มานุษยวิทยากับมโนทัศน์ความยั่งยืน Anthropology of Sustainability

 |  การพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้เข้าชม : 2354

มานุษยวิทยากับมโนทัศน์ความยั่งยืน Anthropology of Sustainability

ทบทวนความคิดเรื่องความยั่งยืน

           ความคิดเรื่องความยั่งยืนมักจะถูกใช้อย่างแพร่หลายในแวดวงวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ นิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ภูมิศาสตร์ การพัฒนาชุมชน และสังคมศาสตร์ที่สนใจประเด็นสิทธิของประชาชน สำหรับการศึกษาทางมานุษยวิทยาเริ่มทบทวนตรวจสอบเรื่อง “ความยั่งยืน” อย่างจริงจังในหนังสือเรื่อง Anthropology of Sustainabilityในปี ค.ศ.2017 โดยมี Marc Brightman and Jerome Lewis เป็นบรรณาธิการ พร้อมทั้งผู้เขียนที่เป็นนักมานุษยวิทยาและนักสังคมศาสตร์อีกจำนวน 17 คน เช่น Bruno Latour, Anna Tsing, Henrietta Moore, Arturo Escobar และ James Fairhead มาเสนอแง่คิดและวิพากษ์ประเด็นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นวาทกรรมกระแสหลักที่มีบทบาทต่อโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 21 สิ่งที่ทำให้เนื้อหาของหนังสือเรื่องนี้ต่างไปจากทฤษฎีการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็คือการตั้งคำถามเรื่องภววิทยาและญาณวิทยาที่ปรากฏอยู่ในการสร้างความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่มีความยั่งยืน นักมานุษยวิทยาตั้งข้อสังเกตว่าภายใต้ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตดำเนินไปอย่างต่อเนื่องภายใต้บริบทสังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่แตกต่างหลากหลาย สิ่งนี้คือกระบวนการที่มีลักษณะเฉพาะอันเกิดขึ้นในเงื่อนไขสังคมที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนดังกล่าวจึงไม่สามารถประเมินได้จากมาตรฐานสากลของตัวชี้วัดที่นักพัฒนาพยายามสร้างขึ้น รวมทั้งไม่สามารถเหมารวมได้ทั้งหมดว่ามนุษย์กับสภาพแวดล้อมจะมีทางเดินไปในทิศทางที่เหมือนกัน (Maida, 2007)

           การศึกษาทางมานุษยวิทยาสนใจปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งต่าง ๆ ในลักษณะที่เคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่องไปในเวลาและพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรม ดังนั้น การทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสังคมมนุษย์และสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน จำเป็นต้องมองเห็นพลวัตและความเชื่อมโยงของทุกสิ่ง นักมานุษยวิทยาจะไม่เลือกมองเฉพาะเงื่อนไขใดเพียงเงื่อนไขเดียว ประเด็นนี้ทำให้นักมานุษยวิทยามองความยั่งยืนที่มิใช่เรื่องของการแสวงหามาตรการและเทคโนโลยีเพื่อรักษา ฟื้นฟู อนุรักษ์ ป้องกัน และควบคุมสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้คงอยู่อย่างเดิม มิใช่การค้นหาวิธีพัฒนาชุมชนที่มีคำตอบในเชิงเศรษฐกิจและการเมือง หากแต่สนใจว่าโลกที่ดำเนินไปบนระบอบอำนาจทุนนิยมโลก มนุษย์และสิ่งต่าง ๆ จะตอบโต้ พึ่งพาอาศัยและประคับประคองกันอย่างไร นักมานุษยวิทยาพยายามก้าวข้ามความคิดเรื่องความก้าวหน้าและความเจริญ โดยหันมามองความซับซ้อนที่ดำรองยู่ในปฏิสัมพันธ์ของคนกลุ่มต่าง ๆ ตั้งแต่ท้องถิ่นไปจนถึงการข้ามชาติ รวมทั้งพิจารณาข้อจำกัดในทฤษฎีพัฒนาที่ยั่งยืนในวงวิชาการ Brightman and Lewis (2017) เสนอว่าความยั่งยืนควรจะมองในเชิงพลวัตของเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม นิเวศวิทยา ความรู้ และการดำรงอยู่ที่มีลักษณะเฉพาะในท้องถิ่น โดยไม่ยึดติดกับสูตรสำเร็จของความยั่งยืนที่มักจะสร้างมาตรฐานสากลของตัวชี้วัดและการตอบสนองเพียงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

           ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนและการฟื้นคืนสู่สภาพเดิมที่เป็นความเข้าใจกระแสหลักมักเชื่อว่าสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ถูกทำลายและกำลังเสื่อมโทรมลงไปเนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งเร่งการใช้ทรัพยากรอย่างมากเพื่อผลิตสินค้าที่ส่งขายในตลาดของผู้บริโภค ความคิดนี้ปรากฏอยู่ในการอธิบายปัญหาสิ่งแวดล้อมในรายงานของประเทศต่าง ๆ อยู่ในแนวนโยบายการพัฒนาและแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม อยู่ในเจตนารมณ์ขององค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ อยู่ในเป้าหมายของหน่วยงานที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่น และอยู่ในแผนฟื้นฟูและสร้างประโยชน์เพื่อสังคมของบริษัทเอกชนและหน่วยงานทางธุรกิจ นักมานุษยวิทยาชี้ให้เห็นว่าความเข้าใจกระแสหลักนี้วางอยู่บนกระบวนทัศน์ที่ว่าสังคมและสิ่งแวดล้อมจะฟื้นตัวกลับมา (bounce back) หลังจากถูกทำลาย โดยเชื่อว่าการฟื้นคืนชีพจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมก่อนที่จะเจอสภาวะวิกฤตNeocleous (2013) โต้แย้งว่าความเข้าใจเรื่องการฟื้นตัวดังกล่าวมุ่งเน้นแต่เพียงศักยภาพของสิ่งที่ถูกทำลายหรือสิ่งที่ถูกกระทำจากการพัฒนาหรือจากภัยพิบัติ เป็นการมองว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเยียวยาตัวเองและจะกลับมามีสภาพดีดังเดิม ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ละเลยเงื่อนไขที่ทำให้สิ่งต่างๆเผชิญกับอันตรายและสภาวะวิกฤต ทั้งนี้เงื่อนไขที่ซ่อนเร้นอยู่ในการพัฒนาที่ทำลายมนุษย์และสภาพแวดล้อมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับโลกทัศน์ที่มีต่อโลก

รากฐานความคิดเรื่องความยั่งยืน

           Brightman and Lewis (2017) กล่าวว่าความหมายของความยั่งยืนมีการนิยามมาจากแง่มุมที่หลากหลาย รากฐานความคิดเรื่องความยั่งยืนเกิดขึ้นในสังคมตะวันตก จากการศึกษาของ Ulrik Grober นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันที่อธิบายว่า “ความยั่งยืน” เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 สมัยที่ตะวันตกเจริญก้าวหน้าทางปัญญาและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือยุค The Enlightenment (the great Age of Reason) ช่วงเวลานี้นักคิดชาวเยอรมันใช้คำว่ายั่งยืนเพื่อปกป้องรักษาป่าไม้และธรรมชาติ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมถลุงแร่และโรงสีต้องการไม้ไปเป็นเชื้อเพลิงจำนวนมาก ส่งผลให้ชาวเยอรมันวิตกกังวลว่าป่าจะหมดไปอย่ารวดเร็ว นักวิชาการจึงเสนอให้หันไปใช้พลังงานทางเลือกและส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูป่าอย่างจริงจัง เป้าหมายของความคิดนี้ก็เพื่อให้มีป่าไม้ใช้ได้เป็นเวลานานและยั่งยืน ซึ่งภาษาเยอรมันเรียกว่า “nachhaldigkeit” เป็นคำที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะและไม่พบในภาษาของชาติตะวันตกอื่น ๆ ที่มีความหมายตรงกับคำนี้ (Grober, 2012)

