คาร์บอนเครดิต กับกระบวนการเปลี่ยนความหมายของธรรมชาติและโลก

 |  การพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้เข้าชม : 3330

คาร์บอนเครดิต กับกระบวนการเปลี่ยนความหมายของธรรมชาติและโลก

           ตั้งแต่สหประชาชาติมีมติรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี ค.ศ. 1992 แรงกดดันเพื่อกู้วิกฤติโลกร้อนพุ่งตรงมาที่ประเทศอุตสาหกรรม และกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่เติบโตปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น กลุ่มทุนพลังงานฟอสซิล กลุ่มทุนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และอื่น ๆ ความพยายามของประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มทุนข้ามชาติที่จะเบี่ยงเบนภาระความรับผิดชอบมีมาตลอด ตั้งแต่การปฏิเสธว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องวัฎจักรธรรมชาติไม่ได้มาจากมนุษย์ จนเมื่อจำนนต่อหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ จึงเริ่มหาวิถีทางเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส และข้อค้นพบสำคัญก็มาจากการเลือกใช้วิทยาศาสตร์แบบฉาบฉวยมารักษาฐานอุตสาหกรรมฟอสซิลให้เติบโตต่อไป

           เริ่มจากหยิบเอางานศึกษาทางนิเวศวิทยาว่าธรรมชาติทั้งทะเล แม่น้ำ ป่าไม้ ผืนดิน ทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนโดยธรรมชาติอยู่แล้ว จึงบังเกิดแนวคิดเรื่อง “การชดเชยคาร์บอน” (Carbon offset) อันหมายความว่า หากประเทศและทุนอุตสาหกรรมแม้จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ แต่ไม่พร้อมจะลด หรือไม่อยากลด ก็สามารถเอาธรรมชาติที่ดูดซับคาร์บอนได้ โดยเรียกว่า Natural Based Solution (NBS) หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่อ้างได้ว่าลดคาร์บอนได้มา “ชดเชย” ทั้งที่ในทางนิเวศวิทยายังไม่มีข้อสรุปว่าธรรมชาติจะดูดซับคาร์บอนได้สม่ำเสมอแน่นอนหรือไม่ โดยไม่รีรอ ธรรมชาติถูกตีความใหม่ให้เป็น “เครื่องจักรดูดคาร์บอน” เพื่อเปิดทางให้กลุ่มทุนสามารถใช้การลงทุน “ปลูกสร้าง” ธรรมชาติมาชดเชยการปล่อยคาร์บอนของตน วิธีคิดการชดเชยด้วยการหักลบการปล่อยและดูดกลับมาสู่เป้าหมาย “ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” หรือ Net Zero ขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่ต้นตอปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงปล่อยต่อหรือปล่อยมากขึ้นกว่าเดิม หากสามารถมาหากิจกรรมลดก๊าซจากที่อื่นมาชดเชยเท่าที่กับปล่อยได้ก็เท่ากับศูนย์

           เค้าโครงแนวคิดนี้ได้ถูกประเทศอุตสาหกรรมผลักเป็นนโยบายจากพิธีสารเกียวโต 1997 และขยายผลให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนของโลกในข้อตกลงปารีส 2015 การชดเชยคาร์บอนข้ามพื้นที่ ข้ามพรมแดน ข้ามกิจกรรม ข้ามกลุ่มคนจึงเกิดขึ้นทั้งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ผู้ก่อมลภาวะไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อมลภาวะที่ตนเองก่อก็ได้ เพราะสามารถชดเชยได้ด้วยกิจกรรมการลงทุนอื่น แต่การชดเชยจะต้องมีระบบการนับหน่วยที่มาชดเชย หน่วยวัดคาร์บอนในกิจกรรมและการใช้ชีวิตจึงเกิดขึ้นเรียกว่า Cabon footprint และเมื่อต้องการใช้กลไกตลาดแลกเปลี่ยนหน่วยคาร์บอนต้องมีมูลค่าในฐานะที่เป็นทรัพย์สิน ระบบตลาดคาร์บอนจึงสร้างสิ่งที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) ขึ้นมา

           คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) หมายถึง ระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อย-ลดคาร์บอนในฐานะที่เป็นทรัพย์สิน (ไม่ต่างจากระบบเงินตรา หรือหุ้น) เป้าหมายเพื่อสร้างแรงจูงใจหรือประโยชน์ตอบแทนให้กับผู้ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่ได้ปรับลดการปล่อยคาร์บอนของตนเอง แต่ด้วยหลักคิดเรื่องการชดเชยข้ามพื้นที่ ทำให้แรงจูงใจจากคาร์บอนเครดิตได้ถูกใช้กลับหัวกลับหาง แทนที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่จะเอาคาร์บอนเครดิตมาชดเชยการลงทุนลดคาร์บอนของตนเอง กลับใช้คาร์บอนเครดิตมาเสริมสร้างความชอบธรรมในการทำกิจกรรมปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นได้ เพราะกลุ่มทุนรายใหญ่สามารถใช้ระบบตลาดสะสมคาร์บอนเครดิตได้ในราคาถูกกว่ายอมลดการปล่อยคาร์บอนของตนเอง เช่น ถูกกว่าเปลี่ยนอุตสาหกรรม เปลี่ยนพลังงาน เปลี่ยนเครื่องจักร และอื่น ๆ อีกทั้งยังสามารถใช้คาร์บอนเครดิตเก็งกำไรต่อได้ เนื่องจากเกิดความต้องการลดคาร์บอน “เทียม” เกิดขึ้นกับทุกประเทศ ทุกอุตสาหกรรมที่ต้องมีภาระลดปล่อยคาร์บอน ในบรรดาการลงทุนคาร์บอนเครดิตประเภทต่าง ๆ การลงทุนเอาธรรมชาติมาแบกรับ เช่น ลงทุนปลูกป่า หรือไปกว้านซื้อสิทธิจากชุมชนและรัฐที่ดูแลป่าซึ่งเป็นการลงทุนที่ถูกที่สุด รับผิดชอบน้อยที่สุด โดยคาร์บอนเครดิตบนฐานคิดเอาธรรมชาติมาแก้ปัญหาได้เปลี่ยนธรรมชาติเป็นเครื่องจักร ชุมชนที่ดูแลธรรมชาติกลายเป็นแรงงานดูแลธรรมชาติที่เป็นทรัพย์สินผลิตสิทธิการปล่อย-ลดคาร์บอนราคาถูกเพื่อสนับสนุนให้กลุ่มทุน ประเทศพัฒนา หรือระบบทุนนิยมฟอสซิลยังเติบโตต่อไป

           หากเปรียบเทียบกับการสร้างระบบมาตรวัดสิ่งต่าง ๆ ไปจนถึงป่าไม้ของรัฐสมัยใหม่ด้วยแนวคิดวิทยาศาสตร์ ดังที่ James C Scott เขียนไว้ในเรื่อง Seeing Like a State: How Certain Schemes to Improve the Human Condition Have Failed ในปี ค.ศ 1998 การสถาปนาคาร์บอนเครดิตให้เป็นหน่วยทรัพย์สินมีความซับซ้อนขึ้นมาก ผู้เขียนจึงขออธิบายฐานคิด กระบวนการก่อรูป และผลลัพธ์จากคาร์บอนเครดิตดังต่อไปนี้

