บ้านสันคะยอม ลำพูน: จากงานหัตถการ สู่สะพานดำ เส้นทางยืนหยัดด้วยทุนทางวัฒนธรรม

 |  มรดกวัฒนธรรม และภูมิปัญญา
ผู้เข้าชม : 1518

บ้านสันคะยอม ลำพูน: จากงานหัตถการ สู่สะพานดำ เส้นทางยืนหยัดด้วยทุนทางวัฒนธรรม

           เพราะชีวิตคือการเรียนรู้เพื่ออยู่กับคำว่าการเปลี่ยนแปลง

           เป็นเรื่องที่ทุกคนให้การยอมรับว่าในทุกการหมุนไปทางขวาของเข็มวินาทีคือการเดินทางของคลื่นเวลาที่พาชีวิตเราไปข้างหน้าโดยไม่สามารถฝืนตนเองให้หยุดยิ่งหรืออยู่กับที่ได้ เราต่างต้องปรับตัวให้เข้ากับ ‘ความใหม่’ ที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ หรือว่าชีวิตใหม่

           ไม่ต่างกับสิ่งใหม่ที่สมาชิกในชุมชนสันคะยอม จังหวัดลำพูน กำลังเรียนรู้เช่นกัน

           ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ชุมชนเก่าแก่ราว 200 ปีที่สืบเชื้อสายมาจากเมืองยอง หรือรัฐฉานตะวันออก ประเทศเมียนมาในปัจจุบัน กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคม วิถีชีวิต และวัฒนธรรม เมื่อ ‘ความเป็นเมือง’ ได้ขยายตัวและรุกคืบเข้ามาผ่านหลากหลายช่องทาง

           ไม่ว่าจะเป็นการคืบใกล้ของตัวเมืองลำพูนและเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ สามารถเดินทางด้วยรถยนต์โดยใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงเท่านั้น การเวนคืนพื้นที่เพื่อนำไปใช้เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม และการอพยพเข้ามาของคนต่างถิ่นที่ต้องการหาโอกาสใหม่ในการขยายธุรกิจ

           หรืออย่างการทำนาที่เคยเป็นภาคเกษตรกรรมรายได้หลักของหมู่บ้านในสมัยก่อน ก็กลายเป็นการปลูกรายปีเพื่อส่งเมล็ดพันธุ์ให้กับทางศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ได้เน้นในส่วนของธุรกิจขายข้าวสารอีกต่อไป

           สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจำนวนมาก อาทิ บริเวณพื้นที่ชุมชนที่มีความเรียบง่าย ก็เริ่มมีกลุ่มทุนเอกชนเข้ามาซื้อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนบ้านจัดสรร รวมถึงมีการเข้ามาของสมาชิกใหม่ที่เข้ามาอาศัยร่วมกับคนในชุมชน ก่อร่างสร้างวัฒนธรรมการ ‘สร้างอาณาเขต’ หรือการสร้างรั้วบ้านเป็นกรอบล้อมรอบเขตอย่างชัดเจน

           จากชุมชนที่เคยใช้แรงไปกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและทำนา ก็หลั่งไหลเข้าไปทำงานในรั้วเขตนิคมอุตสาหกรรมที่มาเปิดล้อมในบริเวณใกล้เคียง หรือเมื่อคนในชุมชนเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน พวกเขามองผ่านตัวเลือกการทำงานในเขตพื้นที่บ้านเกิด ตัดสินใจโยกย้ายเดินทางออกจากพื้นที่ไปหา ‘โอกาส’ ที่มากกว่าในเมืองใหญ่หรือเมืองหลวง

           เมื่อลักษณะของการทำงานจำเป็นต้องเดินทางออกไปยังแหล่งงานนอกชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานโรงงานอุตสาหกรรมหรือว่าการทำงานต่างพื้นที่ เป็นการทำงานแบบต่างคนต่างทำงาน ต่างคนต่างอยู่บ้านของตนเอง การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนก็ห่างหายไปตามลำดับ ก่อให้เกิดเป็นความห่างเหินระหว่างสมาชิกจนกลายเป็นคนแปลกหน้า




งานทอดกฐินประจำปีของบ้านสันคะยอม ที่แสดงถึงความร่วมแรงร่วมใจ รวมถึงสภาวะของชุมชนที่เข้าสู่สังคมสูงวัย


           และเมื่อโซ่ข้อเดียวเหล่านี้เริ่มเชื่อมต่อร้อยกันเป็นเส้นโซ่ ฉากสะท้อนความท้าทายที่ชุมชนกำลังเผชิญอยู่ก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมขาดแคลนแรงงานที่ไม่ปรากฏว่ามีสมาชิกวัยทำงานอาศัยอยู่ในชุมชนมากนัก เพราะพวกเขาต่างออกจากบ้านเกิดไปหาแหล่งงานนอกพื้นที่ กอปรเข้ากับการสะสมตัวของสังคมผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้นและไม่มีสวัสดิการทางสังคมและเศรษฐกิจที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

           การเข้าสู่สังคมที่ขาดช่วงทางภูมิปัญญา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นเริ่มเลือนหายไป คนที่สามารถอ่านเขียนตัวอักษรไทยล้านนามีจำนวนนับหยิบมือ หรือการสานต่อการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาไม่มีคนรุ่นใหม่เข้าร่วม

           และสังคมที่ขาดหายการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนเพื่อสร้างความผูกพันและความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

           โจทย์ใหญ่ของชุมชนสันคะยอมในวันนี้ จึงเป็นการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาวะสังคมเมืองไปพร้อมกับการค้นหาวิธีการ ‘เติม’ ชุมชนวิถีใหม่ที่สอดคล้องกับทักษะและความต้องการของคนในชุมชน


วัดประจำชุมชนถูกประดับประดาระหว่างงานทอดกฐินสามัคคี ปลายปี 2566


พวงกุญแจตาแหลวกับกลุ่มนักเรียนสูงวัย

           งานทอดกฐินสามัคคีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่วัดสันคะยอม จังหวัดลำพูน เป็นหนึ่งในกิจกรรมใหญ่ประจำปีของชาวชุมชนสันคะยอม โดยวัดแห่งนี้นับว่าเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัด ภายในงานมีการตกแต่งด้วยโคมแขวนหลากหลายสีสัน ประดับเรียงทั่วทั้งสถานที่จัดงานภายในวัด รวมถึงมีการวางต้นกฐิน พานกฐิน และพุ่มกฐินที่มีธนบัตรและเหรียญทุกราคาตกแต่งเอาไว้อยู่รอบตัวอุโบสถ