           ความคิดเรื่องความยั่งยืน (sustainability) ยังเกิดขึ้นพร้อมกับคำว่า “การบริหารจัดการ” (managerialism) ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในการจัดการทรัพยากรอย่างมีเหตุผลและมีประสิทธิภาพภายใต้โลกทัศน์ของตะวันตก แนวคิดความยั่งยืนจึงเป็นผลผลิตร่วมของกระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม หากพิจารณาจากปรัชญาแบบ Cartesian ก็จะพบว่าความยั่งยืนและการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีเหตุผลคือวิธีคิดที่มนุษย์เชื่อว่าตนเองสามารถควบคุมธรรมชาติและสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อตอบสนองการดำรงอยู่ของมนุษย์ วิธีคิดในทำนองนี้คือระบอบอำนาจที่มนุษย์เล็งเห็น “ธรรมชาติ” เป็นสิ่งที่ต้องถูกจัดการ ในประเด็นนี้ Grober (2012) อธิบายว่าเมื่อธรรมชาติเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มนุษย์อยู่รอด ดังนั้น มนุษย์ต้องมีวิธีที่เหมาะสมในการดูแลและควบคุม นำไปสู่ความคิดที่นำธรรมชาติมีเป็นองค์ประกอบของระบบนิเวศที่มนุษย์สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นระบบและเป็นเหตุเป็นผล ในความคิดนี้ เกิดคำอธิบายว่าสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศต้องเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน หมายถึง ธรรมชาติคือทรัพยากรที่มนุษย์ใช้ประโยชน์ และมนุษย์ต้องจัดการธรรมชาติเพื่อที่จะใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ความคิดดังกล่าวคือ วาทกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ที่สถาปนา “ระบบนิเวศ” ให้เป็นระบบที่มนุษย์เข้าไปเชื่อมโยงกับทรัพยากร (Naess, 1989)

           ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความก้าวหน้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ธรรมชาติในยุควิคตอเรีย ทำให้เกิดความพยายามที่จะศึกษาธรรมชาติในฐานะเป็นความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ในเวลานั้น ตะวันตกกำลังขยายอำนาจทางเศรษฐกิจโดยการแข่งขันทางการค้าทางทะเล ที่ชาติตะวันตกต้องแสวงหาดินแดนใหม่เพื่อเข้ามาครอบครองทรัพยากรธรรมชาติและนำกลับมาใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม เหตุการณ์นี้คือจุดเริ่มต้นของการแสวงหาประโยชน์จากธรรมชาติอย่างเข้มข้นและรวดเร็ว ในทางวิชาการ เริ่มมีความสนใจต่อการลดน้อยลงและสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ ทำให้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการเสนอความคิดเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและส่งเสริมให้รัฐเข้ามาสร้างมาตรการที่จะคุ้มครองพืชและสัตว์อย่างเป็นรูปธรรม (Lowe, 1983) จนถึงทศวรรษที่ 1960 ขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในตะวันตกเติบโตและขยายตัวมากขึ้น ทั้งนี้เป็นผลมาจากวิธีคิดที่ต้องการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ นักต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมจากนานาชาติจึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อรณรงค์และกระตุ้นในสังคมเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและปัญหาของการใช้ทรัพยากรอย่างเกินพอดี ในปี ค.ศ.1980 จึงมีการก่อตั้งสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for the Conservation of Nature หรือIUCN) และสร้างกลไก “การอนุรักษ์” เพื่อปกป้องดูแลและบริหารจัดการ “ธรรมชาติ” ที่ยังไม่ถูกคุกคามจากมนุษย์และการพัฒนาสมัยใหม่