           1. โลกทัศน์ลดทอนและแยกส่วน ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อนหรือโลกเดือด เป็นส่วนหนึ่งของอาการความป่วยไข้ของธรรมชาติที่เสียสมดุลอย่างรุนแรงในยุคสมัย Anthropocene ที่มนุษย์ในระบบทุนนิยมทำลายโลก แต่ด้วยวิธีคิดวิทยาศาสตร์เชิงลดทอน ได้จำกัดวงปัญหามาที่สภาพภูมิอากาศ และแยกส่วนออกไปอีกเหลือเพียงปัญหาคาร์บอนล้นเกิน จนเกิด กระบวนทัศน์คาร์บอนนิยม ในฐานะวิธีเข้าใจและจัดการปัญหาความป่วยไข้ของธรรมชาติและสภาวะโลกเดือดว่าทั้งหมดอยู่ที่การจัดการคาร์บอน ซึ่งไม่เพียงแยกส่วนจากธรรมชาติอันซับซ้อน ยังแยกส่วนจากบริบททางสังคมทุนนิยมที่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม และทำลายธรรมชาติรุนแรง

           2. การชดเชยข้ามพื้นที่และเวลา หลักการชดเชยได้ทำให้ธรรมชาติ วัฒนธรรม สังคมที่มีคุณค่าความหมายในตัวเอง มีบริบทเฉพาะถิ่น กลายเป็นเรื่องแลกเปลี่ยนแทนที่กันได้ ตัวเลขคาร์บอนเครดิตที่ชดเชย แลกเปลี่ยนกัน หลักคิดดังกล่าวได้สลายเส้นแบ่งระหว่างผู้ก่อมลภาวะกับผู้รับผลกระทบ เปลี่ยนทัศนะต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม ด้วยการชดเชยตัวเลขคาร์บอนและทรัพย์สินหรือกล่าวง่าย ๆ คือ ธรรมชาติ วัฒนธรรม เศรษฐกิจต่าง ๆ ในพื้นที่หนึ่งอาจสูญเสียไปเพราะกิจกรรมทำลายระบบนิเวศ มลภาวะ แต่ถูกเอาไปแลกกับการลดคาร์บอนด้วยการปลูกป่า เปลี่ยนพลังงาน รักษามลภาวะอีกที่หนึ่ง โดยมีตัวกลางแลกเปลี่ยนคือคาร์บอนเครดิต ทำให้ชุมชนที่หนึ่งอาจเสียสิทธิในทรัพยากร ประชาชนอาจได้รับผลกระทบจากมลภาวะ ภัยพิบัติ แต่ชดเชยได้ด้วยพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ อากาศสะอาดในอีกพื้นที่หนึ่ง และเป็นไปได้ว่า พื้นที่และชุมชนที่สูญเสียมักเป็นกลุ่มที่ขาดอำนาจต่อรอง แต่พื้นที่ที่ธรรมชาติสมบูรณ์ด้วยการชดเชยเป็นพื้นที่และกลุ่มที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม หรือไม่ก็เป็นพื้นที่ที่มีชุมชนที่ยอมเสียสิทธิในการจัดการระบบป่าของตนเอง เปลี่ยนป่าชุมชนเป็นป่าคาร์บอนที่เป็นทรัพย์สินให้กับกลุ่มทุน ด้วยการยอมแลกกับรายได้และส่วนแบ่งคาร์บอนเครดิตเพียงน้อยนิด ด้วยเหตุนี้ระบบการชดเชยไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้ชุมชนและสังคมที่ดูแลธรรมชาติเป็นอย่างดี แต่สร้างแรงจูงใจด้วยผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนที่ลงทุน หรือซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย ส่งเสริมธุรกิจของตนที่ยังคงปล่อยคาร์บอนมากกว่า

