ก่อร่างเป็นบางกอก = Siamese melting pot Edward Van Roy ผู้เขียน; ยุกติ มุกดาวิจิตร ผู้แปล

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 2668

ก่อร่างเป็นบางกอก = Siamese melting pot Edward Van Roy ผู้เขียน; ยุกติ มุกดาวิจิตร ผู้แปล

Siamese melting pot: ethnic minorities in the making of Bangkok ของ Edward Van Roy

มีให้บริการที่ห้องสมุด ศมส.

 

           ก่อร่างเป็นบางกอก ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 โดยสำนักพิมพ์มติชน รองศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้แปลหนังสือเรื่องนี้จากหนังสือภาษาอังกฤษเรื่อง Siamese melting pot: ethnic minorities in the making of Bangkok ของ Edward Van Roy ที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2560 โดย ISEAS Yusof Ishak Institute (ประเทศสิงคโปร์) และ สำนักพิมพ์ Silkworm Books (ประเทศไทย)

 

Siamese melting pot : ethnic minorities in the making of Bangkok

ของ Edward Van Roy มีให้บริการที่ห้องสมุด ศมส.

 

           หนังสือเล่มนี้พาผู้อ่านไปทำความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเมืองหลวงแห่งสยามประเทศ ด้วยการให้ภาพรวมทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ตลอดจนการทำความเข้าใจชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ “ก่อร่าง” และ “สร้างตัว” ด้วยปัจจัยและบริบททางสังคมวัฒนธรรมนานาประการ จนทำให้ “บางกอก” นั้น เป็นเมืองหนึ่งที่มีชุมชนชาติพันธุ์กระจัดกระจายอยู่ในย่านสำคัญต่าง ๆ งานชิ้นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นงานชาติพันธุ์วรรณนาที่ให้รสทางวิชาการควบคู่ไปกับการใช้ภาษาที่เชิญชวนให้ผู้อ่านติดตามความเป็นมา-ความเป็นไปของผู้คนเหล่านั้น

           Edward Van Roy นักวิชาการมากประสบการณ์ได้กล่าวถึงการเขียนหนังสือเรื่อง “Siamese melting pot” ว่าเป็น “...ผลมาจากการฝังตัวมีส่วนร่วมกว่าครึ่งศตวรรษ อยู่ในเบ้าหลอมของเมืองซึ่งซุกซ่อนอดีตอันน่าดึงดูดใจของมนุษย์เอาไว้ ...” ( คำนำผู้เขียน : (19)) ขณะที่ ยุกติ มุกดาวิจิตร กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่า “... แวน รอย ได้ทำให้งานเขียนทางวิชาการมีรสทางวรรณศิลป์ไปพร้อม ๆ กับการให้ข้อมูลและกรอบความคิดที่ลึกซึ้งกว้างไกล มากไปกว่านั้น ด้วยการค้นคว้าอย่างละเอียดยิบต่อเนื่องเป็นเวลานาน และอาศัยข้อมูลทั้งจากเอกสารชั้นต้น เอกสารชั้นรอง และข้อมูลจากพื้นที่...” ( คำนำผู้แปล : (13))

           หนังสือมีความยาว จำนวน 526 หน้า แบ่งเนื้อหาออกเป็น 8 บทที่ครอบคลุมเรื่องราวของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบด้วย ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ 5 กลุ่มใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น โปรตุเกส มอญ ลาว แขก/มุสลิม และจีน รวมไปถึงชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อีก 5 กลุ่มย่อย ได้แก่ แขมร์ เวียดนาม ไทยวน ซิกข์ ฝรั่ง

