บันทึกเดือนเราะมะฎอน 1441 และ Covid-19 กับวิถีชุมชนมุสลิมในเมือง

 |  มรดกวัฒนธรรม และภูมิปัญญา
ผู้เข้าชม : 4416

บันทึกเดือนเราะมะฎอน 1441 และ Covid-19 กับวิถีชุมชนมุสลิมในเมือง

สุนิติ จุฑามาศ

นักวิชาการกลุ่มงานวิจัยและพัฒนา

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

           การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ที่ทวีความรุนแรงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมา สร้างความหวาดวิตกอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนเมืองในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่จุดศูนย์กลางของการกระจายตัวแห่งแรก 

           สถานการณ์อัน ‘ไม่ปกติ’ นี้บังเอิญตรงกับ “เดือนเราะมะฎอน” ปีฮิจเราะฮ์ศักราช 14411 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม 

           ศาสนิกจะงดเว้นการกินดื่มตั้งแต่เวลาก่อนตะวันโผล่พ้นขอบฟ้าจนกระทั่งตะวันตกดิน 

           สำรวมกายวาจาใจมีการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเข้มข้นเป็นพิเศษ และแบ่งปันปัจจัยดำรงชีพแก่ผู้ยากไร้ โดยมีนัยยะสำคัญเพื่อน้อมรับพระบัญชาของพระเจ้า 

           หากเป็นในช่วง ‘ปกติ’ บรรยากาศของเดือนเราะมะฎอนในชุมชนมุสลิมต่างๆ ในประเทศไทย (รวมถึงทั่วโลก) จะเต็มไปด้วยสีสันและความมีชีวิตชีวา การไปมาหาสู่กันระหว่างญาติพี่น้องเพื่อนฝูง 

           ตลาดบ่ายที่คึกคัก รวมถึงผู้คนที่ไปรวมตัวกันที่มัสยิดเพื่อรอเวลาแก้บวช (ละศีลอด) พร้อมกันเมื่อตะวันตกดิน และแว่วเสียงสวดนมัสการของละหมาดตะรอเวี๊ยะฮ์2  ซึ่งเป็นละหมาดพิเศษเฉพาะเดือนเราะมะฎอนในยามค่ำคืน 

           อย่างไรก็ดี เราะมะฎอนปี 2563 นี้มาพร้อมกับการระบาดของไวรัส COVID-19 จะแตกต่างไปจากเดิม ชาวชุมชนมุสลิมจะรู้สึกและรับมือกับปรากฏการณ์นี้อย่างไร? ผู้เขียนอยากเล่าประสบการณ์ส่วนหนึ่งในฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์และเป็น “คนใน” วัฒนธรรม

 

ก่อนเข้าเดือนบวช : วิกฤติโรคระบาดและมาตรการ

           เมื่อสถานการณ์เชื้อไวรัส COVID-19 มีเค้าลางว่าจะรุนแรงขึ้น จุดเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคคือ สถานที่รวมตัวของคนหมู่มาก 

           ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา ห้าง ตลาด สวนสาธารณะ และศาสนสถานต่างๆ รวมถึง “มัสยิด” ซึ่งเป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณและกิจกรรมชุมชนมุสลิม 

           ทำให้เกิดความวิตกกังวลและคำถามมากมายว่าศาสนิกจะปฏิบัติตัวกันอย่างไรให้ปลอดภัยจากโรคและไม่บกพร่องในการประกอบศาสนกิจ 

           สำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการบริหารกิจการศาสนาอิสลามและออกคำวินิจฉัยทางศาสนา (ฟัตวา) ในประเทศไทย ได้ตอบสนองนโยบายของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยเริ่มประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา-19 ฉบับแรกว่าด้วยแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ไปยังมัสยิดและชุมชนมุสลิมต่างๆ ทั่วประเทศ และขอความร่วมมือให้ประชาสัมพันธ์ผ่านเทศนาธรรมวันศุกร์ (คุฏบะฮ์) ให้ความรู้กับชาวบ้านเกี่ยวกับระบาดวิทยาของไวรัสและรณรงค์มาตรการป้องกันเบื้องต้น3

           หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันก็มีประกาศตามมาด้วยแนวทางการปฏิบัติตนในสถานการณ์แพร่ระบาดที่มีความเข้มงวดขึ้น และให้รายละเอียดเรื่องการปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรการป้องกัน เช่น 

  • หลีกเลี่ยงการทักทาย (ให้สลาม) โดยการสัมผัสระหว่างบุคคล 
  • ดูแลรักษาความสะอาดในศาสนสถาน (เช่น การใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อและตรวจวัดไข้ก่อนเข้ามัสยิด) 
  • การงดใช้บ่ออาบน้ำละหมาดรวม 
  • ขอความร่วมมืองดเว้นกิจกรรมทางสังคมต่างๆ 
  • การรักษาความสะอาดของบุคคล (เช่น การใส่หน้ากากขณะละหมาด) และการงดทานอาหารแบบถาดรวม
  • การให้ความร่วมถือในการกักตัว
  • การแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขและการกักตัวเอง 14 วัน ในกรณีของผู้เดินทางดะอ์วะฮ์4 หรือกลับมาประกอบพิธีอุมเราะห์5 ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย6

           ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจจากเหตุการณ์นี้คือ นอกจากองค์กรทางศาสนาจะสนองมาตรการด้านสาธารณสุขแล้ว สังคมมุสลิมยังมีปฏิกิริยาตอบสนองในมิติด้านจิตวิญญาณด้วย 

           โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Social Media ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายมีส่วนกระตุ้นให้ศาสนิกมีความตื่นตัวทางจิตวิญญาณ  โดยแนะนำให้ศาสนิกทบทวนตนเองและช่วยกันขอพรเพื่อปัดป้องกันโรคภัยต่างๆ ที่จะเข้ามากระทบต่อตนเองและสังคม 

           รวมถึงมีการแชร์วรรคตอนจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน เล่าเรื่องราวชีวประวัติของศาสดามุฮัมมัด หรือตัวอย่างของปราชญ์ในอดีตที่สอดคล้องมาตรการป้องกันโรคระบาด

           แม้ว่ายังคงมีทัศนะที่ทั้งสอดคล้องและแตกต่างกันในสังคมมุสลิมที่เกี่ยวกับมุมมองต่อโรคระบาดและวิธีการปฏิบัติศาสนกิจในสถานการณ์เช่นนี้อยู่บ้างก็ตาม อาทิ การควรหรือไม่ควรงดไปละหมาดที่มัสยิด?  การละหมาดรวมกลุ่มโดยเว้นระยะห่างในแถวสามารถกระทำได้หรือไม่? การละหมาดโดยตามอิหม่ามในวิดีโอ Live ได้หรือไม่? วิธีการและขั้นตอนการฝังศพของผู้ติดเชื้อต้องเป็นเช่นไร? เป็นต้น

 

บทขอพร (ดุอา) สำหรับป้องกันโรคร้าย

ที่มา : https://www.pinterest.com/pin/652177589776071596/, [สืบค้นวันที่ 20 พฤษภาคม 2563]

 

ชาวมุสลิมทำละหมาดในมัสยิดพร้อมสวมใส่หน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง

ที่มา : https://www.mcot.net/viewtna/5ec7d87fe3f8e40af9449970, [สืบค้นวันที่ 20 พฤษภาคม 2563]

 

           จนกระทั้งในวันที่ 21 มีนาคม 2563 ได้มีคำแถลงการณ์ของสำนักจุฬาราชมนตรีเรื่องให้งดการละหมาดญะมาอะฮ์ (นมัสการแบบเป็นหมู่คณะ) และงดละหมาดวันศุกร์ (การนมัสการและฟังเทศนาธรรมประจำสัปดาห์) ที่มัสยิดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงพื้นที่พิเศษที่กำหนด ตั้งแต่วันที่  27 มีนาคม เป็นต้นไป และขอร้องให้มัสยิดทุกแห่งทำการอะซาน (ประกาศเชิญชวนละหมาด) 5 เวลาต่อวันโดยเพิ่มประโยคว่า “الصلاة في بيوتكم” (อัศเศาะลาฮ์ ฟี บุยูติกุม - จงละหมาดที่บ้านของพวกท่าน)7 ในทางปฏิบัติก็คือการ Lock down มัสยิดนั่นเอง 

