มานิ: สิทธิชาติพันธุ์กับการสัมปทานเหมืองหินในอุทยานธรณีโลกสตูล

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 2812

มานิ: สิทธิชาติพันธุ์กับการสัมปทานเหมืองหินในอุทยานธรณีโลกสตูล

 

           กระแสการพัฒนาที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงสู่ความทันสมัย (Modernity) และการเป็นอุตสาหกรรม (Industrialization)1 ที่มีความเข้มข้นได้ส่งผลกระทบต่อสังคม และละเลยคุณค่าความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรม ชุมชนวัฒนธรรมที่ไร้อำนาจต่อรองและเสียเปรียบทางสังคม ถูกเบียดขับและแย่งชิงทรัพยากร ความรุนแรงเชิงโครงสร้างนี้ได้ผลิตซ้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง

           กรณีของเครือข่ายประชาชนเพื่อติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ที่ได้ตั้งข้อสังเกตต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ปฏิเสธการขอพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ2 แต่กลับมีความพยายามในการเดินหน้าสัมปทานเหมืองหิน3 ในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล (Satun Global Geopark)4 เป็นรูปธรรมที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อการเลือกปฏิบัติและเป็นที่มาของการเรียกร้องความเป็นธรรมของเครือข่ายประชาชน รวมทั้งตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ในจังหวัดสตูล

 

มานิคือใครในดินแดนด้ามขวานทอง

           มานิ เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีดำรงชีพดั้งเดิมที่เรียกว่า “วัฒนธรรมแบบหาของป่าล่าสัตว์” (Hunting Gathering) มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยไปตามความสมบูรณ์และทรัพยากรสิ่งแวดล้อม มีการล่าสัตว์ด้วยกระบอกไม้ซางและลูกดอกอาบยาพิษ ในอดีตวิถีมานิพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในทุกด้านเพื่อเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะการสร้างที่อยู่อาศัยที่เรียกว่า “ทับ” ที่มักเลือกทำเลที่ตั้งบนเนินสูงเพื่อป้องกันน้ำป่าหลากและเป็นพื้นที่ที่อยู่ไม่ไกลจากแหล่งอาหาร ทับของมานิจะมีลักษณะคล้ายกระท่อมที่สร้างจากวัสดุธรรมชาติ นอกจากภูมิปัญญาการสร้างที่อยู่อาศัยแล้ว มานิยังมีการสั่งสมความรู้เกี่ยวกับการใช้พืชสมุนไพร5 เกี่ยวกับการรักษาโรคทั่วไป การคุมกำเนิด การบำรุงร่างกาย การขับเลือด เป็นต้น

           ปัจจุบันการพัฒนาสู่ความทันสมัยได้ทำพวกเขาถูกจัดให้เป็นกลุ่มเปราะบาง6  ชื่อเรียก “มานิ” (Mani) ที่ชาวมานิใช้เรียกตนเองนั้นมีความหมายว่า “คน” ในขณะที่ชื่อที่ผู้อื่นเรียกมีหลากหลายแตกต่างกันออกไป อาทิ โอรังอัสลี เนกริโต เซมัง ซาไก ชอง มอส ตอนกา เงาะ เงาะป่า คนัง เป็นต้น ชื่อเรียกที่คนทั่วไปมักจะรู้จักในนามของ “เงาะป่า” เป็นคำเรียกหนึ่งที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ หรือ “ซาไก” ที่มีความหมายว่า ทาส “เงาะป่า” หรือ “ซาไก” จึงเป็นชื่อเรียกที่สะท้อนถึงอคติทางชาติพันธุ์ ซึ่งชาวมานิไม่ชื่นชอบที่ถูกเรียกมากนัก เนื่องจากจากคำดังกล่าวมีนัยยะถึงการลดทอนความเป็นมนุษย์และการดูถูกดูแคลน

