ความรู้เรื่องเมืองไทย เล่มที่ 2 ความเป็นคนไทย

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 2558

ความรู้เรื่องเมืองไทย เล่มที่ 2 ความเป็นคนไทย

 

ความรู้เรื่องเมืองไทย เล่มที่ 2 ความเป็นคนไทย

 

จรรยา ยุทธพลนาวี 

บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)

 

           “ความเป็นคนไทย” เป็นนิยามที่นักวิชาการไม่สามารถหาคำอธิบายที่สมบูรณ์แบบมาเผยแพร่ในสังคมได้ มิใช่ว่านักวิชาการนั้นขาดความเชี่ยวชาญในการค้นคว้า แต่นิยามความเป็นคนไทยหมายรวมถึงความหลากหลายในดินแดนอุษาคเนย์ การผสมกลมกลืนทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม การอพยพเคลื่อนย้ายประชากรทางการเมือง ตลอดจนความเลื่อนไหลทางภาษา ที่หลวมรวมกันก่อให้เกิดความเป็น “คนไทย” ในสังคมไทยที่มีกล่าวได้ว่าเป็นสังคมแห่งพหุวัฒนธรรม

 

ภาพปกหนังสือ “ความเป็นคนไทย”

 

ความรู้เรื่องเมืองไทย เล่มที่ 2 ความเป็นคนไทย

           หนังสือเรื่อง ความรู้เรื่องเมืองไทย เล่มที่ 2 ความเป็นคนไทย โดย รศ.สุมิตร ปิติพัฒน์ อดีตคณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการที่มีความสนใจเกี่ยวกับชนชาติไท วัฒนธรรม พฤติกรรมของคนไทยและคนไท ทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและนอกประเทศไทย1 โดยหนังสือเล่มนี้ เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือชุด ความรู้เรื่องเมืองไทย อันประกอบด้วยหนังสือจำนวน 3 เรื่อง2 ได้แก่

           1. พัฒนาการทางสังคม–วัฒนธรรมไทย ผู้ค้นคว้าเรียบเรียง คือ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม

           2. ความเป็นคนไทย: พิจารณาจากมิติด้านเชื้อชาติ ภาษา การเมืองและวัฒนธรรม ผู้ค้นคว้าเรียบเรียง คือ รศ.สุมิตร ปิติพัฒน์

           3. ประวัติศาสตร์ชาวนาสยาม ผู้ค้นคว้าเรียบเรียง คือ รศ.ดร.ธิดา สาระยา           

           งานการค้นคว้าประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทยชุดนี้ จึงเป็นแหล่งความรู้ในการวิเคราะห์สังคมและวัฒนธรรมไทยที่จะช่วยสร้างความเข้าใจแนวความคิดเรื่องความเป็นคนไทยได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีการใช้ข้อมูลในมิติที่หลากหลายทั้งด้านประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา นิเวศวิทยา ภาษาศาสตร์ รัฐศาสตร์ ฯลฯ แตกต่างจากการวิเคราะห์ด้วยแง่มุมทางประวัติศาสตร์เพียงลำพังอย่างที่ผ่านมา

 

ความเป็นคนไทยจากมิติด้านเชื้อชาติ

           การจัดกลุ่มของมนุษย์ตามเชื้อชาตินั้นให้ความสำคัญกับการจัดแบ่งมนุษย์ตามลักษณะความคล้ายคลึงกันขององค์ประกอบทางชีวภาพ ซึ่งประชากรที่มีแต่งงานกันภายในกลุ่มของตนเองจะก่อให้เกิดองค์ประกอบทางพันธุกรรมบางอย่างร่วมกันจนทำให้มีลักษณะทางกายภาพที่เด่นชัด การที่ประชากรแต่งงานกันในกลุ่มของตนเอง อาจเกิดขึ้นจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ห่างไกลจากประชากรกลุ่มอื่น หรือการถูกกีดกันทางสังคมไม่ให้มีการแต่งงานข้ามกลุ่ม ในขณะที่กลุ่มประชากรที่มีการอพยพโยกย้ายหรือแต่งงานกับประชากรกลุ่มอื่น จะมีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติลดลง การจัดแบ่งกลุ่มคนโดยเชื้อชาติสามารถจัดแบ่งได้หลายรูปแบบ ทั้งการแบ่งตามสีผิวและถิ่นกำเนิด การพิจารณาจากสีผิว ผม หน้าตา และกะโหลกศีรษะ การแบ่งตามภูมิศาสตร์ ตลอดจนการให้ความสนใจองค์ประกอบทางพันธุกรรม

