สืบค้น ตามหา ปะโอที่เชียงคำ

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 2446

สืบค้น ตามหา ปะโอที่เชียงคำ

สืบค้น ตามหา ปะโอที่เชียงคำ1

 

ศิราพร แป๊ะเส็ง2

 

 

           เมื่อเอ่ยถึงเชียงคำ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา หลายคนมักคิดถึงชุมชนไทลื้อ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่เมืองเชียงคำนั้นเป็นไทลื้อที่อพยพเข้ามาหลายระลอก จนสร้างชุมชนไทลื้อขนาดใหญ่  มีการสืบทอดตำนานเรื่องเล่าและพิธีกรรมมาหลายต่อหลายรุ่น หากแต่เมื่อค้นลึกลงไปในองค์ประกอบของพื้นที่แล้วจะพบว่า มีความหลากหลายของผู้คนกระจายอยู่เป็นหย่อมบ้าน หรือชุมชนเล็กกอยู่ทั่วไป ได้แก่ กลุ่มคนไทยวน ไทใหญ่ ไทอีสาน ไทลาว ปะโอ ลื้อ จีน ม้ง เมี่ยน โดยเฉพาะปัจจุบันเมื่อการเดินทางเคลื่อนย้ายสะดวก คนจากต่างถิ่นเข้ามาปักหลักทำมาค้าขายมากขึ้นกว่ายุคก่อน

           การสืบค้นหากลุ่มคนปะโอที่เชียงคำ เกิดขึ้นเมื่อประมาณช่วงปี 2555 ถึง 2556 เมื่อเครือข่ายวัฒนธรรมอำเภอให้การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีแปดกลุ่มได้แก่ ลื้อ จีน ม้ง เมี่ยน ไทอีสาน ไทใหญ่ ไทยวน ไทยลาว  ทั้งนี้ข้อมูลระบุว่าชุมชนชาวไทใหญ่นั้นอยู่ที่วัดนันตาราม แต่ในชีวิตประจำวันไม่มีปรากฏประเพณีวัฒนธรรมแบบไทใหญ่ มีการแต่งกายปรากฏอยู่บ้างแต่ไม่สามารถสืบทราบได้ว่าสืบทอดหรือส่งต่อมาจากที่ได  ประกอบกับมีการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว เจ้าอาวาสจึงเริ่มสืบค้นประเพณีวัฒนธรรมของวัด  เนื่องจากอดีตไม่เคยมีการบันทึกไว้ กับทั้งมีความขัดแย้งกันหลายอย่างทั้งข้อมูลในสื่อ หรือข้อมูลเชิงประเพณี กับการบอกเล่าของคนในชุมชน เมื่อเริ่มศึกษาค้นคว้าพบคำว่า “ตองสู้” หลังจากนั้นจึงเริ่มค้นหาข้อมูลจากคนในชุมชน คนเฒ่าคนแก่ รวมถึงการเดินทางไปวัดสันป่าก่อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และพบความสัมพันธ์การเคลื่อนย้ายติดต่อสัมพันธ์กับคนในชุมชนวัดนันตาราม คือ “พ่อทวกน้อยลือชัย” เป็นน้องชาย “พ่อเฒ่าจองตะก๋านันตา” เป็นพ่อค้าผ้าแพร แต่งงานกับชาวไทใหญ่บ้านสันป่าก่อ 

           ในปี 2556  วัดนันตารามก็มีการทำบุญฉลองถวายแท่นพระ ฉัตร และหอพระอุปคุต และได้นิมนต์พระที่วัดหนองคำ จังหวัดเชียงใหม่ มาร่วมงาน พร้อมกับคณะศรัทธาวัดซึ่งเป็นชาวปะโอจากประเทศพม่ามาร่วมกิจกรรม มีการแสดงทางวัฒนธรรมทั้งการแต่งกายและอาหาร การฟ้อน แสดงบนเวที และมีผู้เฒ่าในชุมชนสะท้อนว่า คนกลุ่มนี้เป็นตองสู้ ซึ่งเป็นเชื้อสายเดียวกับบรรพบุรุษในชุมชนที่มาสร้างวัดนันตาราม นั่นคือจุดเริ่มต้นในการสืบค้นตัวตนของชาวปะโอในชุมชนขึ้นมา

 

ปะโอคือใคร ???