           นักภาษาศาสตร์จัดกลุ่ม “ภาษามานิ” ไว้ในกลุ่มภาษาอัสเลียน สาขาภาษามอญ-เขมรใต้ ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติกซึ่งเป็นตระกูลภาษาดั้งเดิมในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ไม่มีภาษาเขียน มานิที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ของไทย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ตามลักษณะภาษาประจำกลุ่ม ดังนี้ 1) มานิกันซิว (Kensiw) ในจังหวัดยะลา 2) มานิยะฮาย (Jahai) ในจังหวัดนราธิวาส 3) มานิแตะเด๊ะ (Tea-da) ในจังหวัดยะลาและจังหวัดนราธิวาส 4) มานิแต็นเเอ็น (Teanean) จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา

           การกระจายตัวของมานิ ส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดตรัง สตูล พัทลุง และสงขลา มีประชากรโดยประมาณ 300 คน7 ส่วนมานิที่อาศัยอยู่ในจังหวัดยะลา และนราธิวาส ในพื้นที่ป่าของเทือกเขาสันกาลาคีรี จำนวนโดยประมาณ 439 คน8 ชาวมานิกลุ่มนี้มักถูกเรียกว่า “โอรังอัสลี (Orang Asli)” หมายถึง ชนพื้นเมืองดั้งเดิม (aborigines)

           ชาวมานิมีวิถีการดำรงชีพของที่หลากหลายแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ทั้งนี้ วิถีการดำรงชีพที่ข้างต้นนี้ไม่ได้เป็นการแบ่งที่ตายตัว หากแต่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำรงชีพตามบริบทการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ดังนี้

           1) กลุ่มอพยพเคลื่อนย้าย เป็นกลุ่มที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนภายนอกมากนัก ยังคงดำรงชีพด้วยการหาหัวมันเป็นหลัก เนื่องจากอาศัยอยู่ในป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นกลุ่มที่ไม่สนใจเรื่องบัตรประชาชนและการได้รับบริการจากรัฐ

           2) กลุ่มตั้งถิ่นฐานกึ่งถาวร ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อาศัยในพื้นที่ริมชายป่าเศรษฐกิจเพื่อให้มีความสะดวกต่อการเดินทางไปกลับเพื่อเป็นแรงงานรับจ้างคนพื้นราบ มานิในประเทศไทยส่วนใหญ่มีการตั้งถิ่นฐานกึ่งถาวร

           3) กลุ่มตั้งถิ่นฐานถาวร ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีบัตรประจำตัวประชาชน มีการรับจ้างทำสวน บางพื้นที่มีสวนเป็นของตนเองแต่อยู่ในที่ดินของรัฐ ชาวมานิกลุ่มนี้จะเปลี่ยนแปลงวิถีการล่าสัตว์ลดน้อยลง มีการยึดหลักการสร้างรายได้ที่คล้ายคลึงกับคนทั่วไปในสังคม

           ปัจจุบันวิถีชีวิตของชาวมานิกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการดำเนินนโยบายของรัฐในการให้สัมปทานเหมืองหิน เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาดินแดนด้ามขวานทองของไทยให้กลายเป็นฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งใหม่ของโลก อีกทั้งยังจะถูกพัฒนาให้เป็นทั้ง “ศูนย์กลางการขนส่งข้ามโลก” ควบคู่กับ “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก”9

 

“มานิ” ผู้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ

           ในช่วงระยะเวลา 5 ทศวรรษที่ผ่านมา พื้นที่ป่าเทือกเขาบรรทัดและพื้นที่โดยรอบได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่เป็นที่ตั้งฐานของกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ การขยายตัวของทุนกับการสัมปทานป่าไม้ การปลูกป่า ทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน รวมถึงการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจระดับชาติและระดับโลก ทำให้รัฐมีนโยบายเข้ามากำกับดูแล จัดการ ส่งเสริมและขยับขยายสนับสนุนให้นายทุนและผู้คนจากภายนอกเข้าไปใช้ทรัพยากรในพื้นที่ป่าเทือกเขาบรรทัดเพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของมานิจากนโยบายการพัฒนา แบ่งออกเป็น 5 ยุค1011 ดังนี้

           ยุคแรก ยุคแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 - 2509)

