มานุษยวิทยากับการศึกษาภัยพิบัติ

 |  การพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้เข้าชม : 3728

มานุษยวิทยากับการศึกษาภัยพิบัติ

           ภัยพิบัติ (disaster) ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า แผ่นดินไหว เมื่อเกิดขึ้นแล้ว สามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตของมนุษย์อย่างใหญ่หลวง ทั้งความเสียหายที่เกิดต่อร่างกาย จิตใจ หรือทรัพย์สิน และในขณะเดียวกันยังสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนทั้งในระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ภัยพิบัติต่าง ๆ จึงมีแนวโนมที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น เหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ในปี ค.ศ. 2004 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300,000 คน หรือเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในไทย เมื่อปี พ.ศ. 2547 น้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2554 และในระยะ 1-2 ปีหลังมานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยเผชิญกับภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า น้ำบ่า โคลนถล่ม รวมถึงปัญหาหมอกควัน

 

สถานการณ์น้ำจากอ่างเก็บน้ำลำเชียง ตอนล่าง อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ที่ไหลลงสู่พื้นที่ด้านล่าง โดยทะลักท่วมเป็นบริเวณกว้างขวางสุดลูกหูลูกตา โดยเฉพาะพื้นที่ ต.กำปัง ต.สำโรง อ.โนนไทย เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564
ภาพจาก https://www.dailynews.co.th/news/320783/

 

           ท่ามกลางการเผชิญกับภัยพิบัติ มนุษย์พยายามจัดการและปรับตัวเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมทั้งเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความเสี่ยงต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ในระดับปัจเจก แต่การปรับตัวดังกล่าวยังเกิดขึ้นในระดับชุมชน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเกิดภัยพิบัติ ที่สำคัญ ชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ย่อมมีวิธีคิดและรูปแบบในการรับมือกับภัยพิบัติไม่เหมือนกัน นักมานุษยวิทยาจึงสนใจศึกษาความแตกต่างหลากหลายของประสบการณ์และปฏิกิริยาที่ชุมชนต่าง ๆ มีต่อภัยพิบัติ เพื่อทำความเข้าใจลักษณะและแบบแผนซึ่งสามารถนำมาศึกษาเปรียบเทียบและนำมาพัฒนาข้อเสนอที่จะช่วยให้ชุมชนและประเทศมีศักยภาพในการจัดการภัยพิบัติได้ดีขึ้น

           การศึกษาภัยพิบัติในมิติทางสังคมวัฒนธรรมจึงวางอยู่แบบแนวคิดนิเวศวัฒนธรรม (cultural ecology) ซึ่งถือว่าความแตกต่างทางภูมินิเวศ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าเขา ชายฝั่งทะเล หรือที่ราบลุ่มแม่น้ำ ย่อมส่งผลต่อวิธีคิดและแบบแผนการปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน เช่น บ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำมักก่อสร้างเป็นอาคารใต้ถุนโล่งเพื่อปรับตัวเข้ากับภาวะน้ำท่วม ในแง่นี้ปัจจัยทางนิเวศวัฒนธรรมจึงมีอิทธิพลต่อวิธีการรับมือกับความเสี่ยงจากภัยพิบัติเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันบริบทของความเป็นสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็เข้ามาเป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องที่มีนัยสำคัญไปพร้อม ๆ กัน

           ภัยพิบัติเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรงจนทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.ภัยพิบัติธรรมชาติ (natural disaster) 2.ภัยพิบัติจากน้ำมือมนุษย์ (man-made disaster) อย่างไรก็ดี ภยันอันตรายในธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ ซึ่งโดยทั่วไป ภัยธรรมชาติอาจไม่ก่อความเสียหายอย่างรุนแรง แต่หากชุมชนหรือปัจเจกบุคคลมี “ภาวะเปราะบาง” (vulnerability) เช่น ความยากจนหรือการเข้าไม่ถึงทรัพยากร ดำรงอยู่ด้วยก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ภัยพิบัติสร้างความเสียหายได้อย่างรุนแรง เช่นเดียวกับ “ความเสี่ยง” (risk) ซึ่งหมายถึงโอกาสที่ชุมชนจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติในระดับต่าง ๆ กัน