           แม้ว่าสถานการณ์ที่ดำเนินมาจะทำให้หลายคนคาดเดาได้ว่า การปิดมัสยิดจะต้องเกิดขึ้น แต่ก็นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่หลายคนตกใจ มีคำถามที่ผุดขึ้นว่า “หากขาดละหมาดวันศุกร์เกิน 3 สัปดาห์จะตกเป็นบาปใหญ่” จะทำอย่างไร? ซึ่งจุฬาราชมนตรีก็ได้ออกวินิจฉัยให้ผ่อนปรนให้กระทำได้ตามสถานการณ์ไม่ปกติตาม  ศาสนบัญญัติ8 แม้ว่าจะทำให้คลายข้อวิตกไปบ้าง แต่หลายคนก็ยังไม่สนิทใจเพราะวิถีชีวิตผูกพันและความเคยชินกับมัสยิดอย่างเหนียวแน่น และปรากฏการณ์นี้ก็ไม่เคยประสบมาก่อน 

           โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดือนเราะมะฎอนที่กำลังใกล้จะถึงในช่วงปลายเดือนเมษายน ซึ่งชาวมุสลิมจะมีการปฏิบัติศาสนกิจที่เข้มข้นและกิจกรรมต่างๆ ที่คนจะไปรวมตัวกันที่มัสยิดกันตลอดเดือน

 

    

ป้ายประกาศมาตรป้องกันโรคและงดละหมาดที่มัสยิด

ที่มา : ผู้เขียน (ถ่ายเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563)

 

เข้าสู่เดือนเราะมะฎอนกับวิถีใหม่

           “บ้านน้าอยู่หลังสุเหร่านี่เอง ปกติเวลาเดือนบวช ละหมาดตะรอเวี๊ยะฮ์  น้าก็จะไปมัสยิดตลอด ตั้งแต่เด็กจนโตไม่เคยพลาดเลยสักปี แต่ปีนี้ดันมาเจอสถานการณ์โควิด สุเหร่าปิดแบบนี้ พูดแล้วใจมันหวิวๆนะ” 

           เมื่อตะวันลับขอบฟ้าในวันที่ 23 เมษายน 2563 มีผู้สังเกตเห็นฮิลาล (จันทร์เสี้ยว) ของเดือนใหม่ เป็นสัญญาณเริ่มต้นเดือนเราะมะฎอน ปีฮิจเราะฮ์ศักราช 1441 และเทศกาลถือศีลอดในวันรุ่งขึ้นอย่างเป็นทางการ 

           ในเช้าวันใหม่ของเดือนเราะมะฎอน ชุมชนมัสยิดหลายๆ แห่งยังดูวังเวง มัสยิดหลายแห่งยังคงล็อคประตูแน่นหนา พร้อมป้ายติดประกาศ ตลอดทั้งวันเราแทบจะไม่เห็นผู้คนเดินไปมานัก 

           ผู้เขียนได้มีโอกาสแวะไปสังเกตการณ์ที่มัสยิดในย่านที่พักของตัวเองเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการรับมือในเดือนเราะมะฎอน ซึ่งคนในชุมชนต่างอาสาช่วยกันดูแลกิจกรรมที่ปกติจะต้องทำในเดือนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลี้ยงละศีลอดและการละหมาดตะรอเวี๊ยะฮ์ 

           กิจกรรมในเดือนเราะมะฎอนปีนี้ทั้งหมด จะถูกปรับตามมาตรการของรัฐและคำประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรีที่วินิจฉัยให้ใช้ข้อผ่อนปรนของศาสนาที่ยืดหยุ่นให้กระทำได้ในขณะนี้ 

           ยามปกติตลอดเดือนเราะมะฎอน ทุกๆ วัน  จะมีการเลี้ยงละศีลอดที่มัสยิด คนในชุมชนและผู้สัญจรไปมาสามารถเข้ามานั่งร่วมโต๊ะรับประทานกันได้ 

