“สิทธิเรา คือ เสาบ้าน” : การต่อรองเชิงความหมายในกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวเล

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 3068

“สิทธิเรา คือ เสาบ้าน” : การต่อรองเชิงความหมายในกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวเล

 

“สิทธิเรา คือ เสาบ้าน”

: การต่อรองเชิงความหมายในกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวเล

 

สุดารัตน์  ศรีอุบล 

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

 

ชาวเล คือ ใคร? ในชายฝั่งทะเลอันดามัน

           ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และภาคการท่องเที่ยวในยุคสมัยใหม่ ยังคงมีกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง คือ “ชาวเล” ที่มีวิถีการธำรงชีวิตด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ “ชาวเล” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเกาะในบริเวณภาคใต้ของไทย ชาวเลในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 41 ชุมชน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล มีประชากรประมาณ 12,000 คน (นฤมล อรุโณทัย และคณะ, 2557) ชาวเลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และค่านิยมที่มีอัตลักษณ์ในลักษณะการเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยในบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน วิถีชีวิตส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเรือ และยังชีพด้วยการเก็บหาสัตว์ทะเลต่างๆ อาทิ หอย ปู ปลา เป็นต้น ชาวเลแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยใช้หลักเกณฑ์ทางภาษาและถิ่นที่อยู่เป็นเงื่อนไขในการจำแนก (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2537) ได้แก่

           ชาวมอแกลน (Moklen) หรือ มอเก็นตามับ มอเก็นบก (สิงบก) มีถิ่นฐานที่เกาะ    พระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ตามชายฝั่งทะเล จังหวัดพังงา และแหลมหลา อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต 

           ชาวอูรักลาโว้ย (Uraklavoi) เป็นชนกลุ่มใหญ่ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่บนเกาะสิเหร่ และหาด  ราไวย์ จังหวัดภูเก็ต จนถึงทางใต้เกาะพีพีดอน เกาะลันใหญ่ จ.กระบี่ เกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ เกาะราวี จังหวัดสตูล และเกาะลิบง จังหวัดตรัง 

           ชาวมอแกน (Moken) มอเก็นปูเลา มอเก็นเกาะ หรือสิงทะเล มีถิ่นฐานอยู่ที่เกาะ    พระทอง และหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา เกาะสินไหและเกาะเหลา จังหวัดระนอง หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต และเกาะพีพี จังหวัดกระบี่

           ชาวเลทั้งสามกลุ่มมีวิถีการดำเนินชีวิตที่ใกล้เคียงกัน แต่ยังมีความแตกต่างกัน อาทิ ชาวมอแกลน และชาวอูรักลาโว้ย มีการตั้งหลักแหล่งค่อนข้างถาวร และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปค่อนข้างมากจากการซึมซับวัฒนธรรมไทย พูดภาษาไทย นับถือศาสนาพุทธ ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง รับจ้างทำสวน และอาชีพอื่นเช่นเดียวกับคนไทย จนกระทั่งได้ชื่อว่าเป็น “ชาวไทยใหม่”1 ในขณะที่ชาวมอแกนยังคงมีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ใกล้เคียงกับวิถีเดิมมากกว่ากลุ่มอื่น

 

วิถีชาวเลกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

           ในช่วง พ.ศ. 2520-2547 ก่อนเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงประกาศ กฎ ระเบียบ และนโยบายภาครัฐ-เอกชน จากการเข้ามาของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีโครงการการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล จึงมีการออกข้อกำหนด ประกาศ หรือนโยบาย เพื่อให้ปฏิบัติภายใต้ข้อกำหนด ทำให้เกิดผลกระทบต่อชาวเล เช่น การประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพี อุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา ฯลฯ การประกาศพื้นที่คุ้มครองในรูปแบบต่างๆ ของรัฐ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทำกินทางทะเลจากเดิมซึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถประกอบอาชีพ

           ภายหลังจากการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทำให้ชาวเลไม่สามารถเข้าไปประกอบอาชีพทำการประมงได้เช่นเดิม รวมทั้งการประกาศของกรมประมง กรมเจ้าท่า เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนเรือประมง การต่อใบอนุญาต และข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์การทำประมง การพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน และหน่วยงานเอกชนที่เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นพื้นที่การท่องเที่ยว สร้างระบบอุปโภคบริโภค สร้างโรงแรม รีสอร์ท รวมถึงมีการกำหนดอาณาบริเวณเพื่อการท่องเที่ยว

           เงื่อนไขเหล่านี้ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามวิถีดั้งเดิม ในบางกรณีได้กลายเป็นเหตุให้เกิดการขับไล่ชาวเลออกจากพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ และเกิดกรณีพิพาทกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่อง ในเอกสารเรื่องของโอลิเวียร์ แฟร์ราวี (2549) ได้บันทึกว่า ในช่วงปี 2529 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จไปเปิดอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จึงโปรดเกล้าให้ชาวมอแกนและชาวมอแกลนให้เข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย และพระราชทานนามสกุลให้กับชาวมอแกนและมอแกลน จำนวน 3,000 คน เช่น กล้าทะเล หาญทะเล นาวารักษ์ สมุทรวารี เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงการโปรดเกล้าให้สร้างสถานีอนามัย การแก้ไขปัญหาด้านสัญชาติ การศึกษา สิทธิการรักษาพยาบาล สิทธิในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น (โอลิเวียร์ แฟร์รารี, 2549)

           อย่างไรก็ดี การอยู่อาศัยในผืนแผ่นดินที่ได้รับพระราชทานที่ผ่อนผันให้อยู่อาศัยแบบชั่วคราวนั้น ชาวเลจึงไม่อาจหลีกหนีจากการถูกมองว่าไร้สิทธิ์ ไร้ตัวตน เป็นเพียงชนกลุ่มน้อยหรือพลเมืองชั้นสองที่เป็นการเบียดขับให้ชาวเลกลายเป็นคนอื่น

           ต่อมาในช่วงยุคหลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ (พ.ศ. 2547-ปัจจุบัน) ได้เริ่มมีองค์กร หน่วยงาน และบุคคลภายนอกเข้ามาช่วยเหลือและพัฒนาชุมชน ทำให้สถานการณ์ของชาวเลเป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งมีหลากหลายหน่วยงานที่ให้ความสนใจศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาวเลมากยิ่งขึ้น (นฤมล อรุโณทัย, 2559) ในส่วนของการดำเนินงานโดยภาครัฐได้มีนโยบายฟื้นฟูการท่องเที่ยว ซึ่งกลับกลายเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้นักธุรกิจมีการกว้านซื้อที่ดินริมทะเลเพื่อเก็งกำไร จากความต้องการที่ดินของกลุ่มทุน ทำให้ที่ดินบางแห่งมีการออกเอกสารสิทธิ์โดยไม่ชอบและทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยของชาวเล (มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม, 2559)

           นอกจากนี้การประกาศเขตอนุรักษ์ทั้งบนบกและทางทะเลทำให้พื้นที่ทำกินของชาวเลลดน้อยลง ปัญหาเหล่านี้สะสมมานาน และปะทุรุนแรงมากขึ้น จึงกล่าวได้ว่าเหตุการณ์ช่วงหลัง   สึนามิใน พ.ศ. 2547 เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐได้มีนโยบายการส่งเสริมฟื้นฟูชาวเลหลังสึนามิ โดยมีการให้ทุนเพื่อพัฒนาโรงแรมในพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นการเบียดขับที่ดินที่ชาวเลเคยอยู่อาศัย ด้วยระบบกรรมสิทธิ์ส่วนรวมได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบกรรมสิทธิ์ของรัฐและนายทุน (มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม และคณะ, 2561)

