ชีวิตชาวเรือพ่อค้าแม่ขายชาวมอญ บ้านศาลาแดงเหนือ ปทุมธานี

 |  มรดกวัฒนธรรม และภูมิปัญญา
ผู้เข้าชม : 5464

ชีวิตชาวเรือพ่อค้าแม่ขายชาวมอญ บ้านศาลาแดงเหนือ ปทุมธานี

 

ชีวิตชาวเรือพ่อค้าแม่ขายชาวมอญ บ้านศาลาแดงเหนือ ปทุมธานี

 

สิทธิพร  เนตรนิยม

นักปฏิบัติการวิจัย ศูนย์ภารตะศึกษา

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

 

           หากย้อนตำนานขึ้นไปราว 2,000 ปี มูลเหตุแห่งการสร้างเจดีย์ชเวดากอง ได้กล่าวไว้ถึงพี่น้องชาวมอญสองคนนามว่าตะเป้า กับ ตะปอ ได้เดินทางจากแคว้นสุวรรณภูมิไปยังชมพูทวีปเพื่อค้าขาย แล้วได้พบพระพุทธเจ้าและได้พระเกศาธาตุกลับมาด้วยขบวนเรือ สู่ชายฝั่งเมืองตะโก้ง จากตำนานเห็นได้ว่าการใช้พาหนะทางเรือเพื่อการค้าถือเป็นความชำนาญของชาวมอญมาแต่อดีต จนหลังพุทธกาลล่วงมาความชำนาญเรื่องเรือของชาวมอญ ยังปรากฏให้เห็นในตำราขบวนเรือในราชสำนักทั้งของพม่าและไทย ตั้งแต่สมัยพุกามจนถึงมัณฑเลย์ และอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ ภูมิปัญญาเรื่องเรือของชาวมอญทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มยังคงได้รับการสืบสานต่อมา

 

การค้าขายทางเรือในอำเภอสามโคก และบ้านศาลาแดงเหนือ

           เขตอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นเมืองเก่าที่มีความสำคัญมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานว่ามีชาวมอญอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ (กชกรณ์ ตราโมท, 2544: 109) หลังจากนั้นยังมีการอพยพของชาวมอญเพื่อหลบหนีจากภัยสงครามในเมืองพม่า เข้ามาตั้งรกรากในสามโคกอีกสามครั้งคือ ในสมัยกรุงธนบุรี สมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย อย่างไรก็ดีการอพยพครั้งใหญ่คือในสมัยรัชกาลที่ 2 ช่วง พ.ศ.2357 - 2358 ทำให้เกิดเครือข่ายชุมชนชาวมอญในจังหวัดปทุมธานี และอำเภอสามโคกขึ้น โดยการสร้างวัดและหมู่บ้านของตนบนพื้นที่วัดและย่านชุมชนเดิมของไทยที่ถูกทิ้งร้างไว้ในสมัยอยุธยา (พิบูลย์ หัตถกิจโกศล, 2558, หน้า 32-34)

           ชาวมอญส่วนหนึ่งเมื่อตั้งบ้านเรือนแล้วก็ประกอบอาชีพต่างๆ ตามความถนัดของตน ที่ติดตัวมาจากเมืองมอญ เช่น ทำนา ทำเครื่องปั้นดินเผา ทำอิฐ อาชีพค้าขายทางเรือเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ชาวมอญในเขตอำเภอสามโคกนิยมทำกัน ในพื้นที่อำเภอสามโคกมีชุมชนมอญที่ประกอบอาชีพค้าขายทางเรืออยู่หลายหมู่บ้าน เช่น บ้านศาลาแดงเหนือ บ้านกลาง (วัดสองพี่น้อง) บ้านวัง (วัดพลับสุทธาวาส) บ้านเมตารางค์ บ้านท้ายเกาะ บ้านเจดีย์ทอง บ้านสามเรือน (วัดสามัคคียาราม) บ้านตากแดด (วัดจันทน์กะพ้อ) บ้านสวนมะม่วงเหนือ และสวนมะม่วงใต้ (วัดอัมพุวราราม) และบ้านบางเตย

           ลักษณะการค้าทางเรือในชุมชนเหล่านี้  มีตั้งแต่พายเรือสำปั้นขายข้าวปลาอาหารอยู่แถวละแวกบ้าน ไปจนถึงการออกเรือไปนอกหมู่บ้าน บรรทุกโอ่ง อ่าง กระถาง ครก จากเกาะเกร็ด หรือหม้อดินที่บ้านบางตะนาวศรี จังหวัดนนทบุรี ไปขายในแถบจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สมัยต่อมาหากบ้านไหนมีเรือใหญ่ขนาด 20-30 เกวียน เช่น เรือมอ1  ก็จะขึ้นไปบรรทุกฟืนถึงจังหวัดนครสวรรค์ ส่วนเรือข้างกระดานหรือเรือกระแชงก็บรรทุกโอ่ง อ่าง หม้อดิน ครก เต้าเจี้ยว ปูเค็ม ไตปลา เกลือ กระเทียมดอง ฯลฯ เดินเรือโดยการกางใบ แจว และถ่อเรือ ขึ้นไปขายสินค้าเหล่านั้นทางแม่น้ำน่าน ไปจนถึงจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และอุตรดิตถ์

           มีบันทึกถึงกล่าวถึงการขายที่นาของชาวมอญในเขตอำเภอสามโคกระหว่างช่วง พ.ศ.2473-2480 เพราะชาวมอญเปลี่ยนอาชีพ ไปซื้อเรือกระแชงเพื่อค้าขายโอ่งและบรรทุกข้าวทางแม่น้ำกันมากขึ้น แม้ช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงภาวะที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำ แต่ระบบการขนส่งข้าวทางเรือยังคงดำเนินไปด้วยดีจากนโยบายการขุดคลองเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาและบุกเบิกที่นาแถวรังสิต

           ช่วง พ.ศ.2480 การค้าทางเรือมีการใช้เรือยนต์โยงเข้ากับเรือสินค้า ขึ้นไปขายทางภาคเหนือ เรือยนต์เป็นเรือกลไฟที่ใช้ฟืนและถ่านเป็นเชื้อเพลิง หรือเรือยนต์ที่ใช้น้ำมันโซลา ขนาดเครื่องประมาณ 30-40 แรงม้า ใช้โยงเรือสินค้าจากกรุงเทพฯ ไปถึงนครสวรรค์ แล้วไปเปลี่ยนเรือยนต์โยงสินค้าเข้าสู่แม่น้ำสายต่างต่าง เช่น แม่น้ำยม หรือแม่น้ำน่าน ซึ่งเปลี่ยนเรือที่บริเวณปากคลองเกยชัย ในเขตอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์

           ช่วง พ.ศ.2482 - 2488 ตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บรรดาเรือของชุมชนมอญ และเรือคนไทยก็รับจ้างขนทหารและอาวุธยุทธปัจจัยให้กองทัพญี่ปุ่นจากกรุงเทพฯ ไปถึงพิษณุโลก และกาญจนบุรี ได้ค่าจ้างเดือนละ 200-300 บาท ในขณะที่ราคาทองคำบาทละ 250 บาท

           ช่วง พ.ศ.2508 การค้าทางเรือของชุมชนมอญเริ่มมีการใช้เครื่องเรือหางยาวตั้งบนแอกท้ายเรือ และขับไปขายสินค้าแถวอยุธยา สระบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก และอุตรดิตถ์

           ช่วง พ.ศ.2490 - 2510 การค้าทางเรือถือว่ารุ่งเรืองมาก ประเทศไทยส่งออกข้าว และข้าวโพดไปขายต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เนื่องจากประเทศแถบอินโดจีนและเกาหลีเกิดสงครามภายใน ในช่วงดังกล่าวมีอู่ต่อเรือกระแชง และเรือยนต์เกิดขึ้นมาก เช่น อู่ต่อเรือในจังหวัดอยุธยา อู่ต่อเรือบ้านคอวัง จังหวัดสุพรรณบุรี และอู่ต่อเรือคลองบางหลวง กรุงเทพฯ นอกจากนั้นยังมีคานรับซ่อมแซมเรือเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น คานเรือในจังหวัดอยุธยา คานเรือในจังหวัดปทุมธานี เช่นคานเรือบ้านกลาง คานเรือวัดเจดีย์ทอง คานเรือคลองบางเตย คานเรือวัดสำแล เป็นต้น