           แต่ปีนี้  โรงครัวมัสยิดค่อนข้างรัดกุม แม่ครัวและกลุ่มสตรีในชุมชนออกมาช่วยกันทำอาหารโดยมีอุปกรณ์ป้องกันเต็มที่เพื่อปรุงอาหารทั้งต้ม ผัด แกง ทอด ขนมหวาน รวมไปถึงน้ำขิง ซึ่งจะมีการจัดใส่ถุงจัดเป็นชุดๆ เพื่อรอแจกในเวลาตั้งแต่เวลา 16.30 น. เป็นต้นไป จะมีคนมาเข้าแถวรับอาหารยาวเหยียดในช่วงก่อนเวลา 

           กรรมการมัสยิดและชุมชนได้ประสานกับสำนักงานเขตและเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยดูแลจัดแถวตามมาตรการเว้นระยะห่างทางกายภาพ/สังคม (Physical/Social Distancing) และจะอนุญาตให้เข้าภายในบริเวณมัสยิดได้โดยต้องผ่านการตรวจวัดไข้และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนเท่านั้น 

           กรรมการมัสยิดท่านหนึ่งอธิบายเกี่ยวกับขั้นตอนนี้ว่า 

           “วันๆ นึง  เราทำอาหารได้กว่าร้อยชุด พอสี่โมงคนในมุเก่ม (ชุมชน) เขาก็มาต่อแถวรับกัน ส่วนคนนอกพอเขาได้ยินข่าวว่ามัสยิดเราแจก  เขาก็มากันด้วย  ถึงไม่ใช่มุสลิมเราแจกหมด แต่ต้องรีบแจกให้ไวที่สุดนะ จะได้ไม่ต้องรวมตัวนาน  เมื่อวาน 20 นาทีก็เกลี้ยงแล้ว” 

           คนจำนวนไม่น้อยที่มาต่อคิวรับอาหารแจกของมัสยิดเล่าว่า ที่ตนเดินทางมารับอาหาร  เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติ ไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลง รวมถึงคนหาเช้ากินค่ำ ฯลฯ มัสยิดจึงยังเป็นที่พึ่งพิงในยามยาก 

           ขณะเดียวกัน  หลายคนที่ยังพอมีกำลังทรัพย์ ก็เลือกซื้ออาหารละศีลอดที่ตลาดชุมชน พ่อค้าแม่ค้าเริ่มทยอยกันออกมาตั้งร้านขายอาหารช่วงเวลาราวๆ บ่าย 3 โมงเป็นต้นไป 

           ร้านรวงดูบางตากว่าทุกปีและได้ยินเสียงบ่นเรื่องเศรษฐกิจแย่อยู่เนืองๆ หลายคนพยายามดิ้นรนให้เกิดรายได้ บทสนทนากับคุณป้าแม่ค้าท่านหนึ่งเล่าว่า

           “ปีนี้แย่จริงๆนะ ป้าขายไม่ค่อยได้เลย ถือว่าอัลลอฮ์ทดสอบ ยังไงช่วยซื้อป้าหน่อยละกัน มีก๋วยจั๊บ กับเต้าทึงน้ำลำไย ซื้อเอาไปทำบุญที่สุเหร่าก็ได้นะ” 

           พอตกบ่ายแก่ๆ ก็มียังผู้คนออกมาจับจ่ายกันให้เห็นบ้าง บางวันก็คึกคัก บางวันก็เงียบเหงา

           ท่ามกลางความร้อนระอุยามบ่าย พ่อค้า  แม่ค้า  และลูกค้าป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัยและถุงมือ อีกทั้งยังต้องอดข้าว อดน้ำมาตลอดวัน  ยิ่งต้องใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างมากขึ้นไปอีก

 

   

มาตรการตรวจวัดไข้และรับอาหารแจกที่มัสยิดในช่วงเดือนเราะมะฎอน

ที่มา : ผู้เขียน (ถ่ายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563)

 

    

บรรยากาศของตลาดนัดขายอาหารละศีลอดในชุมชน

ที่มา : ผู้เขียน (ถ่ายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563)

 

