มานุษยวิทยากับมโนทัศน์ผู้ประกอบการ Anthropology of Entrepreneurship

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 2792

มานุษยวิทยากับมโนทัศน์ผู้ประกอบการ Anthropology of Entrepreneurship

           ปัจจุบันคำว่า “ผู้ประกอบการ” (entrepreneur) ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อสื่อความหมายถึงบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในโลกทุนนิยม เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับโลก อาทิ บิล เกตส์ แห่งบริษัทไมโครซอฟต์ สตีฟ จ็อบส์ แห่งแอปเปิ้ล มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แห่งเฟซบุ๊ค หรืออีลอน มัสก์ แห่งสเปซเอ็กซ์และเทสลามอเตอร์ เรื่องเล่าและภาพความสำเร็จของบุคคลผู้บุกเบิกและสร้างผลกระทบต่อโลกด้วยการทำธุรกิจของพวกเขา เป็นแรงบันดาลใจชั้นดีที่ส่งต่อมาถึงผู้ประกอบการในระดับรอง ๆ ลงมา เช่น ผู้ประกอบการในธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก จนยากที่จะปฏิเสธว่าในปัจจุบันเรื่องเล่าของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจหลากรูปแบบและหลายระดับนั้นถูกเผยแพร่ให้เข้าถึงกันโดยทั่วไป

           ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 2011 องค์กร Global Entrepreneurship Monitor (GEM) ได้ทำการสำรวจและประมาณการว่ามีผู้ประกอบการจำนวน 388 ล้านคน ที่กำลังเริ่มต้นหรือผลักดันให้เกิดธุรกิจใหม่ (Westhead & Wright, 2013: 1) ต่อมาในปี ค.ศ. 2014 นิตยสารฟอร์บส์ระบุว่า

“การเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) เป็นหนึ่งในประเด็นร้อนของการพัฒนาเศรษฐกิจในทุกวันนี้ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างพยายามสร้างระบบนิเวศของการเป็นผู้ประกอบการ”

           เช่นเดียวกับที่การประชุม World Economic Forum มีการผลักดันให้การสร้างผู้ประกอบการทางสังคมเพื่อทำให้โลกดีขึ้น (Pfeilstetter, 2022: 1) จนกล่าวได้ว่าเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในยุคทองของการเป็นผู้ประกอบการ (a golden age for entrepreneurship) ที่การพัฒนาประชากรให้เป็นผู้ประกอบการและสนับสนุนการทำธุรกิจถูกมองว่าเป็นการสร้างงานและความมั่งคั่ง ลดความเหลื่อมล้ำ จนทำให้รัฐบาลต่าง ๆ หันมาใช้วิธีนี้เป็นยาครอบจักรวาล (panacea) ในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น (Westhead & Wright, 2013: 1)

           หากย้อนกลับไปดูความหมายของ entrepreneur จะพบว่าเป็นคำภาษาฝรั่งเศสซึ่งปรากฏครั้งแรกในพจนานุกรม Dictionnaire de la langue français ในปี ค.ศ. 1437 ซึ่งเป็นคำนามที่ความหมายพื้นฐานที่สุดบ่งชี้ถึง “บุคคลผู้กระตือรือร้นและบรรลุเป้าหมายบางอย่าง” (a person who is active and achieves somethings” ส่วนคำกริยาentreprendre นั้นหมายถึง “การทำหน้าที่บางอย่าง” (to undertake something) ในตอนต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ผู้ประกอบการในประเทศฝรั่งเศสมักจะถูกมองว่าเป็น “ผู้รับความเสี่ยง” (a person who take risks) ต่อเนื่องมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่ผู้ประกอบการถูกมองว่าเป็นผู้ที่ทำสัญญากับรัฐ มารับงานสำคัญในราคาที่ถูกกำหนดไว้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลานั้น คำและความหมายที่ถูกใช้ในโลกภาษาฝรั่งเศสยังไม่มีคำที่สามารถแปลมาใช้ในโลกภาษาอังกฤษได้อย่างตรงไปตรงมา ทำให้คำว่า entrepreneur ถูกยืมมาใช้ในพจนานุกรม A Dictionary of the English Language ในปี ค.ศ. 1755 โดยให้นิยามว่าผู้ประกอบการ คือ นักผจญภัย ผู้เสาะหาสถานการณ์อันตราย ผู้ซึ่งทิ้งตัวเองลงไปในอุ้งมือของโอกาส (Adventurer, he that seeks occasion of hazard; he that puts himself in the hand of chance) และเมื่อเวลาผ่านไป คำว่าผู้ประกอบการได้ถูกนิยามใหม่ให้กว้างขวางขึ้น และเกี่ยวข้องกับ “สถานการณ์ที่บุคคลหนึ่งเข้ามาพัวพันกับโครงการที่มีความเสี่ยงและผลกำไรไม่แน่นอน” จนกระทั่งช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผู้ประกอบการซึ่งมีนัยยะถึงผู้เข้ามาทำหน้าที่บางอย่างได้ถูกสวมเข้ากับมโนทัศน์ผู้ประกอบการในโลกทุนนิยมอย่างแนบแน่น ความหมายของคำว่าผู้ประกอบการกับนักธุรกิจ (businessman) จึงแทบไม่แตกต่างกัน (Westhead & Wright, 2013: 4-5) ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงไม่ได้เป็นเพียงคำทั่วไป แต่ยังอยู่ในฐานะมโนทัศน์ (concept) ที่แฝงมาด้วยความหมายและปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง

           การศึกษาทางสังคมวิทยาที่เกี่ยวข้องกับมโนทัศน์ผู้ประกอบการนั้นอาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ การศึกษาฝั่งอุปสงค์และการศึกษาฝั่งอุปทาน สำหรับฝั่งอุปสงค์นั้นเป็นการศึกษาคุณลักษณะเชิงปัจเจกของผู้ประกอบการ เพื่อทำความเข้าใจความเฉพาะเจาะจงที่ทำให้เกิดความเป็นผู้กระทำ (agency) และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากผู้ประกอบการในฐานะปัจเจก ส่วนการศึกษาฝั่งอุปทานเป็นการศึกษาที่เน้นให้เห็นแรงผลักและแรงดึงเชิงบริบทที่ส่งผลต่อผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี นักสังคมวิทยาในระยะหลังเสนอว่าไม่สามารถศึกษาฝั่งใดฝั่งหนึ่งอย่างแยกขาดจากกันได้ แต่ควรทำการศึกษาความสัมพันธ์หลายระดับ (multilevel approach) ของทั้งสองฝั่ง (Thornton, 1999) และหากกล่าวถึงงานศึกษาคลาสสิคอาจย้อนกลับไปได้ถึงงานของแมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) เรื่อง The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism ในปี ค.ศ. 1904 ที่สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อและวิถีปฏิบัติทางศาสนาของชาวคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ได้สร้างความชอบธรรมทางวัฒนธรรมที่สอดรับเข้ากับพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของปัจเจกบุคคล เช่น การคิดคำนวณได้ (calculability) และการควบคุมตนเอง (self-control) จึงทำให้เกิดจุดเริ่มต้นของระบบทุนนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ขึ้นในยุโรป (Reuf & Lounsbury, 2007: 3)

           อย่างไรก็ดี คุณูปการของการศึกษาทางสังคมวิทยาซึ่งดูเหมือนจะอยู่ชายขอบของการศึกษาผู้ประกอบการ เมื่อเปรียบเทียบกับงานศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์หรือการบริหารจัดการ คือการแสดงให้เห็นเงื่อนไขแวดล้อมเชิงสังคมและสถาบันที่ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ของผู้ประกอบการเกิดขึ้น ทั้งการศึกษาระดับจุลภาคที่ลงลึกไปยังชีวิตของผู้ประกอบการในฐานะปัจเจกบุคคล หรือการศึกษาระดับใหญ่ขึ้นเช่นการศึกษาองค์กร ตลอดจนการศึกษาปฏิสัมพันธ์ (interplay) ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ ทั้งที่เป็นทรัพยากรเชิงวัตถุและสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ เช่น ความไว้วางใจ นอกจากนี้ การศึกษาทางสังคมวิทยายังเปิดกว้างต่อพื้นที่ “นอกขนบ” เช่น ธุรกิจของกลุ่มชาติพันธุ์ หรือแวดวงวิชาการที่ถูกขับเคลื่อนด้วยวิธีคิดทางธุรกิจ (Reuf & Lounsbury, 2007: 23)

