เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต It's complicated: the social lives of networked teens

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 2166

เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต It's complicated: the social lives of networked teens

 

           ในยุคที่โซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างทุกวันนี้ คนรุ่นหนึ่งยังคงต้องพยายามทำความรู้จักและเรียนรู้การใช้โซเชียลมีเดีย แต่คนอีกรุ่นหนึ่งกลับเติบโตมาพร้อมกับโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาว่า ในสายตาผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ปกครองอาจมองว่า โซเชียลมีเดียดูอันตรายและเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ ในชีวิตของเด็กวัยรุ่นและลูกหลานของตน แต่ตัวของวันรุ่นเองกลับไม่ได้คิดเช่นนั้น

           จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้ เกิดจากในปี 2006 “ดานาห์ บอยด์” ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและวัฒนธรรมวัยรุ่น อาศัยอยู่ในตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อพูดคุยกับวัยรุ่นเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดีย และได้พบกับ “ไมก์” เด็กวัยรุ่นอายุ 15 ปี ผู้โปรดปรานการใช้ยูทูป ไมก์เล่าว่าที่โรงเรียนของเขาอนุญาตให้ยืมกล้องถ่ายวิดีโอเพื่อทำงานที่ได้รับมอบหมาย และส่งเสริมให้นักเรียนจัดทำวิดีโอและสื่ออื่นๆ สำหรับใช้เป็นส่วนหนึ่งของงานกลุ่มเพื่อแสดงความรู้ที่ได้จากห้องเรียน ไมก์กับเพื่อนๆ จึงได้อัดวิดีโอลงยูทูปอยู่เป็นประจำ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนเข้ามาดูวิดีโอของพวกเขา พวกเขาจะตื่นเต้นและยินดีอย่างยิ่ง ขณะที่พูดคุยและดูวิดีโอออนไลน์ของไมก์กันอยู่นั้น ไมก์ได้เงียบไปและหันมาบอกดานาห์ ว่า “ช่วยพูดกับแม่หน่อยได้ไหม บอกแม่ทีว่าผมไม่ได้ทำอะไรไม่ดีบนอินเทอร์เน็ต” ไมก์ขยายความว่า “แม่คิดว่าทุกอย่างบนโลกออนไลน์ไม่ดี และคุณดูเหมือนจะเข้าใจเรื่องนี้ ช่วยพูดกับแม่ให้หน่อยได้ไหมครับ” ซึ่งดานาห์สัญญาว่าจะช่วย

           และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ “ดานาห์ บอยด์” ได้ค้นคว้าวิจัยกรณีศึกษาและบทสัมภาษณ์วัยรุ่นหลากเพศ หลากเชื้อชาติ และกลั่นกรองเป็นหนังสือ “It's complicated: the social lives of networked teens” เพื่ออธิบายชีวิตในโลกเครือข่ายโซเชียลมีเดียของวัยรุ่นให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และคนอื่นๆ เข้าใจถึงชีวิตและความต้องการของพวกเขาที่ส่งผ่านการใช้โซเชียลมีเดีย และหนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย โดย “ลลิตา ผลผลา” นักแปลอิสระ ผู้มีประสบการณ์ทำงานในตำแหน่งบรรณาธิการสำนักพิมพ์และผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร ประจำนิตยสารแนวสารคดีหัวนอกฉบับหนึ่ง มีผลงานแปลทั้งแนวบันเทิงคดีและสารคดี ตลอดจนวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน โดยใช้ชื่อเรื่องภาษาไทยว่า “เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต”

           ผู้เขียน (ดานาห์ บอยด์) ได้ทุ่มเทเวลากว่าแปดปี ระหว่างปี 2005 – 2012 เดินทางไปทั่วสหรัฐอเมริกา เพื่อพูดคุยและสังเกตการณ์วัยรุ่นจากรัฐต่างๆ 18 รัฐ รวมถึงชุมชนที่มีลักษณะทางเศรษฐกิจ สังคม และชาติพันธุ์อันหลากหลาย เพื่อสำรวจและศึกษาการมีส่วนร่วมในโซเชียลมีเดีย รวมถึงมุมมองของวัยผู้ใหญ่และวัยรุ่นที่มีต่อการใช้โซเชียลมีเดีย