           สำหรับการศึกษาด้านการจัดกลุ่มทางเชื้อชาติของคนไทยนั้นมักถูกจัดรวมอยู่ในกลุ่มเชื้อชาติมองโกลอยด์ กลุ่มเอเชียอาคเนย์ ทั้งนี้ ผู้เขียนได้กล่าวถึงการศึกษาองค์ประกอบทางชีวภาพของนักวิชาการไทย เพื่อนำมาอภิปรายการจำแนกเชื้อชาติของกลุ่มคนไทยได้ละเอียดมากขึ้น ดังนี้

           การศึกษาของ สุด แสงวิเชียร ที่เปรียบเทียบกะโหลกของคนไทยที่รวบรวมอยู่ในคณะกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลกับโครงกระดูกมนุษย์โบราณสมัยหินใหม่จากการค้นพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี พบว่าลักษณะของกะโหลกมีความคล้ายคลึงกันมาก ไม่แตกต่างมากพอที่จะแบ่งออกเป็นคนละเชื้อชาติ และเขาสันนิษฐานว่ามนุษย์โบราณเหล่านี้ เป็นบรรพบุรุษของคนไทยที่อพยพเคลื่อนที่มาอาศัยในบริเวณดังกล่าว

           การศึกษาของ สมศักดิ์ พันธุ์สมบุญ ซึ่งเสนอข้อคิดเห็นจากการตรวจเลือดของผู้ป่วยโรงพยาบาลศิริราชพบว่า กลุ่มเลือดของคนไทยที่โรงพยาบาลศิริราชนั้น มีความคล้ายคลึงกับชาวอินโดนีเซียมากกว่าชาวจีน

           การศึกษาของ นายแพทย์ประเวศ วะสี ซึ่งศึกษาเฮโมโกลบินอีของคนพื้นเมืองในเอเชียอาคเนย์ พบว่าคนไทยภาคอีสานมีเฮโมโกลบินอีในความถี่สูงขณะที่คนจีนเกือบไม่พบเฮโมโกลบินอี จึงได้ตั้งสมมติฐานไว้ 3 ข้อ คือ

           1. คนไทยไม่เคยอยู่ในแดนจีนมาก่อน

           2. เมื่อคนไทยอยู่ในดินแดนจีนลักษณะเฮโมโกลบินยังปกติ แต่เมื่ออพยพลงมาได้มีการผสมกับลักษณะของคนท้องถิ่น

           3. ความแตกต่างของเฮโมโกลบินเป็นผลจากการวิวัฒนาการในสภาพแวดล้อมที่ต่างกันไม่สัมพันธ์กับการอพยพ           

           การศึกษาของ เสมอชัย พูลสุวรรณ ที่เสนอผลการตรวจสอบความสัมพันธ์ทางเชื้อสายระหว่างประชากรด้วยวิธีการทางพันธุศาสตร์ประชากร (Population Genetics) พบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ไทยในพื้นที่ตอนกลางของเอเชียอาคเนย์ มีความใกล้ชิดทางเชื้อสายกับพวกออสโตรเอเชียติกมากที่สุด ค่อนข้างห่างจากพวกออสโตรนีเชียน และห่างมากที่สุดจากพวกจีน–ทิเบต จึงเป็นข้อสนับสนุนแนวความคิดว่า บรรพบุรุษทางเชื้อสายของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยในตอนกลางของเอเชียอาคเนย์คงเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมของเอเชียอาคเนย์

           การศึกษาของ ถาวร วัชราภัยและคณะ ซึ่งศึกษาลักษณะเดียวกับงานของ  เสมอชัย พูลสุวรรณ แต่เพิ่มการศึกษาลักษณะทางกายภาพของฟันเข้าไปอีกส่วนหนึ่ง และเปลี่ยนกลุ่มเปรียบเทียบจากกลุ่มชาติพันธุ์ไทยในตอนกลางของเอเชียอาคเนย์ เป็นกลุ่มไทดำที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในเขตสิบสองจุไท พบว่ามีความคล้ายคลึงทางเชื้อชาติกับกลุ่มจีน-ทิเบต มากที่สุด

           เมื่อพิจารณาผลการศึกษาเกี่ยวกับเชื้อชาติของคนไทยดังกล่าว จะเห็นได้ว่าคนไทยนั้นมีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนอื่นๆ ในเอเชียอาคเนย์ โดยกลุ่มคนเหล่านี้มีการอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันมาเป็นเวลานาน มีการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมผ่านการแต่งงานข้ามกลุ่มและการอพยพโยกย้าย จึงยากที่จะเป็นการสรุปหาความแตกต่างทางด้านกายภาพอย่างชัดเจนของคนไทย และเป็นการยากที่จะเสาะหาคนไทยที่เป็นเชื้อชาติไทยโดยบริสุทธิ์ได้

 

ความเป็นคนไทยจากมิติด้านภาษา

           การพิจารณาความเป็นคนไทยในมิติด้านภาษาไม่สามารถจำกัดเฉพาะคนไทยในประเทศไทยเท่านั้น เนื่องจาก “ภาษาไทย” เป็นส่วนหนึ่งของภาษาตระกูลไทซึ่งทำให้ภาษาไทยมีความสัมพันธ์กับภาษาอื่นในตระกูลเดียวกัน ผู้เขียนได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการใช้มิติทางภาษาศาสตร์มาเป็นเกณฑ์พิจารณาความเป็นไทยว่า “ก็คงต้องรวมกลุ่มประชากรที่ยังใช้ภาษาตระกูลไททั้งหลายว่าเป็นพวกเดียวกัน แม้ว่าปัจจุบันพวกเขาจะแยกจากกันอยู่คนละประเทศ”3  แต่แนวคิดนี้มีข้อจำกัดอยู่ที่การติดต่อสื่อสารระหว่างกลุ่มผู้ใช้ภาษา ดังเช่นในกรณีคนไทยที่ไม่สามารถเข้าใจภาษาจ้วง ซึ่งเป็นภาษาตระกูลไทที่ใช้ในมณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากขาดการติดต่อและแยกห่างจากกัน แตกต่างจากภาษาไทยกับภาษาลาวที่สามารถเข้าใจกันได้มากกว่าเนื่องจากผู้ใช้ภาษาทั้ง 2 กลุ่มยังมีความใกล้ชิดกัน

           การใช้ภาษาในการพิจารณาความเป็นไทยหรือไท ยังมีข้อจำกัดในด้านของอิทธิพลทางภาษา ซึ่งหมายรวมถึงการหยิบยืมและรับเอาภาษาของกลุ่มคนอื่นมาใช้ รวมถึงการเผยแพร่อิทธิพลทางภาษาไปยังกลุ่มวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกัน การพิจารณาความเป็นไทยโดยมิติทางภาษาจึงควรนำปัจจัยทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันพิจารณาเพื่อความสมบูรณ์

 

ความเป็นคนไทยจากมิติด้านการเมือง

           การพิจารณาเรื่องความเป็นคนไทยจากมิติทางการเมืองนั้นถูกกำหนดอยู่ภายใต้เงื่อนไขอาณาเขตการปกครองของรัฐ (state) และประเทศ (nation) โดยผู้เขียนได้กล่าวถึงความหมายของรัฐ ว่าประกอบด้วยกลุ่มคนที่อยู่ภายใต้อาณาเขตที่อำนาจการปกครองของรัฐครอบคลุมไปถึง

           ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นภัยจากข้ออ้างในการปกครองซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้สยามสูญเสียดินแดน จึงทรงปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อให้อาณาจักรสยามมีความเป็นเอกภาพด้วยการพยายามสร้างรัฐชาติ (nation state) และสร้างกระบวนการที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เกิดความรู้สึกเป็นคนสยามหรือคนไทยขึ้นโดยการเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมของคนไทยในกรุงเทพฯ ให้เป็นแนวปฏิบัติของราษฎรในภูมิภาคต่างๆ 