           ช่วงเวลาดังกล่าวชาวบ้านยังนิยมต่อเรือยนต์ขนาด 50-120 แรงม้า โดยใช้น้ำมันโซลาเป็นเชื้อเพลิง และเรือกระแชง สำหรับบรรทุกข้าวขนาด 35-90 เกวียน ใช้รับจ้างบรรทุกข้าวเปลือก และข้าวสารที่คลองรังสิต มีชุมชนมอญในปทุมธานีจากบ้านเจดีย์ทอง บ้านตากแดด บ้านสามเรือน บรรทุกข้าวกันเป็นส่วนมาก นอกจากนั้นยังรับจ้างบรรทุกข้าวโพดที่ลพบุรี ปูนซีเมนต์ที่อำเภอนครหลวง พระนครศรีอยุธยา และบางซื่อ กรุงเทพฯ โดยเรือคนมอญบ้านศาลาแดงเหนือ บ้านวัง และบ้านกลางไปรับจ้างบรรทุกกันโดยมาก มีการขึ้นไปบรรทุกหินที่สระบุรีมาขึ้นที่สะพานแก้ว คลองรังสิต เพื่อนำไปสร้างสนามบินดอนเมือง และรับจ้างบรรทุกทรายจากวัดเชิงท่า จังหวัดปทุมธานี และลานเท ในอยุธยา

           ราว พ.ศ.2517 การค้าหม้อโอ่งอ่างทางเรือของกลุ่มทุนขนาดเล็ก ที่ล่องเรือกระแชงบรรทุกสินค้าไปตามลำคลองต่างๆ เริ่มลดน้อยลง เพราะสร้างประตูน้ำกันมากขึ้นทำให้เดินเรือไม่สะดวก เมื่อผนวกกับนโยบายการพัฒนาสาธารณูปโภคให้ทันสมัยด้วยการถมคลองสร้างถนน การค้าทางเรือจึงต้องเลิกไปพร้อมกับการเปลี่ยนพาหนะจากเรือมาเป็นรถกระบะ บรรทุกโอ่งอ่างกระถางตระเวนขายไปตามถนนแทนแม่น้ำลำคลอง

 

เรือคือชีวิต: เรื่องเล่าชาวเรือของคนมอญบ้านศาลาแดงเหนือ

           การค้าขายทางเรือเป็นอาชีพหนึ่งที่คนบ้านศาลาแดงส่วนใหญ่นิยมทำกัน เท่าที่สามารถสืบค้นได้จากการบอกเล่าและความทรงจำ คาดว่าทำกันมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่งทอดจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด อาจกล่าวได้ว่ากว่าร้อยละ 90 ของคนบ้านศาลาแดงเหนือในอดีต มีอาชีพค้าขายทางเรือ จนถึงปัจจุบันยังมีลูกหลานบางบ้านที่ยังสืบทอดประกอบอาชีพนี้อยู่ หากแต่ปรับเปลี่ยนสินค้าและประเภทเรือไปตามยุคสมัย   

 

ย่าแห แก้วหยก แม่ค้าทางเรือผู้มากประสบการณ์

           ย่าแห แก้วหยก เกิดปี พ.ศ.2453 (เสียชีวิตแล้ว) แม่ค้าทางเรือที่ค้าขายมากว่า 30 ปี จากชีวิตลูกจ้างเดินเรือเมื่ออายุ 13 ปี ก้าวขึ้นเป็นเจ้าของเรือกระแชงรับบรรทุกข้าว ก่อนหน้านี้พ่อกับแม่ของย่าแหก็ประกอบอาชีพค้าขายทางเรืออยู่ก่อนแล้ว โดยพ่อกับแม่มีเรือข้างกระดานตระเวนออกไปรับซื้อมะพร้าว พริกแห้ง ที่บ้านแจ้ง จังหวัดสมุทรสาคร แล้วนำมาขายที่อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี พิจิตร

           เมื่อย่าแหอายุ 13 ปี เริ่มใช้ชีวิตเป็นลูกจ้างเดินเรือ ได้ค่าจ้างเดือนละ 6-8 บาท ย่าแหทำงานเป็นลูกจ้างเดินเรือจนอายุ 22 ปี รวบรวมเงินจนสามารถซื้อเรือสำปั้นของตนเองและเริ่มเป็นแม่ค้าทางเรือตั้งแต่นั้น ย่าแหใช้ทุน 100 บาท แจวเรือไปซื้อสินค้าจำพวก มะพร้าว โอ่ง อ่าง หม้อดิน ไปขายแถวปทุมธานี อยุธยา และจังหวัดใกล้เคียง ต่อมาได้ลงทุนซื้อเรือใหม่ขนาด 5 มือลิง แจวไปซื้อสินค้าที่กรุงเทพฯ จอดเรือแถวเทเวศร์ แล้วซื้อเต้าเจี้ยว ปูเค็ม ไตปลา เกลือ จากนั้นจอดแวะบางตะนาวศรี นนทบุรี ซื้อหม้อดินเผา แวะเกาะเกร็ดซื้อโอ่ง แล้วจึงแจวเรือต่อไปขายสินค้าที่คลองรังสิต เกาะบางปะอิน อำเภอมหาราช จังหวัดอยุธยา เรื่อยไปถึงหนองโดน จังหวัดสระบุรี

           ย่าแหค้าขายทางเรือต่อมาจนอายุ 27 ปี จึงได้แต่งงานกับปู่ไอ แก้วหยก ช่วง พ.ศ.2480 ทั้งสองยังคงค้าขายทางเรือเรื่อยมา แต่ในระยะหลังเริ่มค้าขายไม่ค่อยดี เพราะมีจำนวนเรือค้าขายมากขึ้น ปู่ไอกับย่าแหจึงหันมารับจ้างเป็นลูกจ้างเดินเรือกับนายกรี จารุภา คนมอญบ้านศาลาแดงเหนือเช่นกัน และต่อมาได้ร่วมหุ้นค้าขายทางเรือกับนายกรี จารุภา จนสามารถซื้อเรือข้างกระดานขนาด 27 เกวียน ทำให้ขนของได้มากขึ้น และมีขนาดใหญ่พอจะขนของขึ้นไปค้าทางเหนือได้ ย่าแหกับปู่ไอจะแจวเรือเข้ากรุงเทพฯ จอดที่เทเวศร์ แล้วตระเวนหาซื้อสินค้าไปขาย เช่น ตราชั่งจีน ที่หัวลำโพง ผ้าดิบสำหรับทำใบเรือที่พาหุรัด และสินค้าบริโภคที่สำคัญ เช่น อินทผลัม หมาก กุ้งแห้ง เต้าเจี้ยว กะปิ ไตปลา ปูเค็ม ซึ่งเป็นของหายากสำหรับในแถบภาคเหนือ นอกจากนี้ยังมีถ้วยชาม และเครื่องครัวต่างๆ ใช้เวลาเตรียมของไปขายราว 2-3 ดือน ก่อนจะรอเวลาที่เหมาะสมขึ้นไปค้าขายทางภาคเหนือ