           ต่องสู่ ตองตู  ตองสู้ ตองซู่ กะเหรี่ยงดำฯ ชื่อเรียกเหล่านี้เป็นหลากหลายชื่อที่ใช้เรียกชาว “ปะโอ” ชื่อของ “ปะโอ” ถือเป็นชื่อใหม่ที่เพิ่งได้ยินในราวทศวรรษที่ผ่านมานี่เอง เนื่องจากที่ผ่านมาต่างถูกนิยามตัวตนในชื่ออื่น  

           ถิ่นเดิมของชาวปะโอนั้นอยู่ในเขตตอนเหนือของประเทศพม่า แถบเมืองตองยี เมืองปั่น เมืองป๋างปี้ เมืองหนองอ้อ เมืองกิ่วเกาะ ในเขตรัฐฉานของพม่า อย่างไรก็ดี บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ได้เขียนในหนังสือ “คนไทยในพม่า”กล่าวถึงชาวต่องสู้ที่อยู่ในรัฐฉาน ปะโอ เป็นกลุ่มชนที่อยู่กระจัดกระจายในตอนเหนือของประเทศพม่า เนื่องจากตั้งถิ่นฐานร่วมกับชาวไทใหญ่ โดยชาวปะโออยู่บนพื้นที่สูงและที่ราบเชิงเขา ส่วนชาวไทใหญ่อยู่บริเวณที่ราบมีการปฏิสัมพันธ์กับชาวไทใหญ่และมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน ชาวไทใหญ่เรียกชาวปะโอว่า “ต่องสู้” พม่าเรียกว่า “ต่องตู่” แปลว่า “ชาวดอย” หรือ “คนหลอย” แต่ชาวปะโอไม่ชอบให้เรียกคำนี้ ถือว่าเป็นคำไม่สุภาพ และอยากให้เรียกเชื้อชาติของตนเองว่า “ป่ะโอ่” หรือ “ปะโอ” แปลว่า ชาวดอยเหมือนกัน เมื่อแยกคำแล้ว มีผู้สันนิษฐานที่มาของคำว่า “ป่ะโอ” ว่าน่าจะมาจากคำว่า “ผะโอ่” แปลว่า ผู้อยู่ป่า เพราะในภาษาไทยคำตี่ คำว่า “อู่” แปลว่าอยู่ ครั้นเมื่ออพยพเข้ามาตั้งรกรากในดินแดนล้านนา คนล้านนาเรียกตามชาวไทใหญ่ แต่สำเนียงเปลี่ยนไปว่า “ต่องสู้”

 

รากเหง้าชาวปะโอแห่งเชียงคำ

           ชุมชนทุ่งบานเย็น ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เป็นชุมชนที่สืบเชื้อสายมาจากคหบดีชาวปะโอที่เดินทางค้าขายในเส้นทางการค้าในพื้นที่ภาคเหนือในยุคที่การค้าทางไกลเฟื่องฟู เรื่องเล่าจากเจ้าอาวาสวัดนันตารามเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของวัดนันตาราม เรื่องราวของผู้คนที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมปะโอ ไทใหญ่ ไทลื้อ ไทยวน  เรื่องราวของพ่อใหญ่นันตาอู๋ คหบดีชาวปะโอที่บริจากเงินสร้างวัด  เรื่องราวเหล่านี้ ค่อยๆ ถูกถ่ายทอดให้ผู้มาเยือนจากภายนอกได้รับทราบถึงความเป็นมาของชุมชนนี้ก่อนที่จะพัฒนาเป็นชุมชนกลางเมืองเชียงคำในปัจจุบัน

