กินเจ

12222 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : กินผัก
เดือนที่จัดงาน : ตุลาคม
เวลาทางจันทรคติ : ขึ้น 1 ค่ำ – 9 ค่ำ เดือน 9 จีน
สถานที่ : กะทู้ จ.ภูเก็ต
: หลักแปด อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชุบรี
ภาค / จังหวัด : ภาคใต้
: ภาคตะวันตก
: ภูเก็ต
: ราชบุรี
ประเภท : ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์,ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : เจ,กินผัก,จีน,ภูเก็ต,อาหาร
ผู้เขียน : ปณิตา สระวาสี
วันที่เผยแพร่ : 29 ก.ย. 2559
วันที่อัพเดท : 29 ก.ย. 2559

ประเพณีกินเจและกินผัก

คำว่า “เจ” เป็นคำยืมจากภาษาจีนแต้จิ๋ว พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้นิยามไว้ว่า “เจ น. อาหารที่ไม่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์และผักบางชนิด เช่น กระเทียม กุยช่าย ผักชี ส่วนความหมายที่เข้าใจง่ายในภาษาจีน คำว่า “เจ” แปลว่า การถือศีลเพื่อความบริสุทธิ์ หรือ เรียบร้อยสะอาดก็ได้

พิธีกินเจเป็นประเพณีที่มีความเป็นมายาวนาน มีหลากหลายที่มา สันนิษฐานว่าเริ่มมาจากชนชั้นปกครองของจีนแต่โบราณ โดยพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีส่วนทำให้การกินเจเผยแพร่ไปสู่ประชาชน ต่อมาศาสนาเต๋ารับเอามาและประยุกต์การกินเจในโอกาสต่างๆ

ต้นเค้าของประเพณีกินเจหรือเทศกาลกินเจ 1- 9 ค่ำเดือนเก้าในปัจจุบัน มาจากการบูชาดาวเป๋ยโต่ว(ดาวกระบวยเหนือหรือดาวจระเข้) มาแต่โบราณ  ด้วยที่เดือนเก้าอากาศเริ่มเย็น ผู้คนกลัวโรคภัยไข้เจ็บจึงเกิดเทศกาลฉงหยาง 9 ค่ำเดือน 9 เป็นเทศกาลกลัวตายและป้องกันโรคภัยมาตั้งแต่ปลายราชวงศ์ฮั่น ประกอบกับเดือนเก้าดาวเป๋ยโต่วหายไปจากท้องฟ้ายามค่ำ ตามศาสนาเต๋าเชื่อว่าท่านลงมาตรวจโลกมนุษย์ จึงจัดพิธีบูชาดาวเป๋ยโต่ว 1-9 ค่ำร่วมด้วย เพื่อให้ท่านช่วยคุ้มครองให้พ้นจากโรคภัยและอันตรายต่างๆ  ทั้งนี้นักวิชาการจีนส่วนมากสรุปกันว่าเทศกาลกินเจเดือนเก้ามีที่มาจากประเพณีบูชาดาวของจีนโบราณ แต่พัฒนาเป็นเทศกาลหรือประเพณีอย่างสมบูรณ์เพราะศาสนาเต๋า

เมื่อประเพณีกินเจเดือนเก้าแพร่หลาย และได้รับวัฒนธรรมจากท้องถิ่นต่างๆ ตามยุคสมัย ประเพณีกินเจจึงปรับเปลี่ยนไปตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น หรือมีพิธีกรรมบางอย่างของท้องถิ่นเข้ามาผสมด้วย อาทิ

ตามประเพณีจีนฮกเกี้ยน วัน 9 ค่ำเดือน 9 เป็นวันประสูติเทพนาจา วันเกิดเทพจะเป็นวันชุมนุมและสำแดงความศักดิ์สิทธิ์ของบรรดาเทพ ในขบวนแห่เจ้าจึงมีร่างทรงหรือม้าทรง มาแสดงอิทธิฤทธิ์  การแห่เจ้าในเทศกาลกินเจของมาเลเซียและภูเก็ตจะมีม้าทรงของเทพหรือเจ้าท้องถิ่น เช่น นาจา เห้งเจีย มากกว่าม้าทรงของกิ๋วฮ่องไต้เต่ (จิ่วหวงต้าตี้) เทพประจำเทศกาล

นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมบางอย่างของอั้งยี่เข้ามาผสม ใช้เทศกาลกินเจบูชาดาวแต่งชุดขาวไว้ทุกข์แก่ราชวงศ์หมิง นานวันเข้ากลายเป็นการโยงเอาเทพจักรพรรดิ(จิ่วหวง-กิ๋วฮ้วง) สร้างเป็นตำนานวีรชน 9 คนที่เป็นผู้คุ้มครองฮ่องเต้ราชวงศ์หมิงหนีออกทะเล แต่ถูกราชวงศ์ชิงตามล่าจึงพลีชีพ กลายเป็นตำนานหนึ่งที่มาของเทศกาลนี้ ผู้คนที่ร่วมพิธีกินเจจึงแต่งชุดขาว คาดผ้าเหลือง พันข้อมือด้วยผ้าขาวหรือผ้าปอ เหมือนชุดไว้ทุกข์ เช่น ที่มาเลเซีย และไทย แต่อย่างไรก็ดีอุดมการณ์การเมืองอั้งยี่ที่แฝงอยู่ในเทศกาลก็ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในพวกจีนโพ้นทะเล กลายเป็นกิจกรรมทางศาสนาในแบบท้องถิ่นมากกว่า

เทศกาลกินเจยังพัฒนากลายเป็นงานศาลเจ้าใหญ่ประจำปีของชุมชนโดยเฉพาะในไต้หวัน ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ มีระยะเวลาจัดงานยาวนานกว่า 10 วัน เริ่มตั้งแต่พิธีเชิญขบวนเสด็จในคืนวัน 30 ค่ำเดือน 8 ไปจนถึงพิธีส่งขบวนเสด็จสนวัน 9 ค่ำเดือน 9 โดยช่วงนี้โรงเจหรือศาลเจ้าจะคึกคักไปด้วยผู้คนที่มาร่วมงาน อย่างในมาเลเซียวันแห่เจ้าจะมีขบวนจากวัดไทยและวัดฮินดูมาร่วมด้วย ส่วนในไทยหลายแห่งมีพิธีทิ้งกระจาด ลอยกระทงตามประเพณีนิยมของท้องถิ่นรวมอยู่ด้วย เช่น โรงเจฮะอี่ตั๊ว หลักแปด อ.ดำเนินสะดวก ราชบุรี  โรงจ่าฉลอม จ.สมุทรสาคร

ประเพณีกินเจในไทย

ประเพณีกินเจที่เป็นที่รู้จักของคนส่วนใหญ่คือที่ภูเก็ต ซึ่งคนท้องถิ่นเรียกว่า “ประเพณีกินผัก” หรือ “เจี่ยะฉ่าย” วันประกอบพิธีตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ – 9 ค่ำ เดือน 9 จีน (เก้าโง้ย โฉ่ยอีดถึงโฉ่ยเก้า)  โดยคณะกรรมการของศาลเจ้า(อ๊าม,ฉ้ายตึ้ง) แต่ละท้องถิ่นร่วมกันจัดงานประกอบพิธีเจี่ยะฉ่ายให้กับกิ้วอ๋องเอี๋ย หรือกิ้วอ๋องไต่เต่ 