           ช่วงเวลานี้ปู่ไอกับย่าแหจะจอดพักที่บ้านศาลาแดงเหนือเตรียมซ่อมแซมใบเรือ ตรวจสอบอุปกรณ์เรือต่างๆ ช่วงเวลาเดินเรือที่เหมาะสมคือ หลังจากสงกรานต์ น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีสีแดง แสดงว่าน้ำเหนือเริ่มมีมากแล้ว ปู่ไอกับย่าแหและเพื่อนๆ ชาวเรือจะเตรียมออกเดินทาง ในเวลานั้นเรือค้าขายบ้านศาลาแดงเหนือมีด้วยกันหลายลำ เวลาเดินทางจะกางใบเรือ โดยตั้งเสากระโดงไม้ไผ่สีสุกบนธรณีเรือใช้ใบแล่นไป หากไม่มีลมต้องเปลี่ยนมาแจวหัวเรือท้ายเรือ ด้วยไม้ถ่อที่ทำจากไม้ไผ่แก่ ใส่เหล็กสามง่ามรูปโค้งคล้ายเขาควายไว้ที่ปลาย  เพื่อให้ถอนถ่อจากเลนได้ง่าย

 

ภาพถ่ายปี พ.ศ. 2508 ย่าแห แก้วหยก อายุ 55 ปี อุ้มหลานนายมาณพ แก้วหยก

ในภาพเห็นเรือกระแชงขยาบของย่าแห จอดอยู่หน้าบ้าน

 

           เส้นทางเรือไปทางเหนือ เริ่มจากบ้านศาลาแดงเหนือไปอยุธยา เลี้ยวเข้าแม่น้ำป่าสัก ขึ้นไปจนถึงอำเภอหล่มสัก เพชรบูรณ์ แม่น้ำป่าสักจะเริ่มมีน้ำหลากตั้งแต่เดือนมิถุนายน ซึ่งสามารถเดินเรือในแม่น้ำได้จนถึงเดือนกันยายน เส้นทางนี้นำเชี่ยวเดินทางลำบาก ย่าแหมักเลือกที่จะไปทางปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ โดยล่องเรือจากอยุธยา เลี้ยวซ้ายไปอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท จนถึงวังแม่ลูกอ่อน ซึ่งปัจจุบันเป็นเขื่อนเจ้าพระยา ขึ้นไปจนถึงปากน้ำโพ ใช้เวลาแรมเดือน อาศัยจุดหมายตาจำพวกทิวไม้ คุ้งน้ำ เป็นตัวกำหนดระยะทาง

           เมื่อถึงปากน้ำโพจะจอดแวะพักประมาณ 2-3 วัน ที่นี่เป็นจุดที่แม่น้ำน่าน และแม่น้ำปิงไหลมาบรรจบกัน ซึ่งย่าแหเคยขึ้นไปค้าขายเส้นลำน้ำปิงเพียงครั้งเดียว เพราะการเดินทางลำบาก คนน้อย ค้าขายไม่ดี ย่าแหจึงเลือกที่จะไปขายเส้นน้ำน่าน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “แควใหญ่” คนมอญเรียกว่า “แควโนก” สายทางนี้จะเข้าสู่ชุมแสง บางมูลนาก ตะพานหิน บ้านหัวดง พิจิตร สามง่าม บ้านใหม่ พิษณุโลก แล้วจอดเรือขายของที่หน้าวัดหลวงพ่อพุทธชินราช หากขายของไม่หมดก็จะเดินทางขึ้นไปถึงพรหมพิราม พิชัย ท่าสัก ตรอน อุตรดิต์ ท่าอิฐ ท่าเสา และหาดงิ้ว

           สำหรับวิธีขาย ขณะถ่อเรือไปตามลำน้ำก็ร้องขายของไปตลอดทาง และจะแวะพักที่เคยค้าขาย พวกผู้ชายจะขึ้นไปบนฝั่งเรียกคนให้มาซื้อของที่เรือ ชาวบ้านก็จะตามมาดูสินค้า สินค้าหายากในภาคเหนืออย่างเช่น เกลือ ปูเค็ม เต้าเจี้ยว ไตปลา ก็ตวงขายด้วยถ้วยตะไล เรือมอญบางลำขึ้นไปขายถึงสุโขทัย เวลาจอดนอนเรือมอญจะจอดรวมกันเป็นกลุ่ม บางครั้งก็มีญาติพี่น้อง และเรือมอญจากบ้านอื่นมาจอดสมทบ หลายครั้งอาจต้องจอดเพียงลำพัง อาศัยความชำนาญในการสังเกตดูความปลอดภัย หรือไม่ก็ผูกสัมพันธ์กับผู้นำชุมชนไว้เพื่อช่วยรักษาความปลอดภัย ส่วนใหญ่มักจะเป็นการขโมยข้าวของเล็กๆ น้อยๆ การจี้ปล้นใหญ่ก็มีบ้าง แต่ไม่หนักหนานัก

           ปีหนึ่งๆ ย่าแหจะบรรทุกของขึ้นไปขายทางเหนือได้แค่ 1 - 2 เที่ยว ได้กำไรเที่ยวละ 300 บาท ถ้าปีไหนน้ำน้อยขึ้นเหนือไม่ได้ ก็จะล่องเรือไปขายแค่สระบุรี และสุพรรณบุรี เมื่อขายของหมดแล้วบางครั้งตระเวนไปรับหินทุบจากเขาสมอคอน ลพบุรี ขี้ค้างคาวจากอุตรดิตถ์ ลงมาขายที่กรุงเทพฯ บ้าง หรือไม่ก็รับข้าวเปลือกจากพิจิตร นครสวรรค์ มาขายที่โรงสีข้าวเบอร์ 10 ตรงข้ามกรมเจ้าท่า ที่กรุงเทพฯ

           ต่อมาช่วงปี พ.ศ.2484 เรือย่าแหประสบอุบัติเหตุถูกเรือขนข้าวเปลือกลำอื่นชนที่หน้าโรงสีข้าวเบอร์ 10 ที่กรุงเทพฯ เหตุการณ์นั้นทำให้ปู่ไอขาหัก และต้องพักการค้าทางเรือไปหนึ่งปี ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2486-2487 เรือย่าแหชนเข้ากับตอไม้มะขามใต้น้ำ เมื่อครั้งขึ้นไปค้าขายที่จังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากคนนำร่องไม่ชำนาญเส้นทาง ทำให้เรือล่มสินค้าจมน้ำหายบ้าง ถูกขโมย สิ้นค้าที่เหลือก็จำหน่ายได้เพียง 700 บาท จากที่ลงทุนไป 9,700 บาท นับเป็นอุบัติเหตุที่รุนแรงที่สุดสำหรับคนบ้านศาลาแดงเหนือ

           ราว พ.ศ.2495 ย่าแหซื้อเรือกระแชงไม้สักหินขนาด 35 เกวียน ในราคา 4,000 บาท จากสี่แยกมหานาค กรุงเทพฯ มาขนข้าวเปลือกที่รับซื้อจากพิจิตร นครสวรรค์ ลงมาขายที่กรุงเทพฯ และรับจ้างบรรทุกข้าวเปลือก และข้าวสารที่โรงสีคลองแปด ปทุมธานี ในช่วงเวลานั้นแถบคลองรังสิตมีการซื้อขายข้าวกันมาก การส่งข้าวใช้เรือกระแชงบรรทุกโยงไปส่งที่โรงสีในจังหวัดอยุธยา บางบัวทอง และนครปฐม ได้ค่าจ้างขนกระสอบละ 1 บาท 60 สตางค์ เมื่อเวลาผ่านไปเรือไม้ลดความสำคัญลงเพราะมีเรือเหล็ก ซึ่งใช้เงินลงทุนสูงกว่าเข้ามาแทน ประกอบกับระบบขนส่งทางบกที่ไปได้ทั่วถึงและรวดเร็ว ย่าแหจึงเลิกการค้าทางเรือไป

 

