จุดเปลี่ยนเชิงนโยบายในการปกป้องนิเวศและประชาธิปไตยสิ่งแวดล้อม

 |  การพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้เข้าชม : 1700

จุดเปลี่ยนเชิงนโยบายในการปกป้องนิเวศและประชาธิปไตยสิ่งแวดล้อม

สภาพปัญหา

           การเร่งรัดเติบโตทางเศรษฐกิจทุนนิยมของประเทศตลอด 60 กว่าปีที่ผ่านมา ได้สร้างบาดแผลต่อโลกและประชาชน ด้วยปัญหานิเวศและสิ่งแวดล้อมที่มีแต่วิกฤติรุนแรงขึ้น ซับซ้อนขึ้น และอยู่ในวังวนเดิมของโครงสร้างอำนาจเดิม

           ความรุนแรงมีรากสาเหตุจากระบบทุนนิยมเสรีที่แปลงร่างเป็นทุนนิยมสีเขียว ไม่คำนึงถึงขีดจำกัดธรรมชาติ แต่เอาทุกด้านทั้งการทำลายธรรมชาติและสร้างภาพและผลประโยชน์จากการ "รักษาสิ่งแวดล้อม" เพื่อกลับมาหนุนการทำลายธรรมชาติต่อไปอย่างไร้ขีดจำกัด

           ทุนนิยมเสรีทำงานได้ดีในรัฐอำนาจนิยม (ไม่ว่าจะระบบการเมืองทุนผูกขาดหรือเผด็จการทหาร) รัฐราชการผูกขาดอำนาจตกลงผลประโยชน์กับทุนขนาดใหญ่ได้ เลยเป็นอำนาจรวมศูนย์ทั้งรัฐและทุน กลายเป็นกระบวนการทำลายสิ่งแวดล้อมแบบสมรู้ร่วมคิด เราจึงไม่มีประชาธิปไตยในสิ่งแวดล้อม ไม่มีสิทธิในสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เป็นการเมืองที่ไม่มีฐานสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนต่อสิ่งแวดล้อม

           รัฐและทุนยังคงยืนหยัดให้ทุนนิยมเสรีและอำนาจผูกขาดดำเนินต่อไป แม้จะเผชิญวิกฤติโควิด วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ก็ยังหวังให้ทุนกับรัฐอำนาจนิยมไปรอดและมั่งคั่ง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ มีแต่เอาภาษา "สีเขียว" มาอาบเคลือบทุกนโยบาย เช่น BCG

           รัฐและทุนอ้างวิกฤติ และปั่นมายาภาพวิกฤติสิ่งแวดล้อมบางด้านเพื่อเป้าหมายทางการเมืองและผลประโยชน์ เช่น วิกฤติอาหารแต่กลุ่มทุนอาหารมั่งคั่ง วิกฤติพลังงานแต่ทุนพลังงานได้กำไรกินเปล่า วิกฤติโลกร้อนปั่นตัวเลขคาดการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตเกินจริง อ้างว่าจะลดได้มากทั้งที่ลดเท่าเดิม

           กลไกการแก้ปัญหาของรัฐอยู่ในวังวน เช่น วิกฤติจัดการน้ำปี 54 ทุ่มงบประมาณหลายหมื่นล้านแต่ไม่มีอะไรคืบหน้า มีแต่ตั้งคณะกรรมการชุดแล้วชุดเล่าผลาญงบประมาณโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายฯ ที่เลือกลดทอนการแบนสารเคมี ขาดมาตรการบังคับใช้ ส่งผลให้อาหารยังปนเปื้อนสารเคมีร้ายแรง

           ยุทธศาสตร์สำคัญในการฟอกเขียวของระบบทุนนิยมสีเขียวคือการเปลี่ยนตัวชี้วัดให้เป็นผลประโยชน์ ไม่ว่าเกณฑ์ตัวชี้วัด SDGs Carbon footprint EIA/SEA และอื่น ๆ แทนที่จะเป็นมาตรการกำกับสาธารณะเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม กลายเป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจ ผลประโยชน์ให้ทุนเอาไปใช้แสวงประโยชน์ แต่ผลักภาระให้ประชาชน สังคม เช่น ปลูกป่าลดคาร์บอน