ที่มาของประเพณีกินผักในภูเก็ต สันนิษฐานว่ามาจากคณะงิ้วที่นำการกินเจมาเผยแพร่ โดยเกิดขึ้นที่หมู่บ้านไล่ทูหรือกะทู้ในปัจจุบัน  ในตอนนั้นเป็นยุคเฟื่องฟูของการทำเหมืองแร่ดีบุก มีคนจีนจากแถบฮกเกี้ยน ซัวเถา และเอ้หมึงอพยพเข้ามาเป็นแรงงานขุดแร่จำนวนมาก หมู่บ้านกะทู้ยังเป็นป่าทึบ มีไข้ป่าและโรคภัยไข้เจ็บสารพัด คนจีนในตอนนั้นมีความเชื่อและศรัทธาในเทพเจ้าประจำตระกูลหรือเทพที่คุ้มครองประจำหมู่บ้านอยู่ก่อนแล้ว ต่อมามีคณะงิ้วจากประเทศจีนมาเปิดการแสดงที่บ้านกะทู้ เนื่องจากเศรษฐกิจในหมู่บ้านอยู่ในขั้นดีมากสามารถอุดหนุนคณะงิ้วได้ตลอดทั้งปี หลังจากเปิดการแสดงระยะหนึ่งเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้คณะงิ้วนึกขึ้นมาได้ว่าพวกตนไม่ได้ประกอบพิธีเจี่ยะฉ่าย(กินผัก) ซึ่งเคยปฏิบัติมาทุกปีที่เมืองจีน จึงได้ตกลงกันประกอบพิธีเจี่ยะฉ่ายขึ้นที่โรงงิ้วนั่นเอง เพื่อขมาโทษด้วยสาเหตุต่างๆ และระลึกถึงกิ้วอ๋องเอี๋ยหรือกิ้วอ๋องไต่เต่ ต่อมาปรากฏว่าโรคภัยต่างๆ ที่หลายไปจากบ้านกะทู้ สร้างความประหลาดใจให้กับแก่ชาวกะทู้เป็นอย่างจาก จึงได้สอบถามจากคณะงิ้ว  คณะงิ้วจึงได้แนะนำการทำพิธีเจี่ยะฉ่ายอย่างย่อให้กับชาวจีนในกะทู้ ด้วยความเลื่อมใสของผู้คนประเพณีเจี่ยะฉ่ายหรือกินผักจึงแพร่หลายออกไปตามสถานที่ต่างๆ ต่อมาชาวกะทู้ไปสืบค้นเอากระถางธูปและตำรากินเจมาจากกังไส(เจียงซี) แต่ต่อมาก็มีปฏิสัมพันธ์กับจีนฮกเกี้ยนในมาเลเซียด้วย การกินเจของภูเก็ตจึงมีลักษณะร่วมกับมาเลเซียมากกว่ากรุงเทพฯหรือภาคกลาง เช่นเจ้าที่ไหว้ก็เป็น กิ้วอ๋องไต่เต่ ไม่ใช่ กิ๋วฮ้วงหุกโจ้วหรือกิ้วอ๊วงฮุดโจ้ว

นอกจากนี้ยังข้อปฏิบัติปลีกย่อยสำหรับบุคคลที่จะร่วมพิธีกินผัก ได้แก่

  • บุคคลที่อยู่ระหว่างการไว้ทุกข์ ห้ามเข้าร่วมพิธีกินผักโดยเด็ดขาด
  • บุคคลที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์กำลังจะคลอดบุตร เข้าร่วมพิธีกินผักได้ แต่จะไปไหว้พระที่ศาลเจ้า หรือไปดูการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในขณะที่พระเข้าทรงที่ศาลเจ้าไม่ได้
  • บุคคลที่มีประจำเดือน เข้าร่วมพิธีกินผักได้ แต่จะไปไหว้ศาลเจ้า หรือไปดูการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในขณะที่พระเข้าทรงที่ศาลเจ้าไม่ได้
  • บุคคลที่เข้าร่วมพิธีกินผัก ห้ามร่วมประเวณี ห้ามดื่มของมึนเมา ห้ามรับประทานอาหารคาวโดยเด็ดขาด
  • บุคคลที่เข้าร่วมพิธีกินผัก ต้องชำระร่างกายในสะอาดก่อนเข้าพิธีและรักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ
  • บุคคลที่เข้าร่วมพิธีกินผัก ต้องประพฤติชอบทั้งกาย วาจา และใจ

ส่วนประเพณีการกินเจของภาคกลาง มีรายละเอียดที่แตกต่างออกไป โดยมีการผสมผสานกับประเพณีท้องถิ่น เช่น ที่โรงเจฮะอี่ตั๊ว หลักแปด อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชุบรี เชื่อถือในเก้าอ๊วงฮุดโจ้ว หรือกิ้วอ๊วงฮุดโจ้ว ประกอบด้วยพระพุทธเจ้า 7 องค์และพระโพธิสัตว์อีก 2 องค์ รวมเป็นเก้าองค์ ซึ่งความเป็นไปของปวงมนุษย์ล้วนมาแต่กิ้วอ๊วงฮุดโจ้วทั้งนั้น ทุกปีในช่วงวันขึ้น 1-9 ค่ำเดือน 9 กิ้วอ๊วงฮุดโจ้วจะเสด็จลงมาเพื่อตรวจสอบคุณงามความดีและความชั่วร้ายต่างๆ และจะดลบันดาลให้เป็นไปตามกรรมนั้น พิธีกินเจที่หลักแปดจะเรียบง่าย ไม่มีการขบวนแห่ขบวนเทพที่แสดงอภินิหาร ก่อนวันสิ้นสุดจะมีการ ลอยกระทง ปล่อยเต่าสะเดาะเคราะห์ และเมื่อถึงวันสุดท้ายจะทำพิธีไหว้บรรพบุรุษ เผาเครื่องกระดาษส่งให้บรรพบุรุษ ตกบ่ายมีการโปรยทาน จากนั้นวันที่สิบมีการเผาเรือสำเภาที่สร้างขึ้นจากโครงไม้ไผ่หุ้มด้วยผ้า ภายในเต็มไปด้วยเครื่องกระดาษเพื่อส่งเจ้ากลับสู่สวรรค์