ยายลมูล จารุภา จากแม่ค้าเรือต่อจนถึงเรือเหล็ก

           ยายลมูล จารุภา ปัจจุบันอายุ 91 ปี เล่าว่า พ่อชื่อบุญธรรม กองรัตน์ เป็นคนมอญบ้านสองพี่น้อง สามโคก เดิมพ่อมีอาชีพรับราชการอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาจึงลาออกมาประกอบอาชีพค้าขายทางเรือตามคำชักชวนของคุณแม่บุญมา เพราะว่าทำรายได้ดีกว่างานราชการ พ่อบอก “ทำงานปีไม่ชอบ ชอบไปเรือเที่ยว” ส่วนเรือค้าขายในตอนนั้นเป็นเรือต่อขนาด 20 เกวียนที่เรียกว่า “เรือกระแชง” เป็นเรือกินน้ำตื้นขนาดไม่ใหญ่ บรรทุกของจำพวก “เต้าเจี้ยว ปูเค็ม ไตปลา ปลาทู ผ้าขาวม้า โสร่ง ชามแก้ว ชามชุด มีทุกอย่าง” ไปขาย มาตอนหลังเมื่อคุณยายมีครอบครัวแล้ว จึงได้ซื้อเรือขนาด 50 เกวียน ไว้รับจ้างขนข้าวสาร

           สมัยก่อน “ไปเรือกันทั้งนั้นแหละ ค้าขายทางเรือทั้งนั้น...เรือใหญ่เรือเล็กขายสารพัด เรือเล็กขายตามคลอง เรือใหญ่ไปทางเหนือ” สมัยแรกๆ ทั้งพ่อกับแม่ และยายลมูลจะล่องเรือไปขายสินค้าถึงพิษณุโลก ขึ้นล่องค้าขายได้ปีละสองที่ยว “เพราะเราเรือเล็ก..สมัยที่ยังไม่มีเรือยนต์ก็แจวหัว แจวท้าย แล้วก็ถ่อไป..พายไปเรื่อยๆ ลมมาก็กางใบ สินค้ามีโอ่ง เต้าเจี้ยว ไตปลา ปลาทู ปูเค็ม ชามชุด ชามแก้ว พ่อกับแม่จะไปเรือกับลูกสองคน  ส่วนตัวยายอยู่บ้านดูแลน้อง”

           จนเมื่อคุณยายอายุได้ 19 ปี จึงแต่งงานออกเรือนไปกับคุณตาสง่า จารุภา และได้ลงเรือประกอบอาชีพค้าทางเรืออย่างจริงจังพร้อมกับสามี เส้นทางการค้าตามอย่างพ่อแม่เรื่อยมา ทั้งแควโนก คือแม่น้ำน่าน แควกลาง คือแม่น้ำยม แควน้อย คือแม่น้ำปิง จาก “บีโนก” คือ แม่น้ำสายใหญ่ที่หมายถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นไปทางเหนือลำเดียวบ้างหลายลำบ้าง “ถ้ามีเพื่อนก็ไปกัน ไม่มีก็ไปลำเดียว ไปถึงพิษณุโลกก็ขึ้นไปขายของที่ตลาดนัด จอดอยู่สักประมาณ 2-3 วัน” แควใหญ่ส่วนมากก็ “ถ่อแล้วก็มีกางใบ” ไปกันสองคนผัวเมีย สมัยนั้นเขื่อนเจ้าพระยายังไม่มี ส่วนใหญ่คนทางเหนือถ้าไม่มีเงินเขาก็นำของมาแลกส่วนใหญ่ก็จะ “เอาข้าวมาแลก” ความนิยมในการบริโภคสินค้าของคนแถบนั้นยายลมูลบอกว่าเวลาเขา “ซื้อปูเค็ม เขาขอน้ำเยอะๆ เขากินทั้งน้ำนะ ฉีกปูเค็มกับน้ำ แล้วบีบมะนาว” เวลาซื้อ เขาก็เอาชามมาใส่ ส่วนสินค้าก็ “ขายดีทุกอย่างนะ”

           เมื่อพูดถึงต้นทางของสินค้าที่เรือของยายลมูล และเรือมอญทั้งหลายรับมาจำหน่าย ยายบอกว่าซื้อหามา “จากกรุงเทพฯ ที่มาส่งจากวัดราชาธิวาส” เรือมอญบ้านศาลาแดงมักนิยมจอดเรือไว้ที่ปากคลองผดุงกรุงเกษม  ซื้อเสื้อผ้าแพรพรรณที่สำเพ็ง เยาวราช ส่วนพวกเต้าเจี้ยว ไตปลา ปูเค็มจะมีเรือจากมหาชัยมาขาย “ขายกันเป็นปี๊บ” ส่วน “ไตปลาเขาจะมีที่ทำมาเสร็จแล้ว” ใส่ปี๊บมาแล้วเอามาถ่ายใส่โอ่งที่มีอยู่บนเรือ เพราะใส่ปี๊บจะเป็นสนิม นอกจากเครื่องบริโภคพื้นฐานแล้ว ยายลมูลยังมีผลไม้จากต่างประเทศเป็นสินค้ามีราคาของเรืออีกด้วย “เรามีอินทผาลัมขายด้วยนะ มาจากเมืองจีน ใส่กระสอบ” ในขณะที่ย่าแห แก้วหยก ขายผ้ามัสกาตี เรือคุณยายลมูลก็ขาย “ผ้าโจงกระเบน ผ้าขาวม้า” ส่วนการลงทุนแต่ละครั้งใช้เงินลงทุนประมาณ 400 บาท ตอน “ยายเป็นสาว ทองบาทละ 400 ฉันทำเรือดูดทราย ดูดทรายดีนะซื้อทองได้ทีเดียว 2 เส้น” หลังจากขายของเสร็จแล้วคุณยาย ก็จะรับข้าวเปลือกลงมาขายต่อให้กับโรงสี โดยการเอาข้าวที่ “ซื้อไว้ แล้วก็ใส่ยุ้งไว้ พอขายของเสร็จก็เอาข้าวลงมาไปขายที่โรงสี รายได้ดี” ชาวเรือจะหยุดเดินเรือช่วงงานเทศกาลสำคัญประจำปีก็คือ “ช่วงสงกรานต์หยุดหมด” เอาเรือไปขึ้นคานพอหมดสงกรานต์ก็ออกเรือค้าขายทันทีเลยเพราะ “หยุดนานไม่ได้ ต้องใช้จ่าย”

           ยายลมูลค้าขายทางเรือเรื่อยมา จนมีลูกคนที่สอง จึงเริ่มซื้อเรือลำใหม่ขนาด 50 เกวียน “เรือเราขายของและบรรทุกข้าวสารได้ทุกอย่าง” จากนั้นก็เริ่มรับจ้างบรรทุกข้าวสารส่งไปกรุงเทพฯ เพราะพี่สาวก็บรรทุกข้าวเปลือก ข้าวสารอยู่แล้ว ยายจึงเริ่มจับงานบรรทุกข้าวสารโดยมีสามีและลูกชาย คอยช่วยงานในเรือ

           ชีวิตการค้าทางเรือของคุณยายนั้นมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ จากเรือไม้ ก็มาเรือต่อ มาเรือดูดทราย แล้วก็มาเรือเหล็ก ชีวิตการทำงานของคุณยายจึง “เปลี่ยนไปเรื่อย ดูดทราย ทรายหมด...พอไปทำแร่ แร่หมด ตอนนี้ก็มาทำหอพัก”

           ราว พ.ศ. 2520 “อายุฉัน 40 ปีแล้วมั้ง” ไปทำเรือดูดทราย แล้วก็มาทำเรือดูดแร่ที่บ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา “ทำเรือดูดก่อน ...ทำเรือดูดเลิกแล้วมาทำเรือเหล็ก ดูดจนแร่หมด” “ไปเรือก็ไปกับลูกชาย” ปัจจุบันครอบครัวของลูกชายยังประกอบอาชีพเดินเรือ หลานชายสืบทอดจากพ่อโดยล่องเรือเหล็กบรรทุกสินค้า “ไปเขมรนี่หลานชาย พ่อเขาเสียชีวิต เขาก็ไปแทน...ต้องผ่านทะเล...บรรทุกข้าวสารบ้าง อะไรบ้างไปเขมร” รับของจากท่าเรือคลองเตย ไปเกาะสีชัง แล้วออกไปเขมร

 

