ข้าวของสามัญในพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา

 |  พิพิธภัณฑ์ จดหมายเหตุ
ผู้เข้าชม : 2542

ข้าวของสามัญในพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา

           ปี ค.ศ. 2008 ออร์ฮาน ปามุก เขียนเรื่องราวความรักของคนต่างชนชั้นโดยมีฉากดำเนินเรื่องเป็นบริบททางสังคมตุรกีช่วงทศวรรษ 1970 ผ่านหนังสือที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก รู้จักกันในนาม “The Museum of Innocence”

           เมื่อตัวละครหลักอย่างเคมาล หนุ่มนักเรียนนอกหมั้นหมายกับสิเบล สาวพราวเสน่ห์จากครอบครัวชนชั้นสูง เส้นทางความรักที่เหมาะสมและสมบูรณ์แบบของทั้งคู่ดูเสมือนกำลังเป็นไปอย่างงดงาม แต่เหตุการณ์ปกติของชีวิตกลับชักนำฟูซุนสาวสวยทว่ามีฐานะยากจนซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติห่าง ๆ ของเคมาลเข้ามา

           ความรักในช่วงเวลาอันสั้นแต่ดูดดื่มระหว่างเคมาลและฟูซุน เป็นเหตุให้การวิวาห์ที่วาดไว้กับสิเบลไปไม่ถึงฝั่งฝัน

           หลุมแห่งความรักที่ไม่เหมาะสมได้กลบฝังเคมาล ชีวิตที่เปลี่ยนผันนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมแห่งรัก ความวิปโยคที่ก่อเกิดส่งผลให้เขาต้องการเก็บสิ่งของสามัญของคนรักพร้อมบริบททางสังคมตุรกีในห้วงขณะนั้นไว้ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำอันไร้เดียงสาของตนเอง

 

ภาพปกหนังสือ พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา (The museum of innocence)

เขียนโดย Orhan Pamuk, นพมาส แววหงส์, แปล.

 

การเดินทางครั้งยิ่งใหญ่....ท่องไปในโลกพิพิธภัณฑ์กับเคมาล

           ก่อนการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา ออร์ฮาน ปามุก พาผู้อ่านเข้าร่วมถอดรื้อกระบวนการค้นคว้าและหาข้อมูลร่วมกับเคมาลผ่านการเดินทางท่องเที่ยวไปยังพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ทั่วโลก

           1,743 คือ ตัวเลขแสดงจำนวนพิพิธภัณฑ์ทั้งหมด โดยแต่ละแห่งเขาเก็บบัตรผ่านไว้ทุกใบ

           ภายหลังได้เข้าชมและพบเห็นสิ่งของแปลกใหม่รวมถึงของเล็กจิ๋วนับ 10,000 ชิ้น ซึ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่เปรู อินเดีย เยอรมนี อียิปต์ และโดยเฉพาะเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่มีพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กซึ่งเก็บรวบรวมชีวิตสามัญของผู้คนเอาไว้ สร้างความซาบซึ้งและก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้เคมาลรู้สึกเป็นครั้งแรกว่า ข้าวของต่าง ๆ ที่เขาสะสมไว้ ไม่ว่าจะเป็นฟันปลอมของตารึกเบย์ (พ่อของฟูซุน) ตลับยาเปล่า ๆ ใบเสร็จ กิ๊บติดผมและอีกสารพันชิ้นช่างเต็มไปด้วยความหมาย

           เอกลักษณ์แห่งความสามัญในพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์มิวเซ ฌาคเกอมารต์-อองเดร ที่มีการจัดข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไว้เคียงกับภาพเขียน เก้าอี้ว่าง โคมระย้า และพื้นที่โล่งไร้การตกแต่ง ชวนให้ตื่นใจและรู้สึกเสมือนกำลังเข้าไปอยู่ในโลกทั้งใบของใครคนนั้น

           สำหรับพิพิธภัณฑ์มิวเซ นิสซิม เดอ คามงโด ก่อตั้งโดยครอบครัวชาวยิวที่โด่งดังที่สุดครอบครัวหนึ่งในอิสตันบูล ทำให้เคมาลถึงกับสารภาพความรู้สึกตามที่ออร์ฮาน ปามุกบรรยายเอาไว้ว่า