           ผลจากการจัดตั้งสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ คือการเกิดขึ้นขององค์กรพัฒนาเอกชนและการสร้างเกณฑ์มาตรฐานเพื่อคุ้มครองพื้นที่ธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ขณะเดียวกันก็เกิดการผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ปฏิบัติตามกฎสากลของการอนุรักษ์ธรรมชาติ (Meadows et al, 1972) จนกระทั่งในปี ค.ศ.2015 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ประเทศตะวันตกกลายเป็นแกนนำที่จะขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวและมีอิทธิพลต่อประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นการทำให้ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” กลายเป็นสถาบันทางการเมืองซึ่งชี้นำกฎเกณฑ์การพัฒนาแนวใหม่ที่รัฐบาลของทุกประเทศต้องเข้าไปกำหนดนโยบายในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อมิให้ธรรมชาติในประเทศเสื่อมโทรมและเป็นการยืนยันว่าทรัพยากรจะยังคงมีอยู่เพื่อการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องและยืนยาว นอกจากนั้น ยังเกิดความคิดคู่ขนานกับการพัฒนาที่ยั่งยืนนั่นคือ “การสร้างสมดุล” ระหว่างสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และสังคมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ความยั่งยืนที่กลายเป็นมาตรฐานสากล

           Ferguson (1990) ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อสหประชาชาติสร้างวาทกรรม “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ทำให้เกิดมาตรฐานสากลของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งวาทกรรมดังกล่าวนี้มองข้ามความแตกต่างทางการเมืองและบริบททางวัฒนธรรมที่อยู่ในแต่ละประเทศ นำไปสู่การเบียดขับและบดบังวิธีคิดและประสบการณ์ระดับท้องถิ่นที่มีต่อการพัฒนาที่แตกต่างหลากหลาย Ferguson เปรียบเปรยว่าวาทกรรม “การพัฒนาที่ยั่งยืน” คือเครื่องมือชนิดใหม่ที่มีไว้ปิดกั้นระบอบอำนาจ หรือเป็นเครื่องจักรที่ต่อต้านการเมือง (anti-politics machine) เช่นเดียวกับ Homewood (2017) วิจารณ์ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนถูกแปลงโฉมใหม่ด้วยการสร้างตัวชี้วัดที่จับต้องและตรวจสอบได้เชิงตัวเลขซึ่งในทางปฏิบัติมีแต่ความย้อนแย้ง เช่น การลดจำนวนคนจนสวนทางกับมาตรการที่จะปกป้องคุ้มครองระบบนิเวศที่ขับไล่คนจนในพื้นที่ออกไปอยู่ในที่ใหม่ที่พวกเขาไม่สามารถดำเนินวิถีชีวิตของตนเองได้ McNeill (2000) ตั้งข้อสังเกตว่าในตรรกะของการพัฒนาที่ยั่งยืนยังคงแฝงไว้ด้วยวิธีคิดแบบนักเทคนิคและมนุษยนิยมที่ดูขัดแย้งกันตลอดเวลา นักเทคนิคมุ่งที่จะใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาให้กับโลก ในขณะที่นักมุษยนิยมต้องการให้มนุษย์ได้รับการปกป้องดูแล แต่ทั้งสองด้านนี้เป็นเหรียญสองด้านที่ต่างคนต่างเดิน เสมือนกับการแบ่งแยกโลกสังคมออกจากโลกธรรมชาติที่จะต้องไม่นำมาปะปนกัน