น้าวิไลลักษณ์ แจ่มใจ ครอบครัวชาวเรือที่สะสมทุนได้

           น้าวิไลลักษณ์ แจ่มใจ ปัจจุบันอายุ 71 ปี ครอบครัวน้าวิไลลักษณ์มีอาชีพเดินเรือ รับจ้างบรรทุกข้าวเปลือกข้าวสารล่องมาจากทางเหนือ แล้วมาขึ้นตามโกดังต่างๆ ในกรุงเทพฯ พ่อแม่ทำอาชีพนี้มาก่อน ต่อมาเมื่อแต่งงานกับนายวิชิต แจ่มใจ ที่ครอบครัวก็ทำอาชีพทางเรือเหมือนกัน

           วิถีชีวิตชาวเรือของน้าวิไลลักษณ์เหมือนกับเพื่อนๆ พี่น้องชาวเรือในรุ่นเดียวกัน คือการต้องปรับเปลี่ยนขยับขยายวิธีการทำมาหากินจากเรือต่อ (เรือกระแชง) มาเป็นเรือเหล็กขนาดเล็กไว้บรรทุกทราย ต่อมาก็รับบรรทุกของกลางน้ำ ซึ่งได้แก่สินค้าจำพวกเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศ มาถ่ายที่เกาะสีชังเอามาขึ้นที่กรุงเทพฯ จากนั้นก็จะบรรทุกข้าวสารตามโกดังต่างๆ ออกไปส่งให้เรือใหญ่ที่เกาะสีชัง ต่อมาพอกิจการรับบรรทุกของกลางน้ำดีขึ้น ก็เปลี่ยนจากเรือเหล็กขนาดเล็กมาเป็นเรือเหล็กลำใหญ่ออกทะเล

           ย้อนอดีตกลับไปยุคแรกเมื่อก่อนน้าวิไลลักษณ์อยู่ในเรือต่อขนาด 50 เกวียนของพ่อกับแม่ออก “ล่องข้าวเปลือก” คือการรับจ้างบรรทุกข้าวเปลือกจากยุ้งข้าวต่างๆ ตั้งแต่อุตรดิตถ์ ลงมาถึงบ้านหัวแด่น จังหวัดนครสวรรค์ มาขึ้นตามโกดังทั้งหลายที่กรุงเทพฯ หน้าข้าวเปลือกมักเดินเรือขึ้นไปช่วงหน้าน้ำช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน เดินทางขึ้นไปตามแควน้อย เข้าแควกลาง หรือแควสุโขทัย ซึ่งได้แก่แม่น้ำยม และยังรับข้าวเปลือกจากสุโขทัย ล่องลงมาที่ตะพานหิน พิจิตร บางระกำ พิษณุโลก บ้านหัวแด่น นครสวรรค์

           การเดินทางขึ้นไปรับข้าวเริ่มจากไปเจรจากับโกดังผู้ว่าจ้าง โดยจะจอดเรือเปล่าอยู่ที่สามเสน พ่อค้าข้าวเปลือกจะลงมาหาเรือที่นั่น ทางเรือรับจ้างก็รวมตัวกัน “ตีพวง” จ้างเรือยนต์ลากทวนน้ำขึ้นไป ใช้เวลาหลายวัน เมื่อเรือถึงที่หมายจะค่อยๆ ลำเลียงข้าวเปลือกลงเรือมาดเล็กๆ “ลำละเกวียน ลำละเกวียน ทยอยมาขึ้นกับเรือเราอีกที” เนื่องจากเรือบรรทุกมีขนาดใหญ่จึงซอกแทรกเข้าไปตามยุ้งฉางต่างๆ ตามคลองเล็กคลองน้อยไม่ได้ ส่วนเรือยนต์ที่ลากขึ้นไปจะจ้างเจ้าที่รู้จักกันประจำ การใช้เรือยนต์ต้องมีการเปลี่ยนจุดชักลากเป็นช่วงๆ เช่น จากอยุธยาไปสามเสนก็สายหนึ่ง จากบ้านแพนไปอยุธยาก็สายหนึ่ง จากอยุธยาไปนครสวรรค์ก็อีกสายหนึ่ง “มีหลายสาย” เนื่องจากคนขับเรือยนต์แต่ละสายมีความชำนาญในแต่ละร่องน้ำต่างกัน

           เวลาล่องไปทางเหนือ เรือพวงหนึ่งจะพ่วงได้มากสุดประมาณ 4 ลำเท่านั้น มากกว่านี้ไม่ได้เพราะแม่น้ำมีความคดโค้งมาก วิธีการเรียงเรือพ่วง เรือใหญ่อยู่หน้า เรือเล็กต่อท้าย ไล่ระดับกันลงมา เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนตัวในลำน้ำ ในกรณีที่แม่น้ำแคบ และคดเคี้ยวจะมีการ “ทอย” เรือด้วยการนำเรือยนต์ขึ้นไปลากเรือลงมาวันละลำ แล้วมาจอดรอไว้ในลำน้ำ เมื่อเรือยนต์ลำเลียงเรือลงมาจนครบจำนวนแล้ว ก็จะผูกพวงเรือเข้าด้วยกันเพื่อเดินทางต่อไป ไม่นิยมเดินเรือพ่วงกันในเวลากลางคืน ในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงขาล่องจะมีจุดหนึ่งที่เป็นเขตอันตรายมากสำหรับเรือบรรทุกคือ “ประตูเจ้าพระยา เขื่อนชัยนาท ต้องจอดนะ กว่าจะผ่านประตูมาได้ลำบาก...มีช่องให้เรือล่องน้ำแรง บางคนตกประตูระบายน้ำ มันไม่ลงช่องที่ให้เรือลอด เรือจมก็มี ตกประตูระบายน้ำคือน้ำพัดออก...ประตูน้ำเขากำลังระบายน้ำ น้ำจะแรง แรงมันดูดเรือตกนะ อันตราย”

           ในสมัยเมื่อน้าวิไลลักษณ์ยังเด็ก นอกจากพ่อแม่จะนำเรือออกรับจ้างบรรทุกข้าวเปลือกที่หัวแด่น อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์แล้ว ก็ยังออกไปรับฟืนที่ท่าฬ่อ อยู่เหนืออำเภอตะพานหิน ในจังหวัดพิจิตรเอามาส่งตามโรงสีข้าวด้วย “หากข้าวเปลือกไม่มี หมดเราก็ไปหาฟืน รับจ้างบรรทุกฟืนล่องมาอีก เพราะเราจะได้ไม่ต้องจอดนาน เขาว่าจากกรุงเทพฯไป ให้บรรทุกข้าวเปลือก แต่ถ้าข้าวเปลือกยกเลิก ไม่มีสินค้า เราก็เอาฟืนที่นั่น” ล่องกลับมา

           การซ่อมแซมเรือ “เราไม่ค่อยได้ขึ้นคานปี เพราะเรือเราต่อ ไม้มันดี แนวจะสนิทไม่มีห่าง ไม่มีรั่ว คือขึ้นคานปีหนึ่ง เว้นไป 2 ปี ไม่ค่อยได้ขึ้นคานหรอก” การซ่อมแซมเรือจะมี 2 ประเภท ได้แก่ 1) การขึ้นคานปี ได้แก่การซ่อมแซมใหญ่ มีการขูดชัน ตอกหมัน หรือตอกลูกประสัก ซึ่งได้แก่ไม้หมุดสำหรับตรึงโครงเรือต่างตะปู กำกับให้กระดานเรือติดกับโครงเรือ เรียกว่า “กง” ใหม่ รวมถึงโละส่วนที่เสียหายผุพังเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดเรียกว่า “คานปี” และ 2) การขึ้นคานน้ำ ได้แก่ การขึ้นคานระยะสั้นเฉพาะกิจ เพื่อซ่อมแซมเรือเล็กๆ น้อยๆ เช่น ลนไฟ ทาน้ำมันกันเพรียง “อันไหนที่หมันมันอมน้ำ ต้องเอาออก...หมันเน่า...น้ำจะซึมเข้าได้ รั่วได้”

