จากป่าสู่ครัว “ไทด่าน”

 |  มรดกวัฒนธรรม และภูมิปัญญา
ผู้เข้าชม : 1536

จากป่าสู่ครัว “ไทด่าน”

 

           จากป่าสู่ครัว “ไทด่าน” เป็นหนังสือที่เกิดจากการย่อยประเด็นสำคัญจากงานวิจัยโครงการ “การพัฒนาระบบองค์ความรู้ด้านฐานทรัพยากรอาหารของชุมชนในภาวะเปราะบางเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ซึ่งเป็นผลงานของอาจารย์เอกรินทร์ พึ่งประชา และคณะ โดยหนังสือเล่มนี้จะให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามที่สัมพันธ์กับปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากรอาหารของชุมชนจนทำให้เกิดภาวะเปราะบางด้านความมั่นคงทางอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผืนป่าและที่ดิน กิจกรรมทางการเกษตร ความผันแปรของภาวะอากาศ เพื่อเชื่อมโยงสู่ครัวไทด่าน ซึ่งจะทำให้เห็นการใช้องค์ความรู้ในการจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ เช่น การบริหารจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำ แม่น้ำ อาหารจากภาคเกษตรที่ชาวบ้านปลูก สัตว์เลี้ยง เป็นต้น จนก้าวสู่สำรับอาหารของครัวไทด่าน

           “คนไทด่าน” เป็นคำที่ใช้เรียกคนท้องถิ่นในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย โดยตามลักษณะทางภูมิศาสตร์นั้น อำเภอด่านซ้ายมีลักษณะทางกายภาพประกอบด้วยเทือกเขาสูงสลับที่ราบแคบ ๆ ที่ตั้งอยู่กลางหุบเขา และมีลำน้ำหมัน เป็นลำน้ำสายหลักไหลผ่าน ซึ่งลักษณะทางกายภาพดังกล่าวนับว่ามีอิทธิพลสำคัญต่อการกำหนดรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวันของคนไทด่าน ไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีวิต การทำมาหากิน วัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วสิ่งเหล่านี้จะเชื่อมโยงทั้งทางตรงและทางอ้อมมาสู่การปรุงสำรับอาหารสำหรับเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว เนื่องจากวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารนั้น ได้มาจากแหล่งอาหารทางธรรมชาติ และอาหารจากภาคเกษตรที่ชาวบ้านได้ปลูกเอง รวมทั้งอาหารจากตลาดที่เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนอาหารของชาวบ้านไทด่าน

           อาจารย์เอกรินทร์ พึ่งประชา และคณะผู้วิจัย ได้เล็งเห็นว่าการศึกษา “ครัวไทด่าน” เท่ากับเป็นการวิเคราะห์แหล่งที่มาของวัตถุดิบในการปรุงสำรับอาหารว่ามีความปลอดภัยต่อการกินมากน้อยเพียงใด สถานการณ์การเข้าถึงอาหารของแต่ละครัวเรือนเป็นอย่างไร จึงได้จัดทำโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาระบบองค์ความรู้ด้านฐานทรัพยากรอาหารของชุมชนในภาวะเปราะบางเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร” โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายเกษตร เพื่อผลักดันผลงานวิจัยสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาท้องถิ่นภาคส่วนต่าง ๆ ในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารสู่ชุมชน โดยการศึกษาวิจัยครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้เลือกบ้านนาเวียงใหญ่และบ้านห้วยตาดเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมการเกษตรของคนด่านซ้าย

 

บ้านนาเวียงใหญ่ มุมมองจากภูอังลังจะเห็นว่ามีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มกลางหุบเขา
(จากหนังสือ จากป่าสู่ครัว “ไทด่าน” หน้า 3)

 

บ้านห้วยตาด มุมมองจากภูอังลัง จะเห็นว่าตั้งอยู่บนที่ราบแคบ ๆ บนพื้นที่สูง
โดยมีเส้นทางสายหลวง สายด่านซ้าย - ภูเรือ ตัดผ่านกลาง (จากหนังสือ จากป่าสู่ครัว “ไทด่าน” หน้า 4)

 

           ประเด็นที่สำคัญจากการศึกษาวิจัยดังกล่าวทำให้เกิดเป็นหนังสือ เรื่อง จากป่าสู่ครัว “ไทด่าน” ซึ่งภายในเล่มแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

           ส่วนแรก ประกอบด้วยเนื้อหา 3 บท โดยกล่าวถึงข้อมูลพื้นฐานของชุมชนด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสุขภาวะชุมชน

           ส่วนที่สอง ประกอบด้วยเนื้อหา 4 บท บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับฐานทรัพยากรอาหารของชุมชน ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานเชิงกายภาพและระบบนิเวศของผืนป่า แม่น้ำ และสภาพอากาศ ความหลากหลายของทรัพยากรอาหารทางธรรมชาติและการจัดการของชุมชน การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ รวมถึงแหล่งอาหารจากที่ต่าง ๆ ทั้งจากที่ชาวบ้านได้ปลูกเอง และอาหารจากตลาด โดยเนื้อหาในส่วนที่สองนี้ จะเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจและค้นหาปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดภาะเปราะบางและเสี่ยงต่อด้านความมั่นคงทางอาหารของชุมชน

           ส่วนที่สาม ประกอบด้วยเนื้อหา 3 บท ที่เป็นเรื่องราวของครัว “ไทด่าน” ตั้งแต่การปรุงสำรับอาหาร โดยศึกษาเชื่อมโยงไปในด้านสังคมและวัฒนธรรม เช่น ด้านกายภาพและภูมิลักษณ์ของบ้านเรือนและครัว เครื่องครัว ความเชื่อที่สัมพันธ์กับอาหารท้องถิ่น เป็นต้น รวมถึงด้านโภชนาการ ประเภทอาหาร การแพทย์พื้นบ้าน ตลอดจนองค์ความรู้ในการจัดการฐานทรัพยากรอาหารของชุมชน จนนำไปสู่การเชื่อมโยงระหว่างฐานทรัพยากรอาหารของชุมชนกับสำรับไทด่าน

           หนังสือเล่มนี้จะสะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่มีคุณค่าของคนไทด่าน ผู้อ่านจะเห็นว่าสำรับไทด่านจานหนึ่ง ๆ นั้น สัมพันธ์กับเรื่องราวที่หลากหลายและซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นในด้านระบบนิเวศของชุมชน สังคมและวัฒนธรรม ความเชื่อ การแพทย์พื้นบ้าน โภชนาการ และประวัติศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน หลาย ๆ สำรับของคนไทด่าน กลายเป็นเพียงเรื่องเล่าที่คนรุ่นใหม่ ๆ อาจหลงลืมและไม่รู้คุณค่าเชิงวัฒนธรรม ตลอดจนอัตลักษณ์ของตนเองที่แฝงมากับสำรับอาหาร ด้วยเหตุนี้ ความท้าทายจึงเกิดขึ้นกับคนไทด่านด้วยว่า จะก้าวย่างอย่างไรต่อไปในโลกสมัยใหม่ ให้ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนดำรงอยู่อย่างยั่งยืน โดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์ของตนเองไป

           หนังสือจากป่าสู่ครัว “ไทด่าน” และหนังสือทุนวัฒนธรรมอื่น ๆ มีพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fan page: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library


รีวิวโดย

ปริยฉัตร เวทยนุกูล

เจ้าหน้าที่บริการสารสนเทศ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ไทด่าน ด่านซ้าย เลย ทรัพยากรอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร ปริยฉัตร เวทยนุกูล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share