           “ความเป็นคนไทย” ในมิติด้านการเมืองยังถูกทำให้ชัดเจนขึ้นผ่านการออกกฎหมาย พระราชบัญญัติการแปลงชาติ ร.ศ. 130 เพื่อเปิดโอกาสให้คนต่างชาติแปลงเป็นคนชาติไทยโดยยืนคำขอผ่านเสนาบดีว่าการต่างประเทศ และพระราชบัญญัติสัญชาติ ในปี พ.ศ. 2456 ซึ่งได้กำหนดว่าคุณสมบัติของผู้ที่มีสัญชาติไทยว่า เป็นผู้ที่กำเนิดแต่บิดาหรือมารดาที่เป็นคนไทย เป็นผู้ที่เกิดในพระราชอาณาจักรสยาม และเป็นชาวต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงชาติโดยสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าในภายหลังกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้สัญชาติจะถูกแก้ไขอีกหลายครั้ง ภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศเปลี่ยนชื่อ “ประเทศสยาม” เป็น “ประเทศไทย” กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้สัญชาติดังกล่าวจึงเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงแนวความคิดที่รัฐมีต่อประชากร และความหวาดระแวงต่อชาวต่างชาติในทัศนะของผู้นำ

           การพิจารณาความเป็นคนไทยจากมิติทางการเมืองจึงเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดโดยรัฐ ตามนโยบายทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามเหตุการณ์ภายในสังคมและเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ

 

ความเป็นคนไทยจากมิติด้านวัฒนธรรม

           ผู้เขียนเสนอว่าการพิจารณาความเป็นคนไทยจากมิติด้านวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ซับซ้อน เนื่องจากวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การศึกษาวัฒนธรรมจึงมักเป็นการกล่าวถึงมุมมองหรือสังคมเพียงบางส่วน ไม่สามารถอภิปรายให้เห็นภาพรวมโดยสมบูรณ์ของวัฒนธรรมได้ ทั้งนี้ วัฒนธรรมยังเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสังคมอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้ ในสังคมขนาดใหญ่ย่อมมีกลุ่มคนที่มีลักษณะภายในกลุ่มที่แตกต่างไปจากกลุ่มอื่นแม้อยู่ภายใต้แบบแผนวัฒนธรรมเดียวกันที่เรียกว่าเป็น “วัฒนธรรมย่อย”

           การพิจารณาความเป็นคนไทยจากวัฒนธรรมไทยนั้น ผู้เขียนได้กล่าวว่า ควรศึกษาสภาพสังคมไทยอย่างละเอียดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเพื่อให้เข้าใจลักษณะดั้งเดิมของสังคมไทย การปกครอง เศรษฐกิจ ความเชื่อ จารีตประเพณี ฯลฯ รวมถึงข้อมูลของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ที่อาจศึกษาเปรียบเทียบกับสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนำไปสู่การอธิบายลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย ในที่นี้ ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียมวัฒนธรรมไทยและลาว ที่มีประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเดียวกัน มีความใกล้ชิดกันทางสังคม แต่ปัจจุบันวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมลาวย่อมแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าจะมีมรดกวัฒนธรรมทางภาษา ศาสนา ขนมธรรมเนียมและประเพณีบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน

           นอกจากนี้ ผู้เขียนยังยกแนวคิดของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยมาอภิปรายเรื่อง “ความเป็นคนไทย” ผ่านมิติทางวัฒนธรรมว่า

           “วัฒนธรรมแห่งชาติไทยคือความหลากหลาย ย่อมสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของดินแดนที่เป็นประเทศไทย (และประเทศเพื่อนบ้าน) ซึ่งเคยมีคนหลายชาติหลายวัฒนธรรมได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งภูมิลำเนา หรือนำเอาวัฒนธรรมของตนมาทิ้งไว้ให้ ตลอดจนผู้คนในดินแดนนี้ได้ปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่ไหลเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อนเสมอมา ฉะนั้น จึงไม่มีทั้งเอกภาพและเอกลักษณะในวัฒนธรรมแห่งชาติของไทย”4

