มรดกวัฒนธรรมในอำเภอปาย-ปางมะผ้า-ขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 |  มรดกวัฒนธรรม และภูมิปัญญา
ผู้เข้าชม : 2368

มรดกวัฒนธรรมในอำเภอปาย-ปางมะผ้า-ขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน

หนังสือมรดกวัฒนธรรมในอำเภอปาย-ปางมะผ้า-ขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน บรรณาธิการโดย รัศมี ชูทรงเดช

มีให้บริการที่ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

           นักวิชาการ พัฒนากร และนักพัฒนาชุมชน ต่างเชื่อว่า การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต้องพัฒนาคนให้มีความรู้ มีปัญญาเป็นอาวุธ เพราะ “ความรู้” คืออำนาจ เป็นพลังของชุมชนในการต่อรองพื้นที่ทางสังคมของชุมชน ท่ามกลางความพยายามของภาครัฐที่พยายามทำให้ “ชนบทเข้มแข็ง” หรือ “พัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” เพื่อหวังจะพัฒนาพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่งผลให้ผู้คนให้คุณค่าต่อวัตถุและเงินตรา เกิดกระบวนการขายชีวิตจิตวิญญาณและสร้างวัฒนธรรมประดิษฐ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มากกกว่าการสร้างและดำรงไว้ซึ่งคุณค่าของวัฒนธรรมและภูมปัญญาท้องถิ่น

           หนังสือ มรดกวัฒนธรรมในอำเภอปาย ปางมะผ้า ขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการของโครงการการสืบค้นและจัดการมรดกทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนในอำเภอปาย-ปางมะผ้า-ขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ดำเนินงานระหว่าง พ.ศ. 2550-2552 เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยที่ต่อยอดจากโครงการวิจัยเดิม คือ โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชน และสังคม โดยโครงการได้พยายามเชื่อมโยงหลายศาสตร์อันประกอบด้วยโบราณคดี มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์และการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อค้นคว้าเรื่องราวภูมิหลังความเป็นมาของผู้คนและวัฒนธรรมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับผู้คน สังคม และวัฒนธรรม สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประมวลประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากประวัติความทรงจำ/ประวัติศาสตร์บอกเล่า บูรณาการองค์ความรู้เกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมในท้องถิ่น ทั้งด้านโบราณคดี วัฒนธรรม ประวัติสาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ดำเนินการดูแล รักษา ถ่ายทอด และสืบทอดด้วยการพัฒนาเป็นฐานข้อมูลเพื่อการจัดการความรู้และการท่องเที่ยว พัฒนาหลักหลักสูตร พัฒนาแหล่งเรียนรู้ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และเชื่อมโยงเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของชุมชน โดยพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน หนังสือมีความน่าสนใจตรงที่คณะผู้วิจัยได้ลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมาอย่างยาวนาน มีผลงานจากการวิจัยจำนวนมาก หนังสือเล่มนี้เป็นปลายทางของผลงานเป็นแบบอย่างและแนวทางที่ดีในการศึกษาชุมชนท้องถิ่น ทั้งแง่การบริหารจัดการวิจัยโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม การศึกษาข้อมูลชุมชนจากปราชญ์ หรือผู้รู้ในท้องถิ่น เมื่อได้ข้อมูลวิชาการมาแล้ว ก็พยายามทำงานร่วมกับกับผู้คน ชุมชน และภาคีเครือข่ายในการนำเอาข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้คน และชุมชนเจ้าของวัฒนธรรม

           หนังสือนำเสนอภาพรวมของโครงการวิจัยการสืบค้นและจัดการมรดกทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนในอำเภอปาย - ปางมะผ้า - ขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน แบ่งเนื้อหาออกเป็น สามประเด็นคือ

           ประเด็น “มรดกวัฒนธรรมทางโบราคดี” นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คน สังคมและวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ ข้อค้นพบชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมทางโบราณคดีในอำเภอปาย – ปางมะผ้า-ขุนยวม มีความสำคัญต่อความเข้าใจประวัติศาสตร์ล้านนา มีร่องรอยของผู้คนดั้งเดิมอาศัยอยู่บริเวณนี้อย่างต่อเนื่องมาสามหมื่นกว่าปี มีการตั้งถิ่นฐานกระจายกันอยู่ทั่วไปเริ่มจากอำเภอปางมะผ้า ผู้คนอาศัยอยู่ในถ้ำ เพิงผาและที่โล่งบนยอดเขา ต่อมาเพิงผาและถ้ำถูกเปลี่ยนหน้าที่ใช้เป็นสุสานในสมัยวัฒนธรรมโลงไม้ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่โดนเด่นของอำเภอปางมะผ้า บทความที่สองนำเสนอมุมมองสังคมล้านนาจากพื้นที่ทั้งพื้นที่สูงและที่ราบจากหลักฐานทางโบราณคดี ชาวปาย ปางมะผ้าและขุนยวมเชื่อว่า “ชาวลัวะ” เป็นกลุ่มชนโบราณในพื้นที่ แต่ยังไม่พบหลักฐานโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานของความเชื่อดังกล่าว แต่จากหลักฐานทางโบราณวัตถุที่ค้นพบได้แก่ ภาชนะดินเผา กล้องยาสูบดินเผา เครื่องถ้วยจีนและญี่ปุ่นเป็นข้อมูลให้ทราบว่า ชาวปายมีการติดต่อกับชุนชนในพื้นที่ราบโดยเฉพาะพื้นที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน ทั้งในฐานะผู้หาของป่าส่งให้ชาวล้านนา และต้องการบริโภคสินค้าจากล้านนาด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับเส้นทางถอยทัพของทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และการพัฒนาเส้นทางเดินทัพสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเส้นทางการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นบทความที่นำเสนอประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าของท้องถิ่น การจัดการข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านต่อแพ ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

