บ้านเหมืองแพร่ ความห่างไกล ที่อยู่ใกล้กับเพื่อนบ้านและความเค็ม
บ้านเหมืองแพร่ ความห่างไกล ที่อยู่ใกล้กับเพื่อนบ้านและความเค็ม1
ปณิตา สระวาสี2
ชาวบ้านพร้อมหน่วยงานช่วยกันขุดลอกบ่อเกลือและนำท่อปูนมาครอบปากบ่อเกลือ
(ภาพถ่ายโดยชุมชนบ้านเหมืองแพร่)
บ้านเหมืองแพร่ เป็นหนึ่งในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการคลังข้อมูลชุมชน กับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) บ่อเกลือกลางลำเหืองเป็น “มรดกวัฒนธรรม” ที่ชุมชนเห็นความสำคัญ และเลือกขึ้นมาเป็นสิ่งที่พวกเขาฝันอยากจะเห็นการรื้อฟื้น และต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พร้อมกับคิดค้นผลิตภัณฑ์อันเนื่องมาจากเกลือที่ไม่เหมือนใคร
การเริ่มต้นเก็บและบันทึกข้อมูลเรื่องเล่าเกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมของพวกเขา สตาร์ทด้วยการทำความรู้จักเครื่องมือทางมานุษยวิทยา อาทิ แผนที่เดินดิน ปฏิทินชุมชน ผังเครือญาติ ฯลฯ ซึ่งเป็นตัวช่วยในการทำงานให้ง่ายและสนุก
ขณะที่ชุมชนเดินหน้าภารกิจเพื่อไปให้ถึงฝัน ผู้เขียนได้รับโอกาสที่ดีในการทำความรู้จักหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ ด้วยการลงไปช่วยฝึกชุมชนทำแผนที่เดินดิน แม้ระยะเวลาสั้นๆ เพียงสามวัน ก็ได้เห็นและได้ฟังเรื่องเล่าที่หลากหลายของผู้คนในดินแดนสุดขอบรัฐ
ทิวทัศน์ลำน้ำเหือง ฝั่งตรงข้ามคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
น้ำเหืองบ่กั้น
17.5022141,101.0754129 พิกัดของบ้านเหมืองแพร่ ตำบลนาแห้ว อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ที่เรียกได้ว่า “ไกลปืนเที่ยง” จากศูนย์กลางอำนาจ ห่างจากอำเภอเมืองเลยราว 109 กิโลเมตร แต่กลับห่างจากดินแดนสปป.ลาว เพียงไม่เกิน 20 เมตร ตามความกว้างของลำน้ำเหืองเมื่อคะเนด้วยสายตา
ลำน้ำเหืองเป็นแม่น้ำสายแคบๆ ที่เป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างแผ่นดินไทยกับลาว ย้อนไปถึงสมัยรัชกาลที่ 5 สนธิสัญญาแบ่งเขตแดนกันระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ทำให้ลำน้ำเหืองที่ผ่ากลางหมู่บ้าน ถูกกำหนดให้เป็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ แต่เส้นสมมติก็ไม่อาจกั้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนสองฟากน้ำได้