           การประกาศพื้นที่อันดามันให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวระดับโลกและการประกาศเขตอุทยานทางทะเลหรือประกาศอื่นๆ ของรัฐ รวมทั้งเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเบียดขับวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวเล อันเป็นผลมาจากความต้องการในการใช้ที่ดินเพื่อการท่องเที่ยว ทำให้ชาวเลในหลายพื้นที่ถูกขับออกจากพื้นที่ จนทำให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิ์ รวมทั้งการประสบปัญหาพื้นที่ทางจิตวิญญาณหรือสุสานบรรพบุรุษถูกคุกคาม ปัญหาไร้สัญชาติ การไร้สิทธิขั้นพื้นฐาน ปัญหาการขาดความมั่นใจ และขาดความภาคภูมิใจในวิถีดั้งเดิม เนื่องจากวัฒนธรรมของชาวเลได้ถูกทำให้เป็นสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ รวมถึงการเข้าสู่สังคมโลกาภิวัตน์ ทำให้ชาวเลมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียวัฒนธรรมดั้งเดิม อาทิ กรณีชุมชนชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ ที่ประสบปัญหาเอกชนออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของชุมชน จนเกิดกรณีฟ้องร้องขับไล่และอยู่ในกระบวนการต่อสู่ในชั้นศาล และกรณีชุมชนชาวเล บ้านสะปำ เกาะสิเหร่ ในช่วงหลังจากเหตุการณ์สึนามิ ทำให้ชุมชนต้องประสบปัญหากรมเจ้าท่าที่เข้ามาอ้างสิทธิในที่ดินรัฐ ในปี 2561 กรมเจ้าท่าจึงมีการออกเอกสารให้ชาวบ้านเสียค่าเช่าที่ดิน แม้ว่าชุมชนอยู่กันมาดั้งเดิมตั้งแต่บรรพบุรุษ ปัจจุบันปัญหาข้างต้นยังไม่ได้รับแก้ไข จึงทำให้ชาวบ้านไม่สามารถขยายที่อยู่อาศัย ต้องอยู่อย่างแออัด ชุมชนชาวเลจึงมีความต้องการโฉนดชุมชนเพื่อเป็นเอกสารสิทธิ์ให้คนรุ่นหลังได้อยู่อย่างไม่ลำบาก นอกจากนี้ยังมีชุมชนชาวเลหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาในรูปแบบเดียวกัน

           จากเหตุการณ์ภัยพิบัติดังกล่าวจึงทำให้ชาวเลบางกลุ่มมีความพยายามตั้งหลักแหล่งถาวร และมีการค้นหารากเหง้าประวัติศาสตร์ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ เพื่อให้สามารถมีสถานะบุคคลเพื่อให้ได้รับสิทธิการบริการหรือสวัสดิการจากภาครัฐ และเพื่อแสดงตัวตนว่าเป็นผู้ที่ได้เกิดและดำรงอยู่ในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาช้านาน อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ การบังคับใช้กฎหมายกลับไม่สามารถอำนวยประโยชน์ได้อย่างเสมอภาค ชาวเลจึงเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ รวมทั้งยังเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อให้เกิดความถูกต้องและสอดคล้องเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวเล โดยเฉพาะชาวมอแกนยังคงไม่มีสถานะบุคคล ไม่มีสัญชาติ ไม่มีสถานะความเป็นพลเมืองไทย (โอลิเวียร์ แฟร์รารี และคณะ, 2549) เนื่องจากความล่าช้าในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงความซ้ำซ้อนของตัวบทกฎหมาย และความยุ่งยากในการทำความเข้าใจและตีความ

 

การต่อรองเชิงความหมายในกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวเล กับรัฐ และนายทุน