           ส่วนงานทางมานุษยวิทยาซึ่งก่อตัวมาจากการศึกษากลุ่มคนที่ไม่ใช่คนตะวันตก การศึกษาผู้ประกอบการอาจย้อนกลับไปถึงงานที่สนใจระบบเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนในพิธีกรรมที่เรียกว่า “พ็อตแลตช์” (Potlatch) ซึ่งเป็นกิจกรรมการแลกเปลี่ยนของขวัญ (gift giving) ของชนพื้นเมืองอเมริกันในแถบชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก ในพิธีกรรมดังกล่าวกลุ่มชนพื้นเมือง โดยเฉพาะผู้นำจะนำสิ่งของต่าง ๆ เช่น ภาชนะ ผ้าห่ม หรือของมีค่ามาแจกจ่ายให้ผู้มาร่วมงานเพื่อแสดงให้เห็นฐานะทางสังคมและการยอมรับ นอกจากแจกจ่ายแล้ว บางครั้งยังมีการทำลายข้าวของเพื่อแสดงความมั่งคั่ง พิธีกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในวาระสำคัญ เช่น การแต่งงาน การเกิด การตาย หรือการเปลี่ยนสถานะทางสังคม ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวทำหน้าที่ (function) ในการกระจายทรัพยากรทางเศรษฐกิจรวมถึงอิทธิพลทางการเมือง อย่างไรก็ดี ในพิธีกรรมดังกล่าว ผู้รับของขวัญเป็นผู้ที่รู้สึกติดค้างในฐานะที่ตนได้หยิบยืมสิ่งของมาใช้ และมีพันธะผูกพันที่จะต้องนำสิ่งของดังกล่าวมาคืนหรือนำสิ่งของอื่นมาตอบแทนผู้ให้หรือลูกหลานของพวกเขาในอนาคต ซึ่งจะเห็นว่าพิธีกรรมดังกล่าวสะท้อนการแข่งขันและการแสดงความเป็นคู่แข่งหรือศัตรู (agonistic) ซึ่งเป็นลักษณะประการหนึ่งของผู้ประกอบการ (Pfeilstetter, 2022: 12-13)

           หากขยับมามองระบบทุนนิยมร่วมสมัย เดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey) นักมานุษยวิทยาและนักภูมิศาสตร์มาร์กซิสต์เป็นหนึ่งในนักคิดคนสำคัญที่มองการเป็นผู้ประกอบการด้วยสายตาวิพากษ์วิจารณ์อย่างถึงรากถึงโคน เขาเห็นว่าผู้ประกอบการนั้นเป็นอีกหนึ่งใบหน้าอันอัปลักษณ์ของชนชั้นนายทุนในระบบอันบ้าคลั่ง นั่นคือ ลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ฮาร์วีย์เสนอว่าในระบบนี้เงินได้กลายเป็นเป้าหมายในตัวเอง กล่าวคือ ถึงที่สุดแล้วผู้ประกอบการไม่ได้ลงทุนเพื่อการผลิตนวัตกรรมหรือสร้างผลิตภาพใด ๆ พวกเขาไม่ได้ซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย แต่เพื่อเติมเต็มความต้องการให้ทุนผลิตซ้ำตัวเอง หรืออาจกล่าวว่าเป็นการลงทุนเพื่อเก็งกำไร ขณะที่มีผู้คนอีกมากมายเป็นคนไร้บ้าน ดังนั้น ผู้ประกอบการในมุมมองมาร์กซิสต์จึงเป็นผู้กระทำการทางเศรษฐกิจในฐานะชนชั้นนายทุนผู้ขูดรีด หรืออาจจะเป็นแรงงานที่กำลังถูกขูดรีดโดยไม่รู้ตัวภายใต้ภาพของการเป็นนายจ้างตัวเอง (self-employee) (Pfeilstetter, 2022: 15)

