มานุษยวิทยากับทัศนพิสัยนิยม Anthropology and Perspectivism

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 2662

มานุษยวิทยากับทัศนพิสัยนิยม Anthropology and Perspectivism

ความหมายของทัศนพิสัยนิยม

           Kwon (2012) กล่าวว่าทัศนพิสัยนิยมคือการทำความเข้าใจว่าความคิด ความเชื่อ และทัศนคติของมนุษย์ ที่มีต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขสังคมผ่านการเรียนรู้ การอบรมสั่งสอนและประสบการณ์ที่คนแต่ละถูกขัดเกลามาไม่เหมือนกัน ส่งผลให้คนแต่ละคนอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านมุมมองของตัวเองเป็นสำคัญ ดังเช่น Wolf (1974) เคยเสนอว่าการทำความเข้าใจเหตุการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่ต่างไปจากความคุ้นชินของเรา เราต้องฝึกตรวจสอบความคิดที่เรามี เพื่อตระหนักว่าเราใช้ความคิดและทัศนคติแบบไหนไปอธิบายสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ในการศึกษาประสบการณ์ของคนต่างวัฒนธรรม สิ่งสำคัญคือการไม่ยึดติดอยู่กับความคิดใดความคิดหนึ่งแบบตายตัว แต่ควรเป็นการดูบริบทที่สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้น เมื่อบริบทเปลี่ยนไปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมจะมีความหมายใหม่

           ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักวิชาการและกลุ่มศิลปินในทวีปยุโรปกำลังสนใจการเปลี่ยนแปลงความหมายของพื้นที่ซึ่งแต่เดิมมักจะแยกพื้นที่เป็นคู่ตรงข้ามระหว่าง “พื้นที่เชิงบวก” กับ “พื้นที่เชิงลบ” อันเป็นการแบ่งแยกขาวกับดำออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ตามความเชื่อของเหล่าศิลปินมักจะคิดว่าภาพเขียนที่ปรากฎจะมีพื้นที่สองแบบคือ 1) พื้นที่ที่เป็นที่จัดวางวัตถุสิ่งของที่เป็นจุดศูนย์กลางของภาพ และ 2) พื้นที่ที่เป็นชายขอบหรือเป็นสภาพแวดล้อมที่อยู่ล้อมรอบจุดศูนย์กลาง ศิลปินจะให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางของภาพเหนือกว่าพื้นที่ที่อยู่โดยรอบ แต่กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่เช่น กลุ่มศิลปินแนวคิวบิส (Cubist Art) ออกมาแย้งว่าในภาพเขียนไม่จำเป็นต้องมีจุดศูนย์กลาง กล่าวคือ การสร้างสรรค์ทางศิลปะไม่จำเป็นต้องเลียนแบบความจริงของวัตถุธาตุ แต่สามารถนำรูปทรงของวัตถุในแบบต่าง ๆ มาจัดเรียงใหม่เพื่อทำให้เห็นความซับซ้อนที่เกิดขึ้นในวัตถุต่าง ๆ พื้นที่ในภาพจึงมีความสำคัญเท่าเทียมกันทุกตำแหน่ง (Hess, 1975)

           Kern (1983) กล่าวว่าการเปลี่ยนคุณค่าเกี่ยวกับพื้นที่ซึ่งชาวตะวันตกพยายามจัดแบ่งสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันระหว่าง “ศูนย์กลาง” กับ “ชายขอบ” ถูกโค่นล้มด้วยวิธีการมองพื้นที่และเวลาที่ต่างออกไปโดยคำนึงถึงการให้คุณค่ากับสิ่งต่าง ๆ อย่างเสมอภาค ไม่มีการแบ่งแยกสิ่งที่ดีกว่าออกจากสิ่งที่ด้อยกว่า การเปลี่ยนระบบคุณค่าดังกล่าวนี้สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งสังคมตะวันตกกำลังเข้าสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมและการกลายเป็นเมืองที่มีคนกลุ่มต่าง ๆ ย้ายถิ่นเข้ามาทำงานจำนวนมาก เกิดกระบวนการผลิตเพื่อมวลชนขนาดใหญ่ กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงนี้จึงเสนอวิธีสร้างงานศิลปะรูปแบบใหม่ภายใต้กระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนทัศนพิสัย (perspectivist movement) เป้าหมายคือการชี้ให้เห็นว่า “ความจริง” ที่ปรากฏล้วนขึ้นอยู่กับความคิดและทัศนคติที่หลากหลาย ดังนั้น การตัดสินความจริงในตัววัตถุที่มีเพียงหนึ่งเดียวจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

