11 วัตถุวัฒนธรรม ในประเพณีกินผัก: เรื่องของการถือศีล การกินผัก และการบูชาเทพเจ้า ของชุมชนศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ภูเก็ต

 |  มรดกวัฒนธรรม และภูมิปัญญา
ผู้เข้าชม : 8320

11 วัตถุวัฒนธรรม ในประเพณีกินผัก: เรื่องของการถือศีล การกินผัก และการบูชาเทพเจ้า ของชุมชนศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ภูเก็ต

ปณิตา สระวาสี

นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

           ต้นเค้าของประเพณีกินเจ 1-9 ค่ำเดือนเก้าในปัจจุบัน ว่ากันว่ามาจากการบูชาดาวเป๋ยโต่ว(ดาวกระบวยเหนือหรือดาวจระเข้) มาแต่โบราณของชาวจีน ด้วยที่เดือนเก้าอากาศเริ่มเย็น ผู้คนกลัวโรคภัยไข้เจ็บจึงเกิดเทศกาลฉงหยาง 9 ค่ำเดือน 9 เป็นเทศกาลกลัวตายและป้องกันโรคภัยมาตั้งแต่ปลายราชวงศ์ฮั่น นักวิชาการจีนส่วนมากสรุปกันว่าเทศกาลกินเจเดือนเก้า มีที่มาจากประเพณีบูชาดาวของจีนโบราณ แต่พัฒนาเป็นเทศกาลหรือประเพณีอย่างสมบูรณ์เพราะศาสนาเต๋า

           เมื่อประเพณีกินเจเดือนเก้าแพร่หลาย และได้รับวัฒนธรรมจากท้องถิ่นต่างๆ ตามยุคสมัย ประเพณีกินเจจึงปรับเปลี่ยนไปตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น หรือมีพิธีกรรมบางอย่างของท้องถิ่นเข้ามาผสมผสานด้วย

           ประเพณีกินเจในไทยมีปรากฎอยู่หลายพื้นที่ ที่เป็นรู้จักและทำมาสืบเนื่องยาวนานคือภูเก็ต ซึ่งที่นั่นเรียกว่าประเพณี “กินผัก” หรือ “เจี่ยะฉ่าย” วันประกอบพิธีตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ–9 ค่ำ เดือนเก้าจีน โดยคณะกรรมการของศาลเจ้าแต่ละท้องถิ่นร่วมกันจัดงานประกอบพิธีเจี่ยะฉ่ายให้กับกิ้วอ๋องไต่เต่ ศาลเจ้าในภูเก็ตที่ประกอบพิธีกินผักกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ อาทิ ศาลเจ้ากะทู้ ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ศาลเจ้ามูลนิธิเทพราศีบางเหนียว ศาลเจ้าท่าเรือ ศาลเจ้าซุ่ยบุนต๋อง ศาลเจ้าเชิงทะเล ศาลเจ้ายกเค่เก้ง ศาลเจ้าหลิมฮู้ใท้ซือ

           สำหรับคนในชุมชนศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งแล้ว พวกเขาเชื่อและเล่าต่อกันมาว่าประเพณีกินผักเกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว มีที่มาจากคณะงิ้ว “โกก๊ะหี่” จากประเทศจีน ที่เดินทางมายังภูเก็ต เพื่อเปิดการแสดงในแหล่งชุมชนชาวจีนอพยพที่มาตั้งรกรากเพื่อทำเหมืองแร่ในภูเก็ต ณ “หั่งอาหล่าย” หรือซอยรมณีย์ในปัจจุบัน โดยธรรมเนียมของชาวคณะงิ้ว เมื่อถึงช่วง เดือนเก้า สมาชิกในคณะจะต้องประกอบพิธีกินผัก สวดมนต์เพื่อบูชาเทพเจ้าต่างๆ ที่นับถือ รวมถึงการบูชากิ๊วอ๋องไต่เต่เพื่อสืบชะตา ขอพรให้อายุมั่นขวัญยืนและอยู่เย็นเป็นสุข
จนเมื่อชาวท้องถิ่นเลื่อมใสและเข้าร่วมพิธีนี้มากขึ้นเพราะเห็นว่าเป็นสิริมงคล จากประเพณี ในชุมชนเล็กๆ จึงขยายใหญ่ในวงกว้าง คนในชุมนจึงร่วมใจรวมแรงกันสร้างศาลเจ้าในบริเวณหั่งอาหล่ายเมื่อกว่า 110 ปีก่อน เพื่อเป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกินผัก ต่อมาได้ย้ายศาลเจ้ามาตั้ง ณ สถานที่ตั้งของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งในปัจจุบัน