“ฟากน้ำ” เป็นคำเรียกติดปากของคนบ้านเหมืองแพร่ฝั่งไทยที่หมายถึงหมู่บ้านเหมืองแพร่ที่อยู่อีกฝั่งลำน้ำเหือง คนบ้านเหมืองแพร่หลายคนอพยพมาจากฟากน้ำ ตั้งรกรากอยู่ฝั่งไทย บางคนยังมีญาติพี่น้องอยู่อีกฟากน้ำ และไปมาหาสู่กันมาโดยตลอด
“ยายเป็นคนฟากน้ำ ได้แฟนอยู่ฝั่งนี้ ย้ายมาสร้างครอบครัวที่นี่ แต่ก่อนเราเป็นแผ่นเดียวกัน ข้ามไปข้ามมา ตอนนี้ญาติย้ายมานี่หมดแล้ว ไปอยู่อำเภอชนแดน พิษณุโลก” ยายปัน ภูคั่ง อายุ 73 ปี เจ้าของร้านเครื่องอุปโภคบริโภค เท้าความถึงรากของตนเอง
“คนอีสานบ้านเราเขาว่า ‘ไปพู้นกินปลา มาพี้กินข้าว’ คือเป็นการแบ่งปันกัน มาแลกเปลี่ยนกัน มีน้ำใจซึ่งกันและกัน ความจริงเขา (คนฟากน้ำ) อยากได้เกลือ แต่เขาบอกว่ามาเยี่ยมญาติ ไม่มีอะไรมาต้อน (ฝาก) แต่ด้วยจิตสำนึกเรา เราก็เอาเกลือตอบแทน เป็นการแลกเปลี่ยนกัน” คุณอาวุธ ลาภพันแสน เจ้าของร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ย้อนอดีตถึงการแลกเปลี่ยนทรัพยากรกันระหว่างคนสองฟากน้ำ
ปัจจุบันบ้านเหมืองแพร่เป็นจุดผ่อนปรน มีระเบียบข้อปฏิบัติการข้ามไปมาระหว่างคนสองฝั่ง ปกติการสัญจรจะใช้แพไม้ไผ่ข้ามลำน้ำ ส่วนช่วงหน้าแล้งชาวบ้านจะทำสะพานไม้ไผ่ชั่วคราวเพื่อข้ามแม่น้ำเหือง
ทั้งนี้จุดผ่อนปรนจะอนุญาตให้ผู้คนทั้งสองฝั่งข้ามไปมาได้เฉพาะวันพระ 8 ค่ำ และ 15 ค่ำ เท่านั้น ในวันดังกล่าว หมู่บ้านจะคึกคักมากเป็นพิเศษ มีตลาดนัดขนาดใหญ่ที่ผู้คนทั้งสองฝั่งมาจับจ่ายใช้สอย ส่วนร้านค้าขายของอุปโภคบริโภคที่มีเกือบสิบร้านในหมู่บ้าน จะมียอดขายมากเป็นพิเศษในช่วงนั้น ขณะที่สินค้าของพี่น้องจากอีกฟากน้ำก็เป็นที่ต้องการของฝั่งไทย ผู้คนมายืนรอรับซื้อริมลำน้ำเลยทีเดียว เช่น ถ่านไม้ เห็ดหน้าไค และของป่าต่างๆ
ชาวบ้านพร้อมหน่วยงานช่วยกันขุดบ่อเกลือและนำท่อปูนมาครอบปากบ่อเกลือ
(ภาพถ่ายโดยชุมชนบ้านเหมืองแพร่)
บ่อเกลือระหว่างการขุดลอก (ภาพถ่ายโดยชุมชนนาแห้ว)
สงครามในความทรงจำ
ด้วยความที่เป็นหมู่บ้านตะเข็บชายแดนและอยู่ในจุดยุทธศาสตร์การทหารที่สำคัญ เมื่อสัมภาษณ์คนในชุมชนถึงเรื่องราวในอดีตของหมู่บ้าน สงครามและการสู้รบเป็นประเด็นที่หลายคนระลึกถึง เรื่องที่พวกเขาเล่าสะท้อนผลกระทบของสงครามและการเอาตัวรอดของคนเล็กคนน้อย ทั้งเรื่องสงครามกลางเมืองในลาวที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2518 และสงครามร่มเกล้าระหว่างไทยกับลาวใน ปี พ.ศ. 2531 เหตุการณ์สำคัญที่ไทยเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำทั้งๆ ที่มีกำลังรบที่ดูจะเหนือกว่า จนต้องเจรจาสงบศึก