           3. การสร้างระบบมาตรฐานการวัดธรรมชาติและสังคม เพื่อสร้างข้อมูลว่า ระบบนิเวศแบบไหน ป่าประเภทอะไร ต้นไม้ชนิดไหน พื้นที่เท่าไร ดูดซับคาร์บอนได้กี่ตัน ในทางระบบนิเวศเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและไม่แน่นอนสูงมาก ทั้งระบบนิเวศเฉพาะถิ่น ปฏิสัมพันธ์ธรรมชาติที่ส่งผลต่อกัน ความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีต่อระบบนิเวศนั้น ๆ ไม่สามารถหาตัวเลขที่แน่นอนได้เลย แต่วิทยาศาสตร์คาร์บอนนิยมก็ได้ทำให้ธรรมชาติต่าง ๆ กลายเป็นเครื่องดูดคาร์บอน สามารถชั่ง ตวง วัดด้วยหน่วยวัดคาร์บอนเฉพาะได้ เกิดมาตรฐานการวัดคาร์บอนโดยสถาบันวิชาการทางธุรกิจมากมายที่ไม่ได้เข้าใจระบบนิเวศและสังคมอย่างลึกซึ้ง แต่ก็สามารถสร้างมาตรฐานได้ว่าป่าดิบชื้นดูดคาร์บอนได้กี่ตัน ต้นยูคาลิปตัส และโกงกางดูดคาร์บอนได้กี่ตันต่อไร่ แปลงเกษตรที่มีองค์ประกอบครบจะดูดคาร์บอนได้เท่าไหร่ มาตรฐานการวัดใหม่นี้ไม่เพียงเปลี่ยนมุมมองของสังคมที่มีต่อธรรมชาติด้วยวิธีคิดคำนวณคาร์บอน ยังเปลี่ยนมุมมองต่อพฤติกรรม วิถีผลิต บริโภค การใช้ชีวิตต่าง ๆ ด้วยคาร์บอน ทั้งธรรมชาติ สังคม ชีวิต สามารถแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ (trade) กันได้ด้วยคาร์บอน โดยคะแนนสะสมคาร์บอนจะมีผลต่อการเข้าถึงทรัพยากร ทุน ตลาด และอำนาจ ดังเช่นที่ระบบเงินตราทำมา

           4. การสถาปนาระบบกรรมสิทธิ์ให้กับสิ่งที่ไม่แน่นอน ไม่มีอยู่จริง และอ้างเกินการลงทุน โดยแท้จริงแล้ว คาร์บอนเครดิตไม่ใช่การทำให้ตัวคาร์บอนเป็นทรัพย์สิน แต่เป็นการทำให้สิทธิการปล่อย-ลดคาร์บอนซึ่งเป็นเรื่องพฤติกรรม และกิจกรรมที่สัมพันธ์กับคาร์บอนซึ่งไม่น่าจะถูกนับเป็นตัววัดผลได้กลายเป็นกรรมสิทธิ์และทรัพย์สินขึ้นมา โดยเฉพาะการอ้างคาร์บอนเครดิตจากธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนสูงมาก ทั้งปัจจัยธรรมชาติที่ทำให้ระบบนิเวศนั้น ๆ อาจไม่ได้ดูดซับคาร์บอนได้สม่ำเสมอ และปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคมที่ทำให้โครงการป่าคาร์บอนเหล่านั้นอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร และไปถึงขั้นการอ้างสิ่งที่ยังไม่เป็นจริง เช่น อ้างว่าหากไม่ได้ทุนสนับสนุนคาร์บอนจากกลุ่มทุน ธรรมชาติ ผืนป่า สายน้ำ ทะเลที่รัฐและชุมชนดูแลอาจถูกทำลายหรือไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ ทั้งที่ป่าหลายแห่งอยู่ได้เพราะชุมชนดูแล เพราะรัฐคุ้มครอง แต่เพียงได้รับงบประมาณลงทุนจากเอกชนกลายเป็นผู้ได้สิทธิจากการดูแลป่า และการอ้างอนาคตของป่าจะถูกค้ำประกันด้วยทุนคาร์บอนเครดิตยิ่งเป็นการอ้างที่สิ่งที่รับประกันไม่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นการสถาปนาและขยายขอบเขตกรรมสิทธิ์ของเอกชนจากทรัพยากรส่วนรวมของชุมชน สังคม รัฐ

