banner image

Subject Guide

หน้าแรก / Subject Guide / ชาติพันธุ์ / ลาหู่ ลาฮู

ชาติพันธุ์ / ลาหู่ ลาฮู

Export All

image author

รวบรวมโดย : อนันต์ สมมูล

โทรศัพท์ : 028809429ext3701

เผยแพร่ 07 ก.ย. 2563

ขอบเขตของเนื้อหา

คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศด้านชาติพันธุ์ : ลาหู่ ลาฮู
            กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ลาฮู คนในเรียกตัวเองว่า ลาหู่, ลาฮู, ลาหู่นะ, ลาหู่นาเมี้ยว, ลาหู่ซิมี แต่บุคคลภายนอกเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้แตกต่างกันอาทิ มูเซอ,โลไฮ, ลาหู่, ลาหู่แดง, ลาหู่ดำ, ลาหู่เซเล 
            ชาวลาหู่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างประเทศธิเบตและจีน กระทั่งศตวรรษที่ 17 และ 18 ชาวจีนได้เข้ามารุกราน จึงอพยพลงมาทางใต้ตั้งอาณาจักรอิสระบริเวณเขตแดนประเทศจีนและพม่าในดินแดนที่เรียกว่า “ดินแดนแห่ง 18 หัวหน้าชนเผ่า” โดยมีเมืองหลวงชื่อ “ลิเชียงกาซี” อยู่ในมณฑลยูนนานของประเทศจีน จวบจน พ.ศ. 2423-2433 ชาวจีนได้รุกรานอีกครั้ง ครั้งนี้อพยพลงมาทางใต้ บางกลุ่มเข้ามาอาศัยในประเทศลาว รัฐฉาน และไทย
            ปัจจุบันมีการกระจายอยู่ใน 7 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย (อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่สรวย)  เชียงใหม่ (อำเภอฝาง อำเภออมก๋อย) แม่ฮ่องสอน (อำเภอบางมะผ้า) ตาก (แม่สอด)  ลำปาง (อำเภอเมืองปาน) พะเยา  กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ แบ่งออกเป็น 4 คือ
           1. ลาหู่แดง มีจำนวนมากสุดเรียกตัวเองว่า ลาหู่นะ
           2. ลาหู่ดำ มีจำนวนเป็นที่สองรองจากลาหู่แดง เรียกตัวเองว่า ลายูนะหรือลาหู่ คนไทยภาคเหนือและไทยใหญ่เรียก ลาหู่ดำ
           3. ลาหู่เซเล มีจำนวนเป็นอันดับสามรองจากลาหู่ดำ เรียกตัวเองว่า ลาหู่นาเมี้ยว
          4. ลาหู่ซิ มีจำนวนน้อยที่สุด คนไทยเรียก ลาหู่กุยหรือลาหู่เหลือง มี 2 เชื้อสายคือ เชื้อสายบาเกียวและบาลาน    
            ใน subject guide ชุดนี้จะรวบรวมบรรณานุกรมหนังสือ งานวิจัย วิทยานิพนธุ์ และบทความเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ลาฮู มูเซอ ที่ไม่ซ้ำกับฐานข้อมูลงานวิจัยด้านชาติพันธุ์  ทั้งหมดที่รวมรวมได้ เพื่อเป็นแนวทางให้นักวิจัยได้ทราบองค์ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่ามีทรัพยากรสารสนเทศอะไรบ้าง 
            อนึ่งเพื่อให้ได้ข้อมูลความรู้ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ติดตามอ่านทั้ง Subject Guide ล่าหู่ และ ฐานข้อมูลงานวิจัยชาติพันธุ์
 

คำสำคัญ

แหล่งข้อมูล

ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย
ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์

เรียงลำดับข้อมูลจากใหม่ไปเก่า | เรียงลำดับข้อมูลจากเก่าไปใหม่


image

Author

มูลนิธิกระจกเงา

Imprint

[เชียงราย : มูลนิธิกระจกเงา, ม.ป.ป.]

Collection

Sac Library - Audio Visual Materials (8th floor) - VCD 000873

Annotation

            หมู่บ้านจะแลเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลาหู่ที่ตั้งอยู่ในชุมชนห้วยแม่ทราย ชาวบ้านมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ มีประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีความเชื่อเรื่องการนับถือบรรพบุรุษและจิตวิญญาณแบบดั้งเดิม เดิมทีหมู่บ้านจะแลตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ภายหลังได้มีการโยกย้ายลงมาอยู่ในพื้นที่ปัจจุบันเนื่องจากการจัดสรรที่ดินใหม่ของกรมป่าไม้ ภายในหมู่บ้านจะมีสถานที่เรียกว่า “หอเย่” ตั้งอยู่ใกล้บ้านของผู้นำหมู่บ้าน เป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ นอกจากพิธีกรรมเกี่ยวกับจิตวิญญาณแล้ว ชาวลาหู่ยังมีพิธีที่แสดงความเคารพต่อผู้เฒ่าผู้แก่ภายในหมู่บ้านนั่นคือพิธีรดน้ำดำหัว ความสามารถที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของชาวลาหู่คือการเป็นนายพราน เนื่องจากชาวลาหู่มีวิถีชีวิตที่ผูกพันและหากินล่าสัตว์อยู่กับป่า ภายในหมู่บ้านยังมีพิพิธภัณฑ์ชาวเขาที่ศูนย์กระจกเงาร่วมกับชาวบ้านจะแลสร้างขึ้น มีการจัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เสื้อผ้า เครื่องประดับ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านในอดีต ถือเป็นสถานที่ที่บันทึกและบอกเล่าเรื่องราวในอดีตถึงปัจจุบันของชาวหมู่บ้านจะแล