ขั้นตอนการประกอบพิธีกินผักของภูเก็ต

สำหรับขั้นตอนนี้เป็นตัวอย่างของพิธีกรรมกินผักในศาลเจ้าของภูเก็ต โดยก่อนวันเริ่มงาน ศาลเจ้าจะจัดการทำความสะอาดสถานที่ทั้งภายในและภายนอกโดยเตรียมการไว้อย่างน้อย 15 วัน นอกจากนี้ต้องเตรียมอาหารและเครื่องปรุง ธูปเทียน กระดาษทอง ลูกประทัด รูปโก้ยห่าน เป็นต้น และก่อนพิธีกินผัก 3 วัน ศาลเจ้าและประชาชนทั่วไปจะมาช่วยกันล้างศาลเจ้าทำความสะอาดภาชนะต่างๆ

ในวันยกเสาโก้เต้ง(เสาธงเทวดา) ศาลเจ้าจัดเตรียมของบูชาผักแห้ง ผลไม้สด ขนม ติดกระดาษเหลือง(เลี่ยนตุ่ย) ตามประตูและสถานที่ต่างๆ ภายในศาล ก่อน 5 โมงเย็น ผู้มีหน้าที่จะให้เด็กตีฆ้องจีนเรียกว่า “โหล” ไปตามถนนร้องบอกประชาชนให้ไปช่วยขึ้นเสาเทวดา และกิ่วอ๋องไต่เต่เรียกว่า “คี้โก้เต้ง” เมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าที่เลอไท(ฮวดกั้ว) ทำพิธีเชิญประชาชนช่วยกันดึงเชือกและยันเสาขึ้นจนเป็นที่เรียบร้อย จึงนำตะเกียงทั้งเก้าดวงเตรียมไว้สำหรับจะดึงขึ้นสู่ยอดเสาก่อนพิธีเชิญพระกิ้วอ๋องไต่เต่เข้าศาลเจ้า  ประชาชนที่มีรูปเทพเจ้าบูชาตามบ้านหรือห้างร้านจะจุดธูป 3 ดอก บอกกล่าวอัญเชิญเทพเจ้าเหล่านั้นไปร่วมพิธีกินผักที่ศาลเจ้า

ช่วงค่ำเวลาราว 23.00 น. เป็นพิธีโก้ยเช่งเหี้ยว(เครื่องหอม)ศาลเจ้า ครั้นถึงเวลา 00.15 น. เที่ยงคืนของวันขึ้น 1 ค่ำตามปฏิทินจีน เป็นพิธีเชิญยกอ๋องส่งเต่(พระอิศวร) โดยทำพิธีไหว้เทพเจ้าตามพระที่ประทับอยู่ในศาลเจ้าให้รับทราบถึงขั้นตอน เมื่อถึงเวลาอัญเชิญเทวดายกอ๋องส่งเต่(พระอิศวร) มาเป็นประธานใหญ่ โดยการเสี่ยงทายว่าท่านมาประทับหรือยัง จากนั้นจึงอัญเชิญหม้อไฟไม้หอม กระถางธูปและชื่อเทวดาไปประดิษฐานบนแท่นบูชา