           รวมถึงกล่าวถึงแนวความคิดของนักวิชาการต่างชาติ 2 คนที่พยายามศึกษาลักษณะเฉพาะของบุคลิกภาพคนไทย ได้แก่ Ruth Benedict และ John Embree  ซึ่งนักวิชาการทั้งสองท่านนี้ได้กล่าวถึงบุคลิกภาพของคนไทยว่าเป็นผู้ที่รักสนุก ขาดระเบียบวินัย และโครงสร้างทางสังคมมีผลต่อการเลี้ยงดู

           หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการอภิปรายแนวความคิดเรื่องความเป็นคนไทยผ่านการศึกษาในมิติต่างๆ ทั้ง 4 ด้าน โดยในแต่ละมิติได้มีการค้นคว้าเอกสารทางวิชาการที่ทำให้เห็นทั้งภาพรวมของแต่ละมิติ และรายละเอียดแนวคิดของนักวิชาการแต่ละท่านที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไทยในแต่ละแง่มุม

           ข้อสรุปของรองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ที่สื่อผ่านงานเขียนชิ้นนี้คือความพยายามที่จะสร้างความเข้าใจว่าความเป็นคนไทยนั้นถูกสร้างขึ้นด้วยการผสมกลมกลืนทั้งทางเชื้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรม ไม่มีนิยามที่จะอธิบายได้ว่า “ความเป็นไทยแท้” นั้นหมายถึงสิ่งใด แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์และข้อค้นพบต่างๆ แสดงให้เห็นว่าความเป็นคนไทยหรือการพิจารณาว่าใครเป็นคนไทยจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และไม่สามารถหานิยามความเป็นคนไทยที่สมบูรณ์มากล่าวอย่างชัดเจนได้

           คำถามที่ว่า “คนไทยมาจากไหน” และ “คนไทยหรือเปล่า” จึงเป็นข้อคำถามตั้งต้นที่เชิญชวนให้ผู้อ่านทุกท่านมาร่วมหาคำตอบกับหนังสือในซีรี่ส์ชุด “ความเป็นไทย” ที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ได้นำเสนอผ่านการสรุปสาระสำคัญของหนังสือแต่ละเรื่อง ข้อเขียนทุกเรื่องในชุดนี้มุ่งหวังให้ทุกท่านได้เข้าใจเรื่องความเป็นไทยได้ดียิ่งขึ้น

 

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยมานุษยวิทยาการเมือง มีพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-anthropology

 

วันและเวลาให้บริการ

ห้องสมุด ชั้น 7-8 วันจันทร์–ศุกร์ : 08.30–16.30 น. และวันเสาร์ : 09.00–16.00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ วันจันทร์–ศุกร์ : 08.00-18.00 น. และวันเสาร์ : 09.00–17.00 น.

 

 

 

ผู้เขียน

จรรยา ยุทธพลนาวี

บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)

 

 

1  สุมิตร ปิติพัฒน์. ฐานข้อมูลนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาไทย. เข้าถึงเมื่อ 25 ธันวาคม 2563. เข้าถึงโดย https://db.sac.or.th/anthropologist/anthropologist/60

2  อ้างอิงจากในคำนิยมของหนังสือ ความรู้เรื่องเมืองไทย เล่มที่ 2 ความเป็นคนไทย

3  สุมิตร ปิติพัฒน์. ความรู้เรื่องเมืองไทย เล่มที่ 2 ความเป็นคนไทย. เอกวิทย์ ณ ถลาง [บรรณาธิการ]. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2544. หน้า21.

4  นิธิ เอียวศรีวงศ์. “ความหลากหลายของวัฒนธรรมไทย: การท้าทายใหม่.” ใน สู่ความเข้าใจวัฒนธรรม. อ้างถึงใน สุมิตร ปิติพัฒน์. ความรู้เรื่องเมืองไทย เล่มที่ 2 ความเป็นคนไทย. เอกวิทย์ ณ ถลาง [บรรณาธิการ]. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2544. หน้า 65.

 

ป้ายกำกับ ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share