           5. การเอาความรู้วิทยาศาสตร์คาร์บอนนิยมมาเป็น soft power โครงการปลูกสร้างธรรมชาติเพื่อดูดคาร์บอนต้องแลกกับความเสี่ยง เปราะบางและสูญเสียมากมาย เช่น ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหารของชุมชน แย่งยึดสิทธิในทรัพยากรของชุมชนและสาธารณะมาเป็นทรัพย์สินของผู้ลงทุน หรืออ้างโครงการที่ทำลายระบบนิเวศ เช่น การสร้างเขื่อน เขตอุตสาหกรรม หรือเทคโนโลยีที่ไม่ได้ช่วยรักษาระบบนิเวศ เช่น เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน เทคโนโลยีวิศวภูมิศาสตร์ ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ถูกอ้างด้วยวิทยาศาสตร์เทียมว่า “ช่วยลดโลกร้อน” “บรรลุ Net Zero” ด้วยการอ้างจำนวนคาร์บอนที่ลดได้ ปริมาณคาร์บอนเครดิตที่สั่งสมได้ นั่นทำให้เห็นว่า กระบวนการฟอกเขียว (green washing) ของธุรกิจสร้างโลกร้อนได้รับความชอบธรรมว่าลดโลกร้อนด้วย soft power วิทยาศาสตร์คาร์บอนนิยม

           6. กระบวนการแปลงทรัพย์ให้เป็นทุนและระบบตลาด เมื่อคาร์บอนในฐานะหน่วยวัดเกิดขึ้นแล้ว ขั้นต่อไปคือ การสร้างมูลค่าให้กับคาร์บอนอันจะนำมาสู่ระบบการแลกเปลี่ยนในตลาด ระบบการเงินและการธนาคารเป็นระบบสำคัญของการสถาปนาความเป็นทรัพย์สิน การสร้างตลาด และการลงทุนให้ตลาดคาร์บอนดำเนินไปได้ สิทธิการปล่อย-ลดคาร์บอนที่วัดได้ถูกตีมูลค่าของการลงทุน จะลงทุนปลูกป่าแต่ละประเภทให้ดูดซับคาร์บอนต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ และเมื่อเข้าสู่ระบบอุปสงค์-อุปทานในระบบตลาดกลาง หรือการซื้อขายเป็นทอด ๆ เราจึงไม่รู้เลยว่า ผู้ซื้อรายใดเป็นธุรกิจสีเทาที่ทำลายนิเวศหรือปล่อยคาร์บอนสูง หรือรายใดเป็นผู้มุ่งมั่นรับผิดชอบลดปล่อยคาร์บอนของตนเองอันสมควรได้รับแรงจูงใจ หลายกรณีผู้รับซื้อหรือลงทุนคาร์บอนเครดิตในอันดับต้น ๆ อาจเป็นกลุ่มธุรกิจมือสะอาด สถาบันวิชาการ องค์กรประชาสังคมที่ประวัติดี แต่คาร์บอนเครดิตได้ถูกขายในระบบตลาดไปถึงมือกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างมลภาวะ และราคาคาร์บอนเครดิตก็จะถูกปั่นตามกลไกทางเศรษฐกิจสูงกว่าที่ประชาชนที่เป็นแรงงานผลิตคาร์บอนได้รับมากนัก

           ด้วยแนวคิดและกระบวนการก่อรูปตลาดคาร์บอน คาร์บอนเครดิตดังที่กล่าวมา ทำให้เกิดผลลัพธ์ต่อการเปลี่ยนแปลงมากมายอย่างที่คาดไม่ถึง