           สำหรับความเชื่อก่อนออกเรือน้าวิไลลักษณ์บอกว่าต้องมีการ “ไหว้แม่ย่านาง ต้องเลือกฤกษ์วันดีด้วยนะ วันไม่ดีออกเรือไม่ได้ คือเราจอดเรือนานๆ ก่อนเราจะออกเรือ เราต้องให้นายอุย ช่างต่อเรา...ดูฤกษ์ เวลาเราจะออกเรือเราก็จะไปหาเขาว่าจะออกเรือได้วันไหนดี บอกออกวันนี้ๆ เราก็ติดต่อเรือยนต์เลยให้มารับ แต่ถ้ามารับไม่ทัน เราก็ต้องเลื่อนเรือจากท่านี้ไปท่าโน้น คือทำเป็นพิธี” สำหรับการไหว้แม่ย่านางเรือนอกจากจุดธูปก่อนเวลาออกเรือแล้ว เรื่องการถวายเครื่องเซ่นนี่ก็ “เป็นบางโอกาส ปีใหม่ตรุษจีน โรงสีเขาไหว้ เขาจะเอาเป็ดไก่มาให้ แล้วมาไหว้เรือเรา” อย่างคนมอญจะนิยมไหว้แค่จุดธูป ปิดทองคำเปลวและเชื่อว่าแม่ย่านางจะอยู่ตรงส่วนแหลมของหัวเรือ อย่างที่น้าวิไลฯว่า “ไหว้ธูป อย่างเราขึ้นคานเขาจะปิดทองแม่ย่านางเรือ แม่ย่านางเรือห้ามเหยียบเลยนะ...อยู่ตรงหัวเรือแหลมๆ เขาแกล้งเอานะ...เด็กๆ ปวดท้อง ไม่รู้เรื่องนะ...ถ้าไปเหยียบนะ เด็กปวดท้องต้องมาบอกคนเรือนะ ให้มาไหว้แม่ย่านางเสีย ต้องมาขอขมา เอาอะไรมาไหว้ เขาทำโทษแล้ว” ปีหนึ่งช่วงสงกรานต์คนมอญก็จะเอาข้าวแช่มาไหว้แม่ย่านางเรือ แล้วก็ตอนลงคานปีจะมีการซื้อเป็ดมาไหว้ “เขาจะไม่ใช้ไก่ไหว้นะ เขาจะไหว้เป็ด ว่ายน้ำเก่ง แคล้วคลาด” นี่คือความเชื่อของชาวเรือมอญบ้านศาลาแดงที่มีต่อแม่ย่านาง

 

ภาพถ่ายปี พ.ศ. 2525 เรือเหล็กของคนมอญบ้านศาลาแดงเหนือ ช่วงสงกรานต์ หยุดงานจอดเรือท่าน้ำหน้าบ้าน

 

           น้าวิไลลักษณ์เริ่มผันชีวิตตัวเองจากสาวในเรือไม้ มาเป็นสาวเรือเหล็กเมื่อตอนแต่งงาน “สมัยก่อนอยู่เรือไม้อยู่กับพ่อแม่ จนแต่งงานตอนอายุ 19 พ่อแม่บอกว่ามีผู้ชายมาขอก็ให้แต่งงาน ให้ออกเรือน” ทำไมถึงเปลี่ยนเป็นเรือเหล็ก “เพราะว่าเรือต่อหากินมันชักจะอืดแล้ว เพราะว่างานมันจะน้อย มีข้าวสารก็น้อยลง โรงสีมีข้าวสารน้อยลง เปลี่ยนอาชีพเป็นเรือเหล็ก บรรทุกทราย บรรทุกของกลางน้ำได้ ออกทะเลได้ เพราะมันใหญ่ขึ้น 500-600 ตัน...การดูแลก็ง่ายทาน้ำมันเตาอย่างเดียวไม่ต้องขึ้นคานบ่อย” ส่วนราคาและวิธีการได้มาของเรือเหล็ก น้าวิไลลักษณ์เล่าว่า “ต่อแบบผ่อนส่ง ขนาดเรือ 22 เมตร เรือเล็กนิดเดียว นั่นเรือ 200 กว่าตันเองนะ 250-300 ตัน ราคา 200,000 กว่าบาท แล้วก็มาตอนหลังฉันไปต่อเองคือว่าเครดิตเหล็กมาจากโรงงานเล็กเลย ต่อเอง จ้างช่างต่อเอง อันนั้นถูกหน่อย 400,000 กว่าบาท แล้วซื้ออุปกรณ์อะไรต่อมิอะไรตก 700,000 บาท ถ้าเราไปถอยมาจากอู่ ไปว่าอู่ราคาจะแพง ถ้าเราซื้อเหล็กต่อเอง เราจะเลือกเหล็กหนาได้ เราก็ว่าช่างตามใจของเรา ให้ออกแบบนั้นแบบนี้”

           จากเรือเหล็กบรรทุกทรายก็ไปรับบบรทุกแร่ยิปซั่มถึงชุมแสง “เอาส่งไปเมืองนอก เอาไปทำถ้วยชาม พวกเครื่องปั้นดินเผา” นอกจากนั้นก็ยังรับจ้างบรรทุกปูนเม็ดจากท่าลานอยุธยา มาส่งตามโกดังโรงปูนในกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2521 ซื้อเรือดูดแร่ ทำแร่ดีบุกแถวภูเก็ต พังงา ตะกั่วป่า ช่วงเวลาเดียวกันนั้นมีคนจากศาลาแดงเหนือลงใต้ไปทำเรือดูดแร่กันมาก หลังจากทำแร่แล้วน้าวิไลลักษณ์กลับมาทำเรือเหล็กที่เหลืออยู่ลำเดียวต่อ “เดินเรือเหล็กเองเลย ออกทะเลเองเลย จ้างลูกน้อง 2 คน...นานหลายปี เลี้ยงลูกจนจบ จนพ่อแม่ฉันเสีย ถึงได้เอาเรือมาขายเมื่อ พ.ศ. 2528 ” เหตุผลที่ขาย “เพราะว่าเดินเรือไม่ไหว...อายุมากแล้ว  อีกอย่างหนึ่งคือลูกโตหมด” จากนั้นชีวิตน้าวิไลลักษณ์ก็ขึ้นบก สิ้นสุดชีวิตชาวเรือ น้าวิไลลักษณ์กล่าวทิ้งท้ายถึงชีวิตชาวเรือของน้าว่า “เราเลี้ยงชีวิตได้ คือว่าจากเรือต่อมาหาเรือเหล็ก เราอาศัยว่าส่งลูกเรียนจบ แล้วเราขายได้เงินก้อน เหลือแค่นี้แหละ แค่เฉพาะที่เหลือมาจากที่เราขาย อาชีพทำมาหากินจากเรือมานั่นแหละ คือจะได้เงินมาจากเรือ”

 

นพดล แสงปลั่ง ชาวเรือรุ่นเล็กชุดสุดท้าย

           นพดล แสงปลั่ง ปัจจุบันอายุ 61 ปี ถือเป็นคนเรืออายุน้อยที่สุดที่จะบอกเล่าเรื่องราวความทรงจำทางเรือรุ่นสุดท้ายให้ฟัง พ่อเป็นคนมอญโพธิ์แตง อ.บางไทร จ.นครศรีอยุธยา แม่เป็นคนมอญบ้านศาลาแดงเหนือ