           สภาพปัญหาการยื้อแย่งที่ดินของชาวเลเกิดจากความแตกต่างทางฐานคิดของชาวเล รัฐ และนายทุน เกี่ยวกับระบบกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งฐานคิดของชาวเลไม่ได้มีแนวความคิดที่ยึดติดและครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ภายใต้ระบบคิดที่ว่าทรัพยากร ทั้งทะเล ชายหาด ป่าไม้ รวมทั้งสัตว์น้ำในทะเลไม่มีใครเป็นเจ้าของ ทุกคนจึงสามารถเข้าถึงทรัพยากรเหล่านั้นอย่างเท่าเทียม ผนวกกับเงื่อนไขด้านกฎหมายลายลักษณ์อักษร หรือกฎระเบียบที่ยึดโยงกับระบบคิดบางชุดสังคมที่ไม่รู้หนังสือ ไม่เน้นลายลักษณ์อักษร (Non-literate Society) จึงทำให้ชาวเลรุ่นอาวุโสซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่ไม่รู้หนังสือ ไม่รู้กฎหมาย จึงเชื่อคนง่ายและไม่รู้เท่าทันคนภายนอกที่เข้ามาหลอกหลวงเพื่อผลประโยชน์ต่างๆ บางครั้งเมื่อมีกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วกลับเปลี่ยนมือที่ดินอย่างต่อเนื่อง ด้วยความจำเป็นเรื่องปากท้อง หรือถูกหลอก ถูกข่มขู่ หรืออาจมีบางส่วนที่ขายไปด้วยความสมัครใจ เป็นต้น

           จึงกล่าวได้ว่าปัญหาของชาวเลที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน เกิดจากความแตกต่างของฐานคิดและแนวทางปฏิบัติที่มีความแตกต่างหลาย โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของระบบรัฐชาติสมัยใหม่ที่นำพามาสู่กับเกิดการปักปันเขตแดน รวมทั้งการเกิดระบบกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินเกิดขึ้นตามมา ในขณะที่ชาวเลมองว่าการแบ่งปัน การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ทั้งหมดผูกโยง มีเยื่อใย และไม่เบียดเบียน แต่ขณะเดียวกันระบบคิดของนายทุนมองเพียงแค่การจับจอง ยึดครอง ผูกขาด โดยให้ความสำคัญกับปัจจัยการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจเป็นสำคัญ จากความแตกต่างของฐานคิดที่ชาวเลเป็นคนที่ไม่คิดครอบครองจึงทำให้ชาวเลต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย เนื่องจากชาวเลให้ความหมายว่า “เอกสารสิทธิ์ที่ดิน” คือ  “เสาบ้าน” ที่เป็นสิ่งยืนยันสิทธิความชอบธรรมในที่ดินที่ชาวเลเคยอยู่อาศัยมายาวนาน จนกระทั่งเมื่อเหตุการณ์สึนามิผ่านพ้นไป หลักฐานที่ใช้ยืนยันการดำรงชีพของชาวเลจึงถูกพรากไป จนทำให้เกิดปัญหาการยื้อแย่งที่ดินระหว่างชาวเล รัฐ และนายทุนเกิดขึ้น

           สภาพปัญหาข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชาวเล รัฐ และนายทุน ที่มีความสัมพันธ์ซับซ้อนและมีความลื่นไหลของปฏิสัมพันธ์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและชาวเล ที่มีทั้งความสัมพันธ์แบบร่วมมือและต่อรองกัน ขึ้นกับบริบทของเวลาและโอกาส นอกจากนี้ปรากฏการณ์การต่อสู้ดิ้นรน ต่อรองเพื่อเอาตัวรอดของชาวเลที่สะท้อนให้เห็นความสามารถในการเป็นผู้กระทำการทั้งในมิติการต่อรองกับโครงสร้างที่เป็นสถาบันทางสังคม รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างผ่านการดึงเอาปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. 2550 และมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล 2 มิถุนายน 2553 มาเป็นเครื่องมือในการต่อรอง เพื่อให้ชาวเลสามารถเข้าถึงสิทธิทางการเมืองและสิทธิทางวัฒนธรรม

 

จากมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล 2 มิถุนายน 2553 สู่การยกระดับเป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

           จากสภาพปัญหาของชาวเลในด้านต่างๆ ซึ่งถูกจัดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเปราะบางทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ที่ต้องได้รับการฟื้นฟูวิถีชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการผลักดันการแก้ไขปัญหาของชาวเลและชาวกะเหรี่ยง จนกระทั่งมีการเกิดขึ้นของมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล 2 มิถุนายน 2553 และคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง 3 สิงหาคม 2553 แนวโนบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลได้มีการวางมาตรการระยะสั้นและระยะยาว อาทิ การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย การทำโฉนดชุมชนเพื่อเป็นเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษ การสร้างเขตผ่อนปรนให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมงได้ การแก้ปัญหาสัญชาติ การส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรม การแก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ เป็นต้น (สำนักข่าวชายขอบ, 2563)

