banner image

Subject Guide

หน้าแรก / Subject Guide / ชาติพันธุ์ / ลาหู่ ลาฮู

ชาติพันธุ์ / ลาหู่ ลาฮู

Export All

image author

รวบรวมโดย : อนันต์ สมมูล

โทรศัพท์ : 028809429ext3701

เผยแพร่ 07 ก.ย. 2563

ขอบเขตของเนื้อหา

คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศด้านชาติพันธุ์ : ลาหู่ ลาฮู
            กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ลาฮู คนในเรียกตัวเองว่า ลาหู่, ลาฮู, ลาหู่นะ, ลาหู่นาเมี้ยว, ลาหู่ซิมี แต่บุคคลภายนอกเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้แตกต่างกันอาทิ มูเซอ,โลไฮ, ลาหู่, ลาหู่แดง, ลาหู่ดำ, ลาหู่เซเล 
            ชาวลาหู่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างประเทศธิเบตและจีน กระทั่งศตวรรษที่ 17 และ 18 ชาวจีนได้เข้ามารุกราน จึงอพยพลงมาทางใต้ตั้งอาณาจักรอิสระบริเวณเขตแดนประเทศจีนและพม่าในดินแดนที่เรียกว่า “ดินแดนแห่ง 18 หัวหน้าชนเผ่า” โดยมีเมืองหลวงชื่อ “ลิเชียงกาซี” อยู่ในมณฑลยูนนานของประเทศจีน จวบจน พ.ศ. 2423-2433 ชาวจีนได้รุกรานอีกครั้ง ครั้งนี้อพยพลงมาทางใต้ บางกลุ่มเข้ามาอาศัยในประเทศลาว รัฐฉาน และไทย
            ปัจจุบันมีการกระจายอยู่ใน 7 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย (อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่สรวย)  เชียงใหม่ (อำเภอฝาง อำเภออมก๋อย) แม่ฮ่องสอน (อำเภอบางมะผ้า) ตาก (แม่สอด)  ลำปาง (อำเภอเมืองปาน) พะเยา  กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ แบ่งออกเป็น 4 คือ
           1. ลาหู่แดง มีจำนวนมากสุดเรียกตัวเองว่า ลาหู่นะ
           2. ลาหู่ดำ มีจำนวนเป็นที่สองรองจากลาหู่แดง เรียกตัวเองว่า ลายูนะหรือลาหู่ คนไทยภาคเหนือและไทยใหญ่เรียก ลาหู่ดำ
           3. ลาหู่เซเล มีจำนวนเป็นอันดับสามรองจากลาหู่ดำ เรียกตัวเองว่า ลาหู่นาเมี้ยว
          4. ลาหู่ซิ มีจำนวนน้อยที่สุด คนไทยเรียก ลาหู่กุยหรือลาหู่เหลือง มี 2 เชื้อสายคือ เชื้อสายบาเกียวและบาลาน    
            ใน subject guide ชุดนี้จะรวบรวมบรรณานุกรมหนังสือ งานวิจัย วิทยานิพนธุ์ และบทความเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ลาฮู มูเซอ ที่ไม่ซ้ำกับฐานข้อมูลงานวิจัยด้านชาติพันธุ์  ทั้งหมดที่รวมรวมได้ เพื่อเป็นแนวทางให้นักวิจัยได้ทราบองค์ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่ามีทรัพยากรสารสนเทศอะไรบ้าง 
            อนึ่งเพื่อให้ได้ข้อมูลความรู้ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ติดตามอ่านทั้ง Subject Guide ล่าหู่ และ ฐานข้อมูลงานวิจัยชาติพันธุ์
 

คำสำคัญ

แหล่งข้อมูล

ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย
ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์

เรียงลำดับข้อมูลจากใหม่ไปเก่า | เรียงลำดับข้อมูลจากเก่าไปใหม่


image

Author

สมบัติ บุญคำเยือง

Imprint

วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, 2560

Collection

ThaiLIS Digital Collection

Annotation

            งานวิจัยนี้ ผู้วิจัยมุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับชาวนาจีนชนชาติลาหู่ เพื่อวิเคราะห์สถานภาพของกลุ่มในยุคหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ประเด็นแรกได้แก่ การกลายเป็นจีนและชนชาติลาหู่ แต่เดิมชนชาติลาหู่ถูกเรียกว่าชนชาติหลัวเฮย ต่อมาหลัวเฮยถูกยึดครองโดยกองทัพฮั่น เกิดการต่อสู้และพ่ายแพ้จนต้องอพยพไปจัดตั้งรัฐอิสระปกครองตนเอง ในขณะเดียวกัน สังคมวัฒนธรรม จารีตประเพณี ความเชื่อพุทธศาสนาของชนชาติฮั่น ก็ค่อยๆผสมผสานกับชนชาติหลัวเฮย จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนที่เรียกว่าชนชาติลาหู่ ประเด็นที่สองเรื่อง ระบบไร่นารวมหมู่และชาวนาชนชาติจีนลาหู่ หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี ค.ศ. 1949 การตั้งถิ่นฐานแบบกึ่งเร่ร่อนของชนชาติลาหู่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นแบบชุมชน มีการบุกเบิกที่ราบกลางหุบเขาเป็นพื้นที่นา จนเรียกได้ว่าชาวนาจีนลาหู่ ประเด็นที่สามคือเรื่องชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีนชนชาติลาหู่ ที่งานวิจัยนี้ใช้เรียกชนชาติลาหู่ที่ถูกผนวกกลืนเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตามนโยบายสร้างสังคมนิยมใหม่ในชนบท