           งานศึกษาทางมานุษยวิทยามักชี้ให้เห็นว่าความเปราะบางและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับภาวะไร้อำนาจต่อรองและความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียม ชุมชนที่ไร้อำนาจจึงมีแนวโน้มที่จะได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติมากกว่า ดังนั้น การทำความเข้าใจภัยพิบัติในมุมมองทางมานุษยวิทยาจึงต้องทำความเข้าใจลักษณะทางกายภาพของภัยธรรมชาติ ประกอบกับภาวะเปราะบาง และความเสี่ยงของแต่ละชุมชนที่มีความเฉพาะเจาะจงทั้งในทางภูมิศาสตร์ โครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

           การศึกษาภัยพิบัติในระยะหลังหันมาให้ความสำคัญกับแนวคิดพลังการฟื้นตัว (resilience) มากขึ้น ซึ่งสำนักงานบรรเทาความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Office for Disaster Risk Reduction) ของสหประชาชาติ ได้ให้นิยามว่าหมายถึง

“ความสามารถของระบบชุมชนหรือสังคมที่จะรับมือ ต้านทานและฝ่าพ้นวิกฤตหรือภัยอันตราย รวมทั้งความสามารถในการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สามารถธำรงรักษาไว้ซึ่งโครงสร้างและหน้าที่พื้นฐานให้สามารถดำเนินต่อไปได้ในภายหลัง”

           พลังการฟื้นตัวสามารถแสดงออกมาใน 3 ระยะ ระยะแรก คือการรับมือกับภัยคุกคาม หากชุมชนมีพลังการฟื้นตัวดีจะสามารถลดผลกระทบหรือทำให้ภัยธรรมชาติไม่ขยายตัวเป็นภัยพิบัติ ส่วนระยะสอง คือการอยู่รอดและยืนหยัดฝ่าวิกฤติ ชุมชนที่มีพลังฟื้นตัวสามารถประคับประคองสถานการณ์ และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านพ้นภัยโดยไม่ทำให้ระบบล้มเหลว ส่วนระยะสุดท้าย คือการฟื้นคืนสู่ภาวะปกติ ชุมชนที่มีพลังพื้นตัวสามารถกลับมามีพละกำลัง เรียนรู้ ปรับตัว ลดภาวะเปราะบางเดิม และทำให้ชุมชนเข้มแข็งกว่าเดิมได้

           การฟื้นตัวจากการเผชิญภัยพิบัตินั้นหมายรวมถึงการฟื้นตัวของระบบนิเวศและการฟื้นตัวของสังคมหรือชุมชน พลังการฟื้นตัวแบ่งออกเป็น พลังการฟื้นตัวที่เจาะจง (specific resilience) และพลังการฟื้นตัวทั่วไป (general resilience) สำหรับแบบแรกนั้นเป็นวิธีการที่จำเพาะต่อการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติแต่ละกรณี เช่น การสร้างพนังกั้นน้ำ การจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับกู้ชีพ ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้นที่มุ่งตอบสนองต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า ขณะที่พลังการฟื้นตัวแบบหลังเป็นการสร้างศักยภาพพื้นฐานของชุมชนโดยรวม อาทิ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่มีความหลากหลายและยั่งยืน การใช้ที่ดินและการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่เหมาะสมและลดผลกระทบจากภัยพิบัติ การส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ การวางโครงสร้างระบบเตือนภัยและการอพยพ และการสร้างระบบเพื่อการฟื้นฟูชุมชนอย่างมีส่วนร่วม

           ในกรณีประเทศไทย จากการศึกษาของโกมาตร และคณะ (2562) พบว่าชุมชนที่มีพลังการฟื้นตัวที่ดีมีคุณลักษณะทั่วไป ดังนี้

1. ผู้นำหรือองค์กรชุมชนที่ได้รับความยอมรับจากชุมชน 2. ความสามารถของผู้นำหรือองค์กรชุมชนในการคิดและจัดการเชิงระบบ 3. ความสามารถในการสร้างเครือข่ายและระดมทรัพยากรจากเครือข่าย 4. การมีข้อมูลและสามารถวิเคราะห์ภูมิศาสตร์กายภาพและนิเวศวัฒนธรรมของชุมชน 5. การมีความไว้เนื้อเชื่อใจและความสัมพันธ์ทุนเดิมที่ดีของสมาชิกในชุมชนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง 6. การมีความสามารถและทักษะที่หลากหลายของสมาชิกในชุมชน 7. การมีสำนึกต่อส่วนรวมที่ทำให้เกิดอาสาสมัครและจิตอาสาที่ทุ่มเททำงานเพื่อสาธารณะ