           Büscher et al (2016) ตั้งข้อสังเกตว่าความวิตกกังวลเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นมโนทัศน์ที่เกิดจากสังคมเมืองสมัยใหม่ที่ต้องพึ่งพาระบบทุนนิยม แตกต่างไปจากชีวิตของคนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารในเขตป่าซึ่งพวกเขาใช้ชีวิตร่วมกับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นด้วยความเคารพและเข้าใจในจิตวิญญาณของมัน Comaroffs (2012) กล่าวว่าความต้องการของโลกตะวันตกภายใต้มโนทัศน์ความยั่งยืน คือความพยายามที่จะเข้าไปจับจ้องและสอดส่องคนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในสภาพแดวล้อมซึ่งยากจะคาดเดาได้ว่าคนเหล่านั้นกำลังใช้ชีวิตอย่างไร ตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในแอฟริกาตะวันออกนำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นหลักเกณฑ์ ซึ่งบดบังความรู้พื้นบ้านและวิธีปฏิบัติของคนท้องถิ่นที่มีประสบการณ์เรื่องความยั่งยืนที่ต่างไปจากสังคมตะวันตก แต่รัฐบาลต่างมุ่งเน้นตัวชี้วัดเชิงตัวเลขที่สะท้อนออกมาจากการปกป้องคุ้มครองป่าและทรัพยากรธรรมชาติ ในการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงมักถูกชี้นำโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยที่คนกลุ่มนี้พยายามจะเข้าไปศึกษาคนที่อยู่ในท้องถิ่นว่าจัดการสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานหรือไม่ โดยมองข้ามผลกระทบในมิติอื่น ๆ ที่เกิดจากกฎเกณฑ์ที่สร้างไว้ เช่น การขัดขวางมิให้คนท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ใช้พื้นที่เพาะปลูกตามภูมิปัญญาดั้งเดิม

           Nelson and Agrawal (2008) วิจารณ์ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนคือการอนุรักษ์แบบสั่งการจากเบื้องบน (Top downconservation) ที่ตอบสนองประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศในโลกตะวันตกที่ต้องการใช้ทรัพยากรเพื่อขับเคลื่อนระบบทุนนิยมโลก แต่กลุ่มคนท้องถิ่นไม่ได้ประโยชน์ใดๆจากการพัฒนาแนวนี้ เช่น การลดมลพิษจากการตัดไม้ทำลายป่าที่สร้างกฎสากลให้รัฐบาลทั่วโลกนำไปปฏิบัติและบังคับให้คนท้องถิ่นต้องหยุดการทำมาหากินแบบเก่า ทั้งนี้ รัฐบาลต่าง ๆ ล้วนทำงานบนฐานคิดแบบเหมารวม เช่น การใช้นิยามชุมชน วัฒนธรรม และการอนุรักษ์แบบกว้าง ๆ โดยไม่เข้าใจเงื่อนไขและบริบทของพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ต่างกัน ผลก็คือการสร้างกฎเกณฑ์สากลที่ลดทอนความรู้ท้องถิ่น (Lewis, 2008) การพัฒนาที่ยั่งยืนที่เกิดขึ้นจากโครงการของรัฐจึงวางอยู่บนโลกทัศน์แบบตะวันตกที่ถูกชี้นำโดยนายทุนและองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมองการพัฒนาที่เอื้อประโยชน์ให้กับการทำงานเชิงการตลาด กลุ่มทุนเหล่านี้มอง “ธรรมชาติ” เป็นเพียงวัตถุที่จะต้องถูกใช้ประโยชน์ เห็นได้จากมาตรการบริจาคเงินให้กับการอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม เพื่อหวังว่าธรรมชาติจะยังคงอยู่เป็นทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยว

ความยั่งยืนบนความหลากหลายของประสบการณ์ท้องถิ่น

           Sandbrook (2015) อธิบายว่าการให้ท้องถิ่นได้ประโยชน์จากการพัฒนา จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดโดยหันกลับไปมองประสบการณ์ของท้องถิ่นเป็นสำคัญ เพื่อทำความเข้าใจว่าปฏิสัมพันธ์และระบบศีลธรรมที่คนท้องถิ่นมีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ช่วยให้ทรัพยากรดำรงอยู่อย่างเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับการดำรงชีพของมนุษย์อย่างไร แนวทางนี้อาจเป็น “การอนุรักษ์จากเบื้องล่าง” (conservation from below) หากย้อนกลับไปทบทวนในสิ่งที่เรียกว่า “การดิ้นรนเพื่อการมีชีวิต” นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน Ludwig Boltzman เคยอธิบายว่าสิ่งมีชีวิตต่อสู้เพื่อให้ดำรงอยู่ได้โดยการใช้ประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อม ชีวิตจึงมิได้ผูกติดกับทรัพยกร แต่ผูกติดอยู่กับความหลากหลายของสรรพสิ่ง ในแง่นี้ การที่จะทำให้โลกดำรงอยู่ต่อไปอาจต้องกลับไปบำรุงรักษาความหลากหลายของความรู้/การดำรงอยู่ เกษตรกรรมพื้นบ้านและการเพาะปลูกแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น การทำไร่หมุนเวียน ล้วนเป็นความหลากหลายทางความรู้ที่มนุษย์สามารถอาศัยอยู่ร่วมกับป่าได้ วิถีเกษตกรรมเหล่านี้ไม่ควรถูกตีตราว่าเป็นสิ่งที่ผิด (Carneiro da Cunha, 2017)

           Tsing (2017) อธิบายว่าสิ่งที่เรียกว่าความยั่งยืนจำเป็นต้องมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากสิ่งแวดล้อมของโลกจะดำรงอยู่ได้โดยการพึ่งพาอาศัยและปฏิสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตหลากสายพันธุ์ ดังนั้น มาตรการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ควรเน้นไปที่กิจกรรมของมนุษย์เท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นควบคู่กันไป ความยั่งยืนที่โอบอุ้มสิ่งต่าง ๆ ทั้งมนุษย์และสิ่งที่มิใช่มนุษย์ คือวิถีทางที่การพัฒนาจำเป็นต้องกลับมาใส่ใจอย่างจริงจัง ในช่วงสมัยของ Anthropocene โลกถูกจัดระเบียบให้เป็นไปตามกลไกของระบบตลาด ผู้เชี่ยวชาญในระบบดังกล่าวจึงมักจะมองสิ่งแวดล้อมและสิ่งที่มิใช่มนุษย์เป็นเพียง “วัตถุ” ที่มีไว้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์เท่านั้น สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวมนุษย์จึงถูกประเมินเป็นตัวเลขและสถิติซึ่งอยู่ในกรอบของการเป็นวัตถุดิบหรือสินทรัพย์ที่จะใช้สำหรับการค้าขาย (Sullivan, 2013) วิธีคิดดังกล่าวคือตัวกระตุ้นที่ทำให้ความเป็นศูนย์กลางของมนุษย์แตกตัวและเติบโตออกไปเรื่อย ๆ (Anthropocene proliferations) (Tsing, 2017)

           Escobar (2017) ตั้งข้อสังเกตว่าสถานการณ์โลกปัจจุบันซึ่งมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิของกลุ่มชนพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ คนท้องถิ่น และกลุ่มคนที่เสียประโยชน์ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างหลากหลาย เปรียบเสมือนการดิ้นรนทางภววิทยา (ontological struggles) ที่ต้องการดำรงอยู่ในแบบที่ต่างไปจากความรู้กระแสหลัก ฉะนั้น กลไกการพัฒนาที่ยั่งยืนตามมาตรฐานสากลจำเป็นต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่ากำลังลิดรอน ปิดกั้น และบ่อนทำลายภววิทยาที่มีอยู่หลากหลายในโลกนี้อย่างไร Eriksen (2016) อธิบายว่าสถานการณ์ปัญหาโลกปัจจุบันเต็มไปด้วย “จุดเดือด” ดังนั้น สิ่งที่นักมานุษยวิทยาสามารถแสดงบทบาทในปัญหาของโลกก็คือการสนับสนุนการต่อสู้ของความหลากหลายในทุกมิติ โดยเฉพาะให้เสียงกับคนท้องถิ่นที่ออกมาตอบโต้การการพัฒนาที่ชี้นำโดยระบบทุนนิยมโลก รวมทั้งนำเอาสิ่งที่มิใช่มนุษย์เข้ามาอยู่ในระนาบเดียวกันกับมนุษย์ โดยมิได้ขีดเส้นแบ่งที่ตายตัว (Homewood, 2017)

 

เอกสารอ้างอิง

Brightman, M. & Lewis, J. (eds.). (2017). The Anthropology of Sustainability Beyond development and progress. London: Palgrave Macmillan.