           ในยุคนี้รัฐมีนโยบายในการเปิดป่าสัมปทานกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่งผลให้พื้นที่ป่าเทือกเขาบรรทัดถูกบุกรุก ต้นไม้ในผืนป่าจึงถูกตัดเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ชาวบ้านได้เข้าไปจับจองเพื่อเป็นพื้นที่ทำกิน มีการลักลอบตัดไม้ วิถีการดำรงชีวิตของมานิภายใต้ระบบนิเวศ จึงเริ่มได้รับผลกระทบเมื่อมีการเปิดป่าสัมปทาน (พ.ศ. 2504) ทำให้ระบบนิเวศถูกทำลายจนขาดความสมดุล

           ยุคที่สอง ยุคปราบคอมมิวนิสต์ (พ.ศ. 2510 - 2522)

           รัฐออกประกาศพื้นที่แทรกซึมของคอมมิวนิสต์ ในกรณีภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ใน พ.ศ. 2514 พื้นที่บริเวณนี้กลายเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำให้มานิที่อาศัยอยู่ในเทือกเขาบรรทัดถูกเหมารวมว่าเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติจึงถูกปราบปราม จนกระทั่ง พ.ศ. 2519 กรมประชาสงเคราะห์ได้รวบรวมมานิที่เร่ร่อนอยู่ในอำเภอ บันนังสะตา และอำเภอธารโต ในจังหวัดยะลา ให้มาอยู่ในนิคมสร้างตนเองธารโต และเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับรองสิทธิตามกฎหมาย และได้รับพระราชทานนามสกุลตามสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีว่า “ศรีธารโต” มีประชากรประมาณ 60 คน จากนั้นประชากรได้มีจำนวนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ จึงย้ายไปอยู่ที่ประเทศมาเลเซียตามนโยบายชนเผ่าพื้นเมืองที่ให้สิทธิกับกลุ่มชาติพันธุ์ ในเรื่องสวัสดิการการให้เงินเดือน การจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยตามความสมัครใจ มีสิทธิในการเป็นพลเมืองภายใต้เงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงไปนับถืออิสลาม จึงทำให้มานิในหมู่บ้านซาไกอพยพย้ายถิ่นไปที่มาเลเซีย มีเพียงมานิบางส่วนที่แต่งงานข้ามวัฒนธรรมกับชาวไทยพื้นราบจึงตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านซาไกตามที่รัฐจัดสรรให้

           ยุคที่สาม ยุคหลังปราบคอมมิวนิสต์ (พ.ศ. 2523 - 2534)

           การเกิดขึ้นของ “นโยบายใต้ร่มเย็น” ทำให้กองทัพภาคที่ 4 ใช้นโยบายดังกล่าวเพื่อการแก้ปัญหาความไม่สงบและปราบปรามกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับอำนาจรัฐ ในช่วงเวลานั้น รัฐได้มีการเปิดป่า สร้างถนน เพื่อลำเลียงกำลังพลมีการตัดถนนเข้าไปใกล้แนวป่า จนทำให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ได้ออกมามอบตัว หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์สลายตัวไป ในปีพ.ศ. 2525 ชาวบ้านเริ่มเข้าไปทำกินมากขึ้น บุกรุกป่าเข้าไปจับจองเป็นพื้นที่ทำกิน ล่าสัตว์และหาของป่ามากขึ้น จนกลายเป็น “ป่ายางพารา” ทำให้ความสมบูรณ์ของป่าลดน้อยลง และพื้นที่เร่ร่อนมีจำกัดมากขึ้น บุคคลภายนอกเข้ามาทำลายสมดุลธรรมชาติ ไม่ว่าการปลูกสวนยางพารา การเข้ามาของคนภายนอกได้นำเอา ความรู้ เทคนิค วิทยาการ รวมถึงวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งการแต่งกาย การรักษาโรคแบบสมัยใหม่ ตลอดจนค่านิยมและทัศนคติ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมานิ ที่รับเอาวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาผสมผสานกับรูปแบบดั้งเดิมเพื่อความอยู่รอด ขณะเดียวกันมานิส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ ไม่สามารถนับเลขได้ แม้จะมีความซื่อสัตย์ แต่มักจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนภายนอกอยู่เสมอ จากเงื่อนไขในด้านทรัพยากรอาหารในธรรมชาติเหลือน้อย และมีการติดต่อกับชาวบ้านมากขึ้น จึงทำให้มานิที่บ้านคลองตง ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยเร่ร่อนอยู่ในป่าในช่วงพรรคคอมมิวนิสต์มีอิทธิพลแถบเทือกเขาบรรทัด ได้ออกมาจากป่าเพื่อตั้งถิ่นฐานถาวรเพิ่มมากขึ้น