“ช่วง ‘แตกศึก’ (ลาวแตก) ฝั่งลาวยิงกัน ป้ายังไม่ได้แต่งงาน ชาวบ้านได้ยินเสียงปืน ตกใจ ย้ายไปนอนอยู่ตัวอำเภอ ต้องเย็บผ้าขาวม้าเก็บของมีค่า มัดเอวติดตัวไว้ หนีไปนอนหลบในร่องเหมืองร่องน้ำ อำเภอเขาให้ทำที่หลบภัย ใช้ยุ้งข้าวเป็นที่หลบ ลูกระเบิดจะได้ตกใส่ข้าวเปลือกแทน”
“แล้วตอนที่ป้าท้องได้ 8 เดือน เกิดศึกร่มเกล้า วิ่งหนี มีหลุมหลบภัยแล้ว ชาวบ้านไม่มีเวลาทำมาหากินเลย” ป้าบุญเพ็ง อินทอง เจ้าของรีสอร์ทเจ้าแรกๆ ในนาแห้ว ย้อนชีวิตที่อยู่ในเหตุการณ์การสู้รบอย่างน้อยสองครั้งในชีวิต แน่นอนว่าคำอธิบายในแผนที่เดินดินโดยคนในชุมชน ที่เกี่ยวกับสถานที่สำคัญหลายแห่งของหมู่บ้าน ผูกโยงอย่างแนบแน่นกับประวัติศาสตร์กับทั้งเพื่อนบ้าน สงคราม และการสู้รบ
คุณอิศรากรณ์ พลธรรม หัวหน้าคณะทำงานของบ้านเหมืองแพร่ให้ข้อมูลเพิ่มว่า บ้านเลขที่ 79 บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ ริมถนนสายหลักของหมู่บ้าน ปัจจุบันคือบ้านของผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านในพื้นที่รู้กันดีว่า บ้านไม้ธรรมดาหลังนี้ถูกใช้เป็นสถานที่เจรจาสงบศึกสงครามร่มเกล้า ระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและลาวหลายต่อหลายครั้ง หรือที่ทำการเทศบาลตำบลนาแห้ว แต่เดิมเป็นสถานที่ที่ตำรวจตระเวนชายแดน ใช้เป็นฐานปฏิบัติการในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ และสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ไว้ขึ้นลงเพื่อสะดวกในการปฏิบัติการรักษาความสงบ จนชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “นาสนามบิน”
ทีมบ้านเหมืองแพร่ฝึกทำแผนที่เดินดิน
ทีมบ้านเหมืองแพร่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน (ภาพถ่ายโดยชุมชนบ้านเหมืองแพร่)
บ่อเกลือกลางลำน้ำ คุณค่าที่มากไปกว่าความเค็ม
“ทำเกลือกันมาตั้งแต่รุ่นกำนันคำภา จันทะคุณ รุ่นตาม่อน (รุ่นทวด) ตอนเด็กเคยไปนอนกับยายม่อน(ทวด) กับยาย กับแม่ เราต้องไปนอนเฝ้าบ่อเกลือ เที่ยงคืนลุกลงไปตักน้ำเกลือ ไม่งั้นไม่ทันคนอื่น มีกระป๋องเล็กๆ ใช้ตะขอหย่อนลงไป ตักขึ้นมาทีละน้อย เทใส่คุ หาบนึงกว่าจะได้ก็ต้องตักสิบกระป๋องน้อย ตลิ่งมันสูงเดินหาบขึ้นลงบ่อเกลือกับตูบต้มเกลือ เอาน้ำเกลือมาเทใส่โบมเกลือ (รางไม้) ตักน้ำเกลือใส่กะทะ ใช้เวลาต้ม 4-5 ชั่วโมง คอยเติมน้ำเกลือไม่ให้แห้ง เมื่อมีเกลือผุดขึ้นขอบกะทะ ก็ตักเกลือออก เอาเกลือใส่ตะกร้าให้น้ำหยด พอแห้งจึงไปบรรจุ...
...ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงทำ กลางคืนมีเพื่อนไปอยู่ด้วยกัน คนแก่คุยกัน นั่งเคี้ยวหมากนั่งเฝ้า มีหลานรุ่นอายุ10-13 ปี ไปช่วยงานและนอนเฝ้ากับยายม่อน ทุกเตาส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงหมด มีผู้ชายน้อยมาก ผู้ชายหาฟืนมาให้ ไม่นอนเฝ้าแล้ว เราต้องใส่ฟืนตลอดไม่ให้ดับ ต้มกันทั้งคืนทั้งวัน”
ยายคำภู ดวงอุปะ และ ยายคำผุน พรมใจ สองพี่น้องอายุ 73 ปี และ 62 ปี เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศการต้มเกลือสมัยครั้งยังเด็ก แม้จะเหนื่อยแต่ก็เป็นความทรงจำอันอบอุ่นของพวกเธอ ผลลัพธ์ที่ได้จากการต้มเกลือไม่ใช่แค่ได้เครื่องปรุงรสสีขาวเนื้อละเอียด แต่มันสร้างพื้นที่ทางสังคมที่ผู้หญิงส่งต่อความรู้ เรื่องราว และเรื่องเล่าจากรุ่นสู่รุ่น
ควันไฟจากเตาต้มที่ลอยอ้อยอิ่งขึ้นจากตูบต้มเกลือหลายสิบหลัง ที่ปลูกเรียงรายบนตลิ่งใกล้บ่อเกลือกลางลำน้ำเหืองของ 28 ตระกูล ที่ได้รับสิทธิในการต้มเกลือ เนื่องจากเป็นบรรพบุรุษของตระกูลเป็นผู้ช่วยขุดบ่อเกลือเมื่อตอนพบบ่อเกลือครั้งแรกเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว ชาวบ้านจะเริ่มต้มตั้งแต่เดือนสามจนถึงก่อนสงกรานต์ มีการทำพิธีเลี้ยงบ่อก่อนเริ่มต้มด้วย
อย่างไรก็ดีชาวบ้านทยอยเลิกการต้มเกลือหลายระลอกตั้งแต่หลังน้ำท่วมใหญ่ในหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2522 ช่วงสงครามร่มเกล้า และการประกาศเขตอุทยานแห่งชาตินาแห้ว ในปี พ.ศ. 2537 ที่ทำให้หาฟืนในป่ามาต้มเกลือผิดกฎหมาย รวมถึงเมื่อถนนหนทางสะดวก มีเกลือราคาถูกเข้ามาขายจากขอนแก่น
แม้บ้านเหมืองแพร่ จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ บนแผนที่ประเทศไทย แต่สำคัญคือพวกเขาภาคภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมในหมู่บ้านของตัวเอง เกลือ” เป็นมรดกที่อาจดูไม่ได้มีมูลค่าในสายตาคนอื่น แต่สิ่งเล็กน้อยนั้นมีคุณค่าทางสังคมกับชุมชน พวกเขามีประวัติศาสตร์หมู่บ้านที่เชื่อมโยงอย่างสำคัญกับประวัติศาสตร์ระดับประเทศ นอกเหนือจากความห่างไกลและความเค็ม พวกเขารู้ดีว่าหมู่บ้านตนเองยังมีของดีอีกมาก โปรดติดตามก้าวย่างพัฒนาต่อไปของพวกเขา
1 ข้อเขียนนี้มาจากการสัมภาษณ์ชาวบ้าน ระหว่างการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อทำแผนที่เดินดินและประวัติชุมชน วันที่ 24-26 เมษายน 2562 และจากข้อมูลที่เก็บและจัดการสู่ระบบคลังข้อมูลชุมชน โดยคุณอิศรากรณ์ พลธรรม และคณะทำงานคลังข้อมูลชุมชนบ้านเหมืองแพร่
2 นักวิชาการ กลุ่มงานคลังข้อมูลวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)