เรือช้อนสนั่นกับวิถีชีวิตของชุมชนบ้านกง จังหวัดสุโขทัย

 |  มรดกวัฒนธรรม และภูมิปัญญา
ผู้เข้าชม : 362

เรือช้อนสนั่นกับวิถีชีวิตของชุมชนบ้านกง จังหวัดสุโขทัย

           ชุมชน “บ้านกง” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม ในเขตตำบลกง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย วิถีชีวิตของชาวชุมชนจึงสัมพันธ์อยู่กับแม่น้ำยมอย่างใกล้ชิด จากการสอบถามชาวชุมชน แม่น้ำยมเป็นเส้นทางการคมนาคมระหว่างชุมชนบ้านกงและชุมชนอื่นก่อนที่ถนนจะได้รับการพัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษ 2500 และที่สำคัญ แม่น้ำยมเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวชุมชน นั่นคือ การทำประมงพื้นบ้าน

           การทำประมงพื้นบ้านของชาวชุมชนบ้านกงในช่วงก่อนทศวรรษ 2510 หรือราว 50 ปีมาแล้ว ในรอบหรือช่วงเวลา 12 เดือน ชาวชุมชนจะมีรูปแบบการทำประมงด้วยอุปกรณ์หาปลาที่แตกต่างกันตามระดับน้ำในแม่น้ำยม เช่น การวางลอบ การลงข่าย หรือการช้อนสนั่น เมื่อหาปลามาได้ชาวชุมชนก็จะนำมาถนอมอาหารให้สามารถรับประทานได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นปลาแห้ง ปลาย่าง ปลาร้า และน้ำปลา โดยเฉพาะปลาสร้อยถือเป็นปลาที่มีจำนวนมาก “ปลาชุมจนกระทั่งว่าถ้าตกเบ็ดหรือทอดแหได้ปลาตัวเล็กติด เขาไม่เอาโยนทิ้งน้ำไปแล้วเอาปลาตัวโต ๆ” (จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ, 2547, น. 32)

           สำหรับปลาแห้ง ปลาย่าง ปลาร้า และน้ำปลา อันเป็นผลผลิตจากการทำประมงพื้นบ้านนี้ ชาวชุมชนบ้านกงจะนำเอาไปแลกข้าวกับชาวชุมชนที่ประกอบอาชีพทำนาในท้องที่ใกล้เคียงอำเภอกงไกรลาศ เช่น ชุมชนป่าแฝก บ้านไกร กกแรด และชุมชนที่ไกลออกไปในท้องที่อำเภอพรหมพิราม และอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ทั้งนี้ ยังเคยมีบันทึกว่า เคยมีคนจากพิษณุโลกเดินทางนำมะพร้าวมาแลกกับปลาย่างอีกด้วย (จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ, 2547, น. 34, 44) เหล่านี้จึงสามารถกล่าวได้ว่า การทำประมงพื้นบ้านของชาวชุมชนบ้านกงในช่วงก่อนทศวรรษ 2510 อยู่ในระบบเศรษฐกิจเพื่อยังชีพ อันเป็นลักษณะร่วมกันของชุมชนชนบทในเขตภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก และสุโขทัย (จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ, 2546)

           ในช่วงทศวรรษ 2500 ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ดังปรากฏในแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509) ของรัฐบาลจอมพลสฤษด์ ธนะรัชต์นั้น ถนนถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ (คากิซากิ, 2560, น. 160) ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ถนนสิงหวัฒน์ในฐานะทางหลวงแผ่นดินเชื่อมระหว่างจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดสุโขทัยได้รับการบูรณะจากเดิมที่เป็นถนนลูงรังและลาดยางบางระยะให้เป็นทางหลวงมาตรฐานสูงแล้วเสร็จ ใน พ.ศ. 2505 อันทำให้การคมนาคมระหว่างจังหวัดสามารถเดินทางได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเดิมจะสามารถเดินทางได้เฉพาะช่วงฤดูแล้งเท่านั้น (ภัทรา ศักดิ์ศรีพาณิชย์, 2554, น.70-71)