           ชุมชนทุ่งบานเย็น ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาคลังข้อมูลชุมชนและเครือข่ายข้อมูล ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในปีงบประมาณ 2562  พร้อมกับชุมชนอื่นๆ อีก 12 ชุมชน โดยมีพระอธิการสันติ ชยธมฺโม เจ้าอาวาสวัดนันตาราม ลูกหลานชาวปะโอโดยแท้ รับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการดำเนินงาน โดยมีประเด็นหลักๆ ในการสืบค้นรากเหง้าของชาวปะโอในชุมชน มิติทางประวัติศาสตร์  เครือญาติ และสายสัมพันธ์ของคนในชุมชน เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลสำคัญในการส่งต่อให้ลูกหลายได้ระลึกรู้ถึงบรรพชนคนรุ่นก่อนที่สร้างบ้านแปงเมืองกันมาจวบจบเจริญรุ่งเรืองอย่างเช่นทุกวันนี้

           พื้นที่ชุมชนแต่เดิมนั้นเป็นที่รกร้างว่างเปล่า เมื่อขุดลึกลงไปในดิน 1 เมตร มักจะพบแต่ตอไม้และรากไม้ของคนสมัยก่อนเรียกบริเวณนี้ว่า “บ้านทุ่ง” ต่อมาเมื่อระบบการปกครองของรัฐเข้ามาสวมครอบ พื้นที่นี้อยู่ในเขตของบ้านใหม่บุญนาค ต่อมาแยกออกมาเป็นหมู่บ้านใหม่ในปี 2520 และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “ทุ่งบานเย็น” หากนับรวมอายุชุมชนนี้แล้ว นับเป็นชุมชนเก่าแก่ ทศวรรษ 2450 เนื่องจากอยู่บนเส้นทางการค้าของกลุ่มพ่อค้าทางไกลที่เดินทางค้าขายเชื่อมโยงระหว่างพม่า ล้านนา ลาว

           ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าของผู้เฒ่าในหมู่บ้านได้กล่าวไว้ว่า ราวปี 2450 พ่อหม่องโพธิชิตอริยภา ช่างซ่อมจักรเย็บผ้า เป็นชาวปะโอ จากเมืองสะเทิม ซึ่งเดินทางค้าขายได้เข้ามาแผ้วถางพื้นที่เพื่อใช้เป็นจุดพักค้างระหว่างการเดินทาง เป็นที่พักพระสงฆ์ที่เดินทางร่วมกับคาราวาน หรือพระสงฆ์ที่เดินทางธุดงค์ บริเวณนี้มีต้นโพธิ์ใหญ่ (ปัจจุบันตั้งอยู่ในบริเวณวัดนันตาราม) ผู้เดินทางยุคนั้นต่างเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีพ่อเฒ่าอุบล บุญเจริญ พื้นเพเป็นชาวเชียงตุง อาชีพเป็นสล่า เป็นช่างฝีมือ มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบที่เดินทางมาร่วมกับขบวนพ่อค้า ได้ร่วมกับพ่อหม่องโพธิชิต อริยภา สร้างกุฎิที่พักสงฆ์ ลักษณะสร้างด้วยไม้มุงด้วยใบคา จึงเรียกว่า “จองคา” โดยคำว่า “จอง=เจาง์” มาจากภาษาพม่า หมายถึงวัด หรืออาคาร คำว่า “คา” มาจาก การใช้ใบคา คือหญ้าคามาใช้มุงหลังคานั่นเอง วัดจองคา จึงเป็นชื่อเรียกขานที่พักสงฆ์แห่งนี้นับแต่นั้นมา

           หลังจากนั้น ในปี  2451 พ่อหม่องโพธิชิตอริยภา ได้ไปนิมนต์ “อู่นันทิยะ” พระภิกษุชาวปะโอ ซึ่งขณะนั้น เดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างพม่าล้านนา และลำปาง มาจำพรรษาวัดจองคา โดย “อู วัณณะ” นั้น พื้นเพเป็นพระชาวปะโอจาก รัฐฉานใต้ ประเทศพม่า วัดจองคาได้ถูกตั้งเป็นที่พักสงฆ์ที่ขึ้นตรงต่อคณะสงฆ์พม่า (ในจังหวัดลำปางขณะนั้น) คนท้องถิ่นล้านนาหรือละแวกใกล้เคียงเรียกว่าวัดม่าน ซึ่งมาจากคำว่า “มะล่าน” ในภาษาล้านนาที่หมายถึงพม่า หรือเรียกว่าวัดจองเหนือ  เพราะอยู่ทางทิศเหนือของแม่น้ำลาว