           จากการสังเกตด้วยสายตา ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุที่อยู่ภายในชุมชน แล้วช่วงอายุก็จะกระโดดข้ามลงมาเป็นเหล่าเด็กตัวน้อยนั่งขยุกขยิกกระจายตัวอยู่รอบงานโดยมีผู้ปกครองหรือคนในครอบครัวคอยปรามเป็นบางจังหวะ

           เมื่อสิ้นสุดช่วงงานพิธีสำหรับงานบุญใหญ่ประจำชุมชน แต่ละครอบครัวต่างเริ่มต้นการเก็บรวบรวมและนับจำนวนเงินกฐินของตนเองเพื่อบริจาคเข้ากองกฐิน ระหว่างที่เหล่าเด็กเล็กเริ่มวิ่งไปหาซุ้มอาหาร เครื่องดื่ม และขนมอันเป็นสิ่งดึงดูดความสนใจได้มากกว่า

           และเมื่อสมควรแก่เวลา สมาชิกในชุมชนต่างทยอยแยกย้ายออกจากจุดจัดงานกลับไปยังบ้านของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเดินเท้าหรือขับมอเตอร์ไซต์ หากยังมีสมาชิกหญิงของหมู่บ้านจำนวนหนึ่งรวมตัวกันอยู่บริเวณศาลาภายในวัดสันคะยอมเพื่อปฏิบัติภารกิจถัดไป

           นั่นคือการแยกเครื่องถวายในสังฆทานที่มีพุทธศาสนิกชนนำมาถวายให้กับทางวัดตลอดทั้งปี โดยพวกเธอจะนำสังฆทานทุกรูปแบบจากส่วนตึกวัดมากองเรียงในศาลาเรือนไม้ขนาดใหญ่ มาคัดแยกสิ่งของที่หมดอายุแล้วออกไปก่อน จากนั้นจึงเป็นการจัดหมวดหมู่เครื่องถวายที่เหลือ อย่างข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องดื่ม หรือธูปเทียน



 

           มันเป็นงานประจำท้องถิ่นที่หากพิจารณาเบื้องต้นแล้วไม่ได้ต่างอะไรกับภาพ ‘งานบุญชุมชน’ ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและยังคงติดอยู่ในความทรงจำ หากเมื่อเริ่มบทสนทนากับหญิงสูงวัยในชุดไทยสีสดใสที่นั่งแยกเครื่องถวายอยู่บนเก้าอี้ เธอกลับส่ายหน้าแล้วปรารภสิ่งที่อยู่ในความคิดให้ฟัง

           “ชุมชนเปลี่ยนไปเยอะเลย เมื่อก่อนเราเคยรวมตัวกันแยกสังฆทานที่ชาวบ้านถวายวัดกันทุกวันศุกร์ แต่เดี๋ยวนี้คนน้อยลงก็มาแยกใหญ่กันแค่ไม่กี่ครั้ง”

           โดยเธอไม่ใช่ชาวสันคะยอมโดยกำเนิด แต่ได้ปลูกต้นรักกับสมาชิกในชุมชนตั้งแต่ครั้ง 40 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้จากตำแหน่ง ‘สะใภ้สันคะยอม’ ก็กลายเป็น ‘คนสันคะยอม’ โดยสมบูรณ์

           หรือความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดที่สะท้อนภาพความร่วมมือร่วมใจระหว่างคนในชุมชนก็คงไม่พ้นเรื่องประเพณีการมาทำอาหารถวายพระหรืออาหารแจกจ่ายในงานบุญร่วมกัน ที่ในปัจจุบันกลายเป็น ‘ต่างคนต่างทำ’ แล้วนำมารวมกันในวันงาน

           นอกจากเรื่องของกิจกรรมชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลงและเจือจางไปตามกาลเวลา เธอยังเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงเรื่องอาชีพและการทำงานของคนในชุมชนที่ขยับจากการทำงานเกษตรกรรมและการทำนาไปเป็นพนักงานภายในนิคมอุตสาหกรรมที่มาเปิดทำการในบริเวณใกล้เคียง

           “แต่พอเกษียณออกมาก็ไม่มีอะไรทำ ไม่มีเงิน จะไปร่วมงานกับชุมชนก็ไม่รู้จักใคร กลายเป็นอยู่ที่บ้านเป็นหลัก”

           การเปลี่ยนอาชีพกลายเป็นข้อน่ากังวลอย่างยิ่งสำหรับสมาชิกชุมชนผู้หญิงในวัยเกษียณที่อายุใกล้เคียงกับเธอ ที่ต้องเผชิญกันสถานการณ์ที่ไม่ได้รับการจ้างงานและไม่มีรายได้เข้ามา จำเป็นต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากลูกหลานในครอบครัวที่เกือบทั้งหมดเข้าไปทำงานต่างถิ่นเพียงอย่างเดียว แตกต่างจากผู้สูงวัยผู้ชายที่ยังมีงานเกษตรกรรมรองรับอยู่

           แต่ถึงจะบอกว่ายังคงมีบางกลุ่มที่มีงานเกษตรกรรมหรือการทำนาเป็นงานที่รองรับเองไว้ ก็เป็นเพียงการรวมกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของ 17 ครอบครัวที่ค้าขายข้าวมาอย่างต่อเนื่องเท่านั้น การปลูกข้าวดังกล่าวเป็นการปลูกพ่อพันธ์ุ-แม่พันธุ์ข้าวสันป่าตอง 1 ส่งให้กับทางศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่เป็นหลัก ส่วนที่เหลือก็เป็นการขายเมล็ดพ่อพันธุ์ข้าวในชุมชนตนเองและชุมชนใกล้เคียง การปลูกไว้รับประทานในบ้านของตนเองมีจำนวนเพียงเท่าที่เพียงพอในแต่ละปี จึงเรียกได้ว่าเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงมีงานรองรับเพื่อใช้ดูแลตนเองและครอบครัว
 


โกดังเก็บข้าวของศูนย์ข้าวชุมชนแน่นขนัดไปด้วยเมล็ดข้าวจำนวนมาก ในขณะที่สิงห์ชัย พิงคะสัน ประธานศูนย์ข้าวชุมชนนำทางพวกเราไปรอบพื้นที่