 

ภาพศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง

 

           ประเพณีกินผักนั้นมีวัตถุหลากหลายประเภทเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่คนในชุมชนศรัทธา วัตถุหลายชิ้นยังใช้งานและอยู่ในศาลเจ้า ขณะที่บางชิ้นถูกนำมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุทั้งหลายดังกล่าว คนในชุมชนช่วยกันรวบรวมและสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ อาลักษณ์ ม้าทรง และผู้คนที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลดังกล่าวเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์คลังข้อมูลชุมชน เปิดให้คนที่สนใจเข้าไปสืบค้นและเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ ได้

           บทความนี้ได้คัดข้อมูลจากคลังข้อมูลชุมชนศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ที่รวบรวมโดยคนในชุมชนอาทิธำรงค์ บริเวธานันท์ ฐิติกร สุรจิรชนานนท์ ลิขิต หล้าแหล่ง เพื่ออยากจะเชิญชวนมาเรียนรู้และทำความใจประเพณีกินผัก ผ่านวัตถุสิ่งของ 11 ชิ้นของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ที่สะท้อนวิถีชีวิต ความเชื่อ และวัฒนธรรมของคนในชุมชน

 

1

ฐานเสาโก่เต๊ง

 

           เมื่อ “เสาโก่เต๊ง” ได้รับการยกตั้งตระหง่าน หมายความว่าพิธีกินผักเริ่มอย่างเป็นทางการแล้ว เสาโก่เต๊งเป็นการบอกเทพยดาให้รับรู้ว่า ณ ที่นี้มีการประกอบพิธีกินผัก นอกจากนี้ยังมีความหมายว่าเป็นการแจ้งให้ชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลทราบถึงตำแหน่งของศาลเจ้า เพื่อบอกทิศทางสำหรับผู้มาร่วมพิธีในยามค่ำคืน เพื่อการบูชาดวงดาวของศาสนาเต๋า โดยมีตะเกียงน้ำมัน 9 ดวง หรือ "เก้าเต๊ง" ที่แขวนบนเสาเป็นสัญลักษณ์ การบูชาดวงดาวในศาสนาเต๋า เป็นเครื่องพิธีสำหรับต่ออายุไขคนจีนโบราณ เสาโก่เต๊งและตะเกียงทั้ง 9 ดวง เป็นวัตถุสำคัญที่โดดเด่นในช่วงเทศกาลกินผัก ถือเป็นสัญลักษณ์และสัญญาณในช่วงเวลาการกินผักแก่ชุมชนโดยรอบ

 

2

เกี้ยว หรือ ตัวเหลี้ยน

           เกี้ยว ออกสำเนียงจีนฮกเกี้ยนว่า “ตัวเหลี้ยน” เกี้ยวเป็นเสมือนที่ประทับขององค์ พระสูงสุดในการประกอบพิธีกรรมคือ “องค์กิ้วอ๋องไต่เต่” เฉพาะอย่างยิ่งในพิธีกรรมการกินผักในขบวนอิ้วเก้งหรือการแห่พระรอบเมือง เมื่อตัวเหลี้ยนขององค์กิ้วอ๋องไต่เต่ผ่านไปยังที่ต่างๆ ทุกคนที่อยู่ในบริเวณนั้นจะนั่งลงเพื่อแสดงความเคารพต่อองค์กิ้วอ๋องไต่เต่ กระทั่งเกี้ยวขององค์กิ้วอ๋องผ่านไป

