banner image

Subject Guide

หน้าแรก / Subject Guide / ชาติพันธุ์ / ลาหู่ ลาฮู

ชาติพันธุ์ / ลาหู่ ลาฮู

Export All

image author

รวบรวมโดย : อนันต์ สมมูล

โทรศัพท์ : 028809429ext3701

เผยแพร่ 07 ก.ย. 2563

ขอบเขตของเนื้อหา

คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศด้านชาติพันธุ์ : ลาหู่ ลาฮู
            กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ลาฮู คนในเรียกตัวเองว่า ลาหู่, ลาฮู, ลาหู่นะ, ลาหู่นาเมี้ยว, ลาหู่ซิมี แต่บุคคลภายนอกเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้แตกต่างกันอาทิ มูเซอ,โลไฮ, ลาหู่, ลาหู่แดง, ลาหู่ดำ, ลาหู่เซเล 
            ชาวลาหู่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างประเทศธิเบตและจีน กระทั่งศตวรรษที่ 17 และ 18 ชาวจีนได้เข้ามารุกราน จึงอพยพลงมาทางใต้ตั้งอาณาจักรอิสระบริเวณเขตแดนประเทศจีนและพม่าในดินแดนที่เรียกว่า “ดินแดนแห่ง 18 หัวหน้าชนเผ่า” โดยมีเมืองหลวงชื่อ “ลิเชียงกาซี” อยู่ในมณฑลยูนนานของประเทศจีน จวบจน พ.ศ. 2423-2433 ชาวจีนได้รุกรานอีกครั้ง ครั้งนี้อพยพลงมาทางใต้ บางกลุ่มเข้ามาอาศัยในประเทศลาว รัฐฉาน และไทย
            ปัจจุบันมีการกระจายอยู่ใน 7 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย (อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่สรวย)  เชียงใหม่ (อำเภอฝาง อำเภออมก๋อย) แม่ฮ่องสอน (อำเภอบางมะผ้า) ตาก (แม่สอด)  ลำปาง (อำเภอเมืองปาน) พะเยา  กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ แบ่งออกเป็น 4 คือ
           1. ลาหู่แดง มีจำนวนมากสุดเรียกตัวเองว่า ลาหู่นะ
           2. ลาหู่ดำ มีจำนวนเป็นที่สองรองจากลาหู่แดง เรียกตัวเองว่า ลายูนะหรือลาหู่ คนไทยภาคเหนือและไทยใหญ่เรียก ลาหู่ดำ
           3. ลาหู่เซเล มีจำนวนเป็นอันดับสามรองจากลาหู่ดำ เรียกตัวเองว่า ลาหู่นาเมี้ยว
          4. ลาหู่ซิ มีจำนวนน้อยที่สุด คนไทยเรียก ลาหู่กุยหรือลาหู่เหลือง มี 2 เชื้อสายคือ เชื้อสายบาเกียวและบาลาน    
            ใน subject guide ชุดนี้จะรวบรวมบรรณานุกรมหนังสือ งานวิจัย วิทยานิพนธุ์ และบทความเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ลาฮู มูเซอ ที่ไม่ซ้ำกับฐานข้อมูลงานวิจัยด้านชาติพันธุ์  ทั้งหมดที่รวมรวมได้ เพื่อเป็นแนวทางให้นักวิจัยได้ทราบองค์ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่ามีทรัพยากรสารสนเทศอะไรบ้าง 
            อนึ่งเพื่อให้ได้ข้อมูลความรู้ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ติดตามอ่านทั้ง Subject Guide ล่าหู่ และ ฐานข้อมูลงานวิจัยชาติพันธุ์
 

คำสำคัญ

แหล่งข้อมูล

ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย
ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์

เรียงลำดับข้อมูลจากใหม่ไปเก่า | เรียงลำดับข้อมูลจากเก่าไปใหม่


image

Author

ทีวีไทย

Imprint

กรุงเทพฯ : ทีวีไทย, [2556]

Collection

Sac Library - Audio Visual Materials (8th floor) - CDF 000313

Annotation

            รายการพันแสงรุ้งตอน “เยี่ยมบ้านลาหู่ที่จ่าโม่” นำเสนอเรื่องราวของชาวลาหู่นะหรือมูเซอดำ บ้านจ่าโบ่ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในรูปแบบการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโดยชุมชน ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจวีถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม การอยู่กับป่าและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของชาวลาหู่ดำ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมหรือพักที่หมู่บ้านจ่าโบจะได้เรียนรู้ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน การทำงานหัตถกรรมจักสานที่เป็นเอกลักษณ์ของชายชาวลาหู่ดำ การเย็บผ้า เครื่องดนตรีและการละเล่นดนตรีพื้นบ้าน อีกหนึ่งกิจกรรมที่มีความโดดเด่นของการท่องเที่ยวบ้านจ่าโบ่ คือการเยี่ยมชมถ้ำผีแมนที่มีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์โบราณเมื่อสมัย 2,000 ปีก่อน การเข้ามาของนักท่องเที่ยวยังหมู่บ้านจ่าโบ่มีทั้งผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบ ผลกระทบเชิงบวกคือเป็นการสร้างรายได้ สร้างโอกาสให้ชาวบ้านได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวและเกิดความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันก็อาจส่งผลกระทบในด้านลบได้หากชาวบ้านต่างพากันปรับเปลี่ยนตนเองไปตามกระแสความเป็นสมัยใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับนักท่องเที่ยว