           การจัดการภัยพิบัติในสังคมสมัยใหม่ไม่ได้เป็นเรื่องของชุมชนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ “รัฐ” ยังเป็นตัวแสดงที่มีอำนาจและมีความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ในการสร้างแบบแผนรับมือภัยพิบัติ ซึ่งโดยทั่วไป รัฐมักอาศัยผู้เชี่ยวชาญและความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การใช้ความรู้และวัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัยย่อมเป็นเรื่องดี แต่อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องมือดังกล่าวต้องมีความระมัดระวังและคำนึงถึงความรู้และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้จัดการภัยพิบัติร่วมด้วย ในบางกรณีพบว่าวิธีคิดของรัฐส่วนกลางมักเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น และอาจสร้างช่องว่างหรือความขัดแย้งระหว่างความรู้ของผู้เชี่ยวชาญและความรู้ท้องถิ่น นอกจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รัฐจึงต้องคำนึงถึงนโยบายทางเศรษฐกิจและการเมืองที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะเปราะบางและความเสี่ยงต่อกลุ่มคนต่าง ๆ ในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มที่อาจเข้าไม่ถึงทรัพยากรและโอกาส

           ภายใต้การจัดการภัยพิบัติในยุคปัจจุบันซึ่งมีความสลับซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับปัจจัยทั้งทางธรรมชาติและสังคมวัฒนธรรม การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและชุมชนจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง รัฐจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองและนโยบายที่มีลักษณะสั่งการจากบนลงล่าง (top-down) ที่สร้างภาพให้ผู้ประสบภัยพิบัติเป็นเพียงเหยื่อผู้อ่อนแอ รอคอยสิ่งของบรรเทาทุกข์และการชดเชยค่าเสียหายเท่านั้น แต่ควรตระหนักถึงศักยภาพและประสบการณ์การเผชิญภัยพิบัติของชุมชน และควรส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้เชี่ยวชาญและคนในท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ช่วยพัฒนาศักยภาพในการเผชิญกับภัยพิบัติในโลกร่วมสมัย


เอกสารแนะนำเพิ่มเติม

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, สายพิณ ศุพุทธมงคล และคณะ. 2557. รายงานการวิจัยโครงการเรียนรู้อยู่กับภัยพิบัติ: นิเวศวัฒนธรรม สื่อ รัฐ กับพลวัตชุมชน. นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ. 2562. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการเรียนรู้-อยู่กับภัยพิบัติ: นิเวศวัฒนธรรม สื่อ รัฐ กับพลวัตชุมชน ปีที่ 2. นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

ADPC. 2006. Critical Guidelines, Community-Based Disaster Risk Management. Pathumtani: Asian Disaster Preparedness Center.

Alexander, D. 2008. Managing Hazards and Disasters: New Theories, New Imperatives The Portsmouth 2000 Distinguished Lecture in Hazard and Risk Management. U.K.: University of Portsmouth.

Oliver-Smith, A. 1996. Anthropological research on hazards and disasters. Annual review of anthropology, 25(1), (pp. 303-328)

UNISDR. 2004. Living with risk: A global review of disaster reduction initiatives. New York: United Nations Publications.

Walker, B. & Westley, F. 2011. Perspectives on resilience to disasters across sectors and cultures. Ecology and Society, 16(2).


1  เนื้อหาในบทความนี้เก็บความและเรียบเรียงจาก “รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการเรียนรู้-อยู่กับภัยพิบัติ: นิเวศวัฒนธรรม สื่อ รัฐ กับพลวัตรชุมชน ปีที่ 2”  โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ (2562)


ผู้เขียน

ชัชชล อัจนากิตติ

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ระเบียบวิธีวิจัยและการศึกษาภาคสนาม ภัยพิบัติ Posthuman Anthropology Disaster ชัชชล อัจนากิตติ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share