           ผู้เขียนได้ใช้เวลาเฝ้าสังเกต พูดคุย และสัมภาษณ์กับเหล่าวัยรุ่นทั่วสหรัฐอเมริกา ทั้งที่บ้านของพวกเขา ที่โรงเรียน และในที่สาธารณะหลายต่อหลายแห่ง นอกจากนั้นยังได้พูดคุยกับพ่อแม่ ครู บรรณารักษ์ ศาสนาจารย์ ผู้ดูแลเยาวชน และคนอื่นๆ ที่ทำงานกับเยาวชนโดยตรง และพบว่า มีผู้คนมากมายพูดถึงการมีส่วนร่วมในโซเชียลมีเดียของเยาวชน แต่แทบไม่มีใครสักคนยินดีสละเวลามารับฟังวัยรุ่นเหล่านี้ เพื่อให้ได้ยินสิ่งที่พวกเขาสื่อสาร หรือใส่ใจสิ่งที่พวกเขาอยากพูดเกี่ยวกับชีวิตของตนทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ผู้เขียนถึงเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อกล่าวถึงช่องว่างนี้ ซึ่งในแต่ละบทตอนได้ใช้ข้อคิดเห็นของวัยรุ่นที่สัมภาษณ์ ตลอดจนวัยรุ่นที่ผู้เขียนได้เฝ้าสังเกตการณ์หรือพบปะอย่างไม่เป็นทางการ อีกทั้งยกตัวอย่างวิถีปฏิบัติและอุปนิสัยของวัยรุ่น ตลอดจนปัญหาตึงเครียดระหว่างวัยรุ่นกับผู้ใหญ่ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับชีวิตในโลกโซเชียลมีเดียของเยาวชน ซึ่งผู้เขียนได้ตีแผ่ “ชีวิตโซเชียล” ของวัยรุ่นออกมาถึง 8 บท 8 ประเด็น ได้แก่

           1. ตัวตน: ทำไมวัยรุ่นถึงดูแปลกพิกลบนโลกออนไลน์

           2. ความเป็นส่วนตัว: ทำไมเยาวชนจึงชอบแชร์แบบตั้งค่าสาธารณะ

           3. การเสพติด: อะไรเป็นเหตุให้วัยรุ่นหมกมุ่นกับโซเชียลมีเดีย

           4. อันตราย: อาชญากรทางเพศซุ่มอยู่ทุกหนแห่งจริงหรือ

           5. การรังแก: โซเชียลมีเดียทำให้ความร้ายกาจและความโหดร้ายรุนแรงขึ้นหรือไม่

           6. ความเหลื่อมล้ำ: โซเชียลมีเดียแก้ปัญหาการแบ่งแยกทางสังคมได้หรือไม่

           7. ทักษะความรู้: เยาวชนทุกวันนี้เป็นชาวดิจิทัลโดยกำเนิดหรือไม่

           8. เสาะหาพื้นที่สาธารณะของตนเอง

           เมื่อผู้อ่านได้อ่านทั้ง 8 บทจบลงแล้ว จะทำให้ผู้อ่านย้อนกลับมาทบทวนความเข้าใจที่มีต่อบทบาทของโซเชียลมีเดีย รวมถึงชีวิตบนโลกออนไลน์ของตนเองและผู้อื่นในมุมมองใหม่ ซึ่งในโลกของโซเชียลมีเดียนั้น ทำให้ผู้คนสามารถแชร์อะไรต่อมิอะไรให้ผู้คนวงกว้างได้รับรู้ และยังเอื้อให้สามารถเข้าถึงเนื้อหาจากระยะไกลได้อย่างง่ายดาย และเนื้อหาที่แชร์ผ่านโซเชียลมีเดียมักคงอยู่ได้เป็นเวลานาน วัยรุ่นจึงใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเรียกร้องความสนใจและเพิ่มอัตราการมองเห็นได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะมีประสบการณ์และทักษะที่เท่าเทียมกันในการรับมือกับสิ่งที่พบเจอในโลกออนไลน์ เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเทียบกับพวกผู้ใหญ่แล้ว วัยรุ่นสะดวกใจกับโซเชียลมีเดียและพยายามเชื่อมโยงตัวเองกับพื้นที่สาธารณะ ทำให้ผู้ใหญ่ที่คอยจับตามองเกิดความหวั่นวิตกว่าโซเชียลมีเดียจะสร้างอันตรายให้กับวัยรุ่นได้ ซึ่งในการเขียนหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนจึงหวังว่า ผู้อ่านจะพยายามทำความเข้าใจการเข้าสังคมโซเชียลมีเดียของเหล่าวัยรุ่น ว่าพวกเขาไม่ได้มีปัญหาอะไรหรอก เพียงแต่พวกเขาแค่ต้องการให้ผู้คนเข้าอกเข้าใจเขาบ้างในสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถพูดออกมาตรงๆ ได้ หรือบางครั้งพวกเขาพยายามที่จะพูดแล้ว แต่ไม่มีใครรับฟังและเข้าใจพวกเขาเลยก็เท่านั้นเอง

           ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงเป็นคู่มือชั้นดีที่จะช่วยให้ผู้อ่านทำความเข้าใจและรับมือกับความซับซ้อนในโลกเครือข่ายโซเชียลมีเดียได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างพื้นที่แห่งใหม่ที่เปิดโอกาสให้วัยรุ่นได้เรียนรู้ เติบโต และก้าวเดินไปบนหนทางของตนเองได้อย่างมั่นคง

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องมานุษยวิทยาดิจิทัลพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library


ผู้รีวิว

ปริยฉัตร เวทยนุกูล

บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มานุษยวิทยาดิจิทัล วัยรุ่น complicated social lives networked teens ปริยฉัตร เวทยนุกูล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share