           ผู้เขียน เริ่มต้นขึ้นด้วยประวัติการสร้างเมืองบางกอกใหม่ ภายหลังจากการย้ายเมืองหลวงจากอยุธยามายังธนบุรี และการตัดสินใจย้ายเมืองหลวงอีกครั้งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาที่พระนครแห่งใหม่ในยุคที่เรียกกันว่า “รัตนโกสินทร์” พร้อมทั้งวิเคราะห์การวางผังเมืองของพระนครแห่งนี้ที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างการปกครองและสังคม ไม่ว่าจะเป็น การกระจัดกระจายของ “วัง” ที่ต้องจัดการเมื่อพระราชโอรสของกษัตริย์เติบโตถึงวัยที่สามารถมีครอบครัวได้ ขณะที่สามัญชนอันประกอบด้วยไพร่-ทาส-เชลยศึก เป็นส่วนใหญ่ที่มักจะถูกจำกัดเสรีภาพในการก่อตั้งที่อยู่อาศัยหรือโยกย้ายถิ่น รวมถึงการจัดสรรพื้นที่ถิ่นฐานให้กับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่สัมพันธ์กับตำแหน่งทางการเมือง สถานะทางสังคม ทักษะอาชีพ ได้แก่ ชุมชนชาติพันธุ์กลุ่มผู้อพยพ (ชาวมอญ โปรตุเกส เปอร์เซีย ฯลฯ) ครอบครองพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับพระราชวังธนบุรีและบางกอก ชุมชนชาติพันธุ์กลุ่มเชลยสงคราม (ชาวลาว เขมร มาเลย์ และจาม) ถูกจัดวางที่อยู่ตามชานเมืองธนบุรีและเขตเมืองบางกอก ชุมชนชาติพันธุ์ในกลุ่มผู้พำนัก (ชาวจีน ชาวเอเชียใต้ และชาวตะวันตก) ถิ่นฐานที่ตั้งอยู่ตัวเมืองบางกอกตามลำน้ำเจ้าพระยาลงไปทางใต้ และ ชุมชนเล็ก ๆ ของผู้สืบเชื้อสายจากทาส (ชาวกะเหรี่ยง ขมุ และชนเผ่าอื่น) ที่มีถิ่นฐานไกลออกไปจากเขตเมือง

           ขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ทำให้ชุมชนและวัฒนธรรมชาติพันธุ์ค่อย ๆ ถูกกลืนกลาย และหลอมรวมเข้าสู่ความเป็นชนชาติไทย ไม่ว่าจะเป็น นโยบายชาตินิยมของรัฐสยาม การส่งเสริมศาสนาพุทธในฐานะเสาหลักของรัฐ-ชาติไทย ระบบโรงเรียนที่หลอมรวมให้เกิดความเป็นไทย

           Edward Van Roy ได้ให้รายละเอียดถึงชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในบางกอกในมิติทางสังคมวัฒนธรรมที่น่าสนใจ โดยเรื่องราวของชาวโปรตุเกสถูกกล่าวถึงในฐานะนักเดินทางที่เข้ามาสร้างความสัมพันธ์กับสยามตั้งแต่สมัยอยุธยาเพื่อหาลู่ทางทำการค้า ตามมาด้วยหมอสอนศาสนาที่เข้ามาเป็นผู้นำชุมชน ซึ่งสัญลักษณ์หนึ่งที่สำคัญของชุมชนชาวโปรตุเกสคือการตั้งโบสต์ของศาสนาคริสต์ ดังเช่นชุมชนศาสนิกโปรตุเกส 3 ชุมชนใหญ่ในเมืองบางกอกที่ได้ตั้งโบสถ์ของตนขึ้น ได้แก่ โบสถ์พระแม่ปฏิสนธินิรมล โบสถ์ซางตาครู้ส และโบสถ์โรซารีอันศักดิ์สิทธิ์

           ขณะที่ชาวมอญเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยามมาหลายต่อหลายรุ่น ผู้อพยพชาวมอญนั้น ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายช่วงชั้น หลากหลายกลุ่มสังคม ไม่ว่าจะเป็นระดับเจ้านาย ขุนนาง ครัวเรือนประชาชน พระสงฆ์ ชุมชนชาวมอญที่สำคัญที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ในสมัยธนบุรีนั้นมีหลายแห่งด้วยกัน ได้แก่ ชุมชนชาวมอญบางยี่เรือ (หมู่บ้านเรือของชาวมอญ) บ้านมอญ (หมู่บ้านมอญเก่า) และบ้านมอญใหม่ เมื่อเมืองหลวงใหม่ย้ายมาตั้งที่บางกอก ชุมชนชาวมอญจึงได้มีการขยับขยายกระจายอยู่ทั่วบางกอก ทั้งย่านบ้านพระอาทิตย์ บ้านพระยาศรี บ้านหม้อและบ้านขมิ้น บ้านข้าวเม่า บ้านสมเด็จ บ้านทวาย ฯลฯ