           “เกิดมาก็อยู่ในเรือแล้ว” เริ่มขายมะพร้าวตามพ่ออีกด้วย “ผมอยู่เรือ...ก่อนอยู่โรงเรียนก็อยู่เรือ...พ่อผมช่วงนั้นเขาป่วย เขายกของหนักไม่ค่อยได้ แม่เลยให้มาขายมะพร้าว เพราะว่าคนโพธิ์แตงเขาจะขายมะพร้าวกันเป็นส่วนมาก ส่วนชุมชนศาลาแดงเหนือ วัดพลับ สองพี่น้อง หรือเจดีย์ทอง บ้านสามเรือนนี่เขาจะขายโอ่ง แล้วผมก็ขายมะพร้าว” ภายในเรือขายมะพร้าวนอกจากจะมีมะพร้าวแล้วก็ยังมีสินค้าต่างๆ ติดเรือมาขายอีก เช่น พริกแห้ง หอม กระเทียม จากบางช้าง บางนกแขวก น้ำตาลมะพร้าว ปูนแดง เต้าเจี้ยว ไตปลา ปูเค็ม ใบตองแห้ง เชือกกล้วย ใบจาก หมากแห้ง พลูนาบ “ถ้าหน้าใกล้ๆ ตรุษจีนสารทจีนเอากระทงใบตองแห้งไป เผื่อไปส่งตลาดได้บ้าง เอาไปทำขนมเข่ง”  

           เรือที่พี่นพดลใช้ เป็นเรือขนาด 12 เกวียนลำแรกของพ่อ ส่วนแม่ก่อนจะแต่งงานก็เคยไปเป็นลูกจ้างที่บ้านคุณยายส้มกลีบ ซึ่งมีอาชีพค้าขายทางเรือไปทางนครสวรรค์ บึงบอระเพ็ด ท่าตะโก หัวถนน สมัยที่นพดลไปขายมะพร้าวกับพ่อ ยุคแรกๆ ใช้ถ่อ ใช้แจว ต่อเมื่อระยะหลังช่วง พ.ศ.2508 - 2509 พ่อจึงได้ซื้อเครื่องเรือหางมาจากอยุธยา ใช้ได้ทั้งน้ำมันก๊าด และเบนซิน

           พ่อของพี่นพดลจะไปซื้อมะพร้าวที่บางนกแขวก แม่กลอง “เมื่อก่อนขายดี เพราะว่าถ่อแจวไป มันถ่อช้าๆ พูดคุยกับคนข้างตลิ่งได้” ใครเรียกซื้อก็ขาย หัวเรือก็ใช้ถ่อ ข้างหลังใช้แจว แล้วก็วาดหางเสือเข้าตลิ่งไว้ ในแม่น้ำก็ถ่อไปตามริมตลิ่งไปเรื่อยๆ

           สภาพท้องน้ำเจ้าพระยาในช่วง พ.ศ.2507 - 2510 “เมื่อก่อนนี้น้ำมันตื้นนะ แม่น้ำเจ้าพระยาเนี่ย ประมาณปี พ.ศ.2507—2510 ยังไม่ลึก ยังถ่อได้ ผมยังจำได้ ไปติดหาดทรายวัดจุฬามณี  ใต้ป่าโมกฃ แถวๆ วัดถนน อ่างทอง” ถ้าในคลองแคบๆ การใช้ถ่อจะสะดวกกว่าการใช้แจว เพราะ “แจวมันกางไปข้างๆ มันเกะกะเขา เรือวิ่งสวนไปสวนมา สู้ถ่อหางเสืออย่างเดียว จะสะดวกกว่า”

           สำหรับชีวิตชาวเรือ เรือไม่ใช่แค่พาหนะทางน้ำ แต่เรือยังเป็นบ้าน เป็นที่ฝึกอาชีพ และยังเป็นโรงเรียนอีกด้วย นพดลบอกว่าก่อนอยู่โรงเรียนก็อยู่บนเรือ

           “พ่อแม่เค้าจะสอนหนังสืออยู่ในเรือเลย เขียนไทย เขียนตัวเลข 1-10 20 อะไรเนี่ย เขียนเป็นภาษาไทย เป็นภาษาอารบิค เขาสอนในเรือ พ่อจะซื้อกระดานชะนวนให้อันนึง เป็นดินสอหินสมัยนั้น สอน กออากา กออะกะ อะไรพวกเนี้ย สอนอยู่ในเรือ จนเลขนับถึง 100 ได้”

           พ่อจะล่องเรือไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปหัวเวียง เสนา ไปถึงประตูน้ำผักไห่ แล้วย้อนกลับไปทางอำเภอเสนา หัวเวียง บางปลาหมอ โผงเผง ถึงป่าโมก อ่างทอง ล่องแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วก็เลี้ยวเข้าคลองเมือง ไปออกหัวรอ ไปทางแม่น้ำลพบุรี “ไปเรื่อยนั่นแหละ ไปทางไหนก็ขายได้หมดสมัยนั้น” และเนื่องจากเป็นการ “ไปเรื่อยนั่นแหละ” กำหนดเวลาในการออกเรือจึงไม่มี เรียกว่า “ค่ำไหนนอนนั่น” ถ้าเป็นหน้าฝนมีพายุก็จะมีแหล่งจอดพัก หรือถ้าเย็นแล้วคาดว่าค่ำกลางทางก่อนถึงตลาดข้างหน้า พ่อจะจอดพักกลางทาง นพดลกล่าวว่าสมัยโน้นตลาดไม่ค่อยมี แต่ตามลำน้ำก็จะร้านเป็นเรือนแพขายของ

           “ค่ำไหนนอนนั่น” ทำไมถึงกล้านอน นพดลบอกว่า เพราะส่วนมากเรือข้างตลิ่งมันเยอะ แหล่งที่ไหนที่เขามีเรือ เราก็จอดคู่กับเขา บางกลุ่มเป็นเรือรับจ้าง บางกลุ่มเป็นเรือขายของ แต่ละย่านชุมเรือจะไม่เหมือนกัน ตามริมตลิ่งจึงมีเรือขายของหลายประเภท “บางทีผักไห่ ลาดชะโดเขาขายเกลือ เราก็จอดคู่กับเขานั่นแหละ เพราะเราจอดตลาดเนี่ย มันไม่ใช่เรือมะพร้าวอย่างเดียวนะ บางทีมีเรือถ่าน หลายหลาก  มีเรือเกลือ เรือตู้ เรือเครื่องเทศ เรือเครื่องเทศก็ส่วนมากจะเป็นคนอยุธยา คนอิสลาม แถบหัวรอ หัวแหลม” สรุปว่าท้องน้ำสมัยก่อนไม่เงียบเหงา “วันๆ นึงเนี่ย เราก็จะเจอแม่ค้าขายกาแฟ ขายกับข้าว ขายหมู เมื่อก่อนเรือพายขายหมู มีเขาควายปู้นๆ เรือขายกับข้าวเรือกาแฟก็ปู้ด ๆ ใช่ไหม มันมีทุกอย่างเลยสมัยก่อนเพราะทางรถไม่มี”

           นอกจากขายมะพร้าวแล้ว โอ่งก็ยังเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่นพดลดำเนินการค้าในเรือด้วย เนื่องจากแม่มีประสบการณ์มาจากญาติฝ่ายตา การขายโอ่งทางเรือในระยะแรกเป็นการรับโอ่งดินมาจากเกาะเกร็ด ต่อมาในระยะหลังจึงเริ่มเริ่มขายโอ่งเคลือบจากราชบุรี เพราะเป็นที่นิยมมากกว่าโอ่งดิน พอไปถึงราชบุรีแม่จะไปโรงโอ่งประจำ “ถ้าคนไม่รู้จักโรงโอ่งเลยเนี่ยจะสุ่มไป แต่สมัยนั้นเรือขายโอ่งมันเยอะ...โอ่งดีเกรดหนึ่งเขาไปส่งตลาดทางเหนือ ถ้าเราจะไปซื้อโอ่งดีเกรดเอด้วยมันก็จะไม่มี พอเรือเราเล็ก เราจะซื้อโอ่ง 7 ได้ก็ไม่เกิน 40 ลูก โอ่ง 6 ก็ไม่เกิน 50 ลูก ก็ 90 แล้ว โอ่ง 4 ปี๊บอีก โอ่ง 2 ปี๊บอีก บรรทุกได้ เรือพ่อผมแค่ 12 เกวียนมั้ง 12 เกวียน ได้แค่ไม่เกิน 150 ลูก”