           ในช่วงเวลาที่ชุมชนสันคะยอมกำลังเผชิญกับ ‘สังคมสูงวัย’ เต็มรูปแบบ และส่งผลกระทบต่อสถานะทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนอย่างชัดเจน จึงมีการสร้างกรอบไอเดียในการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ที่ยังคงสอดคล้องกับวิถีชุมชน แต่ยังคงไว้ซึ่งการอนุรักษ์วัฒนธรรมภายในชุมชน

  • วัสดุเป็นสิ่งที่หาได้ในชุมชน
  • สอดคล้องกับเงื่อนไขด้านสุขภาพของคนในชุมชน
  • เป็นสิ่งที่สะท้อนวิถีชีวิตและความเชื่อในชุมชน

           หลังจากที่มีการพูดคุยกันภายในชุมชนและระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะในการต่อยอดเป็นระยะหนึ่ง จึงเกิดเป็นโครงการใหม่เพื่อส่งเสริมคนในชุมชนขึ้นมา ซึ่งเป็นการประยุกต์นำสิ่งที่มีอยู่แล้วในชุมชนอย่างต้นไผ่ มารวมกับเครื่องหมายที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนภาคเหนือ และยังเป็นกิจกรรมที่สามารถนั่งทำอยู่กับที่ได้ โดยไม่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายมากนัก

           นั่นคือการสานพวงกุญแจตาแหลว

           ตาแหลวเป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่งทำจากไม้ไผ่ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมากในพื้นที่ภาคเหนือ จักตอกให้เป็นเส้นบางก่อนนำมาสาน โดยความเชื่อทางภาคเหนือเครื่องจักสานชนิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ แสดงอาณาเขตหวงห้าม ไล่สิ่งร้ายไม่ให้กล้ำกรายสถานที่ จะมีการแขวนเครื่องสานประเภทนี้เอาไว้กลางบ้านหรือประตูเมืองเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย

           โดยทั่วไปแล้วตาแหลวมีหลายประเภทและรูปแบบแตกต่างกันไปตามประเภทการใช้งาน โดยสามารถแบ่งชนิดตามจำนวนแฉกได้เป็นรูปแบบสามเหลี่ยม ห้าแฉก และแปดแฉก และมักจะเป็นการสานจากไม้ไผ่อย่างเดียว โดยไม่มีการประดับหรือว่าตกแต่งอะไร

           แต่ถ้าหากจะขายสินค้าเป็นตาแหลวเกลี้ยงเกลา หรือเป็นเพียงงานสานที่มีแค่ตัวใบไผ่เท่านั้น ก็คงไม่เป็นที่สะดุดตาของผู้ซื้อเท่าไหร่นัก จึงมีการออกแบบเพิ่มเติมโดยมีการร้อยให้เป็นพวงกุญแจห้อยเชือกเคลือบ ตกแต่งด้วยกระดิ่ง ปอม และพู่เพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น

           กลายเป็นพวงกุญแจที่มีการผสมผสานกันระหว่างความเชื่อในท้องถิ่นและมีความสวยงามน่าใช้งาน คล้ายกับเครื่องรางของทางญี่ปุ่นที่เชื่อว่าสามารถไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปได้เช่นกัน

           เมื่อตกลงเรื่องรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาพัฒนาเป็นสินค้าชุมชนเรียบร้อย แม่หลวงหรือผู้ใหญ่บ้านชุมชนสันคะยอมอย่างณัทกร สามปันสักดิ์ จึงมีการดำเนินการติดต่อวิทยากรจากภายนอกมาเพื่อสอนวิธีการสานอย่างถูกต้องให้กับกลุ่มสาวสูงอายุที่ยังคงมีไฟในการเรียนรู้อยู่เสมอ

           “ไม่เคยทำจักสานเลย ตอนวันแรกที่มาทำนะ กว่าจะได้อันหนึ่งกินเวลาไปกว่าครึ่งวัน”

           นางเมตตา เสนสัก อายุ 62 เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงสดใสฟังถึงวันแรกของการอบรมเกี่ยวกับการทำเครื่องจักสานชนิดนี้ โดยเริ่มจากการที่แม่หลวงณัทกรได้ทำการชักชวนให้เมตตาลองมาทำอะไรที่แตกต่างไปจากชีวิตหลังเกษียณแสนจำเจและสามารถต่อยอดเป็นรายได้เสริมอีกทางได้ด้วย


การสานตอกไม้ไผ่ให้เป็นรูปทรงหรือผลิตภัณฑ์นั้นต้องอาศัยความชำนาญให้สามารถทำได้อย่างคล่องแคล่วและสวยงาม


           ความน่าสนใจของการอบรมคือนี่ไม่ใช่การให้ความรู้ในส่วนของการสานเครื่องจักเท่านั้น แต่จะเริ่มต้นสอนตั้งแต่การเตรียมอุปกรณ์อย่างไม้ไผ่เลย เมตตาต้องเริ่มต้นตั้งแต่การนำไม้ไผ่มาตัดให้เป็นชิ้นได้ขนาดที่เหมาะสม แล้วนำมาทับให้เป็นแผ่นบางขนาดพอเหมาะ จากนั้นจึงเป็นการเรียนรู้ว่ารูปแบบการทำเครื่องจักสานชิ้นนี้มีรูปแบบอย่างไรบ้าง

           เมตตายอมรับการเรียนรู้ในช่วงแรกเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร ว่าด้วยปัจจัยส่วนตัวหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเรี่ยวแรงที่หายไปตามอายุ ประสิทธิภาพในการมองเห็น หรือว่าความสามารถในการจดจำขั้นตอนการสาน

           แต่ด้วยกำลังใจที่ได้จากทุกคนในชุมชนผู้พร้อมเรียนรู้ไปด้วยกันตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย ทำให้ทุกวันนี้เมตตาสามารถขัดแผ่นไผ่ให้กลายเป็นโครงร่างหลายแฉกของตาแหลวได้ในเวลาไม่ถึงหนึ่งนาที ตามที่เมตตาโชว์ ‘สกิล’ ให้ดูด้วยความภาคภูมิใจ

           ผ่านมาจากช่วงที่เข้าเรียนครั้งแรกมาได้มากกว่าหนึ่งปี ปัจจุบันเมตตาไม่ได้เป็นเพียงสมาชิกของกลุ่มจักสานตาแหลวเท่านั้น แต่ได้รับการเลื่อนขั้นให้เป็นคุณครูที่คอยสอนเทคนิคเบื้องต้นให้กับคนในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้านที่มีความสนใจอยากเรียนรู้เพื่อทำเป็นอาชีพเสริมหรืออาจเป็นช่องทางในการเปลี่ยนอาชีพเช่นกัน

