banner image

Subject Guide

หน้าแรก / Subject Guide / ชาติพันธุ์ / ลาหู่ ลาฮู

ชาติพันธุ์ / ลาหู่ ลาฮู

Export All

image author

รวบรวมโดย : อนันต์ สมมูล

โทรศัพท์ : 028809429ext3701

เผยแพร่ 07 ก.ย. 2563

ขอบเขตของเนื้อหา

คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศด้านชาติพันธุ์ : ลาหู่ ลาฮู
            กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ลาฮู คนในเรียกตัวเองว่า ลาหู่, ลาฮู, ลาหู่นะ, ลาหู่นาเมี้ยว, ลาหู่ซิมี แต่บุคคลภายนอกเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้แตกต่างกันอาทิ มูเซอ,โลไฮ, ลาหู่, ลาหู่แดง, ลาหู่ดำ, ลาหู่เซเล 
            ชาวลาหู่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างประเทศธิเบตและจีน กระทั่งศตวรรษที่ 17 และ 18 ชาวจีนได้เข้ามารุกราน จึงอพยพลงมาทางใต้ตั้งอาณาจักรอิสระบริเวณเขตแดนประเทศจีนและพม่าในดินแดนที่เรียกว่า “ดินแดนแห่ง 18 หัวหน้าชนเผ่า” โดยมีเมืองหลวงชื่อ “ลิเชียงกาซี” อยู่ในมณฑลยูนนานของประเทศจีน จวบจน พ.ศ. 2423-2433 ชาวจีนได้รุกรานอีกครั้ง ครั้งนี้อพยพลงมาทางใต้ บางกลุ่มเข้ามาอาศัยในประเทศลาว รัฐฉาน และไทย
            ปัจจุบันมีการกระจายอยู่ใน 7 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย (อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่สรวย)  เชียงใหม่ (อำเภอฝาง อำเภออมก๋อย) แม่ฮ่องสอน (อำเภอบางมะผ้า) ตาก (แม่สอด)  ลำปาง (อำเภอเมืองปาน) พะเยา  กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ แบ่งออกเป็น 4 คือ
           1. ลาหู่แดง มีจำนวนมากสุดเรียกตัวเองว่า ลาหู่นะ
           2. ลาหู่ดำ มีจำนวนเป็นที่สองรองจากลาหู่แดง เรียกตัวเองว่า ลายูนะหรือลาหู่ คนไทยภาคเหนือและไทยใหญ่เรียก ลาหู่ดำ
           3. ลาหู่เซเล มีจำนวนเป็นอันดับสามรองจากลาหู่ดำ เรียกตัวเองว่า ลาหู่นาเมี้ยว
          4. ลาหู่ซิ มีจำนวนน้อยที่สุด คนไทยเรียก ลาหู่กุยหรือลาหู่เหลือง มี 2 เชื้อสายคือ เชื้อสายบาเกียวและบาลาน    
            ใน subject guide ชุดนี้จะรวบรวมบรรณานุกรมหนังสือ งานวิจัย วิทยานิพนธุ์ และบทความเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ลาฮู มูเซอ ที่ไม่ซ้ำกับฐานข้อมูลงานวิจัยด้านชาติพันธุ์  ทั้งหมดที่รวมรวมได้ เพื่อเป็นแนวทางให้นักวิจัยได้ทราบองค์ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่ามีทรัพยากรสารสนเทศอะไรบ้าง 
            อนึ่งเพื่อให้ได้ข้อมูลความรู้ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ติดตามอ่านทั้ง Subject Guide ล่าหู่ และ ฐานข้อมูลงานวิจัยชาติพันธุ์
 

คำสำคัญ

แหล่งข้อมูล

ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย
ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์

เรียงลำดับข้อมูลจากใหม่ไปเก่า | เรียงลำดับข้อมูลจากเก่าไปใหม่


image

Author

ไพโรจน์ วรพจน์พรชัย และญาณิศา โกมลสิริโชค

Imprint

Proceeding CRCI-2018 ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ : เล่ม 2 (6-8 ธ.ค. 2561), หน้า 931-939