           ยุคป่ายาง (พ.ศ. 2535 - 2545)

           ในยุคนี้ รัฐมีการส่งเสริมให้ปลูกยางพาราเพื่อสร้างอาชีพ การเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการบุกรุกแผ้วถางป่าบริเวณโดยรอบเพื่อปลูกยางพารา โดยเฉพาะกลุ่มนายทุนที่บุกรุกป่าเพื่อปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ชาวมานิเริ่มติดต่อกับคนภายนอกเพื่อนำของป่าออกมาขายให้กับชาวบ้าน เช่น น้ำผึ้ง ลูกเหรียง สะตอ สมุนไพร และของป่าอื่นๆ และนำเงินไปซื้ออาหารเพื่อบริโภค ในช่วงเวลาดังกล่าวที่มานิมีการติดต่อกับคนภายนอกจึงมีการรับเอาระบบเงินตราเข้ามาเข้ามาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน จากนั้น มานิก็เริ่มออกจากป่าเพื่อรับจ้างเป็นแรงงานคนพื้นราบมากขึ้น

           ยุคที่ห้า ยุคการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (พ.ศ. 2546 - ปัจจุบัน)

           การพัฒนาศักยภาพของชุมชนในพื้นที่รอยต่อเทือกเขาบรรทัด โดยเฉพาะเขต จังหวัดตรัง พัทลุง และสตูล มานิถูกผนวกเข้ากับการท่องเที่ยว “การจัดวิวาห์มานิ ตามประเพณีเงาะป่า สร้างกระแสการอนุรักษ์ป่าเขาบรรทัด ส่งเสริมการท่องเที่ยว” การประกอบสร้างภาพตัวแทนของมานิให้แต่งกายแบบเงาะป่าแบบในวรรณกรรม ทำให้พวกเขารู้สึกแปลกแยกกลายเป็นตัวตลกของสังคม เน้นการประกอบสร้างเพื่อขายวิถีชีวิต ที่ไม่ได้ตรงตามสภาพความเป็นจริง เช่น การแต่งตัวเหมือนในภาพยนตร์ การแสดงวิถีชีวิตเป่าลูกดอก การทำสินค้าของที่ระลึกจำหน่าย ในยุคนี้สะท้อนให้เห็นการผนวกเอาวัฒนธรรมหรือวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ให้กลายเป็นสินค้า ที่เป็นการจัดฉากหรือสร้างความเป็นมานิ ที่กลับทำให้เป็นการตอกย้ำความเป็นชายขอบจากการถูกผนวกเข้ากับการพัฒนา

           จากนโยบายการพัฒนาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบันเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับมานิ นับตั้งแต่นโยบายใต้ร่มเย็นสิ้นสุดลง เมื่อปี 2523 ถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของชาวมานิ เนื่องจากรัฐมีการสร้างถนนเพื่อลำเลียงกำลังพลในช่วงนโยบายดังกล่าวตัดผ่านพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ และมีนโยบายประกาศพื้นที่เป็นพื้นที่อุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตป่าสงวน รวมถึงนโยบายตามกระแสทุนนิยมที่นำความเจริญเข้าไปในพื้นที่เพื่อประโยชน์ต่อคนบางกลุ่ม การให้สัมปทานป่าไม้และจัดพื้นที่ป่าให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว การปลูกป่าสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ ผลจากการพัฒนา แม้ว่าจะทำให้มานิจะได้รับประโยชน์ในบางประการ เช่น การได้รับสิทธิการเป็นพลเมืองของรัฐไทย แต่นัยหนึ่งของนโยบายคือการมองว่า การพัฒนาคือการที่มานิต้องมีที่อยู่อาศัยแบบเป็นหลักแหล่งรวมกับคนพื้นราบ ซึ่งแนวทางข้างต้นอาจไม่สอดคล้องกับวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ชาวมานิส่วนใหญ่ยังคงตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ป่า และมีบางกลุ่มหลบหนีเข้าป่าลึก