           คนจีนเชื่อถือเรื่องความเป็นมงคลเป็นสำคัญ ดังนั้นลวดลายแกะสลักประดับบนตัวเหลี้ยนล้วนเป็นลวดลายมงคลและมีความหมายทั้งสิ้น เช่น กิเลนหมายถึงมงคล กวางหมายถึงการเลื่อนยศ สิงโตหมายถึงอำนาจบารมี ม้าหมายถึงประสบความสำเร็จ ค้างคาว และสัญลักษณ์สิ่ว หมายถึงพรั่งพร้อมด้วยวาสนา อายุวัฒนะ พานผลไม้ ท้อ ทับทิม ลูกพลับ หมายถึงอายุมั่นขวัญยืน ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง และสมปรารถนาทุกประการ

 

3

กิ๊บสู่

           “กิ๊บสู่” เป็นภาษาฮกเกี้ยนสำเนียงท้องถิ่นภูเก็ต เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า “จิ๊บสู่” มีความหมายว่า “พลทหารกองเกียรติยศ” ใช้เรียกเครื่องประกอบเกียรติยศ ในริ้วขบวนแห่สมัยโบราณของจีน นำหน้าเกี้ยวที่ประทับของฮ่องเต้ ต่อมาศาลเจ้าต่างๆ ยืมรูปแบบเครื่องประกอบเกียรติยศนี้มาใช้ในการแห่เจ้าด้วยเช่นกัน

           ขบวนกิ๊บสู่ในการแห่เจ้าแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ คาย-ลอ-ป๋าย แปลว่าป้ายเบิกทาง และส่วนของอาวุธต่างๆ โดยป้ายเบิกทางจะมีจำนวนอย่างต่ำประมาณ 3 คู่ ประกอบไปด้วยป้ายซกเจ็ง แปลว่าโปรดอยู่ในความสงบ ถัดมาเป็นป้ายฮุย-ปี๊ แปลว่าโปรดหลีกทาง และปิดท้ายด้วยป้ายสลักพระนามองค์เทพที่เป็นประธานของศาลเจ้านั้น ๆ จากนั้นจะตามด้วยอาวุธโบราณนานาชนิด

           ป้ายเบิกทางชุดแรกของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ทำจากแผ่นไม้ทาสีขาวและตัวอักษรสีดำ แต่เนื่องจากมีขนาดใหญ่และหนักมาก จึงเปลี่ยนให้มีขนาดเล็กลงและเปลี่ยนสีป้ายเป็นสีแดง ตัวอักษรสีทอง ส่วนอาวุธในชุดแรกของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งมีเพียง 4 คู่เท่านั้น ประกอบไปด้วย โป้ถาว (ขวาน) เก็ก (ทวนวงเดือน) กิ่มกั๊วถุย (ค้อนทรงฟักทอง) และบุนปี๊ดชิ่ว (มือจับพู่กัน) ภายหลังได้มีการเพิ่มกวนโต๊ (ง้าว) และเล็งถาวก้วย (ไม้เท้าหัวมังกร) อย่างละคู่

 

4

ธงดำอาญาสิทธิ์

           “อ่อเหล่ง” เป็นคำที่ย่อมาจาก “ออเลงกี๋” แปลว่า “ธงดำอาญาสิทธิ์” เป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญของ "ฮ้วดกั๊ว" (ผู้มีวิชาทางไสยศาสตร์ทำหน้าที่บริกรรมคาถา อัญเชิญเทพเจ้าต่างๆ มาประทับทรงในมนุษย์) และ "ม้าทรง" ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ธงดำอาญาสิทธิ์มีคุณสมบัติลี้ลับหลายประการ เช่น ใช้ออกคำสั่ง รวมไปถึงควบคุมทหารสวรรค์ในการเคลื่อนและหยุดพล ใช้เป็นเครื่องขจัดปัดเป่าและเปิดทางในสถานที่ต้องการใช้ประกอบพิธีให้ปราศจากจากเสนียดจัญไรและสิ่งชั่วร้าย ใช้เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดคำสั่งและพลังจากองค์เทพที่มียศสูงกว่า สู่เทพที่มียศต่ำกว่าหรือจากองค์เทพสู่มนุษย์ เป็นต้น

 