           เมื่อรัฐเผชิญเสียงเรียกร้องและแรงกดดันจากประชาชนที่เดือดร้อนต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม รัฐมักเลือกนับปัญหาจากเป้าหมายทางการเมืองและผลประโยชน์ เช่น มลพิษ ขยะภาคอุตสาหกรรมถูกทิ้งสู่สาธารณะ แต่ไม่มีข้อมูล ไม่ถูกนับ ฝุ่นควันพิษจากโรงงาน รถยนต์ ไม่บันทึก แต่นับเฉพาะ hotspots ที่ชาวบ้านเผาพื้นที่ทำเกษตร หรือการที่ภาคอุตสาหกรรมทิ้งขยะ สารพิษ น้ำมัน พลาสติก ลงทะเลมหาศาล แต่ทั้งหมดไม่มีระบบฐานข้อมูลเอาผิดตัวการใหญ่ หรือสาวไปถึงนโยบาย กลไกนโยบายได้

           ด้วยจำกัดขอบเขตแคบเกินจริง เช่น การจุดไฟเผาพื้นที่เกษตรในป่า เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างรุนแรงมากกว่าในไทยมาก จากการปลูกข้าวโพด พืชพาณิชย์ ป้อนกลุ่มทุนเกษตรอุตสาหกรรมใหญ่ของไทย หรือการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ในลาว โดยทุนพลังงานในไทยและขายราคาแพงกลับมาให้ไทย แต่ปัญหาเหล่านี้กลับไปไม่ถูกจัดการ ปล่อยให้กลุ่มทุนแสวงประโยชน์อย่างเสรี ขาดกลไกรัฐ กลไกภูมิภาคกำกับจัดการ

           แม้นโยบายระหว่างประเทศที่ก้าวหน้าบางเรื่อง เช่น สิทธิชนพื้นเมือง สิทธิชุมชนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ รัฐกลับเพิกเฉย แต่จะเลือกใช้ ตีความ กำหนดนโยบายตามที่รัฐและทุนได้ประโยชน์ เช่น ปฏิเสธสิทธิชุมชนในโลกร้อนแต่เลือกใช้ตลาดคาร์บอน ไม่สนใจสิทธิชุมชน ความมั่นคงอาหาร ความปลอดภัยอาหาร แต่มุ่งสร้างผลผลิตอาหารในโครงสร้างที่กลุ่มทุนได้ประโยชน์

           ปัญหาทั้งหมดนี้มีรากร่วมกันคือ เราอยู่ในโครงสร้างอำนาจรวมศูนย์ทั้งรัฐและทุน ที่สร้างฟอกเขียวตนเองภายใต้วาทกรรมสีเขียว แต่ไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ไม่มีพื้นที่การมีส่วนร่วม ไม่มีอำนาจต่อรองของประชาชน และไม่มีพื้นที่ให้ประชาชนเป็นอิสระ พึ่งตนเอง นั่นทำให้สถานการณ์ในปี 2566 ยังไม่มีวี่แววที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม


บทเรียนของประชาชนในการปกป้องนิเวศและสิ่งแวดล้อมภายใต้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

           ประชาชนได้เผชิญความทุกข์ยากจากนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และนโยบายจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของรัฐ ได้นำเอาวิถีวัฒนธรรม ประสบการณ์ของชุมชนต่าง ๆ มาสรรค์สร้างเป็นแนวทางการจัดการนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและเป็นธรรมมากมาย