อ่านต่อ...
image

Author

จำเนียรน้นอย สิงหะรักษ์;อิสสราพร อ่อนบุญ;วิยุดา ทิพย์วิเศษ;โอกามา จ่าแกะ;วรรณิศา สุโสม;ธวชินี ลาลิน

Imprint

กำแพงเพชร : มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร, 2558

Collection

ThaiLIS Digital Collection

Annotation

            งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทชุมชนกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตเทศบาลตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ 6 กลุ่ม คือ ม้ง เมี่ยน ปกาเกอะญอ ลัวะ ลาหู่ และลีซู นอกจากนั้นยังมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างบทเรียนท้องถิ่น และหารูปแบบที่เหมาะสมในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่นความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยชุมชนมีส่วนร่วม จากการศึกษาพบว่าศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวควรเป็นศูนย์กลางการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตเทศบาลตำบลคลองลานพัฒนา เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนในชุมชน เป็นสถานที่ถ่ายทอดทักษะความรู้ตลอดจนภูมิปัญญาของชุมชน อีกทั้งยังเป็นแหล่งบริการชุมชนในการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวีติ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ ก่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม

อ่านต่อ...
image

Author

ชาคริต เอี่ยมขจร

Imprint

วิทยานิพนธ์ศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2558

Collection

ThaiLIS Digital Collection

Annotation

             ผลงานวิจัยนี้ ผู้เขียนประสงค์ที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะจากความประทับใจในวัฒนธรรมประเพณีของชาวเขาเผ่าลาหู่ บ้านแม่ปิงหรือบ้านห้วยหวาย ตำบลแม่ฮี้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผสานกับความสัมพันธ์ที่มีขึ้นระหว่างคนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษา และวิถิีชีวิตความเป็นอยู่ โดยมีช่วงเทศกาลปีใหม่ของชาวเขาเผ่าลาหู่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ถ่ายทอดเป็นงานศิลปะในรูปแบบประเภทผลงานที่หลากหลาย เช่น จิตรกรรม เสียง วิดีโอ วัสดุและเทคนิคผสมอื่นๆ ซึ่งแม้จะผลิตมาจากบุคคลคนเดียวแต่ด้วยความหลากหลายของมูลเหตุแรงบันดาลใจ ทำให้แต่ละส่วนของชิ้นงานมีลักษณะที่แตกต่างกัน

อ่านต่อ...
image

Author

จำลอง ปอคำ

Imprint

วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย, 2558

Collection

ThaiLIS Digital Collection

Annotation

            งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวโน้มการพัฒนาด้านการเกษตรของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ดำบ้านห้วยลุหลวง ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย จากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกษตรชาติพันธุ์ลาหู่ดำ ทั้งชาวลาหู่ดำที่เป็นเกษตรกรเอง ผู้นำการปกครองของหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ผลการวิจัยพบว่าในอดีตการเกษตรชาติพันธุ์ลาหู่ดำเป็นการเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพในครอบครัว โดยการทำไร่หมุนเวียนและทำนาบ้างเล็กน้อย มีการเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อบริโภคและขายเป็นรายได้เสริม อาศัยองค์ความรู้และภูมิปัญญาด้านเกษตรกรของชาติพันธุ์ลาหู่ดำเป็นหลัก ต่อมามีการผลิตเพื่อการค้ามากขึ้น เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ พื้นที่ทำการเกษตรที่จำกัด สภาพความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่การเกษตรที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังมีโรคพืชและสัตว์ทางการเกษตร และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือนโยบายของรัฐบาลในการจัดการพื้นที่ป่า นโยบายส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเพื่อการค้า และการเข้าไม่ถึงสิทธิชุมชนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในถิ่นที่อยู่ตนเอง

อ่านต่อ...
image

Author

ทรงพล ชีวินมหาชัย

Imprint

เชียงราย : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง. ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา, 2558

Collection

ThaiLIS Digital Collection

Annotation

            ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลป่าตึง ประกอบด้วยบุคคลหลายกลุ่มหลายสถานะที่เข้ามาอาศัยอยู่และทำกินเป็นจำนวนมาก มีทั้งคนไทยที่มีฐานะยากจนไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ใช้ภาษาประจำกลุ่มของตนเองเป็นหลัก ทำให้มีปัญหาด้านการสื่อสาร รวมถึงปัญหาการพิสูจน์สถานะบุคคลและสัญชาติไทย เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่ได้รับความเป็นธรรมในด้านสิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน จึงไม่มีหนังสือรับรองสิทธิครอบครอง ทั้งๆที่มีการครอบครองและเข้าทำประโยชน์ต่อเนื่องมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีปัญหาการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับซ้อนลงไปในพื้นที่ป่าชุมชนที่เป็นที่ดินทำกินของบุคคลบนพื้นที่สูงอีกด้วย ถึงแม้ภายหลังจะมีการออกโฉนดชุมชนเพื่อจัดสรรที่ทำกินให้ชาวบ้าน แต่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า และเขตป่าอนุรักษ์ ก็ไม่สามารถออกโฉนดชุมชนได้ จึงทำให้เกิดความไม่ชัดเจนเรื่องสิทธิในที่ดินของบุคคลบนพื้นที่สูงมาโดยตลอด

อ่านต่อ...

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