           รูปทรงของอ่อเหล่งที่พบเห็นได้ทั่วไปจะมี 2 ลักษณะด้วยกัน ได้แก่ ทรงสี่เหลี่ยม (สีกั๊กกี๋) และทรงสามเหลี่ยม (ซ้ากั๊กกี๋) ทำจากผ้าสีดำเขียนอักขระและสัญลักษณ์ทางไสยศาสตร์ของจีนโบราณ การเขียนอ่อเหล่งมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปมากมาย ดังนั้นผู้ที่จะเขียน
อ่อเหล่งได้จะต้องมีวิชาความรู้ทางด้านภาษา และไสยศาสตร์ของจีนเป็นอย่างดี ผู้ที่รับจ้างเขียนอ่อเหล่งขายให้กับม้าทรงของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งยุคแรก ๆ คือ นายอ๋อหล่องคู้น (เสมียนจีนรุ่นที่ 3) และนายอ๋อเป็งคู้น ทั้งสองเป็นพี่น้องที่เข้ามาช่วยเขียนพู่กันจีน ให้กับศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งในช่วงพิธีกินผัก

 

5

กลอง หรือ กิมก้อ

           “กลอง” หรือ “กิมก้อ” ตัวกลองทำด้วยไม้ ขึงด้วยหนังทั้งสองหน้า กิมก้อเป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีทั้งหมด 5 ชิ้น ประกอบด้วย ก้อ โหล ตัวปั๊วะ เส้ปั๊วะ และท้าย เรียกรวมว่า “วงโหล่ก๊อตี่น” ใช้ในการบรรเลงประกอบการแห่ขบวนของเทพเจ้าในเทศกาลต่างๆ “กิมก้อ”
ใบที่หันด้านหนังกลองออกในภาพเป็น “กิมก้อ” ที่บริจาคโดย “คุณจวนหงวน” ร้านทองธเนศ มีอายุราว 50 ปี เป็นช่วงที่หลังคาศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งยังมุงด้วยสังกะสี สำหรับเด็กๆ ในชุมชน หรือเด็กๆในครอบครัวที่ถือศีลกินผัก การได้มีโอกาสเล่นดนตรีวงโหล่ก๊อ ในขบวน
แห่พระ เป็นความฝันที่อยู่ในใจแทบทุกคน

 

6

หัวมณฑล

           “หัวมณฑลห้าทิศ” ภาษาจีนออกเสียงว่า “หง่อเอี๋ยถ่าว” เป็นสัญลักษณ์แทนทิศทั้งห้า เพื่อการกำหนดขอบเขตหรือพื้นที่ปริมณฑลในประเพณีกินผัก บริเวณยอดหรือหัวมณฑลแต่ละทิศเป็นรูปแม่ทัพ ซึ่งมีสีของใบหน้า สีธงประจำทิศ กำลังทหารรักษาทิศ และธาตุในโลกทัศน์แบบจีน

ทิศเหนือ แม่ทัพผู้รักษาทิศ ชื่อ “ปักเอี๋ย” ใช้สัญลักษณ์ ธงสีดำคุมกำลังทหาร 55,000 นาย (ธาตุน้ำ)

ทิศตะวันออก แม่ทัพผู้รักษาทิศ ชื่อ “ตังเอี๋ย” ใช้สัญลักษณ์ธงสีเขียว คุมกำลังทหาร 99,000 นาย (ธาตุไม้)

ทิศใต้ แม่ทัพผู้รักษาทิศ ชื่อ “ลำเอี๋ย” ใช้สัญลักษณ์ ธงสีแดง คุมกำลังทหาร 88,000 นาย (ธาตุไฟ)

ทิศตะวันตก แม่ทัพผู้รักษาทิศ ชื่อ “ส้ายเอี๋ย” ใช้สัญลักษณ์ธงสีขาว คุมกำลังทหาร 66,000 นาย (ธาตุทอง) บริเวณกลางศาลเจ้า แม่ทัพผู้รักษาทิศ ชื่อ “ตงเอี๋ย” ใช้สัญลักษณ์ ธงสีเหลือง คุมกำลังทหาร 33,000 นาย (ธาตุดิน)