           ขบวนการป่าชุมชน เกิดขึ้นเพราะชุมชนทนไม่ได้ต่อการที่รัฐให้เอกชนสัมปทานป่าไม้ จึงรวมพลังคัดค้านให้ยุติได้ในที่สุด และใช้ฐานวัฒนธรรมการจัดการทรัพยากรร่วมพัฒนารูปแบบเป็น “ป่าชุมชน” ขยายตัวไปทุกพื้นที่ป่าที่ชุมชนดำรงอยู่ แต่แล้วรัฐก็ออกกฎหมายป่าอนุรักษ์มาปิดกั้นสิทธิชุมชนที่มีอยู่เดิม และออก พ.ร.บ.ป่าชุมชน เพื่อคัดสรรเฉพาะชุมชนที่ยอมทำตามกรอบของรัฐอย่างปราศจากสิทธิและทอดทิ้งชุมชนที่อยู่ในป่าอนุรักษ์อีก 4,000 กว่าแห่งโดยไม่มีสิทธิ

           ขบวนการเกษตรกรรมนิเวศ เกิดขึ้นจากเกษตรกรรายย่อยที่ล้มเหลวจากเกษตรเชิงเดี่ยวเคมี และหันมาสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ในพื้นที่เกษตรเพื่อความมั่นคงนิเวศ พันธุกรรม และอาหาร เกิดเป็นเกษตรกรรมทางเลือก เกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ เกษตรนิเวศ อีกมากมาย แต่วิถีเกษตรของพวกเขาไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควร แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 ที่จะให้มีเกษตรกรรมยั่งยืน 5 ล้านไร่ก็ไปไม่ถึง และในแผนฯ 13 ก็ปรากฏเกษตรอินทรีย์เพียงน้อยนิด แต่ยังคงขยายเกษตรพาณิชย์บนฐานสารเคมีรายใหญ่ต่อไป

           ประชาชนที่เดือดร้อนจากการพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลตะวันออก จนปัจจุบันต่อยอดด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ก็ทำลายนิเวศ สุขภาพ เศรษฐกิจ การทำมาหากินของประชาชนอย่างรุนแรง และกำลังขยายตัวไปภาคใต้ เช่น เขตนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และอื่น ๆ จนประชาชนได้ลุกขึ้นมาคัดค้าน และเสนอแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบและยั่งยืนมากมายหลายแบบ แต่รัฐไม่เคยสนับสนุน กลับยิ่งขยายอุตสาหกรรมรองรับการลงทุนต่างชาติเข้าไปเบียดขับชุมชนจนไม่มีที่ไป

           มีชุมชนอีกมากมายที่ต้องเดือดร้อนจากโครงการทำเหมืองแร่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพลังงาน ลุกขึ้นมาทวงสิทธิความเป็นเจ้าของแร่ และสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่รัฐส่งเสริมให้นายทุนมาพรากสิทธิพวกเขาไป แต่รัฐกลับเร่งออกกฎหมายส่งเสริมสิทธินายทุนมากมาย

           เป็นที่รับรู้ว่าประชาชนกว่าค่อนประเทศไม่มีที่ดินอยู่อาศัยและทำกินที่มั่นคง โดยเฉพาะเกษตรกร คนจนเมือง คนไร้บ้าน เกิดเป็นขบวนการจัดการที่ดิน ทวงสิทธิในที่ดินที่รัฐและเอกชนพรากจากเขาไป หรือขอให้ที่ดินเพื่อดำรงชีพในพื้นที่ที่ดินที่รัฐปล่อยให้เอกชนถือครองโดยไม่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ เครือข่ายชุมชนพัฒนารวมกันผลักดันนโยบายสำคัญ เช่น การกระจายการถือครองที่ดินด้วยกฎหมายในระบบทุนนิยม เช่น กฎหมายภาษีอัตราก้าวหน้า หรือกฎหมายโฉนดชุมชน เพื่อให้ชุมชนบริหารจัดการที่ดินร่วมกัน และกฎหมายธนาคารที่ดิน แต่รัฐทำเพียงตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่ยังคงบริหารราชการรวมศูนย์ ไม่สามารถคลี่คลายปัญหาที่ดิน

