ความไม่ไทยของคนไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 5158

ความไม่ไทยของคนไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

ความไม่ไทยของคนไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

วิภาวดี โก๊ะเค้า 

บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

           ท่ามกลางความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษา ความสงสัยว่า คนไทยมาจากไหน? เป็นข้อถกเถียงในแวดวงนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา ที่พยายามสืบหาและพยายามจะสร้างความกระจ่าง

           นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทย อดีตอาจารย์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นนักคิด นักเขียนผู้ทรงอิทธิพลต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย1

           ในหนังสือ “ความไม่ไทยของคนไทย” เป็นหนังสือที่เกิดจากการรวบรวมบทความที่ว่าด้วยความเป็นไทยของอาจารย์นิธิเข้าไว้ด้วยกัน 4 บทความ ได้แก่

  1. นาน้อยอ้อยหนู
  2. คนไทยมาจากโน่นด้วย และความไทยอยู่ที่นี่ด้วย
  3. คนไทยหลายเผ่าพันธุ์ 3,000 ปี ในสุวรรณภูมิ
  4. ข้อเสนอสังเขป ประวัติศาสตร์แห่งชาติ

           ที่สะท้อนให้เห็นบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา ความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ไท - ไต และกลุ่มชาติพันธุ์ไทย ที่ส่งผลต่อประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย ผ่านหนังสือที่มีชื่อว่าความไม่ไทยของคนไทย

 

ภาพปกหนังสือ ความไม่ไทยของคนไทย เขียนโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ที่มาของภาพ www.se-ed.com

 

“นาน้อยอ้อยหนู” ชื่อสถานที่ในตำนานที่มีอยู่จริง

           นาน้อยอ้อยหนู ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนาม เป็นจุดกำเนิด “ตำนานการเกิดมนุษย์”ของคนในอุษาคเนย์ ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวกับอาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร สถานที่จริงในตำนานที่ผู้เขียนได้มีโอกาสได้ไปสัมผัส มีภูมิทัศน์เป็นแอ่งหินที่สลับซับซ้อนร่วมกับมีทางน้ำไหลลงสู่นาน้อยอ้อยหนู ที่ชวนให้เข้าใจคำตอบถึงต้นเหตุที่ทำให้นาน้อยอ้อยหนูกลายเป็นตำนาน “น้ำเต้าปุง” ซึ่งผู้เขียนให้ความเห็นว่าเป็นเพราะ

“น้ำเต้านั้นมีเมล็ดพันธุ์มาก หากเป็นคนคงออกมาจากรูที่จี้ไว้เหมือนกับสายน้ำ”2

           นอกจากนี้ ตำนานยังส่งผลสัมพันธ์ต่อความเชื่อเรื่องเชื้อสายการเกิดของมนุษย์ในกลุ่มชาติพันธุ์แถบนี้ โดยการแบ่งงออกเป็นสถานะ “คนธรรมดาทั่วไป” และ “เจ้า” คือผู้ที่ถูกส่งลงมาโดยตรง ไม่ได้มีกำเนิดจากน้ำเต้าปุง การอพยพเคลื่อนย้ายตามที่ราบหุบเขาทำให้ตำนานนี้แผ่ขยายมากยิ่งขึ้น และยังส่งผลต่อระบบการจัดองค์กรทางสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ไต

           นอกจากตำนานที่ส่งผลต่อระบบการจัดองค์กรทางสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ไท–ไตแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ พื้นที่ราบหุบเขา ZOMIA ในทัศนะของผู้เขียนถือเป็นกระบวนการการสร้างตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ไต และแผ่ขยายมาสู่การเป็นศูนย์กลางในลุ่มน้ำขนาดใหญ่ จนกลายเป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง เหตุเพราะว่า “กระบวนการทำนาดำ” ที่ทำให้ผลิตข้าวได้มาก ช่วยลดการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ การทำนาดำทำให้เกิดการค้าทางไกล และทำให้คนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ไท ไต เริ่มอพยพเข้ามา เพื่อกลืนกลายตัวตนให้เป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ไท–ไต เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง “การค้าทางไกลเชื่อมโยงกับเมืองท่า และการแผ่ขยายของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์” คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้การขยายเข้าสู่เป็นศูนย์กลางในลุ่มน้ำขนาดใหญ่ ปัจจัยทางการค้าโดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน เมื่อภาษาไท-ไต เป็นภาษากลางที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารจึงทำให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่นหันมาพูดภาษาไท–ไต ปัจจัยทางศาสนาทำให้ภาษาไท-ไต ยิ่งแผ่ขยายมากยิ่งขึ้น เมื่อผู้เผยแพร่ทางศาสนาใช้ภาษาไท-ไต ผ่านการเทศน์ การทำพิธี ตลอดจนนิทานชาดก ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ว่าจะกลุ่มชาติพันธุ์ใดก็เข้าใจภาษาและวัฒนธรรมนี้