อ่านต่อ...
image

Author

อุสิธารา จันตาเวียง

Imprint

เชียงราย : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, 2555

Collection

ThaiLIS Digital Collection

Annotation

            การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศักยภาพและปัจจัยที่มีผลให้ชาวเขาเผ่าลาหู่บ้านท่าฮ่อ ตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เกิดศักยภาพในการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมชาวเขาเผ่าลาหู่ โดยพบว่าปัจจัยที่สำคัญคือ ประเพณีการกินข้าวใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวลาหู่ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และการสนับสนุนขององค์กรต่างชาติที่ช่วยเหลือในด้านงบประมาณ เช่น ที่ดิน การสร้างที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังพบว่าความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มทางสังคมของชาวลาหู่ในด้านวัฒนธรรมยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก โดยการรวมกลุ่มส่วนใหญ่จะเห็นเด่นชัดในเรื่องของศาสนา

อ่านต่อ...
image

Author

ซิน ซึง ยอม และประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

Imprint

ซิน ซึง ยอม และประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

Collection

ThaiLIS Digital Collection

Annotation

          การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์คุณภาพชีวิต และการทำพันธกิจของคริสตจักรท้องถิ่นในเขตกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่บนพื้นที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทย จากการศึกษาพบว่าคริสตจักรมีลักษณะทั่วไปเป็นไปตามคำสอนในพระคัมภีร์และคริสต์ศาสนศาสตร์ระดับหนึ่ง มีพันธกิจเด่นคือการนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์ การร่วมสามัคคีธรรมเฉพาะในกลุ่มคนที่มาคริสตจักร อย่างไรก็ตามยังมีจุดอ่อนที่เห็นได้ชัดคือ การขาดกระบวนการบ่มเพาะฟูมฟักชีวิตสาวกของพระเยซูคริสต์ ทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ไม่ได้เรียนพระวจนะในคริสตจักรหรืออธิษฐานและอ่านพระคัมภีร์ มีเพียงการฟังคำเทศนาเวลานมัสการเท่านั้น ส่งผลให้พระเจ้าไม่มีส่วนในการตัดสินใจในชีวิต การสำแดงความรักความเมตตาของพระคริสต์ต่อคนในชุมชนมีอย่างจำกัด และเป็นอุปสรรคต่อการประกาศพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

อ่านต่อ...
image

Author

ณัฐพงษ์ มณีกร

Imprint

วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาภูมิภาคสังคมอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 2554

Collection

ThaiLIS Digital Collection

Annotation

            ปัจจัยที่นำไปสู่ปัญหาในการอยู่ร่วมกันของกลุ่มชาวล่าหู่บนพื้นที่สูง และกลุ่มคนเมืองพื้นราบในชุมชนบ้านแม่ดอกแดง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย ปัจจัยด้านการผลิตซ้ำความเป็นชุมชนเดิม เนื่องจากชาวลาหู่มีความอึดอัดใจและไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมเมืองแบบใหม่ได้ จึงเกิดการแยกกลุ่มออกมาตั้งเป็นชุมชนอิสระ ปัจจัยด้านอคติทางชาติพันธุ์ที่คนเมืองมองวัฒนธรรมอื่นต่ำกว่า โดยใช้วัฒนธรรมของตนเองเป็นพื้นฐาน ส่งผลให้เกิดการกีดกันและไม่ให้ความสำคัญต่อการเข้าถึงสวัสดิการและบริการของภาครัฐตามสิทธิที่คนลาหู่พึงได้รับ ปัจจัยด้านความแตกต่างทางภาษาที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจและความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน รวมทั้งวิธีคิดเรื่องกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่างกัน โดยคนเมืองมองว่าทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นเป็นสมบัติของคนดั้งเดิมเท่านั้น ในขณะที่คนลาหู่มองว่าเป็นทรัพย์สินของทุกคนในชุมช

อ่านต่อ...
image

Author

สาริณีย์ ภาสยะวรรณ

Imprint

วิทยานิพนธ์ศิลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554

Collection

ThaiLIS Digital Collection

Annotation

            วัตถุประสงค์ในการวิจัยนี้เพื่อทำความเข้าใจรูปแบบการท่องเที่ยวโฮมสเตย์ชาวลาหู่บ้านยะดู ที่มีการนำชีวิตประจำวันและพื้นที่บ้านในลักษณะความเป็นชาติพันธุ์ลาหู่ มาเป็นสินค้าในการท่องเที่ยว และศึกษาการถูกควบคุมและกำกับการดำเนินชีวิตชาวลาหู่ที่เกิดขึ้นภายใต้การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ นอกจากนี้ยังศึกษาการเมืองของการสร้างภาพตัวแทนของชาวลาหู่บ้านยะดูอีกด้วย จากการศึกษาพบว่าภาพลักษณ์ของโฮมสเตย์ชาวลาหู่นั้น มีกระบวนการประดิษฐ์สร้างพื้นที่อันเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างชาวลาหู่กับบริษัททัวร์และมัคคุเทศก์ในเชิงธุรกิจทัวร์ และความร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ต้องการสร้างบ้านลาหู่ให้เป็นโฮมสเตย์ชาวลาหู่ตามรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอุดมคติ ส่งผลให้เกิดการกำกับควบคุมชาวลาหู่ให้เป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวตามรูปแบบโปรแกรมท่องเที่ยวที่บริษัททัวร์และองค์กรพัฒนาเอกชนกำหนด

อ่านต่อ...

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