หลังจากเชิญเทวดามาแล้ว ผู้มีหน้าที่มาช่วยในศาลเจ้าจะต้องเตรียมจุดตะเกียงทั้งเก้าดวงขึ้นไว้เพียงครึ่งเสา จากนั้นเจ้าหน้าที่เลอไทจะทำพิธีไหว้ตามหน้าพระอีกตามขั้นตอนจนถึงเวลาเชิญกิ้วอ๋องไต่เต่ โดยการเสี่ยงทาย เมื่อทำพิธีเรียบร้อยแล้วจึงอัญเชิญหม้อไฟไม้หอม กระถางธูปของกิ้วอ๋องไต่เต่ พร้อมกับชิ้วหลอหรือกระถางธูปมือถือ เข้าไปยังห้องประดิษฐานชั้นในเรียกว่า “ไล่ตัว” จากนั้นทำพิธีสวดมนต์ดึงตะเกียงทั้งเก้าดวงขึ้นสู่ยอดเสา เป็นอันว่าพิธีการกินผักได้เริ่มขึ้นแล้ว

เมื่อพิธีกินผักเริ่มแล้ว ประชาชนจะมาร่วมกันทำบุญ แจ้งชื่อจำนวนคนจำนวนวัน รายชื่อการทำบุญจะนำไปเสี่ยงทายและคัดเลือกเตรียมไว้ช่วยเหลืองานศาลเจ้าในปีต่อไป

วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 จีน ฝ่ายโรงครัวได้จัดหุงหาอาหารเตรียมไว้สำหรับคนที่จะนำปิ่นโตมารับอาหารจากโรงครัวไปรับประทานที่บ้าน

วันขึ้น 3 ค่ำ เวลา 15.00 น.จะทำพิธีเชิญเทพที่มาร่วมพิธีออกทำการลงหลักปักเขต รอบอาคารศาลเจ้าตามทิศต่างๆ ด้วย “เต้กฮู้”(ยันต์ไม้ไผ่” ผ่าซีกเขียนชื่อเทพไปปักตามจุดสำคัญบริเวณศาลเจ้า ถือเป็นการปล่อยทหารออกรักษาการณ์ตามทิศต่างๆ และจะทำแบบนี้ทุกวัน และจากนั้นจะทำพิธีเบิกเนตรรูปเทพเจ้าใหม่ ซึ่งประชาชนจะอัญเชิญไปบูชาตามบ้านหรือห้างร้านต่างๆ  และช่วงค่ำราว 19.30 น. เป็นพิธีเชิญล่ำเต้าปั๊กเต้า(ผู้ถือบัญชีคนเกิดและคนตาย) โดยทำพิธีเชิญเทพเข้าประทับทรงจัดขบวนแห่ไปอัญเชิญผู้ถือบัญชีคนเกิดคนตาย นอกจากนี้อาจมีพิธีกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น ขึ้นบันไดมีด  เดินผ่านสะพานตะปู อาบน้ำมัน ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้ขึ้นอยู่กับแต่ละศาลเจ้า เพื่อแสดงความศักดิ์สิทธิ์ของพระ(เทพ) นอกจากนี้ยังมีพิธีโก้ยโห้ยหรือพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ เช่น การลุยไฟ

วันขึ้น 9 ค่ำ ก่อนเที่ยงคืน ศาลเจ้าจะจัดโต๊ะทำพิธีส่งพระขึ้นสวรรค์ คือเชิญพระอิศวรกลับขึ้นสวรรค์  รายงานจำนวนผู้ที่มาร่วมพิธีกินผัก ให้พระได้รับทราบ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะช่วยกันฉีกกระดาษเหลือง(อึ่งจั้ว) เพื่อนำไปเผาพร้อมกับส่งให้กิ้วอ๋องไต่เต่ต่อไป 

วันขึ้น 10 ค่ำ พิธีลงเสาเทวดาและกิ้วอ๋องไต่เต่ ทุกศาลเจ้าเมื่อเสร็จจากพิธีกินผักจะต้องเขียนกระดาษแดง(เลี่ยนตุ่ย) ติดตามประตูต่างๆ ทุกแห่ง จัดเก็บข้าวของที่ได้นำมาใช้ในงาน ประชาชนจะมาช่วยกันลงเสาเทวดากับกิ้วอ๋องไต่เต่เรียกว่า “เซียโก่เต้ง” หน้าศาลเจ้าลงแล้วห้ามเก็บเข้าที่ตามเดิม เชิญเทพเจ้าตามทิศต่างๆ กลับเข้ากรมกอง ประชาชนที่เชิญรูปพระหรือเทพต่างๆ ที่นำไปร่วมพิธีเชิญกลับบ้าน เป็นอันสิ้นสุดพิธีกินผัก