Collection

ThaiLIS Digital Collection

Annotation

            ปัจจุบัน การเข้ามาส่งเสริมการผลิตผ้าชนเผ่าของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านกระบวนการผลิตแบบใหม่ๆ การใช้วัสดุแบบใหม่ๆ ทำให้ผ้าชนเผ่าสูญเสียอัตลักษณ์ที่สำคัญไป งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ถ่ายทอดลงสู่ชุมชนลาหู่เหลือง ดอยม่อนล้าน ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยว โดยจะนำเอาลวดลายโบราณและกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมมาส่งเสริมและออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าชนเผ่าให้เป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย แต่ยังคงอัตลักษณ์ความเป็นชนเผ่าเอาไว้ เพื่อการอนุรักษ์กระบวนการผลิตและลวดลายดั้งเดิมของผ้าชนเผ่าลาหู่เหลือง ดอยม่อนล้าน

อ่านต่อ...
image

Author

ธีรพงษ์ บุญรักษา และชูศักดิ์ สุวิมลเสถียร

Imprint

วารสารศิลปกรรมบูรพา. ปีที่ 19, ฉบับที่ 1 (มิ.ย.-พ.ย. 2559), หน้า 93-113

Collection

ThaiLIS Digital Collection

Annotation

            บทความวิจัยนี้นําเสนอผลการศึกษาภูมิปัญญาการสร้างความมั่นคงให้กับผู้สูงอายุ กรณีศึกษาหมู่บ้านลาหู่ 4 หมู่บ้านในอําเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทําความเข้าใจถึงระบบวิธีคิด ความเชื่อ และค่านิยม ที่มีผลต่อวิถีการปฏิบัติกับผู้สูงอายุ จนพัฒนาเป็นภูมิปัญญาในการสร้างความมั่นคงให้ผู้สูงอายุชาวลาหู่ ผลการศึกษาพบว่าความมั่นคงของผู้สูงอายุชาวลาหู่ขึ้นอยู่กับการธํารงอยู่ของวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวลาหู่ที่มีการสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เริ่มจากการถ่ายทอดความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับความกตัญญูกตเวที ผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ได้แก่ วาทกรรมคํา สั่งสอน ผู้นํา ทางความเชื่อ ศาสนสถาน ระบบการปกครอง ผีบรรพบุรุษ พิธีกรรม ครอบครัวและชุมชน จนกลายเป็นค่านิยมกตัญญูกตเวที บรรทัดฐานสังคม และระบบเกื้อกูล ซึ่งนําไปสู่ความมั่นคงของผู้สูงอายุในชุมชนชาวลาหู่ บทความนี้ยังได้นําเสนอความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อวัฒนธรรมชุมชนชาวลาหู่ รวมทั้งแนวทางการจัดการวัฒนธรรมชุมชน เพื่อให้เกิดความมั่นคงในผู้สูงอายุลาหู่อย่างยั่งยืนในยุคปัจจุบัน

อ่านต่อ...
image

Author

คมกริช เศรษบุบผา และดวงใจ ศุขเฉลิม

Imprint

วารสารวนศาสตร์ : ปีที่ 28 ฉบับที่ 1 (2552), หน้า 29-39

Collection

ThaiLIS Digital Collection

Annotation

            งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวมูเซอดำหรือลาหู่ บ้านห้วยปลาหลด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในการนำพรรณพืชพื้นบ้านมาใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ ผลการศึกษาพบว่าชาวบ้านมีภูมิปัญญาในการเลือกใช้ประโยชน์จากพรรณพืชอย่างหลากหลาย สามารถจำแนกลักษณะการใช้ประโยชน์ออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ พืชอาหาร พืชสมุนไพร พืชที่ใช้ในการก่อสร้าง ไม้ฟืนและถ่าน พืชใช้สอย และพืชปลูกเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ในด้านการศึกษาลักษณะนิเวศเชิงปริมาณพบว่า พืชในป่าเบญจพรรณที่ชาวบ้านมักจะนำมาใช้ประโยชน์ได้แก่ กระเจียว มะขามป้อม และเข็มป่า ส่วนป่าดิบแล้งส่วนใหญ่เป็นชะเนียง รองลงมาคือต้างหลวงและหนามไข่ปู นอกจากพรรณพืชธรรมชาติในป่าชุมชนแล้ว ชาวบ้านยังสามารถใช้ประโยชน์จากพรรณพืชที่ปลูกไว้บริเวณบ้านเรือนตัวเองได้อีก เช่น ไม้ผล พืชผัก ไม้ไผ่ พืชสวนครัว หากมีการส่งเสริมให้ปลูกไม้ป่าธรรมชาติที่เหมาะสมและมีประโยชน์เอนกประสงค์ไว้ในบริเวณบ้าน ก็จะเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองได้อีกทางหนึ่ง
 