           ความคิดที่ว่าความจริงในแต่ละสภาพแวดล้อมมีความแตกต่างกัน ใกล้เคียงกับความคิดทางมานุษยวิทยาที่สนใจบริบทสังคมและวัฒนธรรมที่ต่างกันย่อมส่งผลให้เกิดการสร้างความจริงที่ต่างกันด้วย การใช้ความคิดแบบใดแบบหนึ่งไปตัดสินคุณค่าของวัตถุและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่อันตราย นักมานุษยวิทยาจึงสนใจว่ามีทัศนคติและความคิดของมนุษย์ที่หลากหลายที่นำไปใช้สร้างคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ การเคลื่อนไหวของกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ที่โค่นล้มความคิดแบบคู่ตรงข้าม จึงใกล้เคียงกับกระบวนทัศน์เรื่องพหุลักษณ์ทางวัฒนธรรม (cultural pluralism) และสัมพัทธนิยมทางวัฒนธรรม (cultural relativism) (Berleant, 1991) อย่างไรก็ตาม ความคิดเรื่องทัศนพิสัยนิยมที่เกิดขึ้นในแวดวงศิลปะให้ความสนใจกับ “พื้นที่” มากกว่าจะทำความเข้าใจประสบการณ์การใช้พื้นที่ในสังคมของมนุษย์ (spatial experience) จุดต่างนี้ทำให้แนวคิดทัศนพิสัยนิยมมองพื้นที่เป็นขอบเขตของอาณาบริเวณทางกายภาพที่แยกขาดจากวิธีปฏิบัติของมนุษย์

 

การศึกษามานุษยวิทยาแบบทัศนพิสัยนิยม

           การสร้างสรรค์ทางศิลปะคือรูปแบบของการแสดงออกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง Leach (1961) เคยกล่าวว่างานศิลปะล้วนเต็มไปด้วยมุมมอง ความเชื่อ และทัศนคติที่หลากหลาย ในแต่ละวัฒนธรรม การสร้างสรรค์งานศิลปะจึงเป็นเครื่องมือสำหรับการถ่ายทอดประสบการณ์และความคิดของคนในสังคม ศิลปินผู้สร้างงานศิลปะย่อมจะมีความเชื่อและทัศนคติต่อสังคมและพยายามนำเสนอออกมาด้วยงานศิลปะ ตัวอย่างงานศิลปะแบบจารีตนิยมในวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งเกิดขึ้นในยุคอาณานิคม ชาวตะวันตกมักจะนำเสนอเรื่องราวของมนุษย์ที่แบ่งแยกระหว่างผู้มีอำนาจหรือกษัตริย์กับชีวิตของประชาชน โดยเน้นความงามไปที่ชนชั้นปกครอง ในขณะที่นำเสนอภาพชีวิตของประชาชนในแบบที่อยู่ชายขอบ แต่ศิลปินรุ่นใหม่พยายามปรับเปลี่ยนการนำเสนอเรื่องราวชีวิตของคนธรรมดาสามัญให้มีความงามในแบบของตัวเอง ตัวอย่างนี้สะท้อนว่างานศิลปะที่เห็นคุณค่าของคนชายขอบจะนำเสนอเรื่องราวของคนชั้นล่างที่มีชีวิตที่งดงามไม่ต่างจากชนชั้นสูง

           ปฏิบัติการของคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม คือพื้นที่ชีวิตที่สะท้อนเรื่องราวความสัมพันธ์ที่ปรากฎขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ในประเด็นนี้ Leach (1961) กล่าวว่าพื้นที่สังคมก็เปรียบเสมือนการต่อสู้และตอบโต้ไปมาระหว่างคนต่างกลุ่มและคนกลุ่มเดียวกัน ระเบียบแบบแผนทางสังคมจึงเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอภายใต้ปฏิสัมพันธ์ที่คนแต่ละกลุ่มแสดงออก ข้อเสนอของ Leach ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงสร้างสังคมที่ตายตัว โดยวิจารณ์ว่าทัศนคติและความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นเอกภาพทางสังคมของนักวิชาการตะวันตก ส่งผลให้เกิดการอธิบายสังคมที่มีลักษณะหยุดนิ่ง ความคิดเรื่องโครงสร้างถาวรจึงเป็นทัศนะแบบเหตุผลที่ต้องการรักษาเอกภาพทางสังคม ในทางตรงกันข้าม ความคิดเรื่องพลวัตสังคมเป็นทัศนะที่เชื่อในความไม่คงที่ของกฎระเบียบ และสนใจปฏิสัมพันธ์ที่ไม่หยุดนิ่งที่คนกลุ่มต่าง ๆ กระทำต่อกัน

           นักมานุษยวิทยาที่สนใจการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายคน เช่น Mauss (1975) และ Evans-Pritchard (1940) ต่างชี้ว่าชีวิตทางสังคมของมนุษย์ดำเนินไปตามกลไกและปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนมีรูปแบบและวิธีการที่ต่างกัน รวมทั้งการทำกิจกรรมที่เป็นเรื่องส่วนตัวและเรื่องส่วนรวม มุมมองแบบเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้นในปฏิสัมพันธ์ทางสังคม คือเงื่อนไขของการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับมุมมองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากร ทำให้เห็นว่ามนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการยังชีพ มุมมองจากเพศภาวะก็อาจทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย (Strathern, 1988) มุมมองและทัศนะแบบต่าง ๆ ที่ใช้ทำความเข้าใจปฏิบัติการทางสังคมและวัฒนธรรม ในวิธีคิดแบบมานุษยวิทยาคือการเรียนรู้ว่าคนในวัฒนธรรมเหล่านั้นใช้ความคิดแบบไหนมาสร้างแบบแผนการปฏิบัติตัวทางสังคม

 

อิทธิพลของจิตวิทยาของการรับรู้ (perceptual psychology)

           นักจิตวิทยา Gibson (1966) เสนอว่าการใช้ชีวิตทางสังคมของมนุษย์เกิดขึ้นและดำเนินไปโดยอาศัยการเปลี่ยนมุมมองและความคิดที่มีต่อสภาพแวดล้อม เมื่อมนุษย์เปลี่ยนที่อยู่อาศัย เคลื่อนที่ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก็จะทำให้เกิดความคิดและมุมมองใหม่ ๆ ตามมา คำอธิบายนี้นำไปสู่การวิเคราะห์ความคิดของมนุษย์ที่เกิดขึ้นภายใต้การอยู่ในพื้นที่ที่ต่างกัน การศึกษาเชิงจิตวิทยาของการรับรู้ พยายามชี้ให้เห็นว่าความคิดของมนุษย์มิได้หยุดนิ่งและคิดแบบเดิมตลอดเวลา เมื่อมนุษย์เปลี่ยนสภาพแวดล้อม หรือเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่ต่างไปจากเดิม ก็จะทำให้มนุษย์เกิดมุมมองความคิดที่แปลกใหม่ (Gombrich, 1982) เฉกเช่นการได้พบเห็นสิ่งใหม่ที่ต่างออกไป จะส่งผลให้มนุษย์รับรู้ถึงการดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไป แนวคิดดังกล่าวนี้จึงให้ความสำคัญการการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและสถานที่ การเอาตัวเองออกจากสถานที่เดิมจะช่วยให้พบกับเรื่องใหม่ ๆ ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ซึ่งจะทำให้มีมุมมองและทัศนะแบบใหม่