           การเกิดขึ้นของมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล จึงมีข้อดีในด้านการเกิดการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และภาคส่วนต่างๆ ซึ่งถือเป็นความเข้มแข็งของกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างไรก็ตาม กลับพบว่า มติคณะรัฐมนตรีข้างต้นที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานนับสิบปี แต่สภาพปัญหาต่างๆ ของชาวเลที่สะท้อนผ่านเสียงของชาวเลในงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 11 ณ เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ที่ยังคงกล่าวถึงสภาพปัญหาการเข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ ทั้งสิทธิการเป็นพลเมือง สิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิในพื้นที่ทางจิตวิญญาณ สิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงได้รับ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่ได้รับแก้ไข

 

 

ดร.นฤมล อรุโณทัย ผู้เชียวชาญเรื่องชาวเลในประเทศไทยและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อธิบายถึงประวัติชุมชมอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ  ในงานรวมญาติชาวเล ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563

 

ครูแสงโสม หาญทะเล อธิบายความเป็นมาของชาวอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ ให้นายวราวุธ ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

และ ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์  ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ในงานรวมญาติชาวเล ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563

 

           เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีมีข้อจำกัดของการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากเป็นเพียงระเบียบของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ไม่มีผลบังคับใช้ในทางกฎหมาย เมื่อเปรียบเทียบกับพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พระราชบัญญัติป่าชุมชน พระราชบัญญัติป่าสงวน อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรี ยังขาดการรับรู้จากหน่วยงานภาครัฐ ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ยังคงถูกจับกุมและถูกกีดกันออกจากพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ

           จากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานถือเป็นการบ่มเพาะให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งการสูญเสียอัตลักษณ์วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ยิ่งไปกว่านั้นปัญหาดังกล่าวยังลุกลามเป็นปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ตรงกันข้ามกับนิสัยปกติของชาวเล ที่มีนิสัยรักสงบและไม่ต้องการมีเรื่องราวกับผู้ใด เมื่อเกิดปัญหาที่บีบคั้นสภาพจิตใจและความเป็นอยู่มากขึ้น จึงต้องยืนหยัดต่อสู้และเรียกร้องสิทธิทางวัฒนธรรม

           รูปแบบการดิ้นรนต่อรองของชาวเลกับกฎเกณฑ์ของรัฐ มีการใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยเฉพาะเครื่องมือประมงพื้นบ้าน การใช้เอกสารประวัติศาสตร์ความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ การทำแผนผังเครือญาติ การตรวจลักษณะทางพันธุกรรมกับหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดี (กัญญ์วรา เชื้ออ่อน และคณะ, 2558)

           นอกจากนี้ยังใช้กฎเกณฑ์ของรัฐ ซึ่งถือเป็นทุนทางการเมืองมาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการต่อรองด้วยการใช้ประโยชน์จากมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล 2 มิถุนายน 2553 และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมืองที่สหประชาชาติได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 โดยสาระสำคัญระบุว่า “ชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิในที่ดิน เขตแดน และทรัพยากร ซึ่งพวกเขาครอบครองและเป็นเจ้าของตามประเพณี หรือเคยใช้ หรือเคยได้รับมาก่อน รัฐจักต้องทำให้การยอมรับและคุ้มครองในทางกฎหมาย” ชาวเลจึงดึงเอาหลักเกณฑ์ข้างต้นมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองกับรัฐและนายทุน ภายใต้การมีเครือข่ายทางสังคมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นรวมทั้งองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ในการยกระดับไปสู่พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งนายอภินันท์ ธรรมเสนา ผู้แทนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้กล่าวไว้ในงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 11 ว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวประกอบด้วยสามหลักการ ได้แก่