 

มานิกับสัมปทานเหมืองหินในอุทยานธรณีโลกสตูล

           “สตูล” เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีชาวมานิอยู่อาศัยครอบคลุมพื้นที่ อำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง อำเภอควนโดน และอำเภอควนกาหลง ซึ่งมีพื้นที่ 3 อำเภอ12 ที่ถูกกำหนดให้เป็นอุทยานธรณีโลกสตูล การเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีโลกสตูล สะท้อนถึงความสำคัญของการเป็นพื้นที่กายภาพที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรณีวิทยา ในขณะเดียวพื้นที่ดังกล่าวยังมีความสำคัญในมิติวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการตั้งถิ่นฐานของชาวมานิ ที่มีการดำรงชีพในผืนป่าบริเวณเทือกเขาบรรทัดมาหลายชั่วอายุคน

           จากนโยบายการพัฒนาในพื้นที่ดังที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้มานิบางกลุ่มมีการปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีพโดยการติดต่อกับชาวบ้านพื้นราบ และการหันเข้ามามีส่วนร่วมกับการท่องเที่ยวมากขึ้น เช่น การเป็นคนพายเรือพานักท่องเที่ยวล่องแก่ง หรือการหาของป่ามาจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว ในพื้นที่ถ้ำภูผาเพชรและถ้ำเจ็ดคต มีบางกรณีที่เจ้าของธุรกิจที่พักโฮมสเตย์ ได้นำมานิมาเป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเพื่อแลกกับอาหารและเสื้อผ้า เงื่อนไขสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้มานิต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมารับจ้างนี้ก็เนื่องจากแหล่งอาหารและปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีพในป่าเริ่มลดลงจากกระแสการพัฒนาแนวใหม่13

           นอกจากพื้นที่ที่มีการอยู่อาศัยของมานิจะถูกกำหนดให้เป็นอุทยานธรณีโลกแล้วพื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุญาตสัมปทานเหมืองหินในบริเวณภูเขา จำนวน 3 ลูก ได้แก่ เขาลูกเล็กลูกใหญ่ อำเภอทุ่งหว้า เขาจูหนุงนุ้ย อำเภอละงู และเขาโต๊ะกรัง อำเภอควนโดน และอำเภอควนกาหลง ซึ่งได้รับการอนุมัติการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และได้รับอนุญาตให้มีการใช้พื้นที่ป่าจากกรมป่าไม้เป็นที่เรียบร้อย

           อิทธิพลจากการพัฒนาข้างต้น แม้ว่าชาวมานิบางส่วนยังคงยืนหยัดในการดำรงชีพแบบเคลื่อนย้ายและการดำรงชีพโดยการตั้งตั้งถิ่นฐานแบบกึ่งถาวร แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า มีชาวมานิจำนวนหนึ่งที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยที่เป็นหลักแหล่งมากขึ้น จากความต้องการดังกล่าวจึงทำให้เครือข่ายภาคประชาชนได้มีการผลักดันการขับเคลื่อนให้จังหวัดมีจัดการที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และหาแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สามารถมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น แต่ข้อเสนอดังกล่าว กลับไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมีการเร่งรัดการดำเนินให้กับภาคเอกชนในการที่สัมปทานเหมืองหินในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง14 ทำให้ผู้แทนเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ประกอบด้วย กลุ่มห้วยหนาน (เขาน้ำเต้า) กลุ่มวังนาใน กลุ่มมานิภูผาเพชร กลุ่มมานิวังคราม และกลุ่มราวปลา ในจังหวัดสตูล ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 เกี่ยวกับกรณีที่ไม่สามารถเข้าถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่สามารถซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างอิสระ รวมถึงการไม่ได้รับการจัดสรรที่ดิน ตามนโยบายของคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และยังถูกขับให้ออกจากพื้นที่ป่า

           ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ได้มีความกังวลเกี่ยวกับวิถีการดำรงชีพของชาวมานิ ในพื้นที่ที่มีการดำเนินการขออนุญาตสัมปทานเหมืองหิน จึงได้ทำการยื่นข้อเรียกร้องต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESSCO) คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการตรวจสอบกระบวนการดำเนินนโยบายที่ครอบคลุม 4 ประเด็น ดังนี้ 1) การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) 2) ข้อร้องเรียนในกระบวนการการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 3) การอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่า 118 ไร่ ของกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ และ 4) ขอให้ตรวจสอบโครงการสัมปทานเหมืองหินอุตสาหกรรมเขาโต๊ะกรังหรือเขาลูกช้าง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

           นอกจากนี้เครือข่ายฯ ยังมีข้อเรียกร้องไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มีการชี้แจงเกี่ยวกับการอนุมัติผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในโครงการสัมปทานเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างในพื้นที่อำเภอทุ่งหว้า (เขาลูกเล็กลูกใหญ่) ที่ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน รวมถึงการยื่นข้อเรียกร้องถึงกรมป่าไม้เกี่ยวกับการใช้อำนาจที่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าจำนวน 118 ไร่ ซึ่งได้เคยมีการสำรวจร่วมกันระหว่างนักวิชาการป่าไม้ชำนาญการของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ โดยพบว่าเป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (Zone C) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2535 และวันที่ 17 มีนาคม 2535 และยังพบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2532 อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญในมิติการเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมานิ

           จากการกำหนดให้พื้นที่ที่มีการตั้งถิ่นฐานของชาวมานิเป็นพื้นที่อุทยานธรณีโลก รวมทั้งการเป็นพื้นที่ดำเนินการเพื่อสัมปทานเหมืองหินนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ นัยหนึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการดิ้นรนปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเพื่อการดำรงชีวิต โดยการไปเป็นแรงงานรับจ้างในภาคการท่องเที่ยวและภาคการเกษตร การเข้าไปทำงานในภาคการผลิตและเศรษฐกิจสมัยใหม่นี้ไม่เพียงแต่ทำให้วิถีชีวิต ความรู้และภูมิปัญญาในการพึ่งพิงธรรมชาติที่สั่งสมกันมายาวนานของกลุ่มชาติพันธุ์เสี่ยงต่อการสูญหาย แต่ยังกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ชาวมานิถูกละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรม รวมทั้งถูกเอารัดเอาเปรียบโดยไม่สามารถต่อสู้หรือต่อรองได้

           ขณะเดียวการพัฒนาของรัฐที่มุ่งเน้นการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยและการเติบโตของอุตสาหกรรม นับตั้งแต่การเปิดสัมปทานป่าไม้และการให้สัมปทานเหมืองทำให้รัฐมีการดำเนินนโยบายอพยพผู้คนออกจากป่า สะท้อนให้เห็นว่า รัฐมองการพัฒนาในมิติทางเศรษฐกิจ โดยละเลยมิติความมั่นคงของมนุษย์ การพัฒนาจึงเป็นการเบียดขับหรือผลักให้กลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็นคนชายขอบที่ส่งผลต่อการขาดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นแนวทางการพัฒนาที่ไม่เคารพในสิทธิทางวัฒนธรรม และไม่ได้มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างแท้จริง

           ทั้งนี้ ในการดำเนินนโยบายการพัฒนาควรเปิดโอกาสให้ชุมชนชาติพันธุ์เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิทางวัฒนธรรม โดยเน้นหลัก 4 ประการ ได้แก่

           1) การให้สำคัญกับสิทธิชุมชนในการแสวงหาทางเลือกเพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนาตนเองบนพื้นฐานของวัฒนธรรมและจารีตประเพณีที่หลากหลายของชุมชนชาติพันธุ์ เพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองของชุมชนชาติพันธุ์

           2) การให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์

           3) เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นประเด็นที่เป็นความท้าทายของชุมชนชาติพันธุ์ในยุคเสรีนิยมใหม่ที่มีความทันสมัยหลั่งไหลเข้าไปยังพื้นที่