ศาลเจ้าในภูเก็ตที่ประกอบพิธีกินผักได้แก่ ศาลเจ้ากะทู้ ศาลเจ้าจุ้ยตุ้ย  ศาลเจ้ามูลนิธิเทพราศีบางเหนียว ศาลเจ้าท่าเรือ สาลเจ้าซุ่ยบุนต๋อง ศาลเจ้าเชิงทะเล ศาลเจ้ายกเค่เก้ง และศาลเจ้าหลิมฮู้ใท้ซือ อย่างไรก็ดีเมื่อประเพณีการกินผักของภูเก็ตและในบางจังหวัดของภาคใต้เช่น ตรัง และพังงา เริ่มได้รับความนิยม จุดประสงค์การจัดงานบางแห่งเริ่มให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเพณีปฏิบัติที่สืบกันมา เช่น การพายามจะย้ายพิธีกินเจไปจัดริมถนนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว การสร้างความแปลกใหม่ด้วยการสร้างอภินิหารที่โลดโผนของม้าทรง

อาหารเจ

การกินเจจะไม่กินผักที่มีกลิ่นฉุน ได้แก่ กระเทียม หัวหอม กุยช่าย หลักเกียว(คล้ายกระเทียมแต่เล็กกว่า) และใบยาสูบ เพราะผักเหล่านี้คนจีนเชื่อว่ามีสารพิษทำลายพลังธาตุทั้งห้าในร่างกาย กระเทียมทำลายธาตุไฟ ทำให้หัวใจทำงานไม่ปรกติ  หัวหอมทำลายธาตุน้ำ ทำให้ไตทำงานไม่ปรกติ  กุยข่ายทำลายธาตุไม้ทำให้ตับทำงานไม่ปรกติ หลักเกียวทำลายธาตุดินทำให้ม้ามทำงานไม่ปรกติ ใบยาสูบทำลายธาตุโลหะ ทำให้ปอดทำงานไม่ปรกติ  การกินเจนั้นงดเว้นการกินเนื้อสัตว์ ไม่กินไข่ และไม่กินผักทั้งห้าชนิดดังกล่าว และต้องถือศีลด้วยจึงจะครบถ้วน นอกจากนี้การกินเจของแต่ละท้องถิ่นอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกัน เช่น ประเพณีกินผักของภูเก็ต ผู้กินเจต้องไปรับอาหารจากโรงครัวของแต่ละศาลเจ้าโดยตรงเท่านั้น เป็นต้น (จิตรา ก่อนันทเกียรติ, 2539)

ช่วงเวลา 20 ปีมานี้ ประเพณีการกินเจได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะในหมู่คนจีนแต่รวมถึงคนไทยชนชั้นกลางโดยทั่วไป เนื่องจากเชื่อว่าการกินเจลดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เป็นการล้างพิษล้างท้องล้างสำไส้จากการกินอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ แต่โดยส่วนใหญ่คือเป็นกระแสความนิยมการรับประทานอาหารเจตามบริบทสังคมปัจจุบันที่หันมาห่วงใยสุขภาพ  เคลื่อนไปจากเป้าหมายเดิมที่ยึดถือเรื่องการปฏิบัติถือศีลควบคู่กันไปกับการกินเจ

 

 


บรรณานุกรม

ขวัญใจ เอมใจ. (12: 141(พ.ย.)2539). พิธีกินเจเมื่อโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์คือดินแดนเดียวกัน. สารคดี, 133-150.

จิตรา ก่อนันทเกียรติ. (2539). ตึ่งหนั่งเกี้ย. กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์.

ไชยยุทธ ปิ่นประดับ. (2540). ประเพณีกินผัก. ภูเก็ต: สภาวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต.

ถาวร สิกขโกศล. (2557). เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้. กรุงเทพฯ: มติชน.

ไพโรจน์ บุญผูก. (24: 3 (ก.ค.-ก.ย.)2541). เทศกาลกินเจท่าฉลอม พิธีกรรมบริสุทธิ์และยิ่งใหญ่ของชุมชนจีนโบราณ. เมืองโบราณ, 65-70.