           เช่นเดียวกับชุมชนกับนิเวศชายฝั่ง กลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มชนเผ่าทางทะเล เมื่อท้องทะเลไทยถูกกอบโกยโดยอุตสาหกรรมประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ จนนิเวศทะเลกำลังจะตาย (และถูกซ้ำเติมด้วยมลพิษจากน้ำมัน ขยะ การท่องเที่ยว) ประมงพื้นบ้านทั้งภาคใต้และตะวันออกได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายประมงพื้นบ้านฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง แต่เมื่อรัฐถูกกดดันจากยุโรปตามข้อตกลงการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) รัฐก็แก้ปัญหาโดยไม่แยกแยะ ปิดกั้นแบบเหมารวม จนประมงพื้นบ้านเดือดร้อนในการดำรงชีพ และนิเวศทะเลที่ชุมชนอาศัยยังเผชิญปัญหาการประกาศเขตอุทยานของรัฐฯ ยึดครองพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวไม่เหลือพื้นที่ดำรงชีพของประมงพื้นบ้าน

           เกษตรกรและชุมชนหลายแห่งมีปัญหาการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ แต่โครงการพัฒนาชลประทานขนาดใหญ่ เช่น การสร้างเขื่อน โครงการผันน้ำ ฯลฯ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ กลับไม่มองประชาชนเป็นเป้าหมาย การจัดการน้ำส่วนใหญ่มุ่งไปที่ภาคการผลิตขนาดใหญ่ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และที่ซ้ำร้ายโครงการเหล่านี้ทำลายระบบนิเวศสายน้ำ กระทบชีวิตและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนยิ่งขึ้น เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำต่าง ๆ จึงลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ และผลักดันการจัดการน้ำขนาดเล็กที่สอดคล้องกับระบบนิเวศท้องถิ่น ต้นแบบที่ดีเหล่านี้ยังคงถูกเพิกเฉย

           ไม่ต่างจากปัญหาเรื่องพลังงาน ด้วยระบบพลังงานที่รวมศูนย์รัฐและเอกชนรายใหญ่ ได้เป็นตัวดูดสำคัญในการพรากทำลายทรัพยากรของชุมชน และสร้างมลพิษให้ประชาชน ตลอดจนภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชนต้องเดือดร้อน พลังงานฟอสซิลคือภาคที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด แต่กำลังฟอกเขียวตัวเองด้วยคาร์บอนเครดิต ประชาชนจำนวนมากเห็นแล้วว่าทางออกคือพลังงานหมุนเวียนที่ประชาชนดำเนินการหรือมีส่วนร่วมจัดการ เกิดเป็นเครือข่ายประชาชน ผู้บริโภคพลังงานหมุนเวียนหลากหลาย แต่รัฐก็ยังมุ่งแต่เอกชน และสร้างพลังงานที่เป็นมลพิษ แม้แต่โรงไฟฟ้าขยะที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ชุมชน สร้างความหวั่นเกรงให้ประชาชน

           หรือกรณีล่าสุดปัญหาฝุ่นควัน pm 2.5 ที่เกิดจากการเผาป่า ไร่เพื่อปลูกพืชพาณิชย์ตามการส่งเสริมของกลุ่มทุนทั้งในประเทศและขยายตัวไปประเทศเพื่อนบ้าน ยังมีฝุ่นที่มาจากภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง มีผู้ก่อมลพิษมากมายที่รัฐไม่ได้ไปพิสูจน์ แต่มุ่งกดดันชุมชนในพื้นที่ป่าที่จำเป็นต้องใช้ไฟเพื่อการดำรงชีพ ต่างอย่างมากกับฝุ่นควันที่มาจากกำไร ความมั่งคั่ง และความฟุ่มเฟือยของภาคเมือง อุตสาหกรรม ชุมชนท้องถิ่นได้รวมตัวกันจัดการไฟอย่างโดดเดี่ยวและถูกควบคุมบังคับจากรัฐ