           ประเด็นที่สองนำเสนอเรื่อง “มรดกวัฒนธรรมด้านประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา” นำเสนอเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของชุมชนท้องถิ่นปาย ปางมะผ้า และขุนยวม ตามลำดับเวลา หรือการเปลี่นนแปลงในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แต่ชุมชนท้องถิ่นไม่ค่อยให้ความสำคัญ ชาวชุมชนให้ความสำคัญกับชุมชนปัจจุบันที่เกี่ยวกับการทำมาหากิน ความเชื่อ และประเพณี ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตชองขุมชนมากกว่า การศึกษาระบบเศรษฐกิจการค้าเมี่ยงของชุมชนบ้านไม้ฮุง-ไม้ลัน-ปางคาม บนพื้นที่สูงในอดีตในฐานะสินค้าส่งออกของชุมชนพบว่าเป็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มคนบนพื้นที่สูงและที่ราบ ที่ต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพาอาศัยแลกเปลี่ยนสินค้า สร้างเครือข่ายการค้าท้องถิ่นที่สามารถกระจายและแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งก่อให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้ และบทสำรวจสถานภาพความรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยแบ่งเป็นสามส่วนคือ การศึกษาประวัติศาสตร์แหล่งที่มา การตั้งถิ่นฐานและการอพยพย้ายถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ การศึกษาด้านวัฒนธรรม และการปรับตัว การสร้างอัตลักษณ์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ และเอกสารแทรก เรื่องเพศสภาพในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม; กรณีศึกษาผูหญิงไทใหญ่ บ้านต่อแพ ใช้มุมมองเพศสภาพเพื่อวิเคราะห์การจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนไทใหญ่ ในหมู่บ้านต่อแพ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยมองผ่านชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง (นางจันทร์นิภา ทองคำ) ซึ่งเป็นผู้สืบต่อและจัดการมรดกทางวัฒนธรรมไทใหญ่ ของหมู่บ้านต่อแพ

           ประเด็นที่สามเรื่อง “การจัดการมรดกวัฒนธรรม”: กรรมสิทธิ์ การต่อรอง และการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน เกี่ยวกับสิทธิ์ในการจัดการ “ทรัพยากรโป่งน้ำร้อนเมืองแปลง” บ้านใหม่ดอนตัน ตำบลเมืองแปลง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีความทับซ้อนขอบระบบกรรมสิทธิ์ ทั้งกรมป่าไม้ องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแปง และชุมชนบ้านใหม่ดอนตัน ซึ่งเป็นชุมชนที่ดูแล และมีวิถีชีวิตผูกพันธ์กับโปงน้ำร้อนเมืองแปง ในฐานะเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของชุมชน โดยชุมชนพยายามต่อสู้เพื่อที่จะรักษา “อำนาจ” ในการจัดการทรัพยากรของตนเองไปพร้อมๆ กับการเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ที่เข้ามาสู่ชุมชน รวมทั้งปฏิเสธหน่วยงานจากภายนอกที่พยายามเข้ามาจัดการโดยไม่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา

           การฟื้นฟูพลังและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และการจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน จำเป็นที่จะต้องสร้างจากองค์ความรู้ทางวิชาการ และใช้ความรู้ในการวางแผนพัฒนาชุนชนท้องถิ่น โดยมีมรดกวัฒนธรรมเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของชุมชนต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดพลังในการต้านทานกระแสการพัฒนาจากภาคส่วนต่างๆ และการหลั่งไหลของผู้คนจากภายนอกที่เข้ามาในพื้นที่เพื่อผลประโยชน์ หรือเพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อน ช่วยให้ชุมชนดำรงอัตลักษณ์ของชุมชน และสืบสานภูมิปัญญาของบรรพชนต่อไปยังลูกหลานรุ่นต่อรุ่นได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้องค์ความรู้ใหม่ที่เน้นความถูกต้องเน้นความจริงที่เกิดขึ้น มีเกร็ดความรู้ประกอบจะทำให้เรื่องราวในประวัติศาสตร์เป็นภาพที่มีชีวิตและน่าสนใจ สามารถสร้างแรงดึงดูดให้คนมาเยือนชุมชน และเกิดความยั่งยืนในการรักษา “ของดี” ให้คงอยู่คู่มาตุภูมิ อนึ่งผลที่ตามมาในเรื่องขององค์ความรู้ทางวิชาการใหม่ๆ ทำให้ผู้คนต่างถิ่นได้เรียนรู้เกี่ยวกับผู้คน และวัฒนธรรมที่เขามาเยือน เกิดความซาบซึ้งและดำรงความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนาและวัฒนธรรม เคารพความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ซึ่งจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันโดยสันติ

           หนังสือเล่มนี้แนะนำสำหรับนักวิจัยที่ต้องการศึกษาชุมชนท้องถิ่นแบบบูรณาการ ใช้เวลาในการศึกษาชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะนำเอาองค์ความรู้ไปใช้ในการพัฒนา ผู้คน ชุมชนอย่างยั่งยืน และเหมาะกับนักวิชาการ อาจารย์ หรือนักศึกษาที่เรียน/สอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โบราณคดีชุมชน หรือ การจัดการมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ยังมีหนังสือ ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโครงการวิจัยโบราณคดีบนพื้นที่สูง อีกจำนวนมาก สามารถตามอ่านได้ที่ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องทุนวัฒนธรรมพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library


ผู้รีวิว

อนันต์ สมมูล

เจ้าหน้าที่บริการสารสนเทศ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน อนันต์ สมมูล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share