อ่านต่อ...
image

Author

ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ 24

Imprint

[พระนคร : โรงพิมพ์ภูไท, 2475]

Collection

Sac Library -- Cremation Books (8th floor) -- DS569.ล63 2475

Annotation

            แม้ว่าไม่มีข้อมูลยืนยันว่าผู้เขียนหนังสือฉบับนี้คือใคร แต่ราชบัณฑิตยสภาได้อนุญาตให้ตีพิมพ์หนังสือฉบับนี้เนื่องจากเห็นว่าเป็นข้อมูลที่ได้รวบรวมและให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมเนียมของกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือ ได้แก่ แม้วหรือม้ง เย้าหรือเมี่ยน มูเซอร์หรือลาหู่ ในส่วนของชาวมูเซอร์มีการกล่าวถึงประวัติโดยสังเขปของกลุ่มชาติพันธุ์นี้ ได้แก่ รูปร่างลักษณะ ขนบธรรมเนียมประเพณี การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหาร การคมนาคม การประกอบอาชีพ ลัทธิความเชื่อ รวมทั้งภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร

อ่านต่อ...
image

Author

ไพโรจน์ วรพจน์พรชัย และญาณิศา โกมลสิริโชค

Imprint

Proceeding CRCI-2018 ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ : เล่ม 2 (6-8 ธ.ค. 2561), หน้า 931-939

Collection

ThaiLIS Digital Collection

Annotation

            ปัจจุบัน การเข้ามาส่งเสริมการผลิตผ้าชนเผ่าของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านกระบวนการผลิตแบบใหม่ๆ การใช้วัสดุแบบใหม่ๆ ทำให้ผ้าชนเผ่าสูญเสียอัตลักษณ์ที่สำคัญไป งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ถ่ายทอดลงสู่ชุมชนลาหู่เหลือง ดอยม่อนล้าน ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยว โดยจะนำเอาลวดลายโบราณและกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมมาส่งเสริมและออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าชนเผ่าให้เป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย แต่ยังคงอัตลักษณ์ความเป็นชนเผ่าเอาไว้ เพื่อการอนุรักษ์กระบวนการผลิตและลวดลายดั้งเดิมของผ้าชนเผ่าลาหู่เหลือง ดอยม่อนล้าน

อ่านต่อ...
image

Author

สมบัติ บุญคำเยือง

Imprint

วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, 2560

Collection

ThaiLIS Digital Collection

Annotation

            งานวิจัยนี้ ผู้วิจัยมุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับชาวนาจีนชนชาติลาหู่ เพื่อวิเคราะห์สถานภาพของกลุ่มในยุคหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ประเด็นแรกได้แก่ การกลายเป็นจีนและชนชาติลาหู่ แต่เดิมชนชาติลาหู่ถูกเรียกว่าชนชาติหลัวเฮย ต่อมาหลัวเฮยถูกยึดครองโดยกองทัพฮั่น เกิดการต่อสู้และพ่ายแพ้จนต้องอพยพไปจัดตั้งรัฐอิสระปกครองตนเอง ในขณะเดียวกัน สังคมวัฒนธรรม จารีตประเพณี ความเชื่อพุทธศาสนาของชนชาติฮั่น ก็ค่อยๆผสมผสานกับชนชาติหลัวเฮย จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนที่เรียกว่าชนชาติลาหู่ ประเด็นที่สองเรื่อง ระบบไร่นารวมหมู่และชาวนาชนชาติจีนลาหู่ หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี ค.ศ. 1949 การตั้งถิ่นฐานแบบกึ่งเร่ร่อนของชนชาติลาหู่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นแบบชุมชน มีการบุกเบิกที่ราบกลางหุบเขาเป็นพื้นที่นา จนเรียกได้ว่าชาวนาจีนลาหู่ ประเด็นที่สามคือเรื่องชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีนชนชาติลาหู่ ที่งานวิจัยนี้ใช้เรียกชนชาติลาหู่ที่ถูกผนวกกลืนเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตามนโยบายสร้างสังคมนิยมใหม่ในชนบท

อ่านต่อ...
image

Author

อริยา เศวตามร์

Imprint

เชียงใหม่ : วนิดาการพิมพ์, 2559

Collection

Sac Library - Books (7th floor) - HM62.ท9 ช64 2559

Annotation

            งานเขียนนี้ศึกษาทำความเข้าใจขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์ชายแดนลาหู่หงี ในการช่วงชิงพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และปฏิบัติการทางศาสนาในชีวิตประจำวันของกลุ่มผู้นำทางศาสนาดั้งเดิม ซึ่งเป็นการโต้ตอบเชิงสัญลักษณ์ต่อการครอบงำจากภายนอกและภายในกลุ่มเดียวกันเอง โดยการอ้างถึงอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับจากพระเจ้า หรือ หน่าปิจ่อเว ที่ทำให้บุคคลกลายเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์จากการที่พระเจ้ามาลง หรือ กื่อซาหย่าละเว การรวมตัวของผู้นำศาสนาและการปฏิบัติตามความเชื่ออย่างเคร่งครัดในครั้งนี้ มีการประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและการเมือง เป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ต่อรัฐไทย

อ่านต่อ...

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