           1. หลักการด้านการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม 

           2. หลักการด้านการส่งเสริมการจัดการตนเองบนฐานวัฒนธรรม

           3. หลักการสร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม

           โดยมี “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ถือเป็นหัวใจสำคัญของพระราชบัญญัตินี้ การต่อรองในกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวเลจึงสะท้อนให้เห็นผ่านแนวคิดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ชุมชนชาวเลร่วมกันภาคีเครือข่ายทำงานร่วมกัน โดยอาศัยกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลชุมชนด้วยเทคนิควิธีการทางมานุษยวิทยา ทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน การทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ การเก็บรวบรวมข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดทำข้อมูลวิถีชีวิต และประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้เกิดการยอมรับการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมกันระหว่างชาวเล ภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงความพยายามในการเจรจาต่อรองกับภาครัฐ เพื่อสิทธิในพื้นที่ทำกินทางทะเล ด้วยเครื่องมือประมงพื้นบ้าน 17 ชนิด เพื่อยืนยันกับรัฐว่าเครื่องมือดังกล่าวเป็นภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีมายาวนาน และไม่ทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรม จากรูปแบบการต่อรองในมิติต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่า ท่ามกลางสภาพปัญหาที่ชาวเลต้องประสบนั้น ชาวเลถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความสามารถในการดิ้นรนต่อรอง หรือมีความเป็นผู้กระทำการที่มีศักยภาพในการต่อรองกับโครงสร้างของรัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์

 

เอกสารอ้างอิง

มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม. (2559). ชนเผ่าพื้นเมืองอูรักลาโว้ย. กรุงเทพฯ: โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย.

มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิภูมิปัญญาบนพื้นที่สูง  ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย. (2561) . รายงานสังเคราะห์ชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มชายขอบและเปราะบางในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สหภาพยุโรป และคณะ
ทำงานระหว่างประเทศว่าด้วยประเด็นชนเผ่าพื้นเมือง.

นฤมล อรุโณทัย. (2559). “ไทยใหม่หรือใครใหม่? การทำความเข้าใจสัญชาติและความเป็นไทยจหลากหลายมุมมอง” ใน ไทยต่างด้าวท้าวต่างแดน: สังคมวิทยาของชีวิตข้ามพรมแดน. คณะบรรณาธิการ: พัทยา เรือนแก้ว  สุภางค์ จันทวานิช ฉันทนา บรรพศิริโชติ สุริชัย หวันแก้ว. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นฤมล อรุโณทัย และคณะ. (2557). ทักษะวัฒนธรรมชาวเล ร้อยเรื่องราวชาวเล.  กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

สำนักข่าวชายขอบ. (2563). ชาวเล…วิถีชีวิตที่ใกล้จมน้ำ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563. เข้าถึงได้จาก: https://transbordernews.in.th/home/?p=25314.

อาภรณ์ อุกฤษณ์. (2537). ชาวเลและซาไก เจ้าของฝั่งทะเลตะวันตกในคืนวันแห่งความเปลี่ยนแปลง. วารสารทักษิณคดี, 3(3); 89-103.

โอลิเวียร์ แฟร์รารี. (2549). คลื่นแห่งความยุ่งยากบนเกาะพระทอง. กรุงเทพฯ:  อมรินทร์ พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง

 

 

ผู้เขียน

สุดารัตน์  ศรีอุบล

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

 

1  “ชาวไทยใหม่” เป็นชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงให้เรียกชาวเลหรือชาวน้ำว่า "ชาวไทยใหม่" เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมราษฎรในจังหวัดภูเก็ตเมื่อปี 2502 และทรงเสด็จเยี่ยมชาวเลราไวย์ที่หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ชื่อเรียก “ชาวไทยใหม่” จึงเป็นชื่อที่ชาวเลภาคภูมิใจเนื่องจากเป็นชื่อที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และรู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ชื่นชอบให้ถูกเรียกมากกว่าชื่ออื่นๆ (นฤมล อรุโณทัย, 2559)

ป้ายกำกับ ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share