ธรรมชาติสร้าง ปกาเกอะญอสรร : ลายผ้าทอและปักผ้าบ้านห้วยตองก๊อ

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 2434

ธรรมชาติสร้าง ปกาเกอะญอสรร : ลายผ้าทอและปักผ้าบ้านห้วยตองก๊อ

 

ธรรมชาติสร้าง ปกาเกอะญอสรร : ลายผ้าทอและปักผ้าบ้านห้วยตองก๊อ

 

ยุวดี ศรีห้วยยอด

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

           เมื่อวิถีจิตวิญาณปกาเกอะญอบ่มเพาะว่า “เราอยู่กับป่าเรารักษาป่า เราอยู่ต้นน้ำเรารักษาน้ำ” ผนวกเข้ากับวิธีปฏิบัติของฝั่งตะวันตกที่ Edward de Bono1 กล่าวไว้ “ความคิดเชิงสร้างสรรค์สัมพันธ์กับการทำลายกรอบแนวคิดเดิม เพื่อที่จะมองสิ่งที่อยู่รอบตัว ด้วยวิธีการที่แตกต่าง”2 ทำไมการรักษ์ธรรมชาติถึงมาเกี่ยวโยงกับความคิดสร้างสรรค์ได้!

 

 

           สมาชิกปกาเกอะญอบ้านห้วยตองก๊อ ตำบลห้วยปูลิง จังหวัดแม่ฮ่องสอน หนึ่งในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการคลังข้อมูลชุมชน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้เสนอโครงการเก็บข้อมูลลายผ้าทอและลายปักผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของตน วัฒนธรรมการแต่งกายของปกาเกอะญอบ้านห้วยตองก๊อจากอดีตมาจนปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ จากหลักฐานภาพถ่ายและการเล่าขาน เสื้อผ้าของปกาเกอะญอนั้นมีสัญลักษณ์แทรกความหมาย พึงให้ผู้สวมใส่ได้ระลึกถึงวิถีและหน้าที่ของตน ดั่ง เชถึนุย เสื้อที่เจ้าสาวต้องทอให้เจ้าบ่าวภายในอาทิตย์เดียวก่อนแต่งงาน ใช้ด้ายสีแดงทอขึ้นลาย สีแดงแทนความหนักแน่นและเชื่อว่าจะป้องกันโรคภัย ที่เสื้อมีพู่สีแดงยาวให้ระลึกเสมอว่าหลังแต่งงาน ภาระและความรับผิดชอบจะเพิ่มมากขึ้นดั่งพู่ที่ทิ้งตัวยาว และยังเป็นนัยถึงความรักที่เป็นนิรันดรของคู่แต่งงาน3 เช่นเดียวกับเสื้อของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ชุดเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิง เสื้อของหญิงสาว ชายหนุ่ม ต่างมีเครื่องนุ่งห่มที่บ่งบอกสถานะทางสังคมและบทบาทหน้าที่ในครอบครัว

 

เสื้อ เชถึนุย

 

 

 

           บ้านห้วยตองก๊อเข้าร่วม CBT (Community – Based Tourism) หรือการท่องเที่ยวโดยชุมชน ดำเนินงานมากว่า 20 ปี กำลังพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในชุมชนประกอบกับได้รับทุนจากสำนักคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้กระบวนการคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เข้ามามีบทบาทในชุมชน นำโดยกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า Doister4 ทำงานร่วมกับกลุ่มแม่บ้านทอผ้า ใช้กระบวนการสังเกต ออกแบบ ทดลอง ช่วยในการคิดงานหัตถกรรมให้ไม่ซ้ำกับใคร จนผลิตออกมาจำหน่ายในที่สุดและเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้ชุมชนในแบรนด์ ตองก๊อแฟมิลี่ (Tong Kor Family)5