           Ingold (2000) อธิบายว่าการเคลื่อนที่ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประสบการณ์และปฏิบัติการ เมื่อมนุษย์เข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใหม่ มนุษย์ก็จะมีวิธีการกระทำต่อสิ่งต่าง ๆ ต่างไปจากเดิม มนุษย์จะใช้วิธีปฏิบัติแบบใหม่ ทำให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ และทำให้เกิดความคิดใหม่ Ingold เรียกกระบวนการนี้ว่า “ปฏิบัติการทางนิเวศ” (ecological practice) ซึ่งหมายถึงการกระทำของมนุษย์ที่มีต่อสภาพแวดล้อม เช่น ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศแบบทุ่งหญ้าและเดินทางเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ไปตามฤดูกาล พวกเขาจะปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปตามพื้นที่ที่อาศัย สอดคล้องกับทฤษฎีจิตวิทยานิเวศ (ecological psychology) ที่อธิบายว่าเมื่อมนุษย์เข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ จะทำให้มนุษย์เรียนรู้ความคิดแบบใหม่ รวมถึงคำอธิบายของปรัชญาทางศิลปะที่ชี้ให้เห็นว่าการเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมจะทำให้มนุษย์สร้างสรรค์งานศิลปะ (aesthetics of engagement) เมื่อเปลี่ยนสภาพแวดล้อมไป รูปแบบการสร้างงานศิลปะก็จะเปลี่ยนไปด้วย (Berleant, 1991) Ingold (2000) อธิบายว่าการเปลี่ยนความคิดของมนุษย์มิได้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนถิ่นที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังเกิดจากการรับรู้ถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในที่อื่น ๆ มนุษย์สามารถนำความคิดของคนอื่นมาปรับใช้กับตัวเองได้

 

ภววิทยาแบบทัศนพิสัย (perspectivist ontology)

           Storrie (1999) อธิบายชีวิตของคนพื้นเมืองเผ่าโฮตีในป่าเขตร้อนของประเทศ เวเนซูเอล่า คนกลุ่มนี้ยังชีพด้วยการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์และล่าสัตว์ในป่า สิ่งที่พบเห็นในหมู่บ้านเป็นประจำคือหมูป่าที่วิ่งเพ่นพ่านอยู่ทั่วไป แต่ในความคิดของชาวโฮตี หมูป่าที่วิ่งอยู่นั้นคือวิญญาณของหมูที่ชาวบ้านเคยฆ่าตายไปแล้ว คำอธิบายนี้ขัดแย้งต่อความเข้าใจของ Storrie เป็นอย่างมาก เนื่องจากหมูป่าที่เขาเห็นในหมู่บ้านเป็นสิ่งมีชีวิตที่ยังมีลมหายใจ มิใช่สัตว์ที่ตายแต่อย่างใด ในทางกลับกัน ชาวโฮตีอธิบายว่าหมูป่าจะไม่เข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน หากเห็นพวกมันวิ่งเพ่นพ่านในหมู่บ้านพวกมันจะเป็นเพียงวิญญาณของหมู่ป่า ชาวโฮตีเชื่อว่าหมูป่าที่ถูกฆ่าตายวิญญาณของพวกมันจะสามารถกลับมาอยู่อาศัยในหมู่บ้านของมนุษย์ได้ ในขณะที่หมูป่าที่ยังไม่ถูกล่าโดยมนุษย์พวกมันจะอาศัยอยู่ในป่าเท่านั้น จากคำอธิบายนี้ทำให้ Storrie เข้าใจความคิดของชาวโฮตีว่าพวกเขามิได้แยกว่าอะไรคือความจริงหรือความไม่จริง ตัวอย่างกรณีหมูป่าในหมู่บ้าน ชาวโฮตีเห็นว่าพวกมันเป็นวิญญาณ ซึ่งดำรงอยู่อย่างเป็นจริงในสังคมเช่นเดียวกับหมูป่าที่อยู่ในป่า กล่าวคือ หมู่ป่าในหมู่บ้านในฐานะวิญญาณและหมูป่าในป่าในฐานะสัตว์ป่าต่างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