“ผมฮึกเหิมจนเชื่อว่าในชุดจานชามมีดส้อมของพวกเคสคิน (ครอบครัวฟูซุน) และขวดเกลือที่สะสมไว้ตลอดเจ็ดปีก็มีค่าควรแก่การตั้งแสดงอย่างน่าภาคภูมิใจเหมือนกัน”

           ส่วนพิพิธภัณฑ์มิวเซ เดอลา โปสต์ ทำให้เคมาลรู้ว่าจดหมายที่เขาเขียนถึงฟูซุนนั้นมีความหมายและคุณค่าต่อการนำมาจัดแสดงเป็นอย่างยิ่ง

           นับได้ว่าพิพิธภัณฑ์ในปารีสช่วยให้เคมาลไม่ต้องอับอาย จากการสะสมสิ่งของที่อพาร์ตเมนต์เมร์ฮาเม็ต ขณะเดียวกันก็ค่อย ๆ ชูชุบความรู้สึกภาคภูมิใจในฐานะนักสะสมขึ้นมา

 

ข้าวของสามัญจากความทรงจำแห่งรัก

           ระยะเวลา 30 ปีอันยาวนานในการสะสมสิ่งของ มากพอที่จะทำให้เคมาลกลายเป็นนักมานุษยวิทยาที่คอยวิเคราะห์ประสบการณ์ของตนเอง

“ผมไม่อยากดูถูกคนที่หมกมุ่นกับการนำถ้วยชามรามไห โบราณวัตถุ และเครื่องมือเครื่องใช้จากแดนไกลมาตั้งแสดงให้เราชม เพื่อให้เข้าใจชีวิตผู้อื่นและชีวิตเราเองได้ดียิ่งขึ้น”

           หนทางแห่งการทุ่มเทที่เคมาลใช้เพื่อสร้างโอกาสในการได้มาซึ่งสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นการแวะถามจากคนรู้จักรอบตัว จนได้สิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ มาประกอบการจัดแสดง เช่น กล้องยาสูบ โบว์หูกระต่าย หรือป้ายชื่อร้านชันเซลิเซที่ได้รับมอบจากเชนัยฮานึมเจ้าของร้านขายของ สถานที่ที่เคมาลกับฟูซุนได้พบกันอีกครั้งจนนำมาซึ่งความพลิกผันครั้งใหญ่ในชีวิต

           ไม่เว้นกระทั่งการซื้อหามาระหว่างเดินทางไปยังย่านที่อยู่อาศัยของคนจน พ่อค้าเศษขยะ พ่อค้าของชำ ร้านขายเครื่องเขียน หรือจากนักสะสมกระดาษ กล่อง โปสการ์ดและภาพถ่าย รวมถึงจากพิพิธภัณฑ์ที่เดินทางไปถึง หรือตั๋วภาพยนตร์กว่า 50 ใบที่ได้ไปดูร่วมกับฟูซุน

           อย่างไรก็ตาม สถานที่ซึ่งเคมาลได้วัตถุเพื่อนำมาสะสมมากที่สุด คือ บ้านคนรัก ที่นั่นเขาได้ฉีกกระดาษปิดผนัง งัดลูกบิดประตู เก็บแขนตุ๊กตาเด็กที่ถูกทิ้ง กิ๊บติดผม หวีสับ ลิปสติก ขวดเกลือ ถ้วยกาแฟ ที่เขี่ยบุหรี่ ถ้วย รองเท้าแตะ สำรับไพ่ดูดวง กลักไม้ขีดและก้นบุหรี่ทั้งหมดของฟูซุน มาเก็บไว้เพื่อเป็นที่สัญลักษณ์แทนความคิดถึงและที่อยู่อาศัยของความทรงจำ

 

ภาพจาก facebook : Masumiyet Müzesi | The Museum of Innocence : https://www.facebook.com/TheMuseumOfInnocence

 

พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา

           เพื่อระลึกถึงร่องรอยความรักที่มีต่อฟูซุน ซึ่งเคมาลไม่อาจทำหล่นหายไปได้อีกแล้ว เขาจึงเริ่มต้นเก็บสะสมความทรงจำผ่านสิ่งของสามัญในชีวิตประจำวัน เพื่อให้รู้สึกราวกับว่าฟูซุนคงอยู่และตุรกีในช่วงเวลานั้นยังมีชีวิตโลดแล่นให้คนรุ่นหลังได้เข้าไปสัมผัส เขาจึงตั้งใจใช้บ้านพักของฟูซุนเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์

           ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์จะได้เห็นแบบจำลองอพาร์ตเมนต์ของฟูซุนในชุคุร์จุมา ชั้นที่อยู่เหนือห้องนั่งเล่นมีห้องนอนของน้าเนสิเบกับตารึกเบย์และห้องนอนของฟูซุนกับสามี ระหว่างสองห้องนี้เป็นห้องน้ำ ซึ่งออร์ฮาน ปามุก ได้อนุญาตให้เคมาลอธิบายให้ผู้ที่ไม่มีโอกาสเข้าชมว่า

“ผมนั่งตรงข้ามโทรทัศน์ซึ่งตั้งอยู่ทางซ้าย โดยมีครัวอยู่ทางขวา ด้านเป็นตู้เตี้ยติดผนัง แก้วเจียระไนในตู้ พร้อมกับเครื่องกระเบื้อง ถ้วยเงินใส่น้ำตาล ชุดแก้วเหล้า ถ้วยกาแฟที่ไม่เคยหยิบมาใช้ นาฬิกาเก่าแก่ ไฟเช็กเงินที่ใช้การไม่ได้แล้ว แจกันแก้วใบเล็กที่มีลวดลายดอกไม้เลื้อยรอบ ๆ ซึ่งเหมือนกับที่เราจะเห็นวางบนตู้ของครอบครัวชนชั้นกลางที่ไหนก็ตามในเมืองและสุดท้ายคือชั้นกระจกของตู้”

 

แด่ความรักที่ไร้เดียงสา

           ข้าวของสะสมชิ้นแรก ๆ อันแสดงถึงความรักที่มีต่อฟูซุน ถูกนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ คือ ต่างหูหนึ่งข้างกับจดหมายที่ยังไม่ได้เปิดอ่านซึ่งเขียนโดยเคมาล

           นอกจากนี้ ยังมีข้าวของที่ครอบครัวของฟูซุนเคยใช้ ทั้งเตาแก๊ส ตู้เย็น โต๊ะที่ใช้นั่งกินอาหารค่ำในคืนวันที่เคมาลไปเยือนอยู่นานถึง 8 ปี นาฬิกาเก่าคร่ำครึ ซากรถเชฟโรเล็ตสนิมเขรอะ มุมการแต่งกายของฟูซุน พร้อมถุงเท้าขาวแบบเด็ก ๆ กับรองเท้าผ้าใบสีขาวมีรอยเปื้อน

           สำหรับพื้นที่ต้องห้าม ที่เคมาลเชื่อเหลือเกินว่าจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากรัก หากเขาไม่ย่างกรายเข้าไป จึงจัดแสดงแผนที่ของนิชันตะเชอที่กาพื้นที่ต้องห้ามด้วยสีแดง

           ไม่เพียงสิ่งของในชีวิตประจำวันเท่านั้น เพราะเคมาลยังต้องการบันทึกภาพจากความทรงจำของเขาขึ้นมา จึงจ้างวานให้ศิลปินมืออาชีพทำหน้าที่ในการนำเสนอภาพเขียนสีน้ำมันซึ่งเป็นขณะที่เลมอน (นกคานารี) และเคมาลกำลังจ้องตากัน โดยมีฟูซุนกับแม่จ้องมองจากด้านหลัง เป็นภาพที่ไม่เห็นใบหน้าแต่ทว่ากลับแสดงบรรยากาศเบื้องหลังของหญิงสาวที่เขารักสุดหัวใจได้อย่างสุดซึ้ง

           อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งของสุดแสนสามัญที่ใครก็คงนึกไม่ถึงว่าจะสำคัญได้อย่างไร แต่ไม่ใช่กับเคมาล เพราะเขารู้สึกผูกพันชิดใกล้กับตัวตนของฟูซุน ผ่านก้นบุหรี่ที่หล่อนบดขยี้ หรือดับมันด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย จึงไม่น่าแปลกใจที่ในระยะเวลา 8 ปี เขาจะมีก้นบุหรี่ของฟูซุนสะสมถึง 4,230 อัน โดยเคมาลได้พูดผ่านบทประพันธ์ว่า