           “ช่วงก่อนมีรับงานจ้างเป็นแม่บ้านเป็นรายครั้ง แต่ทำมากไม่ได้แล้วเพราะปวดหลัง”

           สอดคล้องกับเรื่องเล่าของนางพิลาสลักษณ์ บุญมณี เกี่ยวกับชีวิตการทำงานของเธอ โดยช่วงก่อนหน้านี้เธอเคยทำงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแล้วลาออก จากนั้นเปลี่ยนไปทำงานรับจ้างอย่างการเป็นแม่บ้านทำความสะอาด หรือหากมีการว่าจ้างให้ไปเก็บหรือคว้านลำไยก็จะมีการรับงานเป็นครั้งเป็นคราวไป



 

           เนื่องจากจังหวัดลำพูนทำการปลูกลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจหลักสำหรับส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อถึงหน้าต้นลำไยออกผลก็จะมาการเกณฑ์คนในชุมชนไปทำงานเป็นระยะ แต่เธอก็บอกว่ารายได้จากการเก็บพืชเศรษฐกิจชนิดนี้เรียกได้ว่าตกต่ำเป็นอย่างมาก หลังจากที่ลำไยเหล่านี้ไม่ได้ปลูกเพื่อการส่งออกไปขายนอกประเทศอีกต่อไป

           ในเวลาที่อาชีพแม่บ้านและการรับจ้างเก็บพืชทางการเกษตรไม่สามารถจุนเจือชีวิตได้เช่นเดิม เมื่อทางชุมชนมีการเสริมอาชีพโดยการสานพวงกุญแจตาแหลวเข้ามา เธอจึงตัดสินใจเข้าร่วมโดยไม่เสียเวลาคิด เพราะนี่คือช่องทางใหม่ในการหารายได้

           แม้ว่าจุดประสงค์หลักของการรวมกลุ่มสานพวงกุญแจตาแหลวจะเป็นเรื่องของการเสริมอาชีพใหม่เพื่อสร้างฐานรายได้รองรับกลุ่มผู้สูงอายุผู้หญิงภายในชุมชน แต่อีกเรื่องน่าสนใจคือสิ่งที่พวกเธอได้ไม่ใช่แค่เรื่องเงินแต่เป็นเรื่องของต่อประสานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชุมชนเช่นกัน

           “พออายุมากขึ้น บางครั้งเราก็มักจะลืมไปว่าความสุขมันสามารถหาได้ง่ายจากรอบตัวเรา อย่างคุณยายก็มีความสุขทุกครั้งที่ได้มาเจอเพื่อนในชุมชน”

           สมาชิกภายในกลุ่มวัย 60 กว่าปีอีกรายบรรยายให้ฟังว่าการเข้าร่วมกลุ่มสานตาแหลวมีความหมายเช่นไรบ้างสำหรับเธอ

           จากคำบอกของเธอคือสังคมชุมชนต่างจังหวัดในปัจจุบัน คนรุ่นปู่ย่าตายายจะรับหน้าที่ในการเลี้ยงดูหลานแทนคุณพ่อคุณแม่ เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้นจำเป็นต้องไปทำงานต่างถิ่นและไม่สามารถดูแลลูกได้ตลอดเวลา ไม่ต่างจากตัวเธอเองเช่นกันที่ต้องลาออกจากงานประจำมารับตำแหน่งผู้เลี้ยงหลานแบบเต็มตัว

           แต่เมื่อหลานเติบโตขึ้นระดับหนึ่ง การดูแลทุกฝีก้าวก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นอีกต่อไป จากนักดูแลหลานมืออาชีพก็กลายเป็นคนตกงานที่อยู่ในอาการ ‘เคว้ง’ และต้องมองหากิจกรรมอื่นทำทดแทน จะให้กลับไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมอย่างเดิมก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะนายจ้างเองก็ไม่อยากจ้างหญิงสูงวัยเท่าไหร่นัก

           การได้มารวมกลุ่มกันเพื่อทำเครื่องสานตาแหลวจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้เธอได้กลับมาใช้ชีวิตของตัวเองอีกครั้ง ได้มาพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนเรื่องราวในแต่ละวัน ไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่โดดเดี่ยวในบ้านพัก

           ในช่วงแรกเริ่มของเธอมันยากไม่ต่างกับวันแรกของยายเมตตา แต่เธอก็เล่าด้วยท่าทีสบายๆ ว่ามันเป็นเรื่องของปกติของการเรียน ไม่ต่างกับการเรียนในห้องเรียนที่เรามักจะคิดว่าทุกอย่างมันยากไปหมดสำหรับวันแรก

           แต่ถ้าหากว่าเราตั้งใจกับมันมากเพียงพอ ทุกอย่างมันสามารถเป็นไปได้อย่างแน่นอน
 


อีโคปรินท์กับผู้คนวัยทำงาน

           ในช่วงสายของวันเดียวกัน แม่หลวงณัทกรพาเดินออกจากส่วนของศาลาวัดสันคะยอมไปทางพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนเพื่อแนะนำอีกหนึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างแหล่งรายได้เสริมรูปแบบใหม่ไปพร้อมกับหยั่งรากฐานให้คนในสังคมยังคงรู้สึกผูกพันกับความเป็นชุมชนอยู่

           นั่นก็คือการร่วมมือกันของผู้หญิงอายุเฉลี่ยประมาณ 40 ปีภายในชุมชน เพื่อจัดทำผ้าอีโคปรินท์ (Eco print) ที่สามารถการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท โดย เพลินจิต สุขสัก แกนนำของกลุ่มเล่าให้ฟังว่าในช่วงปีก่อนหน้าเคยมีโครงการสอนเกี่ยวกับงานผ้าปัก จากนั้นจึงมีการลองเปิดขายในตลาดสินค้าภายในเมืองและบนพื้นที่ออนไลน์ อย่างการโพสต์บนกลุ่มเฟซบุ๊ก (Facebook)

           หากเมื่อลองสำรวจความต้องการของตลาดไปสักพัก ทางกลุ่มพบว่างานผ้าปักเหล่านี้มีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว อาจจะยากต่อการแบ่งตลาดลูกค้า ทางกลุ่มจึงปรึกษากันเองและลองมองทางเลือกอื่นที่น่าสนใจไม่แพ้กันอย่างเรื่องของการทำผ้าย้อมสีใบไม้หรือการสร้างงานอีโคปรินท์