           การเป็นผู้ประกอบการในระบบทุนนิยมสมัยใหม่วางอยู่บนการมีสำนึกว่าตนเป็นผู้จัดการชีวิตของตัวเองเป็นผู้จับตามองโอกาสที่จะเปลี่ยนความสำเร็จในอนาคต และพลเมืองในฐานะผู้ประกอบการนั้นเป็นบุคคลที่มีความเป็นปัจเจกชน มีความยืดหยุ่น และเป็นเสรีนิยม (Pfeilstetter, 2022: 17) กล่าวได้ว่าคุณลักษณะข้างต้นเป็นตัวแบบของมโนทัศน์ผู้ประกอบการที่กลายเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในสังคม อย่างไรก็ดี งานศึกษาทางมานุษยวิทยาร่วมสมัยได้ศึกษาชีวิตของผู้ประกอบการในแง่มุมใหม่ ๆ ที่เผยให้เห็นความสลับซับซ้อนของการก้าวเข้าสู่วิถีชีวิตของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในภาคเกษตร เช่น งานของแมททิว อาเชอร์ (Matthew Archer) และ ฮันนาห์ เอลเลียต (Hannah Elliot) พวกเขาศึกษาการทำธุรกิจสีเขียว (green capitalism) ของยูนิลิเวอร์ (Uniliver) บริษัทชารายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งในปี ค.ศ. 2007 ได้ประกาศว่าจะรับซื้อใบชาจากแหล่งวัตถุดิบชาที่ผลิตอย่างยั่งยืนด้วยกรรมวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผ่านมาตรฐาน Rainforest Alliance เท่านั้น กระบวนการดังกล่าวกระตุ้นให้เกษตรกรรายย่อยในประเทศเคนยาเข้ามาเป็นผู้ผลิตใบชาโดยที่ต้องพยายามทำตามมาตรฐาน ขณะที่ราคาและเงื่อนไขต่าง ๆ นั้นถูกนำเสนอว่ากำหนดโดยตลาด (market) (Archer & Elliot, 2021)

           เป้าหมายของโครงการดังกล่าวนั้นถูกระบุไว้ว่าชาของบริษัทจะต้องนำมาจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืนทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2015 และอีกด้านหนึ่ง โครงการจะช่วยผู้ปลูกชาให้ขายผลผลิตในราคาสูงขึ้น เพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ดี การก้าวเข้ามาเป็นผู้ประกอบการของเกษตรกรไร่ชาในเคนยา ภายใต้การผลิตที่ให้คำมั่นสัญญาว่าเมื่อตลาดเป็นผู้กำหนดจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่กับเกษตรกรไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ให้การสงเคราะห์ หรือไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบบนลงล่าง แต่อยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกันมากขึ้น แต่ถึงที่สุดแล้ว เมื่อโครงการดำเนินไปพบว่า “ตลาด” กลายเป็นตัวแสดงสำคัญที่เข้ามาห่มคลุมความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่รวมถึงบริษัทนายหน้าในท้องถิ่นกับเกษตรกร ตลาดเป็นคำนามธรรมที่ถูกนำมาใช้เบี่ยงเบนความสนใจและความรับผิดชอบของตัวแสดงที่มีอำนาจนำในการกำหนดความเป็นไปของตลาด ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าเกษตรกรในฐานะผู้ประกอบการสามารถตัดสินใจอย่างอิสระที่จะขายผลผลิตให้บริษัทผู้รับซื้อใบชาที่ให้ราคาดีที่สุด แต่ถึงที่สุดแล้ว เมื่อพวกเขาถูกจูงใจด้วยการให้ราคาสูงในช่วงปีแรก ๆ แต่บริษัทก็ค่อย ๆ ลดราคาลงในปีต่อ ๆ มา โดยที่เกษตรกรต้องจำใจขายผลผลิตอย่างไม่มีทางเลือก นอกจากนี้ เมื่อทุกอย่างถูกอ้างว่าเป็นไปตามการกำหนดของ “ตลาด” ซึ่งจับต้องไม่ได้แล้ว สวัสดิการแรงงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน (Archer & Elliot, 2021: 238-242)