           ตองก๊อแฟมิลี่ ใช้ฐานคิดของความเชื่อเดิมที่คนปกาเกอะญอสืบทอดกันมาผ่านเครื่องนุ่งห่ม ผสานกับรูปทรงจากธรรมชาติ เช่น ลายโหล่ลา ลายปักผ้าที่พัฒนาจากลายเก่อเปเผล่อ แรงบันดาลจาก ตองก๊อ หรือต้นไม้ที่ขึ้นชุกบริเวณที่ตั้งหมู่บ้าน ลักษณะใบเป็นแฉกหนาคล้ายต้นปาล์ม มักนิยมนำใบตองก๊อมาทำหลังคา นอกจากลวดลายที่สร้างสรรค์ใหม่ วัตถุดิบอย่างเส้นด้ายก็ปรับกลับสู่วิถีเดิม คือ การย้อมด้ายด้วยวัตถุดิบให้สีจากธรรมชาติ มีการทดลองหลายต่อหลายครั้ง เพราะการย้อมสีด้ายในแต่ละครั้งต้องสังเกตและจดบันทึก ผลการทดลองที่เต็มไปด้วยปัจจัย อาทิ ส่วนผสมของวัตถุดิบ ตัวให้สี ตัวหยุดสี ระยะเวลาในการต้มย้อม เป็นต้น

 

ลายโหล่ลา

 

           เมื่อภูมิปัญญาดั้งเดิมถูกรื้อฟื้นผนวกความสร้างสรรค์ ทำให้ผลิตภัณฑ์ของตองก๊อแฟมีลี่ ได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ เป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน ส่งผลให้เยาวชนบางคนที่ออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน กลับมาและร่วมเป็นทีมพัฒนาผ้าทอบ้านห้วยตองก๊อ นอกจากความสร้างสรรค์จะช่วยยึดโยงหนุ่มสาวให้กลับมาบ้านเกิด การเก็บบันทึก จัดการ และเผยแพร่ข้อมูลเรื่องผ้าทอภายใต้โครงการคลังข้อมูลชุมชน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่ดำเนินการเองโดยชุมชนทุกกระบวนการ ทำให้เรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต    ปกาเกอะญอ การใช้พื้นที่ป่าเขา การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ วัฒนธรรมการแต่งกาย ขั้นตอนการทอผ้า การทดลองสีย้อมผ้า รวมถึงศิลปินผู้ทอผ้า ข้อมูลเหล่านี้จะถูกคัดสรรจัดเรียงใหม่ให้อยู่ในรูปแบบหนังสือเผยแพร่ยังวงกว้าง ส่งผ่านให้คนนอกชุมชนได้รับรู้ด้วยสายตาต่อไป

 

 

 

1  นายแพทย์ชาวรัสเซีย นักจิตวิทยา นักประดิษฐ์ นักเขียน และผู้คิดค้นเทคนิคการคิดสร้างสรรค์ อาทิ Six Thinking Hats

2  เรวัฒน์ ชำนาญ. (2555). ยุทธการสร้างซีคิว. ฉลาดคิด ฉลาดสร้างสรรค์ creativity (น.71). เชียงราย: ฐานการพิมพ์.

3  นายเสรีทอง ศักดิ์คีรีงาม และคณะทำงาน (2562). รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษาลายผ้ากะเหรี่ยงบ้านห้วยตองก๊อ ตำบลห้วยปูลิง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน (น. 65). ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

4  นักพัฒนาสายสร้างสรรค์ทำงานร่วมกับชุมชน เน้นความยั่งยืน ชุมชนเป็นคนขับเคลื่อนหลัก Doister เป็นแรงเสริมหนุน https://www.facebook.com/doisterwannabe/ สื่อโซเชียลเฟสบุ๊กของกลุ่ม Doister

5  https://www.facebook.com/groups/972309302875690/?epa=SEARCH_BOX สื่อโซเชียลเฟสบุ๊กของตองก๊อแฟมีลี่ 

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share