           4) เน้นการจัดการทรัพยากรที่เหมาะสมและคำนึงถึงวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และมีการส่งเสริมภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีผลดีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากร ภายใต้แนวทางการพัฒนาที่ผนวกเอาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาติไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในฐานะเป็นวิถีชีวิตที่อยู่ในระบบนิเวศเดียวกัน และ

           5) เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะขั้นพื้นฐาน ให้ความสำคัญกับการนิยามคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับบริบทชุมชนชาติพันธุ์ เป็นต้น

 

เอกสารอ้างอิง

เดโช แขน้ำแก้ว. (2559). มานิซาไก : การเรียนรู้วิถีชีวิตหมู่บ้านเงาะป่ามานิเพื่อการพัฒนา และจัดสวัสดิการชุมชน. สารคดีมีชีวิต สารัตถะงานบริการวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช. หน้า 83 – 94.

ทัศนีย์ ประกอบบุญ. (2565). ห่วงสัมปทานเหมืองหิน จ.สตูล กระทบถิ่นฐานชาวมันนิ ร้อง กมธ.เร่งสอบ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565, จาก https://theactive.net/news/marginalpeople-20220324/.

ไทยพีบีเอส. (2565). ข้อกังวลขอสัมปทานเหมืองหิน กระทบถิ่นฐานเดิมชาวมันนิ จ.สตูล. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565, จาก https://fb.watch/c0_26t9dY4/.

บัณฑิต ไกรวิจิตร และคณะ. (2562). โครงการชาวโอรังอัสลีภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

บงกชมาศ เอกเอี่ยม. (2564). แนวคิดหลังการพัฒนา: เส้นทางการพัฒนาในยุคหลังการพัฒนา. วารสารวิชาการวิทยาลัยบริหารศาสตร์, 4(1), 159-180.

ผู้จัดการออนไลน์. (2562). เร่งสัมปทานเหมืองหินเขาโต๊ะกรัง มากความไม่ชอบมาพากล! อีกหนึ่งภาพพลิกภาคใต้สู่การตั้ง “ฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่” แห่งใหม่ของโลก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565, จาก https://mgronline.com/south/detail/9620000038271.

มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมูลนิธิภูมิปัญญาบนพื้นที่สูง ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย. (2561). รายงานสังเคราะห์ชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มชายขอบและเปราะบางในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สหภาพยุโรป และคณะทำงานระหว่างประเทศว่าด้วยประเด็นชนเผ่าพื้นเมือง.

วันเฉลิม จันทรากุล. (2544). เงาะป่า-ซาไก นิเชาเมืองไทย ชนป่าที่กำลังสูญสลาย. กรุงเทพฯ: บริษัทดวงกมลสมัย.

สิริพร สมบูรณ์บูรณะ. (2558). รายงานการวิจัยเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ กรณีกลุ่มซาไกหรือมานิในภาคใต้จังหวัดพัทลุง ตรัง และสตูล. กรุงเทพ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

สุนทร ทัศนาสาร และคณะ. (2562). โครงการมันนิภูบรรทัดในกระแสความเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธ.

สุวัฒน์ ทองหอม. (2538). SAKAI เงาะชนผู้อยู่ในป่า ชาติพันธุ์มนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่ยังเหลืออยู่. กรุงเทพฯ: บริษัท ทันเวลา.

อุทยานธรณีสตูล. (ม.ป.ป.). อุทยานธรณีโลกสตูล อุทยานธรณีโลกของยูเนสโกแห่งแรกของประเทศไทย.(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565, จาก http://www.satun-geopark.com.


[1] บงกชมาศ เอกเอี่ยม. (2564). แนวคิดหลังการพัฒนา: เส้นทางการพัฒนาในยุคหลังการพัฒนา. วารสารวิชาการวิทยาลัยบริหารศาสตร์, 4(1), 159-180.

[2] ทัศนีย์ ประกอบบุญ. (2565). ห่วงสัมปทานเหมืองหิน จ.สตูล กระทบถิ่นฐานชาวมันนิ ร้อง กมธ.เร่งสอบ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565, จาก https://theactive.net/news/marginalpeople-20220324/.