           กล่าวได้ว่า การที่ถนนสิงหวัฒน์ได้รับการบูรณะให้เป็นถนนมาตรฐานสูงและสามารถใช้คมนาคมได้ตลอดทั้งปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา คือ ปัจจัยสำคัญอันทำให้เกิดตลาดรับซื้อปลาสดในชุมชนบ้านกงขึ้นในช่วงทศวรรษ 2510 ตลาดแห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม ร้านรับซื้อปลาสดเหล่านี้จะรับซื้อปลาจากชาวชุมชนเพื่อนำมาแปรรูปเป็นปลาแห้ง ปลาย่าง ปลาร้า และน้ำปลา จากนั้นจึงส่งไปขายยังจังหวัดใกล้เคียง เช่น พิษณุโลก พิจิตร อุตรดิตถ์ หรือจังหวัดในเขตภาคเหนือและภาคกลาง เช่น แพร่ น่าน ลำปาง ตาก เชียงใหม่ ลพบุรี สิงห์บุรี (จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ, 2546, น. 147) ทั้งนี้ จากการสอบถามชาวชุมชนพบว่า ตลาดรับซื้อปลาสดใช่มีแต่เพียงร้านที่ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านกง ยังมีพ่อค้ารับซื้อปลาสดจากจังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และพิจิตร เดินทางเข้ามารับซื้อปลาสดถึงในชุมชนอีกด้วย

           อย่างไรก็ตาม การเกิดตลาดรับซื้อปลาสดในชุมชนเกาะกงดังกล่าวน่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญอันยังให้ชาวชุมชนปรับปรุงวิธีการทำประมงพื้นบ้าน คือ การช้อนสนั่น โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้แก่ เครื่องยนต์เบนซิน หรือที่ชาวชุมชนเรียกว่า “เครื่องบิ๊ก” มาประกอบที่ท้ายเรือช้อนสนั่นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจับปลาให้ได้ในปริมาณมากขึ้น

           ในการปรับปรุงการช้อนสนั่นนี้ ชาวชุมชนเล่าว่า นอกจากการนั่งรถโดยสารประจำทางสายกงไกรลาศ-สุโขทัย ไปยังร้านค้าในตัวเมืองสุโขทัย เพื่อซื้อเครื่องยนต์เบนซินหรือ “เครื่องบิ๊ก” มาประกอบเข้าที่ท้ายเรือช้อนสนั่นแล้ว ชาวชุมชนจะต้องนั่งรถโดยสารประจำทางสายกงไกรลาศ-พิษณุโลก ไปยังร้านค้าในตัวเมืองพิษณุโลก เพื่อซื้ออวนรูปสามเหลี่ยมที่มีลักษณะคล้ายถุงรูปสามเหลี่ยมมาทำ “ปากสนั่น” และอีกส่วนหนึ่ง คือ “งาสนั่น” ที่ทำมาจากไม้ไผ่ลำตรงที่มีความหนาและแข็งแรง ความยาว 8-10 เมตร นำมามัดเป็นง่ามเพื่อยึดอวนไว้นั้นสามารถหาได้จากชุมชนใกล้เคียงในพื้นที่ตำบลหนองตูม อำเภอกงไกรลาศ เพื่อเพิ่มความทนทานต่อแรงเดินทางเรือจากเครื่องยนต์ในแม่น้ำยม และยกอวนที่เต็มไปด้วยปลาขึ้นเป็นระยะ ๆ