“ผมแอบหยิบก้นบุหรี่ของฟูซุนที่แต่ละอันเคยสัมผัสริมฝีปากสีกุหลาบของหล่อน ซึ่งต่างมีรอยกดอันเป็นเอกลักษณ์จากช่วงเวลาที่หนักอึ้งด้วยความร้อนใจหรือสุขใจ ทำให้ก้นบุหรี่เหล่านั้นเป็นวัตถุแสดงความใกล้ชิดแสนพิเศษ บางคราวหล่อนจะดับบุหรี่ด้วยความโกรธ บางคราวด้วยความอดรนทนไม่ไหว หรือดับบุหรี่อย่างรวดเร็ว เมื่อรู้สึกร่าเริงหรือดีใจ ด้วยวิธีการหลากหลายนี้ ทำให้บุหรี่ทุกตัวที่หลุดจากมือหล่อนมีรูปทรงพิเศษและมีวิญญาณในตัวเอง”

 

ภาพก้นบุหรี่ที่ถูกจัดแสดงอยู่เต็มพื้นที่ผนังด้านหนึ่ง ภาพจาก Google Arts & Culture, Masumiyet Müzesi - The Museum Of Innocence : https://artsandculture.google.com/story/fQXB5WJstlG5LQ

 

แด่ตุรกีที่คงอยู่ในความทรงจำ

           เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้จักตุรกีและทำความเข้าใจชีวิตของชนชั้นเศรษฐีใหม่ในสังคม เคมาลจึงตั้งใจแสดงเมนูอาหารพร้อมภาพประกอบ ใบโฆษณา กลักไม้ขีด และผ้าเช็ดปากจากฟูอาเย (ล็อบบี้) ซึ่งเป็นร้านสไตล์ยุโรป สัญลักษณ์แสดงความไฮโซในทศวรรษ 1970 ในสมัยที่ผู้คนต้องการใช้ชีวิตให้เหมือนกับชาวยุโรป

           ความหลงใหลในยุโรป ยังแทรกเข้ามาในวิถีชีวิตคนร่ำรวยผ่านหนังสือบ้านและสวนของฝรั่งเศส เพื่อสร้างความผ่อนคลายและผสานการเที่ยวเตร่สำราญ เคมาลจึงตั้งแสดงตะกร้าปิกนิก ที่ประกอบด้วย กระติกน้ำร้อนใส่ชา ใบองุ่นยัดในกล่องพลาสติก ไข่ต้ม ขวดเมลเตม และผ้าปูโต๊ะสวยงาม แสดงถึงการพักผ่อนในวันหยุดที่สุดหรูหรา

           ทว่าในอีกมุมหนึ่งทางสังคมของตุรกีช่วงปี 1975 ที่ยังขาดแคลนน้ำประปา และโทรศัพท์แทบใช้การไม่ได้ เพื่อแสดงความเห็นใจและเรียนรู้ชีวิตผู้คนในศตวรรษก่อน เคมาลจึงตั้งแสดงเหรียญโทรศัพท์ขอบหยักที่สามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายบุหรี่ทุกร้าน

           อย่างไรก็ตาม หากจะละเลยไม่กล่าวถึงพิธีกรรมสำคัญของชาวมุสลิม พิธีกรรมเชือดพลีก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะพิธีนี้มีความยิ่งใหญ่ ซึ่งภายหลังเคมาลได้เก็บสะสมโปสการ์ดและภาพถ่ายอย่างคลั่งไคล้ สำหรับนำมาจัดแสดง

           เมื่อชีวิตผูกโยงเข้ากับสิ่งของ ผู้คนผูกใจเข้าหากัน แม้เพียงก้นบุหรี่ก็มีความหมายในการเป็นตัวแทนถ่ายทอดความทรงจำ ดังเช่น เรื่องราวของเคมาลและฟูซุนที่เล่าผ่านในพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา ซึ่งเข้ามากระตุ้นเตือนให้ผู้คนเห็นคุณค่าของสิ่งสามัญ พร้อมแสดงให้เห็นว่าของทุกชิ้นและทุกชีวิตบนโลกล้วนยิ่งใหญ่อยู่ในแวดล้อมของผู้คนที่รักเขาเสมอ


ผู้เขียน

สุธาสินี บุญเกิด

ผู้ช่วยนักวิชาการคลังข้อมูล

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา ตุรกี The Museum of Innocence สุธาสินี บุญเกิด

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share