           ระบบตลาดคาร์บอน คาร์บอนเครดิตในฐานะทรัพย์สินได้กลายเป็นเป้าหมายโดยตัวเอง เป็นระบบผลประโยชน์ที่ใหญ่ครอบงำคุณค่าสังคมอื่น ๆ ทั้งผู้ลงทุน ผู้ค้าขายคาร์บอนเครดิต กลไกการบริหารจัดการตลาดคาร์บอน สถาบันการเงิน สถาบันวิชาการที่รับรองคาร์บอน องค์กรนายหน้าที่ไปรับกว้านซื้อคาร์บอนเครดิต ได้ตกอยู่ในระบบผลประโยชน์ที่ไม่มีเป้าหมายเชิงคุณค่าความห่วงใยต่อธรรมชาติ ความเป็นธรรมทางนิเวศและสังคม ตัวบ่งชี้เช่น สถาบัน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเหล่านี้ ไม่ได้แสดงบทบาทในการปกป้องธรรมชาติจากนโยบาย โครงการพัฒนาต่าง ๆ ไม่ได้สนใจถามหาความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐและทุนที่ทำลายนิเวศ ไม่ได้สนใจทุ่มสรรพกำลังช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนในวิกฤติโลกเดือด เพราะการช่วยเหลือความเดือดร้อนยังไม่ถูกแปลงเป็นทรัพย์สิน และตลาดผู้ซื้อขายคาร์บอนเครดิตก็จะสนใจที่ราคาขึ้นลงของคาร์บอนเครดิตมากว่าอุณหภูมิโลก มลภาวะ ภัยพิบัติ ความเสียหายของประชาชนจากภาวะโลกเดือด

           โครงสร้างระบบทุนนิยมทำให้ผู้เข้าถึง ครอบครอง ค้ากำไรคาร์บอน ได้เปลี่ยนความชอบธรรมจากผู้ก่อมลภาวะทำให้โลกร้อน กลายเป็นผู้ช่วยโลก ด้วยการลงทุนเพื่อธรรมชาติและสังคม แบ่งปันทรัพยากรให้กับประชาชนผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตมาขาย ทำให้ธรรมชาติเป็นเครื่องดูดคาร์บอน เปลี่ยนให้ชุมชนเป็นแรงงานภายใต้ระบบพันธะสัญญาการดูแลป่าคาร์บอน และมีนักสิ่งแวดล้อมและนักพัฒนาคาร์บอนนิยมที่เป็นที่ปรึกษา ส่งเสริม ผู้ประกอบการให้กับชุมชน และหากป่าคาร์บอนเครดิตเสียหายหรือไม่เป็นไปตามเป้า พวกเขาก็จะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่จะถูกผลักให้รับผิดชอบ และที่สำคัญเปลี่ยนทรัพยากรสาธารณะให้เป็นทรัพย์สินเอกชน เปลี่ยนโอกาสในการมีภูมิอากาศที่สมดุลเหมาะสมให้ขึ้นกับประสิทธิภาพของระบบตลาดคาร์บอน

           แล้วสังคมจะหลงลืมไปว่า ทำไมโลกจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจสังคมให้รักษาเกื้อกูลธรรมชาติอย่างเร่งด่วน ภาวะโลกร้อนสร้างความเดือดร้อนให้กับธรรมชาติและประชาชนกลุ่มไหน อย่างไรบ้าง ใครหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดมีส่วนสำคัญที่ทำลายนิเวศทำให้โลกเดือด และควรมีความรับผิดชอบที่เหมาะสมและเป็นธรรมอย่างไร เราควรมีเป้าหมายและวิธีการอย่างไรที่จะลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อรักษาอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศา โลกและประเทศต่าง ๆ จะสร้างเศรษฐกิจที่เกื้อกูลธรรมชาติ ระบบการเมืองที่เป็นธรรมในสภาวะโลกร้อนได้ไหม จะฟื้นฟูธรรมชาติและช่วยเหลือคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งรับปรับตัว สร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างไร

           วิธีคิด วิถีชีวิต รูปแบบการกอบกู้วิกฤติโลกร้อนอื่น ๆ ที่นอกตลาดคาร์บอน อันเป็นวิถีนิเวศวัฒนธรรมทั้งความรู้ท้องถิ่น วิถีดำรงชีพ การผลิตของชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น บทบาทของประชาชนทั่วไปที่ดูแลห่วงใย ปกป้องธรรมชาติที่นำเสนอผ่านมุมมองทางนิเวศ วัฒนธรรมกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม เพราะรัฐและตลาดเข้าใจผ่านกระบวนทัศน์คาร์บอนไม่ได้ ชดเชย ลงทุน แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ และเอื้อประโยชน์ให้ทุนนิยมคาร์บอนเติบโตต่อไปไม่ได้ โลกทัศน์คาร์บอนนิยมกำลังจำกัดขอบเขตความหมาย ความคิด และวิถีของผู้คนในการเข้าใจและหาทางออกจากภาวะโลกร้อนให้อยู่ระบบตลาดคาร์บอนเท่านั้น

