หน้ากาก: วัตถุทางวัฒนธรรม ตัวอ้น และโรคระบาด

 |  มรดกวัฒนธรรม และภูมิปัญญา
ผู้เข้าชม : 5196

หน้ากาก: วัตถุทางวัฒนธรรม ตัวอ้น และโรคระบาด

“หน้ากาก” เป็นวัตถุที่ทุกสังคมรู้จัก มีหน้าที่ป้องกัน ปกปิด ซ่อนเร้น อำพรางใบหน้าให้กับผู้สวมใส่ขณะที่ออกล่าสัตว์ เข้าร่วมงานเลี้ยง หรือแข่งขันกีฬา ยามศึกสงคราม หน้ากากก็มีส่วนสำคัญในการปกป้องนักรบ และม้าศึกจากการโจมตีของข้าศึก ในอดีตหน้ากากจะถูกใช้เพื่อตกแต่ง หรือเป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมและการแสดง นิยมใส่บนใบหน้า หรือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประดับตามร่างกาย

ขณะที่บางวัฒนธรรม หน้ากากทำหน้าที่เชิงสัญลักษณ์บอกถึงพวกเดียวกัน ทั้งเรื่องศาสนา หรือการเมือง และบ่อยครั้งหน้ากากก็ยกฐานะ ให้อำนาจกับผู้สวมใส่ ทั้งยามที่มีชีวิตอยู่ หรือลาจากโลกนี้ เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ต่อรองกับเทพเจ้า และปกป้องสิ่งชั่วร้ายจากอำนาจที่มองไม่เห็น

หน้ากากยังเป็นตัวแทนของจินตนาการ ความคิด ความรู้สึกของผู้คนในสังคมที่มีต่อสิ่งต่างๆ เช่น เทพเจ้า ปีศาจ ความสวย ความงามตามอุดมคติ ความน่าเกลียด และความหวาดกลัว เป็นต้น ขณะที่วัสดุที่ใช้ทำหน้ากากก็ยังสะท้อนถึงสภาพแวดล้อม หรือทรัพยากรที่สังคมนั้นมี เช่น ไม้ ใบไม้ ผ้า หนังสัตว์ ทองแดง ทองคำ ดินเหนียว หรือแม้แต่กระดูกมนุษย์

ปู่เยอ ย่าเยอ เทวดาอารักษ์ และสิงห์แก้วสิงห์คำ สัตว์เลี้ยงของปู่เยอ ย่าเยอ

ตามตำนานความเชื่อของชาวลาว จะมาปรากฏตัวปีละครั้งในช่วงงานสงกรานต์

(ภาพ: https://mgronline.com/travel/detail/9580000041685)

หน้ากากกับศิลปะการแสดงเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ขาด หน้ากากถูกใช้เพื่อกำหนดบทบาทตัวละครให้กับนักแสดง ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่สื่อสารภูมิหลัง บุคลิก ลักษณะนิสัยของตัวละครให้แก่คนดู เพื่อสร้างความเข้าใจและอารมณ์ร่วมขณะที่ชมการแสดง บ่อยครั้งที่การแสดงเหล่านั้นก็เกี่ยวพัน หรือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม

หน้ากากโทเป็ง (Topeng) ของอินโดนีเซีย ที่พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาเวียดนาม

(ภาพ: ผู้เขียน)

นอกจากหน้ากากจะถูกใช้ประกอบพิธีกรรมความเชื่อทางศาสนา งานรื่นเริงตามประเพณีแล้ว ชาวยุโรปยังใช้หน้ากากจัดการกับความเจ็บป่วย ในช่วงทศวรรษที่ 1600 วงการแพทย์ทั้งจีน อินเดีย และยุโรป ต่างเชื่อเรื่อง ทฤษฎีอายพิศม์ (Miasmatic Theory) ที่เชื่อว่า ความเจ็บป่วยของผู้คนเกิดจากไอพิษที่ระเหยมาจากดิน พืช และสิ่งโสโครก เป็นความเชื่อก่อนที่แพทย์จะรู้จักกับเชื้อโรค

แพทย์ทางยุโรปจึงคิดค้น “หน้ากากอายพิศม์” ขึ้น หน้ากากทำขึ้นจากหนัง ตรงจมูกมีลักษณะเรียวยาวแหลมคล้ายปากของนก มีช่องใส่สมุนไพรหรือเครื่องเทศที่ให้กลิ่นหอม ดังนั้นในช่วงแรก หน้ากากที่แพทย์ใช้จึงทำหน้าที่ป้องกันกลิ่นเหม็นมากกว่าป้องกันเชื้อโรค

ชุดหนังคลุมตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าของแพทย์ชาวเยอรมัน เพื่อตรวจผู้ป่วยกาฬโรค

(ภาพ: https://www.fastcompany.com/90479846/the-untold-origin-story-of-the-n95-mask)

 

หน้ากากผ่าตัด (surgical masks) ถูกใช้ครั้งแรกในปี 1897 เมื่อแพทย์ผ่าตัดต้องการป้องกันการจาม หรือไอรดลงบนบาดแผลของคนไข้ขณะที่ผ่าตัด ไม่มีระบบการกรองโรคทางอากาศแต่อย่างใด     

ต่อมาในปี 1911 “หน้ากากป้องกันโรคระบาด” (anti- plague masks) ถูกแนะนำให้ใช้ในช่วงโรคระบาดแมนจูเรีย (Manchurian plague) โดยคุณหมออู่ เหลียน เต๋อ (Wu Lien teh) ที่อธิบายว่า การระบาดที่เกิดขึ้นเกิดจากโรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อกาฬโรค เชื้อโรคสามารถแพร่กระจายได้ในอากาศ และติดต่อจากคนสู่คน การระบาดทำให้มีคนเสียชีวิตมากกว่า 60,000 คน คนที่รับเชื้อจะเสียชีวิตทันทีภายใน 48 ชั่วโมงนับตั้งแต่มีอาการ

แมนจูเรีย- พื้นที่ทางตอนเหนือของจีน ในอดีตเป็นพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างจีน รัสเซีย และญี่ปุ่น

(ภาพ: https://disasterhistory.org/the-manchurian-plague-1910-11#_ftnref6 )

หลังจากอุตสาหกรรมย้อมสีหนังสัตว์ของเยอรมันประสบความสำเร็จ สามารถย้อมขนอ้น (marmot) ราคาถูกให้ดูคล้ายกับขนมิงค์ราคาแพง ทำให้ขนอ้นมีราคาสูงและทำกำไรได้มาก เป็นที่ต้องการของตลาด จึงดึงดูดให้คนต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่เพื่อล่าอ้น แต่เนื่องจากขาดทักษะความชำนาญในการคัดแยกอ้นที่มีเชื้อกาฬโรคออกจากอ้นปกติ จึงทำให้พรานต่างถิ่นติดเชื้อในที่สุด นั่นคือสาเหตุของการเกิดโรคระบาดครั้งนี้

สภาพอากาศที่หนาวเย็นทำให้เชื้อโรคคงอยู่ในอากาศได้ยาวนาน ประกอบกับเครือข่ายรถไฟที่มีอยู่ทั่วพื้นที่เขตแมนจูเรีย ก็ทำให้การแพร่ระบาดของโรคกระจายออกไปในวงกว้าง และรวดเร็ว สิ่งที่หมออู่ เหลียน เต๋อ แพทย์ชาวมาเลย์เชื้อสายจีน ทำหลังค้นพบการระบาด คือ ยับยั้งการระบาด มีการคัดแยกผู้ป่วย ผู้ต้องสงสัย ออกเป็นกลุ่มๆ มีการกันพื้นที่และเฝ้าดูอาการ สั่งปิดเส้นทางรถไฟที่เข้า- ออก ส่วนคนที่เสียชีวิตจะถูกเผาแทนการฝังตามประเพณี

ที่สำคัญคือ การป้องกันโรคด้วยการใช้หน้ากากป้องกันโรคระบาด

หน้ากากป้องกันโรคระบาด (anti- plague masks) ถูกใช้ขณะเกิดโรคระบาดแมนจูเรีย

(ภาพ: https://www.fastcompany.com/90479846/the-untold-origin-story-of-the-n95-mask)

 

หมออู่ได้พัฒนาหน้ากากป้องกันโรคระบาดจากหน้ากากผ่าตัดของทางตะวันตก โดยใช้ผ้ากอซและผ้าฝ้ายหลายชั้นมาเย็บติดกัน สามารถครอบปิดทั้งจมูก ปาก และคาง เนื่องจากวัสดุในการทำหน้ากากหาง่ายและขั้นตอนในการผลิตไม่ซับซ้อน ทำให้หน้ากากถูกผลิตขึ้นเป็นจำนวนมาก และถูกใช้กับทีมแพทย์ ทหาร และคนทั่วไป เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อ และยุติการระบาดของโรคได้ในเดือนเมษายน 1911