           หัวมณฑลทั้ง 5 ยังใช้เป็นอาวุธในการแสดงอิทธิฤทธิ์ของร่างทรงองค์พระในพิธีกรรมกินผัก โดยใช้ปลายของมณฑลที่เป็นเหล็กแหลมแทงทะลุแก้มทั้งสองข้าง ในอดีตการแสดงอิทธิฤทธิ์ขององค์พระใช้เพียงเหล็กแหลมของหัวมณฑลเท่านั้น

 

7

ฮวดโสะ

           “ฮวดโสะ” คือเชือกถักยาวลักษณะเดียวกับแส้ มีด้ามจับแกะสลักเป็นรูปสัตว์สำคัญตามความเชื่อแบบเต๋า ที่พบบ่อยจะแกะสลักเป็นหัวมังกร หรืองู เป็นอุปกรณ์สำหรับฮวดกั๊วหรือผู้เก่งกล้าทางวิชาอาคมหรือม้าทรง โดยจะใช้คู่กับธงดำอาญาสิทธิ์ ในการอัญเชิญเทพเจ้า เปิดประตูสวรรค์ ปัดรังควาน เป็นต้น โดยจะใช้ฟาดหรือสะบัดลงบนพื้น ให้เกิดเสียงในอากาศควบคู่กับการร่ายคาถาอาคม

 

8

ลูกบอลตะปู

           “ทิกิ๋ว” หรือ ลูกบอลตะปู ใช้สำหรับเป็นอาวุธของม้าทรง ในการแสดงอิทธิฤทธิ์ในขณะประทับทรง ซึ่งเป็นศรัทธาและความเชื่อของผู้นับถือ พิธีการแสดงอิทธิฤทธิ์เรียกว่า “ต้าวเลายัวะ” หรือ “เฮี่ยนสินถ้อง” จะมีการต้าวเลายัวะเมื่อศาลเจ้ามีพิธีกรรมสำคัญ การต้าวเลายัวะ จะมี “ฮ้วดกั๊ว” คอยบริกรรมคาถาอยู่โดยรอบ ปากบริกรรมคาถา มือโบกสะบัดด้วย “อ่อเหล่ง”และ “ซัดเอี่ยมบี้” เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายเข้ามาทำลายพิธีกรรมและขจัดความเจ็บปวดออกไปด้วย การแสดงอิทธิฤทธิ์โดยการเหวี่ยงลูกบอลตะปู ลงกลางหลังจำนวนหลายครั้งติดต่อกันต่อหนึ่งยก ลูกบอลตะปูจะมีความยาวของหนามเหล็กสั้น-ยาวไม่เท่ากัน และเรียงห่างกัน เมื่อร่างทรงใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะดังกล่าว จะได้รับการบาดเจ็บมาก เพราะเหล็กที่ยาวกว่าสามารถปักบนแผ่นหลังซึ่งก่อให้เกิดบาดแผลลึก “แปะกุ่ย” ผู้อาวุโส ให้ข้อมูลว่า “โกโป้”
ร่างทรง “องค์พระบกเชี้ยะ” แสดงอภินิหารโดยการใช้ “ทิกิ๋ว” ที่มีเหล็กยาว-สั้น ไม่เท่ากัน และเหล็กห่างกัน ฟาดและทุ่มไปที่แผ่นหลังก่อให้เกิดบาดแผลลึก แต่บาดแผลก็สมานกันโดยใช้เวลาไม่นาน

 

9

กระทะใบบัว และถังไม้ใส่ข้าว

           “กระทะใบบัว” ใช้สำหรับหุงข้าว ในงานเทศกาลกินผัก ผู้ทำหน้าที่หุงข้าวต้องมีฝีมืออย่างสูง อาทิ รู้การใช้ไฟ ปริมาณน้ำ ปริมาณข้าวสารในการหุงข้าว ก่อนการเปิดครัวของศาลเจ้าในเทศกาลกินผัก ต้องมีการทำพิธีบูชาเทพเจ้าเตาไฟ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่พ่อครัวแม่ครัว รวมถึงเป็นการแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าผู้ดูแล การหุงข้าวจึงต้องพิถีพิถันเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ไม่ให้ส่งผลต่อการรองรับผู้มารับอาหารจากศาลเจ้า และสามารถรับรองได้ว่าปราศจากอาหารที่เป็นข้อห้ามอย่างแน่นอน อดีตผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าฝีมือในการหุงข้าวได้อร่อยคือ นายออง้วน แซ่เอี๋ยว นอกจากใช้สำหรับหุงข้าว กระทะยังใช้สำหรับต้มน้ำมันยา สำหรับร่างทรงองค์พระที่แสดงอภินิหารลงไปแช่ เพื่อสมานร่องรอยแผลที่เกิดจากการแสดงอิทธิฤทธิ์