           “เรามองว่าตอนนี้อีโคปรินท์กำลังบูม ก็คุยกันว่าแถวชุมชนมีใบไม้เยอะ มีวัตถุดิบเยอะ เลยลองทำดู”

 



แม่หลวงบ้านสันคะยอม ณัทกร สามปันสักดิ์ ตรวจสภาพผ้าอีโคปรินท์ที่ตากไว้บริเวณพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน


           คำว่างานอีโคปรินท์ สามารถแปลได้ตรงตัวคือการสร้างลายลวดลายพิมพ์จากธรรมชาติ เป็นการพิมพ์ลายผ้าด้วยการใช้ใบไม้มาวางทาบไว้บนผ้า มีการใช้ขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์เพื่อถ่ายโอนเม็ดสีและเส้นริ้วจากใบไม้ให้ซึมลงไปยังเนื้อผ้า

           ซึ่งผลลัพธ์ของผ้าแต่ละผืนก็จะมีความแตกต่างกันทั้งการจัดวางใบไม้และสีสันของใบไม้ เพราะใบไม้แต่ละใบนั้นมีความแตกต่างทั้งรูปร่าง ขนาด และความเข้มของเม็ดสี

           กลายเป็นผ้าลายเฉพาะที่มีผืนเดียวในโลก

           โดยการทำผ้าพิมพ์สีธรรมชาติด้วยใบไม้ดังกล่าว สามารถแบ่งขั้นตอนจัดเตรียมได้เป็นสองส่วนใหญ่ คือขั้นตอนการเตรียมเก็บใบไม้สำหรับใช้เป็นลายพิมพ์ กับการเตรียมผ้าฝ้ายเปล่าแช่น้ำยาสูตรเฉพาะ

           ใบไม้ที่นำมาใช้งานก็จะเป็นใบไม้จากต้นไม้ที่เติบโตในพื้นที่ริมภูเขาที่โอบพื้นที่ฝั่งหนึ่งของชุมชนเอาไว้ เช่น ใบจากต้นสัก ต้นเพกา ต้นสบู่เลือด จากนั้นก็มาคัดเลือกและล้างทำความสะอาด

 



ลายใบไม้ปรากฎตรึงบนผ้าที่ถูกปูลงบนโต๊ะระหว่างการตรวจสอบลวดลาย ก่อนจะนำไปตากแสงแดดให้แห้ง


           ส่วนผ้าฝ้ายก็จะมีการแช่น้ำยามอร์แดนต์ (Mordant) สูตรเฉพาะที่ไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างเม็ดสีภายในใบไม้กับผ้าฝ้ายเปล่า เมื่ออุปกรณ์ทุกอย่างพร้อมแล้วก็จะเป็นการนำใบไม้มาจัดเรียงบนผ้าแต่ละผืนด้วยมือ มีการออกแบบลายพิมพ์ในแต่ละผืนแตกต่างกันไปตามขนาดของใบไม้และการจัดวาง

           เมื่อวางลวดลายได้เป็นที่พอใจแล้วก็จะมีการม้วนผืนผ้าเก็บไว้ เพื่อให้สารมอร์แดนท์ทำปฏิกิริยากับตัวใบไม้และมีการถ่ายโอนเม็ดสี มีการผ่านกรรมวิธีการนึ่งและตากที่เหมาะสม จากนั้นก็จะนำผ้าพิมพ์ลายเหล่านี้ไปแปรเป็นสินค้าหลากหลายประเภทต่อไป

           เพลินจิตไม่ได้บรรยายเพียงแค่ขั้นตอนการเรียนรู้ด้วยตัวเองจากการหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตและยูทูป หรือข้อมูลเบื้องต้นของการทำผ้าพิมพ์ลายเท่านั้น แต่ยังเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจระหว่างการคลี่ผลงานที่ผ่านกรรมวิธีการนึ่งและกำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนการตาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเลือกใบไม้ ที่ควรเลือกเก็บเฉพาะใบอ่อน ไม่ควรเก็บใบที่โตระยะหนึ่งหรือว่าใบแก่ เพราะเม็ดสีจะถ่ายโอนไปยังผ้าฝ้ายดีกว่า ไปจนถึงช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการออกไปเก็บใบไม้เพื่อให้ได้สีของใบที่สวย คมชัด ว่าควรจะเก็บใบไม้ตอนเช้าหรือตอนเย็น รวมถึงฤดูกาลในการเก็บใบไม้ก็มีผลต่อเม็ดสีที่จะได้ออกมาเช่นกัน

           นอกจากนี้ทางกลุ่มกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อนำเอาใบคะยอมหรือใบพะยอม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อชุมชน ‘สันคะยอม’ มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานลายภาพพิมพ์ ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถนำมาใช้ได้เนื่องจากตัวใบคะยอมไม่สามารถถ่ายโอนสีลงไปยังเนื้อผ้าได้

           “เราลองทำกันเอง ศึกษากันเอง อย่างเข้าไปเรียนกับคลิปในยูทูป จากนั้นก็ลองผิดลองถูกกับผ้าของเรา เอาเสื้อผ้าในบ้านตัวเองมาลองก่อน เพื่อทดลองว่าใบไม้ใบนี้ให้สีอะไร ใบยูคา ใบเพกา แต่ละใบให้สีไม่เหมือนกัน ลองแล้วสีไม่ได้อย่างที่คิดก็ต้องทิ้ง”

           เพลินจิตเล่าให้ฟังกลั้วหัวเราะระหว่างย้อนความหลังของการเริ่มต้นกลุ่ม ที่เกิดจากการลองผิดลองถูกด้วยตัวเองผ่านการเรียนตามยูทูป มีการเดินทางไปยังภูเขาที่ใกล้หมู่บ้านเพื่อทดลองเก็บใบไม้หลากหลายชนิดมาลองใช้เป็นแบบพิมพ์ในการพิมพ์ลาย มีการนำผ้าที่ไม่ใช้แล้วภายในบ้านมาทดลองเพื่อศึกษาระบบการทำงานของการพิมพ์ผ้าเหล่านี้ ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่งถึงจะพอจับทางการทำงานได้