[3] เป็นพื้นที่สืบเนื่องมาจากการพัฒนาในช่วงปี 2539 - 2540 ที่มีการประกาศให้ในพื้นที่ จ.สตูล สามารถทำเหมืองหินเพื่อการอุตสาหกรรมได้ในเขตภูเขารวม 8 จุด ประกอบด้วย 1. เขาพลู ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง 2. เขาจำปา เขาโต๊ะช่าง และ เขาเณร หมู่ที่ 1 ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง 3. เขาลูกเล็กลูกใหญ่ ต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า 4. เขาลูกช้าง โดยมี “เขาโต๊ะกรัง” เป็นลูกเขาในกลุ่มนี้ ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง 5. เขาวังบุมาก ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง 6. เขาละใบดำ ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง 7. เขาจุหนุงนุ้ย ต.กำแพง อ.ละงู และ 8. เขาละมุ ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง (ที่มา: https://mgronline.com/south/detail/9620000038271)

[4] ได้รับรองเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง อำเภอละงู และอำเภอเมืองเฉพาะ (อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา) รวมเป็นพื้นที่ 2,597 ตารางกิโลเมตร มีความโดดเด่นจากภูเขาสู่ท้องทะเล โซนภูเขาโดดเด่นภูมิประเทศแบบคาสต์ (karst topography) ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวได้แก่ ถ้ำภูผาเพชร ถ้ำอุไรทอง ถ้ำทะลุ น้ำตกวังสายทอง และ โซนหมู่เกาะทางทะเลที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ได้แก่ เกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหินซ้อน จุดดำน้ำร่องน้ำจาบัง เป็นต้น ทำให้พื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง (ที่มา:อุทยานธรณีสตูล (ที่มา: http://www.satun-geopark.com.)

[5] วันเฉลิม จันทรากุล (2544); เดโช แขน้ำแก้ว (2559); บัณฑิต ไกรวิจิตร และคณะ (2562)

[6] มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิภูมิปัญญาบนพื้นที่สูง ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤติ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล จัดให้มานิเป็นกลุ่มเปราะบางทั้งในมิติวัฒนธรรม มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม และมิติทางการเมือง

[7] สิริพร สมบูรณ์บูรณะ. (2558). รายงานการวิจัยเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ กรณีกลุ่มซาไกหรือมานิในภาคใต้จังหวัดพัทลุง ตรัง และสตูล. กรุงเทพ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

[8] บัณฑิต ไกรวิจิตร และคณะ. (2562). โครงการชาวโอรังอัสลีภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย. กรุงเทพฯ:
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

[9] ผู้จัดการออนไลน์. (2562). เร่งสัมปทานเหมืองหินเขาโต๊ะกรัง มากความไม่ชอบมาพากล! อีกหนึ่งภาพพลิกภาคใต้สู่การตั้ง “ฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่” แห่งใหม่ของโลก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565, จาก https://mgronline.com/south/detail/9620000038271.

[10] สุวัฒน์ ทองหอม. (2538). SAKAI เงาะชนผู้อยู่ในป่า ชาติพันธุ์มนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่ยังเหลืออยู่. กรุงเทพฯ: บริษัททันเวลา.

[11] สิริพร สมบูรณ์บูรณะ. (2558). รายงานการวิจัยเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ กรณีกลุ่มซาไกหรือมานิในภาคใต้จังหวัดพัทลุง ตรัง และสตูล. กรุงเทพ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

[12] อุทยานธรณีโลกสตูล ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง อำเภอละงู และอำเภอเมือง (ที่มา http://www.satun-geopark.com/)

[13] สุนทร ทัศนาสาร และคณะ. (2562). โครงการมันนิภูบรรทัดในกระแสความเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธ.

[14] ไทยพีบีเอส. (2565). ข้อกังวลขอสัมปทานเหมืองหิน กระทบถิ่นฐานเดิมชาวมันนิ จ.สตูล. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565, จาก https://fb.watch/c0_26t9dY4/.


ผู้เขียน

สุดารัตน์ ศรีอุบล

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ มานิ สิทธิชาติพันธุ์ การสัมปทานเหมืองหิน อุทยานธรณีโลกสตูล สุดารัตน์ ศรีอุบล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share