เชียงแสนไม่ได้มีแต่วัดเก่า ยังมีเรื่องราว และภาพเก่า ที่สร้างเรื่องเล่าและคนทำงานชุมชน

 |  มรดกวัฒนธรรม และภูมิปัญญา
ผู้เข้าชม : 5226

เชียงแสนไม่ได้มีแต่วัดเก่า ยังมีเรื่องราว และภาพเก่า ที่สร้างเรื่องเล่าและคนทำงานชุมชน

 

เชียงแสนไม่ได้มีแต่วัดเก่า ยังมีเรื่องราว และภาพเก่า ที่สร้างเรื่องเล่าและคนทำงานชุมชน

 

นวลพรรณ บุญธรรม

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

           อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย อำเภอไม่เล็กไม่ใหญ่ เป็นที่ตั้งของสามเหลี่ยมทองคำ ดินแดนรอยต่อระหว่างสามประเทศ ไทย ลาว และเมียนมา มีแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่เป็นทั้งพรมแดน และเส้นทางการติดต่อสัมพันธ์ของทั้ง 3 ประเทศมานับร้อยปี และบริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งของเมืองเชียงแสน เมืองโบราณที่มีความสำคัญเมืองหนึ่งของอาณาจักรล้านนา หลักฐานสำคัญที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของเชียงแสนอาจเห็นได้จากกำแพงเมือง ป้อม คูเมือง และวัดจำนวนมากกว่า 200 แห่ง ทั้งในเขตกำแพงเมืองและนอกกำแพงเมือง เมืองเชียงแสนในอดีตผ่านการทำศึกสงครามหลายครั้ง หลายครั้งตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า บางครั้งอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา และอาณาจักรล้านช้าง จนกระทั่งเป็นเมืองร้าง ในช่วงรัชกาลที่ 1 ของกรุงรัตนโกสินทร์ มีการกวาดต้อนผู้คนในเชียงแสนไปอยู่ที่ต่างๆ จนมาถึงช่วงรัชกาลที่ 5 จึงเริ่มมีคนเข้ามาอยู่อาศัยและฟื้นฟูก่อร่างสร้างเมืองใหม่อีกครั้งจนเป็นเมืองเชียงแสนในปัจุบัน  

           ปัจจุบันอำเภอเชียงแสนยังความสำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งเป็นเส้นทางการค้าระหว่างประเทศ การเดินทางไปมาหาสู่กันของหมู่เครือญาติ การเดินทางเพื่อการทำมาหากิน การเกษตร การค้าแรงงาน การเดินทางท่องเที่ยว และแม้แต่การแสวงโชค ส่งผลให้ ในช่วง 60-70 ปีที่ผ่านมา เชียงแสนยิ่งมีความหลากหลายของผู้คน ความหลากหลายทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ซึ่งประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ส่วนใหญ่ยังไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ยังคงอัดแน่นอยู่ในความทรงจำของคนเชียงแสนในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมีภาพถ่ายของคนในชุมชนเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยดึงความทรงจำในเรื่องราวต่างๆ และทำให้เห็นว่าเชียงแสน เป็นเมืองที่มีชีวิต ผ่านร้อนผ่านหนาว เต็มไปด้วยสีสันของผู้คนหลากหลายกลุ่มที่มีส่วนร่วมสร้างให้เชียงแสนมีความน่าสนใจในปัจจุบัน

 

           ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเชียงแสน  

           ด้วยความที่เชียงแสนเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศจึงมีผู้คนเดินทางมาเชียงแสนมากมาย โดยเฉพาะในช่วงของการทำอุตสาหกรรมยาสูบเมื่อประมาณ พ.ศ.2500-2520 ส่งผลให้อำเภอเชียงแสนเติบโตมากขึ้น มีทั้งสถานที่ราชการ ย่านการค้า และสถานบันเทิงมากมายหลายแห่ง รวมทั้งมีร้านถ่ายภาพที่เปิดให้บริการถ่ายภาพทั้งในและนอกสถานที่ให้กับผู้ที่ค่อนข้างมีฐานะในช่วงเหตุการณ์สำคัญต่างๆ  ทำให้ผู้คนและเหตุการณ์ในเชียงแสนในช่วงประมาณ พ.ศ. 2500 ได้รับการบันทึกด้วยภาพถ่ายของคนเชียงแสนอยู่จำนวนมาก     ผู้ดำเนินโครงการ การจัดการข้อมูลประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรมเมืองเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จึงหยิบยกภาพเก่าของเมืองเชียงแสนที่รวบรวมจากหลายแหล่ง ทั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภาพจากทายาทของ โกต้น เจ้าของร้านแสนศิลป์ร้านถ่ายรูปในอำเภอเชียงแสน ภาพส่วนบุคคล ภาพจากเพจปิ๊กเชียงแสน รวมทั้งภาพจากแหล่งอื่นๆ มาจัดกลุ่มและเล่าเรื่องราวของเมืองเชียงแสน 10 เรื่อง เพื่อสะท้อนชีวิตของผู้คนเมืองเชียงแสนในช่วงเวลาต่างๆ ได้แก่ 1) รัชกาลที่ 9 และราชวงค์เสด็จเมืองเชียงแสน 2) ตลาดสินสมบูรณ์ 3) น้ำท่วมครั้งใหญ่ เมืองเชียงแสน พ.ศ.2509 4) เกาะกลาง 5) รถยนต์ จักรยาน สะพาน เรือ และน้ำโขงในเชียงแสน 6) เรือขนส่งในเชียงแสน 7) โกต้น 8) ชุมชนชาวจีน และย่านการค้า 9) การแต่งแฟนซีในงานทอดกฐิน 10) ชุมชนชาวลาวในซอยทัพม่าน 