           ในอดีตเมื่อหุงข้าวได้ที่แล้ว พ่อครัวนำข้าวที่หุงถ่ายใส่ถังไม้ เพื่อตักแจกผู้ที่มารับอาหารจากศาลเจ้า ถังใส่ข้าว 1 ถัง สามารถใส่ข้าวได้ 2 กระทะ กระบวนการก่อนนำถังไม้มาใช้ มีการนำถังไปแช่น้ำ ให้ไม้ขยายตัวเพื่ออุดรอยรั่วต่างๆ จากนั้นนำมาตากแดด ทำให้ไม้อยู่ตัวพร้อมสำหรับนำมาใช้งาน ในอดีตบ้านที่ทำถังไม้ เป็นบ้านเลขที่ 12/14 ตั้งอยู่ที่ตลาดเหนือ ปัจจุบันไม่มีการใส่ข้าวในถังไม่ดังเดิม เปลี่ยนมาใช้หุงด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า

 

10

ภาชนะ ถ้วย จาน ชาม

           “ภาชนะเครื่องถ้วย จาน ชาม” ใช้สำหรับใส่อาหารถวายองค์พระในศาลเจ้า ช่วงเทศกาลกินผักเครื่องใช้เหล่านี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเครื่องใช้อื่นๆ ในการประกอบพิธีกรรม เพราะการเลือกเครื่องถ้วยชามใส่อาหารนั้น เป็นอุบายเกี่ยวข้องกับความพิถีพิถัน งดงามที่สุด ดีที่สุด เพื่อถวายแด่องค์พระ ดังนั้นอาหารและภาชนะ จึงแสดงถึงความศรัทธาที่เป็น เนื้อนาเดียวกัน

 

11

แบบพิมพ์ไม้ หรือ ฮู้อิ่น

           “แบบพิมพ์ไม้” หรือฮู้อิ่น สลักอักขระยันต์ตามความเชื่อแบบเต๋า มีชื่อเทพเจ้าหรืออักขระที่แสดงถึงวัตถุประสงค์ในการใช้งานของยันต์ เช่น ป้อเบ๋งฮู้ (ฮู้ป้องกันตัว) ฮู้จุ้ย (ฮู้สำหรับเสกน้ำ) เส้เจ็งฮู้ (ฮู้สำหรับชำระล้าง) เป็นต้น ฮู้อิ่นที่ปรากฏใช้สำหรับพิมพ์ยันต์ (ฮู้) ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งมีการพิมพ์กิ๊วอ๋องฮู้ และนำฮู้เข้าร่วมพิธิสำคัญ เช่น พิธีอิ้วเก้ง พิธีป้ายชิดแช้ แล้วนำมาแจกจ่ายให้ผู้เข้าร่วมงานกินผักเพื่อความเป็นสิริมงคล

 

อ้างอิง

ไชยยุทธ ปิ่นประดับ. (2540). ประเพณีกินผัก. ภูเก็ต: สภาวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต.

ถาวร สิกขโกศล. (2557). เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้. กรุงเทพฯ: มติชน.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.(2564). ประเพณีกินเจและกินผัก. เข้าถึงจากฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่น: https://www.sac.or.th/databases/rituals/detail.php?id=91

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.(2564). พิพิธภัณฑ์จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง. เข้าถึงจากฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น: https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1572

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.(2564). ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง. เข้าถึงจากคลังข้อมูลชุมชน: https://communityarchive.sac.or.th/community/SanChaoChuituitaobokeng

 


 

ผู้เขียน

ปณิตา  สระวาสี

นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

กราฟิก

ชนาธิป  ทองจันทร์

 

ป้ายกำกับ กินเจ กินผัก ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง วัตถุวัฒนธรรม ปณิตา สระวาสี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share