อ่านต่อ...
image

Author

วรรณธิภา จันทร์กลม โกมล แพรกทอง สันต์ เกตุปราณีต และ เตือนใจ นุชดำรงค์

Imprint

เรื่องเต็มการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 44 : สาขาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม : (2549), หน้า 506-513

Collection

ThaiLIS Digital Collection

Annotation

            การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้ประโยชน์ ความหลากหลายและความมั่นคงทางพืชอาหารป่าและพืชสมุนไพร ของชนเผ่ามูเซอหรือลาหู่ ชุมชนบ้านใหม่พัฒนา อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และศึกษาศักยภาพของพื้นที่ป่าที่ตอบสนองต่อการใช้ประโยชน์ด้านพืชอาหารป่าและพืชสมุนไพร ของชนเผ่ามูเซอ จากการศึกษาพบว่าพืชอาหารป่าที่ชาวมูเซอบริโภคมีความหลากหลายรวม 84 ชนิด โดยแบ่งช่วงเวลาการเก็บหาเป็น 2 ลักษณะ คือ เก็บได้ตลอดปีและเก็บได้เฉพาะฤดูกาล มีพืชอาหารป่าที่มีสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการอย่างน้อย 37 ชนิด นอกจากนี้พืชอาหารป่ายังมีคุณค่าทางเศรษฐกิจและสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อพืชอาหารเพื่อบริโภค โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 1 ใน 7 ของเงินรายได้ในแต่ละปี จึงกล่าวได้ว่า พืชอาหารป่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวมูเซออย่างมาก
 

อ่านต่อ...
image

Author

สนิท วงศ์ประเสริฐ

Imprint

รายงานการประชุมทางวิชาการ ครั้งที่ 24 สาขาพืช : เล่มที่ 1 (27-29 ม.ค. 2529), หน้า 88-95

Collection

ThaiLIS Digital Collection

Annotation

            การวิเคราะห์ข้าวไร่มูเซอภาคที่สองนี้ แสดงผลงานวิจัยการผลิตข้าวไร่ตามประเพณีของชาวเขาเผ่ามูเซอ (ดำเซเล) หรือล่าหู่ ประจำปี 2527 ในหมู่บ้านห้วยโป่ง หมู่บ้านห้วยน้ำริน และหมู่บ้านดอยมด อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย รวม 3 หมู่บ้าน วัฎจักรการผลิตข้าวไร่ของชาวเขาเผ่ามูเซอเริ่มตั้งแต่การประกอบพิธีกรรมขออนุญาตสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อถางไร่ หยอดเมล็ดพันธุ์ข้าว ทำขวัญข้าว พิธีกินข้าวใหม่ และพิธีเรียกขวัญเมล็ดข้าวเมื่อนวดเสร็จแล้ว ข้าวที่ปลูกได้จะนำมาใช้เป็นอาหารประจำวันของสมาชิกในครัวเรือน สัตว์เลี้ยง และเป็นส่วนประกอบของพิธีกรรมตามวัฎจักรการเพาะปลูก รวมทั้งพิธีกรรมเซ่นไหว้ต่างๆ ความเสียหายของข้าวไร่เกิดจากโรค แมลง สัตว์ป่า และสัตว์เลี้ยง รวมทั้งปริมาณน้ำฝนที่จะตกหนักติดต่อกันในช่วงที่ข้าวสุก ทำให้แต่ละครัวเรือนสามารถผลิตข้าวไร่ได้เพียงเกือบสองในสามส่วนของปริมาณข้าวที่ต้องใช้ตลอดทั้งปี อีกหนึ่งส่วนต้องซื้อมาจากภายนอกหมู่บ้าน
 

อ่านต่อ...

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