คนไทยมาจากโน่นด้วย และคนไทยอยู่ที่นี่ด้วย

           ในบทความนี้ ผู้เขียนใช้อ้างอิงจากหนังสือ From Lawa to Mon, from Saa’ to Thai  ของกองโดมินาส์ ที่อธิบายสาเหตุที่ทำให้คนไทยมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ จากประเด็นการขยายอำนาจทางการเมือง ในทัศนะที่ว่า “คนไทย” จากตอนใต้ของจีนเข้าไปยึดครองจากกลุ่มชนพื้นเมืองเดิมในดินแดนอุษาคเนย์ โดยการรบและการแต่งงานกับลูกสาวผู้นำชนพื้นเมือง ทำให้คนไทยถืออำนาจเป็นใหญ่กว่าชนพื้นเมือง ชนพื้นเมืองจึงกลืนกลายตัวเองให้เป็นคนไทยเพื่อไม่ให้ถูกกดขี่ กลืนกลายภาษาและวัฒนธรรม เพื่อให้ได้สิทธิ์อย่างคนไทย เกิดการผสมปนเปกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ “การกลืนกลายให้เป็นไทยจึงถูกกระทำอย่างเข้มข้นขึ้น” และทำให้คนประชากรของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยขยายใหญ่มากยิ่งขึ้น

 

คนไทยหลายเผ่าพันธุ์ 3,000 ปี ในสุวรรณภูมิ

           ผู้เขียนได้เสนอแนวคิดของการทลายกรอบความคิดของความเป็นชาติไทย ที่สร้างความสับสนของ “คนไทย” คือ คำว่า เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และอัตลักษณ์ ซึ่งเป็นแนวคิดของฝรั่งในศตวรรษที่ 19 ที่ผูกโยงกันอยู่ โดยไม่สามารถใช้คุณสมบัติทางชีววิทยามาจำแนกได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงคำสมมุติ ในทัศนะของผู้เขียน “รากเหง้าของคนไทยที่แท้จริงคือ ความหลากหลายทางชาติพันธุ์” มีความเป็นพลวัต ทำให้เห็นบทบาทของกลุ่มคนหลายกลุ่มในสังคมไทย ที่มาจากการประสานความหลากหลายจากความสัมพันธ์ทางการค้า โดยเฉพาะจีน และอินเดีย รวมถึงการเผยแพร่พระพุทธศาสนาช่วยประสานความหลากหลายนี้เข้าด้วยกัน

 

ข้อเสนอสังเขป ประวัติศาสตร์แห่งชาติที่ต้องถูกทบทวน

           ความหลากหลายของชาติพันธุ์ในประเทศไทย ที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำทางสถานะสังคม หากจะศึกษาประวัติศาสตร์ไทยจึงจำเป็นต้องศึกษาประวัติศาสตร์ของอุษาคเนย์ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ การค้า  และการเมือง โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับอารยธรรมใหญ่อย่างจีน และอินเดีย ตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ จึงจะทำให้เห็นความสัมพันธ์ของ “คนไทย” ผู้มีความมั่งคั่งทางชาติพันธุ์ในดินแดนอุษาคเนย์

           หนังสือเล่มนี้จึงเป็นตัวแทนเพื่ออธิบาย ความเป็นมา และความสำคัญของประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย ผ่านการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และศาสนา จากหลักฐาน เพื่อให้เข้าใจ “รากเหง้าของคนไทย” เพราะพื้นฐานของคนไทย คือ “ความหลากหลายทางชาติพันธุ์”  

 

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยมานุษยวิทยาการเมืองมีพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-anthropology

วันและเวลาให้บริการ

ห้องสมุด ชั้น 7-8 วันจันทร์–ศุกร์ : 08.30–16.30 น. และวันเสาร์ : 09.00–16.00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ วันจันทร์–ศุกร์ : 08.00-18.00 น. และวันเสาร์ : 09.00–17.00 น.

 

1  พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, ลับหลัง ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ 80 ปีปัญญาชนแห่งยุคสมัย และความ (ไม่) ใหม่ที่ต้องไปต่อ (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อ 26 Nov. 26, เข้าถึงผ่าน https://www.matichon.co.th/prachachuen/prachachuen-scoop/news_2256297

2  นิธิ เอียวศรีวงศ์. "ความไม่ไทยของคนไทย". กรุงเทพฯ: มติชน, 2559, หน้า 26.

 

 

ผู้เขียน วิภาวดี โก๊ะเค้า บรรณารักษ์

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share