           ส่วนชาวลาวนั้นเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีการก่อตั้งชุมชนขึ้นมาอย่างยาวนาน แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับรัฐลาวนั้นอยู่บนความตึงเครียดมาตั้งแต่ในสมัยกรุงธนบุรี จนนำไปสู่การยึดครองเมืองหลวง ณ เมืองเวียงจันทน์ การจับและกวาดต้อนเชลยศึก การเคลื่อนย้ายของชุมชนชาวลาวนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ลำน้ำโขงมาจนถึงที่ราบสูงโคราช และเดินทางเข้าสู่เมืองหลวงในเวลาต่อมา กลุ่มเชลยศึกชาวลาวนอกจากถูกนำมาใช้แรงงานเป็นทาสแล้ว ยังถือว่าเป็นกลุ่มผู้มีคุณูปการต่อการสร้างทักษะฝีมืองานช่างสิบหมู่ให้กับราชสำนักไทย ทั้งนี้ การก่อตั้งชุมชนชาวลาวมีทั้งที่เชื่อมต่อกับวังของเจ้านายชาวลาว เช่น บ้านบางยี่ขัน บ้านลาวพวน/บ้านบางขุนพรหม และชุมชนชาวลาวที่กระจายอยู่รอบพื้นที่ธนบุรีและบางกอก เช่น บางไส้ไก่ บ้านกรวย บ้านกระบะ บ้านตีทอง เป็นต้น

           แขกอิสลาม/ชาวมุสลิม ดูเหมือนจะเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความซับซ้อนมากที่สุด ชาวมุสลิมมักถูกเรียกรวม ๆ ว่าแขกอิสลาม ซึ่งมีความหมายว่า มุสลิมผู้มาเยือนหรือคนแปลกหน้า (236) กลุ่มมุสลิมที่เดินทางเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยาสามารถระบุได้ เป็น 2 กลุ่มด้วยกัน นั่นคือ กลุ่มนักเดินทาง ประกอบด้วย นักการทูตและพ่อค้าจาก เปอร์เซีย อาหรับ และอินเดีย อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นชาวมาเลย์ จาม อินโดนีเซีย ที่เดินทางเข้ามาในฐานะเชลยสงคราม กองกำลังรับจ้าง และผู้อพยพ ภายหลังการล่มสลายของอยุธยาชุมชนมุสลิมได้รับการจัดสรรที่อยู่นอกกำแพงพระนครทั้งสิ้น ทั้งนี้ ในพื้นที่ธนบุรีและบางกอกนั้นมีการก่อตั้งชุมชนชาวมุสลิมที่สำคัญอยู่ถึง 26 ชุมชน จากกลุ่มชุมชนชาติพันธุ์มุสลิมทั้ง 6 กลุ่ม โดยประวัติศาสตร์ของแต่ละชุมชนนั้นมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องอัตลักษณ์ทางภาษาและชาติพันธุ์ ความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อสาย และประเพณีของแต่ละท้องถิ่น

           ชุมชนชาติพันธุ์ใหญ่กลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มชาวจีนนั้น กล่าวได้ว่าเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้ามาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา ประกอบด้วยชาวจีนแต้จิ๋วและฮกเกี้ยน ตามมาด้วยชาวฮากกา ไหหลำและกวางตุ้งในภายหลัง โดยมีย่านสำเพ็งเป็นศูนย์กลางของชาวจีนแต้จิ๋ว กระจายตัวไปยังคลองบางหลวงในฝั่งธนบุรี และบางส่วนตั้งชุมชนในย่านยานนาวา ชาวฮกเกี้ยนรวมตัวกันอยู่ในย่านคลองสาน ปากคลองคูเมืองและย่านตลาดน้อย ชาวฮากกากระจายกันอยู่ในย่านสำเพ็ง พลับพลาไชย และข้ามฝั่งไปที่ย่านคลองสาน ชาวไหหลำ ตั้งชุมชนบริเวณคลองผดุงกรุงเกษม ปากคลองสามเสน และปากคลองสาทร ชาวกวางตุ้งอยู่ที่สำเพ็งตอนกลาง

           นอกจากชุมชนชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ทั้ง 5 กลุ่มนี้แล้ว ยังมีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มเล็กอีกจำนวน 5 กลุ่ม ได้แก่

           ชาวแขมร์ที่ถูกกวาดต้อนมาในฐานะเชลยศึก และการลี้ภัยของพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่ในสมัยอยุธยา โดยมีที่ตั้งชุมชนสำคัญอยู่ที่บ้านกลางนา (ก่อนถูกไล่ไปตั้งชุมชนใหม่ที่บ้านบาตร) บ้านโรงไหมและบางลำพูบน บ้านเขมร

           ชาวเวียดนาม/ญวน เดินทางเข้ามาสยามทั้งในฐานะผู้ลี้ภัยและเชลยศึก โดยมีที่ตั้งชุมชนที่สำคัญ ได้แก่ บ้านญวน (ปากคลองตลาด) บ้านญวน (ต้นสำโรง) บ้านญวน (บางโพ) บ้านญวน (สามเสน) บ้านญวน (สะพานขาว)

           ชาวไทยวน หรือที่รู้จักกันในนามล้านนา มีบทบาทสำคัญต่อราชสำนักสยามในฐานะรัฐที่ส่งธิดามาเป็นบรรณาการแก่กษัตริย์ของสยาม ที่อยู่ของชาวไทยวนจึงสัมพันธ์กับการตั้งเรือนรับรองเจ้านายจากล้านนา เช่น บ้านพายัพ บริเวณถนนสามเสน

           ชาวซิกข์ ผู้อพยพจากแคว้นปัญจาบของอินเดีย มีการตั้งถิ่นฐานที่สำคัญบริเวณ บ้านหม้อและพาหุรัด สร้างตัวด้วยการเป็นพ่อค้าเร่ และผู้ค้าสิ่งทอ และได้ขยายชุมชนออกไปยังฝั่งธนบุรี ใกล้สี่แยกบ้านแขก รวมถึงการขยายตัวของอาณาจักตลาดค้าสิ่งทอที่กินพื้นที่ไปยังพาหุรัด สะพานหัน หัวเม็ด คลองถม และวัดคุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภายังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนชาวซิกข์มาจนถึงปัจจุบัน

           ฝรั่ง เป็นคำเรียกชาวตะวันตกที่พอจะนิยามได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่ ผิวขาว-ศาสนาคริสต์-อารยธรรมก้าวหน้า-จักรวรรดินิยม กลุ่มคนฝรั่งจึงเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความคลุมเครือ ยากที่จะระบุ อัตลักษณ์ที่ชัดเจนว่าเป็นชนชาติใด แต่ทั้งนี้ชาวฝรั่งนั้นมีพื้นที่อาศัยสำคัญอยู่บริเวณย่านบางรัก ย่านยานนาวา และถนนตก

           จะเห็นได้ว่า เมืองบางกอกนั้นประกอบสร้างขึ้นด้วยการขับเคลื่อนและการมีอยู่ของชุมชนชาวชาติพันธุ์ต่าง ๆ มาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี บางกอกดั้งเดิมจึงเป็นเมืองหนึ่งที่มีความเป็น พหุสังคม-พหุวัฒนธรรม ขณะที่กระบวนการหลอมรวมทางวัฒนธรรมได้ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนให้ผู้คนเหล่านั้นให้กลายเป็นคนไทย ก่อนที่จะถูกนโยบายของความเป็นสยามใหม่ครอบคลุมชุมชนชาติพันธุ์เหล่านี้ให้อยู่ภายใต้อัตลักษณ์ของชนชาติไทยขึ้น

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องมานุษยประเทศไทยพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library


ผู้เขียน

จรรยา ยุทธพลนาวี

รักษาการผู้จัดการฝ่ายบริการสารสนเทศ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ประเทศไทย ก่อร่างเป็นบางกอก Siamese melting pot จรรยา ยุทธพลนาวี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share