           แม้ว่าระหว่างทางจะเจอกับความล้มเหลวหรือผลงานที่ออกมาไม่ได้เป็นอย่าที่คาดหวังไว้ แต่พวกเธอก็ไม่เคยคิดท้อ อย่างที่คิดเสมอว่าความไม่ได้ดั่งใจเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานที่ต้องมีทั้งช่วงที่สำเร็จและผิดพลาด

           มองในทางกลับกัน เพลินจิตและคนในกลุ่มกลับมองว่ามันเต็มไปด้วยความสนุกมากกว่าที่จะได้ลุ้นไปพร้อมกันว่าผลงานจะเป็นเช่นไร อย่างที่รู้กันว่า ทุกปัจจัยสามารถส่งผลต่อผลลัพธ์ได้ทั้งหมด ต่อให้เป็นใบไม้ที่ตัดออกมาจากต้นเดียวกันในเวลาที่ใกล้เคียงกันก็ตาม บางใบก็ให้ผลลัพธ์เป็นภาพพิมพ์สีเขียว บางใบก็ออกมาเป็นภาพพิมพ์สีเหลืองเสียอย่างนั้น

           กลุ่มหญิงสาวที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มกิจกรรมล้อมวงกันลุ้นลวดลายบนผ้าแต่ละผืน เสียงชื่นชมความสวยงามของลวดลายและสีสันบนผืนผ้าดังเป็นระยะ สลับกับการออกความเห็นว่าในการผลิตสินค้าล็อตถัดไปจะมีการปรับปรุงในส่วนใดบ้าง ทั้งเรื่องของตำแหน่งการวางใบไม้บนผืนผ้าที่ควรสลับตำแหน่งเพื่อให้บาลานซ์กันมากขึ้น เนื่องจากใบสักจะให้สีม่วงที่โดดเด่นกว่าใบไม้ชนิดอื่นที่ให้สีเหลืองหรือว่าสีเขียว และในส่วนของเวลาการรอให้สารมอร์แดนต์ทำปฏิกิริยากับผ้าเพื่อให้ได้สีที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
 

สมาชิกกลุ่มกิจกรรมอีโคปรินท์ของบ้านสันคะยอมคลี่ผืนผ้าออกจากห่อที่ใช้ในการพิมพ์ลาย ขั้นตอนนี้เรียกเสียงร้องด้วยความดีใจเมื่อลายผ้าที่ออกมาสมบูรณ์ตรงใจหวัง
 

           จากคนไม่กี่คนในชุมชน ตอนนี้กลุ่มกิจกรรมอีโคปรินท์ของหมู่บ้านสันคะยอมมีความเหนียวแน่นขึ้นตามลำดับ จำนวนสมาชิกที่เข้ามาร่วมก็มากขึ้นตามลำดับ อย่าง ปริศนา ที่เพิ่งเริ่มเข้ามาในกลุ่มไม่กี่ครั้งตามคำชักชวนของคนในหมู่บ้าน

           “พี่ทำงานค้าขาย แต่ว่าอยากมีสังคมก็เลยมาเข้าร่วม (หัวเราะ)”

           ปริศนาเล่าให้ฟังติดตลกเมื่อเราสอบถามถึงเหตุผลในการเข้าร่วมกลุ่มการทำอีโค่ปรินท์ โดยพื้นฐานของเธอประกอบอาชีพค้าขาย เปิดร้านค้าโชห่วยอยู่ในหมู่บ้าน หากการทำงานที่เป็นวัฎจักรในบางครั้งมันก็กลายเป็นความเบื่อหน่ายและต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมชุมชน

           เมื่อสอบถามถึงการมีส่วนร่วม เธอเล่าว่าเนื่องจากเธอเพิ่งมาไม่กี่ครั้ง หน้าที่หลักของเธอก็คือการเดินทางไปเก็บใบไม้ตามคำขอของผู้ร่วมกลุ่มรายอื่น โดยได้รับคำแนะนำเบื้องต้นว่า ใบไม้ใบไหนบ้างที่สามารถนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการพิมพ์ลายได้ ให้เก็บใบอ่อนเพราะว่ามีเม็ดสี หรือว่าใบขนาดไหนบ้างที่ทางกลุ่มต้องการ

           แต่ใช่ว่าการเก็บใบไม้จะง่ายดายเพียงแค่เดินไปเด็ดเก็บใส่ตะกร้าแล้วจบ มันมีเรื่องที่ต้องระวังไม่น้อยอย่างเช่นเรื่องของใบสักที่มีขน สามารถสร้างอาการระคายเคืองผิวหนังได้หากมีลมพัดมา

           เธอสำทับว่า ต่อให้เป็นแค่การเก็บใบไม้ที่ดูไม่ได้มีคุณค่าอะไร แต่เธอไม่เคยเก็บเรื่องเหล่านั้นไปคิดมากเลยแม้แต่น้อย เพราะเธอเต็มใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเปลี่ยนชีวิตของตัวเองให้มีสีสันมากขึ้น ได้เข้าสังคม ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

           เมื่อได้ผลงานในส่วนของผ้าพิมพ์ลายธรรมชาติมาแล้ว ทางกลุ่มทราบดีว่าหากหากเป็นผืนผ้าที่ยังไม่มีการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นก็อาจขายได้ในราคาที่ไม่คุ้มค่ามากนัก เพื่อให้มีการต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าไปพร้อมกับการส่งเสริมให้สมาชิกผู้หญิงในชุมชนได้มีโอกาสใช้ทักษะที่ติดตัวให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงมีการนำผ้าที่มีลวดประดับเหล่านี้มาตัดเย็บให้กลายเป็นเสื้อ กางเกง หรือว่าผลิตภัณฑ์อื่น

           อย่างที่ทราบกันดีว่าผู้หญิงในชุมชนจำนวนไม่น้อย เคยทำงานหรือกำลังทำงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมจำพวกโรงงานผลิตเสื้อผ้า กระเป๋า หรือเครื่องหนัง ทักษะเรื่องการออกแบบแพทเทิร์นเสื้อผ้าและการตัดเย็บจึงเป็นสิ่งที่ติดตัวพวกเธออยู่แล้วการเย็บผ้าจึงไม่คณามือแม้แต่น้อย

           สังวาล อายุ 70 ปี เธอทำงานเป็นช่างตัดเย็บตั้งแต่เรียนจบชั้นประถมสี่แล้วไปเรียนในโรงเรียนตัดเย็บ จากนั้นยึดอาชีพนี้เรื่อยมา ทั้งการรับจ้างเย็บให้กับผู้คนในหมู่บ้านหรือว่าเป็นการเย็บผ้าโหล การอยู่กับเสื้อผ้ามาทั้งชีวิตทำให้เธอมีความเชี่ยวชาญด้านการตัดเย็บในทุกระดับ