           มีสังคมอีกมากมายทั้งชุมชนที่อยู่กับฐานทรัพยากร ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่ไม่ยอมตกอยู่ในโลกทัศน์คาร์บอนนิยม ระบบทุนนิยมสีเขียว ไม่ต้องการเอาป่า ผืนดิน วิถีเกษตรที่ชุมชนดูแล และสิทธิของชุมชนไปแลกกับการสูญเสียอิสรภาพในฐานทรัพยกรธรรมชาติด้วยโครงการคาร์บอนเครดิต มีประชาสังคมไม่น้อยที่ต้องการปกป้องระบบนิเวศและสิทธิประชาชนจากนโยบายและโครงการพัฒนาที่สร้างผลกระทบโลกร้อน หรือกระทั่งคัดค้านโครงการที่อ้างลดโลกร้อนแต่ทำลายนิเวศและวิถีชุมชน และที่สำคัญคือ ต้องการรื้อถอนโครงสร้างสำคัญที่สร้างปัญหาโลกร้อน เช่น ระบบพลังงานที่ยังอยู่บนฐานฟอสซิลให้เปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียน ระบบผูกขาดทรัพยากรธรรมชาติของรัฐและโครงการแปลงทรัพยากรเป็นทรัพย์สินของทุนให้กลับคืนสู่ทรัพยากรสาธารณะบนฐานสิทธิชุมชนและสังคม และระบบเกษตรและอาหารจากเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่เกษตรนิเวศที่ปรับตัวต่อภูมิอากาศและช่วยลดโลกร้อน

           ในกระบวนนโยบายของรัฐไทยต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยไม่เคยมีพื้นที่ในกระบวนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐที่ถูกครอบงำด้วยโลกทัศน์ทุนนิยมคาร์บอน

           ในโอกาสที่สหประชาชาติจัดเวทีประชุมประเทศภาคี (COP) เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาศ ครั้งที่ 28 (COP28) ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ตัวแทนรัฐไทยจะต้องไปนำเสนอความก้าวหน้าและร่วมพิจารณานโยบาย มาตรการต่าง ๆ แต่เมื่อรัฐไม่ได้เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย มีแต่เวทีของกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ที่มีส่วนร่วมกับรัฐอย่างแข็งขัน

           ภาคประชาสังคมจึงร่วมมือกันจัดเวที COP ภาคประชาชน ในชื่อว่า “กู้วิกฤติโลกเดือดด้วยมือประชาชน” ขึ้นเป็นครั้งแรกในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ด้วยความหวังว่า สังคมโลกและไทยจะได้ยินเสียงจากประชาชนที่ถูกกดทับ เปิดพื้นที่ให้กับโลกทัศน์จากคนข้างล่าง เห็นมุมมอง เรื่องราว บทเรียน และบทบาทของผู้คนต่อการสู้กับวิกฤติโลกร้อน เกิดนโยบายและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ก้าวข้ามโลกทัศน์ทุนนิยมคาร์บอน เกิดความเชื่อมโยงพลังของสังคมต่าง ๆ เพื่อให้สังคมไทยเผชิญกับวิกฤติโลกร้อนอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ติดตามข่าวสารเวที COP ภาคประชาชนได้ที่ https://www.thaiclimatejusticeforall.com/


ผู้เขียน
ดร.กฤษฎา บุญชัย
เลขาธิการ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา


 

ป้ายกำกับ คาร์บอนเครดิต กระบวนการทำให้เชื่อง ความหมาย ทรัพยากรธรรมชาติ มรดกโลก ดร.กฤษฎา บุญชัย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share