ภาพที่ 1 เรือช้อนสนั่น

ที่มา: https://group1-51.blogspot.com/2008/09/1.html


           ลุงเลาะ ชาวชุมชนบ้านกง วัย 70 ปี เล่าว่า ตนเกิดและเติบโตที่บ้านกง เริ่มช่วยพ่อและแม่หาปลามาตั้งแต่เด็ก แต่ครอบครัวเริ่มใช้ “เครื่องบิ๊ก” มาติดที่ท้ายเรือช้อนสนั่น ตอนที่ตนอายุ 18 ปี หรือประมาณ พ.ศ.2515 ตอนนั้นน้ำมันเบนซิน ราคาลิตรละ 2 บาท 1 วัน สำหรับครอบครัวของลุงเลาะจะใช้น้ำมันประมาณ 10 กว่าลิตร หรือวันละ 20 กว่าบาท โดยในช่วงตลอดน้ำลดตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม จะถือเป็นที่ช่วงเวลาที่ช้อนสนั่นได้ปลามาก ในช่วงเวลา 4 เดือน ด้วยเพราะว่าปลาสร้อยที่เข้าไปวางไข่ในท้องทุ่งที่น้ำท่วมจะว่ายออกมาและกลับสู่แม่น้ำ โดยแต่ละวันลุงเลาะและครอบครัวจะออกเรือช้อนสนั่นตั้งแต่ช่วงเช้ามืด เมื่อช้อนสนั่นได้ปลาสร้อยเต็มลำเรือในช่วงก่อนเที่ยง ก็จะนำปลามาขายที่ร้านรับซื้อปลา แล้วจากนั้นก็จะลงเรือไปช้อนสนั่นกันต่ออีกหนึ่งรอบ จนกระทั่งเวลาเย็นจึงนำปลาสร้อยที่เต็มลำเรือมาขายอีกครั้ง ตลอดช่วงเวลาสามเดือนลุงเลาะจะสามารถหาปลาสร้อยได้ระหว่าง 100-250 ปี๊บต่อวัน และขายในราคาปี๊บละ 2 บาท อย่างไรก็ดี แม้ว่าปลาสร้อยจะเริ่มน้อยลงหลังจากช่วงเดือนมกราคมแล้ว ทว่าการช้อนสนั่นนี้จะยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งน้ำในแม่น้ำยมแล้งในช่วงเดือนเมษายน

           กล่าวได้ว่า เรือช้อนสนั่นติดเครื่องยนต์ อันเป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับปรุงวิธีการหาปลาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของการปรับตัวจากการอยู่ในเศรษฐกิจเพื่อยังชีพเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้าของชาวชุมชนบ้านกงในช่วงทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา

           ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การทำประมงพื้นบ้านด้วยเรือช้อนสนั่นเปลี่ยนแปลงไป ด้วยจำนวนของปลาในแม่น้ำยมน้อยลงอย่างมาก ซึ่งสืบเนื่องมาจากปัจจัยสำคัญคือการลดลงของพื้นที่ท้องทุ่งน้ำท่วมถึงในช่วงฤดูการวางไข่ของปลา ด้วยเหตุนี้ รายรับจากการหาปลาจึงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนของบุตรหลาน ชาวชุมชนบ้านกงส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพประมงจึงขายเรือและเครื่องยนต์ แล้วหันไปประกอบอาชีพอื่น เช่น การรับจ้างทั่วไป การรับเหมาก่อสร้าง หรือการค้าขาย

ภาพที่ 2 เรือช้อนสนั่นแห่งชุมชนบ้านกงในปัจจุบัน

ที่มา: วิกิชุมชน “บ้านกง” https://wikicommunity.sac.or.th/community/1222


           ในทุกวันนี้ วิถีชีวิตในการทำประมงพื้นบ้านด้วยการใช้เรือช้อนสนั่นของชาวชุมชนบ้านกงยังคงมีให้เห็นอยู่ในฐานะการประกอบอาชีพเสริมของชาวชุมชนบางส่วนในช่วงเดือนตุลาคมถึงมกราคม อันเป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำยมมีมากที่สุดในช่วงปี แต่คงเห็นเรือช้อนสนั่นเพียงไม่ถึง 20 ลำ ซึ่งแต่เดิมเคยมีมากกว่า 100 ลำ ลอยลำและวิ่งหาปลาในแม่น้ำยม ณ ชุมชนบ้านกง จังหวัดสุโขทัย


เอกสารอ้างอิง

คากิซากิ, อิจิโร. (2560). จากทางรถไฟสู่ทางหลวง: ความเปลี่ยนแปลงนโยบายการคมนาคมและการหมุนเวียนสินค้าของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2478-2518. นนทบุรี: ต้นฉบับ.

จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ, (บก.). (2547). วัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำ. พิษณุโลก: โครงการสืบค้นวัฒนธรรมลุ่มน้ำ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.

จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ. (2546). เศษฐกิจชุมชนหมู่บ้านภาคเหนือตอนล่าง: ลักษณะ พัฒนาการ และการปรับตัว. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์.

ภัทรา ศักดิ์ศรีพาณิชย์ (2554). การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมเมืองพิษณุโลก พ.ศ.2500-2542 [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศึกษา, มหาวิทยาลัยศิลปากร].


ผู้เขียน
กฤชกร กอกเผือก
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ เรือช้อนสนั่น วิถีชีวิต ชุมชน บ้านกง กงไกรลาศ สุโขทัย กฤชกร กอกเผือก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share