           จนกระทั่งเสียงอะซานแว่วผ่านสายลมยามอาทิตย์ตกดิน แต่ละครอบครัวต่างเก็บตัว และรับประทานละศีลอดอยู่ภายในบ้านตามมาตรการป้องกันโรคที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตช่วง COVID-19

           แม้ว่ามัสยิดในค่ำคืนเดือนเราะมะฎอนจะไม่เคยเงียบเหงาแบบนี้มาก่อน เพราะการละหมาดตะรอเวี๊ยะฮ์ เป็นละหมาดพิเศษตอนกลางคืนที่โดยปกติมักจะไปรวมตัวกันที่มัสยิดเพื่อนมัสการพร้อมๆ กัน  ยังไม่สามารถกระทำได้ตามประกาศสำนักจุฬาราชมนตรี 

           แต่การเก็บตัวอยู่บ้านก็สร้างบรรยากาศของความมีชีวิตชีวาขึ้นภายในครัวเรือน สมาชิกในครอบครัวได้มาอยู่รวมกัน มีเรื่องราวให้เล่าเรื่องสนุกๆ ได้ต่อไปหลังจากนี้ ทำให้เราะมะฎอนปีนี้มีบรรยากาศอบอุ่นในครอบครัวและอาจจะมากกว่าในยามปกติเสียด้วยซ้ำ

           สมาชิกในครอบครัวหลายคนต้องเผชิญกับความท้าทายในการปฏิบัติศาสนกิจในฐานะ “อิหม่ามมือใหม่” ประจำบ้าน บ้างก็พ่อ บ้างก็ลูก จะถูกมอบหมายให้นำละหมาด  นำครอบครัวที่บ้าน 

           จากการละหมาดตะรอเวี๊ยะฮ์ที่คนส่วนใหญ่คุ้นชินกับการละหมาดตามอิหม่ามฮาฟิซ9  ที่มัสยิด และดื่มด่ำกับอรรถรสในการฟัง กลับต้องมาเป็นผู้นำการอ่านเสียเอง ทำให้บางคนออกจะเกร็งๆ เคอะเขินกันบ้าง แต่ก็ต้องผลักดันตัวเองให้ต้องกลับไปรื้อฟื้นวิชา ฝึกซ้อมการจดจำพระคัมภีร์ และครองสมาธิในการละหมาดยาวๆ เป็นชั่วโมงๆ ในตอนกลางคืน 

           ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 มีแถลงการณ์ว่าด้วยการผ่อนปรนให้มีการเปิดมัสยิดให้ทำการละหมาดวันศุกร์ (นมัสการและฟังเทศนาธรรมประจำสัปดาห์) เนื่องจากในภาพรวมสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น 

           อย่างไรก็ดี ประกาศนี้ยังอยู่ในดุลพินิจและการปรึกษาหารือระหว่างคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกับผู้ว่าราชการ10 

           ในบางจังหวัดเริ่มมีจัดละหมาดวันศุกร์อีกครั้ง ทำให้หลายคนสามารถคลายรู้สึกคิดถึงมัสยิดและการบรรยายเทศนาธรรมไปได้ 

           แต่สำหรับบริบทของชุมชนมัสยิดอีกหลายๆ แห่งในเมืองหลวงยังคงมีความวิตกกังวลและคงมาตรการป้องกันโดยการประกาศปิดมัสยิดต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะปกติ 

           ด้วยเหตุที่สภาพสังคมเมืองที่ชุมชนมัสยิดหลายแห่งมีความหนาแน่น บ้างก็เป็นย่านการค้าที่มีชาวมุสลิมทั้งไทยและนานาชาติเข้ามาใช้พื้นที่ชุมชนในการทำกิจกรรมจำนวนมากยังคงมี “ความเสี่ยง” อยู่มากในกรณีมีคนติดเชื้อขึ้นมาจริงๆ 

           อย่างไรก็ดี ขณะที่ในปัจจุบันชาวมุสลิมกำลังถูกเพ่งเล็งหรือตีตราเหมารวมจากคนบางกลุ่มในสังคม อย่างเช่นในกรณีของกลุ่มชาวมุสลิมที่กลับมาจากการชุมนุมทางศาสนาในประเทศเพื่อนบ้าน และได้รับเชื้อไวรัสมาว่าเป็นผู้แพร่เชื้อนั้น ทำให้สังคมมุสลิมต้องตระหนักถึงภาพลักษณ์และเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุใดที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม

           การเลือกที่จะใช้ข้อผ่อนปรนในการปฏิบัติศาสนกิจ เพื่อรักษาชีวิตทรัพย์สิน และลดแรงต้านกับสังคมที่ชาวมุสลิมเป็นคนส่วนน้อยทางศาสนานั้นมีความจำเป็นและถูกพิจารณา โดยเฉพาะในสถานการณ์ไม่ปกติ นับเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญ และบทเรียนให้สังคมมุสลิมไทยเช่นกัน

 

โค้งสุดท้ายก่อนจากลาและวันตรุษอีดิ้ลฟิฏรี

           หากเป็นสถานการณ์ปกติในช่วงโค้งสุดท้าย (10 คืนสุดท้าย) ของเดือนเราะมะฎอน มัสยิดจะเปิดตลอดทั้งคืนเพื่อให้ศาสนิกได้เข้าไปเอี๊ยะติกาฟ11 ภายในซึ่งเป็นช่วงที่ชาวมุสลิมจะตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติศาสนกิจอย่างขะมักเขม้น เนื่องจากความเชื่อที่ว่า การแสวงหาความโปรดปรานจากพระเจ้าด้วยการละหมาดและขอพร ใน “ค่ำคืนลัยละตุลก็อดร์” ซึ่งเป็นค่ำคืนเดียวกับที่พระคัมภีร์อัลกุรอ่านได้ถูกประทานให้แก่ศาสดามุฮัมมัดเมื่อพันสี่ร้อยกว่าปีที่แล้วเพื่อเป็นธรรมนูญชีวิตนั้น จะได้รับผลบุญมากกว่าหนึ่งพันเดือน 

           กิจกรรมอีกอย่างหนึ่งก่อนสิ้นสุดเดือนเราะมะฎอน คือ การบริจาคทาน หรือ “ซะกาตฟิฏเราะฮ์” เป็นข้าวสารตามจำนวนอัตราที่ศาสนากำหนด12 ให้แก่ผู้ขัดสนหรือเข้าเกณฑ์กำหนด 

           ทางมัสยิดและชุมชนได้แจ้งแนวทางรับบริจาคเพื่อไม่ให้เกิดความยากลำบากโดยให้มีการทยอยบริจาคไปรวมที่มัสยิดตั้งแต่ราวต้นเดือนเพื่อการจัดการและส่งมอบ

           คาดว่าปีนี้คนที่เข้าเกณฑ์ได้รับบริจาคซะกาตคงจะมีมากกว่าปีก่อนๆ ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ต่อเนื่อง และผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 

           หลายคนเลือกที่จะนำซะกาตไปให้กับผู้ขัดสนโดยตรง  หรือ บางคนยึดตามทัศนะให้บริจาคเป็นจำนวนเงินเข้ามูลนิธิหรือองค์กรการกุศลของมุสลิมที่เชื่อถือได้ นำไปช่วยเหลือต่อไปก็มี

           เช้าของวันที่ 24 พฤษภาคม 2563 เป็นรุ่งอรุณของวันตรุษอีดิ้ลฟิฏรี หรือ ฮารีรายอ วันเฉลิมฉลองหลังจากการสิ้นสุดเทศกาลถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน13 

           แม้สถานการณ์จะคลี่คลายไปมากพอควร แต่มัสยิดในกรุงเทพมหานครกว่าร้อยละ 90 ยังคงประกาศ “งดละหมาดอีด” และขอให้สัปปุรุษละหมาดกันเองอยู่ที่บ้าน (ยกเว้นมัสยิดส่วนน้อยมากที่เปิดละหมาดเพราะมีสถานที่โล่งแจ้ง โดยยังมีมาตรการป้องกันเข้มงวดและอนุญาตเฉพาะสัปปุรุษเท่านั้น) เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมตัวของคนจำนวนมากและยังคงให้เฝ้าระวังอยู่เช่นเคย 

