกลุ่มทุนเพื่อผลประโยชน์ด้านกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรืออาจมีบางส่วนที่ขายให้กับบุคคลภายนอกด้วยความสมัครใจเนื่องด้วยความจำเป็นเรื่องปากท้อง

           ต่อมาเมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด นายทุนจึงมีการกว้านซื้อที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะเพิ่มขึ้น ทำให้กรณีพิพาทเรื่องที่ดินเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการฟ้องร้อง การขับไล่ และการปิดเส้นทางสัญจร แม้ว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐได้พยายามออกแบบกลไกในการแก้ไขปัญหาโดยการมีมติ คณะรัฐมนตรีแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญาณชาวเล แต่ทว่าข้อพิพาทเรื่องที่ดินของชาวเลทั้งในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ และพื้นที่อื่น ๆ ยังคงเป็นประเด็นท้าทายในการแสวงหาทางออกร่วมกันระหว่างชาวเล รัฐ และนายทุน

 

รูปที่ 12 การเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวเลในการเรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่

หมายเหตุจาก. https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_7403113

 

           จากกรณีความท้าทายที่หยิบยกมานำเสนอ เป็นเพียงการหยิบยกปรากฎการณ์ที่กำลังถูกกล่าวถึงผ่านสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น เนื่องจากในสภาพความเป็นจริงยังมีหลายชุมชนที่เผชิญกับความท้าทายจากโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นความท้าทายด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านความมั่นคงในที่ดิน และความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรบูรณาการการขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อให้สามารถปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง
ได้อย่างเท่าทัน


1  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 70

2  The Active ThaiPBS. (2565). ภาคประชาชน คาดหวัง นายกฯ เร่งรับรอง “ร่างพ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ ฉบับประชาชน” สืบค้นจาก https://theactive.net/news/20220118-5/?fbclid=IwAR2sbmfMKTbFwnc8YlIIU0KdDRtN-p8uGAJW2b89sLRoJ9XdrxMnZrN8Oy0

3  ประชาไท. (2565). ‘P-move’ คืนถิ่นแล้ว หลัง ‘ประยุทธ์’ ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระ-แก้ปัญหา. สืบค้นจาก https://prachatai.com/print/97102

4  ประชาไท. (2565). 'สภาชนเผ่าพื้นเมือง' เข้าพบพรรคการเมืองเร่งผลักดัน 'พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง' เข้าสภาฯ. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2022/06/99181

5  นักข่าวพลเมือง. (2565). “เดือนแห่งชาติพันธุ์”ในวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก 2565”. สืบค้นจาก https://thecitizen.plus/node/60057

6  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2565). เปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ...... สืบค้นจาก https://sac.or.th/portal/th/news/detail/140

7  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2565). เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... (ฉบับปรับปรุง). สืบค้นจาก https://www.sac.or.th/portal

8  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2565). การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภาคใต้. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/sac.anthropology

9  กระทรวงวัฒนธรรม จังวัดเชียงราย. (2565). อบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ครั้งที่ ๓ ภาคเหนือ. สืบค้นจาก https://www.m-culture.go.th/th/article_view.php?nid=169280

10  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2565). ศมส.จัดประชุมนำเสนอผลงานของเครือข่ายสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2565 . สืบค้นจาก https://www.facebook.com/sac.anthropology

11  กระทรวงวัฒนธรรม. (2565). ประชุมคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บ้านขุนแม่เหว่ย (แม่ปอคี) อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕. สืบค้นจาก https://www.m-culture.go.th/tak/ewt_news.php?nid=2798&filename=index

12  The Active ThaiPBS. (2565). สถาปนาพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาวเลแห่งแรก ความหวัง ความร่ววมือและความยั่งยืนในการพัฒนา. สืบค้นจาก https://theactive.net/data/ethnic-protect-area/

13  เสียงเหนือ Voice of the north. (2565). ครบรอบ 2 ปีประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์). สืบค้นจาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=135143269375704&set=a.115579497998748

14  LANNERNEWS. (2565). พื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม ณ หมู่บ้านแม่คองซ้ายและแม่ป่าเส้า เชียงใหม่. สืบค้นจาก https://www.lannernews.com/21122565-01/?fbclid=IwAR2dKJxBqmPhKzs018eNcSw0EQE0tfSAMaSo-WgJih9lBqks22AZ0ByhNHg