           แม้เมื่อประชาชนลุกขึ้นปกป้องนิเวศ ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมที่ดี แต่กรอบกฎหมายของรัฐกลับไม่คุ้มครองสิทธิประชาชน ไม่ปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอ เช่น ปัญหาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผู้ดำเนินโครงการกับผู้ประเมิน ขาดการประเมินทางยุทธศาสตร์ในภาพรวม ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อขาดกฎหมายปกป้องทำให้เกิดความขัดแย้ง และรัฐก็ใช้กฎหมายมาละเมิดสิทธิประชาชน มีประชาชนถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดีมากมาย

           จนถึงวันนี้ปัญหาความเดือดร้อน ขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ได้สร้างเสียหายต่อนิเวศ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และดำเนินไปภายใต้โครงสร้างความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมที่นับว่ายิ่งขยายตัว ผู้ก่อมลพิษทำลายทรัพยากรฯ ได้ฟอกเขียวกลายเป็นผู้รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ประชาชนที่ปป้องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นอาชญากร และผู้ละเมิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการอ้างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และภาษา “สีเขียว” ใด ๆ ตราบใดที่ปัญหาความไม่ยั่งยืน ความเป็นธรรม ไม่ถูกเปลี่ยนแปลง ย่อมฉุดรั้งให้ประชาชนและประเทศตกอยู่ในความยากลำบากต่อไป


ข้อเสนอนโยบาย

           1. บัญญัติหลักการสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินการใด ๆ ที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม รัฐต้องจัดรับฟังความเห็นชุมชนก่อนการดำเนินโครงการ สิทธิของธรรมชาติ สิทธิในทรัพยากรธรรมชาติของประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญ

           2. ยกเลิกเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) มาเป็นเป้าหมายประเทศ แต่ใช้แนวคิด De Growth หรือลดการเติบโตทางเศรษฐกิจในส่วนที่สร้างความไม่ยั่งยืนและไม่เป็นธรรมต่อนิเวศและประชาชน แต่เพิ่มการเติบโตเศรษฐกิจที่ปกป้อง ฟื้นฟูนิเวศและวิถีวัฒนธรรมของชุมชน

           3. ปรับเปลี่ยนสังคมให้สมดุลกับธรรมชาติในปี 2050 ตามเป้าหมายของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และปกป้องคุ้มครองพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งทางบกและทะเล โดยคุ้มครองส่งเสริมวิถีวัฒนธรรมชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่นในการดำรงชีพบนฐานทรัพยากรอย่างยั่งยืน

           4. ยืนหยัดในหลักการผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบเลิกการปล่อยมลพิษของตนเอง และรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยไม่เอาธรรมชาติมาแบกรับแทน ไม่เอาประชาชนมาเป็นแรงงานรับจ้างจัดการสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ก่อมลพิษ ดังเช่น คาร์บอนเครดิต

           5. ทบทวนและยุตินโยบาย โครงการที่ทำลายขีดจำกัดของระบบนิเวศ ละเมิดสิทธิประชาชน และสิทธิธรรมชาติ

           6. นโยบายเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ไม่ยั่งยืนและไม่เป็นธรรม ได้แก่ ระบบพลังงานฟอสซิลโดยรัฐและเอกชนรายใหญ่ไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ และความสามารถในการบริหารจัดการเป็นหลัก เปลี่ยนผ่านจากเกษตรพาณิชย์เชิงเดี่ยวโดยการบริหารเอกชนรายใหญ่ไปสู่เกษตรนิเวศของเกษตรกรรายย่อย ชุมชน และคนเมือง เปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมหนักและอันตรายไปเป็นอุตสาหกรรมชีวภาพโดยประชาชนมีบทบาทสำคัญจัดการ