           เช่นเดียวกับวันตรุษของชาวไทยหรือชาวจีน วันตรุษอีดิ้ลฟิฏรี คือ วันเทศกาลกลับบ้านเยี่ยมครอบครัวไปมาหาสู่กันในหมู่ญาติมิตร และเยี่ยมเยียนสุสาน ก็ยังคงไม่สามารถกระทำได้ตามปกตินัก อีกทั้งการเดินทางของชาวมุสลิมที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดก็ยังไม่สามารถเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวได้ 

           วันอีดปีนี้จึงมีบรรยากาศที่ไม่คุ้นชินซึ่งต้องหาทางปรับตัว  ปรับใจและรอโอกาสให้สถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้นหรือกลับมาเป็นปกติเสียก่อน

 

    

ตัวอย่างโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการวันตรุษอีดิ้ลฟิฏรีและสถานการณ์ COVID-19

ที่มา : https://www.facebook.com/samnakjula/

 

           แม้เดือนเราะมะฎอนจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่เดือนเราะมะฎอนปีฮิจเราะฮ์ 1411 กับสถานการณ์ระบาดของไวรัส COVID-19 จะถูกจดจำในฐานะเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ต้องบันทึกไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยนั้นยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบเลวร้ายแบบนี้มาก่อน 

           ความยากลำบากตลอดเดือนเราะมะฎอนที่ผ่านมา สำหรับชาวมุสลิมเสมือนเป็นบททดสอบหนึ่งที่  พระเจ้าส่งมาทั้งด้านจิตวิญญาณและกายภาพ ยังให้ประสบการณ์ใหม่แก่สังคมมุสลิมที่จะต้องหาวิธีการรับมือและปรับตัวทั้งวิธีคิด มุมมอง การปฏิบัติ และการอดทนอดกลั้นเพื่อให้ธำรงวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่บนความเชื่อทางศาสนาไปพร้อมๆ กับการรักษาชีวิตของตนเองและตอบสนองกับสังคมส่วนรวม

           “จะว่าไปมันก็ไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมดนะ อย่างน้อยมันทำให้คนเห็นใจกันมากขึ้น ทุกคนลำบากกันหมด โดนกันทั้งโลก ถึงปีนี้เราจะไม่ได้ไปละหมาดที่มัสยิดแบบปกติ แต่มันทำให้ครอบครัวใกล้ชิดจริงๆ เนี่ยดูสิ ประสบการณ์ใหม่ ไม่เคยมาละหมาดรวมกันแบบนี้มาก่อนเลย แต่จะบอกว่าอยากให้เป็นแบบนี้ตลอดก็ไม่ได้นะ ขออัลลอฮ์ให้สถานการณ์ดีวันดีคืน ทุกคนจะได้ใช้ชีวิตปกติ...”

 

บรรณานุกรม

สำนักจุฬาราชมนตรี. “ขอความร่วมมือพี่น้องมุสลิมประชาสัมพันธ์รณรงค์เพื่อป้องกันควบคุมโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563, สืบค้นจาก https://www.skthai.org/th/news/88945

สำนักจุฬาราชมนตรี. “แนวทางการปฏิบัติตนสำหรับมุสลิมในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19)” วันที่ 7 มีนาคม 2563 สืบค้นจาก https://www.skthai.org/th/news/89249

สำนักจุฬาราชมนตรี. “มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ว่าด้วยเรื่อง การละหมาดวันศุกร์ การละหมาดญะมาอะห์ และการจัดกิจกรรมและการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม สำหรับในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และในพื้นที่ที่รัฐบาลประกาศห้ามรวมตัว (ฉบับที่ 1/2563)” สืบค้นจาก https://www.skthai.org/th/news/89753

สำนักจุฬาราชมนตรี. “ข้อชี้แจงเรื่องการขาดละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะฮ์) เกินกว่า 3 ครั้ง”. วันที่ 7 เมษายน 2563, สืบค้นจาก https://www.skthai.org/th/news/90479

สำนักจุฬาราชมนตรี. “มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่าด้วย การผ่อนปรนให้ปฏิบัติศาสนกิจละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะห์) และแนวทางปฏิบัติ (ฉบับที่ 5/2563)”, สืบค้นจาก  https://www.skthai.org/th/news/91340