           สำหรับงานศึกษาทางสังคมศาสตร์ในไทย เริ่มมีการให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ “สังคมผู้ประกอบการ” มากขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา โดยเฉพาะการศึกษาการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองในชนบทที่ทำให้วิถีการดำรงชีพ รวมถึงจินตนาการทางการเมืองของผู้คนในชนบทเปลี่ยนไป ตัวอย่างที่ชัดเจนซึ่งทำให้เห็นว่าวิถีชีวิตและอาชีพของคนในชนบทเปลี่ยนแปลง เช่น การเกิดขึ้นของผู้จัดการนา/ผู้ประกอบการนา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิถีการผลิตในสังคมชาวนา ผู้จัดการนาคือเจ้าของที่นาที่ใช้การจ้างงานทุกขั้นตอน พวกเขาทำหน้าที่บริหารจัดการและติดต่อประสานงานตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต เก็บเกี่ยว ไปจนถึงการทำการตลาด ขณะที่ชาวนารายย่อยซึ่งมีต้นทุนไม่มากนักก็ปรับตัวด้วยการรวมตัวกันรับจ้างเหมาทำนาแต่ละขั้นตอน หรือรับจ้างทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร เช่น รถไถ รถเกี่ยวข้าว นอกจากนี้ ยังมีการหารายได้จากแหล่งรายได้อื่นนอกภาคเกษตร เช่น การเข้ามาขายแรงงานในเมือง (อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, 2559: 50-54)

           การเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นผู้ประกอบการของผู้คนในสังคมชนบท ทำให้พวกเขาสามารถลืมตาอ้าปากและยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมได้ แต่การเข้ามาเป็นผู้ประกอบการในภาคการเกษตรไม่จำเป็นต้องเริ่มจากการเป็นเกษตรกรมาแต่เดิมเท่านั้น ในปัจจุบันผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพหรือคนรุ่นใหม่หันมาทำการเกษตรอย่างจริงจังมากขึ้น ขณะเดียวกันการเป็นเกษตรกรก็อาจเป็นช่องทางในการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างทางเลือกในการพัฒนาชุมชน เช่น การสร้างตลาดนัดสินค้าเกษตรอินทรีย์ (Somkauna, N., Chumnanmakb, R., Narongchaic, W., & Suppatkul, P., 2019; กนกวรรณ มะโนรมย์, 2559) หากพิจารณาจุดต่างสำคัญของการเป็นเกษตรกรแบบดั้งเดิมกับเกษตรกรในฐานะผู้ประกอบการ จะพบว่าเกษตรกรแบบดั้งเดิมนั้นไม่ได้สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลายเพื่อเพิ่มช่องทางหารายได้ ขณะที่เกษตรกรที่เป็นผู้ประกอบไม่ได้ใช้ทักษะดั้งเดิมในการทำการผลิตเท่านั้น แต่พวกเขามีทักษะและโอกาสที่จะสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย เช่น การท่องเที่ยว การแปรรูปผลผลิต หรือมีการสร้างเครือข่าย โดยเฉพาะการใช้เครือข่ายเชิงเครือญาติในการหมุนเวียนทรัพยากรมาสร้างนวัตกรรม ต่าง ๆ แต่ที่สำคัญ ปัจจัยกระตุ้นหลักของเกษตรกรในฐานะผู้ประกอบการคือแรงผลักที่ต้องการจะเป็นอิสระจากการพึ่งพารัฐ (กฤตภัค งามสีวานนท์, 2559)

           อย่างไรก็ดี ใช่ว่าการปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ประกอบการและการทำผลิตในระบบตลาดจะโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป งานศึกษาชีวิตของกลุ่มชาวนาอินทรีย์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือชี้ว่าการหันมาทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้ระบบพันธสัญญา ทำให้เกษตรกรตกอยู่ภายใต้การสอดส่องและควบคุมผ่านอำนาจที่แฝงมากับความรู้และข้อกำหนดของการรับรองตามมาตรฐานสากล และในขณะเดียวกันเกษตรกรที่มีต้นทุนต่างกัน เช่น ชาวนารวย ชาวนาฐานะปานกลาง และชาวนายากจน ต่างก็มีศักยภาพในการเข้าถึงที่ดิน ทุน และแรงงานไม่เท่ากัน ทำให้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จของเกษตรกรแต่ละกลุ่มมีไม่เท่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวนายากจนเป็นกลุ่มที่เปราะบางอย่างยิ่งโดยเปรียบเทียบ (เนตรดาว เถาถวิล, 2554, 2557; วรฉัตร วริวรรณ และ เบญจพร บุญโทแสง, 2564) ดังนั้น การเข้าสู่โลกของการเป็นผู้ประกอบการจึงไม่ได้เป็นยาครอบจักรวาลที่สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่คำนึงถึงบริบทและความเฉพาะเจาะจงของพื้นที่