           ต่อมาในปี 2467 พ่อเฒ่าตะก๋าจองนันตา คหบดีชาวพม่าเชื้อสายปะโอซึ่งเดินทางเข้ามาค้าขาย ในเส้นทางนี้ รวมถึงเข้ามารับจ้างขนส่งไม้ให้กับบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ของอังกฤษได้มาทำสัมปทานไม้ในเขตลำปาง พะเยา เชียงรายท่านมีศรัทธาที่จะบูรณะวัดจองคาให้เป็นวัดที่ทำศาสนกิจทางศาสนาอย่างถาวร ได้ชักชวนกลุ่มพ่อค้าอำเภอเชียงคำ และผู้มีจิตศรัทธาทั่วไปร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์และร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างวิหารหลังใหม่ในครั้งนี้โดยมีแม่เฒ่าจ๋ามเฮิง ประเสริฐกุล บริจาคที่ดินให้สร้างวัด ได้นำแบบแปลนการสร้างวิหารมาจากจังหวัดลำปางพร้อมช่าง โดยมีพ่อสล่าตั้น จิตตระกูล (ชาวพม่า) ซึ่งเป็นพ่อของยายตุ๋นแก้ว จินดารัศมี ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าช่างชุดแรกในการสร้าง โดยใช้เวลาในการก่อสร้าง 10 ปี จากนั้นพ่อเฒ่าตะก๋าจองนันตาได้ไปอันเชิญพระประธานซึ่งทำด้วยไม้สักทองทั้งต้น จากวัดจองเหม่ถ่า บ้านดอนแก้ว ตำบลออย อำเภอปง จังหวัดพะเยา (ซึ่งพ่อเฒ่าเหม่ถ่าเป็นสหายค้าไม้ในเขตอำเภอปงได้สั่งเสียไว้ว่าหากได้เสียชีวิตลงให้นำพระประธานมาไว้วัดนันตาราม) จากนั้น วัดนันตารามก็ดำรงสถานะของวัดม่าน อันเป็นศูนย์กลางรวมใจของเหล่าพ่อค้าทางไกลจากประเทศพม่า หลากหลายเชื้อสาย  เป็นรากแห่งศรัทธาของผู้สืบเชื้อสายชาวปะโอในเชียงคำและใกล้เคียง

 

พระประธานวัดนันตาราม ทำจากไม้สักทองทั้งต้น ที่นำมาจากวัดจองเหม่ถ่า ตำบลออย อำเภอปง จังหวัดพะเยา พ่อเฒ่าเหม่ถ่าเป็นสหายของพ่อเฒ่าตะก๋าจองนันตา สหายค้าไม้ในเขตอำเภอปง ได้สั่งเสียไว้ว่า หากได้เสียชีวิตลงให้นำพระประธานมาไว้วัดนันตาราม

         

           การสืบค้นของชุมชนทำให้ตระหนักรู้ว่า การก่อร่างสร้างตัวของวัดนันตาราม และชุมชนนั้นใช้เวลายาวนานหลายสิบปี และหลายช่วงอายุคน โดยมีตระกูลหลักที่ทำหน้าที่อุปถัมภ์คือ ตระกูล “วงษ์อนันต์” มี “พ่อเฒ่าจองตะก่านันตา” เป็นต้นตระกูล ที่สืบต่อหน้าที่ดูแลวัดนันตาราม และสบทอดอาชีพค้าไม้มาจากบรรพบุรุษ มาจวบจนถึงคนรุ่นที่สามในปัจจุบัน อีกตระกูลสำคัญคือ ตระกูล “กันทะมาลา” มี “พ่อเฒ่าสล่าหนาน อุง” เป็นต้นตระกูล ท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดคนที่ 5 (พ.ศ. 2476-2479) ฉายา “อู่นันทิยะ” เดินทางมาจากบ้านบางโจ่ง เมืองสีแสง รัฐฉานใต้ ประเทศพม่า ท่านเป็นผู้มีความสามารถด้านการปรุงยา จนได้เป็นผู้ประกอบและมีสิทธิประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ ในสาขาเวชกรรม ที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะเป็นผู้ออกใบอนุญาต ภายหลังจากสึก ท่านได้แต่งงานกับแม่เฒ่าข่อง มีลูกหลานสืบเชื้อสายอุปภัมภ์วัดมาจนถึงคนรุ่นที่สามในปัจจุบัน