           7. ยกเลิกการใช้ทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืน เช่น การขุดเจาะพลังงานฟอสซิล การทำเหมืองแร่ ระบบชลประทานขนาดใหญ่ การทำประมงพาณิชย์ที่ทำลายล้าง การทำเกษตรเชิงเดี่ยวแปลงใหญ่ และจำกัดการขยายตัวของเมืองขนาดใหญ่

           8. มีนโยบายกระจายทรัพยากรของรัฐและที่กระจุกตัวในมือเอกชน เช่น ที่ดิน สู่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนยากไร้ ให้สามารถมีทรัพยากรในการดำรงชีพและมั่นคงทั้งในยามวิกฤติและปรกติ

           9. รัฐต้องสร้างธรรมาภิบาลและประสิทธิภาพระบบข้อมูลสิ่งแวดล้อม เปิดเผย โปร่งใส รู้แหล่งที่มา รอบด้าน มีส่วนร่วม เท่าทันสถานการณ์ มีระบบเตือนภัยล่วงหน้าให้ประชาชนรับทราบ โดยมีกฎหมาย นโยบายรองรับ

           10. รัฐต้องปรับโครงสร้างระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เปลี่ยนผ่านจากระบบจัดการราชการสู่การบริหารจัดการร่วมของสาธารณะ โดยกระจายอำนาจสู่สังคมและชุมชน ส่งเสริมให้เกิดกลไกการจัดการร่วมของประชาชนทั้งในเชิงประเด็นและพื้นที่โดยมีกฎหมายรองรับ งบประมาณสนับสนุน

           11. ยกร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมใหม่ตามหลักสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้แก่ ร่าง พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่าง พรบ.แก้ไขจัดตั้งศาลปกครองแก้ไขเพิ่มเติมคดีสิ่งแวดล้อม ร่าง พรบ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม ร่างพรบ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR) ร่าง พรบ.การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำและดำเนินนโยบายสาธารณและกิจกรรมใด ๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน ร่าง พรบ.อากาศสะอาด ร่าง พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

           12. สร้างหลักประกันความมั่นคงในทรัพยากร เช่น ที่ดิน น้ำ ทรัพยากรชีวภาพ เชื่อมต่อหนุนเสริมความมั่นคงอาหาร ความมั่นคงในการดำรงชีพในนิเวศและฐานทรัพยากรที่ดินของชุมชนและประชาชน

           13. สร้างงานสีเขียว งานดูแลนิเวศ โดยชุมชนท้องถิ่น ประชาชนผู้ดูแลนิเวศ สิ่งแวดล้อมทุกรูปแบบจะได้รับค่าตอบแทน รายได้ สวัสดิการจากรัฐและผู้ใช้บริการนิเวศ

           14. ชนพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการดูแล ปกป้อง ฟื้นฟูระบบนิเวศ ความหลากหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม จนระบบนิเวศอยู่รอด สมบูรณ์ ดังนั้นวิถีวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่นเหล่านี้จะต้องได้รับการคุ้มครอง ส่งเสริม สิทธิในการเข้าถึง จัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนา และวิถีชุมชนจะได้รับการรับรองเป็นแนวนโยบายหลักของการจัดการนิเวศ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติในทุก ๆ ด้าน

           15. ปัญหาการซ้อนทับสิทธิในที่ดิน และฐานทรัพยากรต่าง ๆ ของชุมชนกับรัฐและเอกชน จะต้องแก้ไขโดยด่วน โดยยึดสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนเป็นหลัก

           16. พัฒนาระบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อม ทั้งกฎหมาย ศาล วิธีพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อม บนหลักการสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน และสิทธิชุมชนในการนิเวศ ทรัพยากร และการพัฒนาที่ยั่งยืน


ผู้เขียน

ดร.กฤษฎา บุญชัย
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา


 

ป้ายกำกับ นโยบายรัฐ สังคมประชาธิปไตย สิ่งแวดล้อม มานุษยวิทยานิเวศ ดร.กฤษฎา บุญชัย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share