           ดังนั้นทางกลุ่มจึงยกหน้าที่ในการออกแบบแพทเทิร์นของผ้าพิมพ์ลายเหล่านั้นให้กับสังวาล ไม่ว่าจะเป็นกางเกง เสื้อ หรือว่าเดรส เรียกได้ว่าสังวาลสามารถเสกสรรให้ได้ตลอดเวลา

           เมื่อมีแพทเทิร์นแล้วก็ต้องมีคนตัดเย็บ อ้อย เป็นอีกหนึ่งคนที่ประกอบอาชีพเป็นพนักงานตัดเย็บในนิคมใกล้เคียง ทำให้เธอมีความสามารถในเรื่องการตัดเย็บอยู่แล้ว จนเรียกได้ว่าเป็นแผนกตัดเย็บของทีม และยังมีสมาชิกอีกหลายคนที่รับหน้าที่ตัดเย็บตามความถนัดของตนเอง

           หากกระบวนการสร้างสรรค์ยังไม่จบแค่นั้น เมื่อได้สินค้าออกมาเป็นชิ้นงานแล้ว ก็ยังมีแผนในการตกแต่งเสื้อผ้าเหล่านั้นให้สวยงามมากกว่าเดิมด้วยการตกแต่งชายเสื้อด้วยโครเชต์ เพราะยังสมาชิกรายอื่นที่ประกอบอาชีพด้วยการถักโครเชต์เมตร สำหรับประดับชายผ้าหรือว่าแขนเสื้อ ก็มีการนำส่วนประกอบเหล่านั้นมาใช้อีกด้วย

           เรียกได้ว่าเป็นการดึงเอาศักยภาพและสิ่งที่แต่ละคนถนัดมาต่อยอดได้ครบครันตั้งแต่ต้นสายถึงปลายน้ำ โดยไม่จำเป็นต้องง้อคนภายนอกเลยทีเดียว

           สำหรับในส่วนของคำสั่งซื้อ เธอเล่าว่าตอนนี้สินค้าไม่ได้เป็นสิ่งที่ขายภายในชุมชนเท่านั้น แต่ว่ามีคำสั่งซื้อจากทั้งทางหน่วยงานรัฐทางออนไลน์เข้ามาเป็นระยะ โดยความตั้งใจหลังจากนี้เป็นการสร้างแบรนด์ต่อไปตามลำดับ

           

 

           แต่การเข้าสู่ตลาดการซื้อขายสินค้าด้วยตัวชุมชนเอง โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มงานที่มีความสามารถในการผลักดันธุรกิจรายย่อยนั้นเป็นเรื่องที่ยากพอประมาณ ดังนั้น ความตั้งใจในเวลานี้ของแม่หลวงและกลุ่มกิจกรรมภายในชุมชนคือการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน

           ตามความหมายของกฎหมายวิสาหกิจชุมชน หมายถึง กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการ หรือการอื่นๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือว่ารูปแบบใด เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชน และระหว่างชุมชน

           หรือสามารถสรุปให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่ายคือการดำเนินกิจการบางอย่างโดยตัวของชุมชนเองเพื่อสร้าง ‘กิจการชุมชน’ ที่ทำไปสู่การพึ่งพาตัวเองในอนาคต

           โดยคำว่า ‘ทุนของชุมชน’ ในที่นี้ไม่ใช่เรื่องของเงิน แต่เป็นเรื่องของทรัพยากร ผลผลิต ความรู้ ภูมิปัญญา ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคม

           กลุ่มเหล่านี้จะต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 5 รายขึ้นไป มีเรื่องของรายชื่อคณะกรรมการและแผนงานต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง

           แม่หลวงให้ความเห็นว่ามันมีความจำเป็นที่ต้องมีวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการรับรองทางกฎหมาย เพราะขั้นตอนนี้จะเป็นประตูบานแรกที่นำไปสู่โอกาสในการต่อยอดเพิ่มเติม เพราะเมื่อได้มีการรองรับด้านกฎหมายแล้วก็สามารถรับการสนับสนุนจากภาครัฐได้ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นจากการลงทุนจากกลุ่มทุนอื่นอีกด้วย

           การเตรียมตัวเพื่อจดแจ้งวิสาหกิจชุมชนคือสิ่งที่แม่หลวงกำลังพยายามผลักดันอยู่ตอนนี้ เพื่อให้เป็นใบเบิกทางสำหรับการหาแหล่งทุนและผู้สนับสนุนในการทำงานต่อไป

           “มันเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ ว่าชุมชนในประเทศนี้มีจำนวนมาก เรา (หมู่บ้านสันคะยอม) ก็ต้องทำให้ตัวเองโดดเด่นขึ้นมา”

           

 

           ตอนนี้ทางชุมชนก็มีสินค้าที่มีความหมายสอดคล้องไปกับวิถีของชุมชนไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาพพิมพ์หรือว่าตาแหลว ขั้นตอนต่อจากนี้คือเรื่องของการสร้างการรับรู้ในหมู่หน่วยงานรัฐและเอกชน ว่าทางหมู่บ้านมีสินค้าคุณภาพเหล่านี้ในมือ

           เป็นความท้าทายที่ยังคงมีขั้นตอนทั้งทางกฎหมายและในทางปฏิบัติอีกมากรออยู่ แต่แววตาและน้ำเสียงของแม่หลวงเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจจริง


การสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่ยังคงอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ชุมชน

           ทั้งการสร้างกลุ่มกิจกรรมสานตาแหลวและอีโคปรินท์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนงานการสร้างการเรียนรู้เพื่ออยู่กับวิถีชีวิตใหม่ อย่างที่แม่หลวงณัทกร สามปันสักดิ์ ได้ให้ความเห็นว่าการห้ามไม่ให้ ‘ความเป็นเมือง’ เข้ามาแทรกซึมในชุมชนเป็นเรื่องที่ยากจนแทบเป็นไปไม่ได้

           “ทุกคนทราบเหมือนกันว่าวันหนึ่งวิถีแบบเมืองก็ต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน”


สะพานดำตั้งเคียงข้างไปกับสะพานรถไฟที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน

           ดังนั้นสิ่งที่แม่หลวงของหมู่บ้านสันคะยอมมองเกี่ยวกับอนาคตของหมู่บ้านคือการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของคนในสังคมที่ต้องมีการปรับตัวมากกว่า

           โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อย่างที่เห็นมาแล้วในช่วงวิกฤตการณ์โควิด การทำงานในนิคมอุตสาหกรรมที่อาจถูกเลิกจ้างได้ทุกเวลา หรือในส่วนของการทำงานภายในหมู่บ้านที่ผูกกับอาชีพการเกษตรกรรมก็อาจเจอกับความไม่แน่นอนในเรื่องผลผลิตและราคาการค้าขายในแต่ละปี

           ในเวลานี้ ทางชุมชนสันคะยอมจึงดำเนินการผลักดันให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจด้วยการสร้างมูลค่าให้กับ ‘สะพานดำ’ หรือสะพานรถไฟที่ทาสีดำที่ใช้ข้ามระหว่างแม่น้ำระหว่างชุมชนสันคะยอมกับชุมชนวังตอง ซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น

           โดยสะพานดำแห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในเวลานั้นทางรัฐบาลไทยได้เข้าร่วมกับญี่ปุ่น และได้มีการใช้เส้นทางรถไฟนี้ในการลำเลียงอุปกรณ์ไปทางพม่า (เมียนมาในปัจจุบัน) ในขณะที่ทางฝ่ายอักษะและพันธมิตรก็มีความพยายามในการทำลายเส้นทางการเดินรถไฟ ตัวสะพานดำจึงปรากฏร่องรอยกระสุนจากการสู้รบด้วย

           ภายหลังทางการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของทางกฎหมายของสะพานดำแห่งนี้ ได้มีโครงการรื้อถอนสะพานดำเพื่อเปลี่ยนโครงสะพานใหม่ทั้งหมด จึงมีการเจรจาระหว่างทางชุมชนและการรถไฟฯ ในการเก็บสะพานดำเอาไว้ในพื้นที่เดิม เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชุมชนต่อไป

           โดยทางชุมชนกำลังวางแผนสร้างมูลค่าให้กับพื้นที่ โดยการปรับปรุงให้กลายเป็น ‘โลเคชันลับสำหรับถ่ายรูป’ ซึ่งตอบโจทย์กับเทรนด์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่มักจะตามหาจุดถ่ายรูปที่มีความเฉพาะตัว โก้เก๋ และไม่ซ้ำใครสำหรับถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) หรือว่าอินสตาแกรม (Instagram)


สะพานดำตั้งตระหง่านรับแสงแดดที่สาดลงมาปรากฎเงา ประกอบกับโครงสร้างนำสายตา ที่สามารถใช้ประกอบฉากในการถ่ายรูปลงในสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย

           ในเบื้องต้นจะเน้นไปทางกลุ่มเป้าหมายที่เดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ใช้จุดขายว่าสามารถเดินทางด้วยรถยนต์มาถึงชุมชนสันคะยอมได้ภายใน 1 ชั่วโมง นอกจากนี้แล้วยังสามารถถ่ายรูปกับแสงยามเย็น และรถไฟที่แล่นผ่านจากลำพูนไปยังเชียงใหม่ได้อีกด้วย

           แผนการสร้างมูลค่ายังรวมไปถึงการนำสินค้าภายในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าทางเกษตร พวงกุญแจตาแหลว และเสื้อผ้าพิมพ์ลายอีโคปรินท์มาวางขาย เป็นการเปิดตลาดสินค้าอีกทางหนึ่ง

           และยังรวมไปถึงการสร้างโอกาสให้กับเด็กในชุมชน ที่สามารถรับบทบาทเป็น ‘มัคคุเทศก์น้อย’ คอยบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาในชุมชนไปพร้อมกับการให้รายละเอียดว่า ถ้าหากอยากถ่ายรูปกับรถไฟที่แล่นผ่าน จะต้องรอช่วงเวลากี่โมง

 

เหล่ามัคคุเทศก์น้อยมีพื้นที่วิ่งเล่นเลียบทางรถไฟในทุกเย็น ทำให้พวกเขาและเธอกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านตารางเดินรถในพื้นที่แห่งนี้


           สิ่งเหล่านี้จะเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกรักชุมชนให้กับคนรุ่นใหม่ไปในตัว แบบที่เรียกได้ว่าเป็นการบูรณาการภายในชุมชน การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และการเรียนรู้การอยู่ร่วมกับวิถีชีวิตใหม่อย่างกลมกลืน

           สามปีที่ผ่านมาที่ทำงานในฐานะผู้นำชุมชน แม่หลวงก็ยอมรับว่าถามว่าตัวเองยังคงขาดตรงไหนหรือไม่อย่างไร อย่างเรื่องของภาวะผู้นำ ที่เมื่อก่อนทางแม่หลวงก็ใช้วิธีการที่ตัวเองเดินนำแล้วให้ชาวบ้านทำตาม หากตอนนี้เปลี่ยนเป็นการชักชวนให้เข้าร่วมเพื่อเดินไปด้วยกัน

           สิ่งที่เธอกำลังดำเนินการตอนนี้คือการ ‘ใช้ใจนำ’ มากกว่าการ ‘ใช้เงินนำ’ ในเมื่อตอนนี้หนึ่งในความท้าทายคือเรื่องของการที่คนในชุมชนมองเรื่องค่าตอบแทนเป็นหลัก ก็ต้องมีการสร้างความเข้าใจให้รู้สึกว่า สิ่งที่ชุมชนทำอยู่ตอนนี้เป็นการทำงานร่วมกัน ที่มีเป้าหมายเดียวกันในการพาชุมชนดำเนินไปข้างหน้า ซึ่งมีความสำคัญกว่าเรื่องเงิน

           รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมให้กับชุมชน เพื่อรองรับกลุ่มวัยทำงานที่จะกลับมาอยู่บ้านเกิดในอนาคต เพื่อสร้างความมั่นใจว่าหากคนเหล่านั้นกลับมาที่บ้านเมื่อไหร่ มันจะยังคงมีเส้นทางทำมาหากินเพื่อเลี้ยงปากท้องได้ต่อไป

           เพื่อให้กลุ่มคนที่เคยจากบ้านไปไกล ได้กลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาในอนาคต


เรื่อง จามาศ โฆษิตวิชญ
ภาพ วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์


 

ป้ายกำกับ สันคะยอม ลำพูน ผู้สูงอายุ วัฒนธรรมชุมชน จามาศ โฆษิตวิชญ วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ สารคดีชุมชน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share