หลังโรคระบาดแมนจูเรียยุติลง หน้ากากป้องกันโรคระบาดของหมออู่ก็เป็นที่รู้จักในหมู่นักวิทยาศาสตร์ และบริษัทผู้ผลิต มีการพัฒนาทั้งวัสดุและรูปแบบ บทบาทของหน้ากากปรากฏชัดอีกครั้งในปี 1918 เมื่อเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปน มีการรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปใส่หน้ากากเพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างแพร่หลาย

เชื่อกันว่า หน้ากาก N95 ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากหน้ากากป้องกันโรคระบาดของหมออู่

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 หน้ากากแบบ N95 ถูกผลิตขึ้น เพื่อป้องกันแก๊สพิษในอากาศ ต่อมาในปี 1950 บริษัท 3M ได้พัฒนาหน้ากาก N95 ให้กับคนงานเหมืองแร่ เป็นหน้ากากที่ช่วยกรองอากาศขณะที่ทำงานภายในเหมือง และป้องกันการเกิดโรคปอดดำ

หน้ากาก N95 ในยุคนั้นมีขนาดใหญ่เทอะทะไม่เข้ากับหน้าของคนงาน ทำให้ทำงานไม่สะดวก ตัวกรองของหน้ากากทำมาจากไฟเบอร์กลาส ยิ่งทำให้หายใจลำบากมากขึ้น เมื่อต้องลงไปทำงานในเหมืองที่มีอุณหภูมิสูง

จนกระทั่งปี 1970 บริษัท 3M ได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ มีการนำเส้นใยโพลิเมอร์มาถักเป็นตาข่ายที่สามารถดักจับฝุ่นขนาดเล็กและไวรัสได้ การค้นพบดังกล่าวทำให้บริษัทเปลี่ยนตัวกรองหน้ากาก N95 จากไฟเบอร์กลาสมาเป็นเส้นใยโพลิเมอร์ทันที อีกทั้งการปรับลดขนาดของหน้ากากก็ทำได้สำเร็จ ทำให้บริษัทสามารถผลิตหน้ากาก N95 ที่ใช้แล้วทิ้งได้เป็นครั้งแรก

ในช่วงปี 1990 การดื้อยาของเชื้อวัณโรคมีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับมีการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV หน้ากาก N95 ถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันแพทย์จากเชื้อโรคขณะที่ทำการรักษาคนไข้

หน้ากาก N95 ได้รับการปรับปรุงคุณภาพให้เหมาะสมกับการใช้งานเรื่อยมา เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ฝุ่น    PM 2.5 หน้ากาก N95 ถูกพูดถึงอีกครั้ง ในฐานะของอุปกรณ์ช่วยชีวิต เพราะหน้ากากสามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กได้เกือบ 100% ดังนั้นหน้ากากจึงถูกซื้อ และใส่อย่างแพร่หลายในหลายประเทศที่เผชิญกับปัญหา PM 2.5

เช่นเดียวกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิท- 19 หน้ากาก N95 ถูกเรียกร้องให้เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความสำคัญสำหรับการรักษาพยาบาล ในครั้งนี้หน้ากาก N95 กลับมามีบทบาทเดิมอีกครั้งเช่นเดียวกับหน้ากากต้นแบบของมัน (หน้ากากป้องกันโรคระบาดของหมออู่) คือ ป้องกันเชื้อโรค และกรองอากาศให้กับผู้สวมใส่

หากเราเชื่อว่า วัตถุหนึ่งชิ้นเล่าเรื่องได้มากมายหลากหลายมุม ทั้งวิธีคิดของคนผลิต หน้าที่ของมัน วัตถุดิบที่ใช้สร้าง ความเชื่อที่แฝงอยู่ ฯลฯ การเดินทางของ “หน้ากาก” ในฐานะวัตถุชิ้นหนึ่ง ก็พาเราไปเข้าใจสภาพสังคม ความคิด ความเชื่อของคนในแต่ละยุคสมัยผ่านการใช้งาน ดังนั้นหน้ากากจึงไม่ใช่เพียง “วัตถุ” ที่มีหน้าที่กันเชื้อโรคอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน

 

อ้างอิง

https://www.fastcompany.com/90479846/the-untold-origin-story-of-the-n95-mask

https://disasterhistory.org/the-manchurian-plague-1910-11#_ftnref6

https://en.wikipedia.org/wiki/Wu_Lien-teh

https://www.scmp.com/week-asia/health-environment/article/3048461/how-malaysian-plague-fighter-wu-lien-teh-laid-down

https://en.wikipedia.org/wiki/Mask

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share