15  มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ. (2565). ประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมกะเหรี่ยงบ้านห้วยไร่-ห้วยงู-แม่ปูนน้อย เชียงราย. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/northerndevelopmentfoundation/posts/pfbid0282yNG9S2bsgUei3DGj7CokfavoxZciZAVtF1xwbMBKWtwcrEGTGqkYtYcZ5v7rpBl

16  ประชาไท. (2565). ดนตรีชาติพันธุ์ในสวนลุม-สื่อที่สร้างความเข้าใจระหว่างกัน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565. เข้าถึงได้จาก: https://prachatai.com/journal/2022/08/99919

17  ไทยรัฐออนไลน์. (2565). สืบสานความผูกพัน “วิถีคน-วิถีช้าง” ผ่านนิทรรศการภาพถ่าย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565. เข้าถึงได้จาก: https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2344851

18  ข่าวสด. (2565). หุ่นมือผ้าทอไทลื้อ สืบวิถีสิบสองปันนา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565. เข้าถึงได้จาก: https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_6928754

19  ทีเอ็นเอ็นออนไลน์. (2565). "หมู่บ้านมอญห้วยน้ำใส" กำลังฮิตที่เที่ยวใหม่ อ.สวนผึ้ง นทท.เรียกแม่กำปอง 2. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565. เข้าถึงได้จาก: https://www.tnnthailand.com/news/local/92672/

20  มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร. (2563). รายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย ประจำปี 2562 – 2563. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565. เข้าถึงได้จาก: https://www.seub.or.th/document/

21  Convention on Biological Diversity. Biodiversity Facts Status and trends of biodiversity, including benefits from biodiversity and ecosystem services. (Online). Retrieved December 22, 2022, from https://www.cbd.int/countries/profile/?country=th

22  ประชาไท. (2565). ชาวบ้านแม่ลาน้อย ลุกขึ้นต้านสัมปทานเหมืองแร่ฟลูออไรด์ ชี้เอื้อนายทุน แต่ทำลายสิ่งแวดล้อม-วิถีชุมชน.(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565. เข้าถึงได้จาก: https://prachatai.com/journal/2022/11/101492

23  ดิ แอ็คทีฟ. (2565). เยาวชนชาติพันธุ์ หวั่น ‘เหมือง-เขื่อน’ ทำลายชุมชน วิถีทำกินดั้งเดิม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565. เข้าถึงได้จาก: https://theactive.net/news/lawrights-20220807/

24  ประชาไท. (2565). ชาวกะเบอะดินแสดงจุดยืนคัดค้าน ‘เหมืองแร่อมก๋อย’ เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565. เข้าถึงได้จาก: https://prachatai.com/journal/2022/03/97909

25  ไทยโพสต์. (2565). กสม. ชี้กรมอุทยานฯ ละเมิดสิทธิชาวบางกลอย อพยพออกจากชุมชนดั้งเดิม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565. เข้าถึงได้จาก: https://www.thaipost.net/tag/

26  บีบีซี ประเทศไทย. (2565). แก่งกระจาน : ยูเนสโกมีมติขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แม้ฝ่ายสิทธิมนุษยชนยูเอ็นค้าน.สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565. เข้าถึงได้จาก: https://www.bbc.com/thai/thailand-57968385

27  เวย์ แมกกาซีน. (2565). เยาวชนปกาเกอะญอช่วยคนจนเมืองพ้นความหิวโหยด้วยไร่หมุนเวียน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565. เข้าถึงได้จาก: https://waymagazine.org/karen-share-food/

28  เดอะ แมทเทอร์. (2565). อยู่มาก่อน แต่ไร้โฉนด สรุปปัญหาข้อพิพาทที่ดินชาวเลอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565. เข้าถึงได้จาก: https://thematter.co/quick-bite/seapeople-koh-lipe/192825


ผู้เขียน

เจษฎา เนตะวงศ์

นักบริหารเครือข่ายและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

สุดารัตน์ ศรีอุบล

นักบริหารเครือข่ายและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ กลุ่มชาติพันธุ์ สถานการณ์ เจษฎา เนตะวงศ์ สุดารัตน์ ศรีอุบล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share