Büscher, B., R. Fletcher, D. Brockington, C. Sandbrook, W. Adams, L. Campbell, C. Corson,W. Dressler, R. Duffy, N.Gray, G. Holmes, A. Kelly, E. Lunstrum, M. Ramutsindela and K. Shanker. (2016). Half-Earth or Whole Earth? Radical ideas for conservation, and their implications. Oryx, 1–4. doi: 10.1017/S0030605316001228.

Carneiro da Cunha, M. (2017). Traditional People, Collectors of Diversity. In Brightman,M. & Lewis, J. (eds.). The Anthropology of Sustainability Beyond development and progress. London: Palgrave Macmillan.

Comaroff, J. & J. L. Comaroff. (2012). Theory from the South: Or, how Euro-America is Evolving Toward Africa. Anthropological Forum: A Journal of Social Anthropology and Comparative Sociology, 22(2), 113-131.

Eriksen, T. H. (2016). Overheating: An Anthropology of Accelerated Change. London: Pluto Press.

Escobar, A. (2017). Sustaining the Pluriverse: The Political Ontology of Territorial Struggles in Latin America. In Brightman, M. & Lewis, J. (eds.). The Anthropology
of Sustainability Beyond development and progress. London: Palgrave Macmillan.

Ferguson, J. (1990). The Anti-Politics Machine: "Development," Depoliticization and Bureaucratic Power in Lesotho. Cambridge: Cambridge University Press.

Grober, U. (2012). Sustainability: A Cultural History. Totnes: Green Books.

Homewood, K. (2017). They call it Shangri-La”: Sustainable Conservation, or African Enclosures? In Brightman, M. & Lewis, J. (eds.). (2017). The Anthropology of Sustainability Beyond development and progress. London: Palgrave Macmillan.

Lewis, J. (2008). Managing abundance, not chasing scarcity: the big challenge for the twenty-first century. Radical Anthropology Journal, 2, 7-18.

Lowe, P. D. (1983). Values and institutions in the history of British nature conservation. Conservation in perspective, 329-352.

Maida, C. (ed.) (2007). Sustainability and Communities of Place. Oxford: Berghahn.

McNeill, D. (2000). The Concept of Sustainable Development. In K. Lee, A.J. Holland and D. McNeill (eds.), Global Sustainable Development in the Twenty-First Century. Edinburgh: Edinburgh University Press.

Meadows, D., G. Meadows, J. Randers & W. Behrens III. (1972). The Limits to Growth. New York: Universe Books.

Naess, A. (1989). Ecology, Community and Lifestyle: Outline of an Ecosophy. Cambridge: Cambridge University Press.

Nelson, F., & Agrawal, A. (2008). Patronage or Participation? Community-based Natural Resource Management Reform in Sub-Saharan Africa. Development and Change, 39, 557–585.

Neocleous, M. (2013). Resisting resilience. Radical Philosophy, 178: 2-7.

Sandbrook, C. (2015). What is conservation? Oryx, 49(4), 565 – 566.

Sullivan, S. (2013). Banking Nature? The Spectacular Financialisation of Environmental Conservation. Antipode, 45(1), 198-217.

Tsing, A. (2017). A Threat to Holocene Resurgence is a Threat to Livability. In Brightman, M. & Lewis, J. (eds.). The Anthropology of Sustainability Beyond development and progress. London: Palgrave Macmillan.


ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มโนทัศน์ความยั่งยืน Posthuman Anthropology Sustainability ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share