           กรณีดังกล่าว สะท้อนว่าชาวโฮตีมีมุมมองต่อการดำรงอยู่ของวิญญาณหมูป่าโดยอาศัยพฤติกรรมที่มันเข้ามาหากินและอาศัยอยู่ร่วมกับคนในหมู่บ้าน มีมุมมองต่อการดำรงอยู่ของหมูป่าในป่าโดยการอ้างถึงพฤติกรรมที่พวกมันจะไม่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน มุมมองต่อการดำรงอยู่ของวิญญาณและการเป็นหมูป่าจึงล้วนเป็นความจริงเหมือนกัน สิ่งนี้คือภววิทยาแบบทัศนพิสัย Storrie อธิบายว่าชาวโฮตีมีมุมมองต่อหมูป่าที่เป็นวิญญาณและเป็นสัตว์ด้วยความคิดที่ต่างกัน วิธีคิดที่ชาวโฮตีมีต่อหมูป่าคือแบบแผนชีวิตทางวัฒนธรรมที่พบได้ในเขตอาศัยของชาวอเมริกาใต้ ดังที่ Viveiros de Castro (1992, 1998) เคยอธิบายไว้ว่าวัฒนธรรมของชาว Amerindian มีการรับรู้ถึงความจริงที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิต มนุษย์ สัตว์ป่า คนเป็น คนตาย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีการเปลี่ยนสถานการณ์ดำรงอยู่จากโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่งเสมอ (trans-substantiation) ตัวอย่างเช่น ชนเผ่า Arawete ที่อาศัยอยู่ในเขตป่าของประเทศบราซิล ชนกลุ่มนี้รับรู้ว่านักรบของพวกเขาสามารถเปลี่ยนสถานะจากการเป็นชาว Arawete ไปเป็นศัตรูของพวกเขาโดยการร้องเพลงของเหล่าศัตรู กล่าวคือถ้านักรบคนใดร้องเพลงของศัตรู นักรบคนนั้นก็จะกลายเป็นศัตรูของชาว Arawete (Viveiros de Castro, 1992) การเปลี่ยนสถานะของชาว Arawete จากนักรบประจำเผ่าไปเป็นศัตรู เกิดขึ้นจากมุมมองและทัศนะทางวัฒนธรรมที่ชาว Arawete ใช้อธิบายตัวตนที่หลากหลาย

           ทัศนพิสัยนิยมที่ปรากฏอยู่ในการศึกษาทางมานุษยวิทยา คือการบ่งชี้ว่าการทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่ในโลกย่อมอาศัยมุมมองและความคิดที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมเหล่านั้น ในวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ ย่อมจะมีคำอธิบายเกี่ยวกับการดำรงอยู่และความจริงของสิ่งต่าง ๆ ด้วยทัศนะที่ต่างกัน ทัศนพิสัยนิยมทำให้เห็นการดำรงอยู่ที่หลากหลายรูปแบบและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งท้าทายกระบวนทัศน์เหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ที่ยึดมั่นในความจริงเชิงวัตถุเพียงแบบเดียวซึ่งมองเห็นความจริงที่ตายตัวและไม่เปลี่ยนแปลง

 

เอกสารอ้างอิง

Berleant, A. (1991). Art and engagement. Philadelphia: Temple University Press.

Evans-Pritchard, E. E. (1940). The Nuer. Oxford: Clarendon.

Gibson, J.J. (1966). The senses considered as perceptual systems. Boston: Houghton Mifflin.

Gombrich, E. H. (1982). The image and the eye. Oxford: Phaidon.

Hess, H. (1975). Pictures as arguments. London: Sussex University Press.

Ingold, T. (2000). The perception of the environment: essays in livelihood, dwelling, and skill. London: Routledge.

Kern, S. (1983). The culture of time and space, 1880–1918. Cambridge: Harvard University Press.

Kwon, H. (2012). Perspectivism in Social Anthropology. Nature Culture, 1, 59-68.

Leach, E. (1961). Pul Eliya: a village in Ceylon. Cambridge: Cambridge University Press.

Mauss, M. (1975). Seasonal variations of the Eskimo: a study in social morphology. trans. by J.J. Fox. London: Routledge.

Strathern, M. (1988). The gender of the gift: problems with women and problems with society in Melanesia. Berkeley: University of California Press.

Storrie, R. (1999). Being human: personhood, cosmology and subsistence for the Hoti of Venezuelan Guiana (PhD Thesis, University of Manchester).

Viveiros de Castro, E. (1992). From the enemy’s point of view: humanity and divinity in an Amazonian society. Chicago: University of Chicago Press.

Viveiros de Castro, E. (1998). Cosmological deixis and Amerindian perspectivism. Journal of Royal Anthropological Institute, 4, 469–88.

Wolf, A. P. (1974). Gods, ghosts, and ancestors. In A. P. Wolf, (Ed.), Religion and ritual in Chinese society, (pp.131–182, 356–357). Stanford: Stanford University Press.


ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ทัศนพิสัยนิยม Posthuman Anthropology Perspectivism นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share