           อย่างไรก็ดีแม้การค้าโอ่งเคลือบจากราชบุรีจะทำกำไรดี แต่ก็ไม่ใช่ง่ายเพราะกว่าเรือจะได้โอ่งมาขายแต่ละเที่ยว ต้องจอดเรือรอคิวอยู่หลายวัน ยิ่งระยะหลังมีเรือขายโอ่งเข้ามามากขึ้นที่จอดเรือก็เริ่มอัตคัด พื้นที่จอดเรือมีน้อย พื้นที่ริมตลิ่งก็มีน้อยปัญหาก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อ “โอ่งเวลามาพร้อมๆ กันไม่มีที่กอง” เวลาโอ่งมาลงเขาก็จะเรียงเป็นแถวๆ ไว้ริมตลิ่ง เจ้าของเรือก็ขนลงเรือ ขณะที่ในเวลาเดียวกันเรือลำอื่นซึ่งอยู่ใกล้กันก็ลำเลียงโอ่งลงเรืออยู่ด้วย จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความโกลาหลอยู่ไม่น้อย ข้อสงสัยคือจะจำได้เหรอว่าโอ่งไหนของลำไหน นพดลบอกว่า “ถ้าโรงโอ่งใกล้กัน เขาจะเอาสีป้ายปาก เจ้านึงสีแดง เจ้านึงสีเหลือง เจ้านึงสีเขียว ถ้าโรงเดียวกันเดี๋ยวจำไม่ได้ บางทีเขาก็กองซ้อนๆ กันตรงนี้ กองไม่เกินสองชั้น” เรือรับโอ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรือกระแชงคลุมโปง ก็คือเรือกระแชงมีประทุนคลุมเป็นหลังคาที่รับของจนเพียบ บางลำต้องเสริมหลังคาขึ้นไปทำให้ต้องคำนึงถึงระดับน้ำ กับสะพานหลายแห่งที่ต้องลอดผ่านไปให้ได้ ในยุคที่บ้านเมืองเริ่มมีถนนหนทางเพิ่มขึ้น

 

ภาพถ่ายปี พ.ศ. 2518  เรือมอญจากบ้านศาลาแดงเหนือและบ้านท้ายเกาะ จอดลงโอ่งที่ราชบุรี

 

           สำหรับคลองดำเนินสะดวกนั้นไม่มีปัญหาเลย ระดับน้ำจะนิ่งเสมอ เพราะมีประตูน้ำคอยจัดการระดับน้ำ  เรือโอ่งจึงผ่านไปได้ไม่ติดสะพาน แต่การจัดระเบียบดังกล่าวก็นำมาซึ่งการต้อง “เสียค่าตั๋ว” ของเรือแต่ละลำที่จะต้องลอดผ่านประตูน้ำแต่ละแห่งโดยกำหนดราคาจากความยาวของเรือ การได้ตั๋วมาก็ไม่ใช่แค่ยื่นเงินแล้วได้ผ่านกันง่ายๆ แต่ต้องมีหลักฐานที่เรียกว่า “ใบวัด” ประกอบการการตีตั๋วด้วย “ก่อนไปตีตั๋วนี่มีใบวัดเรือขึ้นไปด้วยประกอบกัน “บางคนเขาใส่กรอบไม้เลยนะ ใส่ไม้ถาวรเป็นกระจก...ถ้าไม่มีใบวัด เดี๋ยวเขาส่งเจ้าหน้าที่มาวัดเดี๋ยวนั้นเลย แล้วก็เขียนใบวัดใหม่ โดนอีก 10 บาท ค่ามาวัด 10 บาท” นอกจากเอกสารประกอบการตีตั๋วแล้ว ยังมีกฏหมายอื่นพ่วงต่อมาอีกคือ “ใบอนุญาตใช้เครื่องเรือยนต์” นพดลบอกว่าเรือของเขาต้องเสียค่าตั๋วในอัตราสูงสุดคือ 24 บาท เพราะเรือเรามีเครื่องการมีเครื่องเรือก็ “ต้องมีใบอนุญาตที่เครื่อง ถ้าไม่มีใบ มีเครื่อง วิ่งที่คลองชลประทานไหนก็โดนจับ”

           ดังนั้นการมีประตูน้ำของรัฐจึงไม่ใช่แค่การสร้างอุปสรรคให้แก่การจัดการน้ำ แต่ยังหมายถึงการสร้างอุปสรรคสำหรับจัดการคนไปพร้อมกันด้วย เพราะการเสียค่าตั๋วก็ไม่ได้หมายความว่า ในวันนั้นเรือทุกลำจะผ่านไปได้ เพราะยังต้องถูกจำกัดด้วยจำนวนเรือที่เข้าใช้บริการในแต่ละครั้งด้วย เช่น “ถ้าภาษีเจริญนี่ก็เรือโอ่งนี่ก็น่าจะเข้าไปได้ไม่เกิน 10 ลำนะ ข้างๆ ข้างละ 4 ตรงกลางก็ได้สัก 4 ลำ 12 ลำน่ะได้ ประมาณ 12 ลำ” เหล่านี้คืออุปสรรคที่คนค้าขายทางเรือต้องประสบพบเจออยู่เสมอในชีวิตการทำงาน

           ราว พ.ศ. 2537 เมื่อคลองมีอุปสรรคขวางกั้นมากขึ้น ถนนหนทางถูกพัฒนาเดินทางได้สะดวกกว่าแม่น้ำลำคลอง ตลาดและชุมชนเริ่มหันหน้าเข้าถนนหันก้นออกสู่คลอง นพดลจึงขึ้นจากเรือหันมาขับรถปิ๊กอัพรับโอ่ง อ่าง กระถางเคลือบลายมังกรจากราชบุรี และสินค้าจำพวกครก หม้อดินเผา เตาขนมครกเด็กเล่น กระถางดิน ตระเวนขายไปตามที่ชุมชนต่างๆ แถบปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ แบบไปเช้าเย็นกลับเป็นส่วนใหญ่ ปกติสินค้าประเภทกระถาง อ่างบัวก็จะขายดีอยู่แล้วตามหมู่บ้านจัดสรรแถบชานเมืองที่มีมากขึ้น นั่นเป็นเรื่องเล่าฉากสุดท้ายของการค้าทาเรือที่นพดล แสงปลั่ง คนเรือรุ่นเล็กที่สุดแห่งบ้านศาลาแดงเหนือเล่าให้เราฟัง

 

อ้างอิง

กชกรณ์ ตราโมท, 2544. “เรือมอญบ้านศาลาแดงเหนือ” ใน 30 ปี สถาบันไทยคดีศึกษา. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

พิบูลย์ หัตถกิจโกศล (บก.), 2558. 200 ปี ปทุมธานี. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ้ง จำกัด.

มาณพ  แก้วหยก, 2552 .ชีวิตแม่ค้าเรือมอญ ของย่าแห แก้วหยก. เอกสารประกอบการสนทนาเรื่อง “เรือ มอญ ยิปซีแห่งท้องน้ำ” ณ ร้านริมขอบฟ้า ศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2552.

มาณพ แก้วหยก, มปป. ชีวิตย่าแห แก้หยก. เอกสารถ่ายสำเนา.

มาณพ แก้วหยก. เพจมอญบ้านศาลาแดงเหนือ. https://www.facebook.com/มอญบ้านศาลาแดงเหนือ.

วิลัยลักษณ์ ทรงศิริ, มปป. “พ่อค้าโอ่งแห่งบ้านศาลาแดงเหนือ”. จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์  ฉบับที่ 24 (พ.ค.- ม.ย. 2553). 

นพดล แสงปลั่ง. อายุ 61 ปี บ้านเลขที่ 18. สัมภาษณ์วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563.

ลมูล จารุภา. อายุ 91 ปี บ้านเลขที่ 21 ม.2. สัมภาษณ์วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563.

วิไลลักษณ์ แจ่มใจ. อายุ 71 ปี บ้านเลขที่ 20 หมู่ 2. สัมภาษณ์วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563.

 

 

1  เรือมาดเสริมกราบเรือขนาดใหญ่ รูปร่างคล้ายเรือพายม้า

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share