           หากย้อนกลับไปพิจารณาคำกล่าวที่ว่าเรากำลังอยู่ในยุคทองของการเป็นผู้ประกอบการ ก็นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีในการหันมาสนใจศึกษาสังคมผู้ประกอบการ และชีวิตของผู้ประกอบการกันอย่างเข้มข้นจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยวิธีการศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่มีจุดเด่นสำคัญที่การสร้างมุมมองเชิงวิพากษ์ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าสังคมผู้ประกอบการที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร ความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เป็นธรรมยังคงดำรงอยู่หรือไม่ ผู้คนที่มีเงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจต่าง ๆ กัน กำลังใช้ชีวิตในสังคมนี้อย่างไร และอะไรคือทางเลือกและทางรอดที่เป็นไปได้

 

บรรณานุกรม

Archer, M. & Elliott, H. 2021. ‘It’s up to the market to decide’: Revealing and concealing power in the sustainable tea supply chain. Critique of Anthropology, 41(3), 227–246.

Pfeilstetter, R. 2022. The anthropology of entrepreneurship: Cultural history, global ethnographies, theorizing agency. London: Routledge.

Ruef, M. & Lounsbury, M. 2007. Introduction: The sociology of entrepreneurship. Research in the Sociology of Organizations, 25, 1-29.

Somkauna, N., Chumnanmakb, R., Narongchaic, W., & Suppatkul, P. 2019. The Transformation from Farmer to Entrepreneur in Khon Kaen Province, Thailand. Journal of Mekong Societies, 15 (3), 95-120.

Thornton, P. H. 1999. The sociology of entrepreneurship. Annual Review of Sociology 25, 19-46.

Westhead, P. & Wright, M. 2013. Entrepreneurship: A Very Short Introduction. Oxford: Oxford University Press.

กนกวรรณ มะโนรมย์. 2559. “ชาวนายุคใหม่” แห่งที่ราบลุ่มราษีไศล. เข้าถึงจาก http://www.landactionthai. org/land/index.php?option=com_content&.

กฤตภัค งามสีวานนท์. 2559. ชนบทที่เคลื่อนไหว: ความหมายและความหลากหลายของผู้ประกอบการในชนบท. เข้าถึงจาก https://prachatai.com/journal/2016/04/65226

เนตรดาว เถาถวิล. 2554. “เฮ็ดอยู่ แต่บ่พอกิน”: คําถามว่าด้วยการพึ่งตนเองของชาวนาเกษตรอินทรีย์ในยุคโลกาภิวัตน์และการพัฒนา, วารสารสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา, 30(2): 81-110.

เนตรดาว เถาถวิล. 2557. ปฏิบัติการต่อรองของชาวนาไทย ภายใต้ระบบการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์เพื่อป้อนตลาดโลก, วารสารสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา, 33(1): 13-43.

วรฉัตร รวิวรรณ และ เบญจวรรณ บุญโทแสง. 2561. เกษตรกรอินทรีย์ภายใต้พื้นที่แห่งอำนาจของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในสังคมสมัยใหม่, วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 14 (1): 119-140.

อรรถจักร สัตยานุรักษ์. 2559. ลืมตาอ้าปาก จาก “ชาวนา” สู่ “ผู้ประกอบการ”. กรุงเทพฯ : มติชน.


ผู้เขียน

ชัชชล อัจนากิตติ

นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มโนทัศน์ผู้ประกอบการ Posthuman Anthropology Entrepreneurship ชัชชล อัจนากิตติ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share