 

วัดนันตาราม

 

อู่นันทิยะ อดีตเจ้าอาวาสวัดนันตาราม ช่วงปี 2476-2479 ท่านเป็นชาวปะโอ บ้านปางโจง ตองจี เมียนมา ภาพนี้ป้าเหม่ ลูกสาวท่านบอกว่าถ่ายที่วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง

 

           นอกจากนั้น ยังค้นพบอาหารท้องถิ่นของคนปะโอที่ยังคงทำกันอยู่ในครัว เช่น น้ำพริกคั่ว แกงส้มปู  มีขนมอย่าง ซอมยาคู และขนมปิ้ง ซึ่งคณะทำงานได้จัดทำข้อมูลเหล่านี้เพื่อเก็บเข้าสู่คลังความรู้ของชุมชน เพื่อการสืบทอด ส่งต่อให้คนรุ่นหลัง รวมถึงจะดำเนินการสืบค้นเพิ่มเติมทั้งด้านอาหารการกิน เครื่องมือเครื่องใช้ ยาสมุนไพร ที่คนรุ่นเก่าก่อนได้ทิ้งไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานได้สืบค้นหารากเหง้า ตัวตนของตนเอง  ขณะเดียวกัน การเดินทางเพื่อเรียนรู้สังคมวัฒนธรรมปะโอจากชุมชนอื่นๆ ทั้งในพื้นที่จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือการเดินทางไปยังต้นทางประเทศพม่า เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ผนวกสร้างเป็นเครือข่ายปะโอในประเทศไทย

           สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ปะโอในประเทศไทยนั้น พบว่าอาศัยในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ และพะเยา อีกทั้งยังกระจัดกระจายเข้ามาทำงานในหลายพื้นที่ ทั้งพื้นที่หัวเมืองภาคเหนือ และกรุงเทพมหานคร ชาวปะโอ เคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงปัญหาทางการเมืองและการสู้รบในประเทศพม่า ทั้งการเข้ามาตั้งถิ่นฐานถาวร และการเข้ามาแสวงหางานทำ โดยในบางพื้นที่นั้นอาศัยอยู่เฉพาะกลุ่ม ในบางพื้นที่อาศัยอยู่ร่วมปะปนกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ในอดีตที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์ปะโอในพื้นที่เชียงใหม่ เชียงรายและพะเยาไม่ค่อยปรากฏตัวและแสดงออกทางอัตลักษณ์วัฒนธรรมของตนเองให้คนอื่นเห็น เนื่องจากการเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ปะปนกับชนกลุ่มใหญ่ หรือกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ในพื้นที่จึงอำพราง ปกปิดอัตลักษ์ของตัวเองตลอดมา

           หากแต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น ขบวนการของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และประเด็นชนเผ่าพื้นเมือง ได้รับการหยิบยกกมาเคลื่อนไหวในสังคม และสาธารณชน และพบว่า มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มที่เคยปิดตัวต่อสังคม ออกมาเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะ แสดงออกถึงอัตลักษณ์ และเริ่มทำการสืบค้นประวัติศาสตร์ ที่มาของตนเองมากขึ้น และชาวปะโอก็เป็นหนึ่งในหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เดินออกมาจากเงามืด เพื่อบอกแก่สังคมว่า ปะโอคือใคร

 


 

1 ข้อเขียนนี้ เรียบเรียงมาจากรายงานผลการดำเนินงานโครงการสืบค้นข้อมูลทางสังคมและวัฒนธรรมชาติพันธุ์ปะโอ

2 นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share