 


 

1  ตรงกับวันที่ 24 เมษายน ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

2  ละหมาดตะรอเวี๊ยะฮ์ คือ การละหมาดพิเศษที่มีเฉพาะในเดือนเราะมะฎอนซึ่งเป็นแบบอย่างที่ศาสดามุฮัมมัดได้ปฏิบัติไว้ โดยจะทำการนมัสการในช่วงค่ำคืนของแต่ละวันตลอดทั้งเดือนและมีความยาวกว่าละหมาดปกติ ชาวมุสลิมเชื่อว่าการละหมาดตะรอเวี๊ยะฮ์นี้มีภาคผลบุญมากกว่าการละหมาดเดือนอื่นๆ

3  สำนักจุฬาราชมนตรี. “ขอความร่วมมือพี่น้องมุสลิมประชาสัมพันธ์รณรงค์เพื่อป้องกันควบคุมโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563, สืบค้นจาก https://www.skthai.org/th/news/88945

 การดะอ์วะฮ์ (Dawah) เป็นรูปแบบกิจกรรมของสมาชิกกลุ่มตับลีฆญะมาอัต (Tabligh Jamaat) ซึ่งเป็นขบวนการฟื้นฟูศาสนาอิสลามที่มีเครือข่ายทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย มีต้นกำเนิดในอินเดียช่วงปลายคริสต์วรรษที่ 19 โดยสมาชิกกลุ่มจะออกการเดินทางทั้งแบบเดี่ยวหรือแบบหมู่คณะเป็นระยะเวลา 3 วัน 40 วัน หรือมากกว่านั้น ไปยังมัสยิดในชุมชนต่างๆ เพื่อพบปะผู้คนและเชิญชวนให้ช่วยกันทำความดี หักห้ามการทำชั่ว

5  พิธีอุมเราะฮ์ (Umrah) คือการเดินทางไปแสวงบุญและปฏิบัติศาสนากิจที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบียในช่วงเวลานอกเทศกาลฮัจญ์

6  สำนักจุฬราชมนตรี. “แนวทางการปฏิบัติตนสำหรับมุสลิมในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19)” วันที่ 7 มีนาคม 2563, สืบค้นจาก https://www.skthai.org/th/news/89249

7  สำนักจุฬาราชมนตรี. “มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่าด้วยเรื่อง การละหมาดวันศุกร์ การละหมาดญะมาอะห์ และการจัดกิจกรรมและการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม สำหรับในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และในพื้นที่ที่รัฐบาลประกาศห้ามรวมตัว (ฉบับที่ 1/2563)” วันที่ 18 มีนาคม 2563, สืบค้นจาก https://www.skthai.org/th/news/89753

8  สำนักจุฬาราชมนตรี. “ข้อชี้แจงเรื่องการขาดละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะฮ์) เกินกว่า 3 ครั้ง” วันที่ 7 เมษายน 2563, สืบค้นจาก https://www.skthai.org/th/news/90479

9  ผู้ที่มีความสามารถท่องจำพระคัมภีร์อัลกุรอ่านได้เป็นจำนวนหลายบทหรือทั้งเล่ม มักทำหน้าที่นำละหมาดตะรอเวี๊ยะฮ์ตามมัสยิดต่างๆในเดือนเราะมะฎอน

10  สำนักจุฬาราชมนตรี. “มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่าด้วย การผ่อนปรนให้ปฏิบัติศาสนกิจละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะห์) และแนวทางปฏิบัติ (ฉบับที่ 5/2563)”, สืบค้นจาก  https://www.skthai.org/th/news/91340

11  การพักอยู่ในมัสยิดเพื่อทำละหมาดและประกอบความดีต่างๆในช่วง 10 คืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน

12  อัตราของข้าวตามศาสนบัญญัติของผู้ที่มีหน้าที่ต้องบริจาคอยู่ที่ประมาณ 2.5 – 3 กิโลกรัม ต่อคน

13  ตรงกับวันที่ 1 เดือนเซาวาล (เดือนที่ 10 ตามปฏิทินอิสลาม)

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share