 

  • ย่านการค้ากับชุมชนชาวจีนในอำเภอเชียงแสน

 

           ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง เรื่องราวของ ย่านการค้ากับชุมชนชาวจีนในอำเภอเชียงแสน ผู้ดำเนินโครงการได้พูดคุยกับลูกหลานชาวจีน ระหว่างการเดินทำแผนที่เดินดิน จากคำบอกเล่าของคุณป้าสิริวิมล บูรณพัฒนา (เจ้เสี้ยม ร้านหน่ำกี่) อายุ75 ปี และคุณป้าปัทมา (เจ้หมัก) บูรณพัฒนา อายุ 86 ปี ได้เล่าเรื่องราวของคนจีนในสมัยแรกๆ ที่เข้ามาอยู่ในเชียงแสนเมื่อราวพ.ศ.2463 ว่า พ่อแม่เป็นคนแต้จิ๋ว มาจากกวางโจว ก่อนอพยพมาอยู่เชียงแสนปู่เคยอยู่แถบสมุทรสงคราม สมุทรสาครมาก่อน ลูกหลานทุกคนเกิดที่เชียงแสน พี่คนโตอายุ 90 กว่าปีแล้ว แต่เดิมเคยเปิดเป็นร้านขายของชำต่อมาได้เปิดเป็นร้านขายยา ขายทั้งยาไทย ยาจีนและยาแผนปัจจุบัน มีครอบครัวคูสุวรรณ ของอาม่าอิน และเตี่ยยง ครอบครัวโพธิเกตุ (นายแทน โพธิเกตุ กำนันตำบลเวียง) ชุมชนชาวจีนที่มาอยู่ก็มาอยู่แถบท่าน้ำโขงบ้านเวียงใต้ ตั้งแต่สามแยกโรงพัก (สถานีตำรวจภูธรเชียงแสน) ไปจนเกือบถึงซอยข้างวัดปงสนุก และสามแยกโรงพักไปจนถึงตลาดสินสมบูรณ์ บริเวณท่าน้ำวัดปงสนุกและในซอยวัดปงสนุกก็จะเป็นที่อยู่ของคนเมือง (ไทยโยนก) ที่มาอยู่ก่อนแล้ว มีอาชีพทำการเกษตร ทำไร่ทำนาเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ในซอยวัดปงสนุกแต่เดิม ถือว่าเป็นซอยที่มีวัว ควาย มากที่สุด สำหรับบ้านเวียงเหนือ ก็จะมีคนเมืองอาศัยอยู่ในซอยวัดผ้าขาวป้านถึงวัดพวกพันตองและริมท่าน้ำวัดผ้าขาวป้านไปจนถึงกำแพงด้านทิศเหนือ และทิศใต้ถึงที่ว่าการอำเภอ คนพื้นเมืองในซอยวัดผ้าขาวป้านส่วนหนึ่งมาอยู่ก่อน 2440 และเป็นลูกหลานของตระกูลเชื้อเจ็ดตนที่อพยพมาสร้างบ้านแปงเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 (ข้อมูลจาก ชุดข้อมูลที่ 8 ย่านการค้าชุมชนของชาวจีน เมื่อวันวาน รายงานรายงานผลฉบับสมบูรณ์ โครงการการจัดการข้อมูลประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม เมืองเชียงแสน ระยะที่ 1 2562) 

 

ชุมชนชาวจีน ตักบาตรถนนย่านการค้าริมโขง

 

ครอบครัวอาม่าอินกับเตี่ยยง คูสุวรรณ พ่อค้าในเชียงแสน

 

แผนผังชุมชน แสดงกลุ่มคนที่อยู่ในเมืองเชียงแสน

 

           จากข้อมูลดังกล่าวให้ให้เห็นความหลากหลายของผู้คนที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ในเชียงแสนมากขึ้น รวมถึงวิถีชีวิตและการใช้พื้นที่ของคนกลุ่มต่างๆ ทั้งชาวจีนที่ส่วนมากจะเข้ามาเปิดร้านทำการค้าขายบริเวณริมแม่น้ำโขง คนเมืองหรือไทโยนกหรือไทยวนที่ทำเกษตรกรรม และพื้นที่ที่น่าจะเป็นพื้นที่การอยู่อาศัยในช่วงเริ่มแรกหลังจากการฟื้นฟูเมืองในระยะแรกบริเวณซอยวัดผ้าขาวป้าน

 

           รวมคนอินประวัติศาสตร์ ให้มาฟิน (ทำงาน) ร่วมกัน 

           นอกจากการรวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์เพื่อบันทึกเรื่องราวของเมืองเชียงแสนแล้ว กระบวนการทำงานของโครงการคลังข้อมูลชุมชนยังสร้างและขยายกลุ่มคนทำงานพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมในอำเภอเชียงแสน  โดยเริ่มจากการทำงานของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นล้านนา (ศูนย์ฯ ได้สนับสนุนให้พิพิธภัณฑ์ในภาคเหนือทำงานร่วมกันในรูปแบบเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นล้านนามาตั้งแต่ พ.ศ.2553 มีสมาชิกเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์จากพิพิธภัณฑ์ใน 8 จังหวัดในภาคเหนือ) ได้เข้ามาทำงานร่วมกับกลุ่มคนต่างๆ ในเมืองเชียงแสนเพื่อหาแนวร่วมในการจัดงานมหกรรมเมืองพิพิธภัณฑ์เชียงแสน เมื่อปี 2560 – 2562 ภายหลังการจัดงานมหกรรมฯ มีคนเชียงแสนที่ได้ร่วมงานกับกลุ่มเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ล้านนาจัดงานมหกรรมฯ เกิดความสนใจที่จะศึกษาเรื่องราวของชุมชนต่อ จึงเข้าร่วมโครงการคลังข้อมูลชุมชน เป็นกลุ่มคนทำงานกลุ่มใหม่ที่ร่วมกันทำงานคลังข้อมูลชุมชน ตั้งแต่การทำแผนที่เดินดิน การเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและการพูดคุยกับผู้คนในชุมชนและนอกชุมชน

 

        

คณะผู้ดำเนินโครงการ

    

           คนเชียงแสนกับการสร้างและจัดการความรู้

           จากกระบวนการที่ใช้ภาพเก่าของชุมชนในการดึงความทรงจำเรื่องราวของชุมชนใน 10 ประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว  ผู้ดำเนินโครงการยังเกิดความสนใจที่จะศึกษารวบรวมข้อมูลชุมชนในระดับที่ลึกขึ้น โดยเลือกศึกษาข้อมูล 2 ประเด็นคือ เรื่องราวของคนเชียงแสน และไทยวน ที่เคลื่อนย้ายไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ โดยศึกษาจากร่องรอยหลักฐานที่ยังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน เช่น เอกสารโบราณ “ค่าวเชียงแสนแตก” ที่เล่าถึงเหตุกาณ์และสภาพเมืองเชียงแสนในช่วงนั้น และลงพื้นที่ศึกษษลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบเชียงแสนที่ยังปรากฏอยู่ เช่น วิหารวัดสุชาดาราม วิหารพันองค์วัดปงสนุก จังหวัดลำปาง เพื่อศึกษาข้อมูลคนเชียงแสน และไทยวน ให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งการศึกษารวบรวมประเพณีการสรงน้ำพระธาตุ ซึ่งเป็นประเพณีที่คนเชียงแสนยังคงปฏิบัติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่คนรุ่งหลังๆ อาจจยังไม่รู้ถึงที่มาที่ไปและความสำคัญในการสรงน้ำพระธาตุที่ต้องเรียงลำดับการสรงน้ำแต่ละวัด ตามความเชื่อของคนเชียงแสนที่ถือปฏิบัติมาอย่างยาวนาน ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยเติมเต็มประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงแสนในส่วนที่ไม่ชัดเจน ให้มีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ การการเก็บรวบรวมข้อมูล อย่างเป็นระบบจะช่วยทำให้เกิดความยั่งยืนของข้อมูล ทั้งการเก็บรักษาข้อมูลไม่ให้สูญหาย และสามารถส่งต่อความรู้ให้กับคนในชุมชน คนที่สนใจได้นำไปใช้ต่อได้อย่างเหมาะสม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน 

           กระบวนการจากการทำงานคลังข้อมูลชุมชน ผ่านโครงการการจัดการข้อมูลประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรมเมืองเชียงแสน ทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ทำให้เกิดประโยชน์ใน 3 ประเด็น คือ 1.สร้างทีมทำงาน รวมกลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องราวประวัติศาสตร์ และสังคมวัฒนธรรม ให้มารวมตัวกัน ทำงานร่วมกัน และสนุกที่จะศึกษาเรื่องราวของชุมชนในประเด็นอื่นต่อ 2.เกิดคลังข้อมูลของชุมชน ที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเมืองเชียงแสนไว้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน 3.การสร้างความรู้เพื่อเติมเต็มข้อมูลประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงแสนให้ชัดเจนขึ้น และเป็นความรู้ที่คนเชียงแสนร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อส่งต่อให้กับผู้